ThaiPublica > คอลัมน์ > ประชาธิปไตย…คุณต้องไปต่อ

ประชาธิปไตย…คุณต้องไปต่อ

9 มิถุนายน 2014


หางกระดิกหมา

หลังจากคราวที่แล้วเขียนเรื่อง “เผด็จการผู้ทรงคุณ” หรือ Benevolent Dictator ไป ก็ปรากฏว่ามีแม่ยกพ่อยกรัฐประหารเข้ามาสรรเสริญกันเป็นจำนวนมาก นัยว่าคนไทยมันต้องอย่างนี้แหละ นานๆ ทีก็ต้องเผด็จการเสียบ้าง โทษฐานที่เวลาให้เล่น “ประชาธิปไตย” แล้วเล่นกันไม่เป็นสักที

ปรากฏการณ์นี้นับเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง หรืออันที่จริงต้องบอกว่าน่าเป็นห่วงกว่าการมีคณะรักษาคสามสงบแห่งชาติ (คสช.) เสียอีก เพราะ คสช. นั้นจะหนักเบาอย่างไรก็ได้ออกโรดแมปมาแล้ว และโรดแมปนั้นก็มีปลายทางอยู่ที่การเลือกตั้ง ดังนั้นระหว่างที่ท่านยังไม่ได้มีประกาศิตมาเป็นอย่างอื่น เราก็ต้องถือไปก่อนว่า คสช. ไม่ได้หลงใหลได้ปลื้มกับบทบาทเผด็จการของตนเองเท่าใดนัก และยังเชื่อว่าทางออกอยู่ที่ประชาธิปไตยเสมอ จะมีก็แต่บรรดาพ่อยกแม่ยกนี่แหละ ที่ทำท่าจะติดใจเผด็จการเสียยิ่งกว่าเผด็จการเอง และถ้าให้เลือกก็คงอยากจะอยู่กับท่านประยุทธ์ที่ตนถูกใจ มากกว่าระบอบประชาธิปไตยที่ตนบังคับไม่ได้ว่าจะให้ใครได้เป็นนายกฯ

แต่ความจริง นี่ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้เหมือนกัน เพราะตำนานเผด็จการผู้ทรงคุณนั้นฟังกี่ครั้งก็น่าเลื่อมใส ไม่ต้องดูอื่นไกล หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ในขณะที่ประเทศประชาธิปไตยหลายประเทศเจอภาวะเศรษฐกิจลุ่มๆ ดอนๆ ก็กลับมีประเทศเผด็จการอย่างจีนหรือสิงคโปร์ที่สร้าง “ปาฎิหาริย์ทางเศรษฐกิจ” ขึ้นมาได้ เพราะเวลาจะทำอะไร ไม่ต้องเสียเวลาคัดค้านกันมากนัก อย่างที่ Wall Street Journal เคยลงว่าประเทศจีนนั้นภายในปีเดียวก็สามารถสร้างอุตสาหกรรมทั้งอุตสาหกรรมขึ้นมาให้ไปแย่งส่วนแบ่งตลาดของโลกได้ ในขณะที่สำหรับประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ บางทีต้องใช้เวลาเป็นหลายปีหรือแม้กระทั่งสิบปีเพียงเพื่อเถียงกันไปเถียงกันมาว่าจะทำอะไรหรือไม่ทำ แต่ความจริงเรื่องนี้ ไม่ต้องให้ WSJ บอก เราก็น่าจะรู้ๆ กันอยู่

เหนือจีนก็ยังมีสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่สามารถสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ สร้างสายการบินและโรงเรียนที่ดีติดอันดับโลก สร้างระบบสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพ สร้างมาตรการเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ก้าวหน้า และปราบคอร์รัปชันได้เด็ดขาดโดยอาศัยผู้นำผู้มีอำนาจเต็มเพียงอย่างเดียว ฟังแล้ว เป็นประเทศไหนก็คงต้องอยากหาลีกวนยิวเป็นของตน และไปเสียให้พ้นๆ จากความมากด้วยการประท้วงและถกเถียงของประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม การติดอกติดใจเผด็จการหรืออันที่จริงก็คือระบบใดๆ ก็ตามที่ไร้ซึ่งการคานและดุลอำนาจ ไร้การถกเถียงแลกเปลี่ยน และไร้ซึ่งช่องทางสำหรับการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นมีข้อควรระวังอย่างยิ่ง อย่างตัวอย่างจีนที่ยกมานั้น จะปาฏิหาริย์อะไรก็แล้วแต่ แต่พอดูตัวเลขคอร์รัปชันแล้ว ปรากฏว่าจีนมีคอร์รัปชันคิดได้ถึงร้อยละ 10 ของ GDP ทั้งนี้ก็เพราะสำหรับระบบเผด็จการทั่วไป การจะอยู่ในอำนาจให้เสถียร ย่อมขึ้นกับการออกนโยบายที่จะเอาใจฐานเสียง/พวกพ้องของตน และทำลายฝ่ายตรงข้าม มากกว่าการออกนโยบายที่ดี ยิ่งเมื่อระบอบเผด็จการไม่มีเรื่องของการแข่งกันระหว่างพรรค การปรับแพ้ฟาวล์ทางกฎหมาย หรือการตรวจสอบโดยองค์กรต่างๆ เรื่องคอร์รัปชันมันก็เลยยิ่งไปกันใหญ่

ขนาดสิงคโปร์ซึ่งคอร์รัปชันน้อยนั้น ก็ยังมีปัญหาว่ารัฐบาลชอบใช้อำนาจปกปิดข้อมูลและสื่อเพื่อควบคุมความเห็นทางการเมืองของประชาชนไม่ให้ไปในทิศทางที่รัฐบาลไม่ต้องการ แต่ในเมื่อข้อมูลนั้นเป็นของสำคัญต่อเศรษฐกิจพอๆ กับการเมือง การไปปกปิดข้อมูลไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ย่อมทำให้เศรษฐกิจเฉาไปด้วย คิดดูว่าในระบบประชาธิปไตยนั้น กว่าจะมีมาตรการอะไรออกมาแต่ละครั้ง (เช่น ขึ้น/ลดภาษี) ก็ต้องมีการถกเถียงช้านาน ซึ่งทางหนึ่งก็อาจน่าเบื่อหน่าย แต่อีกทางหนึ่งก็ทำให้ภาคธุรกิจพอมีเวลาสังเกตแนวโน้มและปรับตัวได้ ส่วนในระบบเผด็จการนั้น ไม่จำเป็นต้องมีอะไรอย่างนี้ ถึงเวลาอาจมีมาตรการอะไรโครมลงมาโดยไม่ต้องปรึกษาใครก่อนก็ได้ แล้วเวลานั้นธุรกิจที่ไม่ได้มีเส้นสายเข้าถึงข้อมูลในค่ายทหารอย่างคนอื่นก็อาจอยู่รอดยาก ความรังเกียจเผด็จการของสังคมโลกหลายครั้งจึงไม่ใช่ความดัดจริตทางประชาธิปไตยอย่างที่คนไทยชอบด่าเสมอไป แต่เป็นความจริงทางธุรกิจที่ใครๆ เขาก็ต้องคิดกัน

ถึงตอนนี้ คนอาจจะถามว่าแล้วประชาธิปไตยมันดีกว่าตรงไหน เพราะหลายปัญหาที่ว่ามาอย่างเช่นคอร์รัปชัน ประชาธิปไตยก็มีเหมือนกัน ก็ตอบได้ว่าถึงประชาธิปไตยแบบสกปรกจะสกปรกได้ไม่แพ้เผด็จการ แต่การจะลุ้นให้ประชาธิปไตยไม่สกปรกนั้นมีโอกาสสูงกว่าการลุ้นกับเผด็จการมากนัก ยกตัวอย่างง่ายๆ ประเทศสิงคโปร์อาจเป็นหนึ่งประเทศเผด็จการที่ปราบคอร์รัปชันสำเร็จ แต่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้ที่ปราบสำเร็จเหมือนกันเขาเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่เผด็จการ เรื่องที่ประเทศเผด็จการส่วนใหญ่ทำสำเร็จเสมอหน้ากันนั้นดูเหมือนจะมีอยู่เรื่องเดียว คือความบ๊วยในการจัดอันดับเรื่องดีๆ ทั้งหลายในโลกไม่ว่าจะเป็นคะแนน Corruption Perception Index ของ Tranparency International การจัดอันดับของ Global Integrity หรือตัวชี้วัดธรรมาภิบาลของ World Bank

พูดอีกอย่างก็คือว่า ดูสถิติในโลกแล้ว กว่าจะเจอเผด็จการอย่างสิงคโปร์สักหนึ่งก็อาจต้องเจอเผด็จการอย่างซิมบับเวสักสิบ และทุกๆ กรณีปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจของเผด็จการจะอยู่ท่ามกลางกรณีความฉิบหายอีกเป็นครึ่งร้อย

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวแล้ว สาเหตุหลักที่ประเทศไทยควรต้องรีบกลับเข้าสู่ประชาธิปไตยให้เร็วที่สุดนั้น ไม่ใช่เป็นเพราะการคาดเดาในทางร้ายว่าเผด็จการจะโกงอย่างที่ว่ามานี้ หากแต่เป็นเพราะโจทย์ใหญ่ของประเทศในเวลานี้กล่าวคือการปฏิรูป ซึ่งท่านหัวหน้า คสช. บอกว่าจะ “แก้ไขในทุกเรื่อง ที่ทุกฝ่ายต้องการ และเป็นที่ยอมรับ” นั้น อย่างไรก็ไม่อาจทำให้ครบถ้วนได้โดยพรากออกจากประชาธิปไตย โดยนี่ไม่ใช่เป็นเพราะสภาปฏิรูปไม่ดีหรือไม่เก่งอะไรทั้งนั้น แต่เป็นเพราะตราบเท่าที่ยังไม่มีการโหวต สุดท้ายสภาปฏิรูปก็ไม่อาจพูดแทนคนที่เขาอยู่นอกสภาได้อยู่ดีว่าอะไรเป็นการปฏิรูปที่สังคมต้องการ แค่นึกดูว่าจะเอารถไฟถูกหรือดี เอากฎหมายเข้มหรือคล่องตัว เอาโรงเรียนครอบคลุมหรือได้คุณภาพ เอาสิ่งแวดล้อมหรือความเจริญ ฯลฯ ก็คงเห็นแล้วว่าแนวทางการปฏิรูปว่าจะทำอะไรและอย่างไรนั้น มันไม่ได้ชัดแจ้งจางปางอย่างที่เคยนึก

ดังนั้น หากปราศจากกระบวนการหาคำตอบของประชาธิปไตยเสียอย่าง อย่างไรเราก็จะไม่มีทางได้คำตอบที่ตอบโจทย์ประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริงไปได้

ท่านประยุทธ์จึงทำถูกแล้วที่พยายามมุ่งหน้าไปสู่การเลือกตั้ง เพราะการปฏิรูปมันจะเริ่มจริงๆ ก็หลังจากนั้นเอง

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์โกงกินสิ้นชาติ นสพ.โพสต์ทูเดย์ฉบับวันที่ 9 มิถุนายน 2557