ThaiPublica > คอลัมน์ > องค์กรตรวจสอบกับการต่อต้านคอร์รัปชัน (ตอนที่ 2): Audit Storm จุดเริ่มต้นการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของจีน

องค์กรตรวจสอบกับการต่อต้านคอร์รัปชัน (ตอนที่ 2): Audit Storm จุดเริ่มต้นการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของจีน

20 พฤษภาคม 2014


Hesse004

นับตั้งแต่ สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำจีน นโยบายต่อต้านคอร์รัปชันเป็นนโยบายสำคัญที่เขาพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

การต่อต้านคอร์รัปชันมิใช่เพียงแค่การต่อต้าน ออกมารณรงค์ โฆษณาประชาสัมพันธ์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่การต่อต้านอย่างเข้มแข็งโดยเฉพาะกระบวนการปราบปรามอย่างจริงจัง บังคับใช้กฎหมายลงโทษโดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่มีสองมาตรฐาน เพื่อไม่ให้เป็น “เยี่ยงอย่าง” นับเป็นหัวใจสำคัญในการต่อสู้กับคอร์รัปชันของจีน

แอนโทนี เซก (Anthony Saich) โปรเฟสเซอร์จากฮาร์วาร์ด ตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจว่า แคมเปญรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันครั้งนี้ของ สี จิ้นผิง นับเป็นการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงที่จะต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันที่มีมายาวนานนับตั้งแต่ยุคเหมาเจ๋อตุง1

สี จิ้นผิง กับการรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชั่นในจีน การกินอยู่ เลี้ยงรับรองอย่างเรียบง่ายก็เป็นอีกหนึ่งกุศโลบายของผู้นำจีนอย่างหนึ่งที่ลดวัฒนธรรมการคอร์รัปชัน ที่มาภาพ : http://www.china-defense-mashup.com/wp-content/uploads/2013/10/xixi2.jpg
สี จิ้นผิง กับการรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชั่นในจีน การกินอยู่ เลี้ยงรับรองอย่างเรียบง่ายก็เป็นอีกหนึ่งกุศโลบายของผู้นำจีนอย่างหนึ่งที่ลดวัฒนธรรมการคอร์รัปชัน
ที่มาภาพ : http://www.china-defense-mashup.com/wp-content/uploads/2013/10/xixi2.jpg

แล้วเหตุผลอะไรที่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนเริ่มตระหนักถึงปัญหาคอร์รัปชัน

แน่นอนว่าคอร์รัปชันคือการบ่อนทำลายการพัฒนาประเทศ แม้จะมีวิวาทะทางวิชาการมาตั้งแต่สมัยทศวรรษที่ 60 แล้วว่า คอร์รัปชันเป็น grease of wheel หรือ “น้ำมันหล่อลื่น” ในระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนภาคข้าราชการที่ทำงานกันเชื่องช้าให้ “ขยันทำงาน” กันเร็วขึ้น โดยอาศัย “สินบน” จากภาคเอกชนเป็นแรงจูงใจในการทำงาน

อย่างไรก็ดี ความเชื่อดังกล่าวถูกลบล้างไปตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 โดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์สายธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟที่พยายามเสนอชุดความคิดว่าคอร์รัปชันเป็น sand of wheel หรือ “ทรายติดล้อ” ที่เอาเข้าจริงแล้ว คอร์รัปชันนี่แหละที่ทำให้เกิดการบิดเบือนกลไกการจัดสรรทรัพยากร สร้างทุนนิยมแบบพวกพ้อง (crony capitalism) และท้ายที่สุดก็สร้างอำนาจผูกขาดที่โยงใยทั้งภาคการเมืองและภาคเศรษฐกิจ

พรรคคอมมิวนิสต์จีนต่างทราบถึงปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี และรู้ว่าหากปล่อยปละละเลยให้คอร์รัปชันแพร่ระบาดไปทั่วทุกหัวระแหงเช่นนี้ มีหวังพรรคจะล่มสลายเพราะคอร์รัปชัน

แต่อย่างไรก็ดี สัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนควรหันมาใส่ใจปัญหาคอร์รัปชันมากขึ้นเกิดตั้งแต่ปี 2004 เมื่อครั้งการประชุมคณะกรรมการประจำสภาผู้แทนประชาชนครั้งที่ 10

การประชุมคณะกรรมการประจำสภาผู้แทนประชาชน หรือ The Standing Committee of the National People Congress (NPC) ในครั้งนั้น ได้มีการรายงานผลการปฏิบัติงานของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจีน (National Audit Office of China หรือ CNAO)

ผู้ว่า CNAO หรือ ผู้ว่า สตง.จีน ในขณะนั้น คือ หลี จินหัว (Li Jinhua) ได้ลุกขึ้นมาสรุปผลการทำงานตรวจสอบของ สตง.จีน ในช่วงระหว่างปี 1998-2003 ซึ่งผลการตรวจสอบเป็นที่น่าสนใจว่า สตง.จีนตรวจสอบหน่วยงานของรัฐไปแล้วถึง 710,000 หน่วยงาน และพบความผิดปกติของการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินเกินกว่าหนึ่งแสนล้านหยวน หรือราวๆ หนึ่งหมื่นสามพันล้านดอลลาร์!!2

หลี จินหัว อดีตผู้ว่า สตง.จีน  ที่มาภาพ : http://images.china.cn/images/88017.jpg
หลี จินหัว อดีตผู้ว่า สตง.จีน
ที่มาภาพ : http://images.china.cn/images/88017.jpg

ความผิดปกติดังกล่าวยังจำแนกได้เป็น การกระทำที่มาจากแรงจูงใจในการคอร์รัปชัน การใช้จ่ายเงินไม่ประหยัด ไม่คุ้มค่า ไม่เหมาะสม ซึ่งโดยรวมๆ แล้ว รายงานของ CNAO ชี้ให้เห็นว่าประเทศจีนกำลังเผชิญปัญหาคอร์รัปชันครั้งใหญ่ที่สุด

การทำงานตรวจสอบเปรียบเสมือน “การวินิจโรคของแพทย์”และหากพบความผิดปกติต้องรายงานให้กับผู้เข้ารับการตรวจทราบว่า ขณะนี้ ผู้ป่วยกำลังเผชิญโรคร้ายอะไรอยู่ และควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรในการรักษา

หลี จินหัว ยังชี้ให้เห็นต่อไปว่า ทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นกำลังเผชิญปัญหาเกี่ยวกับการยักยอก ฉ้อฉล ของเจ้าหน้าที่รัฐในทุกระดับตั้งแต่รัฐมนตรีมาถึงเจ้าหน้าที่ธุรการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเบิกจ่ายงบประมาณที่ลงไปช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัยพิบัติซึ่งเอาเข้าจริงแล้วเงินเหล่านี้ตกไปไม่ถึงชาวบ้านที่เดือดร้อน เพราะโดนข้ารัฐการ “อม” หรือ “ชัก” ไปหมด

ขณะที่การเตรียมโครงการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกในปี 2008 ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดการคอร์รัปชันครั้งมโหฬารเช่นกัน

หลี จินหัว รายงานต่อไปว่า ภาคการเงินและการคลังของรัฐบาลยังขาดการควบคุมภายในที่ดี มีจำนวนผู้หลบเลี่ยงภาษีจำนวนมาก รัฐไม่สามารถเก็บรายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ขณะเดียวกันรัฐบาลท้องถิ่นต่างมีพฤติกรรมยักยอกฉ้อฉล มีการเก็งกำไรปั่นราคาที่ดินของพรรคพวกตัวเองและขายต่อให้กับรัฐโดยอ้างว่าจะเอาโครงการรัฐมาลง

พูดง่ายๆ ว่า รายงานฉบับนี้ของ CNAO กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ “กระตุก” เตือนให้รัฐบาลจีนตระหนักได้แล้วว่า ประเทศกำลังเผชิญปัญหาคอร์รัปชันครั้งมโหฬาร ชนิดที่เลี่ยงไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

ในวันนั้น ภาพของหลี จินหัว ที่ลุกขึ้นมารายงานผลการทำงานของ CNAO ได้กลายเป็นภาพอีกหนึ่งภาพประวัติศาสตร์การต่อต้านคอร์รัปชันของจีน

สื่อมวลชนจีนลุกขึ้นมาประโคมข่าวของ CNAO และรายงานของหลี จินหัว พร้อมทั้งเรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า Audit Storm หรือ “พายุของการตรวจสอบ”

หลังจากหลี จินหัว รายงานผลงานของ CNAO ต่อสภาประชาชนแล้ว ปฏิบัติการลงโทษผู้กระทำความผิดได้เริ่มต้นขึ้น โดยจำเลยคนแรกที่ต้องขึ้นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมคืออดีตผู้บริหารการไฟฟ้าของมหานครปักกิ่ง (Beijing Power Supply Bureau)

มีรายงานว่า ภายใน 1 ปี หลังจากที่ CNAO รายงานผลการปฏิบัติงานต่อสภาประชาชนจีนแล้ว มีเจ้าหน้าที่รัฐถึง 753 คนต่างทยอยถูกลงโทษจากข้อหาทุจริตคอร์รัปชัน

หลี จินหัว อดีตผู้ว่าการ สตง.จีน ผู้ปลุกให้พรรคคอมมิวนิสต์และชาวจีนทราบถึงปัญหาคอร์รัปชันที่แพร่ระบาดทั่วทุกหัวระแหง และทำให้คำว่า Audit storm หรือ พายุของการตรวจสอบ กลายเป็นวลีติดปากของชาวจีนในเวลาต่อมา ที่มาภาพ : http://news.xinhuanet.com/english/2008-03/13/xin_192030513211210947297.jpg
หลี จินหัว อดีตผู้ว่าการ สตง.จีน ผู้ปลุกให้พรรคคอมมิวนิสต์และชาวจีนทราบถึงปัญหาคอร์รัปชันที่แพร่ระบาดทั่วทุกหัวระแหง
และทำให้คำว่า Audit storm หรือ พายุของการตรวจสอบ กลายเป็นวลีติดปากของชาวจีนในเวลาต่อมา
ที่มาภาพ : http://news.xinhuanet.com/english/2008-03/13/xin_192030513211210947297.jpg

คุณูปการของ Audit Storm คือ การลดโอกาสและตัดแรงจูงใจที่จะคอร์รัปชัน เพราะหากใครก็ตามยังกล้าที่จะโกงอยู่ โอกาสถูกตรวจจับได้ย่อมมีสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ทุกองคาพยพต่างเอาจริงเอาจังที่จะแก้ปัญหาคอร์รัปชัน

ในตอนหน้า เราจะลงจากจีนไปต่อกันที่ “อินเดีย” เพื่อไปดูกันว่าองค์กรตรวจเงินแผ่นดินของอินเดียนั้น เขามีความเข้มแข็งและกล้าหาญที่จะต่อกรกับปัญหาคอร์รัปชันอย่างไร

หมายเหตุ :1 ผู้สนใจอ่านบทวิเคราะห์ดังกล่าวได้จากงานของ Shai Oster ที่อ้างถึงคำพูดของ Anthony Saich ใน President Xi’s Anti-Corruption Campaign Biggest since Mao
2 ผู้สนใจโปรดอ่านบทความของ Zhu Quiwen เรื่อง Audit Storm sweeps away graft