ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ธนาคารโลกคาด ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเติบโตมั่นคงในปี 2557 – แต่ไทยจีดีพีต่ำสุดในอาเซี่ยน

ธนาคารโลกคาด ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเติบโตมั่นคงในปี 2557 – แต่ไทยจีดีพีต่ำสุดในอาเซี่ยน

7 เมษายน 2014


สิงคโปร์ 7 เมษายน 2014 ธนาคารโลกเปิดรายงาน East Asia Pacific Economic Update 2014 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในเขตเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกน่าจะเติบโตอย่างมั่นคงในปีนี้ เนื่องจากการฟื้นตัวของกลุ่มประเทศรายได้สูงและการตอบสนองจนถึงวันนี้ที่ไม่รุนแรงนักต่อการลดการอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หรือคิวอี (QE)

ธนาคารโลกคาดว่าปีนี้ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกจะเติบโต 7.1% ซึ่งไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงจากปีที่แล้วนัก ทำให้ภูมิภาคนี้ยังคงเป็นภูมิภาคที่เติบโตมากที่สุดในโลก แม้ว่าจะชะลอตัวจากค่าเฉลี่ยของปี 2552-2556 ที่ 8% ก็ตาม สำหรับประเทศจีนจะชะลอการเติบโตลงเล็กน้อยจากปีที่แล้วที่ 7.7% เป็น 7.6% ในปีนี้ ถ้าไม่รวมประเทศจีน ประเทศที่เหลือในภูมิภาคจะเติบโตได้ที่ 5% ลดลงจาก 5.2% ในปีที่แล้ว

“ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ได้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินโลก การเติบโตที่แข็งแกร่งมากขึ้นของเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะช่วยให้ภูมิภาคขยายตัวในระดับที่คงที่ได้ แม้จะต้องปรับตัวกับเงื่อนไขทางการเงินของโลกที่เข้มงวดก็ตาม” แอ็กเซิล ฟาน ทรอตเซนบวร์ก (Axel van Trotsenburg) รองประธานธนาคารโลก ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าว

เปรียบเทียบจึดีพีประเทศในอาเซี่ยน

สำหรับประเทศขนาดใหญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้่ เช่น มาเลเซียและไทย จะต้องเผชิญกับเงื่อนไขทางการเงินโลกที่เข้มงวดขึ้น และภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูง มาเลเซียการส่งออกจะฟื้นตัว น่าจะเติบโตได้ 4.9% แต่ต้นทุนการจัดการหนี้ที่สูงขึ้นและความมั่นคงทางการเงินการคลังจะยังเป็นแรงกดดันต่ออุปสงค์ภายในประเทศอยู่ ขณะที่ฟิลิปปินส์การเติบโตชะลอเหลือ 6.6% ต่อปี แต่การใช้จ่ายในการก่อสร้างซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานที่ถูกทำลายไปในภัยธรรมชาติปี 2556 น่าจะชดเชยการชะลอตัวของการบริโภคได้

ขณะที่ประเทศขนาดเล็กก็คาดการณ์ว่าจะเติบโตได้อย่างคงที่และต่อเนื่อง แต่อาจจะเผชิญกับความเสี่ยงในการที่เติบโตเร็วเกินไปและควรต้องรัดเข็มขัดในภาคการเงินมากขึ้น สำหรับประเทศกัมพูชา คาดว่ากระแสปฏิรูปครั้งใหม่หลังจากการเลือกตั้งจะเป็นตัวช่วยให้เศรษฐกิจของกัมพูชาเติบโตอย่างมีเสถียรภาพที่ 7.2% แต่ตลาดแรงงานที่ไม่มั่นคงก็ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงอยู่ ขณะที่กระบวนการปฏิรูปเชิงโครงสร้างของเมียนมาร์ก็น่าจะทำให้เมียนมาร์เติบโตที่ 7.8% ประเทศเวียดนามต้องเผชิญกับการดำเนินงานที่ล่าช้าในการปฏิรูปโครงสร้างการธนาคารและภาคอื่นๆ ทำให้อาจจะเติบโตได้ 5.5% นอกจากนี้ ประเทศหมู่เกาะอื่นๆ และติมอ-เลสเต ยังต้องพึ่งการช่วยเหลือและเงินโอนจากประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่

ความเสี่ยงของภูมิภาคยังคงเป็น “การฟื้นตัวของประเทศขนาดใหญ่ที่อาจจะน้อยกว่าที่คาดการณ์, การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของโลก และความผันผวนในราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากความตึงเครียดทางการเมืองในยุโรปตะวันออก ซึ่งตอกย้ำว่าเอเชียตะวันออกยังคงเป็นความเสี่ยงต่อการพัฒนาของโลกไปในทิศทางตรงกันข้าม” เบิร์ต ฮอฟแมน (Bert Hofman) หัวหน้าเศรษฐกรธนาคารโลก ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว

ในด้านที่ดี การลดการอัดฉีดเงินของสหกรัฐทำให้ค่าเงินมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และน่าจะช่วยเอเชียตะวันออกจัดการกับปัจจัยเสี่ยงภายนอกได้ รวมไปถึงการถอนเงินทุนออกจากภูมิภาค ยิ่งไปกว่านั้น เกือบทุกประเทศก็ยังมีเงินสำรองที่เพียงพอจะรับมือกับการค้าและปัจจัยเสี่ยงภายนอกได้

“เพื่อรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะเวลาที่ยาวออกไป ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกต้องเพิ่มความพยายามเป็น 2 เท่าในการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในการเติบโตและเพิ่มความเชื่อมั่นของตลาด” ฮอฟแมนกล่าว

การปฏิรูปโครงสร้างเป็นกุญแจสำคัญในการลดปัจจัยเสี่ยงและเพิ่มความยั่งยืนในการเติบโตระยะยาว ประเทศจีนได้เริ่มต้นการปฏิรูปในหลายภาคส่วน ทั้งการเงิน การเข้าถึงตลาด การเคลื่อนย้ายแรงงาน และการนโยบายการคลัง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเติบโตและกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ การเริ่มต้นบางประการที่รัฐบาลได้ประกาศออกแล้วก็มี เช่น การปฏิรูปภาษี และการลดการกีดกันในการลงทุนภาคเอกชน ก็น่าจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในระยะสั้น

การประสบความสำเร็จของประเทศจีน ก็ทำให้ประเทศคู่ค้าเริ่มพิจารณาประโยชน์ในการเข้ามาค้าขายในสินค้าต่างๆ อีกครั้ง เช่น สินค้าเกษตร สินค้าบริโภค และบริการสมัยใหม่ ในทางตรงข้าม การกระจายตัวของความไม่สมดุลในประเทศจีน อาจจะทำร้ายการเติบโตของเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลกได้ โดยเฉพาะประเทศที่มีเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการส่งออกพลังงานเป็นหลัก

นอกจากนี้รายงานยังกล่าวว่า ประเทศกำลังพัฒนาที่เหลือในภูมิภาคก็อาจจะได้รับประโยชน์จากการปฏิรูปโครงสร้างด้วย เช่น การอำนวยความสะดวกในการค้าระหว่างประเทศ สนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะภาคการบริการ ในบริบทนี้การรวมกลุ่มของ AEC ในปี 2558 น่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุนและการส่งออกระหว่างภูมิภาคได้ และเป็นกำลังสำคัญในการเติบโต

เปรียบเทียบจีพีดีประเทศอาเซี่ยน

เศรษฐกิจไทยโตต่ำที่สุดในอาเซี่ยน

นอกจากนี้รายงานธนาคารโลก”East Asia Pacific Economic Update” ได้วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก รวมถึงประเทศไทยด้วย

จากรายงานล่าสุด ธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจไทยจะโตเพียง 3% ขณะที่ประเทศในอาเซียนโตเฉลี่ย 4.8% โดยประเทศที่เศรษฐกิจน่าจะโตมากที่สุดคือประเทศเมียนมาร์ที่ 7.8% ทั้งนี้ ถ้าการเมืองคลี่คลายได้ คือมีรัฐบาลที่มั่นคง จัดการปัญหาเงินจำนำข้าวที่ยังค้างชาวนาอยู่ (ซึ่งคิดเป็น 1% ของ จีดีพี) และเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมาได้ ก็คาดว่าเศรษฐกิจสามารถเติบโตมากกว่านี้

การเมือง-เศรษฐกิจโลกปัจจัยเสี่ยงสุด

ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจจะต่ำกว่าที่คาดการณ์ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะส่งผลเสียโดยตรงต่อการส่งออกไทย ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองซึ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนและสร้างความยากลำบากในการประกอบธุรกิจ จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจเช่นกัน

นอกจากนี้ ความล่าช้าของโครงการลงทุนภาครัฐ ทั้งโครงการบริหารจัดการน้ำ และโครงการ 2 ล้านล้าน จะส่งผลเสียต่อการเติบโต ไม่ใช่เพียงแต่ปีนี้แต่ในระยะยาวด้วย ยิ่งไปกว่านั้นสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่มั่นคง จะทำให้รัฐบาลมุ่งความสนใจในระยะสั้นมากกว่าการพัฒนาในระยะยาว เช่น การพัฒนาทักษะและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

การบริโภคครัวเรือนเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ-ครัวเรือยังระมัดระวังการใช้จ่าย

การบริโภคภาคครัวเรือนในปี 2557 ธนาคารโลกระบุว่าน่าจะเติบโตที่ 1.5% เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ 1.3% และกำลังค่อยๆ ฟื้นตัว เนื่องจากการปรับตัวของประชาชนตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีที่แล้ว เมื่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐหมดลงและผลกระทบจากนโยบายเริ่มหดตัว ประกอบกับการลดภาษีเงินได้ซึ่งจะมีผลในปี 2557 ทำให้ครัวเรือนมีรายได้ใช้จ่ายมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ครัวเรือนน่าจะยังระมัดระวังการใช้จ่ายต่อไป เนื่องจากความไม่แน่นอนต่างๆ เช่น ความไม่แน่นอนทางการเมืองว่าจะจบลงอย่างไร เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้ดีและมั่นคงหรือไม่ โครงการจำนำข้าวจะมีต่อไปหรือไม่ และเงินที่ค้างชาวนาอยู่จะได้รับเมื่อไร นอกจากนี้ หนี้ครัวเรือนที่ยังสูงอยู่เกือบ 80% ของจีดีพีก็อาจจะชะลอการบริโภคได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ในภาคเศรษฐกิจอื่น ธนาคารโลกคาดการณ์ไว้ดังนี้ การส่งออกไทยน่าจะโต 6% เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ติดลบเล็กน้อย เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว ประกอบกับการที่สหรัฐฯ ลดการอัดฉีดเงินเข้าเศรษฐกิจ ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง ส่งผลให้สินค้าไทยถูกลงในสายตาของต่างชาติ ขณะที่ตลาดจากสหภาพยุโรปก็เริ่มฟื้นตัวเช่นกัน

นอกจากนี้ ปัญหาโรคกุ้งก็เริ่มคลี่คลายและควบคุมได้ และการส่งออกข้าวก็น่าจะมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลต้องลดสต็อกข้าว การนำเข้าจะเติบโตขึ้น 3% ส่งผลให้ดุลดารค้าเกินดุล 3.5% ของจีดีพี เพิ่มขึ้นจาก 1.6% ในปีที่แล้ว ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 0.9% ของจีดีพี เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ขาดดุล 0.7% รวมทั้งการลงทุนภาคเอกชนจะโตขึ้น 1% เนื่องจากความล่าช้าของโครงการลงทุนภาครัฐ