ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > โรงเรียนนานาชาติออกหนังสือถึงผู้ปกครอง เตือนพร้อมมาตรการป้องกันการปลอมใบสมัครเรียนต่อต่างประเทศ

โรงเรียนนานาชาติออกหนังสือถึงผู้ปกครอง เตือนพร้อมมาตรการป้องกันการปลอมใบสมัครเรียนต่อต่างประเทศ

2 เมษายน 2014


ปัญหาการปลอมแปลงใบสมัครจากประเทศไทยเพื่อเรียนต่อมหาวิทยาลัยในสหรัฐอมเริกา ทำให้โรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยหลายแห่งได้รับจดหมายแจ้งเตือนจากฝ่ายรับสมัครนักศึกษาของมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ จึงต้องออกมาตรการตรวจสอบและออกหนังสือแจ้งไปยังผู้ปกครองทุกคนว่าอย่าทำผิดจริยธรรม และขอให้ปฏิบัติตามกฎดังกล่าว

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้นำเสนอข่าว “กลวิธี (โกง) ของเด็กไทยสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำอเมริกา” ไปเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 และข่าว “เปิดกลยุทธ์ 2 สถาบันชื่อดัง บริการสร้างพอร์ตใบสมัครศึกษาต่อต่างประเทศครบวงจร” เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 เกี่ยวกับบริการให้คำปรึกษาเพื่อศึกษาต่อต่างประเทศของบริษัทแอดมิชชันออฟฟิศ (Admissions-Office) และเอ็มบีเอทิงแทงก์ (MBAThinktank) เพื่อเตรียมพร้อมหลักฐานและการเขียนเรียงความในการยื่นใบสมัครเรียนต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก

หลังจากนั้น “ไซ ธนะรัชต์” ผู้อำนวยการบริษัทแอดมิชชันออฟฟิศ ได้ทำหนังสือชี้แจง หลังจากที่นางสาวเอริก้า ฟราย ได้เขียนบทความ ‘but you don’t like to read. Why do you want to go to Harvard?’ ลงในนิตยสารฟอร์จูนและเว็บไซต์ CNN moneyเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2557 ตีแผ่ว่าเด็กไทยเขียนเรียงความ “เกินจริง” เพื่อสมัครเรียนต่อในอเมริกา และเมื่อทางมหาวิทยาลัยในต่างประเทศตรวจสอบกลับมายังประเทศไทยก็พบว่าเรียงความบางเรื่องเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นทั้งหมด ซึ่งหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ได้นำบางส่วนของข่าวดังกล่าวมาแปลในชื่อว่า “ตีแผ่เด็กไทยปั้นใบสมัครยื่นเรียนต่อนอก” โดยเผยแพร่เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2557

อย่างไรก็ตามหลังจากสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้านำเสนอข่าวนี้ในปีที่แล้ว รวมทั้งมีการร้องเรียนจากศิษย์เก่าคนไทยของมหาวิทยาลัยชื่อดังในสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ไม่เชื่อถือและไม่ไว้ใจใบสมัครเรียนต่อจากประเทศไทย และฝ่ายรับสมัครนักศึกษาของมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ทำหนังสือแจ้งมายังโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย อาทิ International School Bangkok (ISB), New International School of Thailand (NIST) และ Bangkok Patana School

จดหมายดังกล่าวมีเนื้อหาถึงความกังวลในการคัดเลือกใบสมัครจากไทย ขณะเดียวกันทางโรงเรียนทั้ง 3 แห่งได้ทำหนังสือแจ้งผู้ปกครองและชี้แจงถึงปัญหาและมาตรการตรวจสอบใบสมัครและบทลงโทษของผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม รวมถึงการตอบรับจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ

หนังสือแจ้งผู้ปกครองของISBสรุปใจความว่าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เราได้ยินเรื่องความกังวลจากมหาวิทยาลัยในอเมริกา เรื่องการใช้หน่วยงานที่ปรึกษามหาวิทยาลัยเอกชนในกรุงเทพฯ ที่ทำการไม่สุจริต โดยการดำเนินการที่ไม่สุจริต คือ

1) การปลอมแปลง “ความสำเร็จ” ของนักเรียนทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียนที่เกี่ยวกับกับทำงานเพื่อชุมชน การกีฬา ตำแหน่งผู้นำ การมีส่วนร่วมในชุมชนต่างๆ และเรื่องอื่นๆ ที่เรียกกว่าเป็น “ความสำเร็จ”

2)เรียงความที่เขียนโดย “ที่ปรึกษา” ไม่ใช่นักเรียนเขียนเอง

ทั้งนี้ในจดหมายของโรงเรียนนานาชาติทั้ง 3 แห่งต่างระบุใกล้เคียงกันว่ามหาวิทยาลัยในสหรัฐฯเป็นห่วงมากต่อความถูกต้องของเอกสารสมัครเรียนจากประเทศไทย มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งบอกว่าร้อยละ 25 ของใบสมัครจากประเทศไทยน่าสงสัย มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่ง (บางโรงเรียนระบุฮาร์วาร์ด) บอกว่าไม่มีการพิจารณาใบสมัครจากประเทศไทยเลยในปีการศึกษา 2556/2557 ซึ่งเราทราบว่าใบสมัครจากโรงเรียนนานาชาติบางส่วนถูกปฏิเสธเนื่องจากข้อสงสัยเรื่องการปลอมแปลงนี้

สำหรับISB ระบุว่านี่เป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงสำหรับนักเรียน ผู้ปกครอง และ โรงเรียนในประเทศไทย เรามีความตั้งใจจะปกป้องชื่อเสียงของ ISB และเพื่อให้มั่นใจได้ว่านักเรียน ISB จะไม่ได้รับผลกระทบที่เสียหายจากความกังวลเรื่องความถูกต้องของใบสมัคร โรงเรียนต้องดำเนินการตามจริยธรรมเพื่อปกป้องแรงบันดาลใจของนักเรียนเราในปัจจุบันและในอนาคต เพื่อการนี้ เรามีมาตรการต่อไปนี้

มาตรการของโรงเรียนนานาชาติกรุงเทพ
มาตรการของโรงเรียนนานาชาติกรุงเทพฯ

1. ใบสมัครที่ส่งไปยังสหรัฐฯ และแคนาดา ให้ส่งจาก ISB
2. นักเรียนต้องส่งเอกสารต้นฉบับเพื่อการพิสูจน์ในอนาคต
3. นักเรียนและผู้ปกครองต้องลงนามเพื่อยืนยันว่าเข้าใจและจะรายงานเรื่องที่ไม่ถูกต้องแก่โรงเรียน
4. นักเรียนต้องลงนามอนุญาตให้มหาวิทยาลัยส่งจดหมายสมัครให้ ISB
5. ISB จะส่งรายการตรวจสอบกิจกรรมของนักเรียนแต่ละคนให้กับมหาวิทยาลัย
6. นักเรียนต้องบอก ISB ถ้าให้คนนอกช่วยเรื่องใบสมัครเรียน
7. แจ้งให้มหาวิทยาลัยทราบถึงมาตราการเหล่านี้ของโรงเรียน
8. ครูที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่ต้องพบนักเรียนและผู้ปกครองเป็นประจำ เพื่อเตือนเรื่องการใช้หน่วยงานข้างนอก อธิบายกระบวนการต่างๆ และบอกผลของการไม่ทำตามกฎระเบียบ
9. ISB ไม่ยอมรับการกระทำนี้ ถ้าใครทำเช่นนี้จะไม่ได้เข้าร่วมการรับประกาศนียบัตรและพักการเรียน และ/หรือ ถูกไล่ออก

นอกจากนี้ ในหนังสือแจ้งผู้ปกครองได้ระบุถึงขั้นตอนการสมัครเรียนที่ถูกต้องให้ผู้ปกครองทราบ และปิดท้ายด้วยคำกล่าวขอบคุณจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ถึงความร่วมมือที่ได้รับจากทางโรงเรียน

โรงเรียน ISB ระบุคำขอบคุณจากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียที่ว่า “เราขอปรบมือให้ ISB ในการดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อให้มั่นใจว่าเราสามารถเชื่อถือใบสมัครจาก ISB ได้”

ส่วนโรงเรียนอีก 2 แห่งก็มีเนื้อหาชี้แจงเบื้องต้นเหมือนกัน ส่วนเรื่องมาตรการ แม้จะทำไม่เหมือนกันแต่ก็มีทิศทางและวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน โดยออกหนังสือแจ้งผู้ปกครองพร้อมกันเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2556

หนังสือแจ้งผู้ปกครองของ NISTเมื่อเดือนสิงหาคม 2556 ถึงมาตราการตรวจสอบเพื่อฟื้นความน่าเชื่อถือและน่าไว้วางใจของใบสมัครจากโรงเรียน และลงท้ายด้วยคำตอบรับจากมหาวิทยาลัยทัฟส์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียลอสแอนเจลิส (UCLA) และมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย

Tufts University

คำตอบรับจากมหาวิทยาลัยทัฟส์
คำตอบรับจากมหาวิทยาลัยทัฟส์

“เราไม่สนับสนุนการส่งใบสมัครปลอม ถ้านักเรียนคนใดส่งใบสมัครปลอม เราจะถอนใบสมัครนั้นในเวลาใดก็ได้ รวมทั้งนักเรียนที่สมัครที่มหาวิทยาลัย UCLA ผู้อำนวยการการรับสมัครนักเรียนของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (UC) จะปรึกษากันถึงกรณีนี้ของประเทศไทยในฤดูร้อนนี้ เพื่อดูว่าการรับสมัครของ UC ต้องมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ … เราไม่สามารถพูดแทน UC ได้ทั้งหมด แต่ UCLA คงดีใจที่จะได้รับเอกสารเพิ่มเติม” ฟิโอนา รีส์ (Ffiona Rees) รองผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการสรรหานานาชาติ UCLA ระบุ

“เราขอขอบคุณที่คุณดำเนินการในเรื่องนี้ ดังที่คุณทราบว่ากระบวนการคัดเลือกนักรียนเข้ามหาวิทยาลัยที่สหรัฐฯ มีองค์ประกอบหลายอย่างเพื่อหานักเรียนที่เหมาะสมที่สุด เราต้องมั่นใจได้ว่ากระบวนการคัดเลือกโปร่งใส กระบวนการเหล่านี้จะทำให้มั่นใจได้ว่านักเรียนจาก NIST เขียนเรียงความและดำเนินการตามที่เขาเขียนในใบสมัคร เรารู้ว่าเราต้องได้รับการสนับสนุนจากนักเรียนเก่าของเราในประเทศไทย และการดำเนินการของมหาวิทยาลัยของเรา เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการรับสมัครถูกต้อง” เอลิซาเบธ โอ คอนเนล (Elisabeth O’Connell) รองคณบดีมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย

ด้านโรงเรียนบางกอกพัฒนาก็ได้ออกหนังสือแจ้งผู้ปกครองเช่นเดียวกัน พร้อมทั้งออกมาตราการควบคุมใบสมัครเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ด้วยกังวลว่านักเรียนจะถูกปฏิเสธใบสมัครด้วยเหตุผลการปลอมแปลงใบสมัครจำนวนมากในประเทศไทย(ดูหนังสือแจ้งผู้ปกครองของโรงเรียนบางกอกพัฒนา)