ThaiPublica > เกาะกระแส > กสทช. เสนอคู่มือจริยธรรมและการกำกับดูแลกันเอง แจงแผนปฏิบัติผู้ประกอบกิจการกรณีภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน

กสทช. เสนอคู่มือจริยธรรมและการกำกับดูแลกันเอง แจงแผนปฏิบัติผู้ประกอบกิจการกรณีภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน

12 เมษายน 2014


กสทช. เสนอคู่มือจริยธรรมและการกำกับดูแลกันเอง พร้อมชี้แจงแผนขั้นตอนการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประกอบกิจการในกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน และแนวทางในการจัดทำกลไกการรับเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการออกอากาศของทีวีดิจิทัล

11 เมษายน 2557 กลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชี้แจงผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลในการเตรียมแผนกรณีเกิดภัยพิบัติหรือมีเหตุฉุกเฉิน และเตรียมกลไกการรับเรื่องร้องเรียน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลต้องจัดทำแผนการออกอากาศเมื่อเกิดภัยพิบัติและนำส่งต่อ กสทช. ภายใน 30 วันหลังได้รับใบอนุญาตในวันที่ 25 เม.ย. นี้ พร้อมเสนอให้มีการรวมกลุ่มกันของผู้ประกอบการเพื่อสร้างมาตรฐานในการกำกับดูแลตัวเอง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการออกอากาศของทีวีดิจิทัล

กสทช. เสนอคู่มือจริยธรรมและการกำกับดูแลกันเองในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (Ethical Guideline and Self-regulation for Broadcasting) เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ในคู่มือเสนอหลักการ “Do & Don’t ข้อที่ควรทำและไม่ควรทำ” ในรายการข่าว ละคร และโฆษณา เช่น ในรายการข่าวไม่ควรนำเสนอเนื้อข่าวที่มีเนื้อหาสร้างความขัดแย้ง ยั่วยุให้เกิดความุรนแรง กระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศในทางลบ ใช้คำพูดพาดพิง ดูหมิ่น สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ไม่นำเสนอข่าวที่ส่งผลกระทบต่อผู้ตกเป็นข่าวซ้ำๆ โดยเฉพาะภาพข่าวที่มีความรุนแรง ภาพข่าวที่มีผู้รุมทำร้ายผู้ต้องหา ไม่เสนอข่าวที่เป็นความเชื่อ ข่าวที่เร้าอารมณ์

ในละครต้องไม่เสนอฉากเสพยาเสพติด ฉากยั่วยุกามารมณ์ ฉากล้อเลียนกลุ่มเฉพาะ ฉากที่มีเนื้อหากระทบต่อสถาบันครอบครัว สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ไม่เสนอบทพูดหยาบคาย ภาพความรุนแรง ไม่เสนอเนื้อหาที่แสดงออกทางการเมือง และไม่มีโฆษณาแฝง ส่วนในการโฆษณาต้องไม่โฆษณาสินค้าที่ผิดกฎหมาย ไม่โอ้อวดเกินจริง ไม่มีเนื้อหาโจมตียี่ห้ออื่น ไม่มีเนื้อหาเป็นอันตรายต่อเด็ก และไม่ใช้ผู้เชี่ยวชาญมาโฆษณาสินค้าทุกประเภท

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) กล่าวว่า คู่มือนี้เป็นแค่ไกด์ไลน์ ผู้ประกอบการจะใช้ตามนี้หรือร่างเพิ่มเติมก็ได้ หากกลุ่มผู้ประกอบการไม่รวมตัวกันเพื่อสร้างมาตรฐานขึ้นมาก็จะเป็นการเปิดช่องให้ กสทช. เข้าไปใช้อำนาจทันทีเมื่อมีผู้ร้องเรียนเข้าไปที่ กสทช. ในทางตรงข้าม หากช่องต่างๆ รวมตัวกันแล้วกำกับตัวเอง เปิดให้มีการร้องเรียนที่ช่องของตัวเอง ก็จะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนมากกว่า โดยในอนาคตจะมีการนัดผู้ที่ทำงานด้านโฆษณาและการเซ็นเซอร์มาทำเวิร์กช็อปเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันว่ามาตรฐานในการโฆษณาควรจะเป็นแบบใด

nbtc

ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติงานของผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ในกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน ระบุว่า เมื่อเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินหมายความว่า เหตุใดๆ อันอาจเกิดขึ้นและคาดหมายว่าเหตุดังกล่าว อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายในชีวิต ทรัพย์สิน สิทธิ หรือเสรีภาพของประชาชนในวงกว้าง และให้หมายถึงสาธารณภัยต่างๆ ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้วย ให้อิงแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น สำนักนายกรัฐมนตรี ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมทรัพยากรธรณี กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฯลฯ หรือหน่วยงานที่คณะกรรมการเห็นว่าเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้

โดยทางผู้ประกอบการต้องมีการเตรียมความพร้อม 4 ด้าน ด้วยกัน คือ การเตรียมความพร้อมด้านบุคคล ให้มีความพร้อมติดต่อกับ กสทช. ตลอด 24 ชั่วโมง การเตรียมความพร้อมด้านการรับหรือแสวงหาข้อมูล การเตรียมความพร้อมด้านการออกอากาศ และการเตรียมพร้อมด้านแผนปฏิบัติการ

กสทช. เน้นว่า ในขณะที่มีการเตือนภัย ห้ามมีการแสดงความคิดเห็น ยกเว้นความคิดเห็นจากเจ้าหน้าที่รัฐและผู้เชี่ยวชาญโดยตรง เพื่อให้การเตือนภัยเป็นเอกภาพ และทำให้ความสับสนลดน้อยลง ผู้ประกอบการทั้ง 24 ช่องต้องพูดคุยกันเอง ตกลงให้มีมาตรฐานการกำกับดูแลตัวเองเดียวกัน กสทช. จะมีการนัดผู้ประกอบการมาซักซ้อมเพื่อเตรียมพร้อมเป็นระยะๆ ด้วย

nbtc2

ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลต้องเตรียมเปิดช่องการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน

การจัดทำกลไกการรับเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพนั้น ต้องออกแบบกลไกให้มีช่องทางร้องเรียนที่สะดวก ไม่คิดค่าใช้จ่าย และต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบช่องทางด้วย โดยเมื่อรับเรื่องร้องเรียนแล้ว ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 30 วัน และแจ้งผลภายใน 7 วัน หากแก้ไขปัญหาแล้ว

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลต้องเก็บข้อมูลหรือไฟล์ที่ใช้ออกอากาศไว้ 90 วัน และรายงานผลต่อ กสทช. ทุก 6 เดือน เพื่อที่ กสทช. จะได้ติดตาม ตรวจสอบการดำเนินการได้ ซึ่งข้อดีต่อผู้บริโภคคือ ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้โดยตรงที่สถานีทีวีดิจิทัลเพื่อการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที

หากทางช่องมีการโฆษณารายการที่กำลังจะนำมาฉาย แต่ก็หยุดหายไปไม่ได้นำมาฉายโดยไม่แจ้งให้ผู้บริโภคทราบล่วงหน้าโดยไม่มีเหตุสมควร ก็อาจจะเข้าข่ายมีความผิด รวมถึงการโฆษณาบริการหรือสินค้าเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด ส่งผลให้ผู้บริโภครับชมรายการอย่างไม่ต่อเนื่อง ส่วนเรื่องระยะเวลานั้นทาง กสทช. อยู่ในขั้นตอนคำนวณระยะเวลาที่เหมาะสม

ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เสนอข้อมูลด้านการโฆษณาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพว่ามีแนวโน้มที่จะมีมูลค่ามากขึ้นเรื่อยๆ และพบว่ามีการโฆษณาที่ผิดหลักของ อย. กว่า 9,000 ราย สาเหตุหนึ่งมาจากการขยายตัวของสื่อใหม่ต่างๆ ทำให้มีการโฆษณาที่ผิดกฎหมายมากขึ้น

การโฆษณายา อาหาร และเครื่องมือแพทย์ ต้องได้รับการอนุญาติจากเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาหรือนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ส่วนเครื่องสำอางและวัตถุอันตรายไม่ต้องขออนุญาตแต่ต้องอยู่ในขอบเขตกฎหมาย ซึ่งการออกอากาศรายการหรือการโฆษณาที่มีเนื้อหาสาระในลักษณะเป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการหรือสินค้าโดยหลอกลวง หรือกระทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้านั้น หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือข้อมูลอันไม่เป็นความจริง หรือเกินความจริง จะมีความผิด

สิ่งที่เป็นปัญหาตอนนี้คือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่อาจทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ เพราะจัดเป็นอาหารที่รับประทานเพื่อเสริมสารบางอย่างนอกเหนือจากอาหารปกติ รูปลักษณ์คล้ายยา แต่ “ไม่ใช่ยา” จึงมีการโฆษณาเผยแพร่ให้เข้าใจผิดว่าสามารถบรรเทา รักษา หรือป้องกันความเจ็บป่วยได้ และไม่อนุญาตให้กล่าวอ้างหรือรับรองโดยบุคคล องค์กร หรือหน่วยงานใดๆ

อ่านเพิ่มเติม 1. แนวทางจัดทำแผนภัยภิบัติ
2. กระบวนการในการกำกับดูแลตนเองและจรรยาบรรณ
3. แนวทางการรับพิจารณาเรื่องร้องเรียน
4. กฎหมายเกี่ยวกับผู้บริโภค (อย.)

ป้ายคำ :