ThaiPublica > คอลัมน์ > “การบินไทย…การบินใคร? สายการบินแห่งญาติ?” ตอนที่3

“การบินไทย…การบินใคร? สายการบินแห่งญาติ?” ตอนที่3

9 พฤษภาคม 2014


บรรยง พงษ์พานิช

ในสองตอนแรกผมวิเคราะห์ปัญหาพื้นฐานที่ “การบินไทย” เผชิญอยู่ไว้ 4 ข้อใหญ่ซึ่งขอสรุปสั้นๆ อีกทีนะครับ

1. อุตสาหกรรมสายการบินเป็นอุตสาหกรรม “ปราบเซียน” ถือว่าดำเนินการได้ยากยิ่ง และมีการแข่งขันสูง แทบทุกคนต้องเข้าสู่การแข่งขันในระดับโลก (Global Competition) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คนที่ขาดความสามารถแท้จริง ไม่สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงได้ทัน ย่อมไปไม่รอด เหมือนกับอดีตสายการบินชั้นนำหลายสิบแห่งในโลก ที่ล้มหายตายจาก หรือถูกควบถูกกลืน จากคนที่เก่งกว่า

2. สภาพความได้เปรียบ ที่ “การบินไทย” เคยมี ได้เปลี่ยนไปและจางหายไปหมดแล้วทั้ง 4 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ สิทธิการบิน ฐานต้นทุนต่ำ วัฒนธรรมการให้บริการ

3. สภาพการเป็น “รัฐวิสาหกิจ” ที่ทำให้ไม่คล่องตัว ติดกฎระเบียบเยอะแยะไปหมด แถมกระบวนการไม่ได้มุ่งเน้นการมีประสิทธิภาพในการแข่งขัน

4. ลักษณะ “คณะกรรมการ” ซึ่งเป็นองค์คณะสูงสุดในการบริหาร ไม่ได้มีที่มาและคุณสมบัติเหมาะสมที่จะบริหารเพื่อประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด แถมยังถูกแทรกแซงจากผู้มีอำนาจแท้จริงภายนอกตลอดเวลา ทำให้การบริหารบิดเบี้ยวไปมาก

….วันนี้ขอต่อด้วยปัญหาอีกสองข้อใหญ่นะครับ โดยทุกข้อจะเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องจากปัญหาข้อก่อนๆ

5. คณะผู้บริหาร “ส่วนใหญ่” ขาดคุณภาพ ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีความทุ่มเท และมีไม่น้อยที่ไม่ซื่อสัตย์

ตลอดเวลาที่ผมร่วมเป็นคณะกรรมการอยู่สองปีเศษ ถึงแม้ว่าจะได้พบได้เจอผู้บริหารที่ดี มีคุณภาพ มีความรู้ความสามารถ ทุ่มเทรับผิดชอบจริง ตลอดจนน่าจะซื่อสัตย์ อยู่หลายท่าน แต่ต้องขอเรียนอย่างตรงไปตรงมาว่า พวกที่ผมขอสรุปว่า “คุณภาพไม่ถึง ความทุ่มเทไม่เห็น ความโปร่งใสน่าเคลือบแคลง” มีมากกว่าหลายเท่าตัวนัก

เชื่อไหมครับ ตอนเข้าไปในปี 2552 มีผู้บริหารระดับ Vice President ขึ้นไปถึงกว่าห้าสิบคนที่ “ถูกแขวน” คือ ไม่มีงานให้ทำ ถูกย้ายออกมาจากหน้าที่เดิม เพราะไม่ถูกใจ หรือไม่ก็ไปเกะกะขวางทางท่านผู้บริหารสูงสุด หรือคณะกรรมการชุดก่อนๆ พวกนี้ทุกคน ยังมีตำแหน่ง มีรถประจำ มีเลขาฯ หน้าห้อง มีเงินเดือนเต็ม ได้ขึ้นตามปกติเท่าอัตราเฉลี่ย มีโบนัส มีสวัสดิการครบ ไม่มีอยู่อย่างเดียวครับ…ไม่มีงานให้ทำ หรืออย่างมากก็ทำไม่ถึงครึ่งของที่ควร เขาไม่เลิกจ้าง ไม่ไล่ออก (เพราะไม่มีความผิด) แต่แขวนไว้เฉยๆ

ถามว่าทำไมถึงเป็นเช่นนี้ได้ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร จะขอสาธยายเป็นข้อๆ นะครับ

ที่มาภาพ : http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/a/a0/Thai_Airways_at_Suvarnabhumi_Airport,_Bangkok_2013.jpg
ที่มาภาพ : http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/a/a0/Thai_Airways_at_Suvarnabhumi_Airport,_Bangkok_2013.jpg

ข้อแรก การเป็น “รัฐวิสาหกิจ” ที่มีระบบบุคลากรคล้ายๆ กับระบบข้าราชการ คือ ไม่มีการให้ความดีความชอบตามผลงานแท้จริง ถึงจะมีระบบเคพีไอ (KPI) ก็ไม่สะท้อนถึงผลงานที่ผูกพันสอดคล้องกับผลงานองค์กร คนที่ไม่มีความผิดก็อยู่ได้เติบโตไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องมีผลงานอะไร เงินเดือนโบนัสก็เกลี่ยๆ เท่าๆ กันตลอด เข้ามาแล้วก็สามารถเป็น “ลูกจ้างตลอดชีพ” (Lifetime Employee) ได้ทุกคน เช้าชามเย็นครึ่งชามก็ไม่มีใครว่า ขออย่าทำผิด อย่าขวางใครก็พอ

ข้อที่สอง สืบเนื่องจากปัญหาข้อ 4 ที่ว่าไว้เมื่อตอนที่แล้ว การเลือกหรือการเลื่อนตำแหน่งผู้บริหารไม่ได้เป็นไปตาม Merit Base คือ ไม่ได้เป็นไปตามความสามารถ ความทุ่มเท หรือผลงาน ไม่เกี่ยวกับค่าของคน แต่ขึ้นอยู่กับว่าเป็น “คนของใคร” เสียเป็นส่วนใหญ่ ตอนที่ผมเป็นกรรมการ ท่านประธานฯ ขอร้องอย่ารับ “ฝาก” จากใคร ไม่ว่าจะเข้างานหรือเลื่อนตำแหน่ง ซึ่งเอาเข้าจริงก็ยังมีประปราย พอผมบ่น ท่านก็อธิบายว่า “รับเท่าที่จำเป็นจริงๆ แต่เขาก็มีฝีมือเหมือนกันนะ” เป็นเสียอย่างนี้ ผมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดที่สุด จนเพื่อนฝูงที่อยากเลื่อนตำแหน่ง อยากฝากลูกหลานประณามไปทั่ว “ไอ้เตามันไม่ไหว ไม่เอาพรรคพวก พึ่งพาอะไรไม่ได้ เสียแรงรู้จักชอบพอ” (ไม่น่าเชื่อ เวลามีการทดสอบรับลูกเรือทีไร ผมได้รับโทรศัพท์จากผู้มีส่วนรับผิดชอบ “ท่านบรรยง ไม่ฝากใครหรือครับ” พอผมโวยวาย เขาก็บอกว่ามีฝากกันทุกคน) ผมเคยเสนอว่า ให้ตั้งเป็นกฎ ถ้าใครมีคนฝาก ให้หักครั้งละ 1 คะแนน พอครบ 5 คะแนน ให้ถือว่าหมดคุณสมบัติ กรรมการอื่นๆ มองหน้า ไม่พูดอะไร คงคิดว่า “ไอ้เตามันบ้า ไม่รู้จักยืดหยุ่น ไม่แบบไทยๆ ซะเลย” ผมก็เลยไม่กล้าบ้าดันทุรังต่อ

เชื่อผมเถอะครับ องค์กรใดก็ตาม ถ้าการให้รางวัลคน การเลือกคน การเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง ไม่ได้เป็นไปตาม Merit Base องค์กรนั้นก็รอเวลาล่มสลายได้เลย คนดี คนเก่ง ใครเขาจะมาทน นอกจากพวกที่ได้ประโยชน์กับระบบแบบนี้ กับพวกโหลยโท่ย ไม่มีทางเลือกแล้ว คนดีที่เขามีที่ไป เขาก็เผ่นหมด จริงๆ แล้วเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับข้าราชการทั่วไป กับรัฐวิสาหกิจแทบทุกแห่ง แต่บังเอิญที่นี่ต้องแข่งกับคนที่เขาเก่งที่สุดในโลก อาการถึงออกชัดเจน

ข้อที่สาม ถึงแม้ค่าใช้จ่ายบุคลากรโดยรวมของการบินไทย เมื่อเทียบกับรายรับ และขนาดความจุโดยรวม จะอยู่ในสัดส่วนที่สูงกว่าคู่แข่งเกือบทุกราย แต่สำหรับระดับเงินเดือนของผู้บริหารแล้ว นับว่าต่ำอย่างมากจริงๆ ถึงแม้เงินเดือนของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) จะได้เดือนละ 1 ล้านบาท ก็ไม่นับว่าสูงอะไรสำหรับกิจการที่มีรายได้รวมปีละสองแสนล้านบาทอย่างนี้ (นับว่าค่อนข้างต่ำมากทีเดียว) ยิ่งอันดับถัดไป ไม่ถึงหนึ่งในสามสักคน อย่างซีเอฟโอ (CFO: รองด้านการเงิน) ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญมาก ได้เงินเดือนแค่ 180,000 บาท นับว่าต่ำมากจนน่าตกใจ ถึงแม้ที่นี่ลักลั่น ให้บริษัทจ่ายภาษีให้ (สหภาพไม่ยอมให้เลิก) แต่แม้รวมภาษีไปก็แค่สองแสนต้นๆ ไม่มีทางที่จะหาคนคุณภาพจากตลาดทั่วไปได้แน่ ผมเคยปรารภในที่ประชุมถึงเรื่องนี้ มีกรรมการอาวุโสท่านหนึ่งกรุณาอธิบายว่า “คุณบรรยง ที่นี่น่ะเงินเดือนไม่มีความหมายหรอก เขาไม่ให้เงิน เขาให้เขี้ยว แล้วให้ไปล่าเนื้อเอาเอง” ผมฟังแล้วแปลความหมายไม่ออก ตีความกันเอาเองนะครับ

นี่แหละครับ สภาพของผู้บริหาร (ผมเน้นอีกทีนะครับ ผมพบว่ามีผู้บริหารที่ดีที่เก่งหลายท่าน บางท่านก็ไม่ได้ดิบได้ดี ไม่ได้โอกาสทำงานเต็มที่ แต่มีผู้บริหารที่วิ่งเต้นเก่ง คุณภาพโหลยโท่ย ในจำนวนที่มากกว่า) พอเป็นอย่างนี้ ก็น่าจะประมาณได้ว่า ระดับถัดๆ ไปนั้นจะเป็นอย่างไร

6. การขาดเครื่องมือ ข้อมูล และความสามารถในการกำหนดกลยุทธ์ ทั้งระยะสั้น กลาง ยาว

อย่างที่วิเคราะห์ไว้ในข้อ 1 และข้อ 2 การแข่งขันที่เข้มข้น การเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม การที่เป็นกิจการที่ต้องลงทุนสูงตลอดเวลา ในขณะที่ภาวะตลาดผันผวนสูง ทำให้การวางแผนกลยุทธ์เป็นเรื่องสำคัญ ตั้งแต่แผนระยะยาว ว่าจะวาง position ตัวเองอย่างไร ลงทุนซื้อเครื่องแบบไหน วางเก้าอี้อย่างไร มี class ใดเท่าไหร่ แผนระยะกลาง ว่าจะเปิดบินเส้นทางหลักใดบ้าง slot เวลาใด รวมไปถึงแผนกลยุทธ์ระยะสั้นที่จะต้องปรับตัวตอบโต้กับการแข่งขัน กำหนดราคาแต่ละ class แต่ละช่วงเวลา ปรับเส้นทางบิน กลยุทธ์โปรโมชั่นต่างๆ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่มีพลวัตสูง นอกจากจะต้องมีความรู้ความชำนาญ มีความสามารถสูง ยังต้องมีข้อมูลสารสนเทศที่ละเอียดทันเวลา และมีเครื่องมือด้าน IT ที่มีคุณภาพสูง เรียกได้ว่าต้องใช้โปรแกรมประเภทที่เรียกว่าเป็น Super Multiple Linear Programming มาช่วยวิเคราะห์ มาช่วยตัดสินใจ

การบินไทยเป็นสายการบินเก่าแก่ ตั้งใจจะเป็น Premium Airlines มาแต่ไหนแต่ไร ไม่เคยทบทวนกลยุทธ์ นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า ประเทศไทยเป็น Leisure Country ควรเน้นชั้นประหยัดที่ประหยัดจริงๆ ส่วนที่เป็น First กับ Business Class นั้นต้องมีตามสมควร และต้องดีแข่งขันได้ แต่ส่วนที่เป็น Economy ต้องประหยัดจริงๆ คือ เก้าอี้เล็ก leg room ไม่ต้องกว้าง บริการไม่ต้องดีสุดๆ (การบินไทยให้บริการในชั้น Economy ค่อนข้างดีโดยเปรียบเทียบกับคู่แข่ง) เพราะคนเดินทางส่วนใหญ่ต้องการราคาถูก ไม่ได้ให้ราคาคุณค่ากับสิ่งที่เราพยายามจัดให้ (ซึ่งทุกอย่างมีต้นทุน) เรื่องพวกนี้มีความสำคัญมากเพราะเกี่ยวกับการวางแผนจัดซื้อฝูงบิน รวมไปทั้งการจัดวางเก้าอี้ การวางแผนเส้นทางบิน และการลงทุนในการให้บริการ (อย่างหลักการของ Low Cost Carrier คือ เขาจะไม่ขายสิ่งที่ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ต้องการซื้อ เช่น ในการบินระยะสั้นๆ ลูกค้าไม่ต้องการซื้อ leg room อีกสองนิ้วที่ราคาแพงขึ้น 10% หรือ อาหาร ซึ่งแน่นอนว่าการกินข้าวแกงที่ต้นทางหรือปลายทางมันถูกและอร่อยกว่า มากินบนฟ้าที่ต้นทุนแสนแพง แค่เงินเดือนคนเสิร์ฟก็ล่อไปเป็นแสนต่อเดือนแล้ว เป็นต้น)

ค่อนข้างแน่ว่า การบินไทยตัดสินใจผิดหลายครั้ง ในการลงทุนเรื่องเครื่องบิน อย่าง Airbus A340-500 4 ลำ ที่ซื้อมาลำละ 600 ล้านเหรียญเพื่อบินตรงนิวยอร์กกับลอสแอนเจลิสก็นับได้ว่าสูญเปล่า บินขาดทุนทุกเที่ยวจนต้องหยุด จอดไว้เฉยๆ ขายก็ไม่มีใครซื้อ หรือแม้กระทั่งเจ้ายักษ์ A380 ที่มี 6 ลำ ก็ได้ข่าวว่าขาดทุนตลอด ไม่มีคนเต็ม บางเที่ยวมีไม่ถึงครึ่งลำ ที่เคยวางแผนจะไปบินลอนดอนก็ไม่มีคนนั่งพอ ทราบว่าตอนนี้ A380 แทบไม่มีใครสั่งซื้อ จะขายทิ้งก็คงลำบาก เคยมีคนติว่า การตัดสินใจซื้อเครื่องบินของการบินไทย อยู่ที่ว่าเอเย่นต์อยากขายอะไรรุ่นไหน มากกว่าควรซื้ออะไร (ทั้งสองรุ่น ซื้อก่อนผมเป็นกรรมการครับ) นี่ไม่นับรวมไปถึงการมีเครื่องยนต์ 3 ยี่ห้อ ซึ่งทำให้ต้นทุนด้านการบำรุงรักษาสูงขึ้น เพราะเมื่อปี 2532 น้าชาติ (พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัน) อยากให้ซื้อ Pratt & Whitney จาก United Technology ที่ใกล้ชิดกับพรรครีพับลิกันเพื่อให้ท่านสุรเกียรติได้ไปเจรจาต่อสายตรงกับทำเนียบขาวสมัยท่าน Bush ผู้พ่อ หรือการซื้อเครื่อง Rolls Royce สมัย รสช. (Queen ลงทุนเสด็จมาเยี่ยมถึงอู่การบินไทยเลยทีเดียว)

ช่วงที่ผมเป็นกรรมการ ก็เกิดเหตุการประหลาดที่ไม่น่าเชื่อ เมื่อ การบินไทยไปเช่าเหมาลำเครื่องบินเฉพาะขนส่งสินค้า (cargo) มาสองลำในราคาค่าเช่าสูงลิบลิ่ว ชนิดที่เรียกได้ว่า บินตลอดเวลา มีสินค้าเต็มตลอด ยังขาดทุนเลย สืบสวนได้ความว่า มีการเลี่ยงบาลี ไปใช้เกณฑ์ เช่า space เช่าพื้นที่ขนส่ง (แต่เล่นเช่า 100% ตลอดเวลา) ทั้งๆ ที่เรายังมีความจุใต้ท้องเครื่องโดยสารปกติเหลืออีกเยอะ เรียกว่าไปเช่าเพราะมีคนอยากให้ไปเช่าโดยไม่สมควร แล้วใช้วิธีการเพื่อหลบเกณฑ์การเช่าเครื่องบินที่ต้องให้คณะกรรมการอนุมัติ เป็นเรื่องทุจริตชัดเจน มีการลงโทษผู้เกี่ยวข้อง แต่ก็นั่นแหละ การบินไทยก็ขาดทุนจากรายการนี้ไปกว่าพันล้านบาท สุดท้ายต้องยอมเสียค่าปรับ ยกเลิกคืนเครื่องไปก่อนกำหนด

ข้อมูล และระบบ IT เป็นเรื่องสำคัญมากในธุรกิจสายการบิน ข้อมูลต้องครบ เป็นเรียลไทม์คือสามารถรู้การเปลี่ยนแปลงได้ทันทีและมีการประมวลผลที่ดี เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนวางกลยุทธ์ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อวางแผนเส้นทาง ตลอดไปจนการกำหนดราคาแต่ละชั้นแต่ละช่วงเวลา ความจริงการบินไทยมีการลงทุนในด้าน IT ไม่น้อย แต่ผมสังเกตว่าผลที่เอามาใช้ได้ค่อนข้างน้อย ไม่สามารถมีระบบข้อมูลที่ครบถ้วนทันการ ไม่มีกลไกประมวลผลที่ทันสมัย เท่าที่ผมทราบ สายการบินที่ดีเขาจะสามารถคำนวณรายละเอียดรายได้ ต้นทุน ของทุกเที่ยวบินได้เป็นเรียลไทม์ตลอดเวลา ประมาณว่า พอปิดประตูเครื่อง จะขึ้นบินก็รู้ได้เลยว่าเที่ยวบินนี้จะกำไรขาดทุนเท่าใด แต่ของการบินไทย ผ่านไปกว่าเดือน กว่าจะปิดบัญชีรายไตรมาสเสร็จ ต้องนั่งรอลุ้นกันว่าผลประกอบการสุทธิจะเป็นอย่างไร (ธุรกิจสมัยนี้เขารู้กำไรขาดทุนกันเป็นรายวันครับ)

เรื่องระบบ IT เป็นปัจจัยสำคัญมาก (ผมมีความรู้เรื่องนี้ค่อนข้างน้อย แต่แน่ใจว่า ของเรา ถึงจะลงทุนไปมากแต่ใช้ประโยชน์ได้น้อย) ขอยกตัวอย่างนะครับ สายการบินตะวันออกกลาง เช่น Emirates กลายมาเป็นคู่แข่งสำคัญในการบินไปยุโรป เช่น ลอนดอนหรือปารีส ทั้งๆ ที่ผู้โดยสารต้องแวะพักครั้งหนึ่งที่ดูไบ แต่เขากลับขายตั๋วได้ในราคาถูกกว่าการบินไทยมาก ในขณะที่เราบินตรง โดยหลักแล้ว การที่เครื่องต้องแวะจอด ต้องมีต้นทุนสูงกว่าเครื่องบินตรงอย่างค่อนข้างแน่นอน ที่เขาขายถูกได้ก็เพราะ เขาขายตั๋วกรุงเทพฯ ไปลอนดอน โดยถือเป็นรายรับส่วนเพิ่ม (Marginal Revenue) เพื่อเติมเครื่องกรุงเทพฯ ไปดูไบ และดูไบไปลอนดอน ที่ปกติมี Load Factor แค่ 80% ให้เต็ม ดีกว่าทิ้งที่นั่งไว้เฉยๆ แต่ทันทีที่เขามีข้อมูลว่าสองสายนั้นเที่ยวไหนมีอุปสงค์เพิ่มกว่าปกติ เขาก็จะหยุดขายตั๋วกรุงเทพฯ ไปลอนดอนทันที ซึ่งการจะทำอย่างนั้นได้ ระบบต้องเป๊ะเป็น Realtime สถิติต้องแม่น ซึ่งระบบของการบินไทย ยังมีศักยภาพห่างไกลที่จะทำเช่นนั้นได้ แถมยังต้องพึ่งพาให้อำนาจพวกเอเย่นต์เยอะ กว่าจะรู้ว่าเที่ยวไหนเหลือบานเบอะก็ปาเข้าไปวันบินแล้ว ทุกคนเคยเจอเหตุการณ์จองไม่ได้ แต่พอขึ้นเครื่องไปที่ว่างบานเบอะมาแล้วแทบทั้งนั้น (นี่ไม่นับว่ามีการทำให้ที่ว่างโดยเจตนา เพื่อพวกมีสิทธิพิเศษ ตามที่มีข่าวลือตลอดมา)

ตอนผมเป็นกรรมการ เคยมีการเสนอกรอบลงทุน IT ไว้สูงถึงกว่าห้าพันล้านบาท พอถามว่าจะทำอะไรบ้าง เค้าก็ตอบแค่ว่า British Airways ลงทุนตั้ง 8,000 ล้าน คณะกรรมการจึงยังไม่ยอมอนุมัติ ขอดูรายละเอียดทั้งหมดก่อน ผมออกมานานแล้ว ไม่ทราบว่าไปถึงไหน มีประสิทธิภาพแค่ไหนแล้ว

พอไม่มีข้อมูล ไม่มีเครื่องมือ การวางกลยุทธ์ทุกอย่างเลยต้องพึ่ง “กึ๋น” พึ่งประสบการณ์ วิจารณญาณ การจะวางแผนเส้นทาง วางแผนตลาด เลยต้องลองถูกลองผิด เกิดเป็นต้นทุนแอบแฝงอยู่ไม่น้อย แถมข้อมูลและเครื่องมือต่างๆ ที่จะนำมาใช้วิเคราะห์การเงิน วิเคราะห์กระบวนการต่างๆ เพื่อพัฒนาปรับปรุงยังไม่มี ทำให้ต้องบริหารแบบเดาสุ่มไปเรื่อยๆ ตลอดมา

เช่นเคยนะครับ วันนี้ผมวิเคราะห์เสียยาวเท่าที่ผมรู้ ต้องขอยกยอดไปต่อตอน 4 ซึ่งจะพูดถึงปัญหาข้อสุดท้าย ซึ่งเป็นผลรวมของปัญหาทั้ง 6 ข้อข้างต้น นั่นคือ “การบินไทย…ต้นทุนสูงเท่าฟ้า” ซึ่งเป็นจุดตายในการแข่งขัน แล้วหลังจากนั้นก็จะขอบังอาจเสนอแนะวิธีแก้ (ที่ผมทำเองไม่ได้ และทำเองไม่เป็น) นะครับ

รออ่านนะครับ
หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊กBanyong Pongpanich วันที่ 8 พฤษภาคม 2557