ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > โครงสร้างประชากร 30 ปีข้างหน้า (4): เมื่อเด็กวัยเรียนลดลงทุกระดับ

โครงสร้างประชากร 30 ปีข้างหน้า (4): เมื่อเด็กวัยเรียนลดลงทุกระดับ

31 มีนาคม 2014


โครงสร้างประชากรไทยกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างเร็ว โดยกำลังเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” ภาระที่เพิ่มขึ้นของวัยทำงานเพื่่อเลี้ยงดูวัยเด็กและชรา และเสี่ยงขาดแคลนแรงงานทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพเนื่องจากอัตราการเกิดที่น้อยลง

จากการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบเชิงนโยบายต่อการพัฒนาประเทศจากผลการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2583 ด้านการศึกษา โดย จิระพันธ์ กัลลประวิทย์ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนพัฒนาทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศค.) พบว่า โครงสร้างประชากรเด็กและประชากรวัยเรียนของไทยมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากสตรีมีการศึกษาสูงขึ้น แต่งงานช้าลง ส่งผลต่ออัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลง

จากประชากรวัยเรียน (0-21 ปี) ร้อยละ 62.3 ต่อประชากรรวมในปี 2523 จะมีสัดส่วนลดลงเหลือร้อยละ 29.8 ในปี 2553 และเหลือร้อยละ 20 ในปี 2583

ช่วงปี 2506-2526 การเกิดของเด็กไทยเกินกว่า 1 ล้านคนต่อปี ซึ่งมากกว่า 10 ปีก่อนหน้าถึง 2 เท่าตัว ทำให้ประชากรวัยเรียนต้องการครูและสถานศึกษาเพิ่มขึ้น ดังนั้นรัฐบาลจึงขยายการศึกษาระดับประถมศึกษาถ้วนหน้าช่วงปี 2503 ต่อมาขยายการศึกษาระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาช่วงปี 2533 และเปลี่ยนแปลงสถานะวิทยาลัยครูเป็นมหาวิทยาลัยช่วงปี 2543 เพื่อเพิ่มคุณภาพประชากร

แต่นับจากปี 2527 เป็นต้นมา เด็กไทยเกิดต่ำกว่า 1 ล้านคนต่อปี และลดลงเรื่อยๆ ถึงปัจจุบัน ซึ่งอาจจะส่งผลให้โรงเรียนต้องลดขนาดและจำนวนลง

ปี 2540 มีนักเรียนในระบบการศึกษาจำนวน 13.8 ล้านคน โดยเป็นนักเรียนประถมศึกษาซึ่งเป็นเด็กกลุ่มใหญ่ที่สุด 5.9 ล้านคน ลดลงเหลือ 5.1 ล้านคนในปี 2552 และคาดว่าจะเหลือ 4 ล้านคนในปี 2573 และเหลือ 3.4 ล้านคนในปี 2583 เช่นเดียวกัน เด็กวัยเรียนกลุ่มอื่นๆ ก็มีสัดส่วนลดลงด้วย

ผลการประมาณการจำนวนนักเรียนตามระดับการศึกษาปี 2553-2583

ข้อสมมติฐาน
– ประชากรก่อนระดับประถมศึกษาเรียนต่อร้อยละ 100 ในปี 2559
– ประชากรระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ 1 (อายุ 6 ปี) และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เรียนต่อร้อยละ 100 ในปี 2555
– ประชากรระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเรียนต่อร้อยละ 100 ในปี 2559 และสัดส่วนอาชีวะต่อสามัญเท่ากับ 60:40 ในปี 2561 และคงที่ถึงปี 2583
– อัตราการเลื่อนชั้นระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเหมือนปี 2553/2554 ส่วนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวช.) ใช้ผลคาดประมาณของคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
– ประชากรระดับอุดมศึกษาชั้นปีที่ 1 (18 ปี) เรียนต่อร้อยละ 100 ในปี 2570 และค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มในอุดมศึกษาชั้นปีที่ 2-4

พบว่า ในปี 2555 จำนวนนักเรียนรวมทุกชั้น (3-21 ปี) มี 18.2 ล้านคน และคาดว่าจะลดลงเหลือ 14.2 ล้านคน ในปี 2583

ประมาณการจำนวนนักเรียนปี 2555 และ 2583

โดยเปรียบเทียบจากปี 2555 กับปี 2583 ระดับก่อนประถมศึกษามีจำนวนลดลงจาก 1.9 ล้านคนเหลือ 1.5 ล้านคน แม้ว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 2.2 ล้านคนในปี 2560 ระดับประถมศึกษาลดลงจาก 4.9 ล้านคนเหลือ 3.2 ล้านคน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นลดลงจาก 2.5 ล้านคนเหลือ 1.6 ล้านคน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายลดลงจาก 2.1 ล้านคนเหลือ 1.5 ล้านคน

สำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแบ่งเป็นสายสามัญ 1.3 ล้านคนในปี 2555 แต่ลดลงเหลือ 0.6 ล้านคนในปี 2583 และสายอาชีวศึกษา 0.7 ล้านคนในปี 2555 เพิ่มขึ้นเป็น 1.2 ล้านคนในปี 2565 แต่ลดลงเหลือ 0.9 ล้านคนในปี 2583

ส่วนระดับ ปวส. มีจำนวนนักเรียน 0.33 ล้านคนในปี 2555 และเพิ่มขึ้นเป็น 0.75 ล้านคนในปี 2565 แต่ลดลงเหลือ 0.59 ล้านคนในปี 2583 ในขณะที่ระดับอุดมศึกษามีจำนวนคงที่ประมาณปีละ 2.2 ล้านคน เพราะคนไทยเห็นความสำคัญของการศึกษาจึงต้องการให้บุตรมีการศึกษาสูงขึ้น

การเปลี่ยนแปลงจำนวนประชากรวัยเรียนมีผลโดยตรงต่อประชากรวัยทำงาน โดยเฉพาะความต้องการแรงงานระดับกลาง ระดับอาชีวะและวิชาชีพขั้นสูงที่มีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้น ในขณะที่แนวโน้มความต้องการแรงงานระดับมัธยมปลายลงไปลดลง แต่การผลิตแรงงานสายอาชีพในระบบการศึกษายังมีได้น้อย โดยในปี 2554 มีประชากรวัยเรียนเพียง 3.1 ล้านคนหรือร้อยละ 8.1 ของแรงงานทั้งหมด

ที่ผ่านมารัฐบาลลงทุนด้านการศึกษาสูง แต่กลับมีคุณภาพการศึกษาต่ำ พบได้จากการสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาระดับประเทศที่มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 50 เกือบทุกระดับ หรือระดับเชาว์ปัญญาของกลุ่มวัยเด็กที่ลดลงจาก 91 เป็น 88 ในปี 2540-2552 ระดับเชาวน์ปัญญาของเด็กวัยเรียนทั่วประเทศค่อนข้างต่ำ มีค่าเฉลี่ยที่ 98.6 จากค่าเฉลี่ยปกติ 90-109 โดยเด็กวัยเรียนเกินครึ่งมีระดับเชาวน์ปัญญาอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และร้อยละ 6.5 (มาตรฐานสากลไม่เกินร้อยละ 2) มีระดับสติปัญญาบกพร่อง (ต่ำกว่า 70)

เมื่อประชากรวัยเรียนเริ่มลดลง นโยบายขยายโรงเรียนและเพิ่มครูคงใช้อีกไม่ได้แล้วในอนาคต และเป็นโอกาสดีที่จะทำให้รัฐบาลมุ่งเน้นพัฒนา “คุณภาพ” การศึกษาไทยได้ แต่ปัจจุบันเราก็ยังไม่เห็นนโยบายใดที่จะมารองรับและเดินไปในทิศทางเดียวกับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลง นอกจากนโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็ก (มีจำนวนนักเรียนน้อย) แต่ก็ยังเป็นปัญหาอยู่เนื่องจากมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยซึ่งมีทั้งชาวชนบทที่ไม่อยากให้บุตรหลานไปเรียนไกลบ้าน และผู้อำนวยการโรงเรียนหรือครูใหญ่ที่ไม่ต้องการเสียตำแหน่ง