ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดรายงานสาธารณสุขกาญจนบุรี ระดับปริมาณสารตะกั่วในเลือด “ชาวคลิตี้”

เปิดรายงานสาธารณสุขกาญจนบุรี ระดับปริมาณสารตะกั่วในเลือด “ชาวคลิตี้”

10 พฤษภาคม 2014


ลำห้วยคลิตี้ กรมควบคุมมลพิษระบุว่าน้ำนำไปใช้ดื่ม แต่สัตว์น้ำยังห้ามนำไปรับประทาน
ลำห้วยคลิตี้ กรมควบคุมมลพิษระบุว่าน้ำนำไปใช้ดื่ม แต่สัตว์น้ำยังห้ามนำไปรับประทาน

จากปัญหาสารตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วยคลิตี้และมีการนำเสนอผ่านสื่อเมื่อปี 2541 ทำให้หน่วยงานรัฐหลายภาคส่วนลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และแก้ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้น โดยทางด้านสาธารณสุขมีการประเมินสุขภาพประชาชนด้วยการตรวจสารตะกั่วในเลือดพร้อมทั้งรักษา และแนะนำให้งดใช้น้ำและบริโภคปลาจากลำห้วยคลิตี้เพื่อหลีกเลี่ยงการรับสารตะกั่วสู่ร่างกาย

ในการเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรีและโรงพยาบาลทองผาภูมิ และการตรวจสารตะกั่วในเลือดโดยโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา รวมถึงการอบรมพยาบาลตรวจพัฒนาการจากมหาวิทยาลัยมหิดล

ผลการตรวจเลือดหาระดับตะกั่วของเด็กใน 9 หมู่บ้านพื้นที่เสี่ยงปี 2553 เปรียบเทียบระหว่างค่าปกติ 25 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตรและ 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร
ผลการตรวจเลือดหาระดับตะกั่วของเด็กใน 9 หมู่บ้านพื้นที่เสี่ยงปี 2553 เปรียบเทียบระหว่างค่าปกติ 25 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตรและ 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร

ผลการตรวจตะกั่วในเลือดจากประชาชนทั้ง 9 หมู่บ้าน เปรียบเทียบค่าปกติของปริมาณสารตะกั่วในร่างกาย คือ เด็กอายุ 0-14 ปี ไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร และผู้ใหญ่อายุ 15 ปีขึ้นไป ไม่เกิน 40 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร พบว่าในปี 2541–2544 พบเด็กที่มีปริมาณสารตะกั่วในเลือดสูงเกินค่าปกติมากถึงร้อยละ 60.29 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ระดับความเข้มข้นของสารตะกั่วในลำห้วยมีปริมาณสูงและประชาชนยังไม่ทราบถึงอันตรายจึงยังไม่หลีกเลี่ยงการพึ่งพาลำห้วยคลิตี้ ในขณะที่พบผู้ใหญ่ที่สารตะกั่วในเลือดสูงเกินค่าปกติร้อยละ 4.90

ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา สัดส่วนของเด็กและผู้ใหญ่ที่มีสารตะกั่วในเลือดเกินค่าปกติก็ลดลงเรื่อยๆ โดยมีเด็กร้อยละ 6.08 และผู้ใหญ่ร้อยละ 0.31 ที่มีสารตะกั่วในเลือดเกินค่าปกติในปี 2551

ปปริปริมาณสารตะกั่วในเลือดชาวคลิตี้

หากดูแยกเป็นรายหมู่บ้านในปี 2552 พบว่า หมู่บ้านคลิตี้บนมีเด็กร้อยละ 24.80 และผู้ใหญ่ร้อยละ 12.50 ที่มีสารตะกั่วในเลือดเกินค่าปกติ ส่วนคลิตี้ล่างพบเด็กที่สารตะกั่วในเลือดเกินค่าปกติร้อยละ 8.30

นอกจากนี้ยังพบเด็กที่สารตะกั่วในเลือดเกินค่าปกติที่บ้านท่าดินแดงร้อยละ 0.6 บ้านห้วยเสือ ร้อยละ 1.1 บ้านเกริงกระเวีย ร้อยละ 1.5 และบ้านสะพานลาว ร้อยละ 1 โดยที่ไม่พบสารตะกั่วในเลือดเกินค่าปกติในผู้ใหญ่เลย ทั้งนี้ไม่พบค่าตะกั่วในเลือดเกินค่าปกติทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ที่บ้านทุ่งนางครวญและบ้านทิพุเย

ผลการตรวจสารตะกั่วในเลือดปี 2553 พบหมู่บ้านที่มีประชากรมีปริมาณสารตะกั่วในเลือดเกินค่าปกติเพียง 4 แห่ง คือ คลิตี้บน พบในเด็กร้อยละ 36.3 และผู้ใหญ่ร้อยละ 7.7 บ้านห้วยเสือ พบในเด็กร้อยละ 1.7 บ้านเกริงกระเวีย พบในเด็กร้อยละ 1.2 และบ้านสะพานลาว พบในเด็กร้อยละ 1.1

สำหรับในปี 2554 ตรวจพบสารตะกั่วเกินค่าปกติเฉพาะในเด็กเท่านั้นใน 7 หมู่บ้าน คือ คลิตี้ ร้อยละ 17.30 คลิตี้ล่าง ร้อยละ 14.30 ท่าดินแดง ร้อยละ 14.30 ห้วยเสือ ร้อยละ 1.30 เกริงกระเวีย ร้อยละ 4.10 และสะพานลาว ร้อยละ 1.50

การตรวจระดับตะกั่วในเลือด

แต่หากคิดตามค่าปกติที่องค์การอนามัยโลกและหน่วยงานป้องกันโรคติดต่อในสหรัฐอเมริกาปรับใหม่ในปี 2545 สำหรับเด็กจาก 25 เป็นไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ทีมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ จึงนำข้อมูลของปี 2553 มาวิเคราะห์ใหม่ พบว่า มีเด็กเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.69 เป็นร้อยละ 10.75

ตัวอย่างประชากร 5 คนที่มีผลการตรวจสารตะกั่วในเลือดอย่างต่อเนื่อง พบว่า ปริมาณสารตะกั่วในเลือดค่อยๆ ลดลง แม้ว่าจะยังมีปริมาณสูงกว่า 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตรก็ตาม

การเจาะเลือดตรวจตะกั่วในคน “ไม่ใช่การแก้ปัญหา” เป็นเพียงการ “ตรวจสอบ” ว่ายังมีการรับตะกั่วเข้าร่างกายหรือไม่ ซึ่ง 17 ปีที่ผ่านมา พบว่าการรับตะกั่วมีแนวโน้มลดลง

การกำจัดความเสี่ยงต่อสุขภาพ คือ กำจัดสารตะกั่วออกจากพื้นที่ ซึ่งจัดการได้โดยจัดหาน้ำที่ไม่ปนเปื้อนตะกั่วให้ประชาชนได้อุปโภคบริโภค และนำตะกอนตะกั่วออกจากลำห้วยคลิตี้

อ่านรายงานฉบับเต็ม รายงานปริมาณสารตะกั่วในเลือดชาวคลิตี้ และ งานวิจัยสารตะกั่ว