ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ข้อพิพาทเหมืองทองคำ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด วังสะพุง ทำหนังสือร้องทุกข์ คสช. หวั่นทหารทำร้ายชาวบ้านอีกเพื่อขนแร่ของบริษัท “ทุ่งคำ”

ข้อพิพาทเหมืองทองคำ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด วังสะพุง ทำหนังสือร้องทุกข์ คสช. หวั่นทหารทำร้ายชาวบ้านอีกเพื่อขนแร่ของบริษัท “ทุ่งคำ”

29 พฤษภาคม 2014


จากข่าว “ชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด” ยื่นฟ้องศาลปกครอง เพิกถอนประทานบัตร-ใบอนุญาตบริษัททุ่งคำ”เนื่องจากข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องนับสิบครั้งที่พบว่า การประกอบกิจการของบริษัททุ่งคำได้ทำให้สารไซยาไนด์ แคดเมียม สารหนู สารตะกั่ว แมงกานีส ซึ่งเป็นสารพิษปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ โดยสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชน 6 หมู่บ้าน ได้แก่ 1) ความเสียหายต่อคุณภาพชีวิต ต่อสุขภาพ ต่อค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียสำหรับน้ำในการอุปโภคและบริโภค 2) ค่าเสียหายต่อพืชผลเกษตรกรรม ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และ 3) ความเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงการปนเปื้อนสารพิษในสภาพแวดล้อมต่างๆ ไม่อาจใช้ประโยชน์ในห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติได้ตามปกติ

ปัจจุบันชาวบ้านบางรายป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ และนาข้าวมีผลผลิตตกต่ำ จนเกิดข้อพิพาทระหว่างเหมืองกับชาวบ้านและทำให้ชาวบ้านสร้างกำแพงกั้นทางเข้า-ออกเหมือง เพื่อไม่ให้รถน้ำหนักมากวิ่งผ่านบนถนนของหมู่บ้านอีกต่อไป อันเป็นสาเหตุให้เหมืองต้องหยุดกิจการและไม่สามารถขนแร่ออกไปขายได้จึงยื่นฟ้องชาวบ้านปัจจุบันรวม 7 คดี

สภาพกำแพงใจที่สร้างขึ้นครั้งที่ 3 ที่ถูกทำลายลงเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557
สภาพกำแพงใจที่สร้างขึ้นครั้งที่ 3 ซึ่งถูกทำลายลงเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557

ผลจากการสร้างกำแพงใจของชาวบ้าน แม้ถูกทำลายก็สร้างใหม่และถูกทำลายลงเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 จากกองกำลังติดอาวุธประมาณ 300 คน ซึ่งเป็นการปะทะกันที่รุนแรงที่สุด มีการจับชาวบ้านเป็นตัวประกันพร้อมกับทำร้ายร่างกาย ใช้ปืนข่มขู่ และใช้รถเครนมาทำลายกำแพงเพื่อขนแร่ทองแดงออกมาจากเหมือง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดทำหนังสือขอร้องทุกข์ด่วนที่สุด ถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กรณีนายทหารเกี่ยวข้องพัวพันกับการขนแร่ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ที่ใช้ความรุนแรงต่อประชาชน 6 หมู่บ้าน โดยอ้างถึง หนังสือที่ กห. 0400/2263 ว่า

ตามที่ท่านได้มีหนังสือถึงกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด เพื่อให้แจ้งข้อมูลและรายละเอียดที่ชัดเจน กรณีมีกลุ่มทหารไปพัวพันกับการขนแร่ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด และให้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดทำหนังสือร้องทุกข์อีกครั้งหากยังมีความประสงค์จะร้องทุกข์ต่อเรื่องดังกล่าว

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจึงส่งหนังสือฉบับนี้มาเพื่อขอร้องทุกข์อีกครั้ง โดยรายละเอียดจากเหตุการณ์เมื่อ วันที่ 21-22 เมษายน 2557 พล.ท. ปรเมษฐ์ ป้อมนาค และผู้ติดตามอีก 16 คน ซึ่งอ้างว่าเป็นทหารได้เดินทางเข้ามาที่หมู่บ้านนาหนองบง “คุ้มใหญ่” โดยใช้รถตู้คันหนึ่งที่โดยสารหมาย เลขทะเบียน ฮก 4700 กรุงเทพมหานคร จดทะเบียนในชื่อ พ.ท. ปรมินทร์ ป้อมนาค เมื่อถึงบริเวณหน้าบ้านของนายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ ก็ได้บุกรุกเข้าไปในบริเวณบ้านและแสดงพฤติกรรมข่มขู่คุกคามประชาชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดที่มาเฝ้าดูเหตุการณ์ หลังจากนั้นได้เปิดเผยความต้องการที่จะขนแร่ทองแดงของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ผ่านถนนสาธารณะของชุมชน

หลังเหตุการณ์ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้ส่งจดหมายเปิดผนึก ลงวันที่ วันที่ 24 เมษายน 2557 เพื่อร้องเรียนการละเมิดสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชนและกรณีปัญหาการข่มขู่คุกคามในหมู่บ้าน และขอให้ท่านดำเนินการสอบสวนวินัย พล.ท. ปรเมษฐ์ ป้อมนาค นายทหารนอกราชการ และกลุ่มผู้ติดตามที่อ้างว่าเป็นนายทหารดังกล่าว แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ จากท่านทั้งสิ้น

จนกระทั่งเกิดเหตุในคืนวันที่ 15 พฤษภาคม ถึงเช้าวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา ประชาชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านได้ถูกกองกำลังเถื่อนติดอาวุธประมาณ 300 คนเข้ามาปิดล้อมหมู่บ้าน พังกำแพงชุมชนของหมู่บ้าน และได้ขู่ฆ่า กักขัง โดยมัดมือไขว้หลังให้คว่ำหน้ากับพื้น และรุมซ้อมทรมานทำร้ายร่างกายไม่เว้นผู้หญิงและคนชรา เพื่อเปิดทางในการขนแร่ทองแดงของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งเป็นเหตุให้ประชาชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบาดเจ็บหลายสิบราย ถูกขโมยและทรัพย์สินถูกทำลาย โดยไม่มีหน่วยงานใดที่มีหน้าที่รับผิดชอบเข้ามาช่วยเหลือในขณะเกิดเหตุ

ทั้งนี้ มีพยานในเหตุการณ์ยืนยันได้ว่ามีนายทหารเป็นผู้สั่งการการปฏิบัติการขนแร่เถื่อนในครั้งนี้ รวมถึงทั้งแผนการและลักษณะของการปฏิบัติการก็คล้ายการจู่โจมของทหาร จากนั้นประชาชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านจึงรวมกลุ่มกันจัดเวรยามเพื่อตรวจสอบดูแลความปลอดภัยของประชาชนในหมู่บ้านด้วยตนเอง เนื่องจากข้อมูลจากอุตสาหกรรมจังหวัดเลยระบุว่า จำนวนแร่ทองแดงที่กองกำลังเถื่อนติดอาวุธขนออกไปได้นั้นมีจำนวน 476 ตัน แต่สามารถขนออกไปได้เพียง 316 ตัน คงเหลือแร่ทองแดงที่ยังไม่ได้ทำการขน 160 ตัน รวมถึงสื่อมวลชนได้รายงานว่ายังมีแร่ทองแดงที่ค้างอยู่ในเหมืองทองคำแห่งนี้อีกประมาณ 2,000 ตัน และแร่ที่ยังไม่ได้แต่งแร่อีก 20,000 ตัน โดยที่ประชาชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้ทราบข่าวว่าจะมีการขนแร่ด้วยรถบรรทุก 55 คันอีกครั้งในวันที่ 29–30 พฤษภาคม 2557 แต่ก็ไม่สามารถยืนยันหรือไม่สามารถทราบได้ว่าจะมีการขนแร่โดยใช้กองกำลังเถื่อนติดอาวุธเข้ามาทำร้ายประชาชนในหมู่บ้านอีกหรือไม่

ยิ่งเมื่อกองทัพบกประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ในขณะที่ประชาชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านได้รวมกลุ่มกันจัดเวรยามเพื่อตรวจสอบดูแลความปลอดภัยของประชาชนในหมู่บ้านด้วยตนเอง สถานการณ์ดังนี้ได้สร้างความหวั่นวิตกต่อประชาชนในหมู่บ้าน เนื่องจากอาจจะมีความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกคุกคามทำร้ายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อการขนแร่ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด มีความเกี่ยวข้องชัดเจนกับนายทหาร

ทางกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจึงเรียนมาเพื่อขอให้ท่าน ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก เร่งดำเนินการตรวจสอบนายทหารนอกรีต ทั้งที่ปลดประจำการแล้ว และอยู่ระหว่างรับราชการ ที่เป็นตัวการและมีส่วนเกี่ยวข้องกับการขนแร่ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด อย่างเร่งด่วน โดยให้มีการลงโทษอย่างสูงสุดทั้งทางวินัยและดำเนินคดีอาญาหากพบความผิด

ขอให้ท่านในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ใช้อำนาจโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนใน 6 หมู่บ้านที่ถูกทำร้ายอย่างทารุณจากการขนแร่ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ในเหตุในคืนวันที่ 15 พฤษภาคม ถึงเช้าวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 และเหตุการณ์เกี่ยวเนื่อง เมื่อวันที่ 21-22 เมษายน 2557 ดังที่กล่าวในข้างต้น โดยออกคำสั่งระงับการออกใบอนุญาตขนแร่ และระงับการขนแร่ทั้งหมดของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เอาไว้ก่อน จนกว่าจะมีการไต่สวนข้อเท็จจริงและมีการเอาผิดทางกฎหมายต่อผู้กระทำผิดและผู้รับผิดชอบให้เป็นที่เปิดเผยอย่างกระจ่าง

ทั้งนี้ เนื่องจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยัง อุตสาหกรรมจังหวัดเลย และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เพื่อให้มีการระงับการออกใบอนุญาตขนแร่ และระงับการขนแร่ทั้งหมดของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เอาไว้ก่อน ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 103 วรรคแรก ที่อธิบดีมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตที่ออกให้ตามความในหมวดนี้ เมื่อปรากฏว่าได้มีการฝ่าฝืนบทแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือเงื่อนไขในใบอนุญาต หรือมีเหตุอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือความผาสุกของประชาชน จนกว่าจะมีการไต่สวนข้อเท็จจริง และมีการเอาผิดทางกฎหมายต่อผู้กระทำผิดและผู้รับผิดชอบให้เป็นที่เปิดเผยอย่างกระจ่าง แต่การร้องเรียนดังกล่าวยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

และขอให้ท่านมีคำสั่ง ไม่ให้มีการใช้อำนาจหรือข้ออ้างภายใต้สถานการณ์การประกาศกฎอัยการศึก โดยห้ามไม่ให้ทหารเกี่ยวข้องพัวพันกับการขนแร่ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด และใช้ความรุนแรงหรือปราบปรามประชาชนที่ต้องปกป้องความปลอดภัยของตนเอง และปกป้องสิทธิชุมชนในการคัดค้านเหมืองแร่ทองคำ ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนใน 6 หมู่บ้านเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด

จึงเรียนมาเพื่อขอให้ท่านเร่งดำเนินการต่อข้อร้องทุกข์ทั้งหมดเป็นกรณีเร่งด่วน

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด
86 หมู่ 3 บ้านนาหนองบง
ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย 42130
โทรศัพท์ 098-215-0232 นายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์

ที่มาภาพ : http://www.citizenthaipbs.net/node/4004
ที่มาภาพ : http://www.citizenthaipbs.net/node/4004

ลำดับเหตุการณ์ความรุนแรงเหมืองทองคำ

สถานการณ์ความรุนแรงเริ่มก่อตัวขึ้นดังต่อไปนี้โดยเริ่มจาก

3 กุมภาพันธ์ 2557 นายปราโมทย์ ปันสิทธิ์ กรรมการ บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ มีข้อเสนอให้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน โดยจะแบ่งหุ้นให้กับชาวบ้าน 20% จะผลิตทองคำโดยไม่ใช้ไซยาไนด์ จะให้ชาวบ้าน ๖ หมู่บ้านเข้าตรวจสอบการดำเนินกิจการเหมืองแร่ได้ตลอดเวลา และจะแบ่งผลกำไรให้กับชาวบ้านในรูปแบบกองทุน แต่ข้อเสนอดังกล่าวถูกปฏิเสธจากคณะกรรมการกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน

19 กุมภาพันธ์ 2557 นายสมัย ภักดิ์มี ได้รับการติดต่อเป็นการส่วนตัวจากคนสนิทของนายธนาวุฒิ ทิมสุวรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการขอให้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านเปิดกำแพงที่ปิดกั้นถนนระหว่างเส้นทางตัดเข้าหมู่บ้านนาหนองบง หมู่ที่ 3 กับทางขึ้นโรงงานเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด และจะขอผ่านเส้นทางถนนสาธารณของชุมชน แต่ไม่ได้ผล นายสมัย ภักดิ์มี ปฏิเสธที่จะพูดคุย จนกระทั่งนายธนาวุฒิ ทิมสุวรรณ ลงทุนติดต่อทางโทรศัพท์ด้วยตัวเอง นายสมัย ภักดิ์มี ตัดสินใจและนำสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลเข้าร่วมจำนวน 7 คนฟังการเจรจาพูดคุยด้วย นายสมัย ภักดิ์มี กล่าวอ้างว่า ตนไม่มีอำนาจในการเจรจา และการตัดสินใจขึ้นอยู่สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ผลการเจรจาต้องยุติลง

20 เมษายน 2557 เวลาประมาณ 03.00 น. มีการส่งนายหน้าเข้ามาเจรจากับผู้อาวุโสที่ได้รับการยอมรับนับถือของหมู่บ้านในยามวิกาล เพื่อให้ผู้ซื้อแร่ทองแดงจากบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ขนแร่ผ่านเส้นทางถนนสาธารณของชุมชน ที่มีระเบียบชุมชนห้ามรถบรรทุกน้ำหนักเกิน 15 ตัน ใช้ทาง โดยยื่นข้อเสนอจะยกฟ้อง 3 คดีอาญาซึ่งชาวบ้านจะต้องไปขึ้นศาลในวันที่ 28 เมษายนนี้ การเจรจาถูกปฏิเสธเช่นเคยจากแกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน

21 เมษายน 2557 เวลาประมาณ 07.00 น.รถเครน 1 คันวิ่งผ่านทางเข้าไปยังเหมืองทอง ตามด้วยรถบรรทุก 18 ล้อ 4 คัน รถปิดบังป้ายทะเบียนอีกไม่ต่ำกว่า 3 คันวิ่งเข้าออกระหว่างเหมืองทองกับหมู่บ้านตลอดวัน

จากนั้น ประมาณ 00.00 น. พล.ท. ปรเมษฐ์ ป้อมนาค และผู้ติดตามชายฉกรรจ์อีก 16 คน (4 คนใน 16 คนอ้างว่าเป็นทหาร) ได้นำขบวนรถ โดยหนึ่งในขบวนรถ มีรถตู้หมายเลขทะเบียน ฮก 4700 กรุงเทพมหานคร จดทะเบียนในชื่อ พ.ท. ปรมินทร์ ป้อมนาค เข้ามายังหมู่บ้านนาหนองบงคุ้มใหญ่ เมื่อบุกเข้าไปยังบ้านของนายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ แกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ได้อ้างถึงความเกี่ยวพันกับคนในตระกูลทิมสุวรรณที่มีสายสัมพันธ์ต่อกันอย่างแน่นแฟ้น แสดงอาการข่มขู่คุกคามประชาชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดรวม 30 คนและผู้สืบข่าวที่มาปฏิบัติหน้าที่และพบเห็นเหตุการณ์ ก่อนจะยื่นข้อเจรจา จะขนแร่ทองแดงออกจากเหมืองโดยละมุนละม่อมผิดกับพฤติกรรมและถ้อยคำที่ใช้เพื่อบีบคั้นจะเอาคำตอบให้ได้จากแกนนำ จึงเป็นเหตุผลให้ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดปิดด่านตรวจรถบรรทุกที่ผิดระเบียบชุมชน ผิดกฎหมายจราจรที่ห้ามรถบรรทุกน้ำหนักเกิน 20 ตันใช้ทางหลวงชนบท และเพื่อป้องกันเหตุร้ายแรงที่ส่อเค้าคุกคามแกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดและประชาชนในหมู่บ้าน

ในคืนวันนั้น ชาวบ้านกลุ่มรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรวมตัวประชุมใหญ่ มติที่ทุกคนเห็นตรงกันคือ ไม่อนุญาตให้รถบรรทุกเกิน 15 ตัน ใช้ถนนสาธารณะร่วมกับชุมชน และให้เพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัย (วันที่ 23 พลโทปรเมษฐ์ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กลับคำว่า ตัวเองเป็นคนซื้อแร่)

22 เมษายน 2557 เวลาประมาณ 11.00 น. นายปรเมษฐ์ บันสิทธิ์ อ้างตัวเป็นผู้แทนเจรจาจากบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) เข้ามาในหมู่บ้านเพื่อยื่นข้อเสนอให้ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเปิดการเจรจากับทุ่งคำอีกครั้ง

โดยหลังการยื่นข้อเสนอเรื่องเจรจา นายปรเมษฐ์ บันสิทธิ์ ได้โทรศัพท์มายังทีมเจรจาของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดอีกครั้ง เพื่อแสดงเจตนาว่าจะขนแร่ทองแดงออกจากเหมืองโดยละมุนละม่อม

ตัวแทนในการเจรจาของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ตั้งเงื่อนไขก่อนที่จะมีการเจรจา ให้ทุ่งคำรับประกันว่า จะไม่มีการขนแร่ทองแดงก่อนการเจรจา ให้เปิดเผยบริษัทผู้ซื้อแร่ ให้แสดงสัญญาซื้อขายแร่ระหว่างทุ่งคำกับคู่สัญญา ให้แสดงใบอนุญาตขนแร่ที่ผ่านการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว และให้ผู้ที่จะมาเจรจามีเอกสารบันทึกการประชุมของกรรมการบริษัทที่มอบอำนาจในการตัดสินใจเด็ดขาดมาแสดง

24 เมษายน 2557 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ได้ยื่นหนังสือขอให้อุตสาหกรรมจังหวัดเลยดำเนินการตรวจสอบใบอนุญาตการซื้อ-ขายแร่ และใบอนุญาตขนแร่ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด

6 พฤษภาคม 2557 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้รับหนังสือจากอุตสาหกรรมจังหวัดเลย ที่ ลย. 0033(2)/0852 ลงวันที่ 28 เมษายน 2557 จากการตรวจสอบของอุตสาหกรรมจังหวัดเลย เนื้อความว่า บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ขออนุญาตขนแร่ทองแดง มีทองคำและเงินเจือปน จำนวน 476 เมตริกตัน โดยใช้รถบรรทุก 15 คัน ไปยังสถานที่เก็บแร่ที่ 2/2557 ของบริษัทฯ ซึ่งตั้งอยู่ที่ 294/3 หมู่ที่ 11 ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเลย ได้ออกใบอนุญาตขนแร่เลขที่ 01930–01944 โดยมีอายุวันที่ 22–23 เมษายน2557

วันที่ 15 พฤษภาคม 2557 รายงานจากผู้สืบข่าวหนังสือพิมพ์ The Nation ว่าบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้รับใบอนุญาตจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ในวันที่ 16 ถึง 17 พฤษภาคม 2557 เป็นการให้สัมภาษณ์จากอธิบดีกรมพื้นฐานและการเหมืองแร่

คืนวันที่ 15 พฤษภาคม ต่อเนื่องเช้าวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 ประชาชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านได้ถูกกองกำลังเถื่อนติดอาวุธประมาณ 300 คนเข้ามาปิดล้อมหมู่บ้าน ทำลายกำแพงใจ และได้ขู่ฆ่า กักขัง โดยมัดมือไขว้หลังให้คว่ำหน้ากับพื้น และรุมซ้อมทรมานทำร้ายร่างกายไม่เว้นผู้หญิงและคนชรา จำนวน 40 คน รวม 7 ชั่วโมง โดยมีแผนการ คนสั่งการ และลักษณะของการปฏิบัติการคล้ายการจู่โจมของทหาร เพื่อเปิดทางในการขนแร่ทองแดงของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เป็นเหตุให้ประชาชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบาดเจ็บหลายสิบราย ถูกขโมยและทรัพย์สินถูกทำลาย โดยไม่มีหน่วยงานใดที่มีหน้าที่รับผิดชอบเข้ามาช่วยเหลือในขณะเกิดเหตุ

รายละเอียดของเหตุการณ์

22.00 น. รถตู้ต้องสงสัย 5 คันวิ่งเข้ามาจอดบริเวณด่านตรวจจุดแรกของทางเข้าหมู่บ้าน (ว.1) (ว.1 ว.2 ว.3 หมายถึงจุดตรวจที่ 1 ที่ 2 และที่ 3)

22.30 น. กลุ่มชายฉกรรจ์ติดอาวุธปืน มีด ไม้ อย่างต่ำ 300 คน นำโดย พ.ท. ปรมินทร์ ป้อมนาค เริ่มกระจายกำลังเข้าปิดล้อมหมู่บ้าน และยึดจุดตรวจ ว.1 ซ้อมทารุณและจับมัดชาวบ้านที่อยู่ในจุดตรวจเป็นตัวประกัน 6 คน ส่วนนายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ ที่เดินทางไปช่วยชาวบ้านได้ถูกจับซ้อมและใส่กุญแจมือกุมขังไว้ในบริเวณที่ พ.ท. ปรมินทร์บัญชาการอยู่โดยขณะปฏิบัติการมีการยิงปืนเพื่อข่มขู่ชาวบ้านที่พยายามจะเข้ามาช่วยตัวประกันเป็นระยะๆ ทั้งนี้ในขณะปฏิบัติการอยู่นั้น มีการติดต่อสื่อสารกับคนชื่อ นาย “อู๋” ตลอดเวลา (“อู๋” ชื่อเล่นของนายปรเมษฐ์ บันสิทธิ์)

22.30-24.00 น. มีการนำกำลังเสริมกลุ่มชายฉกรรจ์ที่เดินทางมาพร้อมกับรถบรรทุก 2 คันแรก เพื่อบุกเข้าด่านตรวจจุดที่สอง ยึดด่านตรวจ ว.2 มีการขู่จะฆ่า ซ้อมทารุณ และจับมัดชาวบ้านไว้ในจุดตรวจเป็นตัวประกัน 22 คน ต่อมากองกำลังอีกชุด ได้เข้ายึดด่านตรวจ ว.3 ที่มีการสร้างกำแพงของหมู่บ้าน มีการขู่จะฆ่า ซ้อมทารุณ และจับมัดชาวบ้านเป็นตัวประกันไว้ในจุดตรวจ 11 คน หลังจากนั้นมีการนำรถไถลงมาจากเหมือง ทำลายกำแพง จากนั้นรถบรรทุก 18 ล้อ (ประมาณ 13 คัน วิ่งผ่านขึ้นไปยังเหมือง) ทั้งนี้ในขณะกลุ่มชายฉกรรจ์ติดอาวุธกำลังปฏิบัติการ มีการยิงปืนเพื่อข่มขู่ชาวบ้านที่พยายามจะเข้าไปช่วยตัวประกันเป็นระยะๆ โดยกองกำลังอีกเป็นจำนวนมากที่ซุ่มอยู่ในป่าและบริเวณถนน เพื่อตรึงชาวบ้านในหมู่บ้านไม่ให้รวมตัวกันออกมาช่วยตัวประกันได้

หุ่นจำลองระบุชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์คืนวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 รวม 10 คน ถูกแขวนคอ
หุ่นจำลองระบุชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์คืนวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 รวม 10 คน ถูกแขวนคอ

24.00 น. ชาวบ้านพยายามโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือจากนายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย, พ.ต.อ. สมชาย ศรีคำแดง ผกก. สภ.วังสะพุง, พล.ต.ต. ศักดิ์ดา วงศ์ศิริยานนท์ ผู้บังคับการตำรวจภูธร จังหวัดเลย, นายบรรพต ยาฟอง นายอำเภอวังสะพุง รวมถึงสายด่วน แจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย 191 และ 1669 แจ้งเหตุฉุกเฉิน-อุบัติเหตุ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่รถขนแร่ 3 คันแรกพร้อมกองกำลังคุ้มกันขบวนรถ เริ่มวิ่งออกจากหมู่บ้าน

01.00 น. รถ 1669 วิ่งเข้ามาแล้วโดนกลุ่มโจรยิงขู่จึงเข้าพื้นที่ไม่ได้และกลับไป
01.20 น. รถตำรวจวิ่งเข้ามา แล้ววนออกไป ไม่นานตำรวจชุมชนเข้ามาอีก 2 คน ใช้เวลาประมาณ 20 นาทีแล้วกลับ

14.30-05.00 น. รถบรรทุกแร่คันสุดท้ายวิ่งออกจากหมู่บ้าน กลุ่มชายฉกรรจ์ทั้งหมดทยอยถอนกำลังออก ส่วนรถตำรวจมาทางบ้านปากปวน อยู่หลัง ว.1 มาประมาณ 5 นาทีแล้วกลับ รถฉุกเฉิน 1669 วิ่งเข้ามารับคนเจ็บไปโรงพยาบาล

ประมาณ 09.00 น. ชาวบ้านที่ได้รับบาดเจ็บ 8 คนแรกไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่ สภ.วังสะพุง

22 พฤษภาคม 2557 รวมชาวบ้านที่ได้รับบาดเจ็บ 28 คนที่ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่ สภ.วังสะพุง

23 พฤษภาคม 2557 สภ.วังสะพุงแจ้งว่ามีการออกหมายจับ พ.ท. ปรมินทร์ ป้อมนาค และพลเรือนอีกหนึ่งคน

คำบอกเล่าของชาววังสะพุงวันที่ถูกจับเป็นตัวประกัน

นายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ ชาวบ้านวังสะพุง หนึ่งในคนที่ถูกจับเป็นตัวประกันในคืนวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 เล่าเหตุการณ์ให้ฟังว่า ในคืนนั้นประมาณ 22.00 น. มีรถเครนและชายฉกรรจ์พร้อมอาวุธทั้งปืน มีด ท่อนเหล็ก ประมาณ 300 คน เข้ามาในหมู่บ้านมุ่งตรงไปทำลายกำแพงโดยใช้รถเครน และจับชาวบ้านประมาณ 40 คนเป็นตัวประกันโดยมัดมื่อไพล่หลัง สั่งให้ก้มหน้าหรือจับหมอบกับพื้น พร้อมทั้งทำร้ายร่างกายด้วยการเตะ ต่อย ทุบตี ซึ่งสำหรับตนเองก็เบ้าตาขวาแตก

“เขาทำร้ายผม ผมไม่เจ็บเท่าลากน้องผมมาซ้อมให้ดูต่อหน้า น้องเจ็บผมเจ็บกว่าอีก บางคนถูกซ้อมจนปัสสาวะเป็นเลือด พวกผู้หญิงก็ไม่เว้นหลายคนก็โดนซ้อม บางคนเกือบจะโดนข่มขืนด้วยซ้ำ จนกระทั่งตี 4 ถึงจะออกไปจากหมู่บ้าน แต่ก็พูดขู่ด้วยปืนว่าอย่าเพิ่งปล่อยตัวประกันจนกว่าจะครบ 30 นาที มิฉะนั้นจะฆ่าให้หมด พร้อมย้ำว่าจะมาขนแร่ที่เหลือในสิ้นเดือนนี้” นายสุรพันธ์กล่าว

นายสุรพันธุ์ รุจิไชยวัฒน์
นายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์

“เหตุการณ์คืนวันที่ 15 พฤษภาคมก็เกิดขึ้น ผมคิดว่าเป็นเพราะอีกฝ่ายเขาทำหมดทุกอย่างแล้วทั้งขมขู่ เจรจา แต่ว่าเราไม่กลัว มันเลยถึงจุดที่ต้องใช้กำลังความรุนแรง” นายสุรพันธ์กล่าวพร้อมเล่าต่อว่า

“ในขณะที่ผมชาวบ้านถูกจับเป็นเสมือนเป็นทาสเชลยให้อีกฝ่ายข่มขู่ทำร้ายร่างกาย และต้องก้มหน้าอยู่ตลอดเวลา ผมได้ยินหัวหน้ากองกำลังคุยกับคนชื่อ “อู๋” ว่า “ขนหมดยัง ยังเหลืออีกเยอะไหม รีบๆ หน่อย จะเช้าแล้ว” ซึ่งเป็นการคุยกันกับใครสักคนที่อยู่บนเหมือง ดังนั้นการที่คนของบริษัททุ่งคำปฎิเสธว่าไม่รู้เห็นมันเหตุการณ์ขนแร่ในคืนนั้นมันเป็นไปไม่ได้ เพราะเรามีหลักฐานชัดเจนว่าแร่ยังเป็นของบริษัททุ่งคำ และตอนขนแร่ออกมามีการประสานกับคนของเหมือง ซึ่่งการขนแร่ออกไปครั้งนี้ก็น่าจะเป็นแร่ลอตที่ขออนุญาตสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเลยเมื่อเดือนเมษายน 2557″

นอกจากนี้ในคืนเกิดเหตุ กองกำลังที่เข้ามาในหมู่บ้านสังเกตว่าแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือใส่ไอ้โม่งปิดหน้า ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่พููดภาษาเลย (“เลย” มีภาษาเฉพาะเป็นของตัวเองที่ไม่เหมือนกับจังหวัดอื่นๆ ของไทย และมีสำเนียงแตกต่างกันในแต่ละอำเภอ) และบางคนก็มีอาการมึนเมา การต่อสู้ไม่มีแบบแผนนัก คอยทำตามคำสั่งเท่านั้น ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งประมาณ 20 คนจะเปิดหน้า ท่าทางการต่อสู้เหมือนพวกทหารหรือคนที่ผ่านการฝึกมาแล้ว และพูดภาษากลาง ที่สำคัญคือหนึ่งในนั้นนายสุรพันธ์จำได้ดีว่าเป็น “พ.ท. ปรมินทร์ ป้อมนาค” เพราะเคยห็นรูปมาก่อนแล้ว

“ผมคิดว่ากองกำลังที่เข้ามาเป็นพวกทหารเกเรนอกแถว ที่มีอาชีพรับจ้าง เช่น ทวงหนี้ ไล่ที่ เผาตลาด ครั้งนี้คงถูกจ้างเพื่อให้มาคุ้มกันการขนแร่ออกจากเหมือง” นายสุรพันธ์กล่าว

นางพรทิพย์ หงชัย ชาวบ้านวังสะพุง และหัวหน้าฝ่ายกิจกรรมกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด กล่าวว่า คืนเกิดเหตุได้โทรศัพท์หาผู้ว่าราชการจังหวัดเลยประมาณเกือบตี 1 เพื่อแจ้งว่าขณะนั้นบ้านนาหนองบง วังสะพุง มีกองกำลังติดอาวุธประมาณ 300 คนเข้ามาในหมู่บ้าน ขอให้ส่งคนเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านด้วย ซึ่งทางผู้ว่าราชการรับปากว่าจะจัดให้ ต่อมาอีกครึ่งชั่วโมงโทรศัพท์ไปอีกครั้ง ผู้ว่าฯ บอกว่าจัดการให้แล้ว อีกครึ่งชั่วโมงต่อมาโทรศัพท์ไปอีกแต่ไม่รับสาย จากนั้นอีก 2 ชั่วโมงโทรศัพท์ปิดเครื่องแล้ว

“ตลอดเหตุการณ์มีตำรวจวิ่งเข้ามาดูแค่คนเดียว แล้วก็กลับออกไปเพราะคงกลัวและคิดว่าช่วยอะไรชาวบ้านไม่ได้หรอกตัวคนเดียว พอตี 4 ก็มีรถตู้ก็วิ่งเข้ามา 5 คัน เราก็ดีใจนึกว่าส่วนราชการมาช่วยแต่กลายเป็นว่ารถตู้มาจอดเรียงกันหันหน้าออกไปนอกหมู่บ้านเพื่อมารับกองกำลังติดอาวุธ หลังจากนั้นรถพ่วง 15 คันก็วิ่งนำออกไปแล้วให้รถตู้วิ่งตามจากรถพ่วง 15 คันคาดว่าน่าจะขนแร่ 13 คัน ส่วนอีก 2 คันบรรทุกคน เนื่องจากฟังเสียงดูแล้วน้ำหนักไม่เท่ากัน” นางพรทิพย์กล่าว

นางพรทิพย์ หงชัย
นางพรทิพย์ หงชัย

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ชาวบ้านประมาณ 200 คนเดินทางไปปิดล้อมสถานีตำรวจภูธรวังสะพุงเพื่อกดดันให้รีบติดตามผู้กระทำผิดมาลงโทษ ล่าสุดตำรวจได้ออกหมายจับผู้ต้องหา 2 คนตามที่ชาวบ้านมีหลักฐานคือ พ.ท. ปรมินทร์ ป้อมนาค และชายอีกคนหนึ่งไม่ทราบชื่อ แต่ชาวบ้านเจอตัวที่โรงพยาบาลขณะมารักษาตัวเช่นเดียวกัน แต่กลับวิ่งหนีไปก่อนจะรับยาเมื่อเห็นชาวบ้านวังสะพุงที่โรงพยาบาล