ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > มลภาวะจีน : ปัญหาที่ท้าทายมนุษยชาติ (2)

มลภาวะจีน : ปัญหาที่ท้าทายมนุษยชาติ (2)

12 มีนาคม 2014


อิสรนันท์

ผู้เชี่ยวชาญในสภาความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาระหว่างประเทศของจีน ยอมรับว่าแดนมังกรยังคงล้าหลังในการจัดสรรงบประมาณเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยเมื่อปี 2548 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมแค่ 838,800 ล้านหยวน (ราว 4,194,000 ล้านบาท) หรือประมาณ 1.3 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งได้เจียดงบประมาณด้านนี้อย่างน้อย 2 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี

ที่ประชุมสภาความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาระหว่างประเทศของจีนทำนายด้วยว่า นับวันปัญหาสิ่งแวดล้อมจะยิ่งคุกคามสุขภาพและความมั่นคงทางสังคม

ตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มหานครใหญ่น้อยทั่วประเทศ ล้วนแต่เผชิญมลภาวะทางอากาศในระดับเข้มข้น ส่วนใหญ่เป็นมลพิษที่มาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งรัฐบาลได้หันกลับมาส่งเสริมให้ใช้เป็นพลังงานทดแทนอีกครั้งหนึ่งในเขตชนบทห่างไกล นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมบางกลุ่มชี้ว่า การระเบิดเหมืองถ่านหิน อาจจะทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจายในอากาศและเป็นตัวการโหมกระพือของพายุทราย

แต่ที่เห็นได้ชัดก็คือ ปัญหาหมอกควันพิษส่วนใหญ่มาจากการเติบโตแบบก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ นับตั้งแต่รัฐบาลเริ่มส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้เมื่อปี 2522 เป็นต้นมา จำนวนรถยนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นถึงปีละ 22 เปอร์เซ็นต์ โดยคาดว่าจะเพิ่มเป็น 100 ล้านคันในอนาคตอันใกล้

วารสาร Ward’s ซึ่งเป็นวารสารรถยนต์ที่รวบรวมข่าวคราวความเคลื่อนไหวของรถยนต์ทั่วโลกเปิดเผยเมื่อปี 2554 ว่าขณะนี้ แดนมังกรจีน นอกเหนือจากจะครองแชมป์ประเทศที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของรถยนต์ในประเทศสูงที่สุดแล้ว ยังเป็นรองแชมป์ประเทศที่มีรถยนต์มากที่สุดในโลกด้วย โดยมีจำนวนรถยนต์มากถึง 78 ล้านคัน รองจากสหรัฐฯ แชมป์ตลอดกาลที่มีอัตราส่วนรถยนต์ 1 คันต่อประชากร 1.3 คน ส่วนอันดับ 3 ได้แก่ ญี่ปุ่น ที่มีรถยนต์ราว 74 ล้านคัน เทียบกับทั่วโลกที่มีรถยนต์ทุกประเภทวิ่งบนท้องถนนมากถึง 1,000 ล้านคัน

เฉพาะเมื่อปีที่แล้วเพียงปีเดียว ยอดขายรถยนต์ในจีนพุ่งขึ้นเกือบ 14% ถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี

ความเลวร้ายลงของมลพิษทางอากาศ ทำให้องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) เคยเตือนรัฐบาลปักกิ่งว่า ต้องเร่งเพิ่มงบประมาณด้านการป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในส่วนของรัฐบาลท้องถิ่น ไม่เช่นนั้นก็ไม่อาจจะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างทันท่วงทีและดีพอ

แต่คำเตือนนี้ออกจะสายเกินไปสักนิด เพราะจากภาพถ่ายดาวเทียม Terra/MODIS ขององค์การนาซาของสหรัฐฯ บันทึกเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2556 จะเห็นกลุ่มหมอกจากมลพิษทางอากาศปกคลุมอย่างหนาแน่นตั้งแต่กรุงปักกิ่งจนถึงเซี่ยงไฮ้ รวมเป็นระยะทางประมาณ 1,200 กิโลเมตร ซึ่งในวันเดียวกันนั้น เซ็นเซอร์ตรวจวัดสภาพอากาศของสถานทูตสหรัฐฯ​ในกรุงปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ ได้วัดค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศได้เท่ากับ 480 และ 355 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินกว่าระดับมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่าต้องน้อยกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ไม่เช่นนั้นจะส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่นั้น

ขณะเดียวกัน ผลการตรวจวัดดัชนีคุณภาพอากาศของกรุงปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ ปรากฏว่าสูงถึง 487 และ 404 ตามลำดับ เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ระหว่าง 50-300 ไม่เช่นนั้นจะเป็นอันตรายต่อชุมชน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคหัวใจหรือโรคปอด

ที่มาภาพ : http://roselawgroupreporter.com
ที่มาภาพ : http://roselawgroupreporter.com

ด้านนายอู๋ เสี่ยวชิง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแถลงเมื่อต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ยอมรับว่าจากผลการสำรวจคุณภาพของอากาศใน 74 เมืองใหญ่ ปรากฎว่ามีแค่ 3 เมืองเท่านั้นที่คุณภาพอากาศยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน นอกเหนือจากนั้นล้วนตกเป็นเหยื่อสังเวยความเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น ทั้ง 3 เมืองที่คุณภาพอากาศยังดีอยู่ ประกอบด้วยเมืองไหโขว่ ในมณฑลไหหลำ กรุงลาซาในทิเบต และเมืองโจวซานในมณฑลเจ้อเจียง

ส่วนเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุด โดยมีมลพิษในอากาศมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ มีมากถึง 7 เมือง รวมไปถึงกรุงปักกิ่ง เทียนสิน และเหอเป่ย ซึ่งทั่วทั้งเมืองคล้ายกับมีหมอกควันปกคลุม ท้องฟ้าเปลี่ยนสีเป็นสีเหลือง ดวงอาทิตย์จะเป็นสีแดงเข้ม อากาศมีกลิ่นไม่บริสุทธิ์

นับวันสถานการณ์ในภาคเหนือและภาคตะวันออกยิ่งเลวร้ายลงตามลำดับ ถึงขนาดที่เมื่อปลายปีที่แล้วต่อเนื่องถึงปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ทางการปักกิ่ง ซึ่งมีประชากรมากถึง 20 ล้านคน ต้องสั่งยกระดับการเตือนภัยสภาพอากาศจากระดับสีเหลืองเป็นสีส้มเป็นครั้งแรก อันเป็นระดับรุนแรงรองจากสีแดง

การเตือนภัยในบางช่วงบางโอกาสทั้งในกรุงปักกิ่งและอีกหลายเมือง เช่น เมืองนานกิง เมืองเอกของมณฑลเจียงซู และเมืองชิงเต่า มณฑลชานตง หมายถึงการขอให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน โรงเรียนหลายแห่งต้องให้นักเรียนอยู่ภายในอาคารตลอดทั้งวัน รวมไปถึงการห้ามเรียนวิชาพลศึกษาและออกกำลังกายกลางแจ้ง หรือบางโรงเรียนต้องปิดชั่วคราว เช่นเดียวกับโรงงานและการก่อสร้างที่ต้องยุติลงชั่วคราว ครอบคลุมไปถึงการห้ามรื้อถอนอาคาร ห้ามประชาชนใช้เตาปิ้งย่าง ห้ามเผาใบไม้-ขยะ ห้ามจุดดอกไม้ไฟ และจำกัดการใช้รถยนต์ของราชการ ส่วนที่เมืองเทียนสิน ทางการยังได้สั่งปิดเหมืองถ่านหินแห่งหนึ่งด้วย

นอกจากนี้ บางเมืองต้องสั่งระงับเที่ยวบินนับพันนับหมื่นเที่ยวบิน เนื่องจากทัศนวิสัยเลวร้ายมาก มองเห็นได้ในระยะแค่ไม่กี่ร้อยเมตร ถนนบางสายต้องสั่งปิดเพราะเกรงจะเกิดอันตราย

ซ้ำร้ายกว่านั้นคือ ปัญหาหมอกควันพิษนี้ยังลอยข้ามน้ำข้ามทะเลไปปกคลุมประเทศเพื่อนบ้านอย่างแดนปลาดิบญี่ปุ่นและแดนโสมขาวเกาหลีใต้ รวมทั้งที่แดนดินถิ่นอินทรีผยองอเมริกาอีกด้วย

ถึงขนาดที่รัฐบาลของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งต่างบ่นอุบอิบว่าได้รับผลกระทบจากหมอกควันพิษจากแดนจีนติดต่อกันมาหลายปีแล้ว ต้องประกาศเตือนภัย โดยกรุงโซลได้ประกาศเตือนภัยว่า ฝุ่นขนาดเล็กนี้อาจทำลายสุขภาพ พร้อมกับรีบส่งเจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อมไปกรุงปักกิ่งเมื่อปลายปีที่แล้ว เพื่อเรียกร้องให้จีนแบ่งปันข้อมูลที่ทันสมัยทันเหตุการณ์ให้กับประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงการอนุญาตให้ติดกล้องวงจรปิด หรือซีซีทีวี ภายในเมืองใหญ่ เพื่อจะได้มีเวลาเตรียมรับมือกับปัญหามลภาวะอย่างทันท่วงที

ขณะที่นายสตีฟ เดวิส นักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เปิดเผยผลการศึกษาเมื่อปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาว่า หมอกควันพิษจากแดนมังกรได้ลอยข้ามน้ำข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังชายฝั่งตะวันตกของแดนดินถิ่นอินทรี ทำให้มะกันชนบางพื้นที่ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า

ผลการศึกษาของนายเดวิสชี้ว่า 22 เปอร์เซ็นต์ของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และ 17 เปอร์เซ็นต์ของคาร์บอนดำที่แผ่คลุมรัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐโอเรกอน รัฐวอชิงตัน และเมืองพอร์ตแลนด์ นั้นติดมาพร้อมกับสินค้าส่งออกของจีน อาทิ โทรทัศน์ ของเล่น โทรศัพท์มือถือ และสินค้าอื่นๆ ซึ่งสร้างความวิตกไปทั่ว โดยเฉพาะคาร์บอนดำ ตัวการที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งรวมไปถึงโรคหัวใจ โรคปอด และหืด เนื่องจากสามารถเดินทางได้ไกล อีกทั้งสามารถทนอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นาน โดยไม่ถูกสายฝนชะล้างได้ง่ายๆ

ด้วยความอัดอั้นตันใจที่เห็นรัฐบาลแสนจะอืดอาดยืดยาดในการป้องกันหมอกควันพิษ บรรดาลูกหลานจีนต้องแก้ปัญหาในทางหนึ่งด้วยการแห่ไปซื้อหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันไม่ให้ต้องทนสูดดมหมอกควันพิษ อันจะมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ จนทำให้สินค้าขาดตลาด รวมไปถึงแห่กันไปซื้อเครื่องฟอกอากาศ ทำให้ยอดการขายเครื่องฟอกอากาศเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า อีกทางหนึ่งก็พร้อมใจกันประชดประชันหรือกระตุ้นความตื่นตัวหรือลงโทษรัฐบาลอย่างชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

อาทิ นักศึกษามหาวิทยาลัยปักกิ่ง ได้ลุกขึ้นมาประท้วงเงียบด้วยการสวมผ้าปิดปากป้องกันหมอกควันพิษให้กับรูปปั้นอนุสาวรีย์ของบุคคลสำคัญต่างๆ ทั่วรั้วมหาวิทยาลัย รวมไปถึงสวมผ้าคาดปากของประธานเหมา เจ๋อ ตุง ที่หน้าพระราชวังต้องห้าม จนเป็นที่สนใจของคนทั่วโลก หลังจากสื่อออนไลน์ของจีนได้โพสต์ภาพชวนหัวเหล่านั้น

นอกจากนี้ ชาวเมืองปักกิ่งหลายร้อยคนได้จัด “วิ่งสู้หมอกพิษ” โดยสวมแต่ชุดชั้นในทั้งสีสันและลวดลายแปลกตา แข่งวิ่งมินิมาราธอนระยะทาง 3.5 ก.ม. ภายในสวนสาธารณะโอลิมปิกฟอร์เรสต์ เรียกความสนใจจากประชาชนทั่วไปได้ไม่ใช่น้อยเช่นกัน

แต่ที่กล้าหาญกว่าใครก็คือ นายหลี่ กุ้ยซิน ชาวเมืองฉีเจียจวง เมืองเอกของมณฑลเหอเป่ย ซึ่งเป็นผู้กล้าคนแรกแห่งแดนมังกรที่ยื่นฟ้องศาลขอให้มีคำสั่งบังคับให้สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเทศบาลเมืองฉีเจียจวงปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมมลพิษทางอากาศให้เป็นไปตามกฎหมาย พร้อมทั้งยังเรียกร้องค่าเสียหายให้กับชาวเมืองที่เดือดร้อนจากมลพิษอากาศ ที่ต้องสิ้นเปลืองเงินในการหาซื้อหน้ากากป้องกันมลพิษ รวมทั้งต้องเปลืองเงินซื้อและติดตั้งเครื่องกรองอากาศ แถมยังต้องทนอุดอู้ออกกำลังกายในอาคาร

การประท้วงเงียบของประชาชน ทำให้รัฐบาลปักกิ่งไม่อาจนิ่งนอนใจได้อีกต่อไป ต้องเร่งหามาตรการต่างๆ มาสู้กับปัญหาหมอกควันพิษทันที