ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ธปท. ปรับจีดีพีปี’57 ขยายตัว 2.7% ชี้มีความเสี่ยงโตต่ำกว่าคาด

ธปท. ปรับจีดีพีปี’57 ขยายตัว 2.7% ชี้มีความเสี่ยงโตต่ำกว่าคาด

21 มีนาคม 2014


ธปท. คาดการณ์เศรษฐกิจปี 2557 ขยายตัว 2.7% ต่ำกว่า 2.9% ในปีก่อน พร้อมประเมินความเสี่ยงมีโอกาสโตต่ำกว่าที่คาดไว้ถ้าสถานการณ์ “การเมือง” ยืดเยื้อไปถึงครึ่งปีหลัง และงบประมาณปี 2558 ออกล่าช้าเกิน 1 ไตรมาส ขณะที่ประมาณการเงินเฟ้อปีนี้สูงจากปีก่อน แต่มั่นใจดูแลได้ตามกรอบเป้าหมาย

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลง “รายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนมีนาคม 2557” โดยประเมินภาวะเศรษฐกิจ หรือจีดีพีปี 2557 จะขยายตัวในอัตรา 2.7% ลดลงจากปี 2556 ที่ขยายตัว 2.9% ขณะที่เศรษฐกิจในปี 2558 ธปท. ประเมินว่าจะขยายตัวดีขึ้นอยู่ที่ 4.8%

ทั้งนี้ การประมาณการเศรษฐกิจของ ธปท. อย่างเป็นทางการครั้งสุดท้ายคือใน “รายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนตุลาคม 2556” ในตอนนั้น ธปท. คาดการณ์จีดีพีปี 2557 ไว้ที่ 4.8% ซึ่งห่างจากครั้งนี้ 6 เดือน จึงทำให้ตัวเลขประมาณการครั้งก่อนกับครั้งนี้ต่างกันมาก

แต่ประมาณการที่ต่างกันมาก “ไม่น่าตกใจ” เพราะ ธปท. ส่งสัญญาณอย่างไม่เป็นทางการมาตลอดว่าจีดีพีปีนี้จะขยายตัวได้ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยผ่านการแถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตั้งแต่ปลายปี 2556 ต่อเนื่องถึงต้นปีที่ผ่านมา ดังนี้

การประชุม กนง. วันที่ 27 พฤศจิกายน 2556 ประเมินจีดีพีปี 2557 ต่ำลงเหลือ 4%
การประชุม กนง. วันที่ 22 มกราคม 2557 ประเมินจีดีพีปี 2557 ลดลงไปอีกเหลือแค่ 3%
การประชุุม กนง. ครั้งล่าสุด วันที่ 12 มีนาคม ที่ผ่านมา ประเมินจีดีพีปี 2557 จะโตต่ำกว่า 3% จึงทำให้ กนง. มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% คือ จาก 2.25% เป็น 2%

ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้ กนง. ปรับประมาณการจีดีพีลงทุกครั้งที่มีการประชุม สาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัญหา “การเมือง” ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อนักท่องเที่ยว นักลงทุน และผู้บริโภค ที่สำคัญส่งผลต่อการดำเนินนโยบายการคลัง ทำให้ไม่สามารถเบิกจ่ายหรือลงทุนได้เต็มที

ทั้งนี้ ประมาณการจีดีพีของหน่วยงานเศรษฐกิจที่ประกาศก่อนหน้านี้ คือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ประมาณการไว้ที่ 3.1% และธนาคารโลกประมาณการไว้ที่ 4%

จีดีพีปี 2557

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. ในฐานะเลขานุการ กนง. แถลงรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนมีนาคม 2557 ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2557 จะขยายตัวได้ 2.7% ชะลอลงจากอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอในครึ่งปีแรก อย่างไรก็ตาม การส่งออกที่ค่อยๆ ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจในปีนี้

“หากสถานการณ์การเมืองคลี่คลายภายในกลางปี 2557 ตามสมมติฐานในกรณีฐานอุปสงค์ในประเทศจะปรับตัวดีขึ้น และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่กับการส่งออก แต่การประเมินครั้งนี้ทำขึ้นก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินให้การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเป็นโมฆะ” นายไพบูลย์กล่าว

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งวินิจฉัยเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2557 โดยมีมติ 6 ต่อ 3 ตัดสินว่า การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ เนื่องจากไม่มีการจัดการเลือกตั้งใน 28 เขต จึงถือได้ว่าไม่ได้เป็นวันเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร เป็นผลให้พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 เฉพาะในส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรคสอง

อย่างไรก็ตาม นายไพบูลย์ระบุว่า ผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หากทำให้ข้อสมมติฐานของ ธปท. ในเรื่องสถานการณ์การเมืองไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ก็มีโอกาสสูงที่จะปรับลดจีดีพีปี 2557 ลงอีกจากที่คาดการณ์ไว้

“ความเสี่ยงด้านลบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีมากกว่าด้านบวก โดยจะมาจากสถานการณ์ทางการเมืองยืดเยื้อไปถึงครึ่งปีหลังของปี 2557 กระทบความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงเศรษฐกิจของกลุ่มอาเซียน ถ้าชะลอลงมากกว่าที่ประเมินไว้” นายไพบูลย์กล่าว

สำหรับสมมติฐานจีดีพีปี 2557 ขยายตัว 2.7% นั้น นายไพบูลย์กล่าวว่า มาจากคาดการณ์ส่งออกขยายตัว 4.5% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่หดตัว 0.2% โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และคาดว่าภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้เร็วเมื่อสถานการณ์การเมืองคลี่คลาย

ขณะที่สมมติฐานแรงกระตุ้นทางการคลัง ธปท. ประเมินว่าทำได้ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐได้รับแรงกระทบจากการยุบสภา จึงคาดว่าอัตราการเบิกจ่ายเงินในงบประมาณปี 2557 จะอยู่ที่ 90.5% และการจัดทำงบประมาณปี 2558 จะล่าช้าออกไป 1 ไตรมาส

สำหรับการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณมี 2 ส่วนคือ พ.ร.ก.จัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท กับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท นายไพบูลย์กล่าวว่า มีข้อสมมติฐานว่า โครงการบริหารจัดการน้ำจะมีการเบิกจ่ายในปี 2557 จำนวน 12,000 ล้านบาท และในปี 2558 ไม่มีการเบิกจ่าย ส่วนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จะมีการเบิกจ่ายในปี 2557 จำนวน 17,000 ล้านบาท และในปี 2558 เบิกจ่ายจำนวน 46,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ การใช้จ่ายในส่วนของ พ.ร.ก.จัดการน้ำ ที่นำมาคิดรวมไว้ในประมาณการจะเหลือเฉพาะโครงการเร่งด่วนที่ได้รับอนุมัติเงินกู้แล้ว เช่น ขุดลอกคูคลอง ซ่อมถนน ขณะที่โครงการลงทุนโครงสร้างพี้นฐาน เหลือเฉพาะโครงการต่อเนื่องเพิ่มเติมของรัฐวิสาหกิจที่มีความพร้อม คิดเป็นเงินประมาณ 25% ของวงเงิน 2 ล้านล้านบาท

ที่มา : สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ  คำนวณโดย ธปท.
ที่มา: สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ คำนวณโดย ธปท.

ขณะที่ข้อสมมติฐานอุปสงค์ภาคเอกชน ธปท. คาดการณ์ว่า การลงทุนภาคเอกชนยังชะลอตัวติดลบ 0.5% แต่ดีขึ้นจากติดลบ 2.8% ในปีก่อน ส่วนการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวเพียง 0.3% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 0.2% ในปีก่อน

ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า อุปสงค์ภาคเอกชนที่ชะลอลงมาจากสาเหตุ 3 ประการ คือ 1) ผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่หมดลง 2) ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น และ 3) ความเชื่อมั่นลดลงจากความยืดเยื้อของสถานการณ์การเมือง

“หากสถานการณ์การเมืองคลี่คลายภายในกลางปี 2557 หรือมีความชัดเจนมากขึ้น เชื่อว่าการบริโภคจะค่อยๆ ฟื้นกลับมาสู่แนวโน้มปกติ และการลงทุนจะฟื้นตัวตามกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศและการส่งออกที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก”

สำหรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อ ธปท. คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2557 จะขยายตัว 1.5% เพิ่มขึ้นจาก 1% ในปีก่อน และปีหน้าคาดว่าอยู่ที่ 1.3% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2557 คาดว่าจะขยายตัว 2.5% เพิ่มขึ้นจาก 2.2% และปีหน้าคาดว่าอยู่ที่ 2.3%

นายไพบูลย์กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเป็นผลของการส่งผ่านต้นทุนก๊าซหุงต้ม LPG ที่ปรับราคาขึ้นไปยังราคาอาหารสำเร็จรูป แต่ราคาสินค้าและบริการกลุ่มอื่นๆ มีแนวโน้มทรงตัวตามต้นทุนราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ และแรงกดดันด้านอุปสงค์ในประเทศที่มี่แนวโน้มชะลอลง

“แม้เงินเฟ้อจะสูงขึ้นจากปีที่แล้ว แต่ไม่คิดว่าจะมีการเร่งตัวขึ้นมากนัก ยังคงอยู่ในระดับที่ดูแลได้ตามกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ” นายไพบูลย์กล่าว

ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการแถลงข่าวรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนมีนาคม 2557