ThaiPublica > สัมมนาเด่น > พระไพศาล วิสาโล – ว่ายทวนน้ำ สร้างจิตวิญญาณใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลง

พระไพศาล วิสาโล – ว่ายทวนน้ำ สร้างจิตวิญญาณใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลง

24 พฤษภาคม 2014


newspirit

พระไพศาล วิสาโล เป็นพระนักขับเคลื่อนทางสังคมมายาวนาน ได้มาร่วมงานเสวนา”New Spirit รวมมิตร คิดสร้าง” ซึ่งจัดโดยสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา และสำนักอิสระเพื่อการศึกษาและวิจัยเรื่องความเป็นอยู่ดี โดยปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ว่ายทวนน้ำ สร้างจิตวิญญาณใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลง” เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่หอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ(สวนโมกข์ กรุงเทพฯ)

พระไพศาลกล่าวว่าโดยกล่าวว่าจริงๆ แล้วคนที่มีจิตวิญญาณเพื่อการเปลี่ยนแปลง จะเรียกว่าว่ายทวนน้ำก็ไม่ถูก เพราะว่าผู้ที่มีจิตวิญญาณที่มีการเปลี่ยนแปลง เขาจะตระหนักถึงความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลงแล้วเขาจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่มันส่อเค้าหรือแสดงตัวอยู่ อาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ก่อตัวอยู่ลิบๆ ซึ่งคนอื่นมองไม่เห็น แต่ว่าเขาสามารถมองเห็นได้ เพราะคนที่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ข้างหน้า หรือการพยายามผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มองในแง่หนึ่งเขากำลังตามน้ำอยู่ ไม่ใช่ทวนน้ำ เพราะว่าความเปลี่ยนแปลงเป็นกระแสหลัก ทุกอย่างมันล้วนแต่ตกอยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลง การต้านการเปลี่ยนแปลงต่างหากที่ทวนกระแส ใช่ไหม เพราะว่ากระแสของทุกสิ่งทุกอย่างมันก็คือความเปลี่ยนแปลง คนที่พยายามต่อต้านความเปลี่ยนแปลงต่างหากที่เรียกว่าเป็นผู้ที่ต้านกระแส หรือทวนกระแส

กระแสของโลก กระแสของชีวิต กระแสของจิตใจ ล้วนแล้วแต่ตกอยู่ภายใต้ความเปลี่ยนแปลง มันมีการเคลื่อนตัว มีความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นกระแส เพราะฉะนั้นอาตมาจึงมองว่า คนที่มีจิตวิญญาณเพื่อการเปลี่ยนแปลง เขาเพียงแต่พยายามที่จะทำให้ความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นในทางที่พึงประสงค์ เหมือนกับคนที่กำลังล่องน้ำและกำลังคัดท้ายเรือหรือคัดแพ เพื่อให้ไปสู่ทิศทางที่ต้องการ แต่ทิศทางที่ต้องการจะเกิดขึ้นได้คือต้องล่องตามกระแส หรือเหมือนกับคนที่เดินทางด้วยการชักใบเพื่อรับกระแสลม อาศัยกระแสลมผลักหรือพาเขาไปในทิศทางที่ต้องการ

อย่างไรก็ตาม คนที่มีจิตวิญญาณเพื่อการเปลี่ยนแปลง ถ้าเขาจะทวนน้ำหรือทวนกระแส ก็ตรงที่ว่าเขากำลังทวนกระแสแห่งความเฉื่อยของผู้คนในสังคม ธรรมชาติของผู้คนล้วนแล้วแต่ติดยึดกับของเดิม และก็ไม่ปรารถนาความเปลี่ยนแปลง มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ธรรมชาติของทุกสิ่งที่มีความเฉื่อย วิทยาศาสตร์เรียกว่าแรงเฉื่อย แรงเฉื่อยก็คือการต่อต้านความเปลี่ยนแปลง เวลาเราขับรถเร็วๆ แล้วรถเลี้ยวซ้าย มันจะมีแรงเฉื่อยผลักให้ไปทางขวา เวลาขับรถเลี้ยวขวาจะมีแรงเฉื่อยผลักไปทางซ้าย เพื่อให้เราเข้าสู่ทิศทางเดิม

คนเรามีแนวโน้มจะยึดติดกับของเดิม สมมติว่าเราคุ้นกับการตื่น 6 โมง ถ้าเราตั้งใจจะตื่นตี 5 จะเกิดอะไรขึ้น มันก็จะงัวเงีย งงๆ ไม่อยากตื่น นั่นคือความเฉื่อย ถ้าชีวิตเราคุ้นกับการเร่งรีบ วุ่นกับงาน พอเรามาเข้าวัดปฏิบัติธรรม มันจะมีแรงต้านอยู่ข้างใน ที่จะทำให้เราอยากไปคุยกับเพื่อน อยากจับโทรศัพท์เพื่อเชื่อมต่อเปิดเฟซบุ๊ก มันจะมีแรงเฉื่อย ผลักให้เราไปสู่ชีวิตเดิมๆ ของที่เราคุ้นเคย และคนที่แสวงหาความเปลี่ยนแปลงจะต้องเจอกับความเฉื่อย ซึ่งเป็นการทวนกระแสของความเฉื่อย อันนี้ต่างหากที่เราหมายความถึงการว่ายทวนน้ำ ไม่ใช่ทวนกระแสความเป็นจริงของสังคม แต่ว่าเป็นการทวนแรงเฉื่อยของผู้คนในสังคม ความเฉื่อยหรือการต่อต้านเปลี่ยนแปลง ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดขึ้นการคุ้นเคยกับสิ่งเดิมๆ

ในยุโรปตอนที่เริ่มมีการเอาช้อนส้อมเข้ามากินอาหาร ตามประวัติ พระนางแคทเธอรีน เดอะดาวินชี จากสกุล ดาวินชี ในอิตาลี มาเป็นพระราชินีในฝรั่งเศส ฝรั่งเศสในศตวรรษที่16 เขากินด้วยมือ เพราะไม่มีช้อนส้อม อาจจะมีมีด แต่ไม่มีช้อนส้อม ตอนที่ แคทเธอรีน เดอะดาวินชี เอาช้อนส้อมมาให้ราชสำนักในฝรั่งเศส ถูกต่อต้านมาก เพราะว่าคนในราชสำนักเขาชินกับการกินด้วยมือกับมีด ไม่มีช้อนส้อม แต่ต่อมาการกินด้วยช้อนส้อมก็เป็นที่ยอมรับเป็นที่นิยม นี่ก็เป็นตัวอย่างของความคุ้นชิน ซึ่งทำให้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง

บางครั้งมันก็เป็นเรื่องของผลประโยชน์ มีคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยที่ได้ผลประโยชน์จากสภาพเดิมๆ เรียกว่าสเตตัสโค (status quo) เพราะว่าได้ผลประโยชน์จากชีวิตเดิมๆ สังคมแบบเดิมๆ เพราะฉะนั้นถ้าเกิดว่านำสิ่งใหม่มาให้แก่สังคม เขาจะสูญเสียผลประโยชน์ เขาก็จะต่อต้าน

บางครั้งมันเป็นเรื่องของอุดมการณ์ ไม่ใช่เพียงแค่การติดยึดกับของเดิมๆ ไม่ใช่เพียงแค่เป็นผลประโยชน์ที่เป็นเม็ดเงิน แต่เป็นเรื่องของอุดมการณ์ แนวคิด ซึ่งบ่อยครั้งมันก็แยกไม่ออกจากผลประโยชน์ สมัยที่นักศิลปินในฝรั่งเศสรุ่นใหม่เขานำเสนอผลงานแบบใหม่ เรียกว่าอิมเพรสชันนิสม์ (Impressionism) เช่น โมเนต์ หรือแวนโก๊ะ อันนี้เป็นการนำเสนอแนวคิดใหม่กับสุนทรียศาสตร์ สุนทรียภาพ ซึ่งมันทวนกระแส หรือว่ามันคัดง้างกับแนวคิดเดิม ซึ่งตอนนั้นวงการศิลปะ อาจจะยึดติดแนวคิดเดิมแบบคลาสสิก หรือว่าแบบโรแมนติก ภาพโรแมนติกก็คือภาพใหญ่ๆ ที่มีการต่อสู้กันแบบที่เราเห็นภาพของ เดอลาครัวซ์ เวลาไปถึงแล้วเราเห็นภาพเมดูซา เป็นภาพที่มีสีสันมาก และมันมีความเร้าอารมณ์ หรือภาพที่มีการปฏิวัติฝรั่งเศส ที่มีผู้หญิงชูธง ภาพมันใหญ่มหึมา แต่พวกอิมเพรสชันนิสต์เสนอภาพเล็กๆ และก็สีสันจัดจ้าน เกี่ยวกับชีวิตคู่ทั่วไปคนทำงาน คนทำความสะอาด นักเต้นบัลเลต์ ไม่ใช่รูปของวีรชนที่ประกอบวีรกรรมความยิ่งใหญ่

อันนี้มันก็เป็นการทวนกระแสอุดมการณ์เดิมๆ เกี่ยวกับเรื่องศิลปะ ซึ่งทำให้ผลประโยชน์ด้วย เพราะคนที่เป็นนักเขียนแนวคลาสสิก โรแมนติก ก็อยู่ในราชสำนัก ก็ได้ผลประโยชน์จากแนวคิดแบบนี้ อันนี้เขาเรียกว่าเป็นการทวนกระแสได้เหมือนกัน

พระไพศาล วิสาโล
พระไพศาล วิสาโล

แต่สิ่งที่ศิลปินอิมเพรสชันนิสต์ทำ เขาทำเพราะเขาเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคม เห็นความเปลี่ยนแปลงของแนวคิดเกี่ยวกับศิลปะ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปเพราะกลุ่มคนกลุ่มใหม่ในสังคมที่กำลังเติบโตขึ้นมา สมัยนี้เราเรียกว่าชนชั้นกลางก็ได้ แต่ว่าการทำเช่นนั้นก็ต้องถูกโจมตี ถูกต่อต้าน แม้กระทั่งศิลปะก็ยังถูกโจมตีถูกต่อต้าน เราคงทราบชะตากรรมของแวนโก๊ะ ว่าเขาอยู่อย่างสิ้นไร้ไม้ตอกแค่ไหน และเขาก็ตายในช่วงอายุที่ไม่มากโดยที่ขายภาพไม่ได้สักภาพ แต่เดี๋ยวนี้ภาพของเขาขายได้เป็นสิบล้านร้อยล้าน มองในแง่หนึ่ง แวนโก๊ะเขาเป็นผู้ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงก่อนกาลเวลา

ทีนี้ถามว่าคนที่จะมีจิตวิญญาณเพื่อการเปลี่ยนแปลง เขาทำได้อย่างไร หรืออะไรทำให้เขาเห็นการเปลี่ยนแปลง หรือพยายามผลักดันขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา

อาตมาว่ามันมีหลายเหตุ หลายปัจจัย ปัจจัยหนึ่งก็คือบุคคลเหล่านี้เป็นคนใฝ่รู้ใฝ่สังเกต และความใฝ่รู้ใฝ่สังเกต ทำให้เขาตั้งคำถามกับของเดิมที่เป็นอยู่ ตั้งคำถามว่าของเดิมที่เป็นอยู่ว่ายังใช้ได้หรือ มันถูกต้องไหม จะทำเช่นนั้นได้จะต้องมีสติปัญญาพอที่จะเห็นปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากของเดิม หรือเห็นข้อจำกัดของแนวคิดเดิมๆ

คนเหล่านี้ฉลาดพอที่จะเห็นทะลุกรอบ อุดมการณ์เดิมๆ หรือความเชื่อเดิมๆ อย่างเช่น กาลิเลโอ เขาก็นำความเปลี่ยนแปลงมาให้กับโลก เขาฉลาดพอที่ว่าดวงอาทิตย์หมุนรอบโลกนั้นมันผิด เขาพบความจริงที่ว่าโลกมันหมุนรอบดวงอาทิตย์ต่างหาก เขารู้ได้ยังไง เขาไม่ได้เดาเอา เขาเป็นคนที่ใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาใฝ่สังเกต เขามีกล้องเทเลสโคป กล้องโทรทัศน์ ที่ทำให้เห็นความผิดปกติบางอย่างซึ่งความคิดเดิมมันอธิบายไม่ได้ ก็คือ ดวงอาทิตย์ที่หมุนรอบโลก มันอธิบายไม่ได้ แต่จะอธิบายได้ ก็คืออธิบายว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ต่างหาก

นี่มันก็เกิดจากการใฝ่รู้ใฝ่สังเกต และก็ทำให้เขากล้าตั้งคำถามกับความคิดเดิม อาจทวนอุดมการณ์เดิมก็ได้ อุดมการณ์เดิมอย่างเช่น อุดมการณ์สังคมที่ไม่เสมอภาค ที่มีการกดขี่การเอารัดเอาเปรียบคนยากคนจนเป็นเรื่องธรรมดา หรือความเชื่อที่ว่า คนขาวต้องมีศักดิ์ศรีเหนือกว่าคนดำ การที่แยกกันอาศัยระหว่างคนดำกับคนขาวมันเป็นสิ่งที่ถูกต้องอย่างในสังคมทางภาคใต้ของอเมริกาก่อนสงครามการเมือง หรือความเชื่อว่าคนขาวต้องมีสิทธิมากกว่าคนผิวสีเป็นเรื่องธรรมดาเป็นเรื่องถูกต้อง

ตอนที่มหาตมะ คานธี ต่อสู้เพื่อสิทธิของคนผิวสีในแอฟริกาใต้ เพราะเขาสามารถที่จะเห็นเลยว่า ความเชื่อเดิมๆ ที่แพร่หลายในแอฟริกาใต้ว่าคนขาวมีสิทธิและศักดิ์ศรีเหนือกว่าคนดำหรือคนผิวสีมันไม่ถูกต้อง แต่มันเป็นความเชื่อที่แพร่หลายมาในแอฟริกาใต้ ในหมู่คนขาว สิ่งที่คานธีทำมันถือเป็นการสะท้อนของจิตวิญญาณของการเปลี่ยนแปลง เขาเห็นความไม่ถูกต้องของอุดมการณ์ที่แพร่หลายของสังคม และไม่ใช่แค่เห็น แต่เขาพยายามที่จะลุกขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนแปลง

เพราะฉะนั้น ความเปลี่ยนแปลงที่อาตมาพูดถึงมันมีความหมายกว้าง ตั้งแต่ความเปลี่ยนแปลงในวงการศิลปะ วิทยาศาสตร์ ไปถึงความเปลี่ยนทางสังคมและการเมือง ซึ่งคนที่ผลักดันทั้งหมดเหล่านี้ก็ล้วนมีสิ่งที่เหมือนกันคือจิตวิญญาณเพื่อการเปลี่ยนแปลง และสิ่งที่ทำให้เขาเห็นถึงความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลงที่จะทุ่มเททั้งชีวิต เพราะเขาเห็นถึงขีดจำกัดหรือความไม่ถูกต้องของสิ่งเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกทางศิลปะ หรือความเข้าใจเกี่ยวกับโลกและจักรวาลรวมทั้งระเบียบสังคมที่จะยึดถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่ดีงาม

การตั้งคำถามสำคัญนะครับ เพราะถ้าเราไม่ตั้งคำถามกับของเดิมกับระบบเดิม ความสำนึกเพื่อการเปลี่ยนแปลงมันก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะว่าของเดิมนี่มันอยู่ได้เพราะผู้คนมีความเชื่อว่าของเดิมมันถูกต้อง มันดีแล้ว อาจเป็นเพราะอุดมการณ์ หรือความเชื่อที่มาครอบงำสำทับอีกด้วย

และคนที่จะกล้าสามารถตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้ได้ ก็จะมีความรู้ ก็ต้องมีความรู้จักคิดและความฉลาดมากพอที่จะเห็นถึงความผิดพลาด ความไม่สมประกอบ ความไม่สมบูรณ์ของของเดิมที่มีอยู่

การนี้คนเราจะตั้งคำถามต่อของเดิมได้มันไม่ใช่แค่มีความฉลาดหรือรู้จักฉุกคิด บางครั้งต้องเจอความทุกข์ด้วยตัวเอง อย่างเช่น คานธีสมัยที่เขาไปที่แอฟริกาใต้ เขาเป็นนักเรียนนอกจบจากอังกฤษ เป็นทนายความ เขาเรียกว่าจัดอยู่ในประเภทชนชั้นนำที่เป็นชาวอินเดีย เขาอยู่ในอังกฤษ ในกรุงลอนดอน เขาไม่มีปัญหา แต่พอมาทำงานที่แอฟริกาใต้ เขาเจออะไรที่ทำให้เขาต้องเจออะไรที่ต้องผลักดันเพื่อสิทธิของคนผิวสีในแอฟริกาใต้ ก็เพราะว่าวันหนึ่งเขาต้องข้ามเขตจากเขตของคนอังกฤษไปสู่เขตคนแอฟริกาใต้ เรียกว่าพวกโบวเออร์ ซึ่งเป็นพวกที่ความรู้สึกรังเกียจเหยียดผิวมาก ตอนที่นั่งรถไฟชั้นหนึ่งจากเขตอังกฤษไปไม่มีปัญหา แต่พอเข้าสู่เขตของแอฟริกาใต้ เขาถูกพนักงานตรวจตั๋วลากออกมาจากที่นั่งชั้นหนึ่ง เพราะที่นั่งชั้นหนึ่งนั้นนั่งได้เฉพาะคนผิวขาวเท่านั้น เขาก็เลยเห็นความไม่ชอบธรรม เขาต้องนั่งค้างคืนหนาวเหน็บอยู่ที่สถานีรถไฟ เพราะว่าเขาไม่ยอมนั่งที่ในรถชั้นสาม เขาประท้วง และเห็นว่าคนผิวขาวมีความรังเกียจเหยียดผิวมาก ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักศาสนา ขัดต่อหลักความเป็นธรรม เขาก็เลยประกาศลั่นว่าจาไว้ว่าเขาจะต่อสู้เพื่อสิทธิที่เท่าเทียมกันของคนผิวสี นี่ก็คือจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ เพื่อสันติวิธี สัตยาเคราะห์

คานธีเขาดังมาก่อนที่จะมาอินเดีย เขาดังมาจากแอฟริกาใต้ เขาจะมาต่อสู้ด้วยสัตยาเคราะห์ สัตยาเคราะห์มันดังที่แอฟริกาใต้ก่อนที่คานธีจะกลับไปและกู้ชาติให้เป็นอิสระจากอังกฤษ เขาเจอความทุกข์ในตัวเอง เขาเลยรู้สึกว่ามันต้องเปลี่ยนแปลง ถ้าเขาไม่เจอด้วยตัวเองเขาก็รู้สึกว่าเขาก็สบายอยู่แล้ว เป็นชนชั้นนำในหมู่ชาวอินเดีย เขามีรายได้ที่ดี เขาเป็นทนายความที่เก่ง แต่พอเขาถูกกระทำย่ำยีจากการที่ถูกเหยียดผิวเขารู้สึกว่ามันต้องสู้ การเปลี่ยนแปลงคานธีเกิดขึ้นในวันนั้น จุดนั้น

ที่จริงพระพุทธเจ้า เจ้าชายสิทธัตถะ ก็คงจะพอใจในชีวิตที่สะดวกสบายในปราสาทสามหลัง ถ้าบังเอิญไม่ออกมาจากพระราชวังที่แสนสบาย และไม่ไปเจอสิ่งที่กระทบใจกระเทือนจิต เพราะเห็นคนแก่ คนเจ็บ และคนตาย ซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อน คนแก่ คนเจ็บ คนตาย นี่มันช็อกมาก ทำให้ท่านตั้งคำถามเลยว่า คนเราเกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายด้วยหรือ ทำอย่างไรถึงจะเป็นอิสระจากความแก่ความเจ็บความตาย เป็นคำถามสำคัญมากที่เปลี่ยนโลก

พวกเราที่สวดมนต์ ทำวัตรเช้า มันมีประโยคหนึ่ง ทำไฉนการทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงปรากฏชัดแก่เราได้ คำถามนี้เป็นคำถามเปลี่ยนโลกมากทีเดียว ทำให้พระองค์ออกบวชและค้นพบหนทางการตรัสรู้ หนทางการพ้นทุกข์มันเกิดขึ้นหลังจากการที่เจอภาพที่ช็อก คนแก่ คนเจ็บ และคนตาย นี่มันก็เป็นทุกข์แบบหนึ่งนะ อาจจะเป็นคนละแบบกับที่คานธีเจอ มันทำให้เกิดการตั้งคำถามกับสิ่งเป็นเป็นอยู่ กับวิธีคิดที่เป็นอยู่

ตอนนี้เมื่อตั้งคำถามแล้ว หลายคนตั้งคำถามแล้วอาจจะไม่ได้ทำอะไรเพื่อความเปลี่ยนแปลง แต่มีอีกจำนวนไม่น้อย ไม่เพียงแต่ตั้งคำถาม แต่ผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง และทันทีที่พยายามทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง มันก็จะเกิดแรงต้าน ใหม่ๆ อาจจะถูกต้านด้วยความเยาะเย้ย ถากถาง หลายคนพอเจอคำเยาะเย้ย ถากถางก็ยอมแพ้ บางคนสู้ต่อ ทำต่อ ก็เริ่มถูกขัดขวาง หลายคนรู้สึกว่าเปลืองตัวก็ยอมแพ้ แต่มีบางคนที่ทำต่อ ตรงนี้จะต้องอาศัยความกล้าหาญ กล้าที่จะคิดต่าง กล้าทำต่าง กล้าที่จะผลักดันเกิดความเปลี่ยนแปลง หรือทำเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ให้เป็นเรื่องที่ถูกต้องขึ้นมา

ไม่เพียงแค่กาลิโอเสนอว่าดวงอาทิตย์ไม่ได้หมุนรอบโลก โลกต่างหากที่หมุนรอบดวงอาทิตย์ แค่นี้ก็อาศัยความกล้ามาก เพราะว่ามันไปขัดขวางความเชื่อเดิม ซึ่งบังเอิญมีศาสนจักรเป็นผู้ป่าวประกาศ หรือการที่คนอย่างโมเนต์หรืออีกหลายๆ คน เขานำเสนอผลงานที่เป็นแนวอิมเพรสชันนิสต์ก็ต้องอาศัยความกล้านะ เพราะว่าผู้คนก็ดูถูก เยาะเย้ยถากถาง และหาทางขัดขวาง เรื่องยอมรับงาน ไม่ยอมรับงานที่เสนอตัวเพื่อส่งประกวด การประกวดศิลปะมันก็มีตลอดเวลา แต่ว่าพอใครเสนอ พอศิลปินอิมเพรสชันนิสต์เสนอผลงานมาแข่งขันก็ขัดขวาง จนกระทั่งไปหาทางแสดงผลงานในกลุ่มของตัวเอง วาดรูปแล้วขายไม่ออก ถูกวิจารณ์ ด่า ตามสื่อต่างๆ ว่าไม่เป็นสับปะรด ไม่มีฝีมือ รสนิยมหยาบกระด้าง

ถ้าไม่มีความกล้าหาญไม่มีความมุ่งมั่น ก็จะพ่ายแพ้และกลับไปวาดแบบเดิม เพื่อจะได้เป็นที่ยอมรับของสังคม แต่ว่าก็มีหลายคนที่จะยืนกราน ว่าเขาจะวาดแบบที่เขาคิดว่ามันดีกว่า มันต้องใช้ความกล้า ไม่ต้องพูดถึงคนอย่างคานธี สิ่งที่เขาทำมันหมายถึงอันตรายที่หมายถึงชีวิต

มาร์ติน ลูเทอร์ คิง ก็ต้องอาศัยความกล้าที่จะต้องสู้เพื่อสิทธิของคนผิวดำในอเมริกา ซึ่งเขาก็มีเส้นทางชีวิตคล้ายๆ กับคานธี เป็นคนชั้นสูง เป็นคนผิวดำ เรียนมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง มาเป็นนักเทศน์ ซึ่งน่าจะมีชีวิตที่สะดวกสบาย พอมาเจอความทุกข์เข้าจากการที่ไปช่วยคนผิวดำที่ประท้วงการเหยียดผิว เขาก็เจอดีเข้าโดยมีคนขว้างระเบิดใส่บ้าน จนรู้สึกว่ามันต้องสู้ ใหม่ๆ ก็กลัวติดคุก เพราะสมัยนั้นคนผิวดำถ้าติดคุกมันเป็นเรื่องเสียหายและเสื่อมเสียมาก เพราะว่าคุกเอาไว้ขังคนชั่วขังพวกอันธพาล ก็สู้มาจนกระทั่งติดคุก ทีแรกกลัวมาก แต่พอเจอคุกมาครั้ง 2 ครั้งเขาก็กล้า แล้วเขาก็ติดคุกอีกหลายครั้ง แต่คุกนี่ขวางกั้นเขาไม่ได้ คานธีก็เช่นเดียวกัน

พระไพศาล วิสาโล
พระไพศาล วิสาโล

เพราะความกล้านี่มันสำคัญมากสำหรับจิตวิญญาณเพื่อการเปลี่ยนแปลง ความกล้าในทางความคิด กล้าในสติปัญญา กล้าในจริยธรรม หรือแม้กระทั่งกล้าในทางกายภาพ พร้อมที่จะรับความคุกคามการทำร้าย อย่างที่คานธีพร้อมที่จะรับความยอมรับการเตะ การถีบ หรือว่าการทุบตี มาร์ติน ลูเทอร์ คิง ก็เช่นเดียวกัน

อันนี้ก็คือชะตากรรมของผู้ที่ต่อสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลงในบางระดับในบางเรื่อง ก็ถูกบีบคั้นจากสายตาและคำวิพากษ์วิจารณ์ของผู้คนที่ยังไม่ยอมรับ ต้องมีความกล้า ความพากเพียรพยายาม แม้ว่ามันจะไม่ส่งผลหรือมันจะต้องใช้เวลากว่าจะส่งผลได้

อย่างแวนโก๊ะเขาก็ไม่มีโชคที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพราะเขาตายก่อนที่อิมเพรสชันนิสม์จะเป็นที่นิยม ไม่เหมือนโมเต์ที่กลายเป็นเศรษฐี มาตายที่อายุเจ็ดสิบแปดสิบ ก็เห็นความสำเร็จ แต่หลายคนไม่ได้เห็นความสำเร็จ แต่ก็ยังพากเพียรพยายาม

บางครั้งอาจจะต้องถอย อย่างกาลิเลโอ ยอมที่จะปฏิเสธผลงานของตัวว่าดวงอาทิตย์หมุนรอบโลกก็แล้วกัน เพราะหากยืนกรานก็อาจจะถูกจับเผา หรือว่าถูกทำร้ายถึงตายได้ แต่ว่าส่วนใหญ่ก็มีความพากเพียรพยายามจนเห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นความสำเร็จที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น คานธี หรือมาร์ติน ลูเทอร์ คิง ที่อายุสั้นไม่ถึง 40 ก็ตาย เพราะว่าเขาก้าวหน้าเกินไป

ความพากเพียรพยายามเท่านั้นที่จะทำให้การต่อสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลงมันบังเกิดผล แต่จะเพียรพยายามได้มันจะต้องตระหนักถึงความจริงอย่างหนึ่ง รู้สึกจะเป็นคานธีที่พูดว่า เมื่อใดก็ตามมีแนวคิดใหม่เกิดขึ้น มันจะมีกระบวนการ 5 ขั้นตอนที่จะตามมา

1. ถูกเยาะเย้ย ถูกหัวเราะเยาะ
2. ถ้ายังสู้ไม่หยุด และเริ่มประสบผล ก็จะถูกต่อต้านขัดขวาง
3. ถ้ายังไม่หยุด อาจถูกทำร้ายอาจถึงชีวิต
4. ถ้าไม่หยุด และประสบความสำเร็จ เขาก็จะเริ่มยอมรับ
5. เขาจะชื่นชม สรรเสริญ

นี่คือ 5 ขั้นตอนที่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่พากเพียรพยายามหรือต่อสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้น มองอีกแง่หนึ่ง ถ้าต้องการความสำเร็จ ก็อย่าไปย่อท้อเมื่อถูกเยาะเย้ย เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ผู้ประสบความสำเร็จจะต้องเจอ และจะถูกขัดขวางก็อย่าย่อท้อ เพราะถ้าทำอีกหน่อย สู้ต่อไปก็จะประสบความสำเร็จ แต่อาจถูกขัดขวาง ถูกต่อต้าน ถูกทำร้าย ถ้าเลยจุดนั้นไปก็จะได้รับการยอมรับและได้รับการชื่นชม การสรรเสริญ

แต่การที่จะทำให้ผ่าน 3 ขั้นตอนไปได้ ความกล้าเป็นสิ่งจำเป็น และสิ่งที่ต้องมีก็คือความสันโดษ ความพอใจในชีวิตที่เรียบง่าย เพราะว่าเมื่อพยายามผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแล้วถูกต่อต้านไม่สำเร็จ ถูกขัดขวางไม่ได้ผล จะเริ่มมีการเอาเงินมาล่อ เพื่อชักชวนให้เราเขว

ถ้าคุณเป็นศิลปิน ละเป็นศิลปินอินดี้ ถ้าเกิดว่าไม่สามารถจะอยู่กับชีวิตที่เรียบง่ายได้ สักวันหนึ่งก็จะรู้สึกว่าจะไส้แห้งไปทำไม ไปสังกัดค่ายก็รวยอยู่แล้ว ขายเทป ขายผลงานได้เป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้าน จะมาจนอยู่ทำไม ไปสังกัดค่ายดีกว่า และถึงตรงนั้นจะไปถึงความฝันที่ตั้งใจ ความเปลี่ยนแปลงที่จะนำเสนอ ก็เป็นอันยุติ

หลายคนยอมแพ้ที่เลิกราต่อการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะว่าเห็นแก่ผลประโยชน์ที่หยิบยื่นให้ หรือเพราะว่าไม่อยากจะลำบาก ไม่อยากอยู่แบบขัดสนต่อไป นี่ก็เป็นตัวอย่างเยอะทีเดียว ไม่ว่าจะต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางศิลปะ ทางวิทยาศาสตร์ สังคม การเมือง หลายคนก็ยอมพ่ายแพ้เพราะเห็นแก่ผลประโยชน์ ที่จะได้รับหากว่ารามือจากสิ่งที่ทำ

ก็มีไม่น้อยเหมือนกันที่ประสบความสำเร็จ ได้รับเกียรติยศชื่อเสียง ก็เกิดพอใจ พอพอใจแล้วก็หยุดการเปลี่ยนแปลง อันนี้ก็มีเยอะ หยุดเพราะว่าได้รับผลประโยชน์ ทำให้ต้องเลิกรา หรือว่าไม่เลิกราก็จริงแต่พอได้เกียรติยศ ผลประโยชน์ตามมาก็เลยยุติ เพราะว่าพอใจเพลิดเพลินกับความสำเร็จ บางทีก็ทำให้กลายเป็นคนที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงเสียเอง มีตัวอย่างมากมายของคนที่ต่อสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลงแล้วสุดท้ายกลายมาเป็นต่อต้านการเปลี่ยนแปลงเสียเอง อาจจะเพราะเพลิดเพลินกับผลประโยชน์ที่ได้รับ หรือเพราะยึดมั่นถือมั่นในวิธีการในความสำเร็จที่ตัวเองมี

อาตมานึกถึงคนคนหนึ่งที่สร้างนวัตกรรมที่สำคัญมากให้กับโลกในการผลิตทางอุตสาหกรรม เฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford) นี่นะเป็นคำสำคัญมากทีเดียว เพราะว่าการที่รถยนต์กลายเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ทั่วโลกเริ่มต้นจากเขา แม้เขาจะไม่ใช่คนแรกที่ผลิตรถ แต่เขาทำให้รถเป็นสินค้าผู้บริโภค เป็นสินค้าที่ผู้คนใช้สอยได้แพร่หลาย สมัยก่อนรถราคาแพงมาย และก็ผลิตได้ช้า ฟอร์ดนี่เอาการผลิตที่เป็น นวัตกรรม เรียกว่าสายพานผลิต เอาแต่ละชิ้นๆ มาประกอบกันตามสายพาน จนกระทั่งเกิดเป็นรถขึ้นมา ทีแรกอาจจะ 2,000 ชิ้น นี่ถือว่าเป็น นวัตกรรมใหม่ สมัยก่อนฟอร์ด การผลิตรถทำกันไม่กี่คน เรียกว่าต่อเติมต่อกันทีละชิ้น กว่าจะเสร็จเป็นรถได้ก็เป็นวัน

แต่พอฟอร์ดเอาวิธีการผลิตแบบสายพานการผลิตมาใช้ รถคันหนึ่งสามารถประกอบเป็นคันได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งแง่หนึ่งก็เป็นการลดต้นทุนของรถ ทำให้รถราคาถูกลง ฟอร์ดเป็นคนสำคัญ ไม่เพียงแต่ทำให้รถมันแพร่หลาย แต่นำเอาวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรมซึ่งมีอิทธิพลต่อโลกเป็นเวลานานถึง 50-60 ปีมาใช้

อันนี้ฟอร์ดได้นำความเปลี่ยนแปลงมาให้สังคมอเมริกันหลายอย่างมาก เมื่อมีรถก็ต้องมีถนน เมื่อมีถนนก็มีผลต่อการขยายตัวของเมือง โลกเปลี่ยนแปลงไปก็เพราะรถยนต์ ฟอร์ดเขาฉลาดทำให้รถราคาถูกลง และเขาก็ให้ค่าจ้างกับคนงานสูงมาก ชั่วโมงละ 5 เหรียญ ทำไมเขาต้องให้ค่าจ้างแพงๆ เพราะเขาจะให้ลูกจ้างมีปัญญาซื้อรถที่เขาผลิต ก็ทำให้เกิดอุปสงค์มากขึ้น อุปทานก็เยอะ อุปสงค์ก็มาก รถก็ขายออก ทำให้มีกำลังที่จะผลิตมากขึ้น รถราคาถูกทำให้มีคนซื้อรถมากขึ้น ในเวลา 10 ปี หนึ่งในสามของรถที่ใช้ในอเมริกาเป็นรถของฟอร์ด

แต่ฟอร์ดผลิตแค่รุ่นเดียวคือ Model T ผลิตรุ่นเดียวจริงๆ ก็ผลิตแล้วผลิตอีก เขาการเป็นเศรษฐีมาก เขาผลิตแบบนี้มาเป็น 10 ปี ไม่เคยเปลี่ยนรุ่นเลย ทีแรกเขาเห็นการเปลี่ยนแปลงว่าคนอเมริกัน มีความสามารถในการบริโภครถกันเยอะขึ้น เขาเห็นก่อนใคร เขาถึงทำการผลิตแบบนั้น

พอร่ำรวยเขาก็ผลิตรถแบบเดิม รถ Model T เหมือนเดิม เขาก็ไม่ได้ตระหนักว่าคนอเมริกันเปลี่ยนไป คนอเมริกันเริ่มต้องการรถหลายสี ต้องการรถที่มีเครื่องเครามากขึ้น ไม่ใช่รถที่มีง่ายๆ อย่างที่ฟอร์ดผลิต ลูกชายของฟอร์ดก็พยายามบอกฟอร์ดผู้พ่อว่าให้ผลิตรถหลายรุ่น ถึงจะเอา model T ก็ให้มีหลายสี ฟอร์ดบอกว่าไม่เอา รุ่นที่เขาผลิตดีแล้ว เขาเคยพูดว่ารถไม่ว่าจะเป็นสีอะไรก็ตาม ขอให้มันเป็นสีดำก็พอแล้ว บอกลูกว่าจะทำอะไรก็ได้แต่ต้องเป็นสีดำก็แล้วกัน สุดท้ายรถของฟอร์ดก็ขายได้น้อยลงเรื่อยๆ แต่ฟอร์ดก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองทำมันถูกต้อง เขายังใช้วิธีการคิดแบบเดิมๆ เขาไม่มีการตั้งหน่วยบัญชีที่จะตรวจสอบการใช้เงิน แต่ก่อนก็ทำได้ เพราะเขาเป็นคนก่อตั้งความเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง จนกระทั่งบริษัทฟอร์ดก็เป็นหนี้สินมากขึ้น เขาพยายามลดราคาของรถ เพื่อให้ขายออกมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ผล เพราะจีเอ็ม (GM) ผลิตรถที่ดีกว่า แรงกว่า สีมากกว่า สุดท้ายฟอร์ดกลายเป็นตัวขัดขวางความเปลี่ยนแปลง บริษัทฟอร์ดเป็นหนี้สินมาก และก็โชคดีที่เขาตาย พอเขาตาย บริษัทฟอร์ดก็เลยลืมตาอ้าปากได้

นี่เป็นตัวอย่าง ฟอร์ดเห็นการเปลี่ยนแปลงของคนอเมริกัน ทำให้เขานำเสนอการผลิตที่ทำให้รถเป็นที่นิยม แต่ว่าพอประสบความสำเร็จแล้วก็ติดยึดกับความสำเร็จเดิมๆ ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง มองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นเพราะติดเยอะกับความสำเร็จ

พระไพศาล วิสาโล

อันนี้ก็เป็นอุทาหรณ์สอนใจคนที่มีจิตวิญญาณเพื่อความเปลี่ยนแปลงว่าถ้าพอใจในความสำเร็จเมื่อไหร่ ความเปลี่ยนแปลงก็อาจจบสิ้นเมื่อนั้น เพราะฉะนั้นจะต้องเรียนรู้ ต้องใฝ่ศึกษา ต้องคำถามตลอดเวลา

แต่ประการที่สำคัญที่สุด ก็โยงมาถึงความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือความเปลี่ยนแปลงภายใน ไม่ว่าจะผลักดันเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางศิลปะ ในทางวิทยาศาสตร์ ทางสังคม ทางการเมือง ก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง และมีพลัง และประสบความสำเร็จ มันหนีไม่พ้นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงภายใน

ถ้าคิดแต่จะเปลี่ยนแปลงภายนอก แต่ลืมเปลี่ยนแปลงภายใน มันก็อาจจะลงเอยอย่างเฮนรี ฟอร์ด ได้ประสบ เพราะเขามีทิฐิมานะมาก เพราะเขาหลงในความสำเร็จและไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง และเป็นตัวขัดขวางการเปลี่ยนแปลงเสียเอง การเปลี่ยนแปลงภายในสำคัญมาก สามารถจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภายนอกได้ดี

เนลสัน แมนเดลา เคยพูดไว้หลังจากที่เขาได้เป็นประธานาธิบดี และนำพาแอฟริกาใต้หลีกเลี่ยงสงครามการเมืองสู่ประชาธิปไตย มอบอำนาจให้กับคนผิวดำซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม เขาเป็นรัฐบุรุษที่โลกยกย่องมาก เขาได้เห็นความสำเร็จสิ่งที่เขาได้ทำ

เขาพูดประโยคหนึ่งน่าสนใจว่า “สิ่งที่ยากลำบากที่สุดอย่างหนึ่งไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงตนเอง” ถ้าประโยคนี้พูดจากคนที่ทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อการปฏิวัติ เพื่อการเปลี่ยนแปลงแอฟริกาใต้ เพื่อนำความเท่าเทียมมาให้กับประชาชนโดยไม่เลือกผิวสี เพื่อทำให้คนผิวดำมีสิทธิลืมตาอ้าปากในสังคมเท่าเทียมกับคนผิวขาว เขาประสบความสำเร็จในฐานะรัฐบุรุษ ซึ่งคิดว่าเขาสำเร็จมากกว่าเหมาเจ๋อตุง

เหมาเจ๋อตุงอาจจะสำเร็จในด้านเกี่ยวกับการทำให้คอมมิวนิสต์ขึ้นมาปกครองครองประเทศ และทำให้ประเทศเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่เขาสร้างความหายนะ ความวิบัติ ความฉิบหาย สร้างความทุกข์ยากทรมานให้กับผู้คนมากมายหลาย 10 ล้านคน

ซึ่งตรงข้ามกับแมนเดลา ที่สามารถจะเห็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับประชาชนผิวดำโดยที่ไม่มีการนองเลือด หรือมีการปราบปรามเข่นฆ่าทำลายล้างอย่างที่เกิดขึ้นในจีน แม้สิ่งที่เขาทำมันยากมาก แต่เขาก็ยังพูดว่า “สิ่งที่อยากกว่าคือการเปลี่ยนแปลงตนเอง”

ประสบการณ์ของแมนเดลายืนยันตรงนี้เลยว่า จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ได้มันต้องเปลี่ยนแปลงข้างใน

แมนเดลาติดคุก 27 ปี จังหวะที่ติดคุกเขาได้ทุกข์ยากแสนสาหัส ลูกเขาตาย เขาไม่สามารถไปงานศพลูกได้ แม่เขาตายก็ไม่สามารถไปงานศพแม่ได้ แต่แทนที่จะขมขื่น เขากลับเป็นคนที่มีอารมณ์ขัน เป็นคนที่เข้าใจมนุษย์ เคยมีคนถามเขาว่า คุกเปลี่ยนแปลงเขาอย่างไรบ้าง เขาบอกว่าคุกทำให้เขามีวุฒิภาวะ เพื่อนที่รู้จักเขาบอกเลยว่า เมื่อแมนเดลาออกจากคุกแล้วเปลี่ยนไปเยอะ จากเป็นคนที่มุทะลุ มี อีโก ดื้อรั้น เมื่อออกจากคุกเป็นคนที่อ่อนโยน ใจเย็น เข้าใจผู้คน และรู้จักอดกลั้น อดทนรอคอยได้

แมนเดลาได้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากตอนที่อยู่ในคุก คนส่วนมากที่อยู่ในคุกก็จะขมขื่น แต่สำหรับเมนเดลา คุกได้สอนเขาหลายอย่าง สอนให้เขาเข้าใจผู้คน เข้าใจคนผิวขาวมากขึ้น ผ่านผู้คุมซึ่งโหดเหี้ยมกับเขา แต่การที่เขาอยู่ในคุกได้มีเวลาพิจารณา ไตร่ตรอง เห็นว่าคนขาวเหล่านี้น่าสงสาร คนเหล่านี้มีความกลัว ที่เขาประพฤติตัวเลวร้ายกับคนดำเขาก็เพราะกลัวคนดำ แท้จริงคนขาวเหล่านี้เป็นคนน่าสงสารเพราะเป็นเด็กกำพร้า บางคนที่ขาดพ่อแม่ ขาดการศึกษา ก็เลยมีพฤติกรรมแบบนี้ แมนเดลาก็เลยเข้าใจคนมากขึ้นจากที่อยู่ในคุก และความเข้าใจเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ทำให้เขาหันมาใช้วิธีการเจรจากับคนขาวแทนที่จะจับอาวุธขึ้นสู้

ก่อนเข้าคุก แมนเดลาเป็นหัวหน้าหน่วยติดอาวุธ และเขาติดคุกข้อหาก่อการร้าย ใช้ความรุนแรง แต่เมื่อเขาอยู่ในคุกไปนานๆ เขารู้ว่าแอฟริกาใต้ไม่สามารถที่จะเป็นประชาธิปไตยและไม่สามารถที่จะคืนอำนาจให้แก่คนดำได้ด้วยวิธีที่รุนแรง ต้องใช้การเจรจา ตอนนั้นนักสังเกตการทั่วโลกบอกว่าแอฟริกาใต้หนีการนองเลือดไม่พ้น เพราะว่ามันเลวร้ายมาก เป็นรัฐบาลคนขาวที่โหดเหี้ยมมาก แต่ว่าแมนเดลานั้นเป็นคนที่สำคัญมากที่ทำให้การเปลี่ยนผ่านอำนาจจากคนขาวไปสู่คนดำเป็นไปโดยสันติวิธีโดยที่ไม่มีสงครามกลางเมือง ทุกคนยอมรับว่าความสำเร็จเกิดขึ้นได้เพราะตัวแมนเดลาคนเดียวเลยทีเดียว เพราะว่าช่วงที่ออกจากคุกมามีการเจรจากับคนดำและคนขาว มีเหตุการณ์นองเลือดมากมายที่ล้วนทำให้โต๊ะเจรจาล้มพังได้ แม้ประกาศวันเลือกตั้งแล้วก็มีการฆ่ากันสารพัด จนกระทั่งไม่มีใครเชื่อว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ แต่ว่าแมนเดลาก็ใช้อาศัยความสงบ ความสันติ ความหนักแน่นมั่นคง ที่ทำให้การเลือกตั้งโดยสันติเกิดขึ้นได้

ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับแมนเดลาตอนอยู่ในคุก ที่ทำให้เขาหันมาใช้สติปัญญามากขึ้น ใช้อารมณ์น้อยลง เขาเคยพูดว่า ในยามวิกฤติ สมองเราต้องไม่คิดด้วยเลือด และเขาก็เตือนลูกน้อง เพื่อนๆ ว่าให้คิดด้วยสมอง อย่าคิดด้วยเลือด ทั้งๆ ที่ตอนนั้นมีเหตุการณ์มากมายเกิดขึ้น มีการฆ่ากวาดล้างคนดำ

แมนเดลาเป็นตัวอย่างที่ดีที่ต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม ก็คือว่า จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ต้องเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงตนเอง ถ้าเปลี่ยนแปลงตนเองได้ การเปลี่ยนแปลงสังคมก็จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่พึงปรารถนา ซึ่งในแง่นี้แตกต่างจากเหมาเจ๋อตุงเยอะเลยนะ เพราะว่า เหมาเจ๋อตุงพอมีอำนาจแล้วที่จริงรู้กันเลยว่าเหมาเจ๋อตงนั้นมีความ โลภ โกรธ หลง รุนแรงมาก กวาดล้างเพื่อนร่วมอุดมการณ์อย่างโหดเหี้ยมตั้งแต่ยังไม่ได้อำนาจ สมัยที่ลี้ภัย ในกระบวนการลองมาร์ช (Long March) ใครที่คิดต่างกับเขา เขาก็ฆ่า ก็เก็บ กวาดล้างกันเป็นพันเป็นหมื่นคน พอขึ้นมามีอำนาจก็กวาดอีก และสังคมจีนคอมมิวนิสต์ก็วุ่นวายตลอดรัชสมัยเขาเป็นจักพรรดิ เขาเปลี่ยนแปลงสังคมก็จริง แต่ว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงจิตใจและตนเองเลย ฉะนั้นสิ่งที่มันเกิดก็คือสังคมที่วุ่นวายที่ฆ่าล้างผลาญกัน

แม้ว่าแอฟริกาใต้จะเล็กกว่าจีนเยอะ มันเห็นความแตกต่างได้ว่า ความแตกต่างมันเกิดขึ้นจากผู้นำ เช่น แมนเดลามีการเปลี่ยนแปลงภายใน มันก็ทำให้การเปลี่ยนแปลงทางสังคมเกิดขึ้นโดยไม่ต้องนองเลือด และทำให้เกิดความสมานฉันท์อย่างแท้จริง การที่เหมาเจ๋อตง ไม่สามารถยอมรับคนที่คิดต่างจากเขาได้ ต้องฆ่า แต่แมนเดลาเอาคนที่คิดต่างจากเขามาร่วมเป็นรัฐมนตรีได้ หรือหัวหน้าเผ่าซูรู ซึ่งเป็นขมิ้นกับปูนกับแมนเดลา แต่เขาก็เอาเป็นรัฐมนตรี และก็ปฏิบัติกับบาตูเลซซี หัวหน้าเผ่าซูรูคนนี้ได้อย่างดี จนได้รับความเคารพนับถือจากหัวหน้าเผ่าคนนี้ ก็ทำให้เปลี่ยนศัตรูกลายมาเป็นเพื่อนกันได้

คนเราต้องละทิฐิมานะ ที่จะยอมทนฟังอะไรที่แตกต่างกันได้ มีคนเขียนประวัติของแมนเดลา ย่อหน้าสุดท้ายของหนังสือที่เขียน เขาบอกว่า “ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของแมนเดลา เกิดขึ้นได้เพราะว่าเขาเปลี่ยนแปลงตนเองจนอย่างถึงขั้นพื้นฐานในช่วงระหว่างที่อยู่ในคุก และทำให้เขาเปลี่ยนแปลงแอฟริกาใต้ และเปลี่ยนแปลงทั้งโลกได้ชั่วกาลนาน

อาตมาก็ฝากเป็นข้อคิดสำหรับพวกเราที่ปรารถนาจะหล่อหลอมจิตวิญญาณเพื่อการเปลี่ยนแปลงขึ้นในตัวเรา