ThaiPublica > คอลัมน์ > การแปรรูป สกัดคอร์รัปชันได้

การแปรรูป สกัดคอร์รัปชันได้

19 มีนาคม 2014


หางกระดิกหมา

หากลองพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับสาเหตุการขอทวงคืน ปตท. แล้ว ก็จะพบว่าใจความหลักๆ นั้นหนีไม่พ้นเรื่องที่รัฐบาลกลบข้อมูลไม่ให้ประชาชนรู้ว่าเรารวยน้ำมัน และปล่อยให้ ปตท. เสวยกำไรอยู่บนความทุกข์ยากของประชาชน

เรื่องนี้จะจริงเท็จอย่างไร เพียงเอาตัวเลขมากางดูเดี๋ยวก็กระจ่าง ดังนั้น ในตอนที่แล้วได้เสนอให้มีการปฏิรูปเรื่องความโปร่งใสเกี่ยวกับข้อมูลของภาคพลังงานเสียก่อน ให้สองฝ่ายยืนอยู่บนข้อเท็จจริงชุดเดียวกัน แล้วค่อยว่ากันว่าจะปฏิรูปกันอย่างไร ไม่เช่นนั้นก็ไ้ด้เถียงกันคนละเรื่องอยู่อย่างนี้

กระนั้น ค่อนข้างแน่ใจว่า ไม่ว่าจะปฏิรูปอย่างไร การเอา ปตท. กลับไปอยู่กับรัฐสมควรจะถูกตัดออกไปก่อน ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า

หนึ่ง ประโยชน์อะไรที่จะเอา ปตท. กลับไปอยู่กับรัฐบาล เพราะในเมื่อรัฐบาลที่คิดจะฝากผีฝากไข้ สุดท้ายก็คือรัฐบาลที่กำลังไม่ไว้วางใจอยู่ในตอนนี้ และ

สอง ไม่ว่าการเอา ปตท. คืนกลับไปอยู่กับรัฐจะแก้ปัญหาอะไรได้ สุดท้ายก็จะต้องสร้างปัญหาใหม่คือปัญหาคอร์รัปชัน เพราะหนึ่งในสาเหตุของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตั้งแต่แรก ก็เพื่อไว้สกัดปัญหาคอร์รัปชันนั่นแหละ

อาจเป็นเพราะ ปตท. ถูกแปรรูปมานานเกินไป เราจึงได้ลืมกันไปแล้วว่ากิจการที่อยู่ในความดูแลของรัฐ หรือแปลอีกทีก็คืออยู่ในอำนาจนักการเมืองนั้น ย่อมหาดีได้ยาก เพราะกิจการของรัฐนั้น มีงบประมาณและสิทธิพิเศษมหาศาล แต่การดำเนินการยังไม่ถูกกฎหมายบังคับให้โปร่งใสเหมือนเอกชน ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจึง “มั่ว” กันได้เต็มพิกัด เริ่มตั้งแต่นักการเมืองซึ่งใช้อำนาจแจกโปรเจกต์แลกสินบน ผู้บริหารซึ่งไม่สนใจพัฒนาประสิทธิภาพเพราะใช้งบหลวงอุดความขาดทุนได้ พนักงานซึ่งเช้าชามเย็นชามเพราะไม่มีใครกวดขัน ตลอดจนพ่อค้าซึ่งขายของห่วยราคาแพงแต่ก็ยังทำธุรกิจกับรัฐได้เพราะใช้สินบนบังคับผลประมูล ฟังแล้วก็ไม่รู้ไปเอาที่ไหนมาคิดว่าสิ่งแวดล้อมอย่างนี้จะทำให้รัฐรับ ปตท. คืนไปแล้วสามารถทำน้ำมันมาขายให้คนไทยถูกๆ ได้

แน่นอน ถ้าจะเอาให้ถูกจริงๆ ก็ได้เหมือนกัน คือเอาเงินภาษีมาอุดหนุน แต่แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร เพราะถ้าภาษีนั้นเก็บมาจากคนที่ใช้น้ำมันนั้นอยู่แล้ว ก็แปลว่าเอาอัฐยายมาซื้อขนมยาย ยิ่งถ้าภาษีนั้นเก็บมาจากคนที่ไม่ได้ใช้น้ำมันยิ่งแล้วใหญ่ เพราะนั่นแปลว่าคนไม่ใช้กลับต้องเป็นคนจ่าย เศรษฐกิจก็จะบิดเบี้ยวไปทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่เอากลับไปเป็นของรัฐ แต่ก็ไม่ใช่ว่า ปตท. จะไม่จำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปอะไรเลย เพราะอย่างน้อยๆ แค่ในเส้นทางการแปรรูปที่ ปตท. ได้เดินมานี้ ก็ต้องเรียกว่ายังไม่บรรลุถึงจุดหมาย

เพราะหัวใจของการแปรรูป (Privatization) นั้นก็คือการเอากิจการที่เคยเป็นของรัฐและอยู่ในบงการของรัฐ ให้กลายมาเป็นของเอกชนและอยู่ในบงการของตลาด เพื่อที่จะได้อาศัยการบงการของตลาดบังคับกิจการให้ต้องพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตยิ่งขึ้น

โดยนัยนี้ การแปรรูปจึงไม่อาจทำโดยเพียงการเอากิจการของรัฐไปจดทะเบียนในตลาด หรือ “Corporatization” เท่านั้น หากแต่ต้องรวมถึงการจัดแต่งองค์ประกอบทั้งหลายที่จะทำให้ตลาดมีอำนาจเหนือกิจการนั้นๆ ได้อย่างแท้จริง บริษัทเอกชนอื่นในตลาดเขาอยู่กันด้วยปัจจัยอย่างไร ก็ต้องจัดให้กิจการที่ถูกแปรรูปได้อยู่ในปัจจัยอย่างนั้น ไม่มากไม่น้อยกว่ากัน ดังนั้น สิทธิพิเศษหรือการแทรกแซงจากทางรัฐใดๆ ที่กิจการที่ถูกแปรรูปมีแต่บริษัทเอกชนอื่นไม่มี ก็ต้องถูกเพิกถอนออกเสียให้หมด

กล่าวคือ กิจการที่ถูกแปรรูปจะต้องไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ (ภาษี ดอกเบี้ย ฯลฯ) ที่บริษัทอื่นไม่ได้ ไม่มีสิทธิใช้อำนาจมหาชนของรัฐ และในขณะเดียวกัน รัฐก็ต้องไม่มายุ่มย่ามกับการบริหารจัดการกิจการที่ถูกแปรรูป ไม่มีอำนาจผู้ถือหุ้นเสียงข้างมากเหนือกิจการ ไม่มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารของกิจการ กิจการที่ถูกแปรรูปจะลดแรงงาน ปิดโรงงาน ปรับแผนธุรกิจอย่างไรก็ควรทำได้โดยอิสระเหมือนบริษัทอื่น กฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายล้มละลาย กฎหมายแข่งขันทางการค้า ฯลฯ ปรับใช้กับบริษัทอื่นอย่างไรก็ให้ใช้กับกิจการที่ถูกแปรรูปเหมือนกัน ไม่ต้องยกเว้นหรือมีข้อแม้

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่า แม้ทุกวันนี้ ปตท. จะถูกกระจายออกเป็นหุ้นและได้รับการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว แต่รัฐยังคงเป็นผู้ถือหุ้นเสียงข้างมากของ ปตท. ยังคงมีอำนาจแต่งตั้งกรรมการผู้บริหาร มิหนำซำ้ ปตท. ยังได้รับการยกเว้นจากกฎหมายแข่งขันทางการค้าอีกต่างหาก ทำให้เห็นได้ว่า การแปรรูปของ ปตท. เท่าที่ได้ดำเนินไปยังอยู่แค่ในขั้นของ Corporatization เท่านั้น แต่ยังไม่ได้กำจัดการแทรกแซงจากรัฐและยกเลิกสิทธิพิเศษบางอย่างที่จะทำให้การแปรรูปเป็นการแปรรูปที่สมบูรณ์แต่อย่างใด

น่าจะเป็นการดีกว่าที่เราจะลองทำการแปรรูปที่แท้จริงให้เกิดขึ้นให้ได้เสียก่อน

ก่อนจะด่วนสรุปว่ามันไม่ดีและล้มเลิกไปกลางคัน

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก นสพ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 17 มีนาคม 2557