ThaiPublica > เกาะกระแส > ข้อเสนอปฏิรูปประเทศไทย “คอร์รัปชัน-การผูกขาดทางเศรษฐกิจ” ในยุคประชาชนมีสำนึกดีกว่าผู้ปกครองประเทศและนักคอร์รัปชันให้สินบนประชาชน

ข้อเสนอปฏิรูปประเทศไทย “คอร์รัปชัน-การผูกขาดทางเศรษฐกิจ” ในยุคประชาชนมีสำนึกดีกว่าผู้ปกครองประเทศและนักคอร์รัปชันให้สินบนประชาชน

19 กุมภาพันธ์ 2014


ทีดีอาร์ไอชวนคิด-ชวนคุยข้อเสนอปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่1 หัวข้อ“การคอร์รัปชัน และการผูกขาดทางเศรษฐกิจ”
ทีดีอาร์ไอชวนคิด-ชวนคุยข้อเสนอปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่1 หัวข้อ“การคอร์รัปชัน และการผูกขาดทางเศรษฐกิจ”

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอจัดเสวนา “ทีดีอาร์ไอชวนคิด-ชวนคุยข้อเสนอปฏิรูปประเทศไทย” โดยงานเสวนานี้ เป็นเวทีเสวนาโต๊ะกลมเพื่อระดมความคิดเห็นทั้งจากบุคลากรภายในทีดีอาร์ไอและผู้สนใจจากภายนอก โดยเป้าหมายหลักคือ การให้ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยที่ชัดเจน และเป็นรูปธรรมต่อสาธารณชน และเพื่อให้พรรคการเมืองที่สนใจและเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวสามารถนำข้อเสนอไปผลักดันให้เกิดนโยบายขึ้นจริง โดยครั้งที่ 1 จัดในหัวข้อ “การคอร์รัปชัน และการผูกขาดทางเศรษฐกิจ” เป็นการชวนคิด-ชวนคุย โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ ร่วมด้วย ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคิน-ภัทร และ นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย

ดร.สมเกียรติกล่าวว่า ทีดีอาร์ไอเป็นสถาบันวิจัยเชิงนโยบาย ทำวิจัยด้านเศรษฐกิจมานาน และเห็นว่าตอนนี้ประเทศไทยถึงจุดสำคัญ หากไม่ได้ปฏิรูปใดใด ประเทศไทยคงประสบปัญหาความขัดแย้งนี้ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด และความขัดแย้งคงรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ทางออกทางเดียวที่จะทำให้เรายกระดับ ออกจากปัญหาปัจจุบันไปสู่จุดดุลยภาพที่ดีกว่า เป็นเศรษฐกิจที่มีความโปร่งใส ทำให้การเมืองโปร่งใสไปด้วย คือการลดการคอร์รัปชัน ทำเศรษฐกิจให้มีการเหลื่อมล้ำน้อยที่สุด มีสวัสดิการสังคมที่ดี สร้างวินัยการเงินการคลัง ทำให้เรามีภูมิคุ้มกันเมื่อเกิดภาวะวิกฤติต่างๆ

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ทีดีอาร์ไอเปิดเวทีเสวนาจัดฟอรัมปฏิรูปในครั้งนี้ กำหนดเป็นหัวข้อวิจัยและทำวิจัยเรื่องนี้มาต่อเนื่องหลายปี ตอนนี้คงถือโอกาสที่จะเอาความรู้ที่ศึกษาวิจัยมาชวนช่วยกันคิด ช่วยหาแนวทาง ว่าจะมีทางออกอย่างไร ในการที่เราจะปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งการปฏิรูปเป็นโจทย์ใหญ่ คงไม่มีฝ่ายใดฝ่ายเดียวทำได้ ทีดีอาร์ไออาสาเป็นกลไกเล็กๆ ในสังคมที่จะช่วยกันขับเคลื่อนการปฏิรูปทั้งที่เราทำเองและที่ไปร่วมกับภาคีอื่น ๆ

“วันนี้เราขอเปิดเรื่องการลดการคอร์รัปชันและการผูกขาดทางเศรษฐกิจ ที่เราเห็นว่าเป็นหัวใจโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในวันนี้ด้วย จริงๆ แล้วไม่ว่าการผูกขาดจะทำให้เกิดคอร์รัปชัน หรือการคอร์รัปชันทำให้เกิดกรผูกขาด แต่สองเรื่องนี้มีความเกี่ยวพันใกล้ชิดมาก ยากที่จะแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้โดยไม่คำนึงถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดคอร์รัปชัน ซึ่งสาเหตุหนึ่งก็คือการผูกขาดทางเศรษฐกิจ กรณีที่ศึกษามีหลายกรณีที่คอร์รัปชันเกี่ยวข้องกับการผูกขาดอย่างใกล้ชิดมาก

ดร.เดือนเด่นกล่าวถึงคอร์รัปชันในประเด็นที่ว่า ทำไมต้องมีดัชนีชี้วัดคอร์รัปชันและมีความสำคัญอย่างไร หากเราไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยเพียงพอ เราไม่รู้ว่าปัญหาของเรามีลักษณะอย่างไร เราก็ไม่สามารถแก้ไขและออกแบบยุทธศาสตร์ได้

“ตอนนี้หากเราดูข้อมูลดัชนีชี้วัดต่างๆ จะพบว่ามีข้อมูลค่อนข้างจำกัด จะเห็นว่ามักจะอ้างตัวเดียวคือ CPI: Corruption Perception Index ของ Transparency International ว่าเราตกจากอันดับ 83 เป็นอันดับ 102 แต่การดูตัวนั้นไม่ได้บอกอะไรเรา รู้เพียงแค่ว่าต่างชาติเขามองว่าเราเป็นประเทศที่คอร์รัปชันมากขึ้น แต่ถามว่ามันคอร์รัปชันอย่างไร รุนแรงไหม กลุ่มอุตสาหกรรมไหน อย่างไร ใครคอร์รัปชันมากที่สุด และมันมีผลกระทบต่อธุรกิจเราอย่างไร เราไม่รู้เลย เพราะเราไม่มีข้อมูล เราไม่มีสถิติเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน ดังนั้นจึงเป็นภาพเบลอๆ รู้ว่าแย่ลง แต่ไม่รู้ว่าแย่ลงเพราะอะไร จึงคิดว่าอยากให้มีความสำคัญในการสร้างฐานข้อมูลที่จะวัด สภาพการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยเป็นไปในทิศทางใด และอย่างไร ที่จะเอามาวิเคราะห์ และทำยุทธศาสตร์”

ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร(ซ้าย) ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์(ขวา)
ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร(ซ้าย) ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์(ขวา)

หากพูดถึงดัชนีชี้วัดคอร์รัปชัน มีการแยกหยาบๆ คือ 1) ดัชนี Perception เป็นความเห็น เช่น ท่านคิดว่าประเทศไทยคอร์รัปชันมากน้อยแค่ไหน หน่วยงานราชการรับเงินใต้โต๊ะไหม ก็มีการทำสำรวจประชาชน นักธุรกิจ แต่ทำเป็นครั้งๆ ไป 2) Experience เป็นสำรวจว่าท่านเคยจ่ายเงินไหม ต้องตอบตามความเป็นจริง แต่นานๆ ทำสำรวจที 3) สถิติคอร์รัปชัน เช่น จำนวนคดีเกี่ยวกับคอร์รัปชันที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมีกี่คดี นำไปสู่การสิ้นสุดมีการลงโทษกี่คดี เป็นต้น หรือคดีซื้อเสียงมีหรือไม่ ข้อมูลเหล่านี้ไม่ค่อยมีกันเท่าไหร่

เปรียบเทียบกับประเทศเกาหลีใต้ มีการวิเคราะห์การทุจริตคอร์รัปชันว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร เขาใช้ทั้งสถิติ ทั้งความเห็น และประสบการณ์ ผลวิเคราะห์ได้เรื่องราวที่น่าสนใจว่าคนเกาหลีใต้เห็นว่าการทุจริตสำหรับการเมืองยังสูงมาก ส่วนสำรวจว่าเคยจ่ายใต้โต๊ะไหม ปรากฏว่าน้อยมาก แสดงว่าการคอร์รัปชันอยู่ในระดับสูง และมีคำถามต่อว่าการคอร์รัปชันมีผลกระทบต่อธุรกิจหรือไม่ คำตอบส่วนมากไม่กระทบเท่าไหร่ จะกินก็กินกัน ไม่ก่อความเดือดร้อนให้ภาคธุรกิจ เป็นการวิเคราะห์ที่ชี้ให้เห็นว่าการคอร์รัปชันหน้าตาเป็นอย่างไร จะวางยุทธศาสตร์อย่างไร

ดังนั้นเราต้องมีดัชนีตัวชี้วัด มีสถิติคอร์รัปชัน เพื่อจะได้รู้ว่าหน้าตาและปัญหาของคอร์รัปชันเป็นอย่างไร

การปฏิรูปทำได้ตลอดเวลา ไม่ต้องรอใคร…ผู้นำต้องสร้างวัฒนธรรมความโปร่งใส

ขณะที่ ศ.ดร.ผาสุกกล่าวว่า เรื่องคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่ทุกประเทศในโลกประสบ ประเทศที่พัฒนาแล้วก็ยังมีปัญหา แม้จะมีขบวนการที่ยุติธรรมสามารถเอาผิดได้อย่างรวดเร็ว ใช้ได้กับทุกคน เชื่อถือได้ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการ ส่วนประเทศไทยมีคอร์รัปชันสะสมเยอะ เพราะกระบวนการยุติธรรมยังมีปัญหาอยู่ แต่ก็ดีขึ้นมากๆ ในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา มีบริการที่ดีขึ้น อาจจะมีปัญหาเฉพาะหน่วยงานที่มีธุรกรรมเป็นจำนวนเงินมากๆ เช่น กรมที่ดิน กรมสรรพากร ศุลกากร หรือในกรณีของตำรวจ และกระบวนการยุติธรรม

อีกเรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่มาก คือการให้สินบนโครงการขนาดใหญ่ ที่มีความเกี่ยวพันระหว่างนักการเมือง นักธุรกิจ และข้าราชการ และกระจุกตัวในกระทรวงเกรดเอ เช่น คมนาคม ศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง

โดยเน้นว่า ปัญหาคอร์รัปชันที่โยงนักการเมืองและนักธุรกิจ เป็นปัญหาใหญ่ของแทบทุกประเทศในโลก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา เกี่ยวโยงกับขบวนการสะสมทุนของนักธุรกิจและนักการเมือง เพราะว่านักการเมืองในประเทศกำลังพัฒนาจะเป็นนักลงทุนด้วย จึงมีขบวนการหารายได้จากคอร์รัปชันในประเทศกำลังพัฒนา และเป็นเรื่องยากมากที่จะแก้ เพราะแรงจูงใจมันมหาศาลมาก ดังนั้นเราต้องหาวิธีที่จะทำให้ต้นทุนของการแสวงหาค่าเช่าคอร์รัปชันนี้สูงขึ้น

ในประเทศสิงคโปร์ในสมัยประธานาธิบดีลีกวนยู เมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว สภาพเหมือนไทย มีคอร์รัปชัน มีระบบการให้สินบน แต่ภายในชั่วอายุคน เขาได้สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีความโปร่งใส ลดการมีสินบนได้มาก ปัจจุบันเขาโปร่งใสอันดับ 5 ของโลก อันดับ 1 ของเอเชีย ลีกวนยูไม่ช่วยพรรคพวกนักการเมือง คนที่ทำความผิดติดคุกพร้อมจ่ายค่าเสียหายให้รัฐบาล สิ่งที่เกิดขึ้นนี้คือ “วัฒนธรรมองค์กร” ที่เกิดจากผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินที่ไม่ช่วยพรรคพวก

และขบวนการปฏิรูปคอร์รัปชันจะประสบความสำเร็จในกรอบของรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยเท่านั้น และต้องต่อเนื่อง ไม่ใช่ถูกขัดด้วยรัฐประหาร ดังนั้น ข้อเสนอที่จะให้มีรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งโดยไม่อิงรัฐธรรมนูญ จะนำไปสู่ช่องว่างทางอำนาจ ซึ่งจะทำให้มีการแก้ไขกฎหมายอีกหลายๆ เรื่อง ที่จะไม่เป็นประโยชน์กับประชาชนและเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้ เพราะบทเรียนหลังปี 2549 ทำให้การปฏิรูปหยุดชะงัก แต่อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะการสร้างวัฒนธรรมความโปร่งใสซื่อตรงโดยผู้นำ เช่น นายกฯ ก็สามารถทำได้ตลอดเวลา

ต้องเสริมเขี้ยวเล็บ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารราชการ

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์
ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์

ดร.เดือนเด่นกล่าวเสริมประเด็นความโปร่งใสว่าจะเกี่ยวโยงกับ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารราชการ เพราะเชื่อว่าการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของไทย ณ จุดนี้ต้องมาจากประชาชนเป็นหลัก ที่ต้องช่วยกันตรวจสอบ โดยต้องมีเครื่องมือให้เขา และเครื่องมือที่สำคัญคือข้อมูล

“จะเห็นได้ว่าปัญหาทุจริตรับจำนำข้าว หากเรามีข้อมูลคงไม่อึมครึมมาจนถึงปัจจุบัน เพราะจริงๆ หลายๆ เรื่องเป็นเรื่องที่ประชาชนควรต้องรับทราบ เช่น ส่งออกข้าวไปเท่าไหร่ ขายข้าวให้ใครก็ไม่รู้ ทั้งที่เป็นข้อมูลสาธารณะที่ประชาชนต้องรู้เป็นเรื่องปกติ แต่ประเทศไทยกลับเป็นเรื่องปกปิด เป็นเรื่องลับ ทำให้เกิดปัญหา”

จึงคิดว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้สำคัญมาก แต่ไม่มีเขี้ยวเล็บ ร่างขึ้นมาแล้วไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ แค่ชื่อก็ไม่ใช่แล้ว ในต่างประเทศกฎหมายนี้ชื่อว่ากฎหมายว่าด้วยข้อมูลสาธารณะ ซึ่งตีความว่าข้อมูลนั้นเป็นสาธารณะ แต่อยู่ในครอบครองของราชการ แต่ของเราบอกว่าข้อมูลนี้ราชการเป็นเจ้าของ ไม่ใช่สาธารณชน จะให้หรือไม่ให้เป็นเรื่องราชการตัดสินใจ และกฎหมายนี้ก็มีข้อยกเว้นที่ค่อนข้างกว้าง เช่น เรื่องความมั่นคง หรือมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจ มีข้อยกเว้นยกเว้นที่จะไม่เปิดเผยอยู่เยอะมาก ต้องไปร้องเรียน อุทธรณ์ บางครั้งก็ไม่เปิด ต้องไปขึ้นศาลปกครอง เป็นขบวนการที่ไม่มีที่สิ้นสุด มันนานมาก ต่อมาใครต้องการข้อมูลก็ไปที่ศาลปกครองเลย เพราะเร็วกว่า ดังนั้นกฎหมายที่มีก็ไม่ใช่

ดังนั้น หากจะปฏิรูปประเทศไทย และให้ประชาชนมีบทบาทในการตรวจสอบคอร์รัปชัน คงต้องแก้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารราชการฉบับนี้ให้มีเขี้ยวเข็บและให้การยกเว้นแคบลงมากกว่านี้ หากมีเงื่อนไขต้องมีเหตุผลชัดเจน และไม่อยู่ในดุลยพินิจของเจ้าของข้อมูล และเอกสารต้องจัดลำดับชั้นความลับ

ด้านนายบรรยงกล่าวว่า “ผมอยากพูดนอกเหนือการศึกษาวิจัย ตอนที่ผมเริ่มชวนรณรงค์การต่อต้านคอร์รัปชัน ดูเหมือนเป็นเรื่องค่อนข้างไร้สาระ สังคมไม่ค่อยตอบรับ ผลสำรวจบอกว่ายอมรับได้ แต่พอเวลาผ่านไปมีนิมิตหมายที่ดี ว่าคอร์รัปชันเป็นวาระร่วม ที่พูดกันทุกทีว่าจะต้องวางมาตรการต่อต้านคอร์รัปชันให้ได้ ทั้งรัฐบาล กปปส. พรรคอื่นๆ ประกาศว่าจะขจัดคอร์รัปชันให้ได้

จากการที่ศึกษา เราพบว่าในโลกนี้กลไกโครงสร้างสถาบันของทุกๆ ประเทศมันมีลักษณะคล้ายคลึงสอดคล้องกัน ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกว่าเรื่องต่อต้านคอร์รัปชันไม่ไกลเกินฝัน เราสามารถหยิบยกมาตรการจากที่ต่างๆ มาใส่ลงไปได้เยอะมาก ล่าสุดได้ศึกษามาตรฐานของโออีซีดี มาตรฐานยูเอ็นโอดีซี ไอเอ็มเอฟก็มีมาตรฐานพวกนี้ ถ้าอ่านให้ดีจะพบว่าพวกนี้หยิบมาใส่ได้เยอะมาก เพราะฉะนั้น การปฏิรูปเรื่องคอร์รัปชัน อยากให้ใช้การศึกษามาตรฐานพวกนั้น เพราะเขาใช้ได้ผลในหลายๆ แห่ง หากเอาเรื่องพวกนี้มา ก็มีเรื่องเยอะมากที่เราต้องทำ อาทิ มีกฎหมายจำนวนมากที่มันขาดไป ที่มีอยู่ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น เป็นต้น

สรุปโดยรวมๆ ว่า มาตรการต่อต้านคอร์รัปชันสามารถพัฒนาได้เร็วกว่าที่คิด และมันมีตัวอย่างให้เห็นอยู่เยอะ ตัวอย่างที่สำคัญเพราะ “ข้อมูลไม่มี” แม้จะมี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ แต่มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานรัฐทั้งหมดมันจะต้องมี ไม่ใช่แค่ “เปิดอย่างไร้เงื่อนไข” แต่จะต้องเปิดในรูปแบบที่ดูรู้เรื่อง เช่น หน่วยงานราชการที่ดี ภารกิจประจำปีของเขามีอะไรบ้าง เหมือนดูรายงานประจำปีของบริษัทมหาชน ต้องมีภารกิจการใช้ไปของเงินในทุกจุด เปิดเผย และมีข้อยกเว้นได้ แต่ไม่ใช่ยกเว้นเยอะไปหมด เปรอะ โดยเฉพาะเรื่องอ้างเพื่อความมั่นคงของประเทศหมด ซึ่งในต่างประเทศเขาก็มีวิจัยว่าหน่วยงานไหนที่จะอ้างเพื่อความมั่นคงได้ หากพัฒนาไปมากกว่านั้น ก็จะเป็นหน้าที่หน่วยงานนั้นพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นหน่วยงานมั่นคง

“หรือที่เราหงุดหงิด คือความลับทางการค้า ทำให้บอกไม่ได้ว่าซื้อมาเท่าไหร่ ขายไปเท่าไหร่ เก็บไว้เท่าไหร่ เน่าไปเท่าไหร่ อย่างที่เราเจออยู่ (โครงการรับจำนำข้าว) นี่ยกตัวอย่างเฉพาะเรื่องข้อมูล แต่ยังมีมาตรฐานอื่นๆ อีกเยอะ ของพวกนี้หยิบยกมาใช้ได้เลย”

พร้อมย้ำว่า “เวลาที่เราพูดถึงการปฏิรูปมันเป็นขบวนการที่ยาวนานและกว้าง การมีกฎหมายและการปรับปรุงกฎหมายมันมีไม่ได้ถ้าไม่มีสภา”

ประชาชนมีสำนึกดีกว่าผู้ปกครองประเทศ

นายวิชัย อัศรัสกร
นายวิชัย อัศรัสกร

ส่วนนายวิชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคเอกชนรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันมา 3 ปี แสดงว่าการทุจริตคอร์รัปชันมันไม่ใช่ธรรมดา ได้สร้างความเสียหาย ไม่ใช่เรื่องตามน้ำ สิ่งที่เอกชนทำงานเราก็ต้องมีตัวชี้วัด CSI: Corruption Suititation Index สถานการณ์คอร์รัปชันที่เขาสำรวจ ทุก 6 เดือน

“เราทำมา 3 ปี เรารณรงค์กัน ไม่มีใครไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ แม้คนที่โกงด้วย และเขาก็มายืนแถวหน้ากับเรา จบงานเขาก็ไปโกงต่อ เราถูกมองจากเมืองนอก เรายิ่งแก้คอร์รัปชันเรายิ่งแย่ลง จากที่เราศึกษาประเทศที่ประสบความสำเร็จมี 2 ปัจจัยคือ 1. ตัวประชาชนเอง หากประชาชนยังเฉยๆ แก้ไม่ได้ ประชาชนต้องมีทัศนคติว่าทนไม่ได้กับการเห็นทุจริต 2. รัฐบาลต้องมี political view มีความมุ่งมั่นจริงๆ 3 ปีที่ทำมาผมยังไม่เห็น จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่เห็น และนี่คืออุปสรรคที่จะทำให้การขจัดคอร์รัปชันล้มเหลว”

แต่วันนี้เราเห็นแล้วว่าประชาชนเปลี่ยนไป มีคำถามว่าการทุจริตคอร์รัปชันในปี 2553 บอกว่าไกลตัว ไม่อยากยุ่ง แต่เดือนธันวาคม 2556 ถามคำถามเดียวกัน 87% เห็นว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัว เห็นว่าต้องออกมาทำอะไรสักอย่าง ส่วนคำถามว่ารัฐบาลทุจริตแต่มีผลงานรับได้หรือไม่ ปี 2553 บอกว่ารับได้ ตอนนี้บอกว่ารับไม่ได้ แล้ว 80% ตัวเลขนี้เปลี่ยน

จากคำถามต่ออีกว่า สาเหตุการทุจริตคอร์รัปชันมาจากอะไร 1. ความไม่เข้มงวดของการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบ 2. กฎหมายเปิดให้ดุลยพินิจที่เอื้อต่อการทุจริต 3. ขบวนการการเมืองขาดความโปร่งใส ตรวจสอบยาก

คำถามว่ารูปแบบการทุจริตที่เกิดบ่อยที่สุด 1. การใช้ตำแหน่งทางการเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์พรรคพวก 2. การใช้สินบนหรือของกำนัลหรือรางวัลต่างๆ 3. การทุจริตเชิงนโยบายโดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 4. การเอื้อประโยชน์แก่ญาติและพรรคพวก 5. การจ่ายเงินผลประโยชน์

“ปรากฏการณ์อย่างปลายปีที่แล้ว ที่เกิดกรณี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อยู่ดีๆ ทำไมคนไทยออกมาตื่นตัวขนาดนี้ เพราะมีขบวนการรณรงค์ ขบวนการให้ความรู้สาธารณชน ขบวนการการมีส่วนร่วมในภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคสังคมได้ทำงานร่วมกัน แม้แต่นักศึกษาที่ออกมา สังคมเริ่มมีความรู้ความเข้าใจ แม้กระทั่งเรื่องโครงการใหญ่ๆ อย่างโครงการรับจำนำ ไม่ต้องถามว่าเดือดร้อนอย่างไรจากการทุจริต ว่าเดือดร้อนขนาดไหน ถ้าเป็นชาวนา หากหาเงินไม่ได้จะฆ่าตัวตายหรือไม่ จะมีเงินให้ลูกไปโรงเรียน จะมีเงินจ่ายกับข้าวหรือไม่”

ดังนั้น วันนี้ไม่ต้องพูดแล้วว่าไม่มีทุจริต คิดว่าเราประสบความสำเร็จในการรณรงค์ในการสร้างการรับรู้ การตระหนักรู้ สร้างจิตสำนึก ประชาชนมีสำนึกดีกว่าผู้ปกครองประเทศในขณะนี้ว่าคอร์รัปชันมันไม่ดี แม้กระทั่งหนังโฆษณา ที่ใช้ธีมว่าคนโกงต้องไม่มีที่ยืนในสังคม เราพยายามฉายภาพออกไปว่าเราต้องไม่ยอมรับในสิ่งนี้ หากเป็นประเทศอื่นรัฐบาลคงกระโดดเข้ามาช่วยรณรงค์ แต่เงินที่ใช้โฆษณามาจากการบริจาคของภาคเอกชน

กลับมาที่เรื่องรัฐบาล หากจะเดินหน้าปฏิรูปเรื่องนี้ เนื้อหาการปฏิรูปนั้นองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันทำไว้แล้ว ว่าต้องทำอย่างไร ปัญหาของเราวันนี้ขณะนี้ไม่ใช่เราคิดไม่ออกว่าจะทำอะไร ไม่ใช่เรื่องว่าเราไม่มีระบบ หรือไม่มีกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ แต่ปัญหาคือคนที่อยู่ในอำนาจเขาไม่เอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ ถ้าเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงจริงๆ คนที่มีอำนาจพวกนี้ต้องเปลี่ยนแปลง หากไม่เกิดการเปลี่ยนในตัวบุคคล โอกาสก็ไม่เกิด ดังนั้น การปฏิรูปไม่ใช่วาทกรรม ไม่ใช่พูดให้ดูดี

กลยุทธ์นักคอร์รัปชันสมัยนี้ให้สินบนประชาชนในรูปแบบต่างๆ

นายบรรยง พงษ์พานิช
นายบรรยง พงษ์พานิช

นายบรรยงกล่าวเสริมว่า “เวลาผมพูดผมเน้นระบบที่กำกับมากกว่าที่จะปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ต้องเน้นระบบที่กำกับให้ทุกอย่างเป็นไปตามประโยชน์ของสาธารณะ ผมขอยกคำกล่าวนักปราชญ์อเมริกันที่ว่า “จะชอบหรือไม่ชอบก็แล้วแต่ ในโลกปัจจุบัน พิสูจน์แล้วว่าความเห็นแก่ตัวมันมีพละกำลัง มันมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลมากกว่าความเห็นแก่สังคมมากนัก” แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า จะวางกรอบวางติกาให้พลังความเห็นแก่ตัวนั้นไม่สามารถที่จะไปเอาเปรียบผู้อื่น ไม่สามารถไปลิดรอนสิทธิประโยชน์ของสาธารณะ และดีกว่านั้น มีระบบมีระเบียบ ที่สามารถทำให้พลังของความเห็นแก่ตัวที่รวบรวมกันแล้วเป็นพลังร่วมให้สังคมเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น อันนี้คือหลักการมากกว่าที่จะไปปลุกต้อนให้คนเป็นคนดีมีจริยธรรม ซึ่งมาตรฐานมันวัดยากมาก”

ตามมาตรฐานที่ศึกษามา สำคัญที่สุดคือข้อมูลข่าวสารที่ต้องเปิดเผยอย่างไร้เงื่อนไขและในรูปแบบและระบบที่ติดตามวิเคราะห์ได้ ไม่ใช่คุณอยากได้ก็กองแล้วมาเอาไป ทุกคนทุกหน่วยงานต้องถูกกวาดต้อนให้เปิดเผยข้อมูล อันนั้นจะเป็นฐานที่สำคัญที่สุด

นายบรรยงกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา เราชอบสร้างองค์กรอิสระต่างๆ ภายใต้กฎหมายมาคาน จากที่สังเกต องค์กรอิสระจะอยู่ภายใต้รัฐบาลหรือไม่ก็ตาม นั่นคือการยื่นอำนาจรัฐให้เขา และอำนาจรัฐนี่แหละคือต้นตอของคอร์รัปชัน และสิ่งที่หายไปคือองค์กรประเภทที่ไม่ใช่เกิดตามอำนาจกฎหมาย ที่จะช่วยกำกับให้ทุกอย่างควรจะเป็นไปได้ ซึ่งสังคมเราขาดไป ได้แก่

กลุ่มแรก คือภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งและมีทรัพยากรเพียงพอ ทำอย่าไรที่เราจะมีเอ็นจีโอหลากหลาย ที่สามารถติดตามให้ข้อมูล

กลุ่มที่สอง สถาบันที่เรียกว่า Policy Watch คือสถาบันที่คอยติดตาม วิเคราะห์นโยบายของภาครัฐ เช่น ทีดีอาร์ไอ ซึ่งสถาบันแบบนี้ของไทยมีอยู่น้อยมาก ซึ่งเขามีหน้าที่วิจารณ์รัฐบาล และต้องมีทรัพยากรเพียงพอ

กลุ่มที่สาม สื่อที่มีคุณภาพ

นอกจากนี้ ภาพใหญ่ของการลดคอร์รัปชัน เรื่องหนึ่งคือการเปลี่ยนทัศนคติของสังคม หากสังคมเปลี่ยนทัศนคติจริง ถ้าคนมีอำนาจวันนี้ไม่ทำ วันหน้าประชาชนก็ไปเลือกคนที่ทำมา เพียงแต่เราต้องอดทน หากสังคมเปลี่ยนทัศนคติจริง

“แต่ผมยังสงสัย เพราะผลสำรวจที่ทำมายังตื้นไป ต้องลงรายละเอียด เพราะว่านักคอร์รัปชันสมัยนี้เขามีกลยุทธ์ในการให้สินบนประชาชนในรูปแบบต่างๆ สำรวจที่บอกว่ายอมรับได้ไหมถ้าคอร์รัปชันแล้วทำประโยชน์บ้าง หลายคนบอกว่าเป็นการสำรวจที่เลวมากเพราะเป็นคำเท็จ จริงๆ ไม่ใช่เพราะคอร์รัปชันสร้างประโยชน์ได้แต่เป็นประโยชน์ของคนกลุ่มไหน และยั่งยืนหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงคงไม่มีหรอก เพราะฉะนั้น เรื่องนวัตกรรมคอร์รัปชัน มันพัฒนาไปลึกซึ้ง”

อีกมาตรการ ทุกประเทศเขามุ่งมั่นชัดเจนว่าต้องการลด “อำนาจ ขนาด บทบาทของภาครัฐ” อย่างจีนที่ประกาศเรื่องนี้ชัด แต่ของเราหากย้อนไป 15-16 ปี จะพบว่าของไทยเบ่งทั้งสามอย่าง “ขนาด” ถ้าดูจากจีดีพี อาจจะไม่มาก แต่ถ้าดูสถาบันการเงินภาครัฐ จาก 3 แสนล้านบาทเป็น 4 ล้านล้านบาท รัฐวิสาหกิจจาก 5 แสนล้านบาทเป็น 4 ล้านล้านบาท “ขนาด” ที่มันเบ่งมหาศาล หลายๆ เท่าตัว

ส่วน “อำนาจรัฐ” หน่วยของรัฐใดที่ตั้งขึ้นมาก็ต้องยกอำนาจให้ บางครั้งอำนาจอีรุงตุงนัง เป็นลิงแก้แห อย่างโครงการรับจำนำข้าวที่ไปยึดเอามาทำเอง

ส่วนบทบาทการกระจายอำนาจ ในมิติการลดคอร์รัปชัน แปลว่าทำให้ประชาชนใกล้ชิดมากขึ้น เมื่อมีการกระจายอำนาจไป ทุกคนจะเฝ้าตามเพราะเขามีส่วนได้เสียโดยตรง

คอร์รัปชันกับการผูกขาดเศรษฐกิจ

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

ดร.สมเกียรติกล่าวเสริมว่า “คุณวิชัยเปิดประเด็นว่าบทบาทเอกชน ธุรกิจที่เปลี่ยนไป ประชาชนเปลี่ยนแล้ว แต่การเมืองยังไม่เปลี่ยน หากประชาธิปไตยอยู่ได้ยาว นักการเมืองก็จะเปลี่ยนแปลงได้ ก็อยากเชื่ออย่างนั้น แต่ที่จริงมีข้อสังเกตว่าอาจจะไม่เปลี่ยนตามอย่างนั้นก็ได้ เพราะรากเหง้าคอร์รัปชันมันอยู่ครบถ้วนทุกประการ เพราะการเมืองยังมีกลไกในการจัดสรรผลประโยชน์ที่มีอยู่มหาศาลในสังคม ดังนั้น ต่อให้การเมืองไม่เปลี่ยน แต่สังคมจะมีระบบในการจัดการกับการเมืองโดยกลไกประชาธิปไตย ซึ่งอาจจะเป็นกลไกสื่อเสรี กลไกภาคประชาสังคม กลไกกฎหมายข้อมูลข่าวสารฯ เป็นต้น ที่จะทำให้การทุจริตคอร์รัปชันของฝ่ายการเมืองทำได้ยากขึ้น

นอกจากนี้ งานวิจัยทีดีอาร์ไอ กรณีคอร์รัปชันมันผูกโยงกับการผูกขาดทางการค้าอย่างใกล้ชิดมาก การผูกขาดในระบบเศรษฐกิจ หากผูกขาดเยอะ ตามสูตร หรือสมการคอร์รัปชันมันผูกกับความโปร่งใส อำนาจผูกขาด และผูกกับเรื่องดุลยพินิจ อย่างการติดต่อทำธุรกรรมใหญ่ๆ ยังมีคอร์รัปชันอยู่ ดังนั้น การผูกขาดที่เราพูดกันน้อย เป็นอำนาจรัฐที่ใหญ่ขึ้น และจะปฏิรูปลดการผูกขาดทางเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบอย่างไร

ดร.เดือนเด่นกล่าวว่า การสำรวจของภาคธุรกิจที่สถาบันส่งเสริมกรรมการบริษัทไทยถามคำถามผู้บริหารว่า กลุ่มอุตสาหกรรมใดที่มีแนวโน้มในการเกิดทุจริตมากที่สุด เบอร์หนึ่งคือโทรคมนาคม อันดับที่สองพลังงานและสาธารณูปโภค อันดับที่สาม เกษตร รัฐแทรกแซงราคา มีโควตาการนำเข้า อันดับที่สี่คือการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และวัสดุการก่อสร้าง

การสำรวจนี้สะท้อนว่า ธุรกิจไหนที่ยังมีระบบสัมปทานอยู่ หรือผูกขาดอยู่ เสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชันมากที่สุด ดังนั้น ถ้าเราสลายการผูกขาดได้ การคอร์รัปชันจะหายไปเอง เพราะไม่มีเงินที่จะเจือจาน จะเห็นว่ารัฐวิสาหกิจไหนที่มีเงินเยอะๆ มีปัญหาทั้งนั้น อย่าง ปตท. หรือกิจการโทรคมนาคม

“ประเด็นปัญหาของเราคือจะสลายการผูกขาดที่เกิดขึ้น 1. กฎหมายแข่งขันทางการค้าช่วยสลายได้ไหม ช่วยได้นิดหน่อย เพราะกฎหมายนี้ให้การยกเว้นรัฐวิสาหกิจ และหลายรายที่ท็อปๆ ก็เอื้อมไม่ถึงรัฐวิสาหกิจ เอื้อมได้แต่บริษัทเอกชนทั่วไป 2. กฎหมายฉบับนี้เอื้อมไม่ถึงนโยบายของรัฐที่สร้างการผูกขาด เช่น นโยบายรับจำนำข้าว ที่ทำให้ระบบการค้าข้าวผูกขาด เอาเรื่องรัฐบาลได้ไหม ก็ทำไม่ได้ เล่นงานได้เฉพาะเอกชน ก็มีช่องโหว่ค่อนข้างมาก ว่าเราจะทำอย่างไรกับการผูกขาดของรัฐบาลเอง เป็นโจทก์ที่ให้ช่วยกันคิด”

นวัตกรรมคอร์รัปชัน สร้างการผูกขาดแบบกลุ่มและทำเป็นเรื่องๆ เฉพาะกิจ

นายบรรยง พงษ์พานิช
นายบรรยง พงษ์พานิช

นายบรรยงกล่าวเสริมว่า พอพูดถึงการผูกขาด อยากจะชวนถกไปนอกเหนือนิยามการผูกขาด ผูกขาดแปลว่าทำให้ไม่มีการแข่งขัน ในทางเศรษฐศาสตร์ มันหอมหวานที่สุด และแย่ที่สุดสำหรับผู้บริโภค ในภาคส่วนอื่นๆ เพราะได้กำไรส่วนเกิน

ถ้าเราแบ่งการคอร์รัปชันที่มีภาคเอกชนและภาครัฐเกี่ยวข้อง หรือ 2 ข้าง คือ 1) โกงจากภาครัฐตรงๆ และ 2) ภาคเอกชนกับภาครัฐเกี่ยวข้อง อันหลังนี้จะมี อยู่ 3 ประเภท คือ 1. ซื้อความได้เปรียบ 2. ซื้อความสะดวก เช่น ใบอนุญาตต่างๆ 3. ซื้อความผิด คือ กระบวนการยุติธรรม

การซื้อความได้เปรียบ การผูกขาดอยู่ในนิยามนี้ เวลาเราดูการผูกขาดมี 2 ลักษณะ นักกินเมืองเขาขายอะไร แน่นอนเขาขายความได้เปรียบให้เอกชน คือ 1) ขายอำนาจ เอาอำนาจไปค้าขายกับประชาชน กับ 2) การค้าขายกับรัฐ หาช่องจากอำนาจ

“การพัฒนากระบวนการคอร์รัปชันทำเป็นระบบ พอลงไปดูลึกๆ มันเป็นขบวนการสร้างการผูกขาดแบบกลุ่มที่อัจฉริยะมาก คือไม่ต้องเป็นองค์กรเดียวที่ไปสร้างการผูกขาด แต่เป็นกลุ่มคนกลุ่มเดียว คนนอกกลุ่มนี้อย่าเข้าไป ไม่มีทางได้แหยม มันเป็นระบบคอร์รัปชันที่เวลาที่คุณจะทำกิจการใดต้องไปเข้ากลุ่ม มีผู้ประสานงาน ในการประมูล จัดการการฮั้ว เป็นการผูกขาดเป็นเรื่องๆ เมื่อก่อนคอร์รัปชันมันแดงขึ้นมาเกิดจากผู้ประกอบการที่โดนคนอื่นยัดเงินแล้วตัวเองประกอบการไม่ได้ เดี๋ยวนี้ไม่มีการร้องเรียน เพราะเป็นคลับ เพราะมันเป็นระบบ เพราะมันเกิดขบวนการทำการผูกขาดเฉพาะกิจเป็นเรื่องๆ ขึ้นมาได้ ใครก็ตามที่ไม่เห็นด้วยออกสนามไปหมด เพราะฉะนั้น การผูกขาดเลยกินลึกไปมากกว่าแค่ดูตื้นๆ ว่าได้สัมปทานหรือไม่ แต่มันเป็นเรื่องการรวมกลุ่มกันเป็นเรื่องๆ”

เนื่องจากผลประโยชน์มหาศาล ผูกพันโยงกันไปหมด งบประมาณแผ่นดิน 2 ล้านล้านต่อปี งบประมาณรัฐวิสาหกิจ 4 ล้านล้านต่อปี ขนาดของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 4 ล้านล้านบาท มันมีกลุ่มผลประโยชน์ที่โยงใยในนี้ โห…มันพัฒนาจน…เพราะฉะนั้นจะสู้กับเขามันยากมาก แต่เราต้องเริ่มทำ

“ผมพยายามชี้ให้เห็นว่า อย่างไอที เป็นโครงการที่มองไม่เห็น ลักษณะเฉพาะของไอที บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญมีไม่กี่บริษัทในโลก และเป็นอเมริกันที่มีกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชันที่ค่อนข้างรุนแรง พวกนี้ไม่ทำสัญญากับรัฐไทยเลย แปลกมาก เคยถามเขา บอกว่ากรมอัยการออกแบบสัญญา ทำให้เขาทำสัญญาด้วยไม่ได้ เพราะเป็นสัญญาไม่เป็นที่ยอมรับในระหว่างประเทศ ถามว่าเขาไม่ทำกับประเทศอื่นด้วยหรือไม่ เขาบอกว่าไม่ แต่ประเทศไทยไม่มีใครลงได้ แปลกนะที่เราออกแบบให้บริษัทระดับโลกมาเซ็นกับเราไม่ได้ ทั้งที่ทั่วโลกเซ็นกับเขาได้”