ThaiPublica > คอลัมน์ > ความรุนแรงสร้างความรุนแรง

ความรุนแรงสร้างความรุนแรง

28 มีนาคม 2014


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

การยิง M79 เข้าใส่ผู้ชุมนุม ผู้ถูกชุมนุมและตำรวจถูกฆ่าตาย การแสดงวาจาข่มขู่ ลูกฆ่าพ่อแม่และน้อง แม่ยายจ้างยิงลูกเขย ฯลฯ ทั้งหมดนี้คือความรุนแรงในปัจจุบัน

กรณีฆาตกรรม ทำร้าย ปล้นฆ่า ดังปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ล้วนเป็นผลพวงจากการได้เสพและประสบความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยผ่านสื่อทั้งหลาย

กรณีที่สมควรได้รับความสนใจอย่างมากจากสังคมไทย แต่ถูกกลบโดยข่าวการเมืองก็คือการฆาตกรรมพ่อแม่และน้องชายที่มีกรมธรรม์ประกันชีวิตนับล้านๆ บาท ลูกชายคนโตสารภาพว่าใส่ยานอนหลับในอาหารของทั้งครอบครัว และเอาปืนยิงขมับทั้งสามคนตอนดึก ก่อนหน้านั้นก็ปิดกล้องวงจรปิดเพื่อมิให้มีการบันทึกภาพ

คำถามก็คือ หนุ่มวัย 19 ปี ศึกษาในมหาวิทยาลัยมีชื่อของรัฐ กระทำการดังกล่าวได้อย่างไร สังคมเราป่วยถึงขนาดนี้เชียวหรือ คำตอบก็คือ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นรอบตัวทำให้ดูเหมือนว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ผิดปกติ และอาจเป็นความสับสนระหว่างความจริงและสิ่งลวงตาของผู้กระทำ

ว่ากันว่าสงครามเป็นบ่อเกิดของความรุนแรงในสังคม กล่าวคือ หลังสงครามแล้วในทุกสังคมสิ่งที่เกิดตามมาก็คือความรุนแรงอันเนื่องมาจากได้ผ่านการฆ่าฟันอย่างรุนแรงมาแล้ว การกระทำโหดร้ายทารุณเสมือนเป็นงานประจำวัน

ในปัจจุบันสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นของเราอาจมีสภาพคล้ายกับสงครามในใจของคนบางกลุ่ม เมื่อคุ้นเคยกับความรุนแรงเป็นอย่างดี สิ่งที่เกิดตามมาจึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติสำหรับคนเหล่านี้

สถิติของความรุนแรงในระดับโลกก็คือ มนุษย์ตายด้วยสาเหตุของความรุนแรงประมาณ ปีละ 1.6 ล้านคน ในจำนวนนี้เกินกว่า 50% มาจากการฆ่าตัวตาย 35% มาจากฆาตกรรม และเกินกว่า 12% มาจากสงครามหรือรูปแบบอื่นของความรุนแรง

สถิติการตายจากความรุนแรง

ในทวีปแอฟริกาที่ความรุนแรงหนักหน่วงกว่าทวีปอื่นๆ ในจำนวนประชากร 100,000 ล้านคน ประชากรในแต่ละปีตายด้วยสาเหตุความรุนแรง 60.9 คน ในสหรัฐอเมริกาก็มีสถิติความรุนแรงที่ไม่น่าเชื่อ เด็กประมาณ 10 คนต่อวันตายด้วยปืนที่เก็บไว้ในบ้าน

งานวิจัยพบว่า มีสหสัมพันธ์สูงระหว่างระดับของความรุนแรง และสาเหตุที่ก่อให้เกิดความรุนแรง อันได้แก่ ความยากจนที่กระจุกตัวอยู่ในบริเวณเดียวกัน รายได้และเพศที่ขาดความเท่าเทียมกัน การบริโภคแอลกอฮอล์และยาเสพติด ตลอดจนการขาดการอบรมเลี้ยงดูที่เหมาะสม อันก่อให้เกิดการไร้ความรู้สึกปลอดภัยและมีเสถียรภาพของเด็ก ถึงแม้ว่าสหสัมพันธ์ดังว่ามิได้บอกว่าอะไรเป็นเหตุและผล แต่ก็อนุมานได้ว่าปัจจัยเหล่านี้ปูพื้นฐานสู่ความรุนแรงซึ่งก่อให้เกิดความรุนแรงอีกต่อหนึ่งอย่างไม่ต้องสงสัย

การฆ่ากันเพื่อล้างแค้นของแต่ละฝ่ายหรือ ‘ตาต่อตาฟันต่อฟัน’ (ดังที่เรียกกันว่า an eye for an eye, a tooth for a tooth ซึ่งเมื่อกระทำเช่นนี้กันแล้วทั้งสองฝ่ายก็จะฟันหลอและตาบอดด้วยกัน) ก็คือวัฏจักรของความรุนแรงนั่นเอง

ถึงแม้ความรุนแรงจะเป็นสมบัติของมนุษยชาติมาแต่ดึกดำบรรพ์ ตลอดระยะเวลา 150,000-200,000 ปี ของความเป็นมนุษย์ที่ยืนสองขาแบบปัจจุบัน หรือประมาณ 7,500-10,000 ชั่วคน แต่ก็มิได้หมายความว่าเราจะต้องปล่อยตัวตามธรรมชาติของเรา

เมื่อมนุษย์มีอารยธรรม มีศาสนา ความรุนแรงเพื่อรักษาความอยู่รอดของตนเองก็ลดน้อยลงไปเป็นอันมาก ความสามารถในการอดกลั้นความโกรธมีบทบาทสำคัญในการช่วยลดความรุนแรง แต่อย่างไรก็ดี ความสามารถดังกล่าวแตกต่างกันในตัวมนุษย์แต่ละคน

การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยอย่างรวดเร็วในรอบ 20-30 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการผ่อนปรนความสัมพันธ์ระหว่างเพศ ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงค่านิยมของสังคมไทย

ในสังคมตะวันตก เมื่อหญิงหมดรักชาย ต้องการไปรักคนอื่น ชายก็จะยอมรับโดยดุษณีภาพเพราะมีค่านิยมเด่นชัดในเรื่องการเคารพสิทธิของบุคคล เมื่อเขาหมดรักเราถึงจะแสนโกรธและสุดเศร้าก็จำต้องยอมรับสถานภาพที่ถูกทิ้งของตนเอง

อย่างไรก็ดี ในสังคมไทย ค่านิยมในเรื่องการเคารพสิทธิของบุคคลยังไม่เกิดขึ้นอย่างแข็งขันในขณะที่การผ่อนปรนความสัมพันธ์ระหว่างเพศก้าวไปไกลแล้ว ดังนั้นเราจึงมักได้อ่านข่าวฆาตกรรมหญิงที่หมดรักฆาตกร หรืออาจรวมไปถึงฆ่าชายคนรักใหม่อยู่เนืองๆ กล่าวคือเมื่อหญิงหมดรักชายรู้สึกเสียศักดิ์ศรีโดยมิได้คำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคลในการรักชอบคนอื่น ดังนั้นจึงอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้ (จนต้องย้ายไปอยู่บางขวางคนเดียว)

ความรุนแรงเป็นเรื่องน่ากลัวเพราะมนุษย์เคยชินกับมันได้ง่ายและชอบที่จะเลียนแบบอย่างไร้สมอง ดังนั้น วิธีสกัดความรุนแรงที่ได้ผลก็คือการไม่ยอมให้ความรุนแรงในดีกรีที่สูงเกิดขึ้นในเบื้องต้นเป็นอันขาด

ตีพิมพ์ครั้งแรก:คอลัมน์ “อาหารสมอง” กรุงเทพธุรกิจ วันที่อังคาร 18 มี.ค. 2557