ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ธปท. คาดงบประมาณ’58 เบิกจ่ายช้า 2 ไตรมาส เอกชนขาดความเชื่อมั่นชะลอลงทุน

ธปท. คาดงบประมาณ’58 เบิกจ่ายช้า 2 ไตรมาส เอกชนขาดความเชื่อมั่นชะลอลงทุน

25 เมษายน 2014


ดร.รุ่ง มัลลิกามาส โฆษก ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า จากการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ ออกมาระบุว่างบประมาณปี 2558 จะล่าช้าไป 5-6 เดือน หรือ 2 ไตรมาส ส่งผลให้ ธปท. ต้องปรับการคาดการณ์ต่างๆ ให้สอดคล้องกัน จากเดิมที่ ธปท. คาดว่าจะล่าช้าเพียงไตรมาสเดียว

ทั้งนี้ ความล่าช้าของงบประมาณส่งผลสองประการ ประการแรก คือ การใช้จ่ายของภาครัฐที่ลดลง ไม่สามารถสร้างแรงสนับสนุนต่อเศรษฐกิจได้ จากตัวเลขอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2556 อยู่ที่ 50.5% ส่วนปีงบประมาณ 2557 ครึ่งแรกที่ผ่านมา อัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ 49.2% ลดลงจากปีงบประมาณที่แล้ว แต่ถ้ามองเป็นเม็ดเงินก็ยังสูงกว่าปีก่อนเพราะตัวงบประมาณสูงกว่า ดังนั้นการใช้จ่ายภาครัฐยังช่วยกระตุ้นแต่ไม่มากนัก

ประการที่สอง คือ ภาคเอกชนจะยังชะลอการลงทุน เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งมีความสำคัญค่อนข้างมาก เพราะภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และตอนนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าเอกชนอยู่ในสภาพรั้งรอการลงทุนอยู่ โดยการลงทุนที่มีอยู่จะเป็นลักษณะของการซ่อมบำรุงมากกว่าการลงทุนใหม่ เพราะฉะนั้น ยิ่งออกงบประมาณล่าช้า ก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจในระยะยาวมากขึ้น

“ถ้างบประมาณยิ่งล่าช้าจะมีผลต่อเนื่องไปถึงภาคเอกชน ภาคเอกชนคงรีรอการลงทุนต่อไป ซึ่งเป็นตัวที่มีผลต่อเศรษฐกิจมากกว่าผลกระทบโดยตรงของการใช้จ่ายภาครัฐ” ดร.รุ่งกล่าว

สำหรับการส่งออกยังคงการคาดการณ์เดิมที่ 4.5% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว โดยเฉพาะประเทศกลุ่ม G3 ที่ตัวเลขการส่งออกของอาเซียนและประเทศคู่ค้าอื่นๆ ไปยังกลุ่ม G3 เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ สำหรับสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องแต่อาจจะช้ากว่าปกติ เนื่องจากเป็นการฟื้นตัวจากวิกฤติ ไม่ใช่ฟื้นตัวตามวัฏจักรเศรษฐกิจทั่วไป

“เราก็เห็นว่าการส่งออกของอาเซียนหรือประประเทศคู่ค้าอื่นๆ ของ G3 (สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น) มีสัดส่วนของการส่งออกที่ไป G3 ก็มากขึ้น ก็เห็นว่าผลดีของการฟื้นตัวของ G3 ก็เริ่มกระจายไปสู่คู่ค้าอื่นๆ ของเรา ทำให้เราก็น่าจะได้รับผลทั้งทางตรงที่เป็นการค้าขายโดยตรง และทางอ้อมก็น่าจะได้ด้วย” ดร.รุ่งกล่าว

นอกจากนี้ การค้าระหว่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มอาเซียนก็ส่งสัญญาณที่ดีและมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ

“เราก็เห็นจริงๆ ว่าตลาดเพื่อนบ้าน คือ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม เป็นตลาดที่ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ มีสัดส่วนประมาณ 8% ของการส่งออก ซึ่งใกล้เคียงกับสหภาพยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น เข้าไปทุกวัน ทั้งนี้ตลาดนี้ก็เป็นตลาดที่ขยายตัวได้ดีกว่าตลาดอื่นๆ มาโดยตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา” ดร.รุ่งกล่าว

หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี

ส่วนปัญหาการเมืองถ้าดูในอดีตของประเทศไทย ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติการเมืองจะฟื้นตัวค่อนข้างเร็ว ซึ่งครั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าจะเบ็ดเสร็จหรือเปล่า ถ้าไม่เบ็ดเสร็จ โอกาสที่จะฟื้นตัวในลักษณะที่เร็วคล้ายกับในอดีตอาจจะมีน้อยลง อีกส่วนหนึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่า ภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น อาจจะทำให้การฟื้นตัวไม่แรงเท่ากับในอดีต

สำหรับภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบัน มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยมีแรงกดดันจากการปรับราคาก๊าซหุงต้มและส่งผ่านไปยังราคาอาหาร โดยการปรับราคาจะสิ้นสุดในเดือนสิงหาคมปีนี้ ขณะที่องค์ประกอบอื่นๆ ของเงินเฟ้อ ไม่ได้มีการปรับตัวเท่าไรนัก และยังอยู่ในกรอบของ ธปท. อยู่

“จากการดูก็เห็นว่า เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเป็นองค์ประกอบในเรื่องของอาหาร เพราะฉะนั้นก็น่าจะเป็นเรื่องการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นจากราคาก๊าซหุงต้ม แต่ยังไม่เห็นว่าส่งผ่านไปยังราคาอื่นๆ ที่ไม่ใช่หมวดอาหาร เป็นการยืนยันได้ว่า โอกาสที่เงินเฟ้อจะเร่งตัวมากมันมีน้อย” ดร.รุ่งกล่าว