ThaiPublica > เกาะกระแส > ศาลแพ่งสั่งยึดทรัพย์ “สุพจน์ ทรัพย์ล้อม” 46 ล้าน ตกเป็นของแผ่นดิน

ศาลแพ่งสั่งยึดทรัพย์ “สุพจน์ ทรัพย์ล้อม” 46 ล้าน ตกเป็นของแผ่นดิน

1 กุมภาพันธ์ 2014


นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม - ที่มา มติชน
นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม – ที่มา น.ส.พ.มติชน

ศาลแพ่งสั่งยึดทรัพย์ 46 ล้านของอดีตปลัดคมนาคม “สุพจน์ ทรัพย์ล้อม” กับเครือญาติร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน ชี้พยาน หลักฐาน เลื่อนลอย ยืนยันที่มาของทรัพย์สินไม่ได้

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2557 “เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 มกราคม ที่ผ่านมา ศาลแพ่งได้อ่านคำสั่งคดียึดทรัพย์ หมายเลขดำ ปช.1/2555 ที่อัยการสูงสุดได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม กับพวกซึ่งเป็นเครือญาติ 7 คน ผู้คัดค้าน อาทิ เงินสด เงินฝากในธนาคารพาณิชย์ต่างๆ 9 บัญชี เงินฝากในสหกรณ์ออมทรัพย์กรมทางหลวง โฉนดที่ดินย่านต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด บ้านพัก รถยนต์ ห้องชุด รวมมูลค่าทั้งสิ้น 64,998,587 บาท พร้อมดอกผล ตกเป็นของแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4 และมาตรา 80 (2)

เนื่องจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบทรัพย์สินแล้วชี้มูลความผิดว่า นายสุพจน์มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ โดยไม่สามารถชี้แจงที่มาของทรัพย์สินต่างๆ ได้ นายสุพจน์อ้างว่า การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอให้ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลให้ทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านมีมาอยู่เดิม และได้มากว่า 10 ปี ตกเป็นของแผ่นดินนั้นเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ทำให้ผู้คัดค้านได้รับความเสียหาย และได้ยื่นบัญชีแสดงต่อคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. ไปแล้ว โดย ป.ป.ช. ไม่แสดงความเห็นคัดค้านแต่อย่างใด

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โดยเฉพาะกรณีเงินสดของกลางจำนวน 18,121,000 บาท และทองคำรูปพรรณหนัก 10 บาท ในคดีอาญา 2458/2554 ของ สน.วังทองหลาง ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า เงินของกลางบางส่วนจำนวน 568,000 บาท เป็นเงินรับไหว้ โดยผู้ร้องขอให้เงินของกลางจำนวนที่เหลือ 17,553,000 บาท พร้อมทองรูปพรรณหนัก 10 บาท มูลค่า 260,000 บาท ตกเป็นของแผ่นดินหรือไม่นั้น

จากเหตุการณ์เมื่อคืนวันที่ 12 พฤศจิกายน 2554 มีคนร้าย 8 คน บุกเข้าปล้นบ้านนายสุพจน์ ซ.ลาดพร้าว 64 และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม ได้เข้าเบิกความยืนยันในทิศทางเดียวกันว่า ทรัพย์ทั้งหมดได้มาจากการปล้นทรัพย์ ซึ่งมีความสมเหตุสมผล และน่าเชื่อถือ เพราะปกติแล้วจะไม่มีคนร้ายคนใดไปขวนขวายแสวงทรัพย์สินอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง และยังต้องคืนให้แก่ผู้เสียหาย กรณีนี้จึงยังไม่มีเหตุผลและความจำเป็นที่เจ้าพนักงานตำรวจและคนร้ายจะร่วมมือกันบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์ของกลาง

ข้อต่อสู้ของนายสุพจน์ที่ว่า ทรัพย์ของกลางในคดีคือทองรูปพรรณหนัก 10 บาท พร้อมเงินสด หลังหักเงินรับไหว้ที่ผู้ร้องมิได้ให้ตกเป็นของแผ่นดิน 568,000 บาท กับเงินที่เป็นของผู้คัดค้านที่ 6,7 จำนวน 4,500,000 บาท แล้วคงเหลือ 13,053,000 บาท ไม่ใช่เป็นของนายสุพจน์นั้นเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ขัดต่อเหตุผล เพราะหากมิใช่ทรัพย์สินที่ได้จากการปล้นทรัพย์บ้านนายสุพจน์ ก็ไม่น่าที่เจ้าพนักงานจะสามารถรวบรวมทรัพย์สินจำนวนมากดังกล่าวได้มาจากคนร้าย และนำมารวบรวมเก็บไว้เป็นทรัพย์ของกลาง จึงเชื่อว่า ทรัพย์ของกลางเป็นทรัพย์สินที่ได้จากการปล้นทรัพย์

นอกจากนี้ จากการรับฟังการไต่สวนพยานฝ่ายนายสุพจน์ ผู้คัดค้าน กับพวกแล้ว ล้วนแต่เป็นพยานผู้ใกล้ชิดมีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเบิกความลอยๆ ปราศจากหลักฐาน ขัดต่อเหตุผลหลายประการ รวมทั้งการโต้แย้งและคัดค้านของนายสุพจน์ไม่อาจจะนำมารับฟังได้ เช่น การอ้างว่า เข้ารับราชการตั้งแต่ เมื่อ พ.ศ. 2520 จนกระทั่งถึงวันยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2545 มาคิดคำนวณแล้วจะเป็นเงินประมาณ 5,000,000 บาทเศษ ก็น่าเคลือบแคลงสงสัยมากขึ้นไปกว่าเดิม เพราะเหตุใดนายสุพจน์จึงมีทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างเป็นเจ้าหน้าท่ีรัฐ แล้วจะมีทรัพย์สินรวมกันจนถึงวันที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติว่าร่ำรวยผิดปกติเมื่อปี พ.ศ. 2545 มูลค่าสูงถึงที่ศาลนำมาวินิจฉัยจำนวน 46 ล้านบาทเศษ

ทั้งนี้ นายสุพจน์จะต้องนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์แสดงให้กระจ่างแจ้งถึงที่มาที่ไปในการได้ทรัพย์สินดังกล่าวมาตลอด รวมถึงเงินเดือนที่รับราชการ ย่อมไม่อาจเป็นไปได้ที่จะเพียงพอมาหาซื้อทรัพย์สินจำนวนมาก ข้ออ้างของนายสุพจน์ เป็นการกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอย ปราศจากหลักฐานที่ยืนยันชัดเจน ทั้งยังจะสื่อแสดงให้เห็นว่า เงินที่ได้มานี้มีจำนวนมากพอจะไปแสวงหาเป็นทรัพย์อื่นจนพอกพูนเพิ่มมากขึ้น และยังเป็นการขจัดข้อสงสัยของวิญญูชนทั่วไปว่า เหตุใดนายสุพจน์ ซึ่งมีอาชีพรับราชการ และมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัว บุตร 2 คน ที่ศึกษาจนจบชั้นปริญญาตรี และไปศึกษาต่อต่างประเทศ จะไม่มีปัญหาต่อทรัพย์สินให้ลดน้อยลง แต่กลับเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ จึงถือไม่ได้ว่านายสุพจน์ได้นำสืบให้รับฟังได้ว่า ตนไม่ได้ร่ำรวยผิดปกติตามภาระหน้าที่ดัง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 81 วรรคสอง

ดังนั้น จึงต้องฟังข้อเท็จจริงไปตามที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติและนำสืบแสดงไว้ พิพากษาว่า ให้ทรัพย์สินรวม 19 รายการ รวมมูลค่าทั้งสิ้นจำนวน 46,141,038 .83 บาท ของนายสุพจน์ กับพวก พร้อมดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินที่เกิดขึ้นตกเป็นของแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ให้นายสุพจน์ส่งมอบทรัพย์สินและเอกสารที่เกี่ยวข้องพร้อมดอกผลให้แก่แผ่นดินโดยผ่านกระทรวงการคลัง หากไม่สามารถดำเนินการให้ทรัพย์สินใดได้แก่แผ่นดิน ให้นายสุพจน์ชดใช้เงินหรือโอนทรัพย์สินตามจำนวนมูลค่าที่ยังขาดอยู่แก่แผ่นดินจนครบ

สำหรับผู้คัดค้านทั้ง 7 คน ประกอบด้วย นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม, นางนฤมลหรือเพ็ญพิมล ทรัพย์ล้อม, น.ส.สุทธิวรรณ ทรัพย์ล้อม, นาย ชาลี ชัยมงคล, นาย อเนก จงเสถียร, นาย สืบพงษ์ ปราบใหญ่, น.ส.สุทธาวรรณ ทรัพย์ล้อม หรือปราบใหญ่

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2555 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ว่านายสุพจน์ร่ำรวยผิดปกติจำนวน 64,998,587.52 บาท และให้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน ตามมาตรา 80 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม 2554 ต่อไป