ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ธปท. เผย NPLs เพิ่มขึ้น 14,200 ล้านบาท ชี้ฐานะแบงก์พาณิชย์ยังแข็งแกร่ง

ธปท. เผย NPLs เพิ่มขึ้น 14,200 ล้านบาท ชี้ฐานะแบงก์พาณิชย์ยังแข็งแกร่ง

16 พฤษภาคม 2014


ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้ NPLs ไตรมาสแรก 2557 เพิ่มขึ้น 14,200 ล้านบาท คิดเป็น 2.3% ของสินเชื่อรวม ขณะที่แบงก์พาณิชย์ยังมีเงินสำรองมากกว่า NPLs เกือบแสนล้านบาทและสามารถรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ ด้านสินเชื่อโต 9.8% ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจการเมือง

นายอานุภาพ คูวินิชกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายการเงิน เปิดเผยผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ว่า หนี้เสีย หรือ NPLs ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 265,600 ล้านบาทในไตรมาสที่แล้วมาเป็น 279,800 ล้านบาทในไตรมาสนี้ เพิ่มขึ้นถึง 14,200 ล้านบาท ทั้งนี้คิดเป็น 2.3% ของสินเชื่อรวม โตขึ้นจากไตรมาสที่แล้วอยู่ที่ 2.2% โดย SMEs กับภาคครัวเรือนน่าเป็นห่วงที่สุด เพราะมีเงินทุนน้อยและไม่สามารถทนต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจการเมืองได้นาน

“ความน่าเป็นห่วงในมุมของ NPLs น่าจะเป็นส่วนของ SMEs เพราะเป็นกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อภาวะทางเศรษฐกิจและสถานการณ์ทางการเมืองมากกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เรียกว่ามีสายป่านสั้น มีเงินทุนน้อย ถ้ามีอะไรมากระทบสภาพคล่องก็จะมีปัญหา กลุ่มครัวเรือนก็เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบพอสมควร จากตัวเลขที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามเราก็จะเห็นว่าเขามีความระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น คำขอสินเชื่ออุปโภคบริโภคก็ลดลง ขณะที่การอนุมัติก็ลดลงเหลือเพียง 50% เท่านั้นเองจากปลายปี 2555 ที่อนุมัติถึง 70%” นายอานุภาพกล่าว

เอ็นพีแอล

ทั้งนี้ สินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือ SM ซึ่งเป็นสินเชื่อที่ผิดชำระหนี้ตั้งแต่ 1-3 เดือน ลดลงจาก 295,600 ล้านบาทในไตรมาสที่แล้ว เหลือ 288,600 ล้านบาทในไตรมาสนี้ คิดเป็น 2.3% ของสินเชื่อรวม เนื่องจากหนี้ส่วนหนึ่งได้กลายไปเป็น NPLs ไปแล้ว อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ธนาคารพาณิชย์ติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด

“ส่วนหนึ่ง SM เดิมกลายเป็น NPLs ไปแล้ว อีกส่วนหนึ่งมาจากการดูแลอย่างใกล้ชิดที่จะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาให้แก่ลูกค้าตั้งแต่แรกๆ เช่น เข้าไปยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไป หรือผ่อนปรนให้ชำระเฉพาะดอกเบี้ยไปก่อนได้ การเข้าไปดูแลช่วยเหลือลูกค้าอย่างรวดเร็ว ทำให้ลูกค้ายังคงชำระหนี้อยู่ได้ด้วยภาระหนี้ที่ลดลง ไม่ให้เข้ามาเป็น SM เพิ่มเติม” นายอานุภาพกล่าว

ขณะที่ฐานะของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีการกันเงินสำรองไว้ประมาณ 390,000 ล้านบาท มากกว่า NPLs อยู่ประมาณ 100,000 ล้านบาท ประกอบกับเงินกองทุนของระบบธนาคารพาณิชย์ก็มีอยู่ 1.8 ล้านล้านบาท ทำให้น่าจะรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจการเมืองได้พอสมควร

ด้านการเติบโตของสินเชื่อชะลอลงมาจาก 11% ของไตรมาสที่แล้วเป็น 9.8% ในไตรมาสนี้ จากภาวะเศรษฐกิจไทยที่หดตัวจากสถานการณ์การเมืองที่ยืดเยื้อ ทำให้ครัวเรือนและภาคธุรกิจระมัดระวังการบริโภคและการลงทุน โดยสินเชื่อ SMEs ชะลอตัวเป็นไตรมาสแรกหลังจากขยายตัวสูงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจาก 14.7% เป็น 11.7% ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคชะลอตัวลงจาก 12.9% ในไตรมาสที่แล้วเป็น 10.7% ในไตรมาสนี้ โดยชะลอตัวลงในทุกประเภทสินเชื่อ ทั้งที่อยู่อาศัย รถยนต์ ส่วนบุคคล และบัตรเครดิต

การเติบโตของสินเชื่อ

ขณะที่ถ้าแนวโน้มเศรษฐกิจยังชะลอตัวลง นายอานุภาพกล่าวว่าน่าจะส่งผลให้คุณภาพสินเชื่อลดลง แต่ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการดูแลของธนาคารพาณิชย์ ภาวะเศรษฐกิจในช่วงต่อไป หรือลูกค้าที่จะปรับตัว ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการเข้าไปช่วยเหลืออยู่แล้ว

ด้านเป้าสินเชื่อปีนี้ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่เริ่มปรับลงจาก8-10% ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มาเป็น 6-8% ในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี การขยายตัวของสินเชื่อที่ 9.8% ไม่ถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบการที่ภาคธุรกิจมีการระดมทุนทางอื่นมา เช่น ออกหุ้นกู้ ก็ทำให้มีการใช้สินเชื่อน้อยลง

“อัตราการขยายตัวที่ 9.8% ไม่ถือว่าน้อย โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจเราโตประมาณเท่านี้เอง เพราะฉะนั้น 9.8% สูงกว่าการเติบโตของจีดีพีเยอะ ตัวเลขสินเชื่อธุรกิจที่ไม่โตนักมาจากภาคธุรกิจไทย มีความสามารถในการระดมทุนด้วยการออกตราสารหนี้มากขึ้น เฉพาะไตรมาสแรกที่ผ่านมามีการออกหุ้นกู้รวมกันถึง 130,000 ล้านบาท และมียอดคงค้างอยู่ที่ 1.8 ล้านล้านบาท ถือว่าเยอะมากและทดแทนสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ได้” นายอานุภาพกล่าว