ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เส้นทางสู่ทวาย (ตอน 2): ปัญหาของชุมชนจากโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย

เส้นทางสู่ทวาย (ตอน 2): ปัญหาของชุมชนจากโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย

27 มีนาคม 2014


เมื่อวันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ 2557 สมาคมพัฒนาทวาย (ดีดีเอ) เสมสิกขาลัย และโครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA) ร่วมกันจัดโปรแกรมพาสื่อมวลชนลงพื้นที่ทวาย เพื่อศึกษาดูงานและรับฟังผลกระทบของคนทวายจากโครงการท่าเรือน้ำลึกและโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทวาย ในฐานะที่ประเทศไทยมีส่วนเกี่ยวข้องและได้รับผลประโยชน์ทางตรงจากโครงการดังกล่าว

หลังจากไทยพับลิก้านำเสนอก้าวข้ามพรมแดนไทย-พม่าที่บ้านพุน้ำร้อน เพื่อทำความรู้จักกับเมืองทวายไปแล้ว และตามโปรแกรมเป็นการลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับคนในพื้นที่ต่อผลกระทบและปัญหาของชาวทวายจากโครงการท่าเรือน้ำลึกและโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทวาย

โครงการท่าเรือน้ำลึกและโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทวาย เริ่มตั้งแต่บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับการท่าเรือสหภาพพม่าภายใต้กระทรวงคมนาคมแห่งสหภาพพม่า เมื่อ 12 มิถุนายน 2551 เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ จากนั้นวันที่ 2 พฤศจิกายน 2553 ได้ลงนามเพื่อรับสิทธิ์ในการดำเนินโครงการทั้งหมดบนพื้นที่กว่า 1.5 แสนไร่ ซึ่งใหญ่กว่ามาบตาพุด 8 เท่า

การพัฒนาเขตนิคมอุตสาหกรรมทวายเป็นเป็น 5 กลุ่ม คือ

1. พื้นที่ท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรมหนัก เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงงานเหล็กต้นน้ำ
2. พื้นที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เช่น โรงแยกก๊าซ โรงกลั่นน้ำมัน
3. พื้นที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีต้นน้ำและปลายน้ำ
4. พื้นที่อุตสาหกรรมขนาดกลาง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์
5. พื้นที่อุตสาหกรรมเบา เช่น สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์
6. พื้นที่เมืองใหม่ เช่น ที่อยู่อาศัย

ทำให้ต้องย้ายหมู่บ้านทั้งหมดรวม 21 แห่ง 3,977 ครัวเรือน หรือ 32,274 คน ในเขตนิคมฯ โดยต้องย้ายออกก่อน 6 แห่ง แบ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมหนัก 4 แห่ง คือ เท็นจี (Htein Gyi) 415 หลังคาเรือน พายาดัด (Pa Ya Dut) 321 หลังคาเรือน มูดู (Mu Du) 343 หลังคาเรือน และเลชอง (La Shaung) 610 หลังคาเรือน นอกจากนี้ก็มี มะยินจี (Ma Yin Hyi) 136 หลังคาเรือน และ บิดนี (Byit Ni) 24 หลังคาเรือน รวมถึงที่ดินทำกินของชาวบ้านด้วย

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนคือ “หมู่บ้านกาโลนทา” (Kalonetar) ซึ่งมีประชากร 182 ครัวเรือนหรือกว่า 1,000 คน และจากการสร้างถนนเชื่อมไทย-ทวายระยะทาง 132 กิโลเมตรที่กระทบประชากรประมาณ 50,000 คน เช่น หมู่บ้านเยาตน (Nyaung Tone) ซึ่งเป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยง

ทั้งนี้ หมู่บ้านมูดู”ถูกย้ายออกก่อนเป็นแห่งแรก เพราะรัฐเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างถนนเชื่อมทวายไปประเทศไทย ส่วนหมู่บ้านพายาดัดได้รับผลกระทบจากการระเบิดภูเขาเพื่อเอาหินมาสร้างถนน ซึ่งได้ระเบิดสวนมะม่วงหิมพานต์และทำลายแหล่งต้นน้ำของชาวบ้านเพื่อเปิดเส้นทางทำถนนด้วย ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถทำสวนและใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำได้

แม้ว่าในตอนแรกรัฐบาลประกาศว่า จะเริ่มดำเนินการในเขตอุตสาหกรรมเบาก่อน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือย้ายหมู่บ้านในเขตอุตสาหกรรมหนักออกจากพื้นที่ก่อนเป็นอันดับแรก

ขณะเดียวกัน เพื่อลดกระทบต่อชุมชน รูปแบบการสร้างนิคมฯ ได้เปลี่ยนแปลงเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ทำให้บางหมู่บ้านไม่ต้องย้ายออก แต่ที่ดินทำกินของพวกเขาก็ถูกเวนคืนเพื่อไปสร้างนิคมฯ อีกทั้งชุมชนของเขายังอยู่ติดกับเขตอุตสาหกรรมหนักด้วย

ปัจจุบันแม้ว่าประเทศไทยโดยสำนักงานพัฒนาความร่วมมือเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ. และ Foreign Economic Relation Department ของประเทศพม่า ได้ร่วมทุนฝ่ายละ 50% เพื่อจัดตั้งบริษัททวาย เอสอีแซด ดีเวล๊อปเมนท์ จำกัดซึ่งเป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle: SPV) ขึ้นมาดำเนินโครงการฯ แทนอิตาเลียนไทยแล้ว แต่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสิทธิของชาวบ้านยังคงอยู่

“ยาลาย (Yalaing)” หมู่บ้านเก่าแก่ 200 ปี ถูกเวนคืนทำนิคมฯ

หมู่บ้าน “ยาลาย” แห่งนี้มีทั้งหมด 321 ครัวเรือน เดิมทีชุมชนแห่งนี้ต้องย้ายออกทั้งหมด แต่หลังจากที่ปรับผังนิคมครั้งที่ 3 ทำให้ประชากร 196 ครัวเรือนที่ต้องย้ายออก แต่ถึงแม้ว่าบางครอบครัวจะไม่ต้องย้ายบ้านแต่ที่ดินทำกินก็คงถูกเวนคืนเพื่อสร้างนิคมฯ

พระประธานที่วัดยาลายเกาจี
พระประธานที่วัดยาลายเกาจี

ยาลายเป็นชุมชนเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี มีอาชีพปลูกมะม่วงหิมพานต์ ปลูกหมาก และยางพารา เป็นส่วนใหญ่ มีวัดประจำหมู่บ้านชื่อ “ยาลายเกาจี (Yalaing Kyaung Gyi)” ซึ่งแปลว่าวัดใหญ่ยาลาย ภายในพระอุโบสถมีพระประธานที่สร้างตั้งแต่สมัยอังวะ

สิ่งที่ชาวยาลายได้รับคือการจ่ายค่าชดเชยที่ดินที่รัฐเวนคืนนั้นไม่เป็นธรรม เนื่องจากรัฐบาลไม่มีเกณฑ์มาตรฐานเพื่อตีราคาที่ดิน ทำให้ราคาที่ดินของแต่ละหมู่บ้านหรือแต่ละครัวเรือนไม่เท่ากันแม้ว่าที่ดินจะมีลักษณะเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการต่อรองราคาของเจ้าของที่ดินหรือชุมชนกับรัฐ โดยชาวบ้านเชื่อว่ามีความไม่โปร่งใสอยู่

โดยราคาที่ดินที่ได้รับก็ต่ำกว่าที่ชาวบ้านต้องการด้วย

นอกจากนี้ เอกสารที่ชาวบ้านได้รับเพื่อยืนยันการได้รับเงินชดเชยก็แตกต่างกันมาก บ้างได้รับเอกสารราชการ บ้างได้รับเป็นกระดาษโน้ตเล็กๆ บ้างได้รับเพียงการจดชื่อไว้บนกระดานไวท์บอร์ด บ้างก็ไม่ได้รับหลักฐานใดๆ เลย

แม้ว่าวันนี้ชาวยาลายจะไม่ต้องย้ายบ้าน แต่บ้านของพวกเขาก็อยู่ติดกับนิคมฯ และในอนาคต สิ่งที่ชาวยาลายกังวลคือการเปลี่ยนผังนิคมฯ และขยายพื้นที่มาไล่ชาวยาลายให้อพยพอีกครั้ง

สำหรับเงินก้อนที่ชาวบ้านได้รับมา แต่ละคนก็นำไปใช้จ่ายแตกต่างกัน แต่มีเรื่องหนึ่งที่ชาวบ้านใช้จ่ายเหมือนกัน นั่นคือ “บริจาควัด” เพราะเชื่อว่าเงินที่ทำบุญในชาตินี้จะส่งผลให้มีชีวิตที่ดีและร่ำรวยในชาติหน้า

“บาวา (Bawah)” หมู่บ้านรองรับผู้อพยพ

หมู่บ้าน “บาวา” เดิมเป็นชุมชนอยู่ก่อนแล้วซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงและทำสวน และต่อมารัฐบาลก็เวนคืนที่ดินทำกินของชาวบ้านมาสร้างหมู่บ้านใหม่เพื่อรองรับชาวบ้านที่จะอพยพออกมาเนื่องจากโครงการทวายฯ

หมู่บ้านรองรับผู้อพยพ "บาวา"
หมู่บ้านรองรับผู้อพยพ “บาวา”
หมู่บ้านรองรับผู้อพยพ "บาวา"
หมู่บ้านรองรับผู้อพยพ “บาวา”

บ้านที่สร้างใหม่อยู่ติดกับชุมชนเดิม แต่เราจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างบ้านไม้เล็กๆ สีน้ำตาลเพราะวัสดุไม้ที่ใช้ กับบ้านปูนใต้ถุนสูงสีขาวหลังคาสีเขียว

ขนาดของบ้านใหม่แบ่งเป็น S M L ขึ้นอยู่กับขนาดของแต่ละครอบครัวที่อพยพมา รวมทั้งหมดแล้วมี 480 หลัง นอกจากนี้ก็สร้างโรงเรียน ตลาด คลินิก อย่างละแห่ง วัด 2 แห่ง และแทงก์น้ำ 4 ถัง ซึ่งขนน้ำมาจากแม่น้ำบาวา 3 วันครั้ง ตั้งอยู่ในบริเวณหมู่บ้าน

ที่ผ่านมาหมู่บ้านใหม่บาวามีคนอพยพมาอยู่ 4 หลังคาเรือน แต่ปัจจุบันเหลือเพียงครอบครัวเดียว เนื่องจากไม่มีที่ดินทำกินและไม่มีอาชีพใดให้ทำ ส่วนครอบครัวเดียวที่เหลืออยู่เพราะไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน และประทังชีวิตด้วยการกินทุกอย่างที่หาได้ไม่เว้นแม้แต่หนู

เรื่องไฟฟ้าน้ำประปา เมื่อก่อนตอนที่อิตาเลียนไทยยังทำงานอยู่ก็จะมีน้ำมาส่งและมีไฟฟ้าใช้จากโรงไฟฟ้าขนาด 33 เมกะวัตต์ของบริษัท แต่ปัจจุบันไม่มีทั้งน้ำและไฟฟ้าใช้แล้ว

สำหรับหมู่บ้านเดิมปัจจุบันเสียที่ดินทำกินไปแล้ว จึงทำให้บางคนต้องเปลี่ยนอาชีพมาเป็นลูกจ้างประมง เช่น เก็บหอย ตากปลา ส่วนใครที่ทำเกษตรต่อก็ต้องออกไปทำไร่หมุนเวียนที่เชิงเขาซึ่งอยู่ไกลจากหมู่บ้าน นอกจากนี้ก็มีปัญหาเรื่องค่าชดเชยที่ดินเช่นเดียวกับหมู่บ้านยาลาย คือ ได้รับเงินต่ำกว่าที่ควรเป็น

เช่น ชาวบ้านรายหนึ่งถูกเวนคืนที่ดิน 2.5 เอเคอร์ ได้เงินเพียง 9.2 ล้านจ๊าด (3,000 จ๊าดประมาณ 100 บาท) อีกรายหนึ่งถูกเวนคืนที่ดิน 3 เอเคอร์ได้เพียง 8.5 ล้านจ๊าด จากที่คาดว่าจะได้ 20 ล้านจ๊าดต่อเอเคอร์ ส่วนราคาต้นไม้ในสวน เช่น หมาก ก็จะได้ราคา 900 หรือ 2,100 หรือ 3,000 จ๊าดต่อต้น ตามขนาดต้นเล็ก กลาง ใหญ่ จากที่เสนอรัฐบาลไปเริ่มต้น 100,000 จ๊าด แต่ถึงค่าชดเชยจะน้อยอย่างไรชาวบ้านก็ต้องรับ เพราะรัฐบาลบังคับให้รับโดยไม่มีทางเลือก และกลัวการถูกขมขู่

“เลชอง เท็จจี” หมู่บ้านที่ต้องอพยพ

ณ หมู่บ้าน “เลชอง” เรานัดเจอกับชาวบ้านที่วัดเลชองตานไกเจา (Lashaung Than Gyai Kyaung) ดังนั้น เราจึงต้องถอดรองเท้าและถุงเท้าไว้ในรถแล้วเดินลงไปตามธรรมเนียมของประเทศพม่าที่ต้องเท้าเปล่าเข้าวัด (แม้ว่าจะเป็นพื้นดินก็ตาม) ที่ในศาลาวัดเราก็เจอชาวบ้านกลุ่มใหญ่ทั้งจากเลชอง เท็จจี และพายาดัด กำลังรอเราอยู่ และเมื่อเริ่มต้นสนทนาในตอนแรกมีชาวบ้านตอบคำถามเพียงไม่กี่คน แต่เมื่อถามไปสักพักชาวบ้านทุกคนต่างพากันตอบคำถาม เพราะอยากบอกว่าที่ผ่านมาพวกเขาเดือดร้อนอย่างไร พยายามร้องเรียนรัฐและอิตาเลียนไทยอย่างไร และทำไมเขาจึงไม่ต้องการอพยพ ด้วยอารมณ์และความรู้สึกที่หลากหลาย

เลชอง หมู่บ้านที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่เพราะที่ดินจะกลายเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมหนักในโครงการนิคมฯ ทวาย ซึ่งชาวบ้านรูู้เรื่องครั้งแรกในปี 2551 ที่คนไทยเข้าไปในหมู่บ้าน ซึ่งอิตาเลียนไทยเข้ามาตอนแรกก็ให้ข้อมูลว่าโครงการนิคมฯ จะทำให้ประเทศพัฒนาขึ้นและทำให้ชาวบ้านรวยขึ้นเท่านั้น ไม่มีข้อมูด้านอื่นๆ จนถึงวันนี้รัฐบาลพม่าก็สั่งให้ย้าย เพียงแต่ยังไม่ได้บอกว่าต้องย้ายเมื่อไหร่

รอยพระพุทธบาทที่หมู่บ้านเลชอง
รอยพระพุทธบาทที่หมู่บ้านเลชอง

เลชองอยู่ในเขต “นาบูเล” ดินแดนแห่ง sweet & smiling ซึ่งมีวิถีชีวิตและจิตใจยึดติดกับที่ดิน ถ้าไปอยู่ที่อื่นจะไม่มีชีวิตอยู่ได้ ฉะนั้นพวกเขาจึงยอมตายที่นี่ อีกทั้งมีความเชื่อว่าเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่อยู่กันมากว่าพันปีแล้ว และเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ตามพระพุทธศาสนาที่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าทั้ง 4 พระองค์เคยมาเหยียบที่แห่งนี้ และพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปก็จะมาเหยียบที่แห่งนี้ด้วย นอกจากนี้เลชองยังมี “รอยพระพุทธบาทข้างซ้าย” ด้วยซึ่งมีเพียง 2 แห่งในพม่า ในขณะที่รอยพระพุทธบาทส่วนใหญ่จะเป็นข้างขวา

“ถ้ารัฐบาลอยากให้ย้ายก็ต้องอันเชิญพระธาตุและรอยพระพุทธบาทของเราไปด้วย”

สำหรับค่าชดเชยแต่ละหมู่บ้านก็ได้เงินแตกต่างกันถึง 10 เท่าแม้ที่ดินมีลักษณะเหมือนกัน ส่วนเรื่องบ้านหลังใหม่ชาวบ้านก็อยากที่จะออกแบบเอง

ความต้องการของชาวเลชองคือไม่อยากอพยพ ไม่ต้องการอุตสาหกรรมสกปรก ไม่อยากให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ชุมชนอยู่ได้ชั่วลูกชั่วหลาน รวมถึงพัฒนาการประมงและการเกษตรให้สมดุลกับอุตสาหกรรมด้วย

ด้านชาวบ้านจากเท็จจีเล่าว่า ผลเสียที่คนหมู่บ้านอื่นๆ พููดต่อๆ กันมาคืออิตาเลียนไทยนำรถแทร็กเตอร์บุกรุกสวนหมาก สวนมะม่วงหิมพานต์ของชาวบ้านโดยไม่แจ้งล่วงหน้า และปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย ทางหมู่บ้านก็ได้รับการสนับสนุนจากดีดีเอในการหยุดโครงการดังกล่าว ส่งจดหมายร้องเรียนไปยังรัฐบาล รวมถึงพูดคุยกับอิตาเลียนไทย

แต่ความพยายามทั้งหมดที่ผ่านมาไม่เป็นผล แม้ว่าชาวบ้านจะเดินทางไปร้องเรียนกับหน่วยงานใดถึงในเมืองหลวงทุกหน่วยงานต่างก็บอกว่าไม่อยู่ในความรับผิดชอบของตนและบอกให้ชาวบ้านไปหาหน่วยงานอื่นแทน โยนกันไปมา หรือไม่ก็รับปากว่าจะจัดให้เพื่อให้ชาวบ้านสบายใจกลับบ้านแต่สุดท้ายก็นิ่งเฉย ด้านอิตาเลียนไทยรับปากอะไรชาวบ้านไว้ก็ทำไม่ได้จนชาวบ้านพูดว่า “เป็นบริษัทที่ไม่น่าไว้ใจที่สุดในโลก”

ด้านชาวบ้านพายาดัดก็ได้รับผลจากการระเบิดหินเพื่อสร้างถนนของอิตาเลียนไทยที่ทำให้สวนหมากของชาวบ้านเสียหาย ดังนั้นชาวบ้านจึงไปร้องเรียก “ค่าชดเชย” จากบริษัท แต่หลังจากที่ได้รับเงินแล้วก็เกิดปัญหาขึ้น เช่น กรณีชาวบ้านหญิงรายหนึ่งถูกบริษัทมารังวัดพื้นที่พร้อมทั้งล้อมรั้วปิดที่ดินขนาด 50 เอเคอร์ซึ่งเป็นสวนหมากเอาไว้ ทำให้ไม่สามารถเข้าไปทำสวนได้ โดยบริษัทอ้างว่าเธอรับเงิน “ค่าชดเชย” เวนคืนที่ดินไปแล้วดังนั้นที่ดินจึงเป็นของบริษัท แต่ภายหลังการเรียกร้องบริษัทก็ให้บัตรผ่านเข้าออกประตูรั้วที่ล็อกไว้รวม 3 ใบแก่ครอบครัวเพื่อเข้าไปทำสวนเวลา 7.00-16.00 น. อีกกรณีหนึ่งคือ การดูดทรายจากแม่น้ำบาวาของอิตาเลียนไทยทำให้สวนซึ่งอยู่ริมน้ำของชาวบ้านรายหนึ่งพังทลาย เพราะตลิ่งถูกน้ำกัดเซาะ

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นชาวบ้านไปร้องเรียนใครก็ไม่มีผู้รับผิดชอบ จะซื้อบ้านใหม่ก็ยังไม่กล้า จะให้ย้ายไปอยู่ที่บาวาก็คงไม่มีใครสามารถมีชีวิตอยู่ได้ “ที่ดินที่เสียหายไปต้องได้รับเงินค่าชดใช้ แต่จะไม่ย้ายบ้านไปอยู่ที่อื่น อีกทั้งชาวบ้านไม่ได้คัดค้านโครงการ เพียงแต่อย่ามาสร้างนิคมในที่คนอาศัยอยู่”

“กาโลนทา อนาคตหมู่บ้านใต้เขื่อน”

แม่น้ำตะลายยาร์ซึ่งจะก่อสร้างเขื่อนกาโลนท่าซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดโดยมีความจุ 401.5 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อนำน้ำไปใช้ในนิคมอุตสาหกรรมทวาย
แม่น้ำตะลายยาร์ซึ่งจะก่อสร้างเขื่อนกาโลนทาซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดโดยมีความจุ 401.5 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อนำน้ำไปใช้ในนิคมอุตสาหกรรมทวาย

จากปริมาณการใช้น้ำทั้งหมดของนิคมฯ 432 ล้านลูกบาศก์เมตร อุตสาหกรรมหนักใช้น้ำมากถึง 370.92 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่สร้างเขื่อนใหม่รวม 5 แห่งแต่เฉพาะเขื่อนกาโลนทาที่เดียวมีความจุ 401.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น ถ้าหากไม่มีเขื่อนกาโลนทาก็จะทำอุตสาหกรรมหนักไม่ได้

ด้วยปัจจัยสำคัญนี้ทำให้หมู่บ้านเหนือเขื่อนอย่างกาโลนทาต้องจมอยู่ใต้น้ำหากเขื่อนสร้างขึ้นจริง

เมื่อเข้าเขตหมู่บ้าน “กาโลนท่า” เราจะเห็นต้นหมากและมะม่วงหิมพานต์ขึ้นเต็มไปหมดล้อมรอบบ้านแต่ละหลัง โดยชาวบ้านที่นี่จะทำสวนรอบๆ บ้านที่อยู่อาศัย เราจึงเห็นสีเขียวครึ้มตลอดข้างทาง และเห็นหมากและเม็ดมะม่วงหิมพานต์ตากแดดอยู่เป็นระยะๆ ไม่เว้นแม้แต่ในวัดธรรมารักขิตา (Dama Rakheta) วัดประจำหมู่บ้านกาโลนทา

ชาวบ้านกาโลนทาคัดค้านการสร้างเขื่อนมา 4-5 ปีแล้ว ไม่ใช่คัดค้านด้วยการประท้วงอย่างเดียว แต่ทำวิจัยชุมชนและเสนอทางออกอื่นๆ ให้กับรัฐบาลและอิตาเลียนไทยด้วย เช่น ระดมนักวิชาการมาหาจุดสันสร้างเขื่อนใหม่เพื่อไม่ให้กระทบชุมชน แต่สุดท้ายทั้งรัฐบาลและบริษัทก็ไม่ยอมรับข้อเสนอใดๆ ของชุมชน เหมือนกับไม่เคารพข้อเสนอของชาวบ้านและขั้นตอนที่กำหนดไว้ ต้องรอให้ชาวบ้านประท้วงถึงยอม

ชาวกาโลนทาเล่าว่า ตอนแรกทั้งรัฐบาลและอิตาเลียนไทยต่างเข้ามาให้ข้อมูล แต่ข้อมูลไม่ตรงกันจนทำให้ชาวบ้านสับสน อีกทั้งยังบังคับให้ชาวบ้านเซ็นเอกสารขายที่ดินให้ด้วย หรือยินยอมให้สร้างเขื่อน ซึ่งชาวบ้านบางกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากบริษัท หรือจากการขายที่ดินก็จะโน้มน้าวชาวบ้านคนอื่นๆ ให้เห็นตามด้วย ซึ่งเป็นการสร้างความแตกแยกในชุมชนระหว่างกลุ่มผู้นำชุมชนที่เห็นด้วยกับเขื่อน (12 ครัวเรือน) และกลุ่มชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับเขื่อน (180 ครัวเรือน) นำโดยพระพินนา วุนตะ (Pyinna Wonta) เจ้าอาวาสวัดธรรมารักขิตา

ชาวบ้านเล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาบริษัททำงานสวนทางกับการประท้วงของชาวบ้านมาโดยตลอด คือ ในขณะที่ชาวบ้านไม่ยอมขายที่ดินและไม่เอาเขื่อน บริษัทก็พยายามแยกชาวบ้านออกจากกัน โน้มน้าวใจชาวบ้าน และให้ข้อมูลด้านดีของเขื่อนในที่ต่างๆ ที่อิตาเลียนไทยเคยทำมา

ปัจจุบันแม้เรื่องสร้างเขื่อนจะเงียบไปหลังจากที่อิตาเลียนไปดำเนินการแล้ว แต่ในอนาคตแผนสร้างเขื่อนต้องกลับมาอีก ซึ่งชาวบ้านก็จะต่อสู้ให้ถึงที่สุด หลังจากที่มีประสบการณ์ต่อสู้มาแล้วและเข้มแข็งมากขึ้น โดยมีแนวทางต่อสู้ 2 แนวทาง คือ 1. คัดค้านรวมกับองค์การต่างๆ โดยร่วมมือกับสื่อมวลชน และ 2. พัฒนาเศรษฐกิจและการศึกษาของชุมชน เพื่อสร้างคนให้มีความรู้ ความสามารถ และมีเงินยังชีพ แล้วมาช่วยกันต่อสู้ในอนาคต

“หมู่บ้านกะเหรี่ยง” ถูกบุกรุกจากการสร้างถนนเชื่อมไทย-ทวาย

ถนนยาวกว่า 100 กิโลเมตรเชื่อมไทย-ทวาย ตัดผ่านพื้นที่ของชาวกะเหรี่ยงตั้งแต่ชายแดนเข้ามาสร้างผลกระทบโดยตรงให้กับที่ดินทำกินของชาวบ้าน 5 หมู่บ้าน และสร้างผลกระทบทางอ้อมจากการเข้ามาหาผลประโยชน์ของนายทุน อีก 7 หมู่บ้าน เช่น การตัดไม้ การทำเหมืองแร่

ชาวกะเหรี่ยงรวม 12 หมู่บ้านในกามองตวยที่ได้รับผลกระทบ อยู่อาศัยในพื้นที่นี้เป็น 100 ปีแล้ว อาชีพเดิมทำไร่หมุนเวียนแต่ปัจจุบันหันมาปลูกหมากและยางพาราแทน มีแม่น้ำกามองตวยซึ่งเป็นต้นน้ำแม่น้ำตะนาวศรีคอยหล่อเลี้ยงชีวิต มีรายได้หลักจากการทำสวน แต่จากการสร้างถนน ทำให้ตะกอนดินตกลงในแม่น้ำจนเปลี่ยนสีและไม่สามารถนำมาใช้ได้อีก อีกทั้งเส้นทางถนนยังบุกรุกที่สวนจนเสียหายด้วย นอกจากนี้ก็มีนักธุรกิจมาซื้อที่ดินชาวบ้านเพื่อตัดไม้และทำเหมืองแร่ตั้งแต่ 4-5 ปีที่แล้วโดยขออนุญาตเปิดกิจการกับเจ้าหน้าที่เท่านั้นไม่ได้มาคุยกับชาวบ้านเลย ซึ่งตอนนั้นเขาไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะมีโครงการทวายฯ

ชาวกะเหรี่ยงกามองตวยรวมตัวกันเป็นกลุ่มชื่อ Community Sustainable Livelihood Development (CSLD) ทำให้เกิดความเข้มแข็งและมีอำนาจต่อรองกับรัฐได้ ดังนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงสามารถร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่รัฐและได้รับค่าชดเชยเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งแน่นอนว่าได้ราคาสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ ในทวาย

ชาวกระเหรี่ยงเล่าว่า บางช่วงมีการตัดผ่านที่ดินของชาวบ้านโดยไม่ได้บอกล่วงหน้า และบางครั้งก็ดูเหมือนว่าจะเข้าไปก่อนทั้งๆ ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะตัดเป็นถนนได้หรือไม่ ซึ่งภายหลังอิตาเลียนไทยก็รับปากว่าจะแจ้งเจ้าของที่ดินก่อนถางทาง และจะขุดบ่อน้ำให้แทนแม่น้ำที่กลายเป็นสีดิน แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำอะไรเลย

กระบวนการประชาพิจารณ์ที่สถาบันวิจัยมลภาวะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาทำ ก็ไม่ได้รับฟังความเห็นของชาวบ้าน โดยครั้งแรกนำแบบสอบถามซึ่งเป็นภาษาไทยมาให้ชาวบ้านทำโดยมีล่ามแปลให้ 2 ครั้ง ต่อมานำน้ำและดินไปตรวจ แต่ไม่ได้พูดอะไร และครั้งสุดท้ายมาจัดประชุมเพื่อให้ชาวบ้านยอมรับ แต่ชาวบ้านคัดค้านและไม่ยอมรับการประชุมครั้งนี้เพราะไม่มีการแจ้งชาวบ้านอย่างเป็นทางการ ให้เวลาประชุมน้อย นักวิชาขาดความเป็นกลาง ที่สำคัญคือ เริ่มสร้างถนนไปมากแล้วก่อนทำประชาพิจารณ์ และที่ดินกับแหล่งน้ำถูกทำลายไปหมดแล้ว

สำหรับการจ่ายเงินค่าชดเชยของหมู่บ้านนี้ ชาวบ้านเป็นคนกำหนดราคาและเสนอต่อเคเอ็นยูและอิตาเลียนไทย ซึ่งทางบริษัทก็ต่อรองราคาหลายครั้งโดยบอกว่าที่ดินของชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิ์ ซึ่งชาวบ้านโกรธมากและพากันเดินออกจากที่ประชุมซึ่งสื่อไทยนำไปเสนอข่าว ทำให้บริษัทยอมจ่ายราคาดังกล่าว

ราคาที่หมู่บ้านนี้ได้มากกว่าที่อื่นๆ 3-4 เท่า คือ ยางพาราต้นละ 300,000 จ๊าด หมาก 120,000 จ๊าด ในขณะที่นาบูเลได้เพียง 100,000 และ 40,000 จ๊าดตามลำดับ ทั้งนี้เงินชดเชยที่ชาวกะเหรี่ยงได้นั้นคำนวณจากต้นไม้เพียงอย่างเดียว ไม่มีราคาที่ดิน ทั้งๆ ที่ชาวบ้านต้องเสียภาษีให้เคเอ็นยูทุกปี แต่ชาวบ้านก็ยอมรับเพราะเมื่อเทียบกับชาวกะเหรี่ยงที่อื่นๆ แล้วบางหมู่บ้านไม่ได้อะไรเลย

เงินค่าชดเชยในพื้นที่เคเอ็นยูขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของสภาประชาชนที่เสนอราคาต่อเคเอ็นยู ในขณะที่พื้นที่อื่นๆ ในทวายขึ้นอยู่กับรัฐบาล

ผลจากการหยุดยิงในเขตเคเอ็นยู มีข้อดีที่ทำให้ชาวบ้านไปมาหาสู่กันได้ง่ายขึ้น แต่มีผลเสียคือให้นักธุรกิจเข้ามาทำเหมืองถ่านหิน ตัดไม้ ซึ่งทำให้ชาวบ้านวิตกกังวลเกี่ยวกับวิถีชีวิตของเขาในอนาคต เพราะปัจจุบันรัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็ฟังนักธุรกิจมากกว่าประชาชน เพราะไม่ว่าประชาชนเดือดร้อนและร้องเรียนไปยังรัฐบาลทั้ง 2 ก็มักจะไม่ได้รับการตอบรับใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งกลุ่มประเทศที่เข้ามาทำธุรกิจเหมืองแร่และตัดไม้คือ จีน ไทย และญี่ปุ่น