ThaiPublica > คอลัมน์ > ธุรกิจกับการยกระดับคุณภาพสังคม

ธุรกิจกับการยกระดับคุณภาพสังคม

9 เมษายน 2014


ดร.วิรไท สันติประภพ

คนไทยส่วนใหญ่คงไม่คิดว่าคุณภาพของสังคมไทยจะตกต่ำลงได้เหมือนกับที่เป็นอยู่ในวันนี้ และเศรษฐกิจไทยจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วในขณะที่เรายังมองไม่เห็นทางออกจากวิกฤติการเมืองซึ่งกำลังฉุดให้สังคมไทยแตกแยกกันมากขึ้นและเศรษฐกิจไทยตกต่ำลง เราคงได้ข้อสรุปเหมือนกันว่า เราพึ่งพานักการเมืองไทยไม่ค่อยได้ นักการเมืองดูจะให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของพวกพ้อง การต่อสู้ให้ได้มาซึ่งอำนาจ และเรื่องระยะสั้น มากกว่าที่จะคิดยกระดับคุณภาพของสังคมและเศรษฐกิจไทยให้เกิดผลต่อเนื่องจริงจังในระยะยาว

เราคงตั้งความหวังไว้กับระบบราชการไม่ได้มากเช่นกัน ระบบราชการไทยอ่อนแอลงมาก และจะอ่อนแอต่อเนื่องไปอีกนาน เพราะขาดข้าราชการที่มีความรู้ ความสามารถ และความกล้า ที่จะต่อสู้กับนักการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ที่ไม่ชอบธรรม นอกจากนี้ วัฒนธรรมองค์กรและกฎเกณฑ์กติกาส่วนใหญ่ล้าสมัย เป็นอุปสรรคทำให้หน่วยงานราชการไทยไม่สามารถขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในเรื่องใหม่ๆ ที่ต้องออกแรงคิดและออกแรงทำ

ในสภาวะที่เราหวังพึ่งนักการเมืองและระบบราชการไม่ค่อยได้ โจทย์ใหญ่คือเหลือคนกลุ่มใดบ้างที่จะมีพลังและมีศักยภาพที่จะยกระดับสังคมและเศรษฐกิจไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม ในขณะนี้ผมคิดว่าภาคธุรกิจเป็นคนกลุ่มเดียวที่จะทำหน้าที่นี้ได้อย่างแท้จริง เพราะนักธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง หลายธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขันทัดเทียมกับคู่แข่งระดับโลก ธุรกิจมีทรัพยากรทุนและทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถ และที่สำคัญธุรกิจคิดไกล เพราะการลงทุนทางธุรกิจจะต้องคิดถึงผลตอบแทนและสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจในอีกสิบหรือยี่สิบปีข้างหน้า ต่างจากนักการเมืองส่วนใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งครั้งต่อไป หรือข้าราชการที่ให้ความสำคัญกับฤดูกาลโยกย้ายปีต่อไป

ในภาคธุรกิจมีทั้งธุรกิจที่ดีและธุรกิจที่สร้างปัญหา เหตุผลหนึ่งที่ทำให้คุณภาพของสังคมไทยตกต่ำลงก็เพราะเรามีธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่ทำธุรกิจแบบเห็นแก่ตัว ขาดจริยธรรม และทำร้ายสังคม ในขณะเดียวกันธุรกิจจำนวนมากทำธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา และได้เป็นกำลังสำคัญในการแก้ปัญหาสังคมไทย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดเวลานี้คงหนีไม่พ้นองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแห่งประเทศไทย ซึ่งได้ยกระดับขึ้นมาจากภาคีต่อต้านคอร์รัปชันของภาคธุรกิจ เป็นการลงแรงลงทุนร่วมความคิดของภาคธุรกิจอย่างแท้จริง และได้รับการสนับสนุนน้อยมาก (กว่าการขัดขวาง) จากนักการเมืองและหน่วยงานราชการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ สามารถสร้างความตื่นรู้ในสังคมให้เห็นถึงผลเสียจากปัญหาคอร์รัปชัน นำเสนอกระบวนการป้องกันและแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ และหยุดยั้งพฤติกรรมที่เอื้อต่อการคอร์รัปชันขนาดใหญ่ได้หลายเรื่อง

โจทย์สำคัญในวันนี้ คือจะทำอย่างไรให้ธุรกิจไทยมีบทบาทยกระดับคุณภาพของสังคมไทยได้เพิ่มขึ้น ทันต่อความเสื่อมของสังคมไทยและความถดถอยของเศรษฐกิจไทยที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เริ่มแรกผมคิดว่าธุรกิจไทยจะต้องตระหนักว่าการยกระดับสังคมเป็นหน้าที่หนึ่งของภาคธุรกิจ และธุรกิจสามารถตอบโจทย์ของสังคมไปพร้อมๆ กับการทำกำไรและสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจเองด้วย แม้ว่าธุรกิจที่ช่วยยกระดับสังคมจะต้องแบกรับต้นทุนสูงขึ้นในระยะแรก แต่สิ่งที่ธุรกิจทำจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ขยายตลาดและฐานลูกค้า และลดต้นทุนที่ธุรกิจจะต้องเผชิญในระยะยาว เพราะถ้าสังคมโดยรวมตกต่ำลงเรื่อยๆ แล้วหนีไม่พ้นที่ต้นทุนการทำธุรกิจจะสูงขึ้น และขนาดของตลาดจะหดลง

การที่ภาคธุรกิจร่วมกันแก้ปัญหาคอร์รัปชันสะท้อนแนวคิดนี้ได้ชัดเจนที่สุด เพราะถ้าเราไม่สามารถหยุดยั้งปัญหาคอร์รัปชันได้ ต้นทุนการทำธุรกิจจะสูงขึ้นมาก อัตราการจ่ายเงินใต้โต๊ะจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และการแข่งขันจะไม่วัดที่ความสามารถ ธุรกิจที่เก่งและดีจะอยู่ไม่ได้ นอกจากนี้ คุณภาพของบริการสาธารณูปโภค และบริการของรัฐจะตกต่ำลงเรื่อยๆ กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในระยะยาว แต่ปัญหาคอร์รัปชันไม่ใช่ปัญหาใหญ่ปัญหาเดียวของประเทศไทย คุณภาพของสังคมไทยกำลังเสื่อมลงอย่างรวดเร็วทั้งด้านสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นเรื่องป่าไม้ น้ำ อากาศ ไปจนถึงขยะล้นเมือง ระบบการศึกษาไทยไม่สามารถผลิตเด็กส่วนใหญ่ให้เป็นทั้งคนเก่งและคนดีได้ คนรวยกับคนจน และคนเมืองกับคนชนบทมีฐานะทางเศรษฐกิจเหลื่อมล้ำกันมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดปัญหาความแตกแยกในสังคม หรือแม้กระทั่งปัญหาเรื่องคุณภาพและจริยธรรมของสื่อมวลชนที่ผลักดันความเชื่อและค่านิยมผิดๆ ให้แก่ประชาชน

ระบบแบบวงกลมหรือวงจรปิด

ธุรกิจไทยหลายแห่งได้ทำกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม (corporate social responsibility: CSR) ต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว โดยตั้งใจที่จะเป็นพลเมืองดีในสังคมและตอบแทนสังคม แต่กิจกรรม CSR เหล่านี้มักมีลักษณะเป็นเบี้ยหัวแตก ไม่ยั่งยืน และไม่สามารถแก้ปัญหาของสังคมไทยได้อย่างจริงจังและเท่าทันกับสถานการณ์ที่กำลังไหลลงเร็ว สาเหตุหนึ่งคงเป็นเพราะวิธีคิดและวิธีทำกิจกรรม CSR ที่ธุรกิจส่วนใหญ่คิดว่าจะทำก็ต่อเมื่อมีกำไรถึงระดับหนึ่ง หรือจัดสรรเงินทุนสำหรับกิจกรรม CSR เป็นสัดส่วนของกำไรที่เกิดขึ้น งบประมาณสำหรับกิจกรรม CSR จึงขึ้นอยู่กับผลประกอบการปีต่อปี ไม่ต่อเนื่อง ไม่สามารถวางแผนการทำกิจกรรม CSR ให้เกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม

หลายธุรกิจทำกิจกรรม CSR เพื่อสร้างภาพลักษณ์องค์กร หรือเพื่อบริหารความเสี่ยงในกรณีที่เกิดเรื่องที่จะทำให้ธุรกิจเสื่อมเสียชื่อเสียงก็จะมีเรื่องดีๆ จากกิจกรรม CSR มาชดเชย จึงนิยมมอบหมายให้หน่วยงานสื่อสารองค์กรหรือหน่วยงานสนับสนุนเป็นผู้รับผิดชอบกิจกรรม CSR ไม่ได้บริหารจัดการกิจกรรม CSR ให้เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจหลัก นอกจากนี้หลายประเด็นที่ธุรกิจหยิบขึ้นมาทำกิจกรรม CSR มักถูกกำหนดโดยความสนใจของผู้บริหารระดับสูง หรือเป็นไปตามกระแสสังคมในแต่ละช่วงเวลา ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักจึงไม่ได้รับความสนใจจากพนักงานโดยรวม ด้วยเหตุผลเหล่านี้ กิจกรรม CSR ที่ผ่านมาจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยหัวแตกไม่สามารถช่วยยกระดับคุณภาพของสังคมไทย และไม่อาจสร้างความสามารถในการแข่งขันให้แก่เศรษฐกิจไทยได้อย่างแท้จริง

ที่น่ากลัวไปกว่านั้นก็คือ กิจกรรม CSR ของหลายธุรกิจไม่สามารถเทียบเคียงได้เลยกับผลกระทบต่อสังคมที่เกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจหลัก ตัวอย่างหนึ่งคือธุรกิจอาหารสัตว์ขนาดใหญ่ที่เพิ่มปริมาณการรับซื้อข้าวโพดทุกปี แต่ไม่มีกระบวนการจัดซื้อที่ให้ความสำคัญต่อแหล่งที่มาของข้าวโพดและวิธีปลูกข้าวโพดของเกษตรกร ส่งผลให้เกิดการเผาป่าและทำลายป่าเพื่อปลูกข้าวโพดอย่างกว้างขวาง เกิดภูโกร๋น ปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมฉับพลัน และปัญหาหมอกควันในบริเวณพื้นที่สูงของประเทศ รวมทั้งส่งเสริมทางอ้อมให้เกษตรกรใช้ยาฆ่าแมลงและยาฆ่าหญ้าในปริมาณที่สูงเกินควร จนเกิดปัญหาต่อระบบน้ำใต้ดินและสุขภาพของชาวบ้าน ต่อให้บริษัทเหล่านี้ทำกิจกรรม CSR สร้างฝายปลูกป่าปีละหลายร้อยครั้งก็ไม่ทันต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ถ้าธุรกิจเหล่านี้ยังคงรับซื้อข้าวโพดด้วยวิธีเดิมไปเรื่อยๆ วันหนึ่งจะไม่สามารถหาผลผลิตข้าวโพดที่มีคุณภาพได้เพียงพอต่อความต้องการ เพราะทั้งคุณภาพป่า ดิน น้ำ และชีวิตเกษตรกรในพื้นที่เสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว ธุรกิจเหล่านี้จะตกเป็นจำเลยสังคม ถูกบอยคอตสินค้าจากผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ และประเทศไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีทางที่จะสร้างป่าต้นน้ำกลับขึ้นมาใหม่ได้ภายในสิบถึงยี่สิบปี

ในประเทศตะวันตก บทบาทของธุรกิจต่อสังคมได้ก้าวไปไกลและลึกกว่าแนวคิดการทำ CSR ในประเทศแถบเอเชียมาก ผู้บริหารธุรกิจตระหนักว่าความยั่งยืนในระยะยาว (sustainability) ของธุรกิจจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับความยั่งยืนในระยะยาวของสังคม การยกระดับสังคมจึงเป็นหน้าที่หนึ่งของการทำธุรกิจ ถ้าธุรกิจใดสามารถตอบโจทย์ของสังคมไปพร้อมๆ กับสร้างกำไรและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ตัวธุรกิจเองได้แล้ว เชื่อได้ว่าธุรกิจนั้นจะก้าวไปไกลกว่าคู่แข่งมาก จะมีความสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ดีกว่าคู่แข่ง และอาจจะสร้างตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้นจากการร่วมตอบโจทย์ของสังคมด้วย

หลายธุรกิจที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นตัวอย่างที่ดี ปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาดจะเป็นปัญหาสำคัญของโลกในอีกไม่นานนี้ ธุรกิจที่ต้องใช้น้ำในกระบวนการผลิตต้องคิดไกล ทั้งการสร้างแหล่งน้ำสะอาดไว้สำหรับอนาคต และการลดปริมาณน้ำเสียในปัจจุบัน ธุรกิจน้ำดื่มหลายแห่งได้ลงทุนพัฒนาแหล่งน้ำสะอาดและรักษาสภาวะแวดล้อมป่าต้นน้ำอย่างจริงจัง โรงงานเคมีบางแห่งได้ปลูกป่าในพื้นที่ขนาดใหญ่รอบโรงงานเพื่อในแน่ใจว่าจะมีน้ำเพียงพอสำหรับอนาคต ธุรกิจรองเท้ากีฬาที่เคยใช้น้ำย้อมสีโพลีเอสเตอร์จนเกิดน้ำเสียจำนวนมากในแต่ละปี ได้ลงทุนคิดเทคโนโลยีไม่ต้องใช้น้ำย้อมสีอีกต่อไป การคิดไกลและทำจริงของธุรกิจเหล่านี้จะทำให้มีความสามารถในการแข่งขันเหนือคู่แข่ง เมื่อใดที่ปัญหาน้ำสะอาดรุนแรงขึ้น ธุรกิจเหล่านี้จะอยู่รอดได้และสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเหล่านี้ก็จะอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนเช่นกัน

ความยั่งยืนของธุรกิจและสังคมจะเกิดผลได้จริง ต้องเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีทำงานของภาคธุรกิจ ต้องเริ่มจากผู้บริหารระดับสูงให้ความสำคัญกับการเลือกประเด็นทางสังคมที่ธุรกิจมีส่วนสร้างปัญหาและต้องการร่วมแก้ปัญหา จะต้องให้ความสำคัญกับการคิดไกล กำหนดเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดขึ้นต่อสังคมที่วัดได้และเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย และที่สำคัญคือต้องใช้นวัตกรรมหาแนวทางที่จะตอบโจทย์ของธุรกิจและของสังคมไปพร้อมกัน เรื่องการใช้นวัตกรรมนี้สำคัญมาก เพราะถ้าคิดและทำแบบเดิม ยากที่ธุรกิจจะก้าวออกจากกรอบวิธีการทำงานที่ตนคุ้นเคย และจะไม่สามารถหาวิธีลดต้นทุนที่จะช่วยยกระดับสังคมไปพร้อมๆ กับการสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจของตนได้ ผลต่อสังคมจะดีขึ้นเพียงทีละเล็กละน้อย ไม่ทันต่อสถานการณ์

ธุรกิจที่ต้องการยกระดับคุณภาพของสังคมอย่างจริงจัง จะต้องคิดเรื่องนี้เหมือนกับเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการทำธุรกิจ ทุกหน่วยงานหลักจะต้องมีบทบาทในเรื่องนี้ ไม่ได้เป็นเพียงหน้าที่ของหน่วยงานสื่อสารองค์กรหรือหน่วยงานสนับสนุนเหมือนกับการทำ CSR เป้าหมายของการยกระดับคุณภาพสังคมจะต้องถูกกระจายลงไปเป็นเป้าหมายที่ทุกหน่วยงานหลักจะต้องรับผิดชอบ (โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการสร้างปัญหาให้แก่สังคม) ทำให้เรื่องนี้เป็น DNA ขององค์กร ถ้าธุรกิจใดทำได้แบบนี้แล้ว เชื่อได้ว่าธุรกิจนั้นจะช่วยยกระดับคุณภาพของสังคมได้อย่างจริงจัง และมีความสามารถในการแข่งขันก้าวไกลกว่าคู่แข่งมาก

ผลที่เกิดขึ้นต่อคุณภาพของสังคมอาจจะใช้เวลานานกว่าที่จะวัดได้ชัดเจน แต่ธุรกิจหลายแห่งที่ให้ความสำคัญต่อการยกระดับคุณภาพของสังคมอย่างจริงจังมักได้รับประโยชน์ระยะสั้นจากความสามารถในการดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพสูงและความสามารถสูงให้มาร่วมงาน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ คนเหล่านี้มักได้รับข้อเสนอผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินจากธุรกิจต่างๆ ใกล้เคียงกัน ปัจจัยที่จะตัดสินว่าจะเลือกทำงานที่ไหนคือความรู้สึกที่ว่าได้ทำประโยชน์ให้แก่สังคม (และไม่ได้มีส่วนในการสร้างปัญหาเพิ่มเติมให้แก่สังคม) งานของตัวเองมีส่วนสร้างความเปลี่ยนแปลงเพียงใด ถ้าธุรกิจใดสามารถดึงพนักงานที่มีความสามารถสูงได้เหนือกว่าคู่แข่งแล้ว ธุรกิจนั้นย่อมมีโอกาสที่จะก้าวไปได้ไกลกว่าคู่แข่งมาก

ลองมองย้อนกลับไปเมื่อสิบปีที่แล้วนะครับ เวลานั้นคงไม่มีใครคิดว่าคุณภาพของสังคมไทยและความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยจะตกต่ำลงได้เร็วถึงเพียงนี้ ถ้าธุรกิจไทย (โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่) ยังคิดว่าการยกระดับคุณภาพของสังคมไม่ใช่หน้าที่ของตน หรือเป็นเรื่องระยะยาว รอได้ ผมนึกไม่ออกว่าสังคมและเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไรในอีกสิบปีข้างหน้า เมื่อถึงเวลานั้นเราอาจจะเหลือโอกาสน้อยมากที่จะคิดถึงเรื่องความยั่งยืน เพราะต้องใช้ทรัพยากรส่วนใหญ่ดิ้นรนแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อความอยู่รอดไปวันๆ

อ่านเพิ่มเติม “zero footprint” – อู่สู่อู่ ขยะเป็นศูนย์
ตีพิมพ์ครั้งแรก: คอลัมน์เศรษฐศาสตร์พเนจร นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 9 เมษายน 2557