ThaiPublica > คอลัมน์ > ปราบฟอกเงิน…ยึดกำไรคอร์รัปชัน (2)

ปราบฟอกเงิน…ยึดกำไรคอร์รัปชัน (2)

30 มิถุนายน 2014


หางกระดิกหมา

ได้กล่าวไปแล้วว่า การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินนั้นเป็นเครื่องมือทำให้ทรัพย์ทั้งหลายที่อาชญากรแสวงมาจากคอร์รัปชันกลายเป็นไร้ค่า หยิบมาทำประโยชน์อะไรไม่ได้ นอกจากเก็บใส่ท่อพีวีซีฝังดินไว้ทรมานใจปลวกเฉยๆ

ในปัจจุบัน เครื่องมือในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินที่ถือกันว่าขลังที่สุดก็คือ FATF Recommendations หรือข้อแนะนำของ Financial Action Task Force อันเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้คุมกฎในด้านการต่อต้านการฟอกเงิน มีอยู่ด้วยกัน 40 ข้อ ซึ่งคอยปรับปรุงอยู่เรื่อยๆ ให้ทันแก่พัฒนาการของความฉ้อฉล โดยแม้จะใช้คำว่า “ข้อแนะนำ” แต่ประเทศไหนที่ไม่ปฏิบัติตาม มีสิทธิถูกขึ้นบัญชีดำ ซึ่งเป็นคำพิพากษาทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุด เพราะนั่นอาจหมายถึงการที่ธนาคารในประเทศสมาชิกของ FATF ไม่ยอมร่วมสังฆกรรมกับธนาคารในประเทศที่ถูกขึ้นบัญชี การค้าขายอะไรก็จะพลอยป่นปี้ไปหมด

ข้อแนะนำเหล่านี้ แรกทีเดียวถูกคิดขึ้นมาเพื่อกำจัดการฟอกเงินที่มาจากการค้ายาเสพติดหรือค้าอาวุธ แต่ในภายหลัง เมื่อคนชักจะตื่นตัวว่าคอร์รัปชันก็เป็นอาชญากรรมอันร้ายแรงไม่แพ้กัน FATF จึงบอกว่ามาตรการของตัวนั้นก็มีส่วนช่วยแก่ภารกิจปราบการฟอกเงินที่มาจากคอร์รัปชันด้วย ในด้านต่อไปนี้

หนึ่ง การรักษาความสุจริตขององค์กรรัฐ

ในข้อแนะนำจะเรียกร้องให้หน่วยงานหลักๆ ของรัฐในการปราบการฟอกเงิน อย่างเช่น ปปง. และอัยการ มีความเป็นอิสระในการดำเนินงาน เพื่อให้พ้นจากอิทธิพลของนักการเมืองในอำนาจ นอกจากจากนั้นแล้วก็ต้องมีงบประมาณที่เพียงพอแก่การจะทำงานได้เต็มที่และมีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้ให้คนในองค์กรไม่ต้องอยู่กันอย่างกระเบียดกระเสียร อันจะพลอยกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอยากคอร์รัปชัน และสุดท้ายก็คือการอบรมฝึกฝนคนในองค์กรให้มีทักษะ มีความเป็นมืออาชีพ เพื่อจะได้วินิจฉัยและดำเนินการต่างๆ ไปตามหลักวิชา ไม่มั่วหรือหยวนตามคอร์รัปชัน

สอง การรักษาความสุจริตขององค์กรเอกชน

สถาบันทางการเงินของเอกชน อย่างเช่น ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกัน ร้านแลกเงิน เรื่อยไปจนถึงอาชีพบางอาชีพ เช่น ที่ปรึกษากฎหมาย นักบัญชี นายหน้าที่ดิน ร้านค้าเพชรพลอยของมีค่า บ่อนการพนัน ฯลฯ ถือเป็นสถานที่สุ่มเสี่ยงต่อการตกเป็นกลไกของการฟอกเงินอย่างมาก ดังนั้นข้อแนะนำจึงเรียกร้องให้มีการ “vet” หรือตรวจสอบความความน่าเชื่อถือของคนที่ถือหุ้นใหญ่หรือทีมบริหารของกิจการเหล่านี้โดยละเอียดถี่ถ้วน มีการคัดกรองพนักงาน และมีการวางระบบตรวจสอบภายใน และก็จัดสรรให้องค์กรเหล่านี้อยู่ความดูแลขององค์กรกำกับดูแลของรัฐที่มีอำนาจในการตรวจสอบสอบสวน การเรียกดูเอกสาร และการให้คุณให้โทษได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สาม การสร้างความโปร่งใสในภาคการเงิน

การฟอกเงินนั้นจะสำเร็จก็ต่อเมื่อทรัพย์สินต่างๆ นั้นสืบไปไม่ถึงตัวคนโกงเงิน ดังนั้นข้อแนะนำจึงมุ่งสร้างความโปร่งใสทางการเงินเพื่อให้ความสัมพันธ์ทางธุรกิจ ธุรกรรม หรือความเป็นเจ้าของทรัพย์สินต่างๆ มีเอกสารเป็นหลักฐานแสดงโดยตลอด (paper trail) เช่น ยามทำธุรกรรมกับลูกค้า ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาก็จะต้องมีการยืนยันตัวตนของลูกค้าผู้นั้น หรือผู้ที่ลูกค้าผู้นั้นทำการแทน หรือถ้าเป็นนิติบุคคลก็ต้องแสดงบุคคลที่เป็นเจ้าของหรือมีอำนาจควบคุมในชั้นสุดท้าย ยิ่งถ้าเป็นธุรกรรมที่ไม่ได้ทำตัวต่อตัว หรือทำผ่านเทคโนโลยีล่องหนต่างๆ ยิ่งต้องเพิ่มระบบตรวจสอบให้เข้มงวดขึ้นอีก

ต่อมา เมื่อได้ข้อมูลต่างๆ มาแล้วระบบการเก็บข้อมูลก็ต้องดีและคอยส่งต่อให้เจ้าหน้าที่เป็นระยะๆ เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้ใช้ติดตามผลประโยชน์จากคอร์รัปชันหรือใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้อง นอกจากนั้น ก็ต้องมีการจัดระบบบริหารความเสี่ยง กล่าวคือ วางมาตรการที่เข้มงวดขึ้นหากว่าคนที่มาติดต่อทำธุรกรรมเป็น “บุคคลผู้อยู่ในข่ายอำนาจทางการเมือง (Politically-Exposed Person: PEP)” อย่างเช่น นักการเมือง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการตุลาการชั้นผู้ใหญ่ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ โดยถ้าบุคคลเหล่านี้ (หรือครอบครัวและญาติ) มาติดต่อกับสถาบันการเงิน ก็จะต้องให้เจ้าหน้าที่ของธนาคารระดับที่สูงกว่าปกติเป็นคนอนุมัติเรื่องเสียก่อน และการอนุมัตินั้นก็ต้องมีฐานอยู่บนการตรวจสอบที่เข้มงวดตามสมควรว่าเงินมาจากไหน สุดท้าย หากประเทศใดมีกฎหมายเกี่ยวกับความลับทางการเงินก็จะต้องยกเว้น ไม่นำมาใช้กับเรื่องนี้ กล่าวคือให้กฎหมายป้องกันการฟอกเงินใหญ่กว่ากฎหมายความลับทางการเงิน

สี่ การตรวจสอบ สอบสวน เอาผิด และกู้คืนทรัพย์สินที่ถูกขโมยไป

ข้อแนะนำเรียกร้องให้สถาบันการเงินหรือสถาบันของเอกชนวางระบบสำหรับตรวจสอบธุรกรรมต่างๆ ให้พอเหมาะพอสมกับความรู้ที่สถาบันนั้นๆ มีเกี่ยวกับตัวลูกค้า คือเสี่ยงมากก็ตรวจมาก เสี่ยงน้อยก็ตรวจน้อย ธุรกรรมที่มีรูปแบบหรือขนาดใหญ่ผิดปกติก็ควรจะสืบสาวเสียให้เรียบร้อยว่ามีเหตุผลที่มาที่ไปอย่างไร ถ้าฟังเหตุผลแล้วดูชอบกล ไม่ตอบหลักสามัญเศรษฐศาสตร์ ก็จะต้องรายงานทางการเพื่อสอบสวนต่อไป นอกจากนั้น ควรกำหนดความผิดมูลฐานที่นำมาสู่การฟอกเงินให้กว้างขวางมากที่สุด และที่แน่ๆ ต้องรวมถึงความผิดจากการให้/รับสินบน โดยจะต้องกำหนดด้วยว่าลำพังการฟอกเงินอย่างเดียวก็เป็นความผิดอยู่ในตัวที่สามารถดำเนินคดีได้ แม้ว่าจะยังไม่สามารถพิสูจน์เกี่ยวกับความผิดมูลฐานได้ก็ตาม ทั้งนี้เพื่อที่ว่าจะได้เพิ่มช่องทางการเอาผิดคนโกงให้หลากหลายขึ้น

สุดท้าย คือให้มีระบบสำหรับอายัด ยึด ตลอดจนริบทรัพย์ที่ถูกฟอกคืนมาเป็นของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ในขณะเดียวกันก็ต้องปกป้องสิทธิของบุคคลที่สามที่อาจซื้อทรัพย์นั้นๆ ต่อมาจากคนฟอกเงินโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่ด้วย รวมทั้งอาจจัดตั้งกองทุน เพื่อเอาเงินที่ยึดคืนมาสำหรับใช้ในการบำรุงองค์กรที่ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินต่อไป

ความจริง เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ของใหม่ ตามตัวบทของกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินของเราก็ถูกแก้จนสะท้อนแนวปฏิบัติเหล่านี้ไว้เป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว เสียอยู่อย่างเดียวที่นอกตัวบทนั้น การบังคับใช้กลับไม่เข้มงวด

จนท่าน คสช. ต้องออกมาเตือนอย่างที่บอกไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้วนั่นแหละ

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์โกงกินสิ้นชาติ นสพ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 30 มิถุนายน 2557