ThaiPublica > เกาะกระแส > 100 วันคดีป.ป.ช. กล่าวหา “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ” โครงการรับจำนำข้าว

100 วันคดีป.ป.ช. กล่าวหา “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ” โครงการรับจำนำข้าว

25 เมษายน 2014


นับตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2557 ถึง 25 เมษายน 2557 ครบ 100 วัน คดีข้อกล่าวหาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการะทรวงกลาโหม ขณะนี้กระบวนการ ได้เดินมาถึงขั้นตอนสุดท้ายแล้ว

แม้มิใช่ผู้ปฏิบัติการ แต่ในฐานะนายกรัฐมนตรี ควบตำแหน่งประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ทำให้นางสาวยิ่งลักษณ์ถูกตั้งข้อกล่าวหาจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นำไปสู่การยื่นเรื่องถอดถอนในเบื้องต้นว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากทราบข้อท้วงติงต่างๆ แล้วไม่ดำเนินการแก้ไขหรือยับยั้ง รวมไปถึงดำเนินนโยบายผิดพลาดทำให้เกิดความเสียหาย ในโครงการ “รับจำนำข้าว”

คดีนี้ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการไต่สวนนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในช่วงคาบเกี่ยวของการระบายข้าว เป็นอันดับแรก จากการสืบพยานหลักฐานต่างๆ ทำให้ ป.ป.ช มีมติไต่สวนบุคคลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม รวมไปถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และประธาน กขช. ขณะนั้น ซึ่งคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้วมีเหตุอันควรสงสัยในการปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ ตามมาตรา 66 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ
พ.ศ.2542

บุญทรง คดีจำนำข้าว

ป.ป.ช. มีมติ “ไต่สวน” ยิ่งลักษณ์

16 มกราคม 2557 คณะอนุกรรมการไต่สวน ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. (ชุดใหญ่) และคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการไต่สวน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ตามที่อนุกรรมการไต่สวนเสนอ ต่อมา 28 มกราคม 2557 จึงมีการตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่ไต่สวนคดีนี้ และวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้มีหนังสือเรียกนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มารับทราบข้อกล่าวหากรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557 เนื่องจากไม่ยับยั้งโครงการหลังจากได้รับหนังสือเตือนจากหลายฝ่าย ทั้งจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าโครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดการทุจริต รวมทั้งมี หนังสือจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินส่งให้ทบทวนและยุติโครงการ หนังสือรายงานความเสียหายจากโครงการดังกล่าว อีกทั้งมีการเปิดอภิปรายประเด็นนี้ในสภาผู้แทนราษฎร ทำให้เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

20 กุมภาพันธ์ 2557 นางสาวยิ่งลักษณ์ได้โพสข้อความผ่านเฟซบุ๊กของตนตัดพ้อว่า การไต่สวนของ ป.ป.ช. เป็นไปอย่างรวบรัด ไม่เป็นธรรม นับตั้งแต่วันที่ตนรับแจ้งหนังสือว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการไต่สวน เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 จนถึงวันที่มีมติแจ้งข้อกล่าวหา คือวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 มีระยะเวลาดำเนินการเพียง 21 วันเท่านั้น อีกทั้งตนได้ขอตรวจสอบหลักฐาน และขอเปลี่ยนตัวหนึ่งในคณะกรรมการไต่สวน คือ นายวิชา มหาคุณ แต่ไม่ได้รับการตอบรับใดๆ จาก ป.ป.ช.

พร้อมทั้งชี้แจงว่า การดำเนินการของตนอยู่ในฐานะผู้ดำเนินการระดับนโยบาย ไม่มีอำนาจสั่งการหรือครอบงำเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการ และตนได้ใช้ลักการในการบริหารจัดการที่ดี มีการมอบหมายงานโดยเด็ดขาด เพื่อให้มีผู้รับผิดชอบในแต่ละเรื่องแต่ละขั้นตอนที่ชัดเจน โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. เองได้ออกมาชี้แจงข้อกล่าวหาต่างๆอย่างละเอียด

ส่งตัวแทน “รับทราบข้อกล่าวหา” ขอยืดเวลาเข้าชี้แจง

27 กุมภาพันธ์ 2557 นางสาว ยิ่งลักษณ์ ได้มอบอำนาจให้ นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความ มารับทราบข้อกล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. แทน ในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งหลังจากรับทราบข้อกล่าวหาแล้วคณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดเข้าให้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน ครบกำหนดในวันที่ 14 มีนาคม 2557

หลังจากนั้นได้ให้ทนายความผู้รับมอบอำนาจ เข้ายื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอขยายระยะเวลาการยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวออกไปถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกคือวันที่ 12 มีนาคม 2557 ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. อนุญาตขยายเวลาให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ในการเข้าชี้แจงแก้ข้อกล่าวกรณีทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวจากเดิม 14 มีนาคม 2557 เป็น 31 มีนาคม 2557 และขอเลื่อนอีกครั้งที่ 2 ในวันที่ 27 มีนาคม 2557 ในครั้งนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่อนุญาตเนื่องจากเคยเลื่อนเวลาให้แล้วครั้งหนึ่ง

28 มีนาคม 2557 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังบันทึกเทป 127 ปี กระทรวงกลาโหม ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ว่า ค่อนข้างหนักใจที่ ป.ป.ช. ไม่ขยายเวลาให้ อีกทั้งตั้งข้อสงสัยว่าตามหลักการต้องมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นไต่สวนก่อน แต่กรณีของตนไม่มี เมื่อ ป.ป.ช. กำหนดกรอบระยะเวลาเพียงเท่านี้ก็ต้องทำตามขั้นตอน

จากนั้น ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กของตนอีกครั้ง ถึงการชี้แจงข้อกล่าวหาโครงการจำนำข้าว ว่าคดีนี้ ป.ป.ช. เป็นคู่กรณีเองมิใช่คนกลาง ตนอาจไม่ได้รับความยุติธรรม อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบกับคดีอื่นๆ ในมือ ป.ป.ช. คดีของตนถือว่าดำเนินการเร็วผิดปกติ การตรวจพยานหลักฐานไม่ได้รับการอำนวยความยุติธรรม เมื่อขอเลื่อนชี้แจงคดีก็ไม่ได้รับความร่วมมือ พร้อมอ้างว่าตนไม่ได้รับสิทธิให้ตรวจสอบพยานหลักฐาน และกล่าวถึงเอกสารมาที่ได้รับเพิ่มมาอีก 280 หน้านั้นว่าเท่ากับว่าตนมีเวลาเพียง 3 วัน ในการชี้แจงต่อ ป.ป.ช.

“ยิ่งลักษณ์” ชี้แจงข้อกล่าวหา

31 มีนาคม 2557 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้เดินทางมาชี้แจงข้อกล่าวหาทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ที่สำนักงาน ป.ป.ช. โดยได้เข้าชี้แจงข้อกล่าวหาเป็นลายลักษณ์อักษร ประกอบคำพูดเพียงเล็กน้อย หลังจากนั้นได้ขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.สอบพยานเพิ่มเติมอีก 11 ปาก โดยอ้างว่าแต่ละคนล้วนเป็นบุคคลที่เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมด สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการ ที่มาของโครงการ รวมไปถึงผลดีระหว่างดำเนินโครงการ ว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งขอขยายเวลาส่งเอกสารเพิ่มเติม

หลังจากการยื่นขอให้ไต่สวนพยานเพิ่มเติม 11 ปาก ก็มีการยื่นขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. สืบพยานเพิ่มอีกถึงสองครั้ง รวมพยานที่นางสาวยิ่งลักษณ์มอบหมายให้ทนายความคือ นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ และนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง เข้ายื่นขอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีทั้งสิ้น 17 ปาก

ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาความเหมาะสม และมิติด้านข้อมูลที่พยานแต่ละคนจะมาให้ปากคำแล้ว เพื่อลดความซ้ำซ้อนด้านข้อมูลจึงมีมติอนุมัติให้มีการสืบพยานเพิ่มเพียง 4 ปาก คือ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นายยรรยง พวงราช รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และพล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

17 เมษายน 2557 ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 เรื่องข้อเรียกร้องต่อฝ่ายต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองในขณะนี้ โดยเรียกร้องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาคดีของนางสาวยิ่งลักษณ์อย่างตรงไปตรงมา ทาง ป.ป.ช. ได้ออกมาชี้แจง และโต้กลับ ศอ.รส. ว่าการทำเช่นนี้หมิ่นเหม่ต่อการแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ต้องการให้การพิจารณาคดีเป็นไปตามความต้องการของฝ่ายบริหาร

23 เมษายน 2557 นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้โพสต์ข้อความชี้แจงกรณีข้าวหาย ว่า ความจริงแล้วข้าวไม่ได้หาย แต่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีไม่ได้นับรวมข้าวในสต็อกขององค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อการเกษตรกร (อ.ต.ก.) ซึ่งไม่ถูกต้อง พร้อมทั้งกล่าวอีกว่า การตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญ และจะทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นไปด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม ไม่ได้เชื่อเพียงคำกล่าวอ้างดังที่ปรากฏเป็นข่าว พร้อมกันนั้นตนได้มอบหมายให้นายยรรยง พวงราช รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีนี้เพิ่มเติม

เวลา 10.45 ณ สำนักงาน ป.ป.ช. นายยรรยง พวงราช ได้กล่าวภายหลังเข้ายื่นเอกสารต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า ตรวจสอบพบในรายงานการตรวจการปิดบัญชีคณะอนุกรรมการของนางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในการปิดบัญชี ซึ่งคณะอนุฯ ปิดบัญชีไม่ได้นับรวมตัวเลขข้าวในสต็อกทั้งการนับครั้งที่สองในวันที่ 11 มกราคม 2556 มีข้าวในสต็อกของรัฐบาลจำนวน 2.5 ล้านตัน และครั้งที่สามเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 อีกจำนวน 2.977 ล้านตัน หากนับรวมจะพบว่าตัวเลขปริมาณความเสียหายหรือขาดทุนก็จะมีจำนวนไม่มากตามที่บอกว่า 3 แสน 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเจ้าตัวมิได้ชี้แจงว่าข้าวที่ไม่ได้ถูกนับเพราะนำไปเข้าโครงการข้าวถุงของรัฐบาลหรือไม่

ต่อมา 13.45 น. นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ ทนายความ ผู้รับมอบอำนาจจาก นางสาวยิ่งลักษณ์ เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอเพิ่มเติมพยานอีก 7 ปาก กรณีไต่สวนข้อกล่าวหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ปล่อยให้มีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว

24 เมษายน 2557 คณะกรรมการป.ป.ช.มีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องนี้แต่ไม่ครบองค์ประชุม จึงเลื่อนเป็นวันอังคารที่ 29 เมษายน 2557

ป.ป.ช.กล่าวยิ่งลักษณ์กรณีจำนำข้าว

พยานปากเอกของ “ยิ่งลักษณ์”

วันที่ 31 มีนาคม 2557 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้เดินทางมาชี้แจงข้อกล่าวหาทุจริตโครงการรับจำนำข้าว พร้อมทั้งได้ขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.สอบพยานเพิ่มเติมอีก 11 ปากโดยอ้างว่าแต่ละคนล้วนเป็นบุคคลที่เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมด โดยจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการ ที่มาของโครงการ รวมไปถึงผลดีระหว่างดำเนินโครงการ ว่าเป็นอย่างไร อาทิ นายโอฬาร ไชยประวัติ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี, ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, นายยรรยง พวงราช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งขอขยายเวลาส่งเอกสารเพิ่มเติม

วันที่ 1 เมษายน 2557 หลังจากมีการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ประชุมได้ตัดพยานที่นางสาวยิ่งลักษณ์ยื่นขอให้ไต่สวนเพิ่มเติมจาก 11 ปาก เหลือเพียง 3 ปาก คือ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายยรรยง พวงราช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

ต่อมาวันที่ 8 เมษายน 2557 นางสาวยิ่งลักษณ์ได้มอบหมายให้ นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ ทนายความ ยื่นคัดค้านกรณีถูกตัดพยานจาก 11 ปาก เหลือ 3 ปาก ต่อ ป.ป.ช. และขอให้ ป.ป.ช. สืบพยานเพิ่มอีก 4 ปาก ประกอบด้วย 1. ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน 2. พล.ต.อ. วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร. หรือ พล.ต.ต. ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 3. นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและ รมช.เกษตรฯ 4. นายพิชัย ชุณหวชิร นายกสภาวิชาชีพบัญชีแห่งประเทศไทย

10 เมษายน คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติตัดพยาน 3 ปาก จากที่มีการเสนอเพิ่มมา 4 ปาก โดยอนุญาตให้เพียง พล.ต.ต. ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพียงคนเดียว ป.ป.ช. อ้างเหตุผลในการตัดพยาน โดยระบุว่ามีข้อมูลเพียงพอแล้ว

และเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2557 ได้มีการมอบหมายให้ทนายความผู้รับมอบอำนาจ คือนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง พร้อมด้วย นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ ยื่นหนังสือขอเพิ่มพยานเอกสาร และพยานบุคคลอีก 2 ปาก ประกอบด้วย นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการกองนโยบาย และวางแผนงานการคลัง แทนและนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ล่าสุด 23 เมษายน 2557 นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้โพสต์ข้อความชี้แจงกรณีข้าวหายว่า ความจริงแล้วข้าวไม่ได้หาย แต่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีไม่ได้นับรวมข้าวในสต็อกขององค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อการเกษตรกร (อ.ต.ก.) ซึ่งไม่ถูกต้อง พร้อมทั้งกล่าวอีกว่า การตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญ และจะทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นไปด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม ไม่ได้เชื่อเพียงคำกล่าวอ้างดังที่ปรากฏเป็นข่าว พร้อมกันนั้นตนได้มอบหมายให้นายยรรยง พวงราช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีนี้เพิ่มเติม

โดยเวลา 10.45 ณ สำนักงาน ป.ป.ช. นายยรรยง พวงราช รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวภายหลังเข้ายื่นเอกสารต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า ตรวจสอบพบในรายงานการตรวจการปิดบัญชีคณะอนุฯ ของนางสาวสุภาในการปิดบัญชี ซึ่งคณะอนุฯ ปิดบัญชีไม่ได้นับรวมตัวเลขข้าวในสต็อกทั้งการนับครั้งที่สองในวันที่ 11 มกราคม 2556 มีข้าวในสต็อกของรัฐบาลจำนวน 2.5 ล้านตัน และครั้งที่สามเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 อีกจำนวน 2.977 ล้านตัน หากนับรวมจะพบว่าตัวเลขปริมาณความเสียหายหรือขาดทุนก็จะมีจำนวนไม่มากตามที่บอกว่า 3 แสน 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเจ้าตัวมิได้ชี้แจงว่าข้าวที่ไม่ได้ถูกนับเพราะนำไปเข้าโครงการข้าวถุงของรัฐบาลหรือไม่

ต่อมา 13.45 น. นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ ทนายความ ผู้รับมอบอำนาจจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป.ป.ช.เพื่อขอเพิ่มเติมพยานอีก 7 ปาก กรณีไต่สวนข้อกล่าวหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ปล่อยให้มีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว

พยานทั้ง 7 ปาก ประกอบด้วย ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ. วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผบ.ตร., นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและ รมช.เกษตร, นายพิชัย ชุณหวชิร นายกสภาวิชาชีพบัญชีแห่งประเทศไทย, พล.ต.ท. วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ อดีตกรรมการ ป.ป.ช., นายโอฬาร ไชยประวัติ ที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย ในฐานะจัดทำนโยบายโครงการรับจำนำข้าว และนายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ นักวิชาการอิสระผู้ศึกษากลไกการตลาดข้าว ด้วยเหตุผลความจำเป็นในฐานะเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว

โดยนายบัญชากล่าวว่า “…การนำพยานเข้าสืบแก้ข้อกล่าวหาทั้ง 7 ปาก จึงไม่ได้มากมายและไม่ได้ทำให้การไต่สวนล่าช้าแต่อย่างใด ซึ่งหากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ไต่สวนและนำสืบพยานทั้ง 7 ปากดังกล่าวแล้ว จะทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับทราบข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายอย่างครบถ้วน อันจะทำให้การไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม…”

ทั้งนี้ ทาง ป.ป.ช. จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้พิจารณาในวันที่ 24 เม.ย. นี้ ซึ่งผลเป็นประการใดต้องแล้วแต่มติที่ประชุมกรรมการ และดุลพินิจของคณะกรรมการ