ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > คลังระดม 4 หน่วยงานเข็นงบปี ’58 วงเงิน 2.6 ล้านล้าน คาดเบิกจ่ายทัน 1 ต.ค. นี้ – ไม่มีคำสั่งพิเศษงบฯกลาโหม

คลังระดม 4 หน่วยงานเข็นงบปี ’58 วงเงิน 2.6 ล้านล้าน คาดเบิกจ่ายทัน 1 ต.ค. นี้ – ไม่มีคำสั่งพิเศษงบฯกลาโหม

31 พฤษภาคม 2014


นอกจากหาเงินใช้หนี้จำนำข้าวชาวนาแล้ว การจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2558 ก็เป็นอีกหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งนี้เพื่อให้การใช้จ่ายเงินภาครัฐไม่สะดุด งบฯ ปี 2558 ต้องเบิกจ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป ดังที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ประกาศไว้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนถึงวันประชุม 4 หน่วยงานในวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 ประกอบด้วยสำนักงบประมาณ, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ฯ และกระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดโครงสร้างและกรอบวงเงินงบฯ ปี 2558 ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา บรรยากาศที่สำนักงบประมาณค่อนข้างคึกคักเป็นพิเศษ รถยนต์จอดเต็มลานจอดรถ ห้องทำงานเปิดไฟพรึบ ข้าราชการทุกกรมกองในสังกัดสำนักงบฯ ต่างเตรียมข้อมูลเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ที่มีนายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อํานวยการ สํานักงบประมาณ เป็นประธาน เริ่มประชุมกันตั้งแต่8.00น.ถึง22.00น.

นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อํานวยการ สํานักงบประมาณ กำหนดกรอบวงเงินวงเงินประมาณรายจ่ายปี 2558 ณ ห้องประชุมป๋วย อึ้งภากรณ์ สำนักงบประมาณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2557
นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อํานวยการ สํานักงบประมาณ
กำหนดกรอบวงเงินวงเงินประมาณรายจ่ายปี 2558 ณ ห้องประชุมป๋วย อึ๊งภากรณ์ สำนักงบประมาณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2557

นายสมศักดิ์เปิดเผยว่า การประชุมในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ตนได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดสำนักงบฯ ปฏิบัติหน้าที่จนถึงเวลา 22.00 น. เพื่อนำเสนอรายละเอียดคำขอใช้งบประมาณเป็นรายกระทรวงต่อที่ประชุมใหญ่ โดยก่อนหน้านี้สำนักงบประมาณออกหนังสือเวียนให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ส่งคำขอใช้งบประมาณมาที่สำนักงบฯ โดยจะแบ่งเป็น 4 ส่วนคือ คำขอใช้งบประมาณรายจ่ายประจำขั้นต่ำ, รายจ่ายตามภารกิจพื้นฐาน, รายจ่ายผูกพันตามสัญญาและรายจ่ายตามยุทธศาสตร์ ตอนนี้สำนักงบฯ เพิ่งพิจารณาคำขอใช้งบประมาณแค่ 3 ส่วนแรกวงเงินรวมกว่า 4 ล้านล้านบาท ส่วนคำขอใช้งบประมาณตามรายจ่ายยุทธศาสตร์นั้น ทุกหน่วยงานยังไม่ได้ส่งเข้ามา ต้องรอผลการประชุม 4 หน่วยงาน กำหนดโครงสร้างและยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณก่อน จากนั้นสำนักงบประมาณออกหนังสือเวียนให้ทุกหน่วยงานส่งคำขอใช้งบประมาณเป็นครั้งสุดท้ายภายในวันที่ 27 มิถุนายน 2557

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง สำนักงบฯ ไม่สามารถจัดทำประมาณปี 2558 ได้ตามกำหนดเวลา จึงคาดการณ์ว่า “การเบิกจ่ายงบฯ ปี 2558 อาจจะล่าช้ากว่าปกติไม่น้อยกว่า 6 เดือน” เพราะไม่มีใครทราบว่าจะมีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศเมื่อไหร่ แต่หลังจากที่ คสช. ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลรักษาการ ทำให้กระบวนการจัดทำงบประมาณกลับมาเริ่มต้นอีกครั้ง ประเทศไทยได้รัฐบาลชุดใหม่เร็วกว่าที่คาดไว้ ตอนนี้มั่นใจว่างบฯ ปี 2558 สามารถเบิกจ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป ขณะนี้สำนักงบฯ ได้ปรับปรุง “ปฏิทินงบประมาณปี 2558” เสนอ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ไปแล้ว มีรายละเอียดดังนี้

ร่างปฏิทินงบประมาณรายจ่าย

วันที่ 30 พฤษภาคม 2557 ประชุม 4 หน่วยงาน เพื่อกำหนดกรอบวงเงินและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายปี 2558 วันที่ 9 มิถุนายน 2557 ที่ประชุม 4 หน่วยงาน สรุปยุทธศาสตร์จัดสรรงบประมาณและแนวทางการตัดทอนงบฯ เพื่อเสนอต่อที่ประชุม คสช. อนุมัติวันที่ 12 มิถุนายน 2557 จากนั้นสำนักงบฯ อออกหนังสือเวียนให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ส่งคำขอใช้งบฯ (รายจ่ายตามยุทธศาสตร์) มาให้สำนักงบฯ พิจารณาเป็นครั้งสุดท้ายภายในวันที่ 27 มิถุนายน 2557 เพื่อทำมาสรุปและจัดทำเป็นเอกสารงบประมาณปี 2558

ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกล่าวต่อไปอีกว่า ส่วนขั้นตอนต่อไปนั้น ตนยังไม่แน่ใจว่าจะมีการจัดตั้งสภานิติบัญญัติขึ้นมาก่อนหรือไม่ หากมีการจัดตั้งสภานิติบัญญัติขึ้นมา ก็จะนำเอกสารงบประมาณเสนอให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติพิจารณาภายในวันที่ 6 สิงหาคม 2557 แต่ถ้าไม่มีการจัดตั้งสภานิติบัญญัติ ต้องเสนอให้ที่ประชุม คสช. อนุมัติในวันเดียวกัน คาดว่าร่างกฎหมายงบประมาณปี 2558 จะผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติ หรือ คสช. ในช่วงต้นเดือนกันยายน 2557 และนำขึ้นทูลเกล้าฯ วันที่ 22 กันยายน 2557 เริ่มเบิกจ่ายเงินได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป

“กระบวนการผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2558 คสช. อาจจะยกร่างธรรมนูญการปกครองขึ้นมาก่อน เพื่อกำหนดขั้นตอนการจัดทำงบประมาณ แต่ถ้าไม่เลือกวิธีนี้ ก็อาจจะออกระเบียบ คสช. ว่าด้วยวิธีการจัดทำงบประมาณ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย” นายสมศักดิ์กล่าว

นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการงบประมาณรายจ่ายปี 2558 มีวงเงินรวมประมาณ 2.55-2.6 แสนล้านบาท โดยมาจากประมาณการจัดเก็บรายได้ 2.35-2.4 ล้านล้านบาท และกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณไม่เกิน 2 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นงบประจำ,งบชำระต้นเงินกู้ และมีรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังกว่า 10,000 ล้านบาท รวมกันแล้วคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 82.5% ของวงเงินรวม ซึ่งทางสำนักงบฯ พยายามตัดทอนลง เพื่อรักษาสัดส่วนงบลงทุนให้มีไม่ต่ำกว่า 17.5% ของวงเงินรวม

แต่หลังจากการหารือกับ 4 หน่วยงานวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 นายสมศักดิ์เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีความเห็นว่าเศรษฐกิจไทยปี 2558 น่าจะขยายตัวที่ระดับ 6.3% ต่อปี (Nominal GDP) อัตราเงินเฟ้อ 2.3% สรุปงบประมาณรายจ่ายปี 2558 มีวงเงินไม่เกิน 2.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3% ยอดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณใกล้เคียงปีที่แล้ว (ปีงบประมาณ 2557 ขาดดุล 2.5 แสนล้านบาท) ทั้งนี้ เพื่อรักษาระดับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2558 ให้ขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 4% ต่อปี สำนักงบประมาณต้องพยายามรักษาสัดส่วนของงบลงทุนให้มีไม่น้อยกว่า 17.5% ของวงเงินงบประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท

โครงสร้างงบประมาณปี2558

“ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา สำนักงบประมาณพยายามจำกัดวงเงินขาดดุลงบประมาณไว้ไม่เกิน 2 แสนล้านบาท ส่วนจะขาดดุลเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ วันนี้ได้ข้อสรุปแล้ว แต่ผมต้องขอนำเสนอให้ คสช. ในวันที่ 12 มิถุนายน 2557 แต่ผลการหารือในวันนี้ ทางกระทรวงการคลังยอมปรับประมาณการรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมเล็กน้อย ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบลงทุนนั้น ตามนโยบายของ พล.อ. ประยุทธ์เน้นไปที่เรื่องการรักษาวินัยการคลัง พยายามไม่ใช้เงินกู้ เลือกลงทุนในโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนจริงๆ ใช้เม็ดเงินลงทุนไม่สูงมากนักเป็นโครงการลงทุนที่มีความเชื่อมต่อกัน เช่น รถไฟรางคู่ หรือโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคม ซ่อมแซมถนน ก่อสร้างถนน 4 ช่องทาง โครงการบริหารจัดการน้ำ เพื่อวางระบบป้องกันปัญหาน้ำท่วม โดยโครงการที่จะเลือกลงทุนต้องไม่มีปัญหากับประชาชนในพื้นที่ หรือผ่านการทำประชามติมาแล้ว” นายสมศักดิ์กล่าว

นายสมศักดิ์กล่าวต่ออีกว่า สำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ อย่างเช่น โครงการลงทุนรถไฟรางคู่ สำนักงบประมาณจัดสรรงบฯ ให้รัฐวิสากิจเป็นบางส่วนเท่านั้น เช่น จัดงบฯ ศึกษาผลกระทบ หรือศึกษาความเหมาะสมในโครงการลงทุน, ค่าสำรวจออกแบบ, ค่าเวนคืนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วนค่าก่อสร้าง รัฐวิสาหกิจต้องให้กระทรวงการคลังดำเนินการจัดหาเงินกู้

ต่อกรณีที่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อที่ประชุมข้าราชการที่มารายงานตัว ช่วงประกาศกฎอัยการศึกครั้งแรก โดยขอให้ผู้อำนวยการสำนักงบฯ ดูแลงบทหารด้วย นายสมศักดิ์ชี้แจงว่า “พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวกับผมว่าอย่าลืมจัดงบประมาณให้กับทหาร-ตำรวจที่มาปฏิบัติหน้าที่ช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองด้วยนะ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ได้สั่งการให้สำนักงบฯ จัดงบประมาณให้กระทรวงกลาโหม ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์บอกให้ผมจัดสรรงบฯ ตามขั้นตอนปกติ และในช่วงที่มอบนโยบายเศรษฐกิจ การจัดสรรงบฯ ให้เน้นแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ส่วนการจัดสรรงบฯ ให้กลาโหม ก็ให้อยู่ในสัดส่วนเดิม”

ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่าหลังจากที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนา 90,000 ล้านบาท ประกอบกับงบประมาณปี 2558 เริ่มเบิกจ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป ดังนั้น สศค. จะมีการทบทวนประมาณการทางเศรษฐกิจปี 2557 ภายในเดือนมิถุนายน 2557 เนื่องจากสมมติฐานที่ใช้ในการประมาณการทางเศรษฐกิจเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ประเทศไทยได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ทำให้การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว จากเดิมที่ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวเฉลี่ยที่ 2.6% ต่อปี อาจจะขยายตัวได้ถึง 3%

ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2557ยังคงหดตัวทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน แต่จะเป็นเดือนสุดท้าย จากนั้นในช่วงเดือนพฤษภาคมเศรษฐกิจไทยจะเริ่มขยายตัวดีขึ้น เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ น่าจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 1% ต่อปี ส่วนไตรมาสที่ 3 อาจจะขยายตัวได้ถึง 3% ต่อปี หลังจากที่รัฐบาลจ่ายเงินจำนำข้าวจนครบ กลไกเบิกจ่ายงบประมาณกลับมาทำงานตามปกติ ภาคเอกชนที่ชะลอการลงทุนช่วงที่มีปัญหาการเมือง เริ่มกลับมาลงทุนอีกครั้ง คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเริ่มทยอยอนุมัติโครงการลงทุน 7 แสนล้านบาท กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งแก้ปัญหาอุปสรรคการจัดตั้งโรงงาน (รง.4)” นายสมชัยกล่าว

นายสมชัยกล่าวต่อไปอีกว่าวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 สำนักงบประมาณเรียกประชุม 4 หน่วยงาน เพื่อเร่งจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2558 ให้สามารถเบิกจ่ายได้ตามกำหนด วันที่ 31 พฤษภาคม 2557 คสช. เรียกประชุมหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนขอรัฐวิสาหกิจ วันที่ 1 มิถุนายน 2557 สรุปแผนยุทธศาสตร์ หรือโรดแมปของแต่ละกระทรวง คาดว่ารัฐบาลชุดใหม่จะประกาศนโยบายเศรษฐกิจได้ภายในสัปดาห์หน้า

ธปท. เผยแนวโน้มเศรษฐกิจดีขึ้น แต่อาจจะโตต่ำกว่า 2.7%

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจและการเงิน เดือนเมษายน ปี 2557 เปิดเผยว่าสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันดีขึ้น เทียบกับตัวเลขที่ใช้ในประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งก่อนหน้าเนื่องจากนโยบายเศรษฐกิจมีความชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าเป็นเรื่องงบประมาณก็กลับมาตามปกติ จากเดิมที่น่าจะล่าช้าไปสองไตรมาส การจ่ายเงินชาวนาที่คาดว่าจะเสร็จใน 1 เดือน และการที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอสามารถเริ่มอนุมัติโครงการที่ค้างอยู่ได้ แต่อาจจะไม่ถึง 2.7% ตามที่เคยประกาศไว้

“สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ช่วยพยุงความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและนักลงทุน ก็คิดว่าภาพส่วนใหญ่ก็มีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ดีขึ้นจะกลับไปเท่าเดิม 2.7% ก็คงต้องขอประเมินก่อน แต่โอกาสก็ค่อนข้างไม่ง่ายนัก เพราะเรื่องการกระตุ้นไม่ได้เริ่มพร้อมกันทันที ขณะที่ตอนนี้ก็ผ่านมาเกือบครึ่งปีแล้ว คิดว่าผลส่วนใหญ่น่าจะไปปรากฏปีหน้ามากกว่า” นายเมธีกล่าว

ทั้งนี้ การเริ่มจ่ายเงินจำนำข้าวที่ค้างไว้ ก็ช่วยส่งเสริมให้ความเชื่อมโยงของธุรกิจต่างๆ ให้สามารถเดินต่อไปได้ โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยการผลิต ค้าปลีก ค้าส่ง และอุตสาหกรรมเกษตร เนื่องจากมีเงินมาหมุนในระบบมากขึ้น แม้จะไม่ใช่เงินใหม่ในระบบทั้งหมด

“เงินชาวนามีประโยชน์ต่อชาวนาเยอะเลย โดยเฉพาะกับเศรษฐกิจของต่างจังหวัดที่เริ่มคล่องตัวขึ้น แต่กับเศรษฐกิจโดยรวมก็มีบ้าง แต่คงไม่ทั้งจำนวน เพราะที่ผ่านมาชาวนาก็ใช้จ่ายอยู่แล้วผ่านการกู้ยืม คิดว่าไม่ได้เป็นเงินใหม่ทั้งก้อนเข้าไปในระบบ แต่เข้าไปหมุนจริง ซึ่งก็ยังถือว่าดีกว่าไม่ทำอะไร” นายเมธีกล่าว

ด้านภาวะเศรษฐกิจเดือนเมษายนนั้น นายเมธีแถลงว่า การท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นหลังจากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้ความความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติดีขึ้น ประกอบการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการในช่วงสงกรานต์ โดยเติบโตขึ้น 7.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่ถ้าเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนยังหดตัว 1.7% รวมทั้งเดือนมีนักท่องเที่ยว 2 ล้านคน

สำหรับการบริโภคและการลงทุนยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัว 0.8% จากระยะเดียวกันของปีก่อน ดีขึ้นจากเดือนที่แล้วที่หดตัวไป 1.2% จากการใช้จ่ายสินค้าคงทนลดลง ประกอบกับภาระหนี้ครัวเรือนที่สูง ทำให้ครัวเรือนยังระมัดระวังการใช้จ่าย ขณะที่ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัว 4.7% ดีขึ้นจากเดือนที่แล้วที่หดตัว 6.1% โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เนื่องจากผู้ประกอบการยังรอความชัดเจนทางการเมืองในขณะนั้น

ขณะที่การส่งออกโดยรวมฟื้นตัวได้ช้า ทั้งเดือนหดตัว 0.9% โดยการส่งออกสินค้าเกษตรหดตัวถึง 5.8% เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำและอุปสงค์จากจีนที่ลดลง อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมเครื่องจักรและอุปกรณ์, ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และยานยนต์ ก็มีทิศทางดีขึ้น ด้านการนำเข้าหดตัว 13.8% ทรงตัวจากเดือนมีนาคมที่หดตัว 13.7 ตามการนำเข้าสินค้าทุน วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเป็นหลัก