ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > สังคมไทยไร้แร่ใยหิน (ตอนที่1): กระบวนการผลักดันยกเลิกใช้แร่ใยหินของไทย

สังคมไทยไร้แร่ใยหิน (ตอนที่1): กระบวนการผลักดันยกเลิกใช้แร่ใยหินของไทย

22 พฤษภาคม 2014


จากความพยายามของหน่วยงานรัฐ นักวิชาการ และผู้ประกอบการ ที่ผลักดันให้มีการยกเลิกแร่ใยหินในปี 2549 จนนำมาสู่ข้อสรุปตามยุทธศาสตร์มาตรการสังคมไทยไร้แร่ใยหิน จากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี 2553 ที่ให้เลิกใช้แร่ใยหินให้ได้ภายในปี 2555 แต่จนถึงปัจจุบันขั้นตอนการพิจารณาแผนยกเลิกการนำเข้า ผลิต และจำหน่ายแร่ใยหินในประเทศไทยยังไม่ผ่านเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังจากกระทรวงอุตสาหกรรมนำเสนอเมื่อกรกฎาคม 2556

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่มีการผลักดันเรื่องการยุติการนำเข้าและใช้แร่ใยหิน ยังมีความเห็นและข้อมูลที่ไม่ตรงกันระหว่างกลุ่มที่เห็นควรให้ยุติการนำเข้ากับกลุ่มที่ต้องการให้นำเข้า จึงเป็นประเด็นที่โต้แย้งกันอยู่จนถึงขณะนี้

ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า แร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็งที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ทำให้ปัจจุบันหลายประเทศได้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินแล้ว แต่ประเทศไทยยังคงนำเข้าแร่ใยหินอย่างต่อเนื่องและใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์หลายประเภท ซึ่งแร่ใยหินกว่าร้อยละ 90 ใช้ผลิตสินค้าประเภทซีเมนต์ใยหิน เช่น กระเบื้องทนไฟ กระเบื้องมุงหลังคา ท่อซีเมนต์ ฯลฯ

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าจึงนำเสนอซีรีย์ชุด “แร่ใยหิน” เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแร่ใยหินทั้งในส่วนของกลุ่มที่ต้องการยุติการนำเข้าและกลุ่มที่ต้องการการนำเข้า รวมทั้งขบวนการและขั้นตอนการดำเนินการที่ผ่านมา

ปริมาณการนำเข้าแร่ใยหิน

สำหรับประเทศไทยมีการนำเข้าแร่ใยหินมาตั้งแต่ พ.ศ. 2518 เฉลี่ยปริมาณกว่า 100,000 ตันต่อปี เนื่องจากไม่มีเหมืองแร่ใยหินในประเทศ

แร่ใยหินแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแอมฟิโบล มี 4 ชนิด คือ ครอซิโดไลท์ (Crocidolite) อะโมไซท์ (Amosite) ทรีโมไลท์ (Tremolite) แอนโธฟิลไลท์ (Anthophyllite) และแอคทิโนไลท์ (Actinolite) อีกกลุ่มคือเซอร์แพนไทน์ มี 1 ชนิด คือ ไครโซไทล์ (Chrysotile) ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยใช้ไครโซไทล์เพียงชนิดเดียว

ในระดับสากลยอมรับว่าแร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง จึงมีการประกาศจุดยืนขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) เรื่องมาตรการกำจัดโรคจากแร่ใยหิน และรณรงค์ให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกชนิด โดยใน พ.ศ. 2553 มีประเทศที่ยกเลิกการใช้แร่ใยหินแล้ว 57 ประเทศ

ขณะที่ข้อมูลจากงานศึกษาของสมัชชาสุขภาพกับนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม กรณีศึกษามาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน โดย “โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และคณะ” อ้างอิงข้อมูลจากหน่วยงานเฉพาะขององค์การอนามัยโลกที่ศึกษาวิจัยโรคมะเร็งและสารก่อมะเร็งต่างๆ ชื่อ International Agency for Research on Cancer (IARC) จากเอกสาร IARC Monograph 100C: A Review of Human Carcinogens: Arsenic, Metals, Fibres, and Dusts. ที่เผยแพร่ในปี 2553 ว่า แร่ใยหินทำให้เกิดมะเร็งที่อวัยวะดังต่อไปนี้ คือ เยื่อหุ้มปอด (mesothelioma) ปอด กล่องเสียง และรังไข่ และมีหลักฐานที่เป็นไปได้ว่าแร่ใยหินก่อมะเร็งคอหอย กระเพาะอาหาร และลำไส้ใหญ่ ดังนั้นจึงกำหนดแร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 1 คือ สารเคมีที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ (Confirmed Human Carcinogen) ซึ่งโรคเหล่านี้มีระยะฟักตัวของโรคนาน 40-50 ปี ในประชากรกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับแร่ใยหินและผู้ที่นำแร่ใยหินไปใช้ประโยชน์

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวเรื่องการยกเลิกแร่ใยหินในต่างประเทศ เกิดจากการผลักดันของ ILO และแรงงานกลุ่ม Building and Woodworker International (BWI) รวมตัวกันประกาศให้ยกเลิกใช้แร่ใยหินเพราะเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วย

สำหรับในประเทศไทย ปัจจุบันยังคงใช้แร่ใยหินไครโซไทล์อยู่แม้ว่าจะมีการผลิตสารทดแทนแร่ใยหินขึ้นมาใช้แล้ว รวมถึงมีการรณรงค์เพื่อยกเลิกใช้แร่ใยหินมาตั้งแต่ปี 2549 โดยให้เหตุผลว่าสารก่อมะเร็งไม่มีระดับการสัมผัสที่ปลอดภัยและมีความเสี่ยงจะเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้นในกลุ่มคนทำงานที่สัมผัสแร่ใยหินในปริมาณต่ำ

ในขณะที่สมาคมไครโซไทล์นานาชาติทำเอกสารเผยแพร่ในปี 2552 เรื่อง คำอ้างลอยๆ ที่ว่าแร่ใยหิน (Asbestos): เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตถึง 100,000 รายต่อปีเรื่องโกหกหรือความจริง? ตอบโต้ว่า ไครโซไทล์สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย

และล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน ซึ่งมี นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2557 มีมติว่า แร่ใยหินไครโซไทล์เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างชัดเจน ตามเอกสารยืนยันจากองค์การอนามัยโลก และงานวิจัยทางด้านสาธารณสุขในประเทศไทย ทุกแห่งต่างมีข้อสรุปตรงกันถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชน(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

การยกเลิกแร่ใยหิน

หากย้อนกลับไปยังกระแสผลกระทบของแร่ใยหินในปี 2549 ประเทศไทยจัดประชุมนานาชาติเรื่องแร่ใยหินครั้งแรก และทำปฏิญญากรุงเทพฯ เพื่อยกเลิกการใช้แร่ใยหินและขจัดโรคจากแร่ใยหิน ต่อมาปี 2550 คณะกรรมการอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์การควบคุมและห้ามใช้แร่ใยหินและการขจัดโรคที่เกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน พ.ศ. 2550-2555

ต่อมาปี 2551-2552 หน่วยงานด้านสุขภาพหลายแห่งได้ออกมาผลักดันและรณรงค์เพื่อยกเลิกการใช้ไครโซไทล์ ซึ่งเป็นแร่ใยหินประเภทเดียวที่ยังใช้ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสำนักควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม, สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย, สมาคมอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน, สมาคมพยาบาลอาชีวอนามัย, สมาพันธ์อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน

รายงานการเสียชีวิตผู้ป่วยโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดรายแรกของไทย โดย นพ.สุทธิพัฒน์ วงศ์วิทย์วิโชติ และดร.พญ.ฉันทนา ผดุงทศ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์ ในวารสารวิชาการสาธารณสุขปีที่ 18 ฉบับที่ 3 มีนาคม-เมษายน 2552 เรื่อง “มะเร็งเยื่อหุ้มปอดจากการทำงานในประเทศไทย” โดยผู้ป่วยมีประวัติทำงานในแผนกผลิตกระเบื้องมุงหลังคา ซึ่งสัมผัสกับแร่ใยหินช่วงปี 2504-2528 และพบว่าเป็นมะเร็งเยื่อหุ้มปอดในเดือนตุลาคม 2550 จึงถือเป็นสัญญาณอันตรายจากแร่ใยหินครั้งแรกของไทย

นอกจากนี้ยังมีรายงานการเฝ้าระวังโรคเกี่ยวกับแร่ใยหินของกรมควบคุมโรคในปี 2551 และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในปี 2552 พบว่า แรงงานที่ทำงานในกิจการผลิตที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบนั้น “ปอดผิดปกติ”

ด้านนโยบายมีประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก 2 ฉบับ เรื่อง ให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก โดยฉบับที่ 27 พ.ศ. 2552 ระบุว่า “ระวังอันตราย ผลิตภัณฑ์นี้มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ การได้รับสารนี้เข้าสู่ร่างกายอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ” และฉบับที่ 29 พ.ศ. 2553 ระบุ “ระวังอันตราย ผลิตภัณฑ์นี้มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ การได้รับสารนี้เข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เกิดมะเร็งและโรคปอด” พร้อมแสดงสัญลักษณ์

ด้านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอมาตรการจัดการอันตรายจากแร่ใยหิน ส่วนสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ได้จัดประชุมเพื่อรับฟังความเห็นและนำเสนอข้อคิดเห็นเรื่องการจัดการอันตรายจากไครโซไทล์ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสมาพันธ์อาชีวอนามัยฯ จัดประชุมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ อุรเวชช์ และพยาธิแพทย์ เพื่ออภิปรายเรื่องการวินิจฉัยโรคมะเร็งจากไครโซไทล์

16 ธันวาคม 2553 การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 มีมติเรื่อง “มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ที่จัดทำขึ้นแทนแผนยุทธศาสตร์การควบคุมและห้ามใช้แร่ใยหินและการกำจัดโรคที่เกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน พ.ศ. 2550-2555 ของคณะกรรมการอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์และมุ่งสู่การยกเลิกแร่ใยหินทุกชนิดได้อย่างถาวร

“มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” มีมติรับรองยุทธศาสตร์ และให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาตินำยุทธศาสตร์ดังกล่าวเสนอต่อ ครม. พิจารณาเห็นชอบและมอบหมายงานแก่หน่วยงานต่างๆ และพิจารณาเร่งรัดดำเนินการให้เสร็จภายใน 2 ปี นั่นคือปี 2555

วันที่ 12 เมษายน 2554 ครม. มีมติเห็นชอบมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติดังกล่าว และมอบหมายให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ สำนักคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และสำนักนายกรัฐมนตรี

ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม ครม. มอบหมายให้ไปทำแผนการยกเลิกการนำเข้า ผลิต จำหน่ายแร่ใยหินหรือผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินประกอบ แล้วนำเสนอ ครม. ต่อไป ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมมอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ดำเนินการให้เป็นไปตามมติ ครม.

ทั้งนี้ หน่วยงานต่างๆ รับทราบและดำเนินการต่างๆ ตามมติ ครม. แต่ติดปัญหาที่กระทรวงอุตสาหกรรมจัดทำแผนล่าช้า จึงทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหินไม่ทันกรอบเวลาปี 2555 แม้ว่าจะประกาศหานักวิจัยทันทีเพื่อจัดทำแผนโดยกำหนดกรอบเวลาศึกษา 6 เดือนหลังลงนามสัญญาจ้าง

แต่ด้วยปัญหาการคัดเลือกนักวิจัยและเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 จึงทำให้ได้นักวิจัยในเดือนมีนาคม 2555 จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ศึกษาเชิงเศรษฐศาสตร์ในแง่การลงทุน การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี ความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และผลกระทบต่อผู้ใช้ เพื่อทำแผนยกเลิกการใช้แร่ใยหิน และผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ 5 ชนิด คือ กระเบื้องแผ่นเรียบ กระเบื้องยางปูพื้น ผ้าเบรกและคลัทช์ ท่อซีเมนต์ใยหิน และกระเบื้องมุงหลังคา

ทั้งนี้ในระหว่างปี 2554-2556 หลายหน่วยงานได้พยายามและทำหนังสือเร่งรัดถึง ครม. และคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา รวมถึงออกแถลงการณ์ต่างๆ และจัดประชุมเพื่อให้เกิดการยกเลิกแร่ใยหินโดยเร็ว ในขณะที่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้ติดตามผลการดำเนินงานตามมติ ครม. เมื่อ 12 เมษายน 2554 มาตลอด

ทั้งนี้มีทั้งข้อมูลที่สนับสนุนการยกเลิกใช้แร่ใยหิน เช่น บทความวิชาการฉบับที่ 46/2554 “แร่ใยหิน อันตรายถึงชีวิต” โดยอาจารย์ฤดีรัตน์ มหาบุญปีติ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, “ภัยร้ายจากแร่ใยหิน ไม่ใช่แค่ตัวคุณ” โดยสำนักความปลอดภัยแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, “แร่ใยหิน มหันตภัยใกล้ตัว” โดยเครือข่ายสมัชชาสุขภาพ, “สังคมไทยไร้แร่ใยหิน…เรื่องนี้ยื้ออีกยาว” โดยไทยพับลิก้า ในขณะเดียวกันก็มีบางกลุ่มให้ข้อมูลว่าแร่ใยหินไม่อันตราย และคัดค้านการยกเลิกใช้แร่ใยหินด้วย เช่น ศูนย์ข้อมูลไครไซไทล์ สมาคมไครโซไทล์นานาชาติ

ด้วยเหตุนี้ “มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหินภายใน 2 ปี” ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 ที่ต้องแล้วเสร็จในปี 2555 จึงไม่สำเร็จ แม้กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแผนยกเลิกการนำเข้า ผลิตและจำหน่ายแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินประกอบทุกชนิดเสนอต่อ ครม. เมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 แต่ปัจจุบันยังคงอยู่ในระหว่างการนำเข้าพิจารณาในที่ประชุม ครม.