ThaiPublica > คอลัมน์ > ข้อเสนอเสริมสร้างจิตสำนึกจริยธรรม

ข้อเสนอเสริมสร้างจิตสำนึกจริยธรรม

25 เมษายน 2014


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาธุรกิจบัณฑิตย์

ความรู้สึกว่าคอร์รัปชันแพร่ขยายในหมู่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐของบ้านเรามีหลักฐานสนับสนุนชัดเจน และเปรียบเสมือนมะเร็งร้ายทำลายบ้านเมืองทั้งในด้านศรัทธาที่คนอื่นมีต่อเราและในด้านมาตรฐานจริยธรรมของสังคม ถ้าเราไม่ช่วยกันแก้ไข สถานการณ์ก็จะเลวร้ายลงทุกที

คำถามสำคัญในเรื่องคอร์รัปชันก็คือ ถ้าพวกเราไม่ช่วยกันแก้ไขในปัจจุบันแล้วเมื่อไหร่จะทำ และถ้าพวกเราไม่เป็นคนทำแล้วใครจะเป็นคนลงมือ เราต้องช่วยกันทันทีและโดยคนไทยด้วยกันเองนี่แหละ

ด้วยสปิริตดังกล่าวนี้ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมีคณะกรรมการการส่งเสริมจิตสำนึกด้านจริยธรรมเพื่อส่งเสริมให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐมีจิตสำนึกด้านจริยธรรม ผู้เขียนได้มีโอกาสรับฟังและร่วมแสดงความคิดเห็น จึงขอนำมาสื่อสารต่อ

สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินมองการณ์ไกลร่วมมือกับโครงการ “โตไปไม่โกง” ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และร่วมมือกับศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) จัดตั้ง “โครงการพัฒนาโรงเรียนต้นแบบด้านคุณธรรมจริยธรรม” โดยมีองคมนตรี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย เป็นผู้ผลักดันสำคัญ

โครงการโรงเรียนต้นแบบนี้ประสบความสำเร็จดังที่รู้จักกันดีในนามของ “บางมูลนากโมเดล” ซึ่งประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ พัฒนาครู พัฒนานักเรียน และพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม โดยมุ่งสู่ 3 คุณธรรมเป้าหมาย ได้แก่ ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ และความพอเพียง จากการพัฒนาภายในเวลาไม่ถึง 3 ปี พฤติกรรมของครูและนักเรียนเปลี่ยนแปลงไปมากโดยเริ่มจากพฤติกรรมที่ “ดี” ขึ้นของเด็กไปสู่ “เก่ง” ขึ้น (กรณีกลับกันคือ “เก่ง” ไปสู่ “ดี” นั้นอาจไม่เกิดขึ้น)

โครงการส่งเสริมสำนึกด้านจริยธรรมเช่นนี้ก็สมควรทำต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งและควรแพร่ขยายไปยังโรงเรียนอี่นๆ ทั่วประเทศเพราะภายในเวลาไม่กี่ปีคนเหล่านี้ก็จะเป็นผู้ใหญ่ เป็นพลังสำคัญของชาติ และจำนวนหนึ่งก็จะเป็นนักการเมือง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ

อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นและกลาง การแก้ไขจิตสำนึกด้านจริยธรรมของบางส่วนของคนเหล่านี้ที่เสื่อมก็ต้องทำคู่ไปด้วย ในความเห็นของผู้เขียนสองด้านที่ต้องทำเพื่อแก้ไขปัญหาก็คือ (1) ด้านการบังคับใช้กฎหมาย (law enforcement) (2) ด้านการดำเนินการเพื่อให้เกิดการฉุกคิดด้านจริยธรรม (moral enforcement)

คนเหล่านี้มีอายุเกินกว่าที่จะแก้ไขจิตสำนึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ หนทางหนึ่งที่จะทำให้ผู้ขาดจิตสำนึกจริยธรรมเกิดความกลัวและเกิดความคิดที่จะไม่กระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องก็คือการลงโทษอย่างเห็นผล และการได้รับข้อมูลจนเกิดความคิดที่เหมาะสม

ในด้านแรกคือ การบังคับใช้กฎหมายนั้น จะต้องมีกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ มีการจับคุมขังที่จริงจังในกรณีคอร์รัปชันหรือใช้อำนาจโดยมิชอบ ตลอดจนปฏิรูปสร้างกลไกป้องกันใหม่ๆ ดังนี้ (ก) สร้างระบบและสภาพแวดล้อมที่คนไม่ดีไม่อาจกระทำความเลวได้เพราะจะถูกจับและถูกลงโทษเสมอ ส่วนคนดีก็ไม่กล้าทำความเลวเพราะไม่มีช่องทางโน้มน้าวให้ทำได้

งานวิจัยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมชี้ให้เห็นว่าคนจะกระทำสิ่งผิดกฎหมายเมื่อประมาณการว่าผลตอบแทนที่อาจได้รับสูงกว่าสิ่งเป็นลบที่คาดว่าจะเกิดกับตัวเขา ตัวอย่างเช่น ถ้าการคอร์รัปชันมีโอกาสก่อให้เกิดผลตอบแทนมาก โดยโอกาสที่จะถูกจับลงโทษนั้นใกล้ศูนย์ คนจำนวนมากก็จะคอร์รัปชันอย่างแน่นอน หรือการจี้ปล้นมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนมากกว่าความเจ็บปวดจากการติดคุกซึ่งคาดว่าอยู่ในระดับต่ำเพราะตำรวจไม่เคยจับได้และถูกลงโทษเลย ถ้าเป็นเช่นนี้โจรผู้ร้ายก็จะชุกชุม

การบังคับใช้กฎหมายอย่างแข็งขันกับคนโกงโดยหน่วยงานของรัฐและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง การลงโทษที่เกิดขึ้นในเวลาอันควรจะทำให้คนอื่นๆ ที่คิดจะทำความผิดเห็นผลลบที่จะเกิดขึ้นแจ่มชัดยิ่งขึ้น

ในด้านที่สองคือ การดำเนินการเพื่อให้เกิดการฉุกคิดด้านจริยธรรมด้วยการให้ข้อมูลที่เหมาะสม ประกอบด้วย (ก) ตลอดเวลายาวนานคนไทยจำนวนมากรวมทั้งกลไกของรัฐมักมีความคิดว่า “ผู้ใหญ่” โดยปกติแล้วไม่ควรติดคุกหรือติดคุกไม่ได้ ดังนั้นเราจึงเห็นคนใหญ่คนโตเกือบทั้งหมดหลุดรอดจากการถูกจำคุกถึงแม้จะมีความผิดก็ตาม หรือไม่ก็หลุดรอดไปเลยเมื่อเวลาของคดียาวนานจนคนลืมอยู่เนืองๆ

สังคมต้องช่วยกันให้ข้อมูลเพื่อช่วยทำให้ความคิดที่ล้าสมัยนี้ตกไป ในต่างประเทศนั้นข้าราชการชั้นสูง รัฐมนตรี แม้แต่ประธานาธิบดีก็ติดคุกได้ (ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ อิสราเอล ไต้หวัน ฯลฯ เป็นตัวอย่าง) ถ้าสังคมเราทำลายป้อมความคิดนี้ลงได้ “ผู้ใหญ่” ไทยก็จะเกรงกลัวผลลบจากการโกง และจิตสำนึกแห่งจริยธรรมอาจดีขึ้นทันที การติดคุกจากการทำความผิดเป็นอาหารความคิดอย่างดีสำหรับคนคิดจะโกง

(ข) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลชาวสวีเดนชื่อ Gunnar Myrdal (1898-1987) ทำวิจัยและเขียนหนังสือชื่อ Asian Drama: An Inquiry into The Poverty of Nations (1968) ได้พบความจริงจากงานวิจัยว่า สิ่งที่ช่วยกระพือให้คนในประเทศกำลังพัฒนาโกงกันอย่างกว้างขวางก็คือความเชื่อที่ว่าใครๆ ก็โกงทั้งนั้น คนที่คิดจะโกงจึงคิดว่าการโกงของเขามิได้เป็นสิ่งผิดปกติเพราะใครๆ ก็ทำกันทั้งนั้น (แถมไม่ติดคุก)

Group Psychology หรือจิตวิทยาหมู่เช่นนี้เป็นจริงเสมอ ไม่ว่าในเรื่องแฟชั่น กระแสความนิยมสินค้าพฤติกรรมการบริโภค ฯลฯ การให้ข้อมูลว่าคนที่ไม่โกงก็ยังมีในสังคมไทยด้วย การเผยแพร่ตัวอย่างประวัติชีวิตบุคคลดีเด่นของสังคมไทย เรื่องเล่าการต่อสู้จนชนะใจไม่คดโกง การทำให้เห็นว่าการคดโกงและบ้าอำนาจเป็นความผิดปกติที่ชั่วร้าย ฯลฯ การประชาสัมพันธ์ในสื่อต่างๆ ทุกรูปแบบจะเป็นการสร้างการฉุกคิดที่ดี

แนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจคือการออกกฎหมายคุ้มครองผู้เปิดโปงความไม่ชอบมาพากล (Whistleblower) ของการทำงานในภาครัฐซึ่งมีอยู่ในหลายประเทศในปัจจุบัน เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา มาเลเซีย อังกฤษ อินเดีย มอลตา ฯลฯ การที่คนเปิดโปงความไม่ถูกต้องได้รับการคุ้มครองจะทำให้ผู้คิดกระทำผิดเกิดความกลัว และกล้าที่จะทำสิ่งผิดน้อยลง แนวคิดนี้สอดคล้องกับคำกล่าวของ Oscar Wilde (นักประพันธ์เอกชาวไอริช ค.ศ. 1854-1900) ที่ว่า “ถ้าให้หน้ากากเมื่อใด เมื่อนั้นเขาก็จะพูดความจริง”

การสร้างจิตสำนึกด้านจริยธรรมต้องทำพร้อมกันในหลายด้านอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งสอดแทรกในระบบการศึกษา บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง สร้างกลไกป้องกัน สร้างความกลัว บ่มเพาะความคิด ฯลฯ และมีมาตรการใหม่ๆ เช่น กฎหมายคุ้มครองผู้เปิดโปงความไม่ชอบมาพากลเป็นต้น

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันอังคาร 22 เม.ย. 2557