ThaiPublica > คอลัมน์ > Blackfish วาฬเพชฌฆาต

Blackfish วาฬเพชฌฆาต

31 พฤษภาคม 2014


เหว่ยเฉียง

BLACKFISH_Film_Poster

“กว่า 50 ปีที่ SeaWorld หลอกพวกเราว่าวาฬเพชฌฆาตเป็นสัตว์ที่เชื่องและมีความสุขที่ได้ว่ายวนไปวนมาในแทงค์น้ำใหญ่ยักษ์ เต้นระบำสร้างความบันเทิงให้พวกเราดู…ก็ลองสมมติว่าถ้าตัวเองถูกกักขังดูบ้างสิ ทำไมคุณถึงคิดว่าพวกมันจะมีความสุขจากการได้รับเสียงปรบมือจากผู้ชม หรือมีคนคอยโยนอาหารให้มัน ในเมื่อบ้านของมันคือมหาสมุทรกว้างใหญ่ที่มันล่าอาหารเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งมนุษย์หน้าไหนมาคอยสั่งให้มันทำนั่นทำนี่”

นี่คือคำตอบโต้ครั้งที่เท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้ของ กาเบรียลา คาวเพิร์ธเวต(Gabriela Cowperthwaite) ผู้กำกับหญิงจาก Blackfish ที่ฉายไปตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว จนบัดนี้เธอก็ยังต้องคอยแย้งบรรดาผู้เสียผลประโยชน์จากฝั่งของสวนน้ำ SeaWorld ในออร์แลนโด ด้วยว่าสารคดีเรื่องนี้ของเธอนั้นมีส่วนหนึ่งเป็นการขุดคุ้ยข้อมูลลับลวงพรางเกี่ยวกับการตาย 3 รายด้วยฝีมือของเจ้า ทิลิกุม วาฬเพชฌฆาตในสวนน้ำแห่งนี้

8451290_f520

แต่เดิมทิลิกุม (แปลว่า เพื่อน เป็นภาษาเผ่าชินุก วาวา -ชนพื้นเมืองแถบแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ) เป็นของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ Sealand of the Pacific ในบริติช โคลัมเบีย ซึ่งเป็นที่เกิดคดีแรกในปี 1991 เมื่อ เคลที บายร์น ครูฝึกวาฬ พาร์ทไทม์ และนักกีฬาว่ายน้ำหญิงวัย 20 ปี ไถลลื่นตกลงไปในบ่อที่มีวาฬ 3 ตัวในนั้นซึ่งมีทิลิกุมอยู่ด้วย โดยบายร์นพยายามตะกายขึ้นฝั่งแต่ถูกวาฬรุมกันลากเธอลงไปก้นบ่อแล้วเบียดไม่ให้เธอโผล่ขึ้นมาหายใจเหนือน้ำได้ ท่ามกลางความตื่นตะลึงของครูฝึกคนอื่นๆ แต่ก็ไม่มีใครช่วยฉุดเธอขึ้นมาจากความตายได้ คดีนี้ทำให้ทิลิกุมถูกย้ายไปอยู่ SeaWorld ทันที และอีกไม่นานหลังจากนั้น Sealand of the Pacific ก็ปิดตัวลง

กระทั่งปี 1999 ทิลิกุมก็ก่อเหตุสะเทือนขวัญอีก เมื่อแดเนียล พี ดุกส์ ชายวัย 27 ปี ถูกพบว่ากลายเป็นศพในสภาพเปลือยกาย แผลเหวอะหวะ นอนพาดอยู่บนหลังทิลิกุม โดยภายหลังสืบทราบว่าดุกส์ลอบเข้าไปในสวนน้ำหลังเวลาทำการ แล้วโดดเข้าไปในแทงค์น้ำที่ขังทิลิกุมเอาไว้ โดยหลังจากชันสูตรพลิกศพไม่พบสารเสพติดหรือแอลกอฮอล์ในตัวดุกส์เลย จึงสันนิษฐานว่าเขาน่าจะตายเพราะปอดบวมพร้อมกับจมน้ำ

John_Hargrove-Blackfish-618x400 (1)

กระทั่งการตายครั้งที่สาม อันเป็นชนวนเหตุให้คาวเพิร์ธเวตสนใจจะกำกับสารคดีเรื่องนี้ เมื่อในปี 2010 ดอว์น แบรนโช ครูฝึกหญิงวัย 40 ปี เสียชีวิตหลังจากการแสดงชุดหนึ่ง ซึ่งแบรนโชผู้เป็นหนึ่งในทีมนักแสดงชุดนั้นได้เข้าไปลูบหัวขอบใจเจ้าทิลิกุม แต่กลับถูกมันกระชากเหวี่ยงเธอไปรอบๆ บ่อ จนกระดูกหักเละไปหมดตั้งแต่ก้านคอ สันหลัง ซี่โครง และกรามคาง อันภายหลังสวนน้ำถูกฟ้องเป็นเงินถึง 75,000 เหรียญ แต่ทางผู้บริหารของสวนน้ำกลับโต้ว่าเป็นความผิดพลาดที่แบรนโชไว้ผมหางม้า ทำให้เส้นผมเข้าไปติดร่องฟันของวาฬจนเป็นเหตุให้เธอเสียชีวิต คดีนี้ปัจจุบันยังคงอยู่ในชั้นศาล

สารคดีเรื่องนี้รวบรวมข้อมูลขึ้นมาจากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญทั้งสัตวแพทย์, นักชีวภาพทางทะเล, นักกฎหมาย และครูฝึก (ซึ่งไม่ได้ช่ำชองอะไรเลย เพียงแต่เป็นนักว่ายน้ำ หน้าตาดี และสร้างความบันเทิงได้) เพื่อไม่ใช่เพียงแต่จะกล่าวโทษเจ้าทิลิกุม แต่กำลังจะบอกคนดูว่าวาฬเพชฌฆาตไม่ใช่สัตว์เลี้ยงแสนรักเหมือนอย่างหมาอย่างแมว แล้วควรจะล้มเลิกความคิดเรื่องการจับมันมาหัดแสดงเพื่อโกยเงินเข้ากระเป๋า โดยไม่คำนึงว่ามันเป็นชีวิตหนึ่งที่ต้องการอิสระเช่นกัน หรือไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของเพื่อนมนุษย์

Black-fish

หลังจาก Blackfish เปิดตัวในเทศกาลหนังซันแดนซ์ และเข้าตาค่ายหนัง รวมถึงช่องทีวีข่าวยักษ์ใหญ่อย่าง CNN และทำเงินไปกว่าสองล้านเหรียญ ก็กลายเป็นกระแสที่มีผลถึงกับทำให้ยอดผู้ชมในสวนน้ำแห่งนี้ตกลง 5% และเสียรายได้ไปถึง 15.9 ล้านเหรียญ, ครูฝึกวาฬลาออกยกทีม, นักร้องและวงดนตรีอีกหลายวงประท้วงด้วยการยกเลิกการแสดงคอนเสิร์ตในสวนน้ำแห่งนี้, ค่ายพิกซาร์แก้บทเรื่อง Finding Dorry ทันทีหลังจากได้ดูหนังเรื่องนี้, เกรก บอลล์ ส.ว. ได้เสนอร่างกฎหมายในนิวยอร์กให้งดการใช้วาฬเพชฌฆาตเพื่อการแสดง รวมถึง ส.ส. ในรัฐแคลิฟอร์เนียก็เสนอร่างกฎหมายเพื่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยจากสัตว์ร้ายและให้ปลดระวางวาฬทั้งหมด

photo_01

และหลังจากทาง SeaWorld พยายามโต้กระแสด้วยการแถลงข่าวหลายต่อหลายครั้ง ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาก็มีการชี้แจงอีกครั้งผ่านยูทูบจากหนึ่งในครูฝึกชุดปัจจุบันว่า “โปรดอย่ามีอคติด้วยรูปลักษณ์อันใหญ่โต หรือความปราดเปรื่องของมันเลย” ซึ่งเป็นการตอบโต้เรื่องที่ สแมนธา เบิร์ก นักสัตววิทยาจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลได้บอกเอาไว้ในสารคดีเรื่องนี้ว่า “จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ได้ชี้ว่า ยิ่งสัตว์ชนิดไหนมีความฉลาดมากเท่าไหร่ สัตว์ชนิดนั้นก็จะยิ่งมีความซับซ้อนทางโครงสร้างสังคม นั่นทำให้มันจะยิ่งเป็นทุกข์ทรมานจากการถูกกักขังด้วยเช่นกัน”

โดยทาง SeaWorld ก็ได้ให้เหตุผลค้านความเห็นนี้ในคลิปยูทูบนั้นว่า “เราจะสังเกตพฤติกรรมว่าสัตว์มีความสุขหรือไม่ก็ดูจากพฤติกรรมการกินและการสืบพันธุ์ของมัน เพราะถ้ามันไม่กินไม่ผสมพันธุ์ก็แปลว่ามันไม่แฮปปี้ แต่เจ้าทิลิกุม จนถึงตอนนี้มีลูกไปแล้ว 21 ตัว โดยมี 11 ตัวยังคงมีชีวิตอยู่ และการจับมันมาฝึกก็เป็นการช่วยให้มันไม่ต้องเผชิญมลภาวะทางทะเล หรือการถูกล่าจากมนุษย์ ซึ่งเท่ากับเราได้ช่วยให้สายพันธุ์ของมันมีโอกาสรอดสูงขึ้นด้วย” ขณะที่ในหนัง เบิร์กได้แย้งว่า “พวกมันต้องว่ายน้ำวันละ 80-100 ไมล์ต่อวัน ไม่มีเวลาได้พักเหนื่อยเลย แล้วมันจะยังมีความสุขได้อย่างไร และความจริงแล้วสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสายพันธุ์ของมันก็คือ การจับมันมาฝึกโชว์ที่ทำกันอยู่แบบนี้มาตั้งแต่ยุค 60 หรือ 70 แล้ว ถึงขนาด SeaWorld ก็เคยถูกคำสั่งห้ามจับสัตว์น้ำในน่านน้ำของรัฐวอชิงตันไม่ใช่หรือ”

hug

คาวเพิร์ธเวตบอกว่า “หนังเรื่องนี้จะไม่ประสบความสำเร็จเลยถ้าฉันต้องมัวมาพะวักพะวงว่าใครจะโจมตีเราบ้าง ฉันว่าเวลาทำสารคดีสักเรื่อง คุณต้องแสดงให้ผู้คนเห็นถึงพลังของประเด็นที่ต้องการจะนำเสนอ ก็ถ้าคุณทำมันออกมาให้ชัดเจนแล้วใครกันจะไปตรัสรู้สิ่งที่คุณกำลังจะบอกได้ล่ะ?”