ThaiPublica > คอลัมน์ > สารพันปัญหาโลกาวินาศเรื่องมารยาทบนรถไฟฟ้า ผิดที่ “ใคร” หรือ “อะไร” (1)

สารพันปัญหาโลกาวินาศเรื่องมารยาทบนรถไฟฟ้า ผิดที่ “ใคร” หรือ “อะไร” (1)

29 เมษายน 2014


ณัฐเมธี สัยเวช

1. เราไม่เคยถูกสอนให้มีมารยาทเพื่อ “คนอื่น”

นับแต่เด็กจนโตมา ผมได้ยินการสั่งสอนเรื่องมารยาทอยู่เสมอ มารยาทอันหมายถึงการแสดงออกทั้งการกระทำและคำพูดที่เหมาะสมแก่กาลเทศะ สอดคล้องกับเวลาและสถานที่ แต่หากมาลองคิดดูดีๆ แล้ว การสั่งสอนกันเรื่องมารยาทนั้น ล้วนเป็นไปเพื่อตัวผู้มีมารยาทเป็นหลัก คือ เพื่อจะได้ไม่ถูกมองว่าเป็นคนหยาบคาย ไร้มารยาท ไม่รู้กาลเทศะ หรือกระทั่งเลยเถิดไปว่าพ่อแม่ไม่สั่งสอน เราถูกสั่งสอนให้มีและรักษามารยาทเพื่อความงดงามแก่ตัวเราเสียมากกว่าสิ่งอื่น มารยาทที่ถูกสั่งสอนมาตลอดนั้นได้รับการให้น้ำหนักว่าเป็นเรื่อง “ภาพลักษณ์” ของตัวเรามากกว่าจะเป็นเรื่อง “กฎเกณฑ์” อันพึงปฏิบัติในการอยู่ร่วมกันในสังคม

ดังนั้น มารยาทที่พร่ำสอนกันโดยทั่วไปในสังคมไทยนั้นคงเป็นเรื่องของ “มารยาทส่วนตัว” เสียยิ่งกว่าอื่นใด กล่าวคือเป็นเรื่องการควบคุมตัวเองเพื่อตัวเอง เพื่อความงดงามของตัวเอง เพื่อความสงบเรียบร้อยของชีวิตตัวเอง เพื่อความเจริญของตัวเอง ทุกอย่างอันเกิดแต่การฝึกฝนมารยาทนั้นล้วนเป็นไปเพื่อตัวเองทั้งสิ้น หากจะมีเพื่อคนอื่นบ้าง ก็คงเป็นพ่อแม่พี่น้องวงศ์ตระกูลผู้เกี่ยวพันกัน แต่สิ่งที่ไม่เคยเน้นย้ำกันเลยก็คือ “มารยาทในการใช้พื้นที่สาธารณะ” ซึ่งเป็นมารยาทเพื่อผู้อื่น เพื่อสังคม

มารยาทในการใช้พื้นที่สาธารณะเป็นเรื่องการปฏิบัติตนในพื้นที่สาธารณะ เป็นอะไรที่มากกว่าการสั่งสอนว่าเมื่ออยู่ในที่สาธารณะแล้วเราไม่ควรแคะขี้มูก (ทั้งที่มันก็จมูกและขี้มูกของเรา) ไม่ควรล้วงมือเข้าไปเกาในร่มผ้า (ทั้งที่มันก็ความคันและร่างกายของเรา) ไม่ควรทำอย่างนั้นอย่างนี้เพราะจะถูกมองว่าไม่มีมารยาทหรือไม่รู้จักกาลเทศะ มารยาทในที่สาธารณะเป็นเรื่องของการที่ทุกคนที่อยู่ในพื้นที่นั้นยอมลดหย่อนสิทธิของตัวเองลง เพื่อจะไม่ไปลิดรอนหรือกลืนกินสิทธิของคนอื่น

พื้นที่สาธารณะหลายๆ แห่ง ก็ได้มีการกำหนดกฎเกณฑ์การปฏิบัติตัวสำหรับมวลชนขึ้นมาอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในการใช้พื้นที่ร่วมกัน มีการจำกัดสิทธิส่วนตัวเพื่อสิทธิส่วนรวม หรืออาจจกล่าวว่าเพื่อประสิทธิภาพโดยรวมของระบบ ขนส่งมวลชนอย่างรถไฟลอยฟ้าบีทีเอสหรือรถไฟใต้ดินเอ็มอาร์ทีก็เป็นไปในลักษณะนั้น มีกฎระเบียบหลายอย่างกำกับในหลายพื้นที่ ซึ่งผลที่ได้คือการทำให้เราเห็นว่าบ้านนี้เมืองนี้มีคนไม่มีมารยาทในการใช้พื้นที่สาธารณะอยู่เยอะขนาดไหน ทั้งที่คนไทยก็จะชอบเชิดชูกันเรื่องมารยาทดีมีความอ่อนน้อมถ่อมตนอะไรทำนองนั้นกันนี่แหละ

กฎระเบียบสารพัดสารพาในการใช้ระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดินนั้นล้วนล้มเหลวไม่เป็นท่า เรียกว่าพังพินาศกันตั้งแต่ในพื้นที่ชานชาลา เราได้พบเห็นความไร้ประโยชน์ของคำเตือนหรือป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ ไปทั่ว ไม่มีอะไรสามารถยับยั้งไม่ให้คนเราพุ่งเข้าไปในตัวรถทั้งที่คนในรถยังเดินออกมาไม่หมด ไม่มีอะไรสามารถทำให้คนเราขึ้นลงบันไดเลื่อนในลักษณะของการยืนชิดขวาเดินชิดซ้าย ไม่มีอะไรสามารถทำให้คนเราเดินชิดในเมื่อเข้าไปในขบวนรถ ไม่มีอะไรสามารถทำให้คนเราไม่ยืนพิงเสา ไม่มีอะไรสามารถทำให้เราไม่ทำอะไรที่เขาห้ามไว้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพแก่สังคมโดยรวมในระบบขนส่งมวลชนทั้งลอยฟ้าและใต้ดิน เพราะสำนึกในเรื่องมารยาทของเราปลูกฝังกันมาแต่ว่าทำแบบไหนแล้วตัวเองจะเดือดร้อน ความเดือดร้อนของคนอื่นเป็นเรื่องรองหรืออาจจะไม่ใช่อะไรที่ต้องใส่ใจเป็นอันดับแรก จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนจะไม่ใส่ใจกับมนุษย์ที่พบเพียงผ่านอย่างผู้โดยสารท่านอื่นๆ ในรถไฟฟ้า ซึ่งดูแล้วเป็นแค่เพียงเรื่องราวชั่วพักชั่วครู่ที่ไม่น่าบันดาลประโยชน์หรือกำหนดโทษอะไรกับเราได้ ทั้งที่เอาเข้าจริง การไม่มีมารยาทสาธารณะก็ทำให้ตัวเรามีภาพลักษณ์อันน่ารังเกียจได้เช่นกัน

2. ทำไมไม่มี “มารยาท”

ปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งของสังคมไทย (ไม่รู้สังคมอื่นเป็นกันไหม) คือเอะอะอะไรก็ชอบตำหนิติโทษลงไปที่ตัวบุคคล มุ่งโยนไปที่การมีหรือไม่มีสำนึกตรึกตรองของปัจเจกบุคคลเป็นหลัก จะแก้จะไขอะไรก็คาดหวังแต่ว่าตัวบุคคลจะเกิดพุทธิปัญญาตระหนักรู้ขึ้นมาว่าตัวเองนั้นควรจะต้องเสียสละปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งในแง่หนึ่งแล้วก็ใช่ แต่การที่ไม่ยอมมองไปให้ไกลว่ามันมีสาเหตุอะไรที่ทำให้คนเราปฏิบัติตนในลักษณะที่ราวกับ “ไร้สำนึก” บางครั้งก็จะได้วิธีการแก้ปัญหาที่ดีแต่กดขี่คนให้อดทนเอาเท่านั้น

ขอไล่ปัญหาจากพื้นที่ “ในสุด” ออกมา “นอกสุด” ตามนี้

ปัญหาผู้โดยสารไม่ชิดใน ทั้งที่มีเสียงประกาศเตือนในทุกสถานี ว่าให้เดินชิดในเมื่อเข้าสู่ขบวนรถ และจับห่วง เสา หรือราว ในขณะเดินทาง แต่คนก็ยังไม่ชิดใน บางทีก็หยุดยืนมันอยู่หน้าประตู บางทีก็หย่อนตัวอยู่ตรงนั้นตรงนี้ตามสะดวก พฤติกรรมเหล่านี้ หากเกิดขึ้นในเวลาที่คนน้อยๆ คงไม่เท่าไหร่ แต่เวลาที่คนค่อนข้างเยอะ การไม่ชิดในนั้นเป็นปัญหาน่ารำคาญใจเป็นอันมาก เพราะเป็นการเกะกะทั้งคนในที่อยากออกและคนนอกที่อยากเข้า ทำให้ความพร้อมในการออกรถเป็นไปอย่างเชื่องช้าทั้งที่จุดมุ่งหมาย (หรือจุดขาย) ของขนส่งมวลชนชนิดนี้คือความเร็ว

โดยทั่วไปเราชอบโยนเรื่องนี้ให้เป็นเพราะความเห็นแก่ตัว พฤติกรรมเหล่านี้ก็เช่นกัน ผมเคยมองเพิ่มมุมขึ้นมาอีกหน่อยว่ามันคือความกลัวว่าจะไม่ได้ลงในที่ที่อยากลง แต่พอลองสังเกตเพิ่มขึ้นอีกนิดก็พบว่า มันอาจจะเป็นปัญหามาจาก “ห่วง เสา หรือราว” ด้วยก็เป็นได้

หลังจากที่พยายามสังเกตมาสักพักก็เริ่มรู้สึกว่า จริงๆ แล้วทั้งห่วง เสา ราว ที่มีไว้ให้ผู้โดยสารโหนจับบนรถไฟฟ้านี่มันเหมาะสมกับการใช้งานขนาดไหน ไม่ว่าจะในแง่การเป็นที่ยึดเกาะ หรือในเรื่องของการทำหน้าที่บังคับกำหนดตำแหน่งการยืนของผู้โดยสาร

เท่าที่เห็นตอนนี้ ลักษณะของอุปกรณ์สำหรับผู้โดยสารยึดเกาะบนรถไฟฟ้าบีทีเอสและเอ็มอาร์ทีนั้นมีอยู่สามแบบ คือ

แบบแรก มีลักษณะเป็นราวโหนเดี่ยวติดเพดาน มีห่วงสำหรับโหนจับห้อยลงมา คะเนโดยสายตาแล้วแต่ละห่วงนั้นน่าจะอยู่ห่างกัน 40-60 เซนติเมตร และมีเสาจับที่เชื่อมระหว่างเพดานกับพื้น

แบบที่สอง เป็นราวโหนคู่ ราวโหนนี้จะตีตัวเป็นวงโค้งตรงบริเวณประตูของขบวนรถ และเสาของราวโหนคู่นี้จะไม่ใช่เสาเดี่ยว แต่เป็นเสาที่ช่วงกลางลำแยกตัวออกเป็นราวโค้งแนวตั้งให้จับได้สามด้าน ในขณะที่ห่วงสำหรับโหนนั้นจะเหมือนแบบแรก คือแต่ละห่วงห่างกันประมาณ 40-60 เซนติเมตร

แบบที่สาม แบบนี้ผมเคยเห็นแต่ในเอ็มอาร์ที เป็นลักษณะราวโหนเดี่ยวและเสาลำเดี่ยวเหมือนแบบแรก แต่ช่องว่างระหว่างห่วงโหนที่ห้อยลงมานั้นจะไม่มากนัก คะเนโดนสายตาแล้วแต่ละห่วงน่าจะห่างกันประมาณ 20-30 เซนติเมตร

แบบที่สอง ราวคู่ ห่วงโหนแต่ละห่วงของแต่ละราววางตัวห่างเหมือนแบบแรก
ชุดอุปกรณ์แบบที่สอง ราวคู่ ห่วงโหนแต่ละห่วงของแต่ละราววางตัวห่างเหมือนแบบแรก
ชุดอุปกรณ์แบบที่สาม ราวเดี่ยว ห่วงโหนเรียงตัวไม่ห่างกันนัก
ชุดอุปกรณ์แบบที่สาม ราวเดี่ยว ห่วงโหนเรียงตัวไม่ห่างกันนัก

ผมคิดว่า ชุดอุปกรณ์แบบแรกที่เป็นราวเดี่ยวและห่วงโหนแต่ละห่วงอยู่ห่างกันค่อนข้างมากนั้นเป็นแบบที่ไม่เป็นมิตรต่อการชิดในอย่างมากเลยครับ ห่วงโหนที่ยึดจับได้ง่ายนั้นสำคัญมากต่อการกำหนดตำแหน่งการยืนของคนนะครับ ในยามชั่วโมงเร่งด่วน ผู้โดยสารเยอะ การแน่ใจได้ว่าเมื่อเดินเข้าไปด้านในแล้วจะมีที่ให้สามารถยึดเกาะอย่างมั่นคงได้แน่ๆ น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่ง (ย้ำว่าแค่หนึ่งนะครับ มันต้องมีอย่างอื่นด้วย) ที่ทำให้ผู้คนรู้สึกสะดวกใจที่พาตัวเข้าไปข้างในมากขึ้น ทุกวันนี้นี่ ขนาดเวลาคนไม่มาก บางทีผมเดินชิดในเข้าไปแล้วมีที่ยืนแต่ไม่มีที่ให้จับโหนครับ เพราะห่วงถูกจับจองไปหมดแล้ว จะโหนราวเพดานก็ลำบาก เพราะต้องยืดเกือบสุดแขน (ผมสูงประมาณ 175 เซนติเมตร) ซึ่งนั่นก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งด้วย ทำให้เตี้ยกว่านี้น่าจะดี

ห่วงที่ห่างกันไม่มาก ต่อให้ห้อยมาจากแค่ราวเดี่ยว อย่างน้อยก็สามารถทำให้คนยืนกันแบบสลับฟันปลา ซึ่งจะทำให้สามารถจัดสรรคนไปยืนในที่ว่างที่มีอยู่มากขึ้น การเดินชิดในก็จะเป็นไปได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าจะให้ดีที่สุด นอกจากทำห่วงให้ห่างกันน้อยๆ แล้ว ผมคิดว่ายังควรทำให้อยู่ในลักษณะของราวคู่ด้วยครับ คือเป็นส่วนผสมของห่วงจากชุดอุปกรณ์แบบที่สาม กับราวคู่ในแบบที่สอง แบบนั้นน่าจะเป็นมิตรต่อการเดินชิดในของผู้คนมากขึ้น และน่าจะจัดสรรผู้คนเข้าไปไว้ด้านในของตัวขบวนได้สะดวกขึ้น จะได้ไม่เกิดปัญหาอย่างทุกวันนี้ ที่บางทีคนเบียดกันแถวหน้าประตูจนแทบออกมาจากขบวน แต่ตรงกลางระหว่างที่นั่งสองฝั่งกลับยังพอมีที่ว่างอย่างเห็นได้ชัด

ส่วนที่บอกว่าเป็นแค่ปัจจัยหนึ่งนั้นก็เพราะว่า นอกจากลักษณะอุปกรณ์สำหรับผู้โดยสารยึดเกาะที่เป็นมิตรต่อการชิดในแล้ว อีกสิ่งที่จำเป็นมากๆ คือการมีสำนึกว่าจะต้องเติมที่ว่างด้านในให้เต็มอยู่ตลอดเวลา นึกออกไหมครับ เวลารถแน่นๆ พอมีคนค่อยๆ เบียดตัวออกเพื่อไปยังประตู ก็จะเกิดพื้นที่ว่างด้านในขึ้นเป็นขนาดเท่าคนหนึ่งคนที่กระเสือกกระสนเบียดตัวออกมา ถ้าเราสามารถสร้างสำนึกได้ว่าที่ว่างนั้นไม่สมควรจะมีอยู่ในตอนรถแน่น พอเกิดที่ว่างแบบนั้น คนที่อยู่ด้านนอกก็จะขยับเข้าไปเติมทันที ซึ่งถ้าทำอย่างนี้กันไปตลอดก็จะหมดไปทั้งปัญหาไม่เดินชิดในและความกังวลว่าจะไม่ได้ลงนะครับ เพราะมันหมายความว่าไม่ว่าอยู่ตรงไหนของขบวนรถก็สามารถเคลื่อนที่ไปยังประตูได้ทั้งนั้น คนในได้ออกไปพร้อมกับที่คนนอกช่วยกันเข้า

ปัญหาเรื่องมารยาทในการใช้รถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดินยังมีอีกมาก แต่เอาไว้เล่าต่อคราวหน้าแล้วกันครับ ทำท่าจะยาวไปแล้ว เดี๋ยวจะหมดกำลังใจในการอ่านกัน เรื่องนี้มีอะไรต้องบอกกล่าวกันอีกเยอะ แต่อย่างน้อย สำหรับตอนนี้ อยากจะเน้นย้ำว่า การที่คนเราเลือกทำอะไรที่ดูจะไม่มีมารยาทในที่สาธารณะ ดูจะเห็นแก่ตัว หรืออะไรก็ตาม บางทีมันก็ไม่ได้มาจากสำนึกของตัวบุคคลแต่เพียงอย่างเดียวหรอกครับ ก่อนที่จะรีบลงโทษชี้ผิดไปที่ตัวบุคคล อยากให้ลองสนใจสภาพแวดล้อมที่รายรอบบุคคลสักนิดด้วยครับ