ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ศาลปกครองพิพากษาสั่ง “อัคราไมนิ่ง” ระงับทำเหมืองทองคำในพื้นที่ส่วนขยาย และห้ามใช้บ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 2

ศาลปกครองพิพากษาสั่ง “อัคราไมนิ่ง” ระงับทำเหมืองทองคำในพื้นที่ส่วนขยาย และห้ามใช้บ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 2

19 มิถุนายน 2014


เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2557 ศาลปกครองพิษณุโลก พิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ส.2/2555 คดีหมายเลขแดงที่ ส.2/2557 โดยผู้ฟ้องคดีรวม 108 รายซึ่งเป็นประชาชนในพื้นที่หมู่ที่ 3 บ้านเขาดิน หมู่ที่ 7 บ้านหนองขนาก หมู่ที่ 8 บ้านเขาดิน หมู่ที่ 9 บ้านเขาหม้อ ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร ยื่นฟ้อง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (ที่ 1), อธิบดีอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (ที่ 2), อธิบดีกรมป่าไม้ (ที่ 3), องค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจ็ดลูก (ที่ 4), กรมควบคุมมลพิษ (ที่ 5), กรมที่ดิน (ที่ 6), บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด หรือ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) (ที่ 7), สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ที่ 8), ผู้อำนวยการสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตร (ที่ 9), ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร (ที่ 10), เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพิจิตร สาขาตะพานหิน (ที่ 11), นายอำเภอทับคล้อ (ที่ 12), บริษัทสวนสักพัฒนา จำกัด (ที่ 13) และอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (ที่ 14)

ในข้อหาละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตาม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-6, 8, 10, 14 ) ปล่อยให้บริษัทอัคราไมนิ่งฯ สร้างบ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 2 และประกอบโลหกรรมส่วนย่อยโดยไม่ชอบหรือไม่ได้รับอนุญาตจากราชการ, ออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 11) และละเลยไม่ดูแลทางสาธารณประโยชน์ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 12)

โดยขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้
1. ให้โรงงานเหมืองแร่ทองคำและประกอบโลหกรรมส่วนขยายของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด หยุดการทำงานและห้ามออกใบอนุญาตการขยายโรงงานให้บริษัทอัคราไมนิ่งฯ ด้วย

2. เพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ก่อสร้างบ่อทิ้งเก็บกากแร่บนพื้นที่จัดตั้งสถานที่เพื่อเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายนอกเขตเหมืองแร่ที่ 1/2548 และที่ 2/2553 (ที่ถูกคือที่ 2/2554)

3. ห้ามก่อสร้างบ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 2 (TSF2) บนที่ดินตามใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่เพื่อเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายนอกเขตเหมืองแร่ที่ 1/2548 และที่ 2/2553 (ที่ถูกคือที่ 2/2554)

4. ให้คืนสภาพทางสาธารณประโยชน์สายนาตาหวาย-อ่างหิน

5. เพิกถอนการออกโฉนดที่ดินเลขที่ 16811 ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร

6. ขอให้ระงับการดำเนินการใดๆ ในเขตพื้นที่โครงการขยายโรงงานประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ และพื้นที่ก่อสร้างตามใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่เพื่อเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายนอกเขตเหมืองแร่ที่ 1/2548 และที่ 2/2553 (ที่ถูกคือที่ 2/2554) เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนหรือเสียหายเป็นการชั่วคราว

ทั้งนี้ภายหลังมีผู้ถอนฟ้องคดี 11 คน ทำให้เหลือผู้ฟ้องคดีรวม 97 คน

เนื่องจากผู้ฟ้องคดีทั้ง 97 คนได้รับความเดือดร้อนเสียหายอย่างมากจากการทำเหมืองแร่ทองคำและประกอบโลหกรรมของบริษัทอัคราไมนิ่งฯ อีกทั้งการออกใบอนุญาตประทานบัตรในการทำเหมืองดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมาย ซึ่งมีการฟ้องเพิกถอนในอนุญาตไปเมื่อปี 2553

เหมืองทองคำอัคราไมนิ่ง

ต่อมาปี 2551 บริษัทอัครไมนิ่งฯ ขอขยายพื้นที่และโรงงานทำเหมืองแร่และผลิตโลหกรรมเพิ่มเติมโดยใช้ชื่อว่า “โครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ” ซึ่งอยู่ติดกับพื้นที่เดิมทางทิศเหนือ โดยในระหว่างพิจารณาคำขอ ผู้อำนวยการสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตรได้ออกประกาศรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อนำไปประกอบการพิจารณา แต่ผู้ฟ้องคดีและประชาชนที่ได้รับผลกระทบไม่ยินยอมและคัดค้านการขอขยายพื้นที่ของบริษัทอัคราไมนิ่งฯ

นอกจากนี้ การขอขยายพื้นที่ดังกล่าวไม่มีการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ตามมาตรา 46-49 ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 แต่ออกใบอนุญาตให้บริษัทอัคราไมนิ่งฯ ขยายพื้นที่ดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ต่อมาปี 2533 บริษัทอัคราไมนิ่งฯ ได้สร้างบ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 2 ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้รับอนุญาตจากราชการ โดยสร้างบนพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นที่เก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินตามโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรี (เดิม) ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดวัตถุประสงค์ของการขออนุญาตใช้พื้นที่ การก่อสร้างผิดไปจากที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาเห็นชอบอีไอเอ และไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อีกทั้งตามรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอของโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือระบุว่า บ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 2 ต้องอยู่ห่างจากคลองและชุมชนอย่างน้อย 1 กิโลเมตร แต่บ่อดังกล่าวที่สร้างขึ้นอยู่ห่างจากบ้านของผู้ฟ้องคดีเพียง 300 เมตรเท่านั้น ฉะนั้นการสร้างบ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 2 นี้อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างปัญหาสุขภาพให้คนชุมชนเช่นเดียวกับที่ได้รับผลกระทบจากบ่อเก็บทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 1 รวมถึงการสร้างบ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 2 นี้ยังไม่ได้ทำอีไอเอเสนอหน่วยงานรัฐเพื่อขอประทานบัตรก่อนก่อสร้างด้วย

นอกจากนี้บ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 2 ยังก่อสร้างทับเส้นทางสาธารณประโยชน์สายนาตาหวาย-อ่างหิน เพราะเป็นการก่อสร้างบนโฉนดที่ดินของ บริษัท สวนสักพัฒนา จำกัด ซึ่งออกตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 1834 ซึ่งการออกโฉนดนี้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพิจิตรสาขาตะพานหินไม่ได้รังวัดแบ่งหักทางสาธารณประโยชน์ออกจากที่ดิน จึงเป็นการออกโฉนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทำลายทางสาธารณประโยชน์ที่เคยมีอยู่จริงไปอย่างถาวร

จากคำให้การและหลักฐานที่พบ ศาลปกครองพิษณุโลกพิพากษาให้

1. ยกฟ้องอธิบดีกรมป่าไม้ กรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

2. เพิกถอนคำสั่งเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ของอธิบดีอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ที่อนุญาตให้บริษัทอัคราไมนิ่งฯ เปลี่ยนแปลงผังโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ จากเดิมที่ต้องสร้างบ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 2 ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้มาสร้างทางทิศเหนือของบ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 1 ซึ่งอยู่บนพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้เป็นสถานที่เก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทราย

3. ให้อธิบดีอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่, ผู้อำนวยการสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตร และผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามในการควบคุมดูแลบริษัทอัคราไมนิ่งฯ ไม่ให้ทำการก่อสร้างและใช้งานบ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 2

4. ห้ามอธิบดีอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ออกคำสั่งหรือออกใบอนุญาตการขยายโรงงานประกอบโลหกรรม (ส่วนขยาย) ให้แก่บริษัทอัคราไมนิ่งฯ จนกว่าจะดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนในชั้นพิจารณาทางปกครองตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้อย่างถูกต้องครบถ้วน

5. ให้อธิบดีอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่, ผู้อำนวยการสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตร, ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร และอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามในการควบคุมกำกับดูแลไม่ให้บริษัทอัคราไมนิ่งฯ เดินเครื่องจักรเพื่อประกอบกิจการในโรงงานประกอบโลหกรรม (ส่วนขยาย) และให้อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเสนอต่อปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมหรือผู้ที่ปลัดฯ มอบหมาย ผูกมัดประทับตราเครื่องจักรในโรงงานประกอบโลหกรรม (ส่วนขยาย) ของบริษัทอัคราไมนิ่งฯ จนกว่าจะดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนในชั้นพิจารณาทางปกครองและมีคำสั่งอนุญาตตามกฎหมายอย่างถูกต้องครบถ้วน

6. อธิบดีอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่, ผู้อำนวยการสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตร, ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร และอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ดำเนินการใน 30 วัน นับแต่คดีถึงที่สุด ส่วนคำขออื่นๆ ขอให้ยก

ด้านนางชนัญชิดา ฉากกลาง ผู้ฟ้องคดีที่ 77 กล่าวว่า วิถีชีวิตของคนในชุมชนแต่เดิมคือปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เพื่อการยังชีพในครัวเรือน แต่วันนี้ต้องไปซื้อจากอำเภออื่นมายังชีพ เพราะกลัวว่าจะมีสารปนเปื้อนในผลผลิต ค่าใช้จ่ายรายเดือนต่อครัวเรือนก็สูงขึ้นกว่า 10,000 บาท เพราะต้องซื้อทั้งน้ำอาบและน้ำกิน สภาพแวดล้อมในชุมชนคือมีบ่อกากแร่อยู่กลางหมู่บ้าน มีฝุ่นกระจายตลอดเวลา ตื่นเช้ามาบ้านก็เต็มไปด้วยฝุ่น ที่สำคัญคือการขยายโรงงานหรือสร้างบ่อทิ้งเก็บกากแร่ของเหมือง ที่ดำเนินการไปก่อนขออนุญาตราชการแล้วไปเสียค่าปรับหลักหมื่นหลักแสนในภายหลังคืออะไร

“วันนี้ที่หมู่บ้านของเรามีคนตาย ทุกๆ หลังคาเรือนจะมีคนเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เรายอมทนสูดควันดำในกรุงเทพฯ แล้วให้คนกรุงเทพฯ ไปอยู่ที่บ้านเราฟรีๆ เราขอชีวิตความเป็นอยู่อย่างเดิมกลับคืนมา เราไม่อยากมีเหมือง เรากลัวตาย ที่สำคัญคือถ้าเรามีสุขภาพที่ดีเราคงจะมีหนทางสร้างรายได้อีกไม่รู้เท่าไหร่” นางชนัญชิดากล่าว

อ่านเพิ่มเติม 1)หลักฐานความจริงเหมืองแร่จ.พิจิตร 2)ผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำของเหมืองแร่ทองค บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ และ3)ข่าวศาลสั่งยกเลิกประทานบัตร