ThaiPublica > คอลัมน์ > สามด่านต้านหนีภาษี

สามด่านต้านหนีภาษี

22 เมษายน 2014


หางกระดิกหมา

ถึงตอนนี้ เทศกาลหนึ่งที่เพิ่งผ่านพ้นไปก่อนเทศกาลสงกรานต์นิดเดียวก็คือเทศกาลยื่นภาษีของบุคคลธรรมดา ซึ่งกรมสรรพากรกำหนดให้หมดเขตยื่นเมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา

เข้าใจว่าปีนี้กรมสรรพากรคงกอบโกยภาษีได้มากเป็นประวัติการณ์ เพราะตามข่าวแสดงให้เห็นอยู่ชัดๆ ว่าประเทศไทยขณะนี้มีพลเมืองคุณภาพแน่นขนัด ไม่ว่าจะประเภทรักชาติหรือรักประชาธิปไตย อย่างไรเสียคงไม่ใช่พวกดีแต่ปาก ทำเป็นบริจาคตู้มต้ามแล้วก็ยื่นภาษีไม่ครบเป็นแน่

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศอื่นคงหามนุษย์ที่อุดมการณ์สูงส่งอย่างคนไทยแบบนี้ได้ยาก เพราะในทางเศรษฐศาสตร์บอกว่าการหนีภาษีออกจะเป็นธรรมดาของมนุษย์ผู้คิดอะไรเป็นเหตุเป็นผล ด้วยหลักง่ายๆ ว่า ในเมื่อเงินที่ประหยัดได้จากการไม่ต้องเสียภาษีนั้นมาก ในขณะที่โอกาสถูกจับได้ว่ารายงานภาษีไม่ครบนั้นน้อย คนส่วนใหญ่ย่อมเลือกที่จะเสี่ยงกับการหนีภาษีเป็นปกติ อย่าว่าแต่เวลากรอกภาษีนั้นคนกรอกก็ทำอยู่คนเดียว รู้อยู่คนเดียว ความยับยั้งชั่งใจทั้งหลายย่อมดับไปได้โดยง่าย ด้วยเหตุนี้ นานาประเทศจึงต่างต้องหาวิธีมารับมือกับคนหนีภาษีอยู่ทั้งสิ้น ดังจะขอนำมาเล่าให้ลองพิจารณากันเล่นๆ ดังนี้

วิธีแรกเป็นแบบฟิลิปปินส์ วิธีนี้ถือตามคติ “นามของคน เงาของไม้” คือถ้าอยากให้คนไม่หนีภาษี ก็ต้องให้ชื่อเสียงของคนเก็บภาษีเป็นที่เกรงขาม เช่นเดียวกับคุณ Kim Henares หญิงแกร่งผู้เป็นอธิบดีกรมสรรพากรของฟิลิปปินส์ในเวลานี้ ซึ่งคนรู้จักไม่ผิดกับดารา โดยสาเหตุหนึ่งก็เพราะคุณคิมมีอุบายสร้างเอกลักษณ์ให้กับตัวเองโดยถ่ายรูปคู่กับกระบอกปืนแสดงอารมณ์ระเบิดภูเขาเผากระท่อมอยู่ตลอด เพื่อให้คนติดตาภาพของเจ้าหน้าที่สรรพากรที่เป็นรูปธรรม ลืมไม่ได้ง่ายๆ

แต่อีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ เพราะคุณคิมคอยตั้งหน้าตั้งตาหาเรื่องเอาผิดแต่กับพวกคนดังของประเทศที่หนีภาษีและคอยกระพือให้เป็นข่าวฉาวไปทั่ว ไม่ว่าจะเป็นไฮโซที่เธอพบข่าวหรือจับพิรุธได้จากอินสตาแกรมหรือเฟซบุ๊กว่าใช้เงินฟู่ฟ่าผิดปกติ อย่างเช่น Jeans Napoles ลูกสาวนักธุรกิจคนสำคัญของประเทศ ซึ่งชอบเหมาเข่งสินค้าดีไซเนอร์แบรนด์มาโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย หรือแม้กระทั่งฮีโร่สุดที่รักของคนฟิลิปินส์อย่างเช่นยอดนักมวย Manny Pacquiao ทั้งนี้เพราะคุณคิมเชื่อว่าเฉพาะเมื่อสรรพากรเล่นงานพวกคนใหญ่คนโตเหล่านี้ให้เป็นที่ประจักษ์ได้เท่านั้น สรรพากรถึงจะดูน่าเกรงขาม และคนจะหนีภาษีน้อยลง และผลที่ออกมาก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะแม้คุณคิมจะดำเนินคดีกับคนใหญ่คนโตไปทั้งหมดเพียง 230 คนเท่านั้น แต่ผลที่เกิดขึ้นคือคนในประเทศไม่ว่าใหญ่หรือไม่ใหญ่เลยพากันกลัวคุณคิมและสรรพากรไปหมด จนทำให้ยอดการจัดเก็บภาษีดีขึ้นถึงร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และถือเป็นยอดการจัดเก็บที่มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ของฟิลิปปินส์

วิธีต่อมาเป็นแบบอิตาลี วิธีนี้มีชื่อเรียกเฉพาะว่า Redditometro ซึ่งพอจะแปลได้ว่า “มาตรวัดรายได้” เพราะอิตาลีนั้นก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่คนหนีภาษีกันเป็นงานอดิเรก มีคนยื่นภาษีแบบรายได้อนาถาเป็นจำนวนมากที่ถึงเวลาก็ขับรถเฟอร์รารีหน้าตาเฉย ดังนั้นแทนที่สรรพากรจะไปพยายามคำนวณว่ารายได้ของผู้เสียภาษีเงินได้แต่ละคนควรเป็นเท่าไหร่ สรรพากรก็จะไปดูรายจ่ายแทนเพื่อหาพิรุธ โดยดูแบบซอยย่อยเป็นนับร้อยหมวดตั้งแต่ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน การซื้อรถ การสมัครฟิตเนส การจองตั๋วท่องเที่ยว เรื่อยไปจนกระทั่งยอดการใช้มือถือ และเสื้อผ้า ฯลฯ ถ้ายอดรายจ่ายสูงกว่าร้อยละ 20 ของรายได้ สรรพากรก็จะขอให้อธิบาย โดยมาตรวัดนี้จะเอาข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะครอบครัว อายุ ภูมิลำเนาของผู้เสียภาษีเงินได้ ตลอดจนข้อมูลค่าใช้จ่ายในแต่ละหมวดโดยเฉลี่ยของประเทศมาคำนวณประกอบด้วยเพื่อให้วินิจฉัยได้แม่นยำยิ่งขึ้นว่าค่าใช้จ่ายหรือรายได้อย่างใดผิดปกติ

อย่างไรก็ดี เมื่อเริ่มเอาออกมาใช้ มาตรการนี้ถูกวิจารณ์มากในข้อที่ว่าล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวของประชาชนมากเกินไป และไปตั้งข้อสันนิษฐานว่าคนหนีภาษีทั้งที่ความจริงคนเขาอาจจะเพียงแต่ใช้จ่ายเกินตัว ตลอดจนทำให้ตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยในประเทศซบเซา เพราะคนกลัวว่าซื้ออะไรแพงๆ แล้วสรรพากรจะสงสัย อันจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศที่เพิ่งฟื้นจากอาการถดถอยกลับเพียบหนักลงไปอีก แต่ในประเด็นเหล่านี้ รัฐก็อธิบายว่าจะไม่ใช้มาตรวัดรายได้ส่องรายจ่ายของประชาชนพร่ำเพรื่อแต่จะใช้เฉพาะกับกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมหนีภาษีอย่างร้ายแรง และการที่รัฐพบเจอพิรุธของใครก็ไม่ได้แปลว่าคนนั้นผิด แต่แค่อาจเป็นเหตุให้เกิดการสืบสวนต่อเท่านั้น และบอกว่าสิ่งหนึ่งที่คนควรกลัวกว่าปัญหาเศรษฐกิจถดถอยก็คือปัญหาคนไม่จ่ายภาษีต่างหาก

วิธีสุดท้ายมาจากอังกฤษ ซึ่งความจริงออกจะเป็นประเทศที่คนปฏิบัติตามกฎหมายอยู่แล้วเป็นส่วนมาก เพียงแต่คนหนีภาษีก็ยังมี ทำให้ประเทศต้องสูญรายได้โดยไม่สมควร วิธีแก้ของเขาก็คือการส่งจดหมายเตือนไปยังคนที่ยังไม่ยื่นภาษีให้ถูกต้องว่าให้ทำเสียให้ถูก เพียงแต่ตอนลงท้ายจดหมายนี้ เขาให้นักวิจัยพฤติกรรมมนุษย์มาทดลองร่างจดหมายโดยใช้ถ้อยคำต่างๆ กันไป คือบางอันก็พูดกล่อมกว้างๆ ว่าการจ่ายภาษีทำให้ทุกคนในประเทศได้ประโยชน์ บางอันก็ขู่ไปเลยว่าถ้าไม่จ่ายจะโดนดอกเบี้ยหรือถูกดำเนินคดี แต่สุดท้ายเขามาพบว่าในบรรดาจดหมายต่างๆ ข้อความนั้น ข้อความที่ได้ผลดีที่สุดก็คือข้อความที่บอกว่า “คนอังกฤษ 9 คนใน 10 คนจะจ่ายภาษีตรงเวลา ปัจจุบันท่านอยู่ในหมู่คนจำนวนน้อยอย่างยิ่งที่ยังไม่ยอมจ่ายเรา” ซึ่งอธิบายได้ว่าคนเรานั้นอ่อนไหวต่อบรรทัดฐานของสังคม และอ่อนไหวต่อความยุติธรรม เมื่อเรารู้ว่าคนส่วนใหญ่จ่าย เราก็เลยคิดว่าเราควรจ่ายด้วย ผลก็คือในระยะเวลาเพียงสามอาทิตย์ จดหมายที่ใช้ถ้อยคำนี้ทำให้คนจ่ายภาษีกลับมาเพิ่มถึง 15 ล้านเหรียญสหรัฐ คุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้ม

จะเห็นได้ว่า มาตรการทั้งสามล้วนมีจุดร่วมเดียวกันตรงที่ทำให้คนเริ่มต้องคิดใหม่ว่า การหนีภาษียังเป็นเรื่องคุ้มอยู่หรือเปล่า ไม่ว่าด้วยการเพิ่มความเสี่ยง เพิ่มความกลัวของการถูกจับได้ หรือเพิ่มความละอายต่อการหนีภาษี

ประเทศเราศึกษาไว้ก่อนแต่เนิ่นๆ ก็ดี ถ้าวันหนึ่งเกิดเจอขึ้นมาว่าคนดีเมืองไทยที่แท้ก็รู้จักหนีภาษีเหมือนกัน จะได้มีวิธีจัดการให้สาแก่ความดัดจริต

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์โกงกินสิ้นชาติ นสพ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 21 เมษายน 2557