ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ปฏิรูปพลังงานไทย (ตอน 1): ข้อมูลบิดเบือนหรือบิดเบือนข้อมูล

ปฏิรูปพลังงานไทย (ตอน 1): ข้อมูลบิดเบือนหรือบิดเบือนข้อมูล

7 มีนาคม 2014


ปิยสวัสดิ์11 (1)

เมื่อใดที่ถกและเถียงกันในเรื่อง “พลังงานไทย เพื่อใครหรือเพื่อไทย” ความแตกแยกต้องบานปลายทุกครั้ง และจะลามไปถึงการทวงคืนพลังงานไทย ทวงคืน ปตท. จะด้วยการมีข้อมูลไม่เพียงพอ หรือข้อมูลเพียงพอแต่พูดไม่ครบก็ตาม แต่ก็ทำให้เรื่อง “การปฏิรูปพลังงาน” เป็นเรื่องร้อนที่เกินเลยอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะการใช้ฐานข้อมูลจากทางการเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ พลิกประเด็นนำเสนอข้อมูลที่บิดเบือน เสมือนจงใจให้เกิดความเข้าใจผิด ข้อมูลพลังงานเชิงลบจำนวนมากจึงปรากฏในโลกออนไลน์ และถูกแชร์ต่อๆ กันไปจนทำให้สังคมเกิดความสับสน

เมื่อเร็วๆ นี้ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้จัดวงเสวนา “ปฏิรูปพลังงาน” เพื่อนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพลังงานของไทย โดยกล่าวว่า “ขณะนี้มีการบิดเบือนข้อมูล หรือจงใจให้เกิดความเข้าใจผิด เกี่ยวกับนโยบายพลังงานปรากฏอยู่ในโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก และก่อนที่จะไปพูดถึงเรื่องนโยบายปฏิรูปพลังงาน ต้องรับทราบข้อมูลพื้นฐานด้านพลังงานที่ถูกต้อง หากข้อมูลคลาดเคลื่อน ก็จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่ผิดพลาด ก่อนเริ่มบรรยาย ผมขอออกตัวก่อนว่าผมไม่ได้รักบริษัท ปตท. สุดชีวิต แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับ ปตท. ด้วย”

ประเด็นแรกที่นายปิยสวัสดิ์พูดถึงคือ กรณีที่มีข้อความโพสต์บนเครือข่ายสังคมออนไลน์ เปรียบเทียบประเทศไทยเสมือนซาอุดิอาระเบีย ประเทศไทยมีทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเป็นจำนวนมหาศาล เป็นเรื่องจริงหรือไม่?

การบิดเบือนข้อมูลพลังงาน

35 ปี แห่งการพัฒนาปิโตรเลียมไทย

นายปิยสวัสดิ์กล่าวว่า ในช่วง 35 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาปิโตรเลียมไทยถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก จากเดิมไทยไม่มีแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติเลย แต่มีแหล่งผลิตน้ำมันขนาดเล็กที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ กำลังการผลิต 1,000 บาร์เรลต่อวัน จุดเริ่มต้นของการให้สัมปทานปิโตรเลียมไทยเกิดขึ้นสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี มีการผลักดันพระราชบัญญัติปิโตรเลียม 2514 บริษัทยูโนแคลค้นพบก๊าซธรรมชาติครั้งแรก คือ แหล่งเอราวัณ แต่ปรากฏว่า ตามลักษณะโครงสร้างทางธรณีวิทยาของประเทศไทย แหล่งก๊าซธรรมชาติส่วนใหญ่เป็นกระเปาะเล็กๆ ต้องเจาะหลายหลุมและใช้เงินลงทุนจำนวนมากกว่าจะได้ก๊าซ

ต่อมา สมัยพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีนายเกษม จาติกวณิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการเจรจาทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติฉบับแรกกับยูโนแคล ต้องขอชมเชยคณะกรรมการเจรจาซื้อขายชุดนั้น ซึ่งมีนายสาวิตต์ โพธิวิหค, ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล และนายศิววงศ์ จังคศิริ เป็นกรรมการเพราะ “ผลการเจรจาค่อนข้างดีมาก รัฐบาลซื้อก๊าซธรรมชาติจากยูโนแคลได้ในราคา 70% ของราคาน้ำมันเตา และมีสูตรการปรับราคาที่อิงกับราคาน้ำมันเตาเพียงประมาณ 40% ทำให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าลดลงเพราะในขณะนั้นประมาณ 90% ของไฟฟ้าผลิตจากน้ำมันเตา และตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ราคาก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยเพิ่มขึ้นไม่มากนักเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่าตัว สัญญาซื้อก๊าซธรรมชาติจากยูโนแคลกลายเป็นบรรทัดฐานของสัญญาซื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่งผลิตอื่นๆ จนถึงปัจจุบัน ทำให้ราคาซื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศต่ำกว่าราคาก๊าซธรรมชาติที่นำเข้าค่อนข้างมาก”

ปิยสวัสดิ์9 (2)

จากนั้น บริษัทเท็กซัส แปซิฟิก ค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ แต่ไม่มีความประสงค์จะพัฒนา จึงให้ ปตท. ซื้อสัมปทานจากเท็กซัส แปซิฟิก โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้นายศุลี มหาสันทนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการเจรจา ในที่สุดก็ซื้อสัมปทานคืนจากเท็กซัส แปซิฟิก มาได้ในราคา 83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แหล่งนี้ก็คือแหล่งบงกชในปัจจุบัน นอกจากนี้ ปตท. ยังไปรับซื้อสัมปทานคืนจากบริษัทบีพีทั้งบนบกและทางทะเล เพื่อนำมาพัฒนาต่อจนเป็นแหล่งไพลิน การซื้อสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมคืนจากบริษัทต่างชาติเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ ปตท. มีกำไรเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ต้องถือว่าเป็นการตัดสินใจลงทุนที่ถูกต้อง

นายปิยสวัสดิ์กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาแหล่งพลังงานของไทยเริ่มต้นจาก พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 จากอดีตไม่สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้เลยมาจนถึงปัจจุบันผลิตก๊าซธรรมชาติได้ 729,470 บาร์เรลต่อวัน (เทียบเท่าน้ำมันดิบ) และก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ส่วนใหญ่เป็นก๊าซเปียกมีคอนเดนเสทปะปนอยู่ สามารถแยกคอนเดนเสทออกไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีหรือโรงกลั่นน้ำมันวันละ 90,000 บาร์เรลต่อวัน

ส่วนการผลิตน้ำมันดิบ แหล่งผลิตน้ำมันแห่งแรกอยู่ที่อำเภอฝาง กำลังการผลิต 1,000 บาร์เรลต่อวัน ในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ บริษัทเชลล์ค้นพบแหล่งน้ำมันดิบที่จังหวัดกำแพงเพชร มีกำลังการผลิต 20,000 บาร์เรลต่อวัน คือแหล่งสิริกิติ์ ต่อมามีการพบที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม, จังหวัดสุพรรณบุรี และพบบ่อน้ำมันอีกหลายแหล่งทั้งบนบกและในทะเล ทำให้การผลิตน้ำมันดิบของไทยเพิ่มขึ้นเป็น 150,000 บาร์เรลต่อวันในปัจจุบัน ทั้งนี้ ในปัจจุบันแหล่งปิโตรเลียมของเชลล์ทั้งหมดเป็นของ ปตท.สผ. เพราะเมื่อหลายปีก่อนเชลล์ตัดสินใจถอนตัวออกจากประเทศไทยในด้านการขุดเจาะและพัฒนาปิโตรเลียม เนื่องจากต้องการนำเงินไปลงทุนในประเทศอื่นที่น่าสนใจกว่า

ปิยสวัสดิ์2 (1)

หลังจาก พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 มีผลบังคับใช้ ประเทศไทยค้นพบแหล่งน้ำมันดิบขนาดใหญ่ที่จังหวัดกำแพงเพชร คาดว่าจะมีน้ำมันดิบเป็นจำนวนมหาศาล รัฐบาลสมัยพลเอกเปรมจึงมีการปรับเงื่อนไขการให้สัมปทานใหม่ หรือที่เรียกว่า “Thailand II” ปรากฏว่าบริษัทน้ำมันเลิกสนใจที่จะขอแปลงสัมปทานใหม่ทันที เพราะลักษณะทางธรณีวิทยาของไทยทำให้การพัฒนาก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในประเทศไทยมีต้นทุนสูง บริษัทน้ำมันต้องขุดเจาะหลายหลุมกว่าจะได้ก๊าซและน้ำมัน ในสมัยพลเอกเปรมนั้นเอง จึงมีการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 และระบบการให้สัมปทาน Thailand II เป็นระบบที่เรียกว่า “Thailand III”

“กฎหมายฉบับนี้ยังไม่ทันผ่านความเห็นชอบสภาฯ รัฐบาลพลเอกเปรมลาออก รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นำร่างแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาอีกครั้ง และในที่สุด “Thailand III” ก็มีผลบังคับใช้ในปี 2532”

ปิยสวัสดิ์3

ส่วนกรณีที่มีข่าวเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ ระบุว่าใต้พื้นดินมีน้ำมันเป็นจำนวนมหาศาลนั้น นายปิยสวัสดิ์บอกว่า “เป็นเรื่องจริงครึ่งเดียว” นายปิยสวัสดิ์กล่าวยอมรับว่าไทยมีการผลิตก๊าซธรรมชาติ คอนเดนเสท และน้ำมันดิบเป็นจำนวนมากจริง ปัจจุบันมีการผลิตเกือบ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เทียบเท่าน้ำมันดิบ) ขณะที่ปริมาณการใช้ก็เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จึงต้องมีการนำเข้าน้ำมันดิบก๊าซธรรมชาติและถ่านหินจากต่างประเทศอีกประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เทียบเท่าน้ำมันดิบ)

ปิยสวัสดิ์4

อีกประเด็นที่พูดถึงกันมากในโลกออนไลน์ คือ กระทรวงพลังงานไทยบอกว่า ประเทศไทยผลิตน้ำมันดิบ 150,000 บาร์เรลต่อวัน คอนเดนเสทอีก 90,000 บาร์เรลต่อวัน รวมแล้วประมาณ 250,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่ข้อมูลของกระทรวงพลังงานของสหรัฐอเมริกา และ C.I.A. (ซึ่งก็คือข้อมูลกระทรวงพลังงานสหรัฐอเมริกานั่นเอง) บอกว่าประเทศไทยผลิต 400,000 บาเรลต่อวัน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่ามีใครขโมยไปขายหรือไม่

นายปิยสวัสดิ์กล่าวว่า จริงๆ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติของไทยไม่ได้ถูกใครขโมยไป สาเหตุที่ทำให้ตัวเลขการผลิตน้ำมันแตกต่างกันเนื่องจากนิยามในการจัดเก็บข้อมูลของไทยและสหรัฐอเมริกามีความแตกต่างกัน ข้อมูลของกระทรวงพลังงานไทยจะนับเฉพาะน้ำมันดิบและคอนเดนเสทที่ออกมาจากปากหลุม ส่วนกระทรวงพลังงานอเมริกาจะนับรวมของเหลวที่แยกมาจากก๊าซธรรมชาติด้วย แต่เมื่อปรับนิยามให้ตรงกันแล้ว พบว่าตัวเลขการผลิตไม่มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ นำตัวเลขการผลิตก๊าซโซลีนธรรมชาติ (NGL) และแอลพีจีที่ผลิตออกจากโรงแยกก๊าซเข้าไปรวมกับตัวเลขการผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสท

ปิยสวัสดิ์5

“ข้อมูลที่ผมนำเสนอก็ไม่ใช่ข้อมูลลับอะไร ทุกคนสามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์กระทรวงพลังงานและหน่วยงานในกระทรวงพลังงาน เพียงแต่ผมลองย้ายข้อมูลดู โดยนำก๊าซโซลีนธรรมชาติและแอลพีจีที่ออกจากโรงแยกก๊าซเข้าไปรวมกับน้ำมันดิบและคอนเดนเสท บวกกันแล้วได้ 400,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว กระทรวงพลังงานก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่เปิดเผยข้อมูลละเอียดมาก และเป็นหน่วยงานที่เปิดเผยข้อมูลมากที่สุดแห่งหนึ่งในหน่วยราชการไทย แต่เปิดเผยมากคนก็เอาไปบิดเบือนมาก หน่วยงานไหนไม่เปิดเผยข้อมูลก็ไม่ค่อยถูกด่าหรอก ในแง่การผลิตผมคิดว่าตัวเลขถูกต้อง ไทยผลิตมาก แต่ใช้มาก จนต้องนำเข้า เอาไปเปรียบเทียบกับซาอุดีอาระเบียคงไม่ถูกต้อง คนละสเกลกัน ไทยผลิตแค่วันละ 1 ล้านบาร์เรล (เทียบเท่าน้ำมันดิบ) แต่ซาอุดีอาระเบียผลิตน้ำมันดิบอย่างเดียววันละ 10 ล้านบาร์เรล นี่ยังไม่รวมก๊าซธรรมชาติ ส่วนสหรัฐอเมริกาทราบว่าตอนนี้ผลิตน้ำมันดิบแซง ซาอุดีอาระเบียไปแล้ว” นายปิยสวัสดิ์กล่าว

ปิยสวัสดิ์6

นายปิยสวัสดิ์อธิบายต่ออีกว่า ในเรื่องปริมาณสำรองปิโตรเลียมของไทย เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีการพูดถึงกันมากในสังคมออนไลน์ว่าประเทศไทยมีปริมาณสำรองพลังงานจำนวนมาก แต่กระทรวงพลังงานบอกว่ามีน้อย ตัวเลขหายไปไหน

“จริงๆ ไม่มีใครรู้หรอกว่าประเทศไทยมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมมากน้อยแค่ไหน เพราะมันอยู่ใต้ดิน มันต้องขุดเจาะขึ้นมา ถึงจะทราบว่าจริงๆ แล้วมันมีเท่าไหร่ การวัดปริมาณสำรองปิโตรเลียมตามหลักวิชาการจะแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ 1. ปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้ว หรือ Proved เรียกย่อๆ ว่า “P1” ข้อมูลในระดับนี้เชื่อถือว่ามีปิโตรเลียมแน่ประมาณ 90% 2. ปริมาณสำรองที่คาดว่าจะพบ หรือ Probable (P2) ข้อมูลในส่วนนี้มีความมั่นใจประมาณ 50% 3. ปริมาณสำรองที่น่าจะพบ หรือ Possible (P3) มีความมั่นใจได้แค่ 10% สรุปคือปริมาณสำรองปิโตรเลียมไม่ได้มีมากมายอย่างที่คิด ขณะเดียวกันกลับลดลงด้วยซ้ำ”

ทั้งนี้ หากนำปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วว่ามีปิโตรเลียมแน่นอน (P1) หารด้วยการผลิต พบว่าประเทศไทยมีก๊าซธรรมชาติใช้ไปได้อีก 11 ปี แต่ถ้ามีการสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียมเพิ่มเติม P2 และ P3 ก็มีโอกาสปรับขึ้นเป็น P1 และถ้ารัฐบาลให้สัมปทานสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียมแหล่งใหม่ก็มีโอกาสค้นพบแหล่งใหม่ๆ หากนำตัวเลขปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติทั้งหมดมารวมกัน 27 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต (P1+P2+P3) หารด้วยกำลังตัวเลขการผลิตต่อปี ประเทศไทยมีก๊าซธรรมชาติใช้ต่อไปได้อีก 30 ปี การมีก๊าซธรรมชาติเหลืออยู่แค่ 30 ปีถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก เพราะประเทศอื่นมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติเหลือเป็น 100 ปี และถ้าเราจะสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซใหม่ในวันนี้ เราต้องมั่นใจว่าจะมีก๊าซเพียงพอตลอดอายุของโรงไฟฟ้าคือ 25-30 ปี ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา การสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียมของไทยต้องชะลอลง เพราะมีคนคัดค้านไม่สามารถให้สัมปทานใหม่ได้ ทำให้ปริมาณสำรองปิโตรเลียมของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง

ปิยสวัสดิ์7

โดยข้อมูลจากบริษัทบีพีระบุว่า ประเทศที่มีปริมาณสำรองน้ำมันมากที่สุดคือเวเนซุเอลา โดยมีปริมาณน้ำมันสำรอง 297,600 ล้านบาร์เรล ขณะที่ประเทศไทยมีปริมาณน้ำมันสำรอง 440 ล้านบาร์เรล ส่วนประเทศที่มีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติมากที่สุดคืออิหร่าน มีปริมาณก๊าซสำรอง 33.6 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร ประเทศไทยมีปริมาณก๊าซสำรอง 2.85 แสนลูกบาศก์เมตร

“ประเทศไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติน้อยจนตกสเกล และไม่น่าแปลกใจที่เวเนซุเอลามีนโยบายประชานิยม กำหนดราคาขายปลีกน้ำมันในราคาที่ถูกมาก ซาอุดีอาระเบียก็เช่นเดียวกัน ประเทศเหล่านี้มีปริมาณสำรองปิโตรเลียมเหลือเฟือ ใช้เท่าไหร่ก็ไม่หมด ดังนั้น ปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ใช้กำหนดนโยบายราคาพลังงาน หากประเทศไทยมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมเหลือเป็นจำนวนมาก ก็ยังพอมีเหตุผลที่จะขายน้ำมันให้ประชาชนในราคาถูกได้” นายปิยสวัสดิ์กล่าว

ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่าไทยผลิตน้ำมันดิบมากกว่าบูรไน 3 เท่าตัว นายปิยสวัสดิ์ยอมรับว่าถูกต้อง ข้อมูลปี 2555 ประเทศไทยผลิตน้ำมัน 440,000 บาร์เรลต่อวัน (นิยามเดียวกันกับของกระทรวงพลังงานสหรัฐอเมริกา) ส่วนบรูไนผลิต 158,000 บาร์เรลต่อวัน แต่ต้องไปดูปริมาณสำรองน้ำมันด้วย บรูไนมีประชากรน้อยกว่าไทยมาก แต่มีปริมาณสำรอง 1,100 ล้านบาร์เรล ขณะที่ไทยมีปริมาณสำรองแค่ 400 ล้านบาร์เรล ส่วนมาเลเซียผลิตน้ำมันวันละ 657,000 บาร์เรลต่อวัน แต่มีปริมาณสำรอง 3,700 ล้านบาร์เรล มากกว่าไทย 9 เท่า

ปิยสวัสดิ์8 (1)

นอกจากนี้ กรณีที่มีการเปรียบเทียบว่าไทยมีน้ำมันและก๊าซเป็นจำนวนมาก เสมือนซาอุดีอาระเบียตะวันออก แต่ต้องดูที่ปริมาณสำรองด้วย จริงๆ แล้วประเทศไทยมีปิโตรเลียมน้อยมาก หากเร่งผลิตขึ้นใช้ ถลุงกันให้หมดเมื่อไหร่ ก็ต้องนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากต่างประเทศที่มีราคาแพงกว่าก๊าซอ่าวไทยมาก

“ดังนั้น การให้ข้อมูลที่ถูกต้อง จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ไม่ใช่ไปเอาข้อมูลที่ไม่ถูกต้องมากำหนดนโยบายพลังงาน มันไม่ได้เกิดผลเสียต่อคนรุ่นผมหรอก เพราะตอนนี้ผมอายุ 60 ปี แต่จะเห็นผลอีก 30 ปี เด็กอายุ 20-30 ปี ที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารประเทศ ต้องแบกรับภาระนำเข้าก๊าซในราคาที่แพงมาก” นายปิยสวัสดิ์กล่าว

ปิยสวัสดิ์10