ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > โฉมหน้าประเทศไทยเมื่อไร้สภา

โฉมหน้าประเทศไทยเมื่อไร้สภา

8 มีนาคม 2014


โฉมหน้าประเทศไทยเมื่อไร้สภาฯ” width=

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม 2557 เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย ร่วมกับมูลนิธิตาสว่างและมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง “โฉมหน้าประเทศไทยเมื่อไร้รัฐสภา” โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ ศ. ดร.จรัส สุวรรณมาลา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายอำนวย คลังผา อดีตประธานวิปรัฐบาล

ในการเสวนาดังกล่าว ได้มีการร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน ทั้งเรื่องภาวะสุญญากาศที่ยังไม่มีการเปิดประชุมรัฐสภา พร้อมข้อเสนอขั้นตอนการเจรจาเพื่อแสวงจุดร่วมและสงวนจุดต่าง

ไร้สภาฯ ประชาชนเดือดร้อน

ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา กล่าวถึงภาวะไร้รัฐสภาในขณะนี้ว่า รัฐสภาเหมือนสภาของนักการเมือง ไม่ใช่ที่ที่ประชาชนจะเข้าไปมีประโยชน์หรือทำอะไรได้ บางคนถึงกับเอ่ยว่าไม่มีสภาฯ ก็ดีจะได้ไม่เปลืองเงิน เพราะ ส.ส. หยุดทำงาน หลายคนไม่ค่อยรู้สึกเสียดายมากนักถ้าสภาจะถูกยุบ แต่ประชาชนจะรู้สึกเสียดาย ถ้าสภาเป็นของเขา

และถ้าเป็นประชาชนที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เขาจะไม่ชอบการไม่มีสภาฯ เพราะสภาเป็นช่องทางที่ ส.ส. สามารถตั้งกระทู้ได้ ตอบคำถามต่อสาธารณชนได้ ซึ่งเรามีความเชื่อว่านักการเมืองจะโกหกคนต่อหน้าคนมากๆ ไม่ได้

ส่วนคนที่ไม่ชอบสภาฯ ก็คือราชการ เพราะว่าสภาฯ ชอบให้ข้าราชการไปชี้แจงข้อเท็จจริง และข้าราชการเองก็ไม่ชอบนักการเมืองที่คอยล็อบบี้ผลประโยชน์ การค้างเงินงบประมาน หรือจ่ายเงินใต้โต๊ะ

มองในแง่การเมือง ถ้าไม่มีสภาฯ ก็เหมือนรัฐบาลที่ไม่มี Governance ซึ่งรัฐบาลรักษาการมีสิ่งที่เสี่ยงหลายอย่าง เพราะจะทำอะไรมากไม่ได้ บางอย่างรัฐบาลไม่อยากทำอยู่แล้วก็ใช้โอกาสนี้ไม่ทำก็ได้ เช่น เมื่อมีคนไปล้อมสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือประท้วงหน้าสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) รัฐบาลรักษาการจะไม่ไปคุ้มครองก็ได้ (ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นหน้าที่) เพราะไม่มีที่ให้ประชาชนเข้าไปฟ้องอย่างสภาฯ

“ปัญหาเรื่อง Governance ในช่วงนี้กับเรื่องการต่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อมองจากข้างนอกจะเห็นประเทศไทยเหมือนครอบครัวที่ไม่มีพ่อหรือไม่มีแม่ มีแค่พี่เลี้ยงเด็ก แล้วจะมีอนาคตไหม ครอบครัวนี้จะน่าเชื่อถือไหม มีโอกาสละเมิดสิทธิลูกๆ หรือเปล่า การไม่มีสภาฯ เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศจริงๆ”

ในขณะที่มองจากสังคมไทย จะเห็นเหมือนกับว่าภาวะขาดสภาฯ นั้นไม่ค่อยรุนแรง แค่ป่วยนิดๆ ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล ที่รู้สึกอย่างนี้เพราะว่าสภาฯ ที่ผ่านมาไม่ได้ทำหน้าที่สภาจริงๆ คือมีสภาที่บกพร่องมานานก่อนจะยุบด้วยซ้ำ ภาวะที่ไม่มีรัฐสภาจึงไม่แรงเท่าที่เราคนไทยคิด แต่ไม่ใช่ภาวะที่เราอยากจะได้ เราอยากจะเห็นสภาฯ ที่ทำหน้าที่จริงๆ และแน่นอนว่าต้องมาจากการเลือกตั้งของคนทั้งประเทศ

“อลงกรณ์” เสนอ 4 ทางออกอย่างสันติ

นายอลงกรณ์ พลบุตร มีความเห็นว่า วิกฤติการเมืองครั้งนี้แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่ใหญ่และรุนแรง แต่ตลอด 82 ปีตั้งแต่เปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย ไทยเคยผ่านวิกฤติที่รุนแรงกว่านี้มาแล้ว ซึ่งก็ก้าวผ่านมาได้ และครั้งนี้ก็เช่นกัน ดังนั้นข้อเสนอที่เป็นทางออกอย่างสันติวิธีเพื่อนำประชาธิปไตยกลับคืนมา คือ

หนึ่ง ต้องมีการเจรจาระหว่างคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) กับรัฐบาล

สอง ให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมปฏิรูปการเลือกตั้ง และคณะกรรมการร่วมปฏิรูปประเทศไทย โดยทั้งสองฝ่ายต้องเป็นผู้เสนอญัตติการปฏิรูป

สาม พรรคการเมืองหลักต้องบรรลุไปสู่การเป็นสถาบันการเมือง ที่ไม่ใช่ของนักการเมือง

สี่ องค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งรวมถึงทหารด้วย ต้องแสดงความเป็นกลางอย่างชัดเจน เพื่อนำความเชื่อถือจากประชาชนและภายนอกกลับคืนมา

“ข้อเสนอสองประการแรกเป็นเรื่องเฉพาะหน้าอย่างจริงจัง แต่สองเรื่องหลังเป็นสิ่งที่ต้องสร้างความชัดเจน ไม่อย่างนั้นชนวนความขัดแย้งจะไม่จบ”

ในขณะที่วันนี้เริ่มมีสัญญาณแห่งแสงสว่างที่อยากจะเห็นการเจรจา โดยทางรัฐบาลพรรคเพื่อไทยควรจะผ่อนปรน การเจรจาถึงจะเกิดได้ และไม่จำเป็นต้องทำครั้งเดียวแล้วจบ

วันที่ 6 มี.ค. 2557 เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย ร่วมกับมูลนิธิตาสว่างและมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง "โฉมหน้าประเทศไทยเมื่อไร้รัฐสภา" มีผู้ร่วมเสวนา (จากซ้าย) ดร.จรัส สุวรรณมาลา คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายอำนวย คลังผา อดีตประธานวิปรัฐบาล
วันที่ 6 มี.ค. 2557 เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย ร่วมกับมูลนิธิตาสว่างและมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง “โฉมหน้าประเทศไทยเมื่อไร้รัฐสภา” มีผู้ร่วมเสวนา (จากซ้าย) ศ. ดร.จรัส สุวรรณมาลา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายอำนวย คลังผา อดีตประธานวิปรัฐบาล

นอกจากนี้ จะเห็น “จุดร่วม” ที่ตรงกัน โดย กปปส. มีการปฏิรูปเป็นหัวใจ ส่วนของรัฐบาลเพื่อไทยก็เคยเสนอการปฏิรูป และรัฐบาลประชาธิปัตย์สมัยอภิสิทธิ์ก็เคยมีสมัชชาปฏิรูปจนมีพิมพ์เขียวออกมา ซึ่งเมื่อลองทำตรวจทานดูแล้วพบว่าเหมือนกันมากทั้งสองฝ่าย หนึ่ง คือเรื่องคอร์รัปชัน สอง คือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ปัญหาเหล่านี้ทุกฝ่ายต่างก็เห็นพ้องต้องกัน เพียงแต่ยังหันหลังให้กันเท่านั้นเอง

การเจรจาไม่ควรมีเงื่อนไขว่าต้องสลายการชุมนุมก่อน และไม่จำเป็นต้องให้สงครามยุติและเจรจา จากการที่ไม่เจรจาหรือทำในทางลับก็เดินมาสู่การเจรจาโดยเปิดเผย เพราะสถานการณ์มันบีบคั้น โดยเฉพาะเรื่องปากท้อง เศรษฐกิจ ที่ทำให้ทุกฝ่ายเริ่มได้สติ ว่าถ้าไม่เจรจาหรือผ่อนตาม ก็จะทำให้ประเทศบอบช้ำ และไม่ดีกับทุกฝ่าย

การเจรจาต้องถ่ายทอดสด คือ ให้เปิดหน้าถ่ายสดการเจรจาทันที จะได้โปร่งใสไม่ต้องมีความเคลือบแคลง และไม่ต้องห่วงว่าคุณยิ่งลักษณ์จะพูดสู้คุณสุเทพไม่ได้ ให้ถ่ายทอดสดพูดกันต่อหน้าคนไทย

“ประเทศไม่ใช่ของคนสองคน แต่เป็นของคนไทยทั้งหมด พูดกับคนไทยทั้งประเทศ แล้วเสนอประเด็น ประเด็นอะไรที่ตรงกันและอันไหนไม่ตรงกัน”

การเมืองครั้งนี้จะมีผู้ชนะฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะว่าทางเพื่อไทยมีคนสิบกว่าล้านคน ประชาธิปัตย์ก็มีสิบกว่าล้านคน กปปส. ก็มีจำนวนมาก นปช. ก็มีจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งไม่มีใครต้องการแบ่งแยกดินแดนแน่นอน แต่ถ้าสถานการณ์ไม่คลี่คลายก็มีความเป็นไปได้ โดยประเทศต่างๆ ทั่วโลกแสดงให้เห็นแล้วว่าจนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีกรณีการแบ่งแยกประเทศให้เห็นกันอยู่ จากจุดเล็กที่เป็นไฟการเมืองมันสามารถลุกลามได้ถ้าไม่รีบปรับ หรือถ้าใช้วิถีทางที่ผิดก็อาจจะบานปลายไปสู่ความรุนแรงได้

ยัน การเลือกตั้งเป็น “หัวใจ” ของประชาธิปไตย

ด้านนายอำนวย คลังผา ให้ความเห็นกรณีที่ยังไร้รัฐสภาอยู่ในขณะนี้ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีหน้าที่ต้องจัดการเลือกตั้งให้ลุล่วงตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อจัดการเลือกตั้งให้เสร็จไม่ได้ รัฐสภาก็ยังไม่สามารถเปิดได้ และนายกรัฐมนตรีก็ยังคงต้องรักษาการต่อไป และเห็นด้วยกับการเจรจา โดยรัฐบาลยังพร้อมที่จะเจรจากับทุกฝ่าย ซึ่งหน้าที่ของรัฐบาลคือต้องทำให้พี่น้องอยู่ดีมีสุข ฉะนั้น หากเจรจาแล้วทำให้เกิดความสงบก็พร้อมเจรจา ก้าวที่หนึ่งคือต้องมีการพูดคุยว่าจะเดินไปทางไหนอย่างไร

ส่วนกรณีการได้นายกรัฐมนตรีจากมาตรา 3 หรือมาตรา 7 อย่างที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อ้าง นายอำนวยไม่เห็นว่าจะทำได้ เพราะถ้าจะทำคือต้องเป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญไม่มีแล้วถึงจะได้ และไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งคือหัวใจหลักของประชาธิปไตย ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาครั้งนี้

เปิดตัวโครงการ “Inside Thai Parliament ” เจาะข่าวรัฐสภาไทย

เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 57 ที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว ผู้ก่อตั้งโครงการ “Inside Thai Parliament” เจาะข่าวรัฐสภาไทย ผ่านทางเว็บไซต์ www.info.or.th กล่าวถึงวัตถุประสงค์ที่มีการก่อตั้งโครงการนี้ว่าเกิดจากการเห็น “จุดอ่อน” การนำเสนอข่าวงานรัฐสภาไทย คือ ยังไม่มีการตีแผ่ขยายความเข้าใจข้อมูลข่าวเชิงลึก และขยายประเด็นปัญหาการทำงานและติดตามการทำงานของ ส.ส.-ส.ว. ผู้แทนไทยในรัฐสภาไทย ได้ต่อเนื่องมากเพียงพอที่จะทำให้คนไทยมีทัศนะที่ถูกต้องในการเลือกผู้แทนให้มีคุณภาพ และใส่ใจต่อปัญหาของจังหวัดในนามตัวแทน ส.ส.-ส.ว. ที่ได้รับเลือกเข้าไปทำหน้าที่ รวมไปถึงขยายข้อบทกฎหมายที่มีการถกเถียงเป็นประเด็นร้อนเป็นข่าวพาดหัวทางสื่อต่างๆ ให้เกิดความเข้าใจที่ตกผลึกมากขึ้น

จากปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดให้มีโครงการนี้ขึ้นเพื่อให้ทีมข่าว “Inside Thai Parliament” ลงไปเก็บข้อมูล ทำงานภาคสนาม ทำหน้าที่ขยายประเด็นร้อนข่าวสภา พร้อมบทวิเคราะห์ บทสัมภาษณ์เชิงลึก หวังยกระดับการทำงาน ส.ส.-ส.ว. ผู้แทนไทยในรัฐสภาให้ประชาชนเกิดความรู้เท่าทันจากการติดตามข่าวสารผ่านหน้าเว็บไซต์ที่ได้จัดสร้างขึ้นนี้ พร้อมทั้งเปิดช่องรับเรื่องจากประชาชนส่งตรงถึงผู้แทนผ่านหน้าเว็บไซต์ www.info.or.th เพื่อให้เป็นช่องทางข่าวสาร ข้อร้องเรียน และสื่อสารตรงเชื่อมโยงระหว่าง ส.ส.-ส.ว. และประชาชนในพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้น

ดร.อรรถสิทธิ์กล่าวว่า ในช่วงแรกของการก่อตั้งนี้ ประกอบไปด้วยบทความ บทสัมภาษณ์ รายงานพิเศษข่าวรัฐสภาไทยมากมาย ผ่านการทำงานเข้มข้นของทีมข่าว “Inside Thai Parliament” อาทิ รายงานทางวิชาการเรื่อง “บท (ที่ยังไม่) สรุปการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557: บัตรดี บัตรเสีย และบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน กับพรรคเพื่อไทย”, บทวิเคราะห์ “รุก-ฆาต” คว่ำกระดานรัฐสภาไทย, บทสัมภาษณ์ เปิดใจ “หมอชลน่าน” บทเรียนจำนำข้าว ถึงเวลายกเครื่องงานกรรมาธิการสภาครั้งใหญ่, รายงานพิเศษ นับถอยหลัง บทบาทวุฒิสภา กับการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี เป็นต้น

“การเบื่อการเมือง เบื่อนักการเมือง ของคนไทยนั้น จะบรรเทาได้หากคนไทยได้รับข้อมูลที่บอกถึงแรงจูงใจ หรือมูลเหตุของการกระทำ และพฤติกรรมของนักการเมืองในสนามการเมือง โครงการ Inside Thai Parliament จัดตั้งขึ้นก็เพื่อเป็นการเพิ่มระดับของข้อมูลให้ไหลเวียนเพิ่มขึ้นในสังคม และเพื่อเป็นการยกระดับความเข้าใจเชิงสร้างสรรค์ของประชาชนต่อนักการเมือง”

ทั้งหมดนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ด้วยสัญญาณของการตื่นรู้ทางการเมืองของภาคพลเมืองเช่นทุกวันนี้ การเปิดตัวโครงการดังกล่าวถือเป็นโอกาสอันดีในการเติมความรู้ ความเข้าใจ ในการเมืองเชิงข้อมูลยกระดับความรู้ ความเข้าใจของประชาชน เพื่อให้สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผ่านกลไกทางรัฐสภามากกว่าการเชื่อการเมืองแบบวาทกรรม ของผู้นำการชุมนุม และพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง

และเป็นจังหวะอันดีที่ควรทำให้สังคมตกผลึกร่วมกัน ถึง “รากเหง้า” ที่แท้จริงของปัญหาระบบประชาธิปไตย โดยเฉพาะในเรื่อง “คุณภาพของผู้แทน” ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. และ ส.ว. ตั้งแต่คุณสมบัติของผู้แทนว่าผู้แทนราษฎรที่ดีควรจะมีคุณสมบัติอย่างไร หรือมีพันธสัญญาต่อประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างไร

เพราะที่ผ่านมา “ผู้แทนราษฎร” แม้จะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน แต่ก็ยังไม่สามารถแสดงบทบาทให้สังคมได้เห็นอย่างชัดเจนว่าได้ทำหน้าที่ภายใต้อาณัติหรือความรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชนได้อย่างภาคภูมิใจสมกับการได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “ผู้แทนปวงชนชาวไทย” อย่างแท้จริง