ThaiPublica > คอลัมน์ > 15 ความเข้าใจผิด เกี่ยวกับไฟไหม้กองขยะ (แพรกษา) ตอนที่ 3

15 ความเข้าใจผิด เกี่ยวกับไฟไหม้กองขยะ (แพรกษา) ตอนที่ 3

7 เมษายน 2014


ธงชัย พรรณสวัสดิ์
ศาสตราจารย์กิตติคุณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในสองตอนที่แล้ว ผมได้พูดถึงความเข้าใจผิดในปัญหาไฟไหม้กองขยะ มาครั้งนี้จะนำความเข้าใจผิดเหล่านั้นมาวิเคราะห์และใช้ความรู้ทางวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมมาประกอบ เพื่อทำเป็นข้อเสนอและทางออกของปัญหาต่อไป

1. เอาเรื่องง่ายๆ ก่อนเลย คือ ทางราชการต้องสำรวจให้ทั่วประเทศและทำแผนที่แบบ GIS บอกตำแหน่งและขนาดของบ่อหรือหลุมขยะว่ามีอยู่ที่ใดบ้างและใหญ่เท่าใด สำหรับคนนอกวงการอาจงงว่าผมเสนอแนะเรื่องนี้ทำไม ป่านนี้เรายังไม่รู้อีกหรือว่าเรามีบ่อขยะอยู่กี่แห่ง คำตอบที่ฟังชวนหดหู่คือ ไม่รู้ครับ ตัว อบต. หรือเทศบาลตำบลขนาดเล็กเขาคงรู้ว่าเขาเอาขยะของชุมชนเขาไปทิ้งที่ใด แต่เขาก็ไม่จำเป็นต้องไปบอกหรือขออนุญาตใคร เพราะนี่อยู่ในอำนาจเต็มของเขา (หมายเหตุ: ในท่ามกลางข้อดีต่างๆ ของการกระจายอำนาจ นี่เป็นข้อด้อยหนึ่งของการกระจายอำนาจที่ผมเห็นมานานพอควรแล้ว) ตัวเลขที่มีอยู่ตอนนี้มีตั้งแต่ 2,000 แห่ง ไปจนถึง 4,000 แห่ง ตัวเลขต่างกันมากจนน่าตกใจไหมล่ะครับ

2. การจัดการปัญหาต้องมองเป็น 3 ระยะ คือ 1) ระยะเร่งด่วน กรณีมีเหตุการณ์ไฟไหม้กองขยะ แบบนี้ก็ต้องมีมาตรการและขั้นตอนการตอบสนองเหตุฉุกเฉิน ซึ่งจากเหตุการณ์ที่แพรกษา ทั้งๆ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศและในสมุทรปราการ เราก็เห็นได้ชัดว่าเรายังไม่มีแผนและมาตรการรวมทั้งขั้นตอนปฏิบัติการ และเราไม่พร้อมเลยที่จะเผชิญกับปัญหานี้ ข้อบกพร่องส่วนนี้ภาครัฐคงรู้แล้วและคงมีการประชุมเพื่อกำหนดแผนและขั้นตอนปฏิบัติการขึ้นมา ส่วนถ้ามีสิ่งนี้แล้วจะปฏิบัติตามหรือไม่ คนไทยอย่างคุณคงรู้คำตอบได้เองกระมังครับ

2) ระยะที่สอง หลังจากดับไฟได้แล้ว ก็ไปถึงขั้นตอนการฟื้นฟูตัวบ่อ การบำบัดและกำจัดน้ำเสียและของเสียอันตรายที่หลงเหลืออยู่ การฟื้นฟูดูแลเยียวยาคนป่วยจากการได้รับสารพิษ ซึ่งอีกสักครู่จะพูดถึงเรื่องเทคโนโลยีด้านมลพิษเป็นการเฉพาะ

3) ระยะสุดท้าย คือ การกำหนดนโยบายและแผนระยะยาว รวมทั้งแนวปฏิบัติสำหรับบ่อขยะทั่วประเทศ ซึ่งสักครู่จะลงรายละเอียดทางเทคนิคอีกเช่นกัน

3. กองขยะเมื่อเต็ม หลายประเทศได้พยายามนำพื้นที่นั้นมาใช้ประโยชน์อย่างอื่น ของไทยก็ทำ เช่น ที่ศรีราชา บริเวณสวนสนสาธารณะหน้าเกาะลอยนั้นก็เป็นที่ทิ้งขยะเก่า (เอามาใช้ถมที่เหมือนที่แพรกษานี้แหละ) หรือสวนจตุจักรกลางเมืองที่เห็นสวยๆ นั้นก็เช่นกัน เมื่อ 40 ปีที่แล้วใครจะเชื่อว่านั่นคือหลุมขยะของ กทม. ส่วนสมัยที่ผมยังเรียนอยู่ต่างประเทศก็ได้เรียนรู้ว่าเทศบาลบางแห่งในรัฐแคลิฟอร์เนียได้ขายพื้นที่หลุมขยะให้กับเอกชนเอาไปทำเป็นโครงการหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งมีข้อคิดต่อไปยังข้อที่ 4

4. หลุมขยะคือที่กองรวมของขยะ ซึ่งเมื่อย่อยสลายไปก็จะลดขนาดและปริมาตรลง เหมือนกับใบไม้ใบหญ้าที่กองอยู่ตามสวน เมื่อเวลาผ่านไปก็กลายสภาพเป็นปุ๋ยลงดินและใบไม้ใบหญ้านั้นก็หายไป เมื่อขยะย่อยหายไปกลายเป็นปุ๋ยที่มีปริมาตรลดลง ก็ต้องเกิดการยุบตัว (ที่มีคนบอกว่าเอารถแทรกเตอร์เข้าไปหลุมขยะไม่ได้เพราะดินจะยุบนั้นเป็นความเข้าใจผิด ดินไม่ได้ยุบ แต่ตัวกองขยะนั่นแหละยุบ และยุบได้มากด้วย) ซึ่งหากเอาพื้นที่นั้นเป็นโครงการก่อสร้างใดๆ การออกแบบก่อสร้างต้องทำอย่างระมัดระวังและด้วยความเข้าใจ หมู่บ้านจัดสรรที่ยกตัวอย่างในข้อ 3 ข้างต้น จำได้ว่าอาจารย์ของผมเอารูปมาให้ดูว่าเกิดหลุมยุบ ดินพัง จนบ้านเรือนทรุดพังเสียหายมากมาย

ที่มาภาพ : http://www.nationmultimedia.com
ที่มาภาพ: http://www.nationmultimedia.com

5. ย้อนกลับไปเรื่องเมื่อไฟยังกำลังไหม้หลุมขยะ มาตรการหนึ่งที่ผมคิดว่าต้องมีในอนาคต คือ การใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ มาคำนวณและทำนายพื้นที่สีแดง สีเหลือง และสีเขียว และกำหนดลงบนแผนที่ ประกาศออกสื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ เพื่อเตือนชาวบ้านให้รู้ว่าตนเองอยู่ในโซนใด ไม่ใช่บอกแค่เป็นกิโลเมตร ซึ่งชาวบ้านทั่วไปไม่สามารถรู้ได้ว่าตัวเขานั้นอยู่ในพื้นที่อันตรายหรือไม่ เพราะเมื่อพูดเป็นระยะทางกิโลเมตรนั้น นักวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรเขาพูดกันที่ระยะทางในอากาศที่นกบินเป็นเส้นตรง ไม่ใช่เส้นทางตามถนน ดังนั้น เส้นทางอากาศ 1 กิโลเมตรอาจหมายถึงระยะทางตามถนน 5 กิโลเมตรก็เป็นได้ ประกอบกับลมสามารถเปลี่ยนทิศได้ตลอดเวลา การสื่อสารในรูปของกิโลเมตรแบบลอยๆ ชาวบ้านที่ไม่มีความเข้าใจพื้นฐานจึงอาจเข้าใจผิดได้ ทั้งนี้ การทำนายผลไม่จำเป็นต้องแม่นยำ 100 เปอร์เซ็นต์ และควรปรับตามสภาพลมและการดับไฟไปทุกๆ วัน เพื่อที่ประชาชนจะได้รู้ว่าต้องอพยพออกหรือกลับเข้าบ้านได้เมื่อใด

6. สำหรับชาวบ้านในพื้นที่สีแดงนั้น ต้องมีแผนและมาตรการอพยพ (โปรดสังเกตผมใช้คำว่า ‘ต้อง’) เพราะหากไม่อพยพออกและเจ็บป่วย หรือเป็นมะเร็ง หรือโรคทางเดินหายใจในภายหลัง ค่ารักษาพยาบาลและค่าดูแลผู้ป่วย รวมทั้งค่าเสียเวลาของคนรอบข้างผู้ป่วย จะมากกว่าค่าใช้จ่ายในการอพยพออกมากมายอย่างเทียบกันไม่ได้

7. ปัญหาคือ คนไทยเป็นคนติดบ้าน ห่วงบ้าน ห่วงของหาย ห่วงสัตว์เลี้ยง ฯลฯ และมักขัดขืน ไม่ยอมอพยพออกง่ายๆ อย่างที่ต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น (ในยามสึนามิ) หรืออเมริกา (ไต้ฝุ่นแคทธารินาที่นิวออร์ลีนส์) เขาทำกัน มาตรการที่จะขอเสนอคือ การประกาศเขตพื้นที่ฉุกเฉินและตรากฎหมายออกมาเป็นการเฉพาะ ห้ามผู้คนอยู่ในพื้นที่ หากผู้ใดขัดขืนหรือลอบเข้าไป ให้ถือว่าเป็นผู้บุกรุก เป็นขโมย เป็นโจร ไว้ก่อน และสั่งจับรวมทั้งขังได้ทันที รอไว้เมื่อเหตุการณ์ฉุกเฉินนั้นสงบลงแล้วค่อยมาคุยกัน

มาตรการนี้แม้ทางการยังไม่มีอย่างเป็นรูปธรรม แต่ชาวบ้านเขามีกฎของเขาออกมาเองอย่างลับๆ แล้ว เมื่อปี 2554 ครั้งน้ำท่วมใหญ่ มีขโมยและโจรแอบเข้าไปขโมยของชาวบ้านที่อพยพออก ตำรวจบ้าน (ชุมชนตั้งกันเอง) จับตัวได้ ก็ปล่อยให้ไปจับปลาด้วยการใช้ไฟฟ้า สุดท้ายโดนไฟฟ้าดูดตาย คงรู้ใช่ไหมครับว่าผมหมายถึงอะไร แบบนี้ชาวบ้านก็มั่นใจในทรัพย์สินและกล้าทิ้งบ้านได้

8. คราวนี้มาพูดถึงงานวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ซึ่งผมคิดว่าเป็นปัญหาที่วิศวกรสิ่งแวดล้อมและผู้บริหาร หรือแม้กระทั่งชาวบ้านทั่วไปควรเรียนรู้ เพราะมันเป็นบูรณาการของปัญหา กล่าวคือ มีทั้งขยะ น้ำเสีย มลพิษอากาศ และน้ำท่วมซึ่งจะชะเอาสิ่งสกปรกนานาชนิดออกสู่สิ่งแวดล้อมหากน้ำเกิดท่วมกองขยะ ขอให้ลองนึกภาพปี 2554 ถ้าน้ำท่วมถูกระบายลงพื้นที่นี้และน้ำท่วมหลุมขยะขนาดยักษ์นี้ อะไรจะเกิดขึ้นแก่คนบางปูและสมุทรปราการ รวมทั้งกุ้งหอยปูปลาในอ่าวไทย

9. สำหรับการก่อสร้างหลุมฝังขยะอย่างถูกวิธีนั้น มันมีเทคโนโลยีเฉพาะเรื่อง ก็ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของวิศวกรสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ออกแบบ แต่ปัญหามิได้อยู่ที่การออกแบบ แต่อยู่ที่การก่อสร้างและการใช้งาน โดยหลักแล้วต้องมีการปูแผ่นพลาสติกชนิดพิเศษรองไว้ที่ก้นบ่อขยะเพื่อกันน้ำไม่ให้ไหลลงไปปนเปื้อนน้ำใต้ดิน เทศบาลหลายแห่งใช้เงินหลายสิบล้านบาทปูแผ่นพลาสติกนี้ แต่กลับรีบเอาขยะเทลงโดยไม่เข้าใจ ทำให้เศษขยะไปทิ่มแทงจนแผ่นพลาสติกขาดเป็นรู บ่อจึงกันน้ำไม่ได้ เงินสิบๆ ล้านก็หายไปในพริบตา

ส่วนเรื่องการแยกขยะก่อนทิ้งนั้นขอละไว้ไม่พูดถึง เพราะเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว และใครๆ ก็พูดได้ แนะนำได้

10. ปัญหาน้ำเสียจากกองขยะเป็นปัญหาใหญ่ เพราะมีสารอินทรีย์ที่ย่อยยากอยู่มาก (ไม่เหมือนน้ำเสียชุมชนที่ย่อยง่าย) มีสารอินทรีย์ที่เป็นสารก่อมะเร็ง (ใช้วิธีบำบัดธรรมดาไม่ได้) มีสีเข้มจัด (จากการย่อยขยะในกองเป็นเวลานาน) มีสารพิษสารก่อมะเร็ง (นี่เป็นปัญหาสำคัญ เพราะเราเองก็ไม่รู้ว่ามีสารใด รู้แต่ว่ามันมีสารก่อมะเร็งนี้แน่ๆ ในกองขยะ) ได้มีการประมาณการกันว่าขณะนี้มีน้ำเสียอยู่ที่บ่อขยะแพรกษา 3 ล้านกว่าคิว หากขุดเจาะเป็นรูหรือช่องหลุมในกองขยะแล้วหย่อนเครื่องสูบน้ำเสียไปสูบออกมาวันละ 100 คิว ปีหนึ่งได้ 3 หมื่นกว่าคิว หากจะให้หมดบ่อ (นี่ยังไม่รวมฝนที่ตกลงบนกองขยะทุกปี) ต้องใช้เวลาถึง 100 ปี เห็นขนาดของปัญหาไหมครับ

11. สำหรับปัญหามลพิษอากาศรวมทั้งกลิ่น ปัญหานี้ไม่มีมากนักหากก่อสร้างบ่อขยะถูกวิธีและมีการป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้ขึ้นได้ ซึ่งเทคโนโลยีนี้มีสอนอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ อยู่แล้ว ฉะนั้น ทางออกคือใช้เทคโนโลยีอย่างถูกวิธี และดำเนินงานตามขั้นตอนที่ถูกต้อง ปัญหามลพิษอากาศนี้ก็จะไม่มี

12. เรื่องน้ำท่วมบ่อขยะ นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ในเมืองไทย ในปี 2554 น้ำก็ท่วมหลายบ่อขยะในพื้นที่ภาคกลาง และนี่คือสาเหตุของน้ำเน่าและเกิดกลิ่นเหม็นเมื่อเกิดสภาพน้ำท่วมขัง วิธีที่ดีคือการป้องกัน ทำคันดินหรือเขื่อนล้อมรอบหลุมขยะ ไม่ให้น้ำฝนจากภายนอกเข้ามาปนเปื้อนและชะเอาสารพิษออกนอกบริเวณ คำถามโลกแตกคือ เขื่อนหรือคันดินนี้ควรสูงเท่าไรจึงจะไม่แพงเกินไปและยังรับน้ำท่วมได้อยู่

13. การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งหมดนี้ทำได้ และควรทำตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งนอกจากการแยกและลดขยะแล้ว ยังต้องใช้คนที่รู้เรื่องนี้และมีความเข้าใจในปัญหานี้มากพอมาทำงาน แต่ขอถามทีเถอะว่า คนเก็บขยะที่มากับรถขยะ คนเก็บขยะที่หัวกองขยะ คนเฝ้าประตูทางเข้ากองขยะ ฯลฯ ได้เงินเดือนเท่าไร และเราจ่ายค่าขยะเดือนละเท่าไร คำตอบสำหรับสองคำถามนี้ชี้ให้เราเห็นว่าถ้ายังทำอยู่อย่างนี้ ปัญหาก็จะยังรุนแรงแบบนี้ต่อไปไม่มีวันสิ้นสุด

ทางแก้ก็ตอบแบบกำปั้นทุบดิน คือ ต้องเก็บค่าขยะมากขึ้น (หากเราจ่ายคนละ 100 บาทต่อเดือน ซึ่งน้อยกว่าค่าบริการโทรศัพท์มือถือเสียอีก เดือนหนึ่ง กทม. จะได้เงินมาจัดการขยะมากถึงเกือบพันล้านบาทแล้ว) หากมีงบประมาณได้มากขึ้น เทศบาลหรือ อบต. และ กทม. ก็สามารถจ้างคนที่มีคุณภาพมาจัดการปัญหานี้ให้เรา รวมทั้งการก่อสร้างและดูแลระบบกำจัดขยะก็จะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พูดถึงเรื่องการก่อสร้างระบบกำจัดขยะ ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องนะครับว่าการฝังขยะไม่ได้เป็นการกำจัดขยะ เพราะตัวขยะยังอยู่ และปัญหาก็ยังอยู่ เพียงแต่เราเอาไปกองรวมกันให้พ้นหูพ้นตาเท่านั้น และในไม่ช้าเราจะหาพื้นที่มากองขยะรวมกันไว้แบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว ไม่ว่าจะทำถูกหรือไม่ถูกวิธี ยิ่งมีเหตุการณ์ไฟไหม้แบบแพรกษานี้ขึ้นมาชาวบ้านก็จะยิ่งปฏิเสธการมีบ่อขยะใกล้บ้านตัว ยิ่งขนไปฝังกลบที่บ้านคนอื่น จังหวัดอื่น (พวกเราชาว กทม. รู้ไหมครับว่า กทม. กำลังทำอย่างที่ว่านี้อยู่) ก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้เพิ่มขึ้นอีก ทางเลือกสุดท้ายซึ่งจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม คือต้องเอามากำจัดที่บ้าน (เมือง) ตนเอง คือเอามาเผาแบบไร้มลพิษ หรือไม่ก็เอามาย่อยให้เป็นก๊าซเชื้อเพลิงแล้วเอามาปั่นไฟใช้เองหรือขายให้กับการไฟฟ้าฯ แต่ไม่ว่าจะเป็นวิธีใด ราคาย่อมไม่ใช่ราคาที่เราจ่ายอยู่ ณ ขณะนี้เป็นแน่

ความจริงยังมีเรื่องเล่าอีกเยอะเกี่ยวกับปัญหาจากกองขยะไหม้ไฟครั้งนี้ แต่ ณ ขณะนี้เอาง่ายๆ ก่อนแล้วกันว่า พวกเรายินดีและพร้อมที่จะจ่ายค่าขยะคนละ 100 บาทต่อเดือนไหมล่ะครับ