ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > อ่านอาการประเทศไทยผ่านอันดับเรตติ้ง-จับตาความเสี่ยงเครดิตประเทศถูกหั่น

อ่านอาการประเทศไทยผ่านอันดับเรตติ้ง-จับตาความเสี่ยงเครดิตประเทศถูกหั่น

22 เมษายน 2014


เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2557 มีรายงานข่าวความเสี่ยงเครดิตประเทศอาจจะถูกปรับจากสถานการณ์การเมืองที่ไม่สงบ หากย้อนรอยประวัติเครดิตของประเทศไทย โดยรวบรวมข้อมูลจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง พบว่าประเทศไทยได้เริ่มว่าจ้างสถาบันจัดเครดิตเรตติ้งในปี 2530 โดยว่าจ้างบริษัท Japan Bond Research Institute (JBRI) ประเทศญี่ปุ่น ต่อมาในปี 2532 ได้ว่าจ้างบริษัท Standard & Poor‘s (S&P’s) และ Moody’s ซึ่งเป็นสถาบันวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของสหรัฐอเมริกา และในปี 2541 กระทรวงการคลังก็ได้ว่าจ้างบริษัท Fitch Ratings เป็นบริษัทวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือเพิ่มอีกบริษัทจนถึงปัจจุบัน

เครดิตเรตติ้งครั้งแรกของประเทศไทยที่จัดโดย S&P’s และ Moody’s คือระดับ A- และ A2 ตามลำดับ จนกระทั้งปี 2537 S&P’s ก็ได้ปรับเพิ่มระดับเครดิตจาก A- เป็น A และคงไว้จนถึงปี 2540

credit moody's

เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือก็ปรับระดับเครดิตลงหลายครั้ง โดย Moody’s ได้ลดเครดิตจาก A2 เป็น A3 ในช่วงต้นปี 2540 เนื่องจากหนี้ต่างประเทศระยะสั้นยังสูง โครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อต่อการส่งออก และสถาบันการเงินมีหนี้เสีย หรือ NPL มาก รวมทั้งการพึ่งพาเงินออมจากต่างประเทศจำนวนมาก ทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

ในช่วงปลายปี 2540 Moody’s ก็ปรับลดเครดิตประเทศอีก 3 ครั้งจาก A3 เป็น Baa1 เป็น Baa3 และจบลงที่ Ba1 โดยครั้งแรกมีสาเหตุจากการจัดสรรการใช้จ่ายเงินทุนระยะสั้นไม่เหมาะสมและความเชื่อมั่นของเจ้าหนี้ต่อสถาบันการเงินลดลง ขณะที่ครั้งที่ 2 เป็นเพราะจะต้องคืนหนี้ระยะสั้นของประเทศไทย ทำให้เงินทุนสำรองของประเทศไทยลดลงจำนวนมาก และครั้งสุดท้ายเพราะข้อจำกัดทางการเมืองในการแก้ปัญหาที่ไม่คืบหน้า ส่วนการลดครั้งที่ 3 ในช่วงปลายปี 2540 เป็นการลดอันดับลดทีเดียว 2 อันดับและเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รับอันดับความเหมาะสมในการลงทุนที่ระดับเก็งกำไร หรือมีความเสี่ยงที่ประเทศจะ “เบี้ยว” ไม่จ่ายผลตอบแทน

ทั้งนี้ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจก็เริ่มทรงตัว Moody’s ไม่ได้มีการปรับเครดิตของประเทศไทยอีก จนกระทั่งปี 2543 ได้ปรับเครดิตขึ้นมาอีกครั้งจาก Ba1 เป็น Baa3 เนื่องจากประเทศมีดุลชำระเงินเกินดุลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก ประกอบกับมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในวงกว้าง เป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนอีกทางหนึ่ง สุดท้าย ในปี 2546 Moody’s ก็ปรับเครดิตเรตติ้งขึ้นอีกครั้งจาก Baa3 เป็น Baa1 และคงไว้จนถึงปัจจุบัน

credit s&p's

ขณะที่ S&P’s ได้เริ่มลดเครดิตของประเทศ โดยในเดือนกันยายน ปี 2540 จาก A เป็น A- เนื่องจากปัญหาหนี้เสียของภาคการเงิน และปัญหาหนี้ภาคเอกชนที่มีจำนวนมาก ทั้งนี้อีก 1 เดือนถัดมา S&P’s ก็ปรับลดเครดิตลงอีกจาก A- เป็น BBB เนื่องจากภาวะผู้นำทางการเมืองที่ยังคงไม่สามารจัดการกับปัญหาได้ รวมไปถึงยังคงมีเงินทุนไหลออกไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศขาดสภาพคล่องอย่างหนัก

สุดท้าย เมื่อถึงต้นปี 2541 S&P’s ก็ประกาศลดเครดิตลงอีกเป็น BBB- เนื่องจากไม่มีแนวโน้มว่าปัญหาในภาคการเงินจะคลี่คลาย ปัญหาหนี้ต่างประเทศระยะสั้นจำนวนมาก และการไหลออกของเงินทุนที่ยังมีอยู่

หลักจากนั้น S&P’s ก็คงระดับเครดิตเอาไว้จนถึงปลายปี 2546 ก็ปรับเครดิตเพิ่มขึ้นจาก BBB- เป็น BBB และปีถัดมาก็เพิ่มขึ้นอีกครั้งจาก BBB เป็น BBB+ เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นตามลำดับ

สถานการณ์เครดิตเรตติ้งในปัจจุบัน

ทั้งนี้สถานการณ์ในปัจจุบัน Moody’s ยังคงยืนยันอับดับเรตติ้งประเทศไทยไว้ที่ Baa1 โดยให้เหตุผลว่า
1) รัฐบาลยังมีโครงสร้างหนี้ที่ดี
2) มีความระมัดระวังในการดำเนินนโยบายการเงินและเศรษฐกิจมหภาคโดยรวม มีหน่วยงานอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ที่ยังคงเข้มแข็งอยู่
3) มีความแข็งแกร่งของภาคต่างประเทศ
4) แนวโน้มความแข็งแกร่งของการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจที่สมเหตุสมผล

ขณะที่ S&P’s เองก็ให้เหตุผลที่ยังคงอันดับเรตติ้งไว้ที่ BBB+ ว่า ประเทศไทยยังมีความแข็งแกร่งในภาคต่างประเทศ มีสถานะเป็นเจ้าหนี้สุทธิในสัดส่วนมากกว่า 20% ของรายรับบัญชีเดินสะพัด และความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย เช่น อัตราเงินเฟ้อที่ไม่สูงมาก เฉลี่ย 3% ตลอดเวลา 15 ปีล่าสุด

ทั้งนี้ นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้พูดถึงผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองกับระดับความน่าเชื่อถือของประเทศว่า สถาบันจัดอันดับเหล่านี้น่าจะปรับลดแนวโน้มเศรษฐกิจก่อนที่จะปรับลดเครดิตจริง

“สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ทั้ง Moody’s, S&P’s และ Fitch ก่อนที่เขาจะลดระดับความน่าเชื่อถือ จะมีสัญญาณเตือนเช่นเดียวกับ JBRI ก็คือปรับมุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจที่เขาเรียกว่า outlook ปกติเขาจะมี outlook มาก่อนเลย ซึ่ง outlook ของสามแห่งนี้ยังเป็น stable คือมีเสถียรภาพอยู่ เพราะฉะนั้นอันดับแรก เขาน่าจะทำแบบเดียวกัน ก็คือเตือนมาว่าตอนนี้ต้องจับตามองแล้วนะว่าสถานการณ์ในอนาคตอาจจะมีผลกระทบกับอันดับความน่าเชื่อถือก็ได้ เขาอาจจะปรับ outlook จาก stable เป็น negative หรือเป็นลบแล้วนะ อันนั้นน่าจะเป็นลำดับแรก แล้วถึงจะเป็นลำดับต่อไป คือ ถ้าสถานการณ์มันดีขึ้น ก็โอเคไม่เป็นไร แต่ถ้าสถานการณ์มันไม่ดีขึ้นแล้วมันแย่ลง อาจจะมีผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือ ถ้าเกิดโดนปรับลดเครดิตลงเลยน่าจะมีผลต่อการกู้เงินและระดมทุนของทั้งภาครัฐและเอกชน ” นางสาวจุฬารัตน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทั้ง Moody’s และ S&P’s ยังคงระดับแนวโน้มไว้ที่มีเสถียรภาพ (stable outlook) อยู่ทั้งคู่

เครดิตเรตติ้งคืออะไร มีความหมายว่าอย่างไร?

เครดิตเรตติ้งคือการจัดอันดับตราสารทางการเงิน ว่ามี “ความสามารถในการจ่ายผลตอบแทนที่ได้กำหนดไว้ในตราสารนั้นๆ” มากน้อยแค่ไหน หรือก็คือตราสารนั้นๆ มีโอกาสจะ “เบี้ยว” การจ่ายผลตอบแทนหรือไม่ ถ้ามีโอกาสเบี้ยวสูง ก็จะทำให้ความน่าเชื่อถือน้อยลงไปด้วย

ตราสารที่มีความสำคัญอันหนึ่งคือ พันธบัตรรัฐบาลของแต่ละประเทศ การจัดอันดับเครดิตเรตติ้งของตราสารชนิดนี้จะบอกว่ารัฐบาลหรือประเทศนั้นๆ จะเบี้ยวไม่จ่ายผลตอบแทนหรือไม่ ซึ่งโดยทั่วไปพันธบัตรรัฐบาลถือว่าเป็นตราสารที่มีโอกาสเบี้ยวน้อยที่สุด จึงเป็นไปไม่ได้ที่ตราสารทางการเงินอื่นๆ จะน่าเชื่อถือมากกว่าพันธบัตรรัฐบาล

ดังนั้น อันดับของพันธบัตรรัฐบาลนี้มักจะถูกเรียกว่าเป็นอันดับเครดิตเรตติ้งของประเทศโดยปริยาย เพราะเมื่อเครดิตเรตติ้งของพันธบัตรรัฐบาลถูกลดความน่าเชื่อถือ จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของตราสารทางการเงินอื่นๆ ทั้งหมดของประเทศนั้นๆ

โดยอันดับเครดิตเรตติ้งของแต่ละบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ก็มีการใช้สัญลักษณ์ที่แตกต่างกันและให้ความหมายดังนี้

lัญญลักษณ์เครดิตเรตติ้ง