ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เส้นทางสู่ทวาย (ตอน 1): ก้าวข้ามพรมแดนไทย-พม่าที่บ้านพุน้ำร้อน

เส้นทางสู่ทวาย (ตอน 1): ก้าวข้ามพรมแดนไทย-พม่าที่บ้านพุน้ำร้อน

21 มีนาคม 2014


เมื่อวันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ 2557 สมาคมพัฒนาทวาย (ดีดีเอ) เสมสิกขาลัย และโครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA) ร่วมกันจัดโปรแกรมพาสื่อมวลชนลงพื้นที่ทวาย เพื่อศึกษาดูงานและรับฟังผลกระทบของคนทวายจากโครงการท่าเรือน้ำลึกและโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทวาย ในฐานะที่ประเทศไทยมีส่วนเกี่ยวข้องและได้รับผลประโยชน์ทางตรงจากโครงการดังกล่าว

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2555 คณะรัฐมนตรีมีมติให้เปิดจุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อน ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเชื่อมเส้นทางคมนาคมขนส่งไปยังพม่าที่บ้านทิกิ เมืองทวาย ภาคตะนาวศรี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2556 เป็นต้นมา

ครั้งนี้ผู้สื่อข่าวเดินทางไปทวายโดยทางบก ผ่านด่านบ้านพุน้ำร้อน เมื่อถึงด่านต้องทำหนังสือผ่านแดนชั่วคราว โดยยื่นบัตรประชาชนพร้อมรูปถ่าย 2 นิ้ว 1 ใบ และจ่ายค่าธรรมเนียม 30 บาท รอสักครู่ก็จะได้หนังสือผ่านแดนชั่วคราวอายุ 7 วัน สำหรับเดินทางไปพม่าเฉพาะเมืองทวายเท่านั้น แต่หากเป็นชาวต่างชาติต้องใช้หนังสือเดินทางยื่นเป็นหลักฐาน

“คนไทยที่ขอหนังสือผ่านด่านเข้าไปทวายไม่เคยหายเลย กลับบ้านครบ แต่คนพม่าที่เข้ามาในไทยแล้วหายมีจำนวนมาก” เจ้าหน้าที่ ณ ด่านตรวจกล่าว

บรรยากาศบริเวณด่านชายแดนประเทศพม่า ที่มาภาพ : "กานต์ ทัศนภักดิ์"
บรรยากาศบริเวณด่านชายแดนประเทศพม่า ที่มาภาพ: “กานต์ ทัศนภักดิ์”

จากชายแดนไทย เราก็ไปยังด่านผ่านแดนในเขตพม่า ซึ่งเป็นจุดตรวจแรก ต้องเปลี่ยนรถตู้เป็นทะเบียนประเทศพม่า โดยมี “โบโบ” เด็กหนุ่มที่ทำงานในสมาคมพัฒนาทวายมารอรับ ซึ่งเชื้อสายกะเหรี่ยงของโบโบทำให้เราผ่านจุดตรวจต่างๆ ได้สะดวกขึ้นในด้านการสื่อสารและไม่เสียค่าธรรมเนียมเหยียบแผ่นดินพม่าที่ด่าน

ลึกเข้าไปในแผ่นดินพม่าก็จะเจอกับจุดตรวจย่อยๆ อีก 3-4 แห่ง โดยชายแดนบริเวณนี้อยู่ในความดูแลของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือกะเหรี่ยงเคเอ็นยู (KNU: The Karen National Union) และกองกำลังย่อยเคเอ็นแอลเอ (KNLA: Karen National Liberation Army)

วัสดุก่อสร้างภายในแคมป์ร้างของอิตาเลียนไทย  ที่มาภาพ : "กานต์ ทัศนภักดิ์"
วัสดุก่อสร้างภายในแคมป์ร้างของอิตาเลียนไทย ที่มาภาพ: “กานต์ ทัศนภักดิ์”
วัสดุก่อสร้างภายในแคมป์ร้างของอิตาเลียนไทย  ที่มาภาพ : "กานต์ ทัศนภักดิ์"
วัสดุก่อสร้างภายในแคมป์ร้างของอิตาเลียนไทย ที่มาภาพ: “กานต์ ทัศนภักดิ์”

เดินทางมาไม่นานนักก็จะผ่านแคมป์ร้างของบริษัทอิตาเลียนไทย ซึ่งมีเนื้อที่ขนาดใหญ่ ประกอบด้วยบ้านพักพนักงาน สำนักงาน และลานกว้างที่เต็มไปด้วยวัสดุก่อสร้าง รถบรรทุก และรถก่อสร้างมากมาย แต่ปัจจุบันบริษัทไม่ได้ทำงานแล้ว ไม่มีคนงานไทยแล้ว เหลือคนงานประเทศพม่าเพียงบางส่วน นอกจากนี้มีชุมชนเล็กๆ ที่อยู่ในบริเวณนี้ โดยทำอาชีพค้าขาย เช่น ร้านเสริมสวย ร้านขายเสื้อผ้า ร้านอาหาร

ร้านเสริมสวย “นิวโรส” เป็นร้านที่สะดุดตาและน่าสนใจที่สุด เนื่องจากมีป้ายโฆษณาสีสันฉูดฉาด และที่สำคัญคือ “เขียนภาษาไทย” ส่วนที่หน้าร้านนั้นจัดเป็นแผงขายหมากด้วย พ่อค้าซึ่งเป็นเจ้าของร้านเสริมสวยและร้านขายหมากคนนี้สามารถพูดภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว เพราะเคยมาทำงานที่สมุทรสาครหลายปี และเมื่อเส้นทางทวายเปิดจึงกลับมาทำงานที่บ้าน

วิธีการจีบหมากและส่วนผสมของหมากพม่าแตกต่างกับหมากไทยหลายประการ คือ นำใบพลูไปทาด้วยปูน ซึ่งปูนของที่นี่จะเป็นสีขาวและผสมนมด้วย ต่างกับของไทยที่ใช้ปูนแดง หลังจากนั้นก็ใส่หมาก เครื่องเทศ 4-5 ชนิดซึ่งนำเข้ามาจากทางทิเบต และน้ำหวาน จากนั้นก็พับพลูเป็นรูปสี่เหลี่ยม ก็เสร็จพร้อมรับประทาน

ร้านเสริมสวย และร้านขายหมากบริเวณแคมป์ร้างของอิตาเลียนไทย
ร้านเสริมสวย และร้านขายหมากบริเวณแคมป์ร้างของอิตาเลียนไทย

สำหรับราคาขายหมากอยู่ที่จีบละ 3 บาท ซึ่งสำหรับพ่อค้ารายนี้สามารถขายหมากได้เงินวันละ 300-400 บาทเลยทีเดียว นั่นเพราะคนในประเทศพม่านิยมกินหมากกันมากทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่ ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย และบางคนกินตลอดแบบคำต่อคำ แม้แต่เด็กหนุ่มโบโบและลุงคนขับรถของเราต่างก็กินหมาก

สินค้าอื่นๆ ของที่นี่ส่วนใหญ่ก็คล้ายกับของไทย ต่างกันที่ตราสินค้า ทั้งนี้สินค้าบางอย่างก็นำมาจากประเทศไทยด้วยซ้ำ

แม้จะไม่มีคนงานอยู่แล้ว แต่ร้านค้าเหล่านี้ก็ยังสามารถขายของได้ โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนในชุมชนใกล้ๆ ถามว่าจะขายของให้ใคร คนงานไม่มีแล้ว ด้านนักท่องเที่ยวไม่ค่อยมีมากนัก แต่ถ้าคนไทยจะมาซื้อสินค้าที่นี่ก็ไม่ต้องกังวล เพราะเจ้าของร้านทุกคนสามารถพูดภาษาไทยได้!

รถที่ทิ้งไว้ในแคมป์ของอิตาเลียนไทย ที่มาภาพ : "กานต์ ทัศนภักดิ์"
รถที่ทิ้งไว้ในแคมป์ของอิตาเลียนไทย ที่มาภาพ: “กานต์ ทัศนภักดิ์”
แคมป์ร้างของอิตาเลียนไทย ที่มาภาพ : "กานต์ ทัศนภักดิ์"
แคมป์ร้างของอิตาเลียนไทย ที่มาภาพ: “กานต์ ทัศนภักดิ์”

เดินทางมาสักพักเราจึงแวะกินน้ำที่หมู่บ้านบ้านมิตตา (Myitta) บ้านเกือบทุกหลังยังคงเป็นบ้านไม้ บ้านหลังไหนที่อยู่ติดถนนก็จะประกอบอาชีพค้าขายเป็นส่วนใหญ่ สินค้าเช่นน้ำดื่มหลายชนิดก็นำมาจากไทย กับข้าวที่เห็นแม้ไม่รู้ว่าคืออะไร แต่วัตถุดิบที่ใช้ถ้าเป็นอาหารทะเลเช่น กุ้ง หมึก ฯลฯ จะตัวโตมาก นอกจากนี้ก็มีพวกเนื้อกวาง หมูป่า สนนราคาที่จานละ 30 บาทเท่านั้นทุกเมนู ซึ่งคงหาได้น้อยที่เมืองไทย

แม่น้ำตะนาวศรีขนาบเส้นทางเชื่อมไทย-พม่า
แม่น้ำตะนาวศรีขนาบเส้นทางเชื่อมไทย-พม่า
เรือร่อนทอง ที่มาภาพ : "กานต์ ทัศนภักดิ์"
เรือร่อนทอง ที่มาภาพ: “กานต์ ทัศนภักดิ์”

ในแม่น้ำตะนาวศรียังมีคนกลุ่มหนึ่่งที่พึ่งพาประโยชน์จากสายน้ำด้วยการร่อนทองโดยใช้เรือ และสร้างที่พักพิงริมแม่น้ำ

ตลอดเส้นทางถนนสายนี้ เราจะเห็นร่องรอยของการเปิดเส้นทางใหม่ที่ลัดเลาะไปตามภูเขา ด้านซ้ายเป็นเหวสู่แม่น้ำ ด้านขวาเป็นหน้าผาสูงชัน ถนนส่วนใหญ่ยังเป็นดินบดอัด ถนนช่วงแรกแถบชายแดนเป็นการถากป่า และลึกเข้าไปเรื่อยๆ ก็จะเห็นสวนหมากที่ถูกบุกรุกเสียหายจากการสร้างถนน ทำให้เราเห็นสวนหมากอยู่ที่ริมขอบหน้าผาติดถนนเป็นระยะๆ

แรงงานก่อสร้างถนนด้วยมือ ที่มาภาพ : "กานต์ ทัศนภักดิ์"
แรงงานก่อสร้างถนนด้วยมือ ที่มาภาพ: “กานต์ ทัศนภักดิ์”

และเนื่องจากการสร้างถนนทำให้ดินตกลงไปในแม่น้ำ จนทำให้แม่น้ำมีสีเหลือง-แดง ขุ่นข้นเป็นน้ำดิน ส่งผลให้ชาวบ้านไม่สามารถใช้ประโยชน์จากแม่น้ำตะนาวศรีได้ และทำให้แม่น้ำตื้นเขิน

แม่น้ำกลายเป็นสีดิน เนื่องจากการสร้างถนน
แม่น้ำกลายเป็นสีดิน เนื่องจากการสร้างถนน

นอกจากนี้ ระหว่างทางเราจะเจอคนงานก่อสร้างถนนกระจายอยู่ตามเส้นทางเป็นระยะๆ บ้างกำลังใช้ค้อนทุบหินก้อนใหญ่ๆ ให้กลายเป็นก้อนเล็กๆ บ้างกำลังโกยหินและคัดแยกหินขนาดต่างๆ ไปกองไว้รวมกันด้วยมือ บ้างกำลังเรียงหินบนถนนดินด้วยมือแล้วนำหินละเอียดหรือเล็กที่สุดมาโรยทับ บ้างก็กำลังต้มยางมะตอยในถังเหล็ก บ้างกำลังราดยางถนน ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ล้วนใช้แรงสูงและต้องทำด้วยมือ เครื่องมือก่อสร้างประเภททุ่นแรงที่มีให้เห็นคือรถบดอัดถนน

คนงานก่อสร้างถนนเชื่อมไทย-พม่า กำลังทุบหินให้กลายเป็นก้อนเล็กๆ ด้วยค้อน และคัดแยกขนาดหินด้วยมือ เพื่อนำมาสร้างถนน
คนงานก่อสร้างถนนเชื่อมไทย-พม่ากำลังทุบหินให้กลายเป็นก้อนเล็กๆ ด้วยค้อน และคัดแยกขนาดหินด้วยมือ เพื่อนำมาสร้างถนน

เดินทางราว 10 ชั่วโมง ในที่สุดเราก็มาถึงตัวเมืองทวายและเข้าพักในโรงแรมแห่งหนึ่งที่สร้างแบบสมัยใหม่ ในขณะที่ในตัวเมืองทวายส่วนใหญ่อาคารบ้านเรือนต่างๆ ยังคงเป็นศิลปะยุคอาณานิคมอยู่มาก ผู้คนที่นี่ไม่พลุกพล่านมากนักแม้เป็นช่วงค่ำ ร้านค้า ร้านอาหารก็ปิดค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบกับประเทศไทย ที่นี่ไม่ใช่เมืองแห่งแสงสี เพราะค่าไฟฟ้าที่นี่มีราคาแพงกว่าที่ไทยมาก และผูกขาดโดยเอกชนหรือปั่นไฟใช้เอง เพราะสายส่งไฟฟ้าจากส่วนกลางมาไม่ถึงทวาย

รูปทรงบ้านเรือนในตัวเมืองทวายที่จะต้องมีกล่องคล้ายๆ หน้าต่างยื่นออกมาบริเวณส่วนหน้าของบ้าน ซึ่งคือหิ้งพระ
รูปทรงบ้านเรือนในตัวเมืองทวายที่จะต้องมีกล่องคล้ายๆ หน้าต่างยื่นออกมาบริเวณส่วนหน้าของบ้าน ซึ่งคือหิ้งพระ

ด้านอาหารการกิน ทั้งหน้าตาและรสชาติอาหารส่วนใหญ่ไม่แตกต่างกับของไทยมากนัก (อาจเพราะเราไม่ได้สั่งรายการอาหารท้องถิ่น) แต่ที่ต่างค่อนข้างมากคือขนาดของวัตถุดิบ โดยเฉพาะสัตว์ทะเล เช่น กุ้ง หมึก ปลา

รถประจำทางบริเวณชายแดนทวาย
รถประจำทางบริเวณชายแดนทวาย

คนทวายมีภาษาพูดเฉพาะเป็นของตัวเอง ซึ่งมีส่วนที่เหมือนกับภาษาพม่าเพียงร้อยละ 40 วิถีชีวิตของคนเมืองนี้ตื่นเช้า นอนเร็ว

หรือแม้แต่ผัก ผลไม้ของทวายก็มีหลายๆ ชนิดที่คล้ายกับไทย เพียงแต่มีขนาดใหญ่กว่า 1-2 เท่าตัว เช่น กะหล่ำปลี ฟักทอง ส้ม แตงโม ฯลฯ

ตลาดเช้าที่ทวายมีทั้งเนื้อสัตว์ เช่น ไก่ หมู ปลา ผัก ผลไม้ ดอกไม้ ของแห้ง ฯลฯ ที่นี่เราจะได้เห็นปลาขนาดใหญ่หลายชนิดที่เราไม่รู้จักทั้งสด แห้ง และหมักกับข้าวคล้ายๆ ปลาส้มของไทย ซึ่งปลาที่ทวายจะขายกันเป็นตัว ราคาที่ไม่กี่สิบบาทจนถึงหลักพันบาทก็มีหากเป็นปลาขนาดใหญ่และหายาก ดังนั้นเราจึงไม่เห็นตาชั่งในตลาดปลา

สินค้าอีกอย่างที่เกือบทุกคนต้องซื้อกลับบ้านคือ “ดอกไม้” เพื่อนำไปบูชาพระ ซึ่งก็มีให้เลือกหลากหลายชนิดเช่นเดียวกับเมืองไทย

บรรยากาศในตลาดปลาที่เมืองทวาย
บรรยากาศในตลาดปลาที่เมืองทวาย
ของแห้งและแครื่องปรุงอาหาร ซึ่งบางอย่างก็นำเข้าจากประเทศไทยมีฉลากภาษาไทย
ของแห้งและเครื่องปรุงอาหาร ซึ่งบางอย่างก็นำเข้าจากประเทศไทย มีฉลากภาษาไทย
แผงขายปลาที่ทวาย
แผงขายปลาที่ทวาย

ผู้คนที่มาจ่ายตลาดก็มีทั้งที่ปั่นจักรยาน ขับรถจักรยานยนต์ ซึ่งรถ 2 ประเภทนี้จะมีตะกร้าสานขนาดใหญ่บริเวณท้ายรถเพื่อไว้ใส่ของ บางคนก็นั่งรถสามล้อ หรือวินรถจักรยานยนต์รับจ้างซึ่งมีจุดเด่นคือใส่หมวกนิรภัยสีขาว แต่ดูเหมือนจะเป็นหมวกนิรภัยของวิศวกรและช่างในงานก่อสร้างมากกว่า ไม่ได้สวมเสื้อกั๊กสีต่างๆ อย่างประเทศไทย

ครั้งหนึ่งขณะเดินชมเมืองอยู่ คนขับรถจักรยานรับจ้างก็ถามเราด้วยภาษาทวายประมาณว่าจะใช้บริการไหม เราก็งงๆ ไม่ได้ตอบอะไรเพราะฟังไม่ออก ต่อมาเขาจึงพูดภาษาไทยว่า “คนไทยเหรอ หน้าตาคนสองประเทศนี้ก็คล้ายๆ กันเนอะ” และก็ชวนคุยสักพัก จึงทราบว่าเขาพูดไทยได้คล่องเพราะเคยทำงานกับอิตาเลียนไทยในโครงการทวายมาก่อน ตอนนี้บริษัทหยุดงานเลยกลับบ้านมาทำงานอื่นแทน แต่กลางปีนี้ก็จะกลับไปทำงานกับอิตาเลียนไทยอีกครั้ง หลังจากที่อิตาเลียนไทยจะเข้ามาทำงานต่อโดยทำโครงการย่อยๆ แทน

ของทะเลแห้งในตลาดปลาเมืองทวาย
ของทะเลแห้งในตลาดปลาเมืองทวาย

ทั้งนี้ ไม่ว่าเราจะเดินไปทางไหน ซื้อของจากใคร ไม่ว่าจะในตัวเมืองทวายหรือหมู่บ้านนอกตัวเมือง ก็จะพบกับคนทวายที่พูดภาษาไทยได้ เนื่องจากเคยไปทำงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยหรือไม่ก็เป็นพนักงานของอิตาเลียนไทยทั้งนั้น ซึ่งแต่ละคนต่างไปทำงานที่ไทยตั้งแต่อายุ 17-18 ปี จนกระทั่งมีโครงการทวายฯ บางคนจึงเลือกกลับมาทำงานใกล้บ้านเพื่อดูแลพ่อแม่ แม้ว่าจะได้ค่าแรงน้อยกว่า หรือบางคนก็กลับมาเปิดร้านค้าที่บ้านหลังจากทำงานไทยมาเป็น 10 ปี และเห็นช่องทางสร้างรายได้ที่บ้านเกิด

ครั้งหนึ่งซื้อน้ำอ้อยมากิน ก็แปลกใจว่าทำไมถึงใส่มะนาวด้วย แม่ค้าจึงบอกว่า “ใส่มะนาวแล้วจะไม่เหม็นเขียว เมืองไทยอะแปลก กินน้ำอ้อยไม่ใส่มะนาว” น่าตลกเหมือนกันที่ต่างคนต่างเห็นว่าอีกฝ่ายแปลกที่ทำอะไรบางอย่างต่างกัน

สามเณร ออกบิณฑบาตในตอนเช้า พร้อมเด็กวัด
สามเณรออกบิณฑบาตในตอนเช้า พร้อมเด็กวัด

อาหารเช้าของที่ทวายนิยมกินแป้งโรตีกับแกง คล้ายๆ แกงกะหรี่ของอินเดีย แต่รสชาติแป้งจะจืดกว่า นอกจากนี้ก็มีเปาะเปี๊ยะทอด และขนมที่คล้ายๆ กับกะหรี่ปั๊บของไทยซึ่งรสชาติดีมาก และก๋วยเตี๋ยวอย่างหนึ่งที่นำเส้น ผัก เครื่องแกง มาคลุกรวมกัน

สำหรับจุดเด่นของร้านอาหารเช้าคือน้ำชา และกาแฟ ด้านชารสชาติดี หอม อร่อย ซึ่งจะบริการให้กับทุกโต๊ะอยู่แล้ว แต่ถ้าใครสั่ง “กาแฟ” จะได้เครื่องดื่มหน้าตาเหมือนโอรีโอปั่นที่ละลายแล้ว และมีรสชาติเหมือนดื่มครีมเทียม เพราะทางร้านใช้กาแฟซองชงให้ ฉะนั้นต้องสั่ง “กาแฟดำ (Black coffee)” จะใส่ครีมเทียมหรือนมก็สั่งเพิ่มไป ถึงจะได้กาแฟดำอย่างที่คนไทยคุ้นเคย

สุดท้าย สิ่งที่น่าสนใจมากที่สุดของเมืองนี้สำหรับผู้เขียนคือ การทิ้งและเก็บขยะของคนทวาย ในตัวเมืองเราแทบไม่เห็นถังขยะตั้งอยู่ริมทางหรือบริเวณหน้าบ้านหรือหน้าร้านค้าเลย นั่นเพราะคนทวายมีถังขยะไว้ในบ้านและเมื่อได้ยินเสียงสั่นกระดิ่งของรถเก็บขยะจึงจะนำออกมาให้

ถนนต้นตาลสัญลักษณ์ประจำเมืองทวาย
ถนนต้นตาลสัญลักษณ์ประจำเมืองทวาย