ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > มติ ป.ป.ช. ชี้มูลถอดถอน”ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” กรณี”จำนำข้าว”

มติ ป.ป.ช. ชี้มูลถอดถอน”ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” กรณี”จำนำข้าว”

9 พฤษภาคม 2014


หลังจากที่เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินความผิดให้ถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์กรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ไปแล้ว วันที่ 8 พฤษภาคม 2557 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ชุดใหญ่มีการประชุมร่วมกัน ณ สำนักงาน ป.ป.ช. สนามบินน้ำ ซึ่งได้มีการนำรายงานสรุปสำนวนข้อเท็จจริงคดีจำนำข้าวในส่วนของนางสาวยิ่งลักษณ์ กรณีละเลยการปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้เกิดการทุจริต ที่ผ่านการประชุมขององค์คณะไต่สวนคดีเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 เสนอต่อที่ประชุม เพื่อลงมติในการชี้มูลความผิดเพื่อถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่ง (รักษาการ) นายกรัฐมนตรี อีกครั้ง

สืบเนื่องจากคดีรับจำนำข้าวในส่วนของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่คณะกรรมการป.ป.ช.ได้มีมติให้เริ่มดำเนินการไต่สวนนางสาวยิ่งลักษณ์ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2557 เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อ บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย โดยปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นตามอำนาจหน้าที่(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ข้อกล่าวหาป.ป.ช. ต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ต่อมา คณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. สรุปสำนวนคดีส่งให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณา เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2557 โดยนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้แจงถึงประเด็นที่มาที่ไปของการดำเนินการในการไต่สวนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสมาชิกวุฒิสภาในการปฏิบัติหน้าที่มิชอบในโครงการรับจำนำข้าวของอดีตนายกยิ่งลักษณ์ รวมไปถึงเรื่องร้องเรียนในคดีอาญามาด้วย

ในเบื้องต้นเห็นว่าคดีนี้เป็นการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระดับผู้บริหารสำคัญ จึงดำเนินการไต่สวนคดีโดยใช้องค์คณะในการดำเนินการทั้งชุด และให้มีการสืบพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ โดยผลการประชุมวันนี้ชี้ชัดแล้วว่าทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ในการชี้มูลความผิดฐานละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี

ขณะนี้เห็นว่าข้อมูลเพียงพอที่จะดำเนินการในการถอดถอน ดังนั้นองค์คณะไต่สวนได้รวบรวมผลการดำเนินการ ส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่พิจารณา โดย คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาแล้วเห็นว่าพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการส่อว่าจงใจใช้อํานาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 178 และส่อว่าจงใจใช้อํานาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ มาตรา 11 (1) อันเป็นเหตุแห่งการถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาออกจากตําแหน่งตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 270 ซึ่งมีมูลเพียงพอที่จะดำเนินการส่งให้วุฒิสภาดำเนินการถอดถอนต่อไปได้ โดยมีมติ 7 ต่อ 0 ส่วนเรื่องการร้องเรียนประเด็นอื่นๆ เราก็ดำเนินการต่อไป แยกเป็นคนละเรื่อง

ด้านนายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เปิดเผยผลการลงมติอย่างเป็นทางการว่า “การที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และอยู่ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ได้กำหนดนโยบายจำนำข้าวมาตั้งแต่ต้น และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ซึ่งมีส่วนกำหนดและร่วมในการบริหารโครงการ แม้ในชั้นนี้พยานหลักฐานยังไม่ปรากฏชัดเจนว่าผู้ถูกล่าวหามีส่วนร่วมในการทุจริต หรือสมยอมให้เกิดการทุจริตหรือไม่ก็ตาม แต่การที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่บริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อสภาผู้แทนราษฎรว่าจะป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง ทั้งไม่พิจารณายับยั้งโครงการตั้งแต่เริ่มรับทราบความเสียหายอันร้ายแรงจากการดำเนินการโครงการดังกล่าว”

“ส่วนคดีอาญานั้น ที่ประชุมมีมติให้ดําเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปจนกว่าจะสิ้นกระแสความ ทั้งนี้โดยไม่ตัดพยานที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างมาในคําร้องขอนําสืบแก้ข้อกล่าวหาหลังสุด โดยให้นําไปพิจารณาในสํานวนคดีอาญาต่อไป ”

ขณะที่นายประสาท พงษ์ศิวาภัย รองโฆษกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้แจงข้อมูลการสืบพยานต่างๆ ในประเด็นนี้พยานบางส่วนทางคณะกรรมการเห็นว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องจึงตัดออกไป แต่พยานต่างๆ ที่เสนอมาใหม่นั้นจะถูกนำไปไว้ในกระบวนการพิจารณาคดีอาญาต่อไป จึงรวบรวมเอาไว้เพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหา และในประเด็นของคดีอาญานั้นยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไร ต้องใช้เวลาต่อไป ส่วนการยื่นถอดถอนต่อสมาชิกวุฒิสภาจะเป็นไปในสัปดาห์หน้า

แถลงข่าวคณะกรรมการป.ป.ช. เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2557
แถลงข่าวคณะกรรมการป.ป.ช. เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2557

ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้พรรคฝ่ายค้านได้ทำเรื่องถึง ป.ป.ช. ขอให้ตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าว 2 ประเด็น คือ 1. “กรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G)” ซึ่ง ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ไปแล้ว และกำลังขยายผลไปถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ และ 2. ขอให้ ป.ป.ช. พิจารณาถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ออกกจากตำแหน่ง ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยให้มีการทุจริตทุกขั้นตอน ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย โดย ป.ป.ช. ใช้เวลาไต่สวนเกือบ 2 ปี วันที่ 8 พฤษภาคม 2557 ป.ป.ช. จึงมีมติให้ถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หากที่ประชุมวุฒิสภารับรองผลการวินิจฉัยของ ป.ป.ช. ก็จะมีผลทำให้นางสาวยิ่งลักษณ์ต้องหยุดเล่นการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

“มติ ป.ป.ช. วันนี้เป็นการยืนยัน โครงการจำนำข้าวมีการทุจริตเกิดขึ้นทุกขั้นตอนจริง ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ใช้เวลาไต่สวน 1 ปี 10 เดือน จึงเริ่มชี้มูลความผิดในประเด็นถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อน เพราะสรุปสำนวนคดีง่ายกว่าคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ซึ่งเป็นคดีอาญามีโทษจำคุก ผมคิดว่านางสาวยิ่งลักษณ์กลัวในประเด็นนี้มากกว่าการถอดถอนออกจากตำแหน่ง จึงเล่นเกมยื้อเวลา โดยทำเรื่องขอให้ ป.ป.ช. สอบปากคำพยานอีก 7 คน ในจำนวนนี้มี 6 คน ป.ป.ช. เคยสอบปากคำไปแล้ว ผมไม่แน่ใจ หากนางสาวยิ่งลักษณ์ไม่สามารถแก้ข้อกล่าวหาในคดีทุจริตจำนำข้าวได้ นางสาวยิ่งลักษณ์ต้องรับโทษทั้งทางอาญาและทางแพ่งคนเดียว หรือ ครม. ทั้งคณะต้องร่วมรับโทษด้วย” นพ.วรงค์กล่าว

นพ.วรงค์กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นกว่า 3 แสนล้านบาท ต้องมีผู้รับผิดชอบหรือไม่ ตนไม่เชี่ยวชาญในประเด็นข้อกฎหมาย แต่ก็หวังว่า ป.ป.ช. มีมติให้ชดใช้ในทางแพ่งด้วยจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างยิ่ง เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นมันไม่ได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อ แต่เป็นการจงใจปล่อยให้เกิดการทุจริต เนื่องจากโครงการจำนำข้าวเป็นนโยบายหาเสียง แถลงต่อที่ประชุมรัฐสภา และก่อนดำเนินโครงการมีมติ ครม. รองรับ ดังนั้น ครม. ทั้งคณะอาจจะต้องรับผิดชอบด้วย ขั้นตอนต่อไปนั้น ป.ป.ช. ต้องสรุปผลการชี้มูลความผิดไปให้สมาชิกวุฒิสภารับรองต่อไป

“ผมอยากจะเรียกร้องให้วุฒิสมาชิก ยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลักการใหญ่ หากนางสาวยิ่งลักษณ์ไม่สามารถแก้ข้อกล่าวหานี้ได้ สมาชิกวุฒิสภาควรลงมติไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ อย่าไปเห็นแก่ผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ คดีทุจริตในการระบายข้าวแบบ G TO G หาก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดเมื่อไหร่ อาจจะต้องส่งเรื่องให้อัยการส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป คดีนี้นางสาวยิ่งลักษณ์จึงพยายามดิ้นแบบสุดซอย” นพ.วรงค์กล่าว

นพ.วรงค์กล่าวต่อไปอีกว่า อีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือกองทุนช่วยเหลือชาวนา ยอดเงินฝากเกือบ 10,000 ล้านบาท กำลังจะครบกำหนดไถ่ถอนภายในสิ้นปี 2557 หากกระทรวงพาณิชย์ขายข้าวไม่ได้ตามเป้าหมาย ไม่มีเงินใช้หนี้ให้ ธ.ก.ส. เมื่อกองทุนช่วยเหลือชาวนาครบกำหนดไถ่ถอน ธ.ก.ส. ก็ต้องสำรองจ่ายเงินให้ผู้ฝากเงินไปก่อน ซึ่งรัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปใช้หนี้แทน ธ.ก.ส. เพราะเรื่องนี้เป็นการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. เอง ไม่มีมติ ครม. รองรับ และไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หากเกิดความเสียหายต้องรับผิดชอบเอง