ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > บุหรี่สร้างขยะกว่า 4.5 ล้านล้านชิ้นต่อปี – สารตกค้างที่ปนเปื้อนในดินและน้ำ

บุหรี่สร้างขยะกว่า 4.5 ล้านล้านชิ้นต่อปี – สารตกค้างที่ปนเปื้อนในดินและน้ำ

9 มิถุนายน 2014


นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแซนดีเอโก สหรัฐฯ ระบุถึงเวลาแบนก้นบุหรี่ และเสนอโครงการส่งคืนก้นบุหรี่ที่ใช้แล้วกลับโรงงาน พร้อมใส่คำเตือนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมบนบรรจุภัณฑ์ เพื่อกระตุ้นความรับผิดชอบจากผู้ผลิต หลังพบขยะจากบุหรี่กว่า 4.5 ล้านล้านชิ้นต่อปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรน้ำ

รายงานเรื่องขยะจากผลิตภัณฑ์บุหรี่: มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมในการลดการบริโภคยาสูบ (Tobacco Product Waste: An Environmental Approach to Reduce Tobacco Consumption ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็ม )เป็นส่วนหนึ่งจากรายงานสุขภาพสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนโดย Thomas E. Novotny และ Elli Slaughter แห่งมหาวิทยาลัยแซนดีเอโก สหรัฐฯ เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมในภาพกว้างเกี่ยวกับก้นบุหรี่ บรรจุภัณฑ์ และผลิตภันณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่

ในรายงานระบุ ก้นบุหรี่และขยะจากผลิตภัณฑ์บุหรี่อื่นๆ คือสิ่งที่สามารถพบได้ทั่วไปไม่ว่าจะในเมืองหรือชายหาดทั่วโลก จากการประมาณพบว่ามีการขายบุหรี่กว่า 6 ล้านล้านมวน และพบก้นบุหรี่ 4.5 ล้านล้านชิ้น หรือคิดเป็น 2 ใน 3 ของจำนวนบุหรี่ต่อปี ที่ไม่ได้ถูกทิ้งลงถังขยะหรือที่เขี่ยบุหรี่ แต่พบได้ทั่วไปบนทางเท้าและริมถนน ซึ่งการห้ามสูบบุหรี่ในอาคารอาจเป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้สาเหตุนี้เลวร้ายลงกว่าเดิม

เปรียบเทียบก้นกรองบุหรี่ที่ผ่านการสูบแล้วกับยังไม่ผ่านการสูบ ที่มาภาพ : http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/8/8a/Cigarettefiltar.jpg
เปรียบเทียบก้นกรองบุหรี่ที่ผ่านการสูบแล้วกับยังไม่ผ่านการสูบ
ที่มาภาพ : http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/8/8a/Cigarettefiltar.jpg

ขยะจากบุหรี่นั้นประกอบไปด้วยสารท็อกซิน (Toxin) นิโคติน (Nicotine) ยาฆ่าแมลง และสารก่อมะเร็ง ซึ่งสามารถปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและแหล่งน้ำได้อีกด้วย ผลการศึกษาระบุสารเคมีในบุหรี่ เช่น สารหนู นิโคติน เหล็ก และเอทิลฟีนอล (Ethyl phenol) สามารถทำให้เกลือและน้ำสะอาดมีพิษ มีผลโดยตรงต่อจุลินทรีย์และปลา

จากตารางแสดงสารโพลีอะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน หรือ พีเอเอช (PAHs) เป็นสารที่เกิดได้ตามธรรมชาติจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของสารอินทรีย์ หรือ ควันจากท่อไอเสีย ควันบุหรี่ การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรม และการกลั่นน้ำมันดิบ สารชนิดนี้มักเกาะอยู่ในฮิวมิคในดินหรือสะสมในสิ่งมีชีวิต

ข้อมูลนี้เป็นการสำรวจสารโพลีอะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน ที่ตกค้างในดินข้างถนนจากเศษก้นบุหรี่ต่อเดือน ในประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2009 โดยสรุปแล้วแสดงให้เห็นว่ามีสารเคมีอันตรายตกค้างอยู่ในดินเป็นจำนวนมาก

สารโพลีอะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน

ไม่ใช่แค่เพียงส่วนประกอบของบุหรี่เท่านั้นที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังรวมไปถึงวัสดุที่ใช้ผลิตด้วย พลาสติกในก้นกรองบุหรี่เป็นวัสดุที่ไม่ย่อยสลาย ในสหรัฐฯ มีการทิ้งก้นกรองบุหรี่กว่า 49.8 ล้านกิโลกรัมต่อปี ซึ่งน้ำหนักนี้ไม่นับรวมเศษก้นบุหรี่ เศษซองที่ทิ้งแล้ว ไฟแช็ก และไม้ขีด และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่อื่นๆ อย่างพวกซิการ์และบุหรี่ไร้ควัน

ข้อมูลจากองค์กร Ocean Conservancy ปี 2012 ข้อมูลลำดับขยะที่สามารถเก็บได้จากทะเล อันดับแรก เศษบุหรี่ จำนวน 2,117,931 ชิ้น คิดเป็น 19 % ของจำนวนขยะที่เก็บได้ทั้งหมด รองลงมาคือบรรจุภัณฑ์อาหาร 1,140,222 ชิ้น คิดเป็น 10 % ขวดพลาสติก 1,065,171 ชิ้น คิดเป็น 10 % ถุงพลาสติก 1,019,902 ชิ้น คิดเป็น 9 % และขยะอื่นๆ เช่น ฝาปิด ถ้วยจาน ช้อนส้อม หลอด ขวดแก้ว กระป๋อง และถุงกระดาษ ตามลำดับ

ขยะที่เก็บได้จากทะเล

โดยส่วนมากก้นกรองบุหรี่จะมี 2 ชั้น คือกระดาษหรือไยสังเคราะห์ ความพรุนของก้นกรองช่วยควบคุมปริมาณการไหลของควันผ่านที่กรอง ซึ่งตัวบุหรี่เองยังมีส่วนประกอบของกาวที่ช่วยในการยึดเกาะของกระดาษมวนเข้าด้วยกัน รวมถึงเกลือโลหะอัลคาไลของกรดอนินทรีย์เพื่อช่วยในการเผาไหม้ ถึงแม้ว่าการเปาไหม้จะทำให้ก้นกรองบางส่วนหายไป แต่ส่วนที่เป็นพลาสติกและสารพิษยังคงอยู่ไม่หายไปจากน้ำและดิน ทั้งยังสามารถคงอยู่ต่อได้อีก 10 ปีขึ้นไปด้วย

นักวิจัยจึงถือว่าก้นกรองบุหรี่ว่าเป็น ‘เรื่องชวนหัว‘ สำหรับความปลอดภัยของผู้บริโภค ในรายงานฉบับล่าสุดของ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ (National Cancer Institute) เผยว่าก้นกรองบุหรี่ไม่ได้ช่วยให้ปลอดภัยต่อสุขภาพไปมากกว่าบุหรี่ที่ไม่มีก้นกรองเลย จึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลสำหรับการเสนอห้ามใช้ก้นกรองบุหรี่ เนื่องจากเห็นได้ชัดเจนว่าก้นกรองบุหรี่มีผลต่อผู้สูบเล็กน้อยเท่านั้น
และเพราะว่ากฎหมายต่อต้านขยะไม่ได้ทำให้นิสัยของเหล่าสิงห์อมควันเปลี่ยนไปเลย การแทรกแซงด้านสิ่งแวดล้อมและความร่วมมือระหว่างการควบคุมบุหรี่และกลุ่มสิ่งแวดล้อมจึงเป็นสิ่งจำเป็น

ก้นบุหรี่ ที่มาภาพ : http://wpmedia.fullcomment.nationalpost.com/2010/09/cigarette-butt.jpg?w=620 ก้นบุหรี่
ก้นบุหรี่
ที่มาภาพ : http://wpmedia.fullcomment.nationalpost.com/2010/09/cigarette-butt.jpg?w=620 ก้นบุหรี่

อุตสาหกรรมบุหรี่ควรมีความรับผิดชอบต่อขยะที่มีส่วนในการสร้างขึ้นด้วย ในการติดคำเตือนเกี่ยวกับสารพิษในการทิ้งก้นกรองบุหรี่ไม่ถูกที่ และการส่งก้นบุหรี่คืนโรงงาน เหมือนกับการส่งขวดแก้วและเหล็กคืนโรงงานผลิตเพื่อรีไซเคิล หรืออีกตัวเลือกหนึ่งสำหรับอุตสาหกรรมบุหรี่คือการจ่ายค่ารีไซเคิลหรือค่านำขยะบุหรี่กลับทั้งหมด

ทั้งนี้ขยะบุหรี่นั้นพบเห็นได้ทั่วไป ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชน สองในสามของบุหรี่ที่สูบแล้วถูกทิ้งให้กลายสภาพเป็นขยะในสิ่งแวดล้อมที่มีปริมาณเป็นล้านล้านต่อปี มันถึงเวลาแล้วที่จะหันกลับมามองความเป็นพิษของขยะเหล่านี้

ที่มาข้อมูล : – http://www.theguardian.com/environment/2014/may/15/ban-cigarette-filters-hazardous-tobacco-waste”,-http://link.springer.com/article/10.1007%2Fs40572-014-0016-x#page-1

ป้ายคำ :