ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “UNFPA-สภาพัฒน์ฯ” เปิดรายงานคุณแม่วัยใสฯ เด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี คลอดลูกทุก 2 ชั่วโมง

“UNFPA-สภาพัฒน์ฯ” เปิดรายงานคุณแม่วัยใสฯ เด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี คลอดลูกทุก 2 ชั่วโมง

14 มีนาคม 2014


นายคาสปาร์ พีค และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ
นายคาสปาร์ พีค และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ

สังคมไทยมีความเชื่อว่า “เซ็กส์” เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ไม่เกี่ยวกับเด็ก และไม่ควรคุยเรื่องพวกนี้กับเด็ก เพราะเชื่อว่า “ยิ่งพูด เหมือนยิ่งยุ” ดังนั้นเรื่องเซ็กส์จึงเป็นเรื่อง “ต้องห้าม” สำหรับเด็ก

แต่ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปอาจทำให้ต้องกลับมาทบทวนเรื่องนี้กันหรือไม่

เพราะจากรายงานในหนังสือ “แม่วัยใส ความท้าทายการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” ที่กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNFPA)ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ได้จัดทำและจัดเสวนาเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 13 มีนาคม ที่ผ่านมา มีข้อมูลที่น่าตกใจคือ ทุกๆ 2 ชั่วโมงจะมีผู้หญิงอายุต่ำกว่า 15 ปีคลอดบุตรทุกวัน และอาจมีหญิงวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีจำนวนสูงถึง 350,000 คนตั้งครรภ์ทุกปี

นายคาสปาร์ พีค ผู้แทนกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย ซึ่งร่วมเสวนาด้วยบอกว่า จากข้อมูลในรายงานพบว่า ทุกๆ ปีมีหญิงสาวอายุน้อยกว่า 19 ปีจำนวนมากกว่า 125,000 คนในประเทศไทยกลายเป็นแม่วัยใส ซึ่งนับเป็นอัตรา 1 ใน 20 ของหญิงสาวที่อยู่ในกลุ่มอายุเดียวกัน แต่ในจำนวนนี้มีผู้หญิงอายุต่ำกว่า 15 ปีประมาณ 4,000 คนเป็นคุณแม่วัยรุ่น หมายความว่า ทุกๆ 2 ชั่วโมงจะมีผู้หญิงอายุต่ำกว่า 15 ปีคลอดบุตรทุกวัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย

“ลองนึกภาพห้องเรียนที่มีนักเรียนหญิงจำนวน 20 คนและนักเรียนชายจำนวน 20 คน และลองคิดว่าอย่างน้อยนักเรียนชายคนหนึ่งและนักเรียนหญิงคนหนึ่งในจำนวนนี้กลายเป็นพ่อหรือแม่คนก่อนที่พวกเขาจะฉลองวันเกิดครบรอบ 19 ปี และถ้าท่านลองคิดว่าในจำนวนหญิงวัยรุ่น 1 คนที่คลอดบุตร น่าจะมีหญิงวัยรุ่น 2 คนหรือมากกว่าที่ตั้งครรภ์ เนื่องจากมีหญิงสาวจำนวนหนึ่งได้ยุติการตั้งครรภ์ ดังนั้นความจริงแล้วอาจมีหญิงวัยรุ่นจำนวนสูงถึง 350,000 คนตั้งครรภ์ทุกปี และพบว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มนี้ตั้งใจมีลูก ถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจและมากเกินไปแล้ว” นายคาสปาร์กล่าว

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า ในปี พ.ศ. 2555 มีการคลอดบุตรจำนวน 801,737 คน และจำนวน 129,451 คนเกิดจากคุณแม่อายุ 15-19 ปี ซึ่งมีจำนวน 2.4 ล้านคน นั่นหมายความว่า ในผู้หญิงอายุ 15-19 ปีทุกๆ 1,000 คน จะมีผู้หญิงจำนวน 54 คนในช่วงวัยเดียวกันที่กลายเป็นคุณแม่ ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่น่าตกใจเมื่อเทียบกับ 31.1 คนต่อ 1000 คนในปี พ.ศ. 2543

อัตราการคลอดบุตรของแม่วัยรุ่น

นายคาสปาร์กล่าวว่า บ่อยครั้งที่สังคมมักจะตำหนิหญิงสาวที่ตั้งครรภ์ แต่ความจริงที่น่าเศร้าคือทุกคนต่างมีส่วนรับผิดชอบต่อการทำให้เธอไม่ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรได้ ตั้งแต่ผู้ปกครอง พ่อแม่ที่ต้องพูดคุยให้ลูกหลานของพวกเขาทั้งเด็กหญิงและเด็กชายเข้าใจเกี่ยวกับความรับผิดชอบทางด้านเพศและให้ไว้ใจได้ว่าพวกเขาจะมีความรับผิดชอบ

เพื่อนๆ ของพวกเขาก็ควรจะบอกพวกเขาว่า การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกันเป็นเรื่องที่โง่เขลา ครูก็ควรจะให้ความรู้กับวัยรุ่นเกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์และความสัมพันธ์มากกว่าที่จะเห็นการสอนเพศศึกษาเป็นเรื่องชีววิทยาและพร่ำสอนแต่ว่าเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องไม่ถูกต้องและไม่ให้ข้อมูลอื่นๆ กับเด็กๆ ส่วนพยาบาลและหมอควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับใช้อุปกรณ์ป้องกันมากกว่าที่จะบอกให้วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์หลังแต่งงานเท่านั้น

ส่วนคนที่มีอำนาจตัดสินใจออกกฏหมายก็ควรสร้างกฏระเบียบที่ทำให้เด็กสาวสามารถป้องกันตัวเองจากการตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อม ตราบใดที่ยังปล่อยให้ผู้ชายสามารถกดดันให้ผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกัน และตราบใดที่ผู้ปกครอง คนขายอุปกรณ์คุมกำเนิด และพยาบาล ยังทำท่า “ตำหนิ” เด็กสาวที่ต้องการอุปกรณ์คุมกำเนิด การป้องกันปัญหาการคลอดบุตรในวัยรุ่นก็จะไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการ

“เราควรจะตั้งคำถามกับตัวเองว่า ใครกันแน่มีส่วนรับผิดชอบเมื่อเด็กสาววัยรุ่นคนหนึ่งต้องตั้งครรภ์” นายคาสปาร์กล่าว

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งร่วมเสวนาบอกว่า จากรายงานหนังสือคุณแม่วัยใส พบว่า อัตราการคลอดบุตรของวัยรุ่นไทยสูงกว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การคลอดบุตรของวัยรุ่นไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 10-14 ปี มีอัตราการคลอดต่อประชากรวัยเดียวกัน 1,000 คนเพิ่มขึ้นจาก 1.1 ในปี 2551 เป็น 1.8 ในปี 2555 ขณะที่กลุ่มอายุ 15-19 ปีมีอัตราการคลอดบุตรสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 50.1 ในปี 2551 เป็น 53.8 ต่อประชากรวัยเดียวกัน 1,000 คนในปี 2555 ขณะที่อัตราการคลอดบุตรของวัยรุ่นอายุ 15-19 ปีในญี่ปุ่น เกาหลี จีน สิงคโปร์ อยู่ที่ 2-6 รายต่อ 1000 คน และประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่มีค่าเฉลี่ยที่ 35 รายต่อ 1000 คน

การคลอดบุตรของแม่วัยใส

“อัตราการคลอดบุตรของวัยรุ่นไทยอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าหมายไว้ว่า อีก 5 ปีข้างหน้า อัตราการคลอดในหญิงอายุ 15-19 ปี จะไม่เกิน 50 คนต่อ 1000 คนในประชากรวัยเดียวกัน จาก 53.8 คน ต่อ 1000 คน ปี 2555” นายอาคมกล่าว

สำหรับแนวโน้มวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปีที่กลายเป็นคุณแม่วัยใสเพิ่มขึ้นมาก รายงานจากหนังสือคุณแม่วัยใสฯ ระบุว่า ความหนาแน่นของอัตราการคลอดบุตรของวัยรุ่นอยู่ที่ภาคกลางมากที่สุด รองลงมาเป็นภาคเหนือ อีสาน และภาคใต้

นายอาคมอธิบายว่า ลักษณะที่เป็นเช่นนี้เพราะภาคกลางอยู่ในศูนย์กลางเศรษฐกิจ ผู้ปกครอง พ่อ แม่ ส่วนใหญ่ทำงานหนักไม่มีเวลาดูแลลูก ที่สำคัญคืออิทธิพลของสื่อ โดยเฉพาะสื่ออินเทอร์เน็ต ที่มีการเผยแพร่คลิปวีดีโอเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ค่อนข้างระบาด ทำให้เด็กมองเรื่องเซ็กส์เป็นเรื่องปกติ ซึ่งน่าเป็นห่วง ขณะที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน พบว่าตัวเลขการคลอดบุตรของคุณแม่วัยรุ่นจะอยู่ในจังหวัดที่ยากจนและอยู่ติดชายแดนเป็นส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์ฯ ให้ความสำคัญกับปัญหาด้านสังคมมาตั้งแต่การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2540 โดยพูดถึงเรื่องสังคมไว้ค่อนข้างเยอะ เพราะมองเห็นว่าจำเป็นต้องรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจและด้านภาวะสังคมให้สมดุลกัน เพื่อป้องกันไม่ให้การขยายตัวของเศรษฐกิจในอัตราที่สูงมีผลกระทบข้างเคียงต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 จึงเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิด “สังคมเอื้ออาทร”

จากจุดเริ่มต้นทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 จนถึงปัจจุบัน ผ่านมาเกือบ 17 ปี แต่ตัวเลขอัตราการมีลูกของวัยรุ่นกลับเพิ่มขึ้น สะท้อนว่า แผนพัฒนาฯ อาจไม่ได้ผลหรือไม่นั้น นายอาคมชี้แจงว่า ในแผนพัฒนาฯ ภาครัฐพยายามบรูณาการดูแลเรื่องอนามัยและสาธารณสุขให้ทั่วถึง แต่ทำได้เพียงเฉพาะคนที่อยู่ในระบบประกันสังคมเท่านั้น การบริการของภาครัฐยังไม่ทั่วถึงคนที่อยู่นอกระบบแรงงานซึ่งมีจำนวนมากรวมถึงเด็กวัยรุ่นด้วย

นอกกจากนี้ สภาพของสังคมและการใช้ชีวิตของคนในสังคมมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว โดยเฉพาะสื่ออินเทอร์เน็ตเข้ามามีอิทธิพลมากต่อการใช้ชีวิตของวัยรุ่น จึงทำให้อัตราการเพิ่มของการคลอดบุตรในวัยรุ่นเพิ่มขึ้นและมีผลกระทบต่อการวางแผนด้านกำลังแรงงานในการพัฒนาประเทศด้วย

“จากกระทรวงสาธารณะสุขที่รายงานว่า ในปี 2555 มีการคลอดบุตรจำนวน 801,737 คน และจำนวน 129,451 คนเกิดจากคุณแม่อายุ 15-19 ปี หมายความว่า เราต้องสูญเสียวัยรุ่นซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศประมาณ 129,000 ราย เพราะเมื่อกลุ่มนี้เป็นคุณแม่วัยใส ส่วนใหญ่ต้องออกจากระบบการศึกษา ทำให้ขาดโอกาสพัฒนาตัวเองให้มีศักยภาพเป็นกำลังแรงงานที่สำคัญของประเทศในอนาคต” นายอาคมกล่าว

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สำหรับแนวทางการป้องกันและลดแนวโน้มคุณแม่วัยใส นายอาคมเสนอว่า ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเพื่อลดจำนวนการคลอดบุตรของวัยรุ่นให้ได้ตามที่กระทรวงสาธารสุขตั้งเป้าไว้ โดยต้องเริ่มตั้งแต่

1. เด็กต้องรู้จักดูแลตัวเอง รู้จักการป้องกันเรื่องเพศสัมพันธ์

2. พ่อ แม่ ทั้งของเด็กชายและเด็กหญิง ต้องให้ความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์ที่ถูกต้อง ปัจจุบันพ่อแม่ที่มีลูกเป็นผู้ชายกับผู้หญิงต่างกัน โดย 80% ของพ่อที่มีลูกผู้ชายจะบอกลูกว่ามีเซ็กส์ได้ แต่ 80% ของพ่อที่มีลูกผู้หญิงจะบอกว่าไม่สมควร ดังนั้น ทัศนคตินี้ต้องปรับเปลี่ยนให้เข้าใจอย่างถูกต้อง

3. ครูที่โรงเรียนต้องให้เวลากับเด็กมากขึ้น ไม่ใช่สอนแต่วิชาวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ เพราะเมื่อเด็กเลิกเรียนช่วงเย็นเราแทบไม่รู้เลยว่าเด็กไปทำอะไรต่อที่ไหน เพราะฉะนั้น ครูอาจต้องให้ความสนใจกับเด็กมากขึ้น และการเรียนการสอนวิชาสุขศึกษาที่กำหนดให้เรียนอาทิตย์ละ 8 ชั่วโมงควรเน้นสอนเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ในระดับช่วงอายุ และให้ความรู้เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ที่ถูกต้อง จากปัจจุบันที่มุ่งสอนเรื่องชีววิทยา และสรีระของร่างกายเป็นสำคัญ

4. ภาคสังคม โดยเฉพาะชุมชน ต้องเป็นสังคมเอื้ออาทร “บ้าน วัด โรงเรียน” ต้องใกล้ชิดกันมากขึ้น

5. ภาครัฐ การให้บริการภาครัฐเรื่องอนามัยและสาธารณสุขของภาครัฐมักจะให้บริการเฉพาะผู้ที่แต่งงานแล้ว หรือผู้ที่เป็นแรงงานในระบบ อาจต้องทบทวนประเด็นนี้เพื่อให้ผู้ที่อยู่นอกระบบแรงงาน โดยเฉพาะเด็กหรือผู้ที่ยังไม่ได้แต่งงาน สามารถรับบริการและเข้าถึงอนามัยและสาธารณสุขของภาครัฐได้สะดวกมากขึ้น

จากข้อมูลและความเห็นของผู้เสวนาทั้งสองคนบ่งชี้ว่า ปัญหาการคลอดบุตรของวัยรุ่นมีผลกระทบทั้งด้านสุขภาพของผู้เป็นมารดาและลูก เนื่องจากการมีลูกในวัยรุ่นก็เปรียบเสมือน “เด็กเลี้ยงเด็ก” และยังเป็นวงจรปัญหาความยากจนของคนกลุ่มนี้ เพราะทำให้สูญเสียโอกาสทางการศึกษา และการพัฒนาศักยภาพของแม่เด็กและลูก

ดังนั้น ปัญหาคุณแม่วัยใส หรือการคลอดบุตรของวัยรุ่น กำลังเป็นโจทย์ท้าทายของประเทศไทย ซึ่งทุกภาคส่วนของสังคมต้องตระหนักและแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง

โดยอาจเริ่มต้นจากการเปลี่ยนทัศนคติความเชื่อเดิมๆ ที่ว่า “ยิ่งพูด เหมือนยิ่งยุ” มาเปิดใจกว้างคุยกับเด็กเกี่่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์ให้มากขึ้น เพื่อให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเซ็กส์อย่างถูกต้อง เพราะน่าจะเป็นการป้องกันปัญหาที่ “ถูกยุค ถูกสมัย”

คุณแม่วัยใส