ThaiPublica > เกาะกระแส > ทีดีอาร์ไอเสนอปฎิรูปการคลังด้วย “Thai PBO” ขณะที่ “อัมมาร” แนะปฏิรูปรัฐสภา ล้างภาพเป็น “ขี้ข้า” ฝ่ายบริหาร

ทีดีอาร์ไอเสนอปฎิรูปการคลังด้วย “Thai PBO” ขณะที่ “อัมมาร” แนะปฏิรูปรัฐสภา ล้างภาพเป็น “ขี้ข้า” ฝ่ายบริหาร

11 เมษายน 2014


ทีดีอาร์ไอ ระดมสมองนักเศรษฐศาสตร์ ผลักดันจัดตั้ง “สำนักงบประมาณประจำรัฐสภา” หรือ Thai PBO เพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลการเงินการคลัง ติดอาวุธให้รัฐสภาถ่วงดุลฝ่ายบริหาร หวังช่วยปฏิรูปการคลัง สร้างความโปร่งใส และความรับผิดชอบในการจัดทำงบประมาณ ขณะที่ “ดร.อัมมาร” เตือนอาจมีอุปสรรค เพราะรัฐสภาไทยเป็น “ขี้ข้า” ฝ่ายบริหาร เสนอต้อง “ปฏิรูปรัฐสภา” ให้เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร น่าจะแก้ปัญหาตรงจุดกว่า

ThaiPBO

วันที่ 9 เมษายน 2557 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดเสวนาสาธารณะเรื่อง “ปฏิรูประบบการคลังด้วย Thai PBO” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารกับสาธารณะเพื่อสร้างความเข้าใจและยอมรับ Thai PBO หรือ Thai Parliamentary Budget Office ต่อเนื่องจากก่อนหน้านี้ที่ทางทีดีอาร์ไอได้นำเสนอแนวคิด “ทำไมต้องมี Thai PBO”

ขณะที่การเสวนาครั้งนี้ มีความก้าวหน้าคือ มีข้อเสนอการจัดตั้ง Thai PBO อย่างเป็นทางการ ซึ่งนำเสนอโดย ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ และมีการระดมสมองจากนักเศรษฐศาสตร์เพื่อออกแบบและผลักดัน Thai PBO ให้เสริมสร้างวินัยทางการคลังได้จริง ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ที่ร่วมเสวนาระดมสมอง ได้แก่

ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.ชโยดม สรรพศรี คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ณดา จันทร์สม คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) Mr.Shabih Mohib ธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย ดร.ลัษมณ อรรถาพิช ธนาคารพัฒนาเอเชีย สำนักงานผู้แทนประจำประเทศไทย และ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ

ปฏิรูปการคลังอย่างเป็นรูปธรรมด้วย “Thai PBO”

โดย ดร.สมชัยระบุว่า Thai PBO หรือ สำนักงบประมาณประจำรัฐสภา (Parliamentary Budget Office หรือ PBO) จะเป็นหน่วยงานที่ช่วยให้การตรวจสอบการใช้จ่าย “เงินแผ่นดิน” ภายใต้ระบบ “ประชาธิปไตย” เป็นไปอย่างมี “ประสิทธิภาพ” มากขึ้น

โดย Thai PBO จะเป็นหน่วยงานวิเคราะห์งบประมาณแผ่นดินและระบบการคลังประจำรัฐสภาที่เป็นอิสระจากรัฐบาล มีหน้าที่หลักคือติดตามข้อมูล วิเคราะห์งบประมาณและการคลังภาครัฐ เพื่อสนับสนุนการทำงานของสมาชิกรัฐสภา และสนับสนุนข้อมูลแก่สาธารณชน

เนื่องจากปัจจุบันฝ่ายบริหาร หรือรัฐบาล มักมีความได้เปรียบในการเข้าถึงข้อมูลงบประมาณ เพราะชงเรื่องเอง และมีหน่วยงานในการกำกับทำการวิเคราะห์ผลกระทบทางการคลังให้เรียบร้อยแต่เป็นจากมุมมองของฝ่ายบริหาร นี่คือจุดอ่อนของการจัดทำงบประมาณ

ในขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เสียเปรียบทั้งเรื่องข้อมูลและขาดหน่วยสนับสนุนการวิเคราะห์งบประมาณและการคลังที่เพียงพอ ทำให้การใช้เงินแผ่นดินจึงไม่ได้รับการกลั่นกรองโดยผู้แทนประชาชนอย่างเพียงพอ เพราะฉะนั้น เชื่อว่าหน่วยงานแบบ PBO จะช่วยสร้างสมดุลในเรื่องนี้ และมีบทบาทสำคัญในการเสริมเติมช่องว่างเหล่านี้ได้

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ
ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ

“ระยะ 5-10 ปีหลังมีการตั้งหน่วยงานแบบ PBO เพิ่มขึ้นมาก แต่ที่น่าสนใจคือ พม่าก็จัดตั้ง PBO แล้วทั้งที่เพิ่งเปิดประเทศ แต่ประเทศไทยยังไม่มี” ดร.สมชัยกล่าว

ดร.สมชัยกล่าวว่า ประเทศไทยควรมี Thai PBO หรือ “สำนักงบประมาณประจำรัฐสภา” ตอนนี้เลย เพราะหนึ่งในสาเหตุความขัดแย้งทางการเมืองของไทยมาจากความไม่โปร่งใสของการใช้งบประมาณ ความคิดเห็นที่แตกต่างของต้นทุนงบประมาณบางโครงการ เช่น โครงการจำนำข้าว และแนวโน้มการใช้เงินนอกงบประมาณที่สูงขึ้น

“ตอนนี้เป็นจังหวะที่ดี มีกระแสการปฏิรูป จึงเปิดช่องให้มีการถกเถียงเรื่องการปฏิรูประบบการเงินการคลังอย่างกว้างขวาง ยังไม่มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม แต่ Thai PBO มีความเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับหลักปฏิบัติทางการคลัง ซึ่งเราควรมีมานานแล้ว และเป็นแนวโน้มทั่วโลกในปัจจุบัน ที่สำคัญขณะนี้ PBO ทั่วโลกมีการตั้งเป็นกลุ่ม Global network PBO ถ้าเราตั้งตอนนี้ก็จะได้รับความช่วยเหลือและคำแนะนำจากทั่วโลก” ดร.สมชัยกล่าว

บทบาท Thai PBO ต้องอิสระจากฝ่ายบริหาร-ไม่ฝักใฝ่การเมือง

สำหรับข้อเสนอตั้ง Thai PBO อย่างเป็นทางการ ดร.สมชัยระบุว่า หลักการทั่วไปที่ PBO ที่ดี “ต้องมี” คือ มีความเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะผู้อำนวยการ PBO มีความรับผิดชอบต่อรัฐสภาทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ต้องไม่ฝักใฝ่พรรคการเมือง ไม่เลือกข้าง มีความโปร่งใสในการทำงาน มีความเชี่ยวชาญระดับสูงในการวิเคราะห์งบประมาณและการคลัง รวมทั้งมีความเป็นอิสระในการจ้างหรือเลิกจ้างพนักงาน PBO

ส่วนเรื่องที่ PBO “ต้องทำ” คือ รายงานให้การต่อคณะกรรมาธิการงบประมาณ ส่งรายงานการวิเคราะห์ให้ทุกพรรคตรงตามเวลา และสื่อสารกับสาธารณะอย่างต่อเนื่องและเข้าใจง่าย ขณะที่เรื่องที่ PBO “ต้องไม่ทำ” คือ ให้ความเห็นทางการเมือง ต้องไม่บอกว่านโยบายอะไรผิดอะไรถูก เพราะถ้า PBO บอกว่าอะไรดีอะไรไม่ดีจะมีความสุ่มเสี่ยงทางการเมือง ทำให้ความน่าเชื่อถือของ PBO ลดลง

สำหรับแนวทางจัดตั้งองค์กร Thai PBO ดร.สมชัยระบุว่า มี 3 แนวทาง คือ 1) เป็นหน่วยงานสังกัดกับรัฐสภาเลย มีข้อดีคือมีความรับผิดชอบต่อรัฐสภาชัดเจน แต่ข้อเสียคือถูกแทรกแซงได้ง่าย 2) เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดของรัฐสภา และ 3) เป็นหน่วยงานอิสระนอกระบบรัฐสภาแต่ได้รับงบประมาณเหมือนกับ Thai PBS ซึ่งแนวทางที่ 2) และ 3) มีข้อดีคือจะมีความเป็นอิสระ แต่ก็ต้องพยายามออกแบบให้รับผิดชอบต่อรัฐสภา

ขณะที่ด้านโครงสร้างองค์กร ดร.สมชัยเสนอว่า อาจจะมีคณะกรรมการบริหารต่างหากโดยไม่เกี่ยวกับราชการคล้ายกับธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีคณะกรรมการชุดใหญ่ชุดหนึ่งที่ดูแลเรื่องของการบริหาร แต่ถ้าเป็นเรื่องของนโยบายก็จะมีคณะกรรมการ 3 ชุดทำอยู่ ตั้งใจให้คล้ายแบบนั้น เพื่อให้แน่ใจว่าจะต่อติดกับรัฐสภา

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารจะประกอบด้วย ประธานสภาผู้แทน ประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้าน ประธานคณะกรรมาธิการงบประมาณ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงบประมาณ และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเลือกจากที่ประชุมคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยรัฐที่เปิดสอนมากกว่า 20 ปีในวันที่มีพระราชบัญญัติก่อตั้ง Thai PBO

ในส่วนของผู้บริหารองค์กร จะประกอบไปด้วย 1) ผู้อำนวยการ Thai PBO ได้จากคณะกรรมสรรหา อยู่ในตำแหน่ง 4-6 ปี แต่ยังไม่ระบุว่าจะอยู่ได้สูงสุดกี่วาระ และ 2) รองผู้อำนวยการ Thai PBO อาจจะมีได้หลายคน แต่แต่งตั้งโดยผู้อำนวยการและหมดวาระพร้อมกัน

คาดองค์กรใหม่ใช้งบไม่เกิน 200 ล้านบาท

ด้านงบประมาณขององค์กร ดร.สมชัยเสนอว่า เพื่อให้สามารถธำรงความเป็นอิสระ และความเชี่ยวชาญด้านวิชาการ จำเป็นต้องมีหลักประกันด้านรายได้งบประมาณ ดังนั้นควรกำหนดงบประมาณว่าต้องไม่ต่ำกว่า 0.004% ของงบประมาณรวมในแต่ละปี แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท เพราะต้องทำให้ Thai PBO มีความคล่องตัวในการบริหารเงินงบประมาณที่ได้รับด้วย

ที่สำคัญการทำงานของ Thai PBO ต้องมีอำนาจเข้าถึงข้อมูลได้ไม่น้อยกว่าฝ่ายบริหารอย่างสะดวก รวดเร็ว และไม่มีต้นทุน โดยมีแนวทางเข้าถึงข้อมูลอาจใช้วิธีแบบออสเตรเลีย คือรัฐบาลต้องทำข้อตกลงกับองค์กรในการให้ข้อมูล ถ้าไม่สามารถให้ได้ต้องมีการทำคำอธิบายเป็นลายลักษณ์อักษร หรือใช้วิธีแบบแคนาดา คือให้อำนาจ PBO ในการฟ้องศาลบังคับให้เข้าถึงข้อมูลได้ และประเด็นสุดท้ายขององค์กรคือต้องตรวจสอบได้ Thai PBO ต้องถูกตรวจสอบโดยหน่วยงานที่เป็นกลางและเป็นอิสระ ปีละครั้งหรือ 2-3 ปีต่อครั้ง

นักเศรษฐศาสตร์เน้น ต้องมี “ความน่าเชื่อถือ”

ดร.ณดา จันทร์สม คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า, ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ, ดร.ชโยดม สรรพศรี คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จากซ้ายมาขาว)
ดร.ณดา จันทร์สม คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า, ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ, ดร.ชโยดม สรรพศรี คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จากซ้ายมาขวา)

ด้าน ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เห็นด้วยในหลักการกับ ดร.สมชัยทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นความเป็นกลาง ความเป็นอิสระ ความโปร่งใส แต่เพิ่มว่า “ความน่าเชื่อถือ” ก็เป็นประเด็นสำคัญ และเสนอให้ผลักดันข้อมูลเหล่านี้ให้กลายเป็นสาธารณะ ไม่ให้จำกัดอยู่ในวงแคบๆ เพียงแต่สมาชิกรัฐสภาเท่านั้น

ดร.สกนธ์ตั้งข้อสังเกตว่า Thai PBO เป็นการจัดการปัญหาปลายทาง เป็นการรอรับข้อมูลต่างๆ จากหน่วยงานที่ดำเนินการมาแล้ว จากนั้นมาพิจารณาถึงความคุ้มค่า ความเหมาะสม หรือผลที่เกิดขึ้นในกระบวนการ แล้วให้ข้อมูลกับสภา แต่กระบวนการจัดทำงบประมาณมีตั้งแต่การจัดทำ การพิจารณา การอนุมัติ และการประเมินงบประมาณ ซึ่งวันนี้ในสภากลายเป็นเวทีของการต่อรองงบประมาณของสมาชิกสภาด้วยกันเอง ดังนั้นจำเป็นต้องมีกระบวนการที่นอกเหนือจาก Thai PBO เข้ามากำกับตรวจสอบการใช้งบประมาณด้วย เช่น สถาบันการศึกษา และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เป็นต้น

ขณะที่ ดร.ชโยดม สรรพศรี คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เห็นด้วยว่าในช่วงของสถานการณ์การเมืองแบบนี้ ควรจะนำมาเป็นโอกาสในการปฏิรูปและจัดตั้ง Thai PBO แต่มีประเด็นข้อสังเกตคือ เรื่องความน่าเชื่อถือ เนื่องจากบางครั้งบางหน่วยงานวิเคราะห์อะไรก็ตาม คำถามคือน่าเชื่อถือแค่ไหน ในการตั้ง Thai PBO คำถามหลักคือน่าเชื่อถือแค่ไหน

“เพื่อทำให้ Thai PBO มีความน่าเชื่อถือจำเป็นต้องมีความเป็นประชาธิปไตย ตั้งอยู่บนข้อมูลและข้อเท็จจริง และต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เข้าถึงและตรวจสอบได้ เพราะถ้าภาคประชาชนไม่สามารถตรวจสอบและเข้าถึงข้อมูลได้ ความน่าเชื่อถือจะไม่เกิดขึ้น” ดร.ชโยดมกล่าว

ด้าน ดร.ณดา จันทร์สม คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เราคงต้องมองภาพรวมทั้งหมดของกระบวนการงบประมาณ ตั้งแต่การจัดทำ การพิจารณา และการประเมินผล ซึ่ง Thai PBO จะมีบทบาทอย่างไรในขั้นตอนต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล การที่ Thai PBO มาวิเคราะห์นโยบายที่ทำไปแล้ว หรือว่านำเสนองบประมาณไปแล้ว แล้วเอางบประมาณเหล่านั้นมาวิเคราะห์ แน่นอนอาจจะเปิดเผย โปร่งใส แต่อาจไม่มีผลในการสะท้อนกลับไปที่ผู้กำหนดนโยบายและอาจไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ดังนั้น Thai PBO ต้องเข้าไปดูกระบวนจัดทำงบประมาณด้วย ไม่ใช่แค่วิเคราะห์ผลจากโครงการที่สำคัญเท่านั้น เพราะการจัดทำงบประมาณในปัจจุบันไม่ได้ตอบโจทย์หรือศึกษานโยบายว่ามีประสิทธิภาพประสิทธิผลหรือไม่

ทีดีอาร์ไอเสนอ 7 ข้อขับเคลื่อน Thai PBO

ด้าน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ มีข้อเสนอในการขับเคลื่อน Thai PBO ให้ดำเนินการได้ คือ 1. ต้องยกร่างเป็นพระราชบัญญัติสำนักงบประมาณประจำรัฐสภา เพื่อความมั่นคงขององค์กร 2. พ.ร.บ. ต้องระบุอำนาจหน้าที่ชัดเจนว่า ต้องครอบคลุมไปถึงการวิเคราะห์เงินนอกงบประมาณ และองค์กรกึ่งการคลัง ที่เอาเงินไปใช้โครงการต่างๆ ของรัฐบาล เช่น กรณีโครงการจำนำข้าว เป็นต้น

3. Thai PBO ต้องมีอำนาจเข้าถึงข้อมูล ดังนั้นต้องกำหนดโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ปกปิดหรือไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล มิฉะนั้นจะกลายเป็นเสือกระดาษ

4. คณะกรรมการบริหารควรแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกมีลักษณะสองขั้วคือมีทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล และอีกส่วนจะต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งควรจะต้องมีจำนวนมากกว่า ที่สำคัญ คณะกรรการต้องรับประกันความมีอิสระขององค์กร โดยควรจะระบุในกฎหมายด้วย

5. การเลือกตั้งผู้อำนวยการ ต้องมาจากกรรมการสรรหาแบบสองขั้ว โดยใช้การโหวตเสียงข้างมากในการแต่งตั้ง

6. งบประมาณต้องถูกตรวจสอบด้วย เนื่องจากเป็นเงินของประชาชนที่ไม่ผ่านรัฐสภา โดยอาจจะให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นผู้ตรวจสอบ และ

7. องค์กรต้องมีขนาดไม่ใหญ่นัก เพื่อไม่ให้มีผลประโยชน์มากเกินไป และเนื่องจากขึ้นตรงกับรัฐสภา ถ้าองค์กรใหญ่อาจจะทำให้ถูกแทรกแซงจากรัฐสภาได้ เช่น การฝากเด็กเข้ามาทำงาน เป็นต้น

ธนาคารโลก-เอดีบี แนะสร้างเครือข่ายช่วยตรวจสอบงบฯ

ด้าน Mr.Shabih Mohib จากธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยว่า Thai PBO จะต้องเป็นองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือ มีข้อมูลข้อเท็จจริงที่ทันต่อเหตุการณ์ และควรทำในลักษณะการแบ่งปันข้อมูล มีเครือข่ายเชื่อมโยงกัน โดยให้สาธารณชนเข้ามามีส่วนรวมในการกระบวนการตรวจสอบด้วย

ดร.ลัษมณ อรรถาพิช ธนาคารพัฒนาเอเชีย สำนักงานผู้แทนประจำประเทศ กล่าวว่า การมี Thai PBO เป็นเรื่องที่ดี และเห็นด้วยว่าควรออกเป็นพระราชบัญญัติในการจัดตั้ง อย่างไรก็ตาม การมีองค์กรแบบ Thai PBO อาจยังไม่เพียงพอในการปฏิรูปการคลัง เพราะถ้าจะดูให้ครบวงจร ต้องย้อนไปดูต้นน้ำคือตั้งแต่การจัดทำงบประมาณ ซึ่งองค์กรแบบ Thai PBO ไม่ใช่องค์กรที่จะทำหน้าที่นี้ จึงต้องมีกลไกอย่างอื่นมาช่วยดูแลด้วย เช่น องค์กรประเภท Policy Watch และการมีส่วนรวมของภาคประชาสังคม เป็นต้น

“ดร.อัมมาร” ชี้ รัฐสภาไทยเป็นขี้ข้าฝ่ายบริหาร ต้องปฏิรูปให้เป็นอิสระ

ดร. อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ
ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ

ขณะที่ ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ ได้ร่วมแสดงความคิดเป็นเกี่ยวกับการจัดตั้ง Thai PBO ว่า คำถามแรกที่ต้องถามคือ รัฐสภาไทยสมควรที่จะได้ Thai PBO หรือเปล่า เพราะรัฐสภาไทยในประวัติศาสตร์ของเราได้ทำตัวเป็นขี้ข้าของฝ่ายบริหารโดยสมบูรณ์ ไม่มีความเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร อันนี้เป็นประเด็นสำคัญที่สุด

“เพราะเมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว ถ้าให้ข้อมูลเขาไป เขาอาจจะเอาข้อมูลไปแต่ไม่ทำอะไร ในเมื่อนายเขารู้ดีกว่า ก็ทุกคนขึ้นอยู่กับนาย ตอนเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ๆ ยิ่งใหญ่มาก เป็นคนเลือกนาย แต่เกมจบไปแล้วตั้งแต่วันเลือกตั้ง นายก็มีแล้ว เพราะฉะนั้น ปัญหาคือเราต้องทำให้รัฐสภาไทยมีบทบาทในเชิงสาระที่สำคัญ และอันนี้เป็นการปฏิรูปที่สำคัญ ส่วน Thai PBO เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ที่เราจะต้องพิจารณาด้วยว่ารัฐสภาต้องเป็นอย่างไร” ดร.อัมมารกล่าว

นอกจากนี้ ดร.อัมมารยกตัวอย่างบทบาทของรัฐสภาในประเทศยุโรปว่า บทบาทหนึ่งที่สำคัญมากที่รัฐสภาในยุโรปและอังกฤษมี คือ แม้กรณีอังกฤษซึ่งก็มีลักษณะรัฐสภาคล้ายเป็นขี้ข้า แต่เขาก็มีประวัติศาสตร์อันสูงส่งในการต่อสู้กับฝ่ายบริหาร และประเด็นหัวใจในการต่อสู้และเป็นงานหลักของเขาก็คือเรื่องที่เรากำลังพูดกันอยู่ คือ “Power of the Purse” โดยรัฐสภาเขาจะควบคุมเงินหรือเงินงบประมาณเหนือฝ่ายบริหาร คือ หลังจากเลือกนายแล้ว รัฐสภาจะสนใจในเรื่องของงบประมาณเป็นสำคัญ แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่เขียนมาจะระบุว่า อำนาจเหนืองบประมาณมีจำกัด ไม่สามารถใช้จ่ายเงินเพิ่มงบประมาณ การจะเพิ่มงบประมาณสาขาใดสาขาหนึ่งได้ยกเว้นตัดจากหน่วยงานต่างๆ แล้ว

“คำว่า Power of the Purse มีความสำคัญมาก เราต้องเสริมสร้างอำนาจนั้นให้กับรัฐสภา อันนี้ไม่ใช่ Thai PBO อันนี้เป็นกระบวนการในการที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ซึ่งกระแสปฏิรูปที่พวกเรากำลังโหนกันอยู่ในขณะนี้ ควรนำมาใช้ให้รัฐสภามีบทบาทเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร คือให้รัฐสภาเริ่มมีอำนาจมีบทบาทในด้านการคลังมากกว่าที่เป็นอยู่ อย่างไรก็ตาม อำนาจหนึ่งที่จะเกิดขึ้นได้ จาก Thai PBO คือการมีข้อมูลความรู้ที่ลึกให้รัฐสภาพอๆ กับฝ่ายบริหาร” ดร.อัมมารกล่าว

Thai PBO ควรทำหน้าที่สนับสนุนสำนักงบประมาณ

นอกจากนี้ ดร.อัมมารได้แสดงความเห็นต่างว่า ไม่เห็นด้วยกับการใช้ชื่อ “สำนักงบประมาณประจำรัฐสภา” ด้วยเหตุผลประการแรก และเป็นประการที่สำคัญที่สุดคือ ทำให้เหมือนกับมีอีกสำนักงบประมาณมาแข่งกันกับสำนักงบประมาณที่มีอยู่ และอาจกลายเป็นการสร้างศัตรูโดยเปล่าประโยชน์ จริงๆ แล้วสำนักนี้น่าจะทำงานเสริมสร้างสำนักงบประมาณได้อย่างดีมาก โดยการร่วมมือกัน ช่วยกัน ซึ่งเป็นการสร้างสะพานเชื่อมกัน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องอิสระจากสำนักงบประมาณ ไม่ได้เป็นกระบอกเสียงให้สำนักงบประมาณ

“ผมอยากเรียก Thai PBO ว่าสำนักการคลังของรัฐสภา ใช้คำว่าการคลังแทนสำนักงบประมาณ เพราะเวลาพูดถึงสำนักงบประมาณ เราจะพูดถึงรายจ่ายอย่างเดียว แต่งานของ Thai PBO เราจะต้องดูทั้งรายงานและรายรับ โครงสร้างภาษีอากร และอะไรต่างๆ ซึ่งสำนักงบประมาณมีข้ออะไรต่างๆ อยู่ในเอกสารงบประมาณแต่ไม่มีในรายละเอียด ดังนั้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้เราจำเป็นต้องคำนึงถึงด้วย” ดร.อัมมารกล่าว

สมาชิกสภาผู้แทนไม่ได้เป็นขี้ข้าฝ่ายบริหารทุกคน

ด้าน ดร.สมชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า เห็นด้วยกับ ดร.อัมมารที่ต้องปฏิรูประบบรัฐสภาจากภาพสภาเป็นขี้ข้าฝ่ายบริหาร แต่การมี Thai PBO เชื่อว่าจะเป็นหนึ่งในการปฏิรูปรัฐสภาเล็กๆ อย่างหนึ่ง

“อาจารย์ (อัมมาร) อาจมองว่า เมื่อสภาอยากเป็นขี้ข้าอยู่แล้ว เอาเครื่องมือที่วิเคราะห์ไปให้เขาทำไม เสียของเปล่าๆ เพราะเขาไม่ได้อยากวิเคราะห์ แต่ผมมองว่า สมาชิกสภาผู้แทน ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นขี้ข้า” ดร.สมชัยกล่าวและบอกต่อไปว่า

สมาชิกสภาผู้แทนที่อาจไม่ได้เป็นขี้ข้าฝ่ายบริหาร เช่น ส.ส. ฝ่ายค้าน ซึ่งอาจมีจำนวนน้อยมาก หรือถ้า ส.ส. ฝ่ายค้าหรือใครก็ตาม อยากมีความสามารถ มีหน่วยงานมาช่วยวิเคราะห์ในการอภิปราย มีข้อมูลที่มีคุณภาพ มีการวิเคราะห์ที่มีคุณภาพ แม้คะแนนโหวตออกมาจะแพ้ แต่มีการถ่ายทอดสด แล้วมีภาคประชาชนจำนวนมากมองอยู่ข้างนอก เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะได้จาก Thai PBO ถ้าทำงานดีจริงๆ และ ส.ส. ที่มาใช้ประโยชน์ก็ใช้ประโยชน์เป็นจริงๆ สภาแม้จะเป็นขี้ข้าก็ไม่ได้เป็นขี้ข้าได้ง่ายๆ ต้องตอบคำถามสังคมมากขึ้น เช่น จำนำข้าว ไม่มีใครตอบได้เลย แต่ผ่านแบบน่าเกลียด

“การมี Thai PBO ที่ดีก็จะทำให้เกิดภาพน่าเกลียดแบบนั้นถ้าเขาอยากจะเป็นขี้ข้าต่อ ก็หวังว่า Thai PBO จะทำให้ดีกรีความเป็นขี้ข้าน้อยลง” ดร.สมชัยระบุ