ThaiPublica > เกาะกระแส > กฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินของฮ่องกง กับ tax planning เข้าสู่เออีซี

กฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินของฮ่องกง กับ tax planning เข้าสู่เออีซี

5 มีนาคม 2014


อิสรนันท์

นับตั้งแต่ฮ่องกงได้กลับคืนสู่อ้อมอกของจีนเมื่อปี 2540 ก็มีระบบการเงินของตัวเอง อีกทั้งยังเป็นช่องทางผ่านสะดวกของสกุลเงินหยวนที่จะหลบเลี่ยงระบบควบคุมเงินตราที่แสนเข้มงวดกวดขัน บ่อยครั้งด้วยวิธีฟอกเงินหรือการฉ้อโกงในรูปแบบต่างๆ

ฮ่องกงได้ประโยชน์มหาศาลจากกระแสเงินสะพัดจากจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป็นต้นตอของกองทุนสกปรกที่ใหญ่ที่สุด ประกอบกับอยู่ติดมาเก๊า บ่อนคาสิโนที่ใหญ่ที่สุดและเป็นศูนย์รวมของเงินผิดกฎหมายต่างๆ รวมไปถึงการฟอกเงินและแหล่งเงินลับของเกาหลีเหนือ

ภายหลังจากการประเมินสถานการณ์ในฮ่องกงเมื่อปี 2551 คณะกรรมการเฉพาะกิจทางการเงิน (FATF) ก็ได้ข้อสรุปและข้อเสนอแนะเพื่ออุดจุดอ่อนของระบบการปราบปรามการฟอกเงิน (AML) และการปราบปรามการก่อการร้ายทางการเงิน (CTF) นำมาซึ่งการร่างกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินของฮ่องกง (AML) ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2555 บังคับให้ธนาคารต่างๆ เพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นในการสอดส่องลูกค้าและให้รายงานต่อทางการหากพบการโอนเงินที่ผิดปรกติ

กฎหมายปราบปรามการฟอกเงินฉบับใหม่ได้ติดดาบให้กับ HKMA ซึ่งมีฐานะเทียบเท่าธนาคารกลางของฮ่องกงกลายๆ ที่จะลงโทษธนาคารต่างๆ ที่ละเลยหรือฝ่าฝืนไม่ยอมทำตามกฎหมายนี้หรือช่วยเหลือในการฟอกเงิน ซึ่งมาตรการลงโทษนี้รวมไปถึงการปรับเงิน 1 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงและยึดใบอนุญาตประกอบการ

อย่างไรก็ดี HKMA ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าดีแต่เงื้อดาบค้างแต่ไม่เคยลงมือเชือดธนาคารท้องถิ่นที่ละเมิดกฎหมายฟอกเงินนี้ และขณะที่เครื่องมือในการปราบปรามการฟอกเงินในฮ่องกงยังเล็กมากเมื่อเทียบกับภาคบริการทางการเงินที่ใหญ่โตมหึมา หลายคนก็วาดหวังว่า HKMA จะเข้มแข็งมากขึ้นในการตรวจสอบดูแลการฟอกเงินในอนาคตเหมือนกับคณะกรรมการหลักทรัพย์และการซื้อขายล่วงหน้า
(Securities and Futures Commission: SFC) ที่ประสบความสำเร็จในการฟาดฟันธนาคารที่ทำผิดในเรื่อง insider trading

ที่มาภาพ : http://4.bp.blogspot.com
ที่มาภาพ : http://4.bp.blogspot.com

เมื่อต้นปี 2556 ทั้ง HSBC Holdingsและธนาคารฮั่งเส็ง ธุรกิจในเครือ ซึ่งมีข่าวว่าเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน ต่างได้ลงโฆษณารับสมัครงานด้านการต่อต้านการฟอกเงิน

หน่วยตรวจสอบร่วมทางการเงิน The Joint Financial Intelligence Unit (JFIU) ซึ่งประกอบด้วยตำรวจและเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่เชี่ยวชาญด้านการปราบปรามการฟอกเงินเปิดเผยว่า เมื่อปี 2555 ได้รับรายงานว่ามีการโอนเงินที่ต้องสงสัยถึง 23,282 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2546 ถึงเกือบ 2 เท่า ในจำนวนนี้ทำผ่านธนาคารใหญ่น้อยถึง 82 เปอร์เซนต์

จากรายงานของ JFIU ซึ่งรับผิดชอบในการวิเคราะห์การโอนเงินต้องสงสัยและเป็นหน่วยงานสำคัญที่ธนาคารและสถาบันการเงินอื่นจะต้องรายงานให้ทราบหากพบรายการโอนเงินต้องสงสัยเผยว่า เมื่อปี 2555 ตำรวจได้จับกุมผู้ต้องหาคดีฟอกเงิน 166 ราย อีก 37 รายถูกจับกุมในช่วงไตรมาสแรกของปี 2556

โดยสองคดีใหญ่ที่หน่วยป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฮ่องกงคุยว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง คดีแรกเป็นกรณีของพนักงานส่งของจากกวางตุ้งวัย 22 ปี ถูกศาลตัดสินจำคุก 10 ปีครึ่ง ในข้อหาฟอกเงิน 1,300 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงในช่วงปลายปี 2543 ผ่านธนาคาร Chiyu Banking Corp ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Bank of China.

อีกคดีหนึ่ง ศาลได้ตัดสินจำคุกเจ้าของบ้านเช่าในฮ่องกงวัย 61 ปีคนหนึ่งเป็นเวลา 10 ปีในข้อหาฟอกเงินกว่า 6,800 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงผ่านธนาคาร Standard Chartered, Hang Seng Bank, Chiyu Bank, National Commercial Bank, Hua Chiao Commercial Bank, Dao Heng Bank, First Commercial Bank, Hua Nan Bank and Bank of East Asia ระหว่างปี 2545-2548

แต่นักวิจารณ์หลายคนมองว่าเป็นแค่รายเล็กๆ เท่านั้น

สำหรับคดีฟอกเงินที่ถือเป็นคดีตัวอย่างที่โด่งดังไปทั่วก็คือ กรณีที่ศาลฮ่องกงเพิ่งตัดสินเมื่อต้นเดือน มี.ค. 2557 ว่านายคาร์สัน ยัง หรือหยาง เศรษฐีฮ่องกงวัย 54 ปี ที่เป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลเบอร์มิงแฮม ซิตี้ ในอังกฤษ กระทำผิดจริงในข้อหาฟอกเงินถึง 5 กระทงด้วยกันกรณีฟอกเงินจำนวน 720 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 3,000 ล้านบาท) ระหว่างปี 2544-2550

โดยผู้พิพากษาศาลฮ่องกงยังได้สั่งเพิกถอนการประกันตัว พร้อมทั้งสั่งฝากขังในเรือนจำระหว่างรอฟังคำตัดสินบทลงโทษ ซึ่งอาจต้องโทษจำคุกนานถึง 14 ปี ขณะที่ทนายความของนายยังยังปิดปากเงียบ ไม่ให้ความเห็นว่าจะอุทธรณ์หรือไม่

นายยังหรือหยางถูกจับกุมเมื่อเดือน มิ.ย. 2554 ซึ่งตลอดช่วงการพิจารณาคดี นายยังยืนยันว่ามีรายได้หลายร้อยล้านดอลลาร์จากการซื้อขายหุ้น จากธุรกิจร้านตัดผมในโรงแรมห้าดาว จากการลงทุนในจีน และจากการเล่นพนันในมาเก๊า

แต่อัยการแย้งว่า นายยังไม่สามารถชี้แจงที่มาของเงินบางส่วนได้ นอกจากนี้ ผู้พิพากษายังพบการทำธุรกิจที่ผิดปรกติในบางกรณี เพราะไม่มีข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษร แม้จะเป็นสัญญาธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาลก็ตาม

ขณะที่ทนายของนายยังแย้งว่า การพิจารณาคดีครั้งนี้ไม่ยุติธรรมพร้อมกับรุกกลับ ด้วยการกล่าวหาอัยการว่าไม่สามารถแสดงหลักฐานพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าเงินเหล่านั้นไม่ได้มาจากการลงทุนและการเล่นพนัน

สำหรับนายคาร์สัน ยัง นั้น ก่อนหน้านี้ไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก เคยทำงานที่อังกฤษในช่วงวันรุ่น ก่อนจะหันมาเป็นช่างตัดผมในฮ่องกง แล้วไปลงทุนที่มาเก๊า กระทั่งกลายเป็นนักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกง

ชื่อเสียงของนายยังหรือหยางเริ่มเป็นที่จับตามองเมื่อควักกระเป๋าซื้อสโมสรฟุตบอลทีมเบอร์มิงแฮม ซิตี้ ของอังกฤษ เมื่อเดือน ต.ค. 2552 ในราคา 81.5 ล้านปอนด์ (ราว 3,682 ล้านบาท) และเพิ่งลาออกจากตำแหน่งประธานสโมสรเมื่อเดือน ก.พ. 2557 ระหว่างรอฟังคำตัดสินคดีฟอกเงิน

ทั้งนี้ กฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฉบับใหม่ของฮ่องกงเพิ่งบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2555 โดยกำหนดให้ธนาคารต้องเฝ้าระวังการทำธุรกรรมที่ต้องสงสัยของลูกค้าและแจ้งให้ทางราชการทราบหากพบพฤติกรรมต้องสงสัย

สำหรับคดีการปราบปรามการฟอกเงินที่ถือเป็นคดีใหญ่ระดับโลกก็คือกรณีธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น หรือ HSBC หนึ่งในสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของโลก ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ยินยอมชำระค่าปรับยอมความนอกศาลให้แก่รัฐบาลกลางสหรัฐเป็นมูลค่าถึง 1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 57,000 ล้านบาท ) นับว่าเป็นค่าปรับในคดีฟอกเงินที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ จากเดิมที่ HSBC ประกาศจะยอมจ่ายเงินยุติคดีนี้แค่ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 45,000 ล้านบาท )

นอกจากนี้ HSBC ยังแถลงยอมรับผิดกรณีละเมิดกฎหมายปกปิดความลับของธนาคาร และกฎหมายการห้ามทำธุรกรรมกับประเทศที่เป็นศัตรูอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ HSBC ถูกกล่าวหาว่าเป็นแหล่งฟอกเงินสำคัญของกลุ่มอาชญากรและขบวนค้ายาเสพติดข้ามชาติทั้งในยุโรปและลาตินอเมริกา รวมถึงรับทำธุรกรรมทางการเงินให้กับประเทศที่ถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร ไม่ว่าจะเป็นอิหร่านหรือซีเรีย

ความเคลื่อนไหวของธนาคาร HSBC มีขึ้นหลังจากธนาคารstandard chartered ซึ่งเป็นหนึ่งในธนาคารของอังกฤษที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันในการฟอกเงินและละเมิดการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ เช่นกัน ยอมตกลงจ่ายค่าปรับจำนวน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9,000 ล้านบาท )ให้สหรัฐฯ เพื่อยุติคดีความ

คนไทยกับการเปิดบัญชีฮ่องกง-การวางแผนภาษีรับเออีซี

นายปราโมทย์ โรจน์ทนงชัย
นายปราโมทย์ โรจน์ทนงชัย

สำหรับธนาคารกรุงเทพ จำกัด เป็นธนาคารที่มีสาขาฮ่องกงมานาน 60 ปี นายปราโมทย์ โรจน์ทนงชัย SVP และผู้จัดการด้านปฏิบัติการ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาฮ่องกง ทำงานที่นี่มานานประมาณ 30 ปี ให้ความเห็นเกี่ยวกับกฎหมายฟอกเงินของฮ่องกงที่ประกาศใช้เมื่อปี 2012 ว่าทำให้ธนาคารต้องปรับตัว เพราะบ่อยครั้งที่คนไทยนำเงินมากฝากที่นี่แต่มีเงื่อนไขของกฎหมายฟอกเงินที่ต้องปฏิบัติ ทำให้รู้สึกว่ามันยุ่งยากและไม่ง่ายเหมือนเมื่อก่อนแล้ว

“กฎหมายฟอกเงินที่นี่ให้แบงก์พิจารณาแบบเคสบายเคส แต่ต้องขึ้นอยู่กับ risk based approach คือ คุณไม่ทำตัวให้เป็นเครื่องซักผ้าได้อย่างไร เมื่อมีการตรวจสอบขึ้นมาคุณอธิบายได้อย่างไร ซึ่งแน่นอนมีกฎเกณฑ์กว้างๆ ที่คุณจะต้องทำ เช่น การเปิดบัญชี หากเป็น “บุคคล” คุณต้องตรวจสอบพาสปอร์ต บัตรประชาชน เอกสารยืนยันถิ่นที่อยู่ หากเป็น “บริษัท” คุณต้องมีเอกสารอะไรบ้าง ผู้มีอำนาจในการเซ็น คนที่เป็นกรรมการต้องมีเอกสารอะไรบ้าง เป็นต้น”

นอกจากนี้คุณต้องทราบว่า KYC: Know Your Custumer คุณต้องรู้ว่าเขาทำธุรกรรมอะไร ซื้อจากที่ไหน ขายไปที่ไหน ซื้อจากประเทศที่มีความเสี่ยงฟอกเงินสูงหรือเปล่า ขายไปประเทศที่มีความเสี่ยงฟอกเงินสูงหรือไม่ หากมีแนวโน้มคุณต้องจัดเกรดลูกค้ารายนี้อยู่ในประเภทความเสี่ยงการฟอกเงินสูง และทุกปีคุณต้องทบทวน และทุกครั้งที่ทำธุรกรรม คุณต้องดูรายการเงินเข้าเงินออกว่าสมเหตุสมผลไหม มีเอกสารยืนยันหรือไม่ อันนี้คือสิ่งที่ทำยาก และลูกค้ามองว่าทำไมยุ่งยากอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเราต้องทำตัวของเราไม่ให้เสียลูกค้าและอธิบายทางการได้ โดยจะทำให้มันสมดุลอย่างไร เพราะมันไม่มีเขียนเป็นตำรา มันเป็นเรื่องประสบการณ์การเรียนรู้ การปฏิบัติ มันเป็นการสอนรุ่นต่อรุ่น ว่ารายการอย่างนี้ความเสี่ยงอยู่ตรงไหน

“อย่างฮ่องกงเซี่ยงไฮ้แบงก์ เขาเจอปัญหานี้ที่นิวยอร์ก ในฮ่องกงเขากระตือรือร้นมาก เพราะฉะนั้นหลายๆ บัญชีเขาเรียกมาให้ปิด นี่คือความยากของการดูการฟอกเงิน มันต้องทำ เพราะเป็นกฎหมาย ตอนนี้คนไทยเข้าใจเยอะขึ้น ว่าทำไมยุ่งยากอย่างนี้ ทั้งที่เราทราบว่ารายการนี้ไม่มีการฟอกเงินแต่เราต้องมีเอกสารอยู่ในไฟล์ว่ามีเอกสารครบถ้วนเมื่อทางการมาตรวจสอบ”

นายปราโมทย์กล่าวต่อว่า กฎหมายฟอกเงินไม่มีกฎตายตัว ในฮ่องกงจะมอบภาระการตรวจสอบให้แบงก์เป็นคนรับผิดชอบทั้งหมด คุณจะฝาก 100 เหรียญ 1 หมื่นเหรียญ หรือเป็นล้านเหรียญ แบงก์ต้องดูเองว่าเป็นการฟอกเงินหรือไม่ อย่างคนขับแท็กซี่มาเปิดบัญชี ถ้าเขาฝากเป็นเงินร้อย เป็นเงินพัน อาจจะถูกต้องตามกำลังรายได้ แต่ถ้าอยู่ๆ มีเงินล้านเหรียญเข้ามา แล้วคุณอาชีพแท็กซี่ ก็ต้องดีแคลร์ จะถูกหวยก็ต้องมีหลักฐาน หากหาหลักฐานไม่ได้ เรารับไม่ได้ หากแบงก์รับ คุณต้องแจ้งทางการ และแจ้งแล้วก็ต้องรอว่าทางการให้รับหรือไม่ ดังนั้นเราไม่ต้องการเอาแบงก์เราเป็นเครื่องมือให้เขาฟอกเงิน นี่คือความเสี่ยงเรา ต้องไม่ทำตัวของเราให้เป็นช่องทางให้เขาฟอกเงินที่นี่

“เคยมีเคสว่าแม่บ้านฮ่องกงรับฟอกเงิน 5 พันล้านเหรียญให้คนจีนแผ่นดินใหญ่ โดยแม่บ้านคนนี้ไปเปิดบัญชีตามแบงก์ต่างๆ เกือบ 10 แบงก์ ต่อมาถูกลงโทษ เป็นเคสใหญ่ในฮ่องกง แต่ตอนนั้นยังไม่มีกฎหมาย แบงก์แค่ถูกตักเตือน เมื่อไม่นานนี้ถ้าเคยได้ยินข่าว HSBC สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด โดนปรับหลายพันล้าน เดี๋ยวนี้ไม่มีการจับเข้าคุก ไล่ออก หรือปิดใบอนุญาต ไม่ทำกันแล้ว ปรับอย่างเดียว เอาเงินเข้ารัฐ หากเอาผิดแบงก์ แบงก์แค่เปลี่ยนผู้จัดการก็จบ ดังนั้นการกำกับดูแลของทางการที่นี่เขาโยนบอลให้แบงก์ตลอด คุณไปทำเอง ถึงเวลาเขามาตรวจ เขาสามารถบอกได้ว่าอันนี้คุณทำผิด แต่กฎเกณฑ์เขาไม่มีหรอก อันนี้จึงลำบาก เพราะฉะนั้นเราต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง ทุกครั้งที่ทำ เราต้องคิดว่า ถ้าทางการมาถาม เราจะต้องตอบอย่างไร อันนี้คือสิ่งที่ยาก มันต้องอาศัยประสบการณ์” นายปราโมทย์กล่าว

นายปราโมทย์กล่าวว่าที่ผ่านมาคนทราบว่าฮ่องกงเป็นแหล่งที่สามารถทำธุรกรรมแล้วไม่ต้องเสียภาษี แต่เดี๋ยวมันจบแล้ว ทุกอย่างต้องวางบนโต๊ะหมด และตอนนี้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีกำลังจะเปิด มีลูกค้ามาเปิดบัญชีและมาจดทะเบียนบริษัทในฮ่องกงมากขึ้น เพื่อทำการซื้อมาขายไประหว่างประเทศในเออีซี โดยเป็นธุรกรรมที่เกิดนอกฮ่องกง และเงินโอนมาที่ฮ่องกง อันนี้ไม่ต้องเสียภาษีฮ่องกง เพียงแต่ต้องชี้แจงที่มาที่ไปของเงิน ซึ่งตนก็เห็นด้วยและแนะนำไปว่านี่คือ tax planning ที่บริษัททำได้ เพราะเป็นทำธุรกรรมที่ถูกต้อง เนื่องจากฮ่องกงเป็น Financial Center การโอนเงินออกไม่มีกฎเกณฑ์ โอนได้ตลอด เพียงแต่ต้องทำตามกติกากฎเกณฑ์ภายใต้กฎหมายการฟอกเงิน