ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > สภาพัฒน์ฯ เผย จีดีพีไตรมาสแรกติดลบ 2.1% ปรับจีดีพีทั้งปีเหลือ 1.5-2.5%

สภาพัฒน์ฯ เผย จีดีพีไตรมาสแรกติดลบ 2.1% ปรับจีดีพีทั้งปีเหลือ 1.5-2.5%

20 พฤษภาคม 2014


สภาพัฒน์ฯ เผยตัวเลขจีดีพีหดตัว 2.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว โดยมีอุปสงค์ภายในประเทศเป็นปัจจัยหลักฉุดเศรษฐกิจหดตัว ขณะที่การส่งออกและการใช้จ่ายภาครัฐช่วยดึงไม่ให้เศรษฐกิจแย่ไปกว่านี้ ด้าน ธปท. ระบุตัวเลขของสภาพัฒน์ฯ ใกล้เคียงกับที่คาด ชี้ไตรมาสที่สองน่าจะเป็นบวกเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ส่วนศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าตัวเลขไตรมาสแรกต่ำกว่าที่คาด แต่ยังไม่มีการปรับประมาณการและคงต้องเฝ้าจับตาดูสองประเด็นคือการเมืองและการส่งออกอย่างใกล้ชิด

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2557 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ แถลงตัวเลขเศรษฐกิจจริงไตรมาสแรกของปี 2557 หดตัว 2.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 เมื่อเทียบกับปี 2556 ในช่วงเวลาเดียวกันจะหดตัวเพียง 0.6% ทำให้สภาพัฒน์ฯ ปรับคาดการณ์จีดีพีลงจาก 3.0-4.0% ที่คาดการณ์ไว้เมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2557 เหลือ 1.5-2.5% เฉลี่ย 2%

คาดการณ์จีดีพี ปี 2557_2

สำหรับปัจจัยที่ดึงเศรษฐกิจให้หดตัวคือ การใช้จ่ายครัวเรือนที่หดตัว 3.0% จากการใช้สินค้าคงทนที่ลดลง โดยเฉพาะรถยนต์ รวมทั้งผลจากสถานการณ์การเมือง ทำให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นและระมัดระวังการใช้จ่าย เช่นเดียวกันการลงทุนรวมลดลง 9.8% โดยการลงทุนเอกชนลดลง 7.3% จากการนำเข้าสินค้าทุนที่ลดลงก่อนหน้าและการลดพื้นที่ก่อสร้าง ส่วนการลงทุนของรัฐลดลง 19.3% จากที่หดตัวร้อยละ 4.7% ในไตรมาสสี่ ปี 2556 ตามการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้าออกไป

ขณะที่การส่งออกและการใช้จ่ายภาครัฐนั้น เป็นปัจจัยที่สนับสนุนเศรษฐกิจไม่ให้ต่ำลงไปกว่านี้ โดยมูลค่าส่งออกลดลง 0.8% ซึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าที่หดตัว โดยปริมาณการส่งออกยังขยายตัวอยู่ สินค้าที่มูลค่าส่งออกหดตัวลง ได้แก่ ยางพารา สินค้าประมง ผลิตภัณฑ์โลหะ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ส่วนสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าขยายตัว ได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องจักรและอุปกรณ์ ทั้งนี้การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ขยายตัวตามภาวการณ์ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในตลาดหลัก แต่มูลค่าการส่งออกไปยังจีนและอาเซียนลดลงตามภาวะเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียที่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว

ทั้งนี้ สภาพัฒน์ฯ ยังคาดการณ์ว่าการส่งออกน่าจะโต 3.7% จากเดิมที่คาดไว้ 5.0-7.0% จากการหดตัวของการส่งออกในไตรมาสแรก ส่วนการลงทุนรวมคาดว่าจะหดตัว -1.3% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.1% ขณะที่การคาดการณ์อื่นๆ ยังทรงตัวที่ระดับเดิม

ด้าน ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่าตัวเลขของสภาพัฒน์ฯ ถือว่าใกล้เคียงกับที่ ธปท. ได้ประเมินจากตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรก ทั้งแบบไตรมาสต่อไตรมาสและปีต่อปี โดยองค์ประกอบหลักทั้งปัจจัยภายในประเทศและต่างประเทศก็ไม่ได้แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ โดยปัจจัยที่มีผลมากต่อการหดตัวของจีดีพีคือการใช้จ่ายของเอกชนทั้งการบริโภคและลงทุน ด้านการส่งออก ธปท. เคยคาดการณ์ไว้ 4.5% แต่ก็คาดว่าจะมีการปรับลงมาอีกและน่าจะใกล้เคียงกับของสภาพัฒน์ฯ

นอกจากนี้ ธปท. ยังมองว่าตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสสองน่าจะดีกว่าไตรมาสแรกและมีค่าเป็นบวกเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือ 1) การท่องเที่ยวน่าจะช่วยขับเคลื่อนมากขึ้นหลังยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 2) แนวโน้มเครื่องชี้กิจกรรมในประเทศหลายตัวเริ่มทรงๆ ในช่วงเดือนมีนาคม โดยไม่ได้ทรุดตัวอีก และ 3) การส่งออกยังอยู่ในแนวโน้มฟื้นตัว แม้จะเป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ แต่ก็เป็นปัจจัยบวก

“อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนอยู่มาก ดังนั้น ไตรมาสสองจะเป็นอย่างไรคงต้องขึ้นกับสถานการณ์การเมืองด้วย” ดร.รุ่งกล่าว

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ตัวเลขจีดีพีในไตรมาสแรกของปี 2557 ที่ออกมาหดตัวมากว่าที่คาดการณ์ไว้ อาจกดดันให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมในปี 2557 เติบโตต่ำกว่าที่ประเมินไว้ โดยมี 2 ปัจจัยหลักที่ต้องติดตาม คือผลกระทบทางเศรษฐกิจและมุมมองของนักลงทุน จากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังคงยืดเยื้อและทิศทางการฟื้นตัวของการส่งออก

ทั้งนี้ ปัจจุบันศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2557 ไว้ที่ 1.8% (กรอบ 1.3-2.4%) อย่างไรก็ตาม หาก 2 ปัจจัยดังกล่าวคือปัญหาทางการเมืองและทิศทางการส่งออกยังไม่มีสัญญาณที่ดีขึ้นในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า ก็อาจจำเป็นต้องทบทวนปรับลดประมาณการอีกครั้ง

อ่านเพิ่มเติมรายงานของสภาพัฒน์ฯ