ThaiPublica > คนในข่าว > “ซีเรียส-นอนเซนส์” แบบ “ชาญฉลาด กาญจนวงศ์” จากไร้สาระจนเป็นเรื่องจริงจังกับแบรนด์เกเร “Grey Ray” เครื่องเขียน ECO ไร้กาลเวลา

“ซีเรียส-นอนเซนส์” แบบ “ชาญฉลาด กาญจนวงศ์” จากไร้สาระจนเป็นเรื่องจริงจังกับแบรนด์เกเร “Grey Ray” เครื่องเขียน ECO ไร้กาลเวลา

11 เมษายน 2014


เมื่อเอ่ยถึงแบรนด์เครื่องเขียนที่โด่งดังในเอเชีย หลายคนมักนึกถึงเครื่องเขียนของประเทศญี่ปุ่นอย่าง Ito-ya ร้านเครื่องเขียนเก่าแก่ที่มีสัญลักษณ์เป็นคลิปหนีบกระดาษสีแดงอันใหญ่ หรือแบรนด์ Tombo เครื่องเขียนที่ได้รับรางวัลและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติสำหรับการออกแบบ หรืออาจคิดถึงสมุดโน้ตที่มีดีไซน์แปลกไม่ซ้ำใครอย่างแบรนด์ TRAVELER’S notebook และล่าสุดแบรนด์ที่จำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์อย่าง Muji ก็ทำให้คนไทยตกหลุมรักเครื่องเขียนที่มีการออกแบบอย่างเรียบง่ายตามคอนเซปต์ของแบรนด์

สโลแกนที่กล่าวว่า “ใช้ของไทย ซื้อของไทย ชาติไทยเจริญ” เหมือนเป็นตัวกระตุ้นให้ลองสำรวจดูว่ามีแบรนด์เครื่องเขียนอะไรของไทยบ้างที่คนไทยให้ความสนใจ ซึ่งพบว่าเครื่องเขียนของไทยส่วนใหญ่ไม่น่าสนใจ และเป็นลักษณะซื้อมาขายไปมากกว่า จึงจุดประกายให้ “ชาญฉลาด กาญจนวงศ์” หรือ “เบิร์น” คิดสร้างแบรนด์เครื่องเขียนที่มีเป้าหมายว่าจะเป็นแบรนด์เครื่องเขียนของคนไทยที่คนไทยภูมิใจ

นายชาญฉลาด กาญจนวงศ์ เจ้าของแบรนด์ GREY RAY STATIONERY
นายชาญฉลาด กาญจนวงศ์ เจ้าของแบรนด์ GREY RAY STATIONERY

“GREY RAY STATIONERY” ก่อตั้งขึ้นในปี 2554 โดย นายชาญฉลาด กาญจนวงศ์, นางสาวเธียรวธู เทียนเงิน และนางสาวอาทิตยา ตรีเนตรไพบูลย์ เป็นแบรนด์เครื่องเขียนที่มีจุดยืนชัดเจน คือ จะไม่ผลิตอย่างอื่นนอกจากเครื่องเขียน ซึ่งในประเทศไทยยังไม่เคยมีแบรนด์เครื่องเขียนจริงๆ โดยส่วนมากมักจะเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่อาจจะผลิตสมุด แล้วก็ผลิตร่ม, โคมไฟ, เก้าอี้ เป็นต้น

วันนี้ GREY RAY STATIONERY เริ่มเป็นที่รู้จักในตลาดเครื่องเขียนทั้งเมืองไทยและเมืองนอก ส่วนกลุ่มคนที่รักสิ่งแวดล้อมอาจจะเคยผ่านตามาหลายครั้งในร้าน ECO Shop เนื่องจากเป็นแบรนด์ที่ให้ความใส่ใจในเรื่องของการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและการดูแลสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยสำหรับผู้ใช้

“การที่จะเป็นแบรนด์เครื่องเขียนของคนไทยที่คนไทยภูมิใจ คงจะต้องเริ่มจากการออกแบบที่จริงใจ เมื่อเขาสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง เขาก็จะภูมิใจและไปแนะนำต่อให้กับคนอื่น ผมมองว่า การออกแบบคือการแก้ปัญหาเพื่อสร้างคุณภาพและทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ดังนั้นจึงต้องอยู่ภายใต้ความจริงใจ และสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุด”

“ชาญฉลาด” เริ่มต้นสนทนาด้วยการเล่าที่มาของแนวคิดการทำเครื่องเขียนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมว่า เริ่มต้นมาจากการทำโรงเรียนสอนศิลปะ ทำมาประมาณ 15 ปี ถึงเวลาที่ต้องขยาย ซึ่งการขยายกิจการก็มีแนวคิดเดิมๆ คือ ขยายโรงเรียนหลายสาขา หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ว่ามันมีคำพูดของ คุณโชค บูลกุล ที่ว่าการขยายธุรกิจมันมีหลายแบบ อาจจะขยายจากข้างนอกหรือข้างในก็ได้ คำนี้แหละ ที่มันไปกระทบเรา ว่าขยายจากข้างในคืออะไร อย่างโมเดลธุรกิจฟาร์มโชคชัย เขาก็เอาวัตถุดิบข้างในมาทำเป็นการท่องเที่ยว นี่คือวัตถุดิบทั้งหมด คือการขยายจากข้างใน ใช่ไหมครับ

ทีนี้ก็กลับมากับตัวเอง ว่าเราทำธุรกิจอะไร แบบเราทำธุรกิจโรงเรียน เราน่าจะทำผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับโรงเรียน เป็นเครื่องเขียน แต่ว่าเป็นเครื่องเขียนแนวไหนก็มาคุยกับทีม อันนี้ไม่ได้เกี่ยวกับที่ทำโรงเรียนสอนศิลปะ แยกมาอีกบริษัทหนึ่งชัดเจน คือไม่ได้ทำเครื่องเขียนเพื่อจะมาสนับสนุนโรงเรียนอย่างเดียว แต่ทำมาเพื่อขายคนทั่วไป ปกติ เวลาทำเครื่องเขียน โรงเรียนก็มักจะมีตราโรงเรียน แต่ผมไม่ได้คิดแบบนั้น มันควรจะได้ใช้กับทุกคน ไม่ใช่ได้ใช้เฉพาะองค์กรเรา

แบรนด์Grey Ray
แบรนด์ Grey Ray

เพราะฉะนั้น มันก็เป็นเรื่องของธุรกิจ ที่ว่าธุรกิจมันน่าจะขยายได้ใหญ่กว่าการขายเจาะจง แต่ว่าจะเป็นเครื่องเขียนแนวไหน จริงๆ ตอนที่ทำประมาณปี 2011 แล้วมีข่าวเรื่องสึนามิ โรงงานปรมาณูฟุกุชิมะที่ญี่ปุ่นระเบิด อันนั้นเป็นตัวจุดความคิดอันหนึ่ง คำถามคือว่า เอ… แล้วไปสร้างโรงงานปรมาณูทำไม ก็ตอบโจทย์ได้ว่า เกิดจากการที่เรากำลังบริโภคเกินความจำเป็น เราเลยต้องหาอะไรมารองรับ

เลยกลับมามองว่า แล้วบ้านเรามันกำลังจะไปแบบนั้น และเราอยากไปไหม แล้วในฐานะที่เราเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง เราทำอาชีพอะไร เครื่องเขียน เราก็เลยมองว่า เราจะไปทำอุปกรณ์เขียนไอแพดหรือปากกาอะไรแบบนี้ไหม ทำไมเราไม่มองย้อนกลับมาหาอะไรที่มันธรรมดากว่านั้น หรือที่มันเป็นมิตรกับคนทั่วไป กับสิ่งแวดล้อม

เครื่องเขียนเราอาจไม่ได้เป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลกอะไรขนาดนั้น แต่ว่ามันเป็นความคิดที่เปลี่ยนโลกหลายๆ อย่าง เพราะฉะนั้นอันนี้คือสารตั้งต้นของ “แบรนด์เกเร” ก็คือว่า เราจะไปทางนี้ เราก็ต้องไปศึกษาว่า จริงๆ แล้วถ้าเราจะไปทำให้มันใช้ได้กับคนส่วนมาก เราก็ควรจะทำเป็นอุตสาหกรรม

ไทยพับลิก้า : การผลิตในระบบอุตสาหกรรม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยังไง

คนชอบตั้งคำถามว่า ทำไมใช้พลาสติกทำไมไม่ใช้ไม้ แล้วจะเป็นผลิตภัณฑ์ ECO ยังไง ผมมองว่าการเอาพลาสติกกับไม้มาเปรียบเทียบกันมันตอบไม่ได้หรอกว่าอะไรคือ ECO ผมขอยกตัวอย่าง ถ้าเรามีเศษไม้แล้วเอาเศษไม้มาต่อด้วยกาวลาเท็กซ์ โรคาร์บอน (ซึ่งมีสารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน หรือ CFC) ซึ่งเป็นสารที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม หรือไม้นั้นมีน้ำหนักมากก็ต้องใช้ระบบการขนส่งที่ใช้น้ำมันเยอะขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็น ECO

ผมอยากจะให้ทำความเข้าใจก่อนว่า ถ้าจะพูดกันเพียงแค่ในเรื่องของวัสดุอย่างเดียว มันไม่สามารถให้คำตอบได้ อย่างผลิตภัณฑ์เครื่องเขียนของผม ก็ใช้พลาสติกประเภทโพลีโพรไพลีน (PP) ที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% และที่เลือกผลิตในระบบอุตสาหกรรม เพราะว่าการผลิตแบบนี้จะมีการคำนวณที่มีประสิทธิภาพสูง อย่างจะใช้ไฟฟ้าเท่านี้ต่อการผลิตเท่านี้ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ถูกพัฒนาให้มีการผลิตเพื่อลดการใช้ทรัพยากรและลดความสิ้นเปลืองในกระบวนการผลิต ดังนั้น การจะตัดสินว่าสินค้านี้ ECO หรือไม่ ควรจะต้องมองดูวงจรการผลิตโดยรวมด้วย

ไทยพับลิก้า : ทุกผลิตภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งหมด

ใช่ครับ ผมพยายามจะทำให้ได้อย่างนั้น ถ้ายังทำไม่ได้ ก็จะยังไม่ทำออกมา ถึงจะล่าช้าก็ไม่เป็นไร GREY RAY STATIONERY ก่อตั้งมา 3 ปี แต่ผลิตภัณฑ์ที่ทำออกมาพูดได้ว่าทำออกมาปีละชิ้นเท่านั้น

เกเร-10

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้มีผลิตภัณฑ์อะไรบ้าง

ผลิตภัณฑ์ตัวแรก เกิดขึ้นมาจากการสังเกตพฤติกรรมของเด็กในโรงเรียนสอนศิลปะของผม ทำไมเด็กต้องเหลาดินสอ EE ให้ยาวกันหมด แล้วผมไปดูของต่างประเทศเขาก็ไม่เหลายาวกันขนาดนี้ ดังนั้น มันจึงเป็นวัฒนธรรมที่มีแค่ในกลุ่มเด็กเรียนศิลปะของไทยที่จะต้องเหลาดินสอ EE ให้ยาวๆ และแหลม ซึ่งก็ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าใครสอนให้เหลายาวขนาดนั้น และยาวแค่ไหนถึงจะพอ ผมและทีมงานจึงได้ไปทำการสำรวจกับเด็ก 200 คน ก็ได้ค่ากลางของความยาวที่พอดีในการเขียน คือ ประมาณ 3.8 ซม. และไส้ดินสอ EE จะมีความเปราะบางมาก เพราะค่ากราไฟต์มันเยอะ หล่นแล้วมันก็จะหัก แล้วมันก็จะต้องเหลาใหม่ ซึ่งจากการสำรวจเด็กส่วนมากจะใช้กระดาษทิชชูห่อ เพื่อป้องกันไม่ให้ไส้ดินสอหัก การมีปลอกดินสอก็จะเป็นการประหยัดทรัพยากรอย่างหนึ่ง

“ในตอนแรกคนไม่ค่อยเข้าใจ จนเมื่อคนได้ใช้ไปเรื่อยๆ ก็เข้าใจว่าทำทำไม คำตอบที่ว่ากลุ่มมันเล็กมากและเฉพาะมาก แต่คนเหล่านี้ 100% ต้องซื้อมัน เพราะทำมาเพื่อเขา ดังนั้น ปลอกดินสอ EE หรือ EE DEFENDER/EE PENCIL CAP เป็นผลิตภัณฑ์ตัวแรกที่ออกแบบมาเพื่อให้ใช้ดินสอได้อย่างคุ้มค่า และปกป้องไส้ดินสอจากการกระแทก เพราะดินสอ EE เป็นดินสอที่ไส้มีความเปราะบางมาก เมื่อทำหล่นหรือกระแทกก็จะหักแล้วต้องเหลาใหม่ ดังนั้น ปลอกดินสอที่ผมทำออกมาก็เหมือนเป็นการช่วยประหยัดทรัพยากรในส่วนนั้น”

ผลิตภัณฑ์ที่ทำออกมาตัวที่สอง เกิดจากการที่ต้องการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และผมเห็นว่าเวลาใช้ดินสอจนมันสั้นมากๆ แล้วถ้าอยากใช้ต่อจะเอาไปใช้ยังไง ผมจึงสร้างสรรค์ “อุปกรณ์ต่อดินสอพกพา หรือ DRAWING OUT” ผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อต่อดินสอไม้ โดยสามารถต่อดินสอไม้ได้สั้นถึง 2 เซนติเมตร และสามารถพกพาไปได้ในชีวิตประจำวัน โดยที่รู้สึกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา

ผลิตภัณฑ์ EE DEFENDER/EE PENCIL CAP
ผลิตภัณฑ์ EE DEFENDER/EE PENCIL CAP

หลังจากทำปลอกดินสอและตัวต่อดินสอออกมาแล้ว ผมก็สังเกตเห็นพฤติกรรมของเด็กเรียนศิลปะอีกอย่าง คือ เวลาเด็กมาส่งงานจะฉีกกระดาษในสมุดสเก็ตออกมาส่ง ฉีกไปฉีกมาพอถึงหน้าปกก็ต้องเอาไปทิ้ง ผมเลยมองว่าทำไมเราไม่ออกแบบปกสำหรับคนกลุ่มนี้ ที่ต้องการฉีกสมุดแล้วส่งงาน ผมและทีมงานเลยออกแบบ “SKETCHBOOK” สมุดที่มีลักษณะเป็นแฟ้ม เมื่อฉีกกระดาษมาใช้จนหมดแล้ว ก็สามารถเก็บไว้ใช้เป็นแฟ้มต่อได้ โดยกระดาษที่ใช้ทำปกคือกระดาษคราฟต์ที่เกิดจากการรีไซเคิล เป็นกระดาษที่มีความเหนียวและแข็งแรงกว่ากระดาษธรรมดา และยังสามารถนำกลับมาหมุนเวียนใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษได้อีกด้วย ส่วนหมึกที่ใช้คือหมึกถั่วเหลือง หมึกที่ไม่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม

ไทยพับลิก้า : จะมีผลิตภัณฑ์ออกมาเพิ่มไหม

ปีนี้จะมีผลิตภัณฑ์หลายตัวที่จะออกมาครับ ซึ่งแต่ละตัวเหมือนเป็นจิ๊กซอว์ที่ค่อยๆ ต่อกันมาเรื่อยๆ ผลิตภัณฑ์ DRAWING OUT ที่สามารถต่อดินสอที่สั้นถึง 2 เซนติเมตร ต่อยอดให้ผมเห็นว่า เมื่อใช้ดินสอจนสั้นถึง 2 เซนติเมตร ตามปกติแล้วมันจะไม่สามารถจับได้แล้ว เมื่อมันใช้ไม่ได้แล้ว ผมเลยคิดว่า ถ้าไม่มีไส้ดินสอในส่วนนี้จะดีกว่าไหม

การผลิตดินสอเองเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับผมมาก คนทั่วไปอาจมองว่าก็แค่ดินสอแท่งละไม่กี่บาท จึงไม่ค่อยเห็นถึงความสำคัญของมัน และไม่เคยใช้หมด ใช้ไปสักพักก็เปลี่ยนหรือทิ้งหรือหายเสียก่อน จากการศึกษาวัตถุดิบที่นำมาใช้ทำดินสอ ประกอบไปด้วยไม้ซีดาร์และแร่กราไฟต์ ซึ่งแร่กราไฟต์เป็นแร่ที่มีความสำคัญมากในการผลิตเหล็กกล้า, เบรกรถยนต์, แบตเตอรี่, นำไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และแร่กราไฟต์เป็นแร่ธาตุที่ต้องใช้เวลาในการสะสมหลายปี ไม่สามารถปลูกได้เหมือนไม้

เมื่อผมเห็นถึงพฤติกรรมการใช้ดินสอที่ฟุ่มเฟือยและวัตถุดิบที่นำมาทำดินสอที่เป็นทรัพยากรที่สำคัญ ผมจึงเดินหน้าในการที่จะทำดินสอที่ปลายก้นดินสอ 2 เซนติเมตร ไม่มีไส้ ในตอนแรกที่ไปคุยกับโรงงาน ไม่มีโรงงานไหนตอบรับที่จะทำให้เลย เนื่องจากเป็นเรื่องของการผลิตในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ถูกตั้งค่าให้ผลิตแบบนี้มานานแล้ว และการที่จะไปเปลี่ยนระบบการผลิตถือเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก แต่ผมก็ไม่ยอมแพ้ ผมและทีมงานลงไปศึกษาถึงระบบการผลิตในโรงงาน ไปอธิบายถึงความต้องการที่จะใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า จนในที่สุดก็มีโรงงานที่เข้าใจและยอมที่จะตั้งค่าระบบใหม่เพื่อการผลิตดินสอในแบบของ GREY RAY STATIONERY

“ดินสอที่ปลายก้นดินสอ 2 เซนติเมตรจะไม่มีไส้ดินสอ ผมตั้งชื่อว่า “2 CM+” หลายคนอาจสงสัยว่า ไส้หายไป แต่ทำไมเป็น 2 CM+ ผมมองว่ามันเป็นการไปเติมเต็มทรัพยากรธรรมชาติ และเติมเต็มคุณค่าของการใช้ดินสอที่ใช้กันมาอย่างสิ้นเปลืองและไม่ตระหนักถึงคุณค่า ดังนั้น มันจึงเปรียบเหมือนสิ่งขาดหายที่กลับมาเติมเต็มคุณค่าของการใช้ดินสอ”

เกเร-1

ดินสอ 2 CM+
ดินสอ 2 CM+

อันนี้ก็เป็นโจทย์ใหญ่ของเรา แต่ว่าเป็นเรื่องเล็กสำหรับคนทั่วไปมากนะ เพราะมันเพียงแค่เศษดินสอใช่ไหม หมดแล้วก็เปลี่ยนแท่งใหม่ ผมว่าแนวความคิดแบบนี้มันไปกระตุ้นอะไรใครได้บางอย่าง ให้ฉุกคิดว่ามันหมายความว่าอะไร เช่น ผมตั้งชื่อดินสอนี้ว่า “2 CM+” ใช่ไหม คุณอาจจะงงว่าทำไมมัน + คือมันไป + ให้ธุรกิจอื่น มันไป + ให้กับคุณค่าอย่างอื่น เพราะถ้าศึกษาจริงๆ กราไฟต์มันอยู่ในอุตสาหกรรมใหญ่หมดเลย แล้วมันเป็นแร่ธาตุที่ต้องใช้เวลาสะสม แต่คนทิ้งเยอะมาก เพราะคนไม่รู้ แล้วมันก็ดูเป็นเรื่องเล็กมาก

ผลิตภัณฑ์อีกตัวที่จะออกมาในปีนี้ พัฒนามาจาก “SKETCHBOOK” จากการสังเกตว่าสมุดสเก็ตช์ที่วางขายทั่วไปมักจะมีกระดาษแข็งอยู่ข้างหลัง ผมเลยนำมาวิเคราะห์ว่า เขาออกแบบแบบนี้มาทำไม คำตอบที่ได้คือ กระดาษแข็งด้านหลังคนออกแบบต้องการให้ใช้เป็นกระดานในการรองขีดเขียน แต่ผมก็ไม่เคยเห็นใครใช้รองจริงๆ ส่วนมากมักจะฉีกออกมาแล้วเอาไปรองกับกระดานแข็งๆ อีกที ดังนั้น จากสมุดสเก็ตช์แบบที่เป็นแฟ้ม จึงได้ถูกพัฒนามาเป็น “DRAWING FOLIO” สมุดที่มีสองด้าน โดยด้านหนึ่งสำหรับขีดเขียน เรียกว่า Drawing Book และอีกด้านเป็นแฟ้มเก็บงาน หรือ Portfolio

เมื่อใช้กระดาษด้าน Drawing Book หมดก็ไม่จำเป็นต้องทิ้ง เพราะอีกด้านสามารถเก็บผลงานไว้ได้ และด้าน Drawing Book ผมก็ออกแบบให้ด้านหลังมีความหนามากขึ้นเพื่อสามารถใช้รองในการขีดเขียนได้จริงๆ ซึ่งก็เป็นการช่วยลดทรัพยากรในการใช้กระดานวาดรูปและกระเป๋าใส่กระดานอีกด้วย

“เพราะฉะนั้นมันก็ฆ่าเรื่องของกระดานบอร์ดนั้นทิ้งไปเลย นิสัยของการทิ้งก็ทิ้งไปเลยเพราะใช้จนหมดก็ยังใช้เป็นแฟ้มได้ แล้วก็ไม่เคยมีนะ พอร์ตเอ 2 ในประเทศนี้ก็ยังไม่เคยเห็น นี่ก็กำลังจะโปรโมตเลย”

เกเร-5

ไทยพับลิก้า : กำลังคิดว่ามีเครื่องเขียนที่ใช้แล้วไม่เกิดการสิ้นเปลืองทรัพยาการ (zero waste) จริง

ใช่ครับ ชื่อมันคือตัว O เขียวๆ ก็คือ กรีนใช่ไหมฮะ ส่วน O ของผมก็เหมือนเป็นพอร์ตโฟลิโอ ก็เหมือนว่า zero คือตอนนี้คนตื่นตัวเรื่อง zero waste เยอะ ถ้าคนจะลุกขึ้นมาทำอะไรในแนวทางตัวเองหรือทำแบรนด์อะไร ก็ต้องคิด

ไทยพับลิก้า : เรื่อง zero waste คนทำยังไม่เยอะมาก

ใช่ มันถึงยุคของผมแล้วไง ที่เรามีโอกาสจะทำมันได้แล้ว แล้วเราก็ต้องทำ เพราะพอเจเนอเรชันต่อไป เขาก็จะถูกส่งต่อความคิด เพราะว่ารุ่นพ่อรุ่นแม่นี่ไม่ต้องพูดเลยนะ ไม่มีแนวความคิดแบบนี้เลย ตอนเด็กๆ ผมยังจำได้ว่า เวลาขับรถไปไหนกับที่บ้านก็ยังทิ้งขยะนอกรถกันอยู่เลย แนวความคิดนี้ ถ้าเจเนอเรชันนี้ไม่ทำ มันก็เหมือนกับไม่ถูกส่งต่อ

ไทยพับลิก้า : แต่ละผลิตภัณฑ์ใช้เวลาคิดนานไหม

ใช้เวลาคิดพักหนึ่งครับ ส่วนมากจะไปติดในเรื่องของระบบการผลิตมากกว่า ผลิตภัณฑ์แต่ละตัว อย่าง EE DEFENDER และ DRAWING OUT ใช้เวลาถึง 2 ปี หรือหน้าปกของสมุด DRAWING FOLIO ผมต้องการหน้าปกที่ใช้กระดาษแผ่นเดียวแล้วสามารถพับไปมาได้ ตอนไปคุยกับโรงงานก็ไม่มีใครทำให้ เขาบอกทำไม่ได้หรอก เรื่องมากจัง แต่ผมและทีมงานก็ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปมาจนในที่สุดก็สามารถผลิตออกมาได้

“การเปลี่ยนวิธีคิดมาแนวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนี่เหนื่อยนะ เพราะว่าบ่อยครั้งที่ลูกน้องไปคุยแล้วโดนปฎิเสธกลับมา โรงานบอกว่าทำไม่ได้ๆ นี่ไม่ได้ว่านะครับ คือคนไทยส่วนใหญ่ซื้อมาขายไป เราไม่ค่อยเห็นการพัฒนารีเสิร์ช เทคโนโลยี เพื่อจะเป็นนวัตกรรมของมวลชนในอนาคต มีแต่ย้ายฐานการผลิตไปที่ที่จะถูกลงเพื่อจะให้บริโภคได้เยอะขึ้น อันนี้ก็น่าคิด ว่าทำไมเราถึงถูกปลูกฝังแบบนั้น”

เพราะฉะนั้นผมต้องสู้ เหมือนเส้นทางนี้ (การผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) ยังไม่มีใครเดิน พอเดินไปมันก็เหงานิดหน่อย และมันก็เหมือนคนบ้า อ้าว…คิดไรวะเนี่ย ทำทำไมวะเนี่ย อย่างทำปลอกดินสอ EE เป็นโปรเจกต์แรก ลงทุนเยอะ ใช้เวลาครึ่งปี เพื่อจะทำสิ่งที่พูดไปแล้วคนเขาก็บอกว่า…เหรอ ลงทุนเท่านี้เลยเหรอ แล้วไอ้ปลอกดินสอเนี่ย ขายเท่าไหร่ 10 กว่าบาท อะไรอย่างนี้ มันไม่มีเหตุผลมากๆ คนเขาก็จะแบบว่า… ทำไมไม่ทำอะไรที่มันลงทุนเท่านี้แล้วก็ได้เงินเยอะเร็วๆ

ตรงนี้ก็คิดแล้วก็กลับไปดูตัวเอง พอดูตัวเองแล้วเราก็รู้สึกว่า เฮ้ย…มันก็มีคนแบบนี้เยอะเนอะ ในวัฒนธรรมย่อยๆ หลายที่ อย่างเช่น คนที่บ้าเล่นสเก็ตบอร์ด คนที่บ้าต่อโมเดล คนที่เป็นเซียนการ์ตูนในทีวีแชมเปียน ที่ว่าอยู่ดีดีก็ไปลาออก แล้วบอกว่าอยากมีเวลาอ่านการ์ตูนเยอะขึ้น จนเป็นทีวีแชมเปียน ผมก็เลยเรียกคนกลุ่มอย่างผมว่า เป็น “ซีเรียส-นอนเซนส์” Serious Nonsense คนที่ซีเรียสกับเรื่องไร้สาระ และสามารถทำเรื่องไร้สาระให้กลายเป็นที่ยอมรับได้ ทำเรื่องไร้สาระเป็นเรื่องจริงจังจนเป็นที่ยอมรับ

นายชาญฉลาด กาญจนวงศ์
นายชาญฉลาด กาญจนวงศ์

ไทยพับลิก้า : แล้วทำยังไงให้มันเป็นธุรกิจ

สำหรับตัวเองซีกหนึ่งก็เป็นอาร์ต อีกซีกหนึ่งก็เป็นธุรกิจอยู่แล้ว เพื่อจะให้บาลานซ์กันระหว่างศิลปะกับเหตุผล เหตุผลมากไปมันก็อาจจะแข็ง ศิลปะมากไปก็จะอ่อนโยนเกิน เพื่อความสมดุลที่มันมีความอ่อนโยนด้วย ความที่เป็นเหตุเป็นผล เพราะว่าจริงๆ แล้ว การเรียนออกแบบภายใน (interior) ถูกสอนให้ทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผล แล้วก็ร่วมกับคนตลอด เพราะว่าคนคือโจทย์ ทำไมประตูต้องสูง 2 เมตร ทำไมเตียงต้องยาวเท่านี้ คือมันเป็นการอิงกับคนทั้งหมด สมมติเวลานอนห้องเดียวกัน สามีไปเข้าห้องน้ำตอนกลางคืนเปิดไฟห้องน้ำ ไฟแยงตาไหม มีการซ่อนผนังยังไง เราจะถูกสอนมาแบบนั้น เป็นเหตุและผลแล้วก็คำนึงถึงคนอื่น อะไรแบบนี้ ผมจะเชื่อว่าการดีไซน์มันคือการแก้ปัญหา ไม่ใช่การสร้างปัญหา ถ้าเมื่อไหร่ที่เราดีไซน์แล้วมันสร้างปัญหา เราต้องดูตัวเองว่าไปต่อได้ไหม

“ถ้าสังเกตผลิตภัณฑ์ของผม ผมแทบจะไม่เน้นความมีสไตล์ อย่างเช่น ถ้าทำกบเหลาดินสอสักอันก็คงไม่ทำเป็นรูปทรงประหลาดอะไร เราก็จะทำแบบง่ายที่สุด ราคาก็คือทุกคนซื้อได้ อย่างปลอกดินสอ EE โยนเข้าไปในทีม ถามว่าขายเท่าไหร่ดี เขาบอกว่า 50 บาท ถามว่าทำไมต้อง 50 บาท ลูกน้องบอกว่ามันเป็นงานดีไซน์ เหรอ?… งานดีไซน์ต้องแพงเหรอ เราไม่อยากเป็นแบบนั้น ผมอยากให้คนใช้เยอะๆ ไม่ได้อยากให้งานดีไซน์ต้องแพง แบบไม่ต้องสนใจด้วยว่าใครดีไซน์ แล้ววันหนึ่งไปอยู่ในกล่องดินสอ แต่ไม่รู้ใครทำ อยากเป็นแบรนด์แบบนั้น”

ความคิดแบบนั้นแหละ ผมจะเรียกว่ามันเป็นสารตั้งต้นของแบรนด์ แล้วจะไปตกผลึกอะไรก็แล้วแต่ แต่ก็ไม่ได้ปิดตัวเองว่าจะไม่รับแนวความคิดใหม่ๆ ก็รับหมด เพียงแต่ว่ามีแนวจุดยืนประมาณนี้ว่ารูปทรงเรียบง่าย เรียบที่สุด ก็คือ ดีไซน์มาเพื่อตัวมันเอง ส่วนจะสวยไม่สวยก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่อย่างสี โดยส่วนตัวผมชอบวินเทจ สีพวกนี้มันเป็นสีที่ผ่านกาลเวลามาหมดแล้ว พิสูจน์แล้วว่ามันไม่มีเชย แล้วมันสงบนิ่ง สวยไร้กาลเวลา เพราะฉะนั้น ผลิตภัณฑ์จะออกมากี่ตัว ผมก็จะใช้สีแค่ 8 สี นั่นคือวิธีคิดเป็นแพ็คในการสร้างแบรนด์ ก็ถือเป็นความคลาสสิกอยู่ข้างในด้วย คนแรกๆ ก็จะมองว่า เออ มันดูย้อนยุคดี หรือบางคนก็ดูว่ามันโมเดิร์นมาก รูปทรงมันเกลี้ยงมาก อย่างปลอกดินสอนี่ก็แค่ถูกออกแบบมาให้ดึงเท่านั้นแหละ

ไทยพับลิก้า : นอกจากการดีไซน์แล้ว วัตถุดิบที่ใช้ ต้องศึกษาอีกเยอะ

ใช่ครับ ต้องไปหาทีม ต้องไปหาความรู้ ข้อมูลพวกนี้มันมีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเรา รุ่นน้องหลายๆ คนก็จบออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) เพราะฉะนั้นเรื่องนี้มันเป็นเรื่องสามัญอยู่แล้ว ว่าเราจะใช้อะไรยังไง แต่ผมก็จะไม่ค่อยยึดกับความรู้พวกนี้ เพราะว่า ความรู้บางอย่าง เมื่อถึงอีกรุ่นหนึ่งมันอาจจะไม่ใช่ความรู้ตอนนี้ ก็จะบอกลูกน้องเสมอว่าลองดูอย่างอื่นด้วย มันอาจจะมีวิธีอื่น หรือวัสดุอื่น อย่างเช่น หมึกถั่วเหลือง ก็ไม่มีใครรู้ว่ามันทำได้ แล้วมันก็อยู่ในเมืองไทยมานานแล้ว ไม่มีใครรู้ว่ามันมีใช้ในโรงงาน ถ้าเราขอไปว่า ขอเป็นหมึกถั่วเหลืองเขาก็ทำได้

เกเร-6

ไทยพับลิก้า : กลายเป็นที่ยอมรับได้ยังไง

ปีแรกที่ทำคือปี 2554 ผลิตภัณฑ์ EE DEFENDER ก็ได้รับการคัดเลือกเข้ารอบตัดสินของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD รางวัลไทยสร้างสรรค์ สาขาออกแบบ รางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งตอนนั้นยังเป็นแค่ตัวโชว์อยู่เท่านั้น ถึงไม่ได้รางวัลแต่ได้ร่วมโชว์ผมก็ดีใจมากแล้ว ต่อมาปี 2555 ผลิตภัณฑ์ DRAWING OUT I ได้รางวัล 2nd Talent Thai Popular Vote Award ของโครงการสร้างนักออกแบบ สินค้าไลฟ์สไตล์สู่ตลาดโลก

ในปี 2556 ที่ผ่านมา ค่อนข้างได้รางวัลเยอะ ได้รับรางวัล Design Excellence Award 2013 (DEmark) เป็นรางวัลที่ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยจะให้ความสำคัญกับคุณภาพของการผลิต การใช้งาน และแนวความคิดของการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดย GREY RAY STATIONERY ได้รางวัล Winner จากผลิตภัณฑ์ EE DEFENDER และ DRAWING OUT II ในกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ และยังได้รางวัล Good Design Award 2013 (G-mark) โครงการที่มุ่งเน้นการประเมินผลและการส่งเสริมด้านการออกแบบของสินค้า ภายใต้การจัดการของสมาคมส่งเสริมการออกแบบของอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (JIDPO) โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รางวัลคือ EE DEFENDER

บนซ้าย : รางวัลไทยสร้างสรรค์ ขวา : รางวัลโครงการสร้างนักออกแบบ ล่างซ้าย : รางวัล DEmark ผลิตภัณฑ์ EE DEFENDER ขวา : รางวัล DEmark ผลิตภัณฑ์ DRAWING OUT II
บนซ้าย : รางวัลไทยสร้างสรรค์ ขวา : รางวัลโครงการสร้างนักออกแบบ ล่างซ้าย : รางวัล DEmark ผลิตภัณฑ์ EE DEFENDER ขวา : รางวัล DEmark ผลิตภัณฑ์ DRAWING OUT II

ผมยังได้รับรางวัลนักออกแบบแห่งปีในปี 2556 (Designer of The Year) ในสาขา Product Design ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่นักออกแบบไทยหน้าใหม่ที่มีผลงานโดดเด่นในรอบปี ถ้าถามผมว่า ตื่นเต้นไหม ผมตื่นเต้นในตอนที่ทำผลิตภัณฑ์มากกว่า แต่การได้รับรางวัลเหมือนเป็นการย้ำเตือนในสิ่งที่ผมทำว่ามีคนรับรู้แล้วนะ มีการยอมรับในกลุ่มคนที่กว้างขึ้นแล้วนะ และมันไม่ใช่เรื่องไร้สาระแล้วนะ การได้รางวัลเหมือนเป็นการเรียกให้คนไทยสนใจ เพราะคนไทยชอบอะไรที่ได้รางวัลก่อนถึงจะให้การยอมรับ

ไทยพับลิก้า : ในเรื่องของตลาดเครื่องเขียน

ตลาดเครื่องเขียนของโลกใหญ่นะครับ แต่ตลาดเครื่องเขียนของไทยมีค่อนข้างน้อย ซึ่งก็ยังไม่เคยมีแบรนด์ไหนที่ประกาศตัวเองว่าเป็นแบรนด์เครื่องเขียนของไทย ซึ่งตรงนี้เป็นช่องทางของผมเลย เพราะมันยังไม่มีใครทำไง การกำหนดราคาของผมจึงค่อนข้างอิสระ แต่ผมก็มีความต้องการที่จะผลิตสินค้าที่ดีและราคาถูกเพื่อให้คนไทยทุกคนได้ใช้

ผมมองว่า GREY RAY STATIONERY เป็นแบรนด์เครื่องเขียนที่ไม่ได้สร้างสรรค์มาให้เป็นงานดีไซน์ราคาแพง แต่อยากให้ทุกคนได้ใช้ และใช้จนมันกลายเป็นของสามัญที่เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวัน โดยที่ไม่สนใจว่าใครจะออกแบบ หลายคนคงเคยเห็นงานดีไซน์ดีๆ ที่ทำออกมา เช่น เก้าอี้ของดีไซน์เนอร์ชื่อดัง แต่ขายแพงมาก ถามว่าคนชอบมั้ย แน่นอน ทุกคนชอบ แต่มีกี่คนที่ซื้อไปนั่งที่บ้านจริงๆ เพราะมันแพง ผมไม่ได้บอกวิธีคิดแบบนี้มันผิด แต่ผมไม่อยากเป็นแบบนั้น ต้องทำให้คนได้ใช้สิ ถึงจะบอกได้ว่าดีจริง ไม่ใช่บอกว่าดีเพราะสื่อบอกว่าดี ทั้งที่ยังไม่เคยใช้ สรุปแล้ว EE DEFENDER วางขายในราคา 8 อัน 65 บาท ซึ่งถูกมากเมื่อเทียบกับต้นทุนผลิต

ไทยพับลิก้า : แรงบันดาลใจในการคิดแต่ละเรื่อง

เป็นคนชอบตั้งคำถามอยู่แล้ว การหาแรงบันดาลใจไม่ใช่ว่าไปดูแล้วทำตามนะครับ ไม่ใช่ เพียงแต่ว่าเรารู้สึกกับปัญหานั้นหรือเปล่า เรารู้สึกแล้วเราก็ลงมือ ส่วนว่าเขาจะออกแบบฟอร์มอะไรยังไงจะไม่ค่อยสนใจ แต่คนที่เรียนดีไซน์แรกๆ เขาจะสนใจแบบฟอร์มก่อน เออมันสวยดีนะ แต่จริงๆ มันมีเหตุผลของมัน อย่างทุกอาชีพที่พูดถึง นอกจากความลึกแล้วมันต้องมีอย่างอื่นผสมผสานด้วย

ไทยพับลิก้า : ถ้าความลึกอย่างเดียว โดยไม่ลิงค์กับบริบทอื่นๆ ล่ะ แล้วสินค้าจะตอบโจทย์ความยั่งยืนอย่างไร

ผมว่าอย่างแรกต้องเป็นคนดีก่อน ถ้าเป็นคนดี จิตใจดี ทุกอย่างก็ดีหมด ถ้าเป็นคนจิตใจดีก็จะมองโลกในมุมที่ดี ไม่ว่าจะเป็นกินอยู่นอนหลับการทำงานมันก็จะเอามุมดีออกมา จะไม่ผลิตสินค้าแบบที่เอาเปรียบคน ใครจะรู้ว่าในโลกนี้มีสาหร่ายปลอม มีคอนโดปลอม มีไข่ปลอม ปลอมแม้กระทั่งหน้าต่าง

หัวใจมันคือเรื่องนี้คือเราจะสร้างคนให้เขามีจิตใจที่ดีก่อน อันนี้คือพื้นฐานสุดเลยนะ ไม่มีอะไรกว่านี้ไปอีกแล้วนะ เราก็มองคนมองทุกอย่างว่ามันมีผลกระทบ แม้กระทั่งกับบ้านผม นกเยอะมากเลย มีนกมาทำรัง พอเราสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อให้เขา ไม่ไปรบกวนเขา เขาอยู่กับมันอย่างปลอดภัย และเราก็ไม่ไปไล่เขา เราจะรดน้ำเราก็เกรงใจเขา เราก็ค่อยๆ รด คือมันก็มาทางวิถีชีวิตหมด คือถ้ามันจิตใจดีคนเขาก็มาอาศัย มันก็โยงไปถึงเรื่องสถาบันครอบครัว และโยงไปถึงผลิตภัณฑ์ที่เราจะทำออกมาให้คน

แน่นอน ผลิตภัณฑ์ก็คืออาชีพ พอคิดดีก่อนก็จะสร้างของดีออกมา แม้กระทั่งคนรู้หรือไม่รู้ก็ตามที่เราจะทำของดีออกมา คนจะรู้ไหมว่าเราทำดินสอไม่มีไส้ตรงปลาย โรงงานบางแห่งถามกลับมาว่าแบบงกมากเลย ก็ต้องบอกเขาว่าเป็นยังไง เขาถึงจะยอมทำให้

ผลิตภัณฑ์ DRAWING OUT
ผลิตภัณฑ์ DRAWING OUT

ไทยพับลิก้า : แนวโน้มตอนนี้ทุกที่ทุกคนกำลังพูดถึงความรับผิดชอบต่อสังคม พูดถึงเรื่องความยั่งยืน คิดอย่างไรกับเรื่องนี้

ผมว่ามันเป็นโมเดลของการตลาดว่าจะทำ เพื่อที่จะไปสู่การสร้างแบรนด์ มันเป็นโมเดลความสำเร็จของธุรกิจ แต่มันไม่ใช่โมเดลของคนดี มันคนละโมเดล

ไทยพับลิก้า : ของเกเรนี่คือเป็น inprocess

ผมว่าความรับผิดชอบตั้งแต่ตอนก่อนจะทำธุรกิจเลย ไม่ใช่ค่อยมารับผิดชอบตามโมเดลธุรกิจ แล้วค่อยมาทำโปรเจกต์ ผมว่าต้องคิดตั้งแต่แรกเลย อย่างผมจะทำยางลบ ผมก็ไปรีเสิร์ชว่ายางลบมันทำมาจากอะไร ผมเพิ่งรู้ว่ามันทำมาจากพีวีซี พีวีซีนี่อยู่ในทุกแบรนด์เลย บางแบรนด์ก็ไม่บอก บางแบรนด์ก็บอก แล้วพีวีซีมันมีผลอะไร เราก็ไปรีเสิร์ชต่อ โห…มีผลแบบน่าตกใจมาก มีผลต่อระบบฮอร์โมนเพศ ระบบภายใน แล้วเราก็ให้เด็กของเรา ให้ลูกเราใช้ เด็กไม่รู้หรอก ก็ลบๆ แล้วไปหยิบขนมกิน หรือสัมผัสสูดดม ยางลบหอมใช่ไหม เด็กดมๆ เคี้ยวๆ อันตราย ดูเหมือนเรื่องเล็กนะ แต่เรื่องใหญ่มาก และมันจะมีผลเป็นสารตั้งต้นทำให้เกิดมะเร็งเยอะมาก ไม่มีใครรู้ แต่ที่น่าตกใจก็คือว่า ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อเดียวกันแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ถ้าญี่ปุ่นยี่ห้อนี้ก็จะเป็นวัสดุอีกแบบหนึ่งที่ไม่เป็นสารพิษ แต่จะส่งมาสำหรับโลกที่ 3 ของพวกเราให้ใช้ของสารพิษทำจากพีวีซีหมดเลย ผมสู้มาประมาณปีกว่าแล้ว เพื่อทำยางลบแบบไม่มีสารพิษ ล่าสุดกำลังสู้กับฮ่องกงอยู่ว่าขอวัสดุที่ไม่มีสารพิษจริงๆ ได้ไหม เอาแบบลบดีด้วยและไม่มีสาร

ถ้าผมจะทำยางลบ ผมก็จะรับผิดชอบมันตั้งแต่แรกเลย ความจริงไม่ต้องรับผิดชอบก็ได้เพราะทุกคนใช้กันมาแบบนี้ แล้วมาทำซีเอสอาร์ทีหลัง แต่ผมไม่ได้คิดแบบนั้น

ผมมีแม็คอันนึงที่ไม่ต้องใช้ไส้แม็ค เป็นแม็คที่ไปขนาดนั้น ECO จนไม่มีไส้แม็คแล้ว ดีไซน์แบบนี้ผมถือว่าเปลี่ยนโลกนะ แล้วขายแบบไม่แพง ทำให้กระดาษมันขัดกัน คือมันไม่มีไส้แม็คมันคือปากของอุปกรณ์ คือเมืองนอกเขาคิดยังงี้กันแล้วนะ แต่เรายังไม่มี มัน ECO เพราะงั้นผลิตภัณฑ์ทุกอันมันก็จะต้องมีกรอบที่จะต้องเดินแบบนี้

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้หลายธุรกิจกำลังพูดถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร (Corporate Social Responsibility: CSR) คิดเห็นอย่างไร

ผมมองว่า มันเป็นรูปแบบหนึ่งของการตลาดในการสร้างชื่อเสียงให้กับบริษัท เหมือนกับว่า การทำธุรกิจจะไปเป็นขั้นตอน ขั้นตอนแรกเป็นอย่างนี้ ขั้นตอนสองเป็นอย่างนี้ และเมื่อบริษัทเริ่มใหญ่ขึ้นก็จะมีการทำซีเอสอาร์ขึ้น เพื่อเป็นการสร้างเอกลักษณ์ให้กับตราสินค้าให้เป็นที่รู้จักและจดจำมากขึ้นหรือให้คนได้รู้ว่าบริษัทเราจะตอบแทนสังคมยังไง โดยที่ไม่สนว่าจะธุรกิจประเภทไหนด้วยนะ แต่ก็จะใช้รูปแบบการทำธุรกิจแบบนี้

ไทยพับลิก้า : คิดว่าซีเอสอาร์มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน

อย่างที่ผมบอกว่าเป็นรูปแบบธุรกิจ เพราะฉะนั้น เมื่อเราเดินตามรูปแบบธุรกิจแบบเดิมๆ เราก็จะคิดแบบเดิมๆ ถ้าถามว่าผิดไหม มันก็ไม่ผิดหรอกครับ แต่ถ้าเกิดจะไม่ใช้รูปแบบธุรกิจแบบนั้นได้ไหม ผมมองว่า ถ้าคิดจะเริ่มทำธุรกิจ ก็ควรจะรับผิดชอบตั้งแต่เริ่มเลย ไม่ใช่ทำธุรกิจไปแล้วค่อยมาทำซีเอสอาร์ทีหลังก็ได้ อย่างเช่น ผมจะทำธุรกิจเกี่ยวกับภาชนะใส่อาหาร ผมก็มองเห็นถึงอันตรายจากการใช้กล่องโฟมใส่อาหาร เพราะฉะนั้นผมก็จะทำภาชนะใส่อาหารที่ไม่มีสารพิษ ประมาณนี้ครับ

นายชาญฉลาด

อย่างธุรกิจเครื่องเขียนของผม ผมต้องการจะผลิตยางลบ ผมก็ไปศึกษาดูว่ายางลบทำมาจากอะไร ก็พบว่ายางลบในประเทศไทยทำมาจากสารพีวีซีซึ่งเป็นพลาสติกที่มีพิษมากที่สุด เกือบทุกแบรนด์ที่วางขาย โดยสารพีวีซีมีผลต่อระบบฮอร์โมนเพศ ระบบภายใน และสารตั้งต้นที่ทำให้เกิดมะเร็ง แล้วเราก็ให้ลูกใช้ เด็กก็ไม่รู้หรอก ลบๆ แล้วไปหยิบขนมกิน สารมันก็สะสมในร่างกาย อีก 5 ปี อาจจะเป็นโรคแบบนึง แต่เขาก็จะไม่รู้ว่ามีผลมาจากการสูดดม สัมผัสยางลบ

“ดังนั้นถ้าผมจะทำยางลบมาขาย ผมมองว่าควรมีความรับผิดชอบตั้งแต่แรกเลยมากกว่า คงไม่ทำอะไรที่มันเร็วๆ ง่ายๆ แล้วก็ชุ่ยๆ ผมจะไม่ทำแบบนั้น”