ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ธปท. การันตีฐานะแบงก์แกร่ง ทดสอบ “stress test” ผ่านฉลุย

ธปท. การันตีฐานะแบงก์แกร่ง ทดสอบ “stress test” ผ่านฉลุย

6 กุมภาพันธ์ 2014


ธปท. ฟันธงธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบฐานะมั่นคง ผลการทดสอบภาวะวิกฤติ หรือ “stress test” กรณีแย่สุด “จีดีพีไม่โต” กระทบเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงไม่มาก แค่ทำให้สัดส่วนลดลงจาก 15-16% เป็น 10% ยังสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ขณะที่แบงก์ชาติขอความร่วมมือธนาคารดูแลลูกค้าใกล้ชิดในช่วงเศรษฐกิจเปราะบาง

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2557 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ที่ประชุมไปเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2557 หรือครั้งที่ 1/2557 ซึ่งคณะกรรมการฯ มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% ต่อปี โดยคณะกรรมการฯ ประเมินสอดคล้องกันว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้จากการประชุมครั้งก่อน โดยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นชัดเจนจากความไม่แน่นอนทางการเมือง และมีการปรับลดประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2557 จากเดิมที่ประมาณ 4% เป็นประมาณ 3%

ทั้งนี้ จีดีพีปี 2557 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ประมาณ 3% ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ค่อนข้างเป็นห่วงว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในปีนี้คง “ลำบาก” และมีความกังวลกับแนวโน้มเศรษฐกิจว่าจะขยายตัวต่ำกว่า 3% หากสถานการณ์การเมืองยืดเยื้อ แต่ ธปท. มั่นใจว่าปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง รองรับความเสี่ยงทางการเมืองในระยะสั้นได้ โดยเฉพาะปัจจัยพื้นฐานด้านสถาบันการเงิน ธปท. การันตีว่ามีฐานะมั่นคง สามารถช่วยประคับประคองลูกค้าให้เดินต่อไปในท่ามกลางความเปราะบางของเศรษฐกิจ

นางสาลินี วังตาล ผู้ช่วยผู้ว่าการ ฝ่ายตรวจสอบ 1 สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท.  ที่มาภาพ : http://www.posttoday.com
นางสาลินี วังตาล ผู้ช่วยผู้ว่าการ ฝ่ายตรวจสอบ 1 สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. ที่มาภาพ: http://www.posttoday.com

นางสาลินี วังตาล ผู้ช่วยผู้ว่าการ ฝ่ายตรวจสอบ 1 สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวถึงฐานะของธนาคารพาณิชย์หลังการประชุมชี้แจงสรุปภาพรวมผลการตรวจสอบสถาบันการเงินประจำปี 2556 และแนวทางการตรวจสอบในปี 2557 ณ โรงแรมเพนนินซูลาว่า มีความกังวลบ้างเรื่องเศรษฐกิจปี 2557 แต่ไม่กังวลเรื่องฐานะธนาคารพาณิชย์ เพราะมีฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง โดยธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีสัดส่วนการกันสำรองต่อสินเชื่อรวมสูงถึง 3.8% และผลการดำเนินงานปีที่แล้วมีกำไรเพิ่มขึ้น โดยทั้งระบบสถาบันการเงินมีกำไรสุทธิประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท แสดงว่าธนาคารพาณิชย์มีการปรับตัวได้ดีในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

นอกจากนี้ แม้ภาวะเศรษฐกิจจะด้อยลง แต่สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นธันวาคม 2556 ขยายตัวประมาณ 11% ถือเป็นการเติบโตในระดับที่ดี ไม่สูงมากและไม่วูบลงจนเกินไป โดยสินเชื่อรายใหญ่ขยายตัว 6.5% และสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ขยายตัว 14.86% แสดงว่าสินเชื่อยังขยายตัวได้ดี และธนาคารพาณิชย์สามารถปรับตัวได้เก่ง สำหรับทั้งปี 2557 ธนาคารพาณิชย์ประเมินว่าสินเชื่อจะขยายตัวได้ 7-8%

นางสาลินีกล่าวว่า ธปท. ได้ให้ธนาคารพาณิชย์ทำการทดสอบภาวะวิกฤติ หรือ stress test เพื่อประเมินความเพียงพอของฐานะการเงินภายใต้ภาวะปกติและภาวะวิกฤติ ซึ่งจากการทดสอบภาวะวิกฤติในกรณีเลวร้ายที่สุด คือเศรษฐกิจขยายตัว 0% หรือไม่ขยายตัวเลย ผลที่ปรากฎคือ ธนาคารพาณิชย์ก็ยังอยู่ในฐานะมั่นคง สามารถประคับประคองลูกค้าได้

“ฟันธง ธนาคารพาณิชย์มีฐานะแข็งแกร่ง สามารถเป็นตัวกลางทำหน้าที่ได้เหมาะสม แม้ในภาวะเศรษฐกิจยากลำบาก แต่สินเชื่อยังขยายตัวได้ดี และไม่ว่าเหตุการณ์จะคับขันอย่างไร ก็ขอความร่วมมือให้ธนาคารพาณิชย์ประคับประคองลูกค้าให้ทำธุรกิจต่อไปได้ โดยเฉพาะลูกค้าธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งบางธนาคารได้ยืดระยะเวลาการชำระหนี้ และปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้เอสเอ็มอี” นางสาลินีกล่าว

นายรณดล นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบ 1 สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ประมาณ 15-16% แต่หลังจากการทดสอบ stress test ในกรณีเลวร้ายที่สุดคือเศรษฐกิจไม่เติบโตเลยจะทำให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงลดลงอยู่ที่ประมาณ 10% ซึ่งถือว่ายังอยู่ระดับสูงกว่าที่ ธปท. กำหนดไว้ที่ 8.5%

“เพราะฉะนั้น ฐานะของธนาคารพาณิชย์ถือว่ามั่นคง อยู่ในระดับที่สามารถดูแลลูกค้า เนื่องจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์มีกำไรมาก ก็นำมากันเป็นสำรองเงินกองทุนไว้ในระดับสูง เมื่อมีปัญหาทางเศรษฐกิจจึงมีเงินกองทุนส่วนเกินสามารถรองรับผลกระทบได้เพียงพอโดยไม่กระทบส่วนทุน” นายรณดลกล่าว

สำหรับแนวทางการกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ในปี 2557 นายรณดลกล่าวว่า ปีนี้เน้นตรวจสอบธุรกรรมที่มีนัยต่อฐานะของธนาคารพาณิชย์ เช่น การทำธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ต สินเชื่อในบางประเภท เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น ซึ่งไม่เหมือนปีที่แล้วที่เน้นดูสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ และสินเชื่อเช่าซื้อ และเน้นดูแลมาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อ โดยเฉพาะปีนี้อาจเน้นดูคุณภาพสินเชื่ออย่างใกล้ชิด เพราะเศรษฐกิจเปราะบาง

“แนวทางหลักในปีนี้ธนาคารพาณิชย์คงต้องเน้นดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิด เมื่อเห็นลูกหนี้เริ่มสะดุดก็ต้องรีบเข้าไปปรึกษาช่วยเหลือสภาพคล่อง ประคับประคองให้ลูกหนี้ของเขาให้ผ่านพ้นสภาพช่วงนี้ไปให้ได้” นายรณดลกล่าว

นอกจาก ธปท. จะเน้นตรวจสอบธุรกรรมที่มีนัยต่อฐานะของธนาคารพาณิชย์แล้ว นายรณดลกล่าวว่า ปีนี้จะให้ความสำคัญกับการตรวจสอบบริษัทในเครือของธนาคารพาณิชย์มากขึ้น เช่น บริษัทประกันภัย บริษัทหลักทรัพย์ เป็นต้น โดยจะเน้นดูเรื่องสภาพคล่องเป็นหลัก แต่จะมีการหารือประสานงานกับหน่วยงานที่กำกับดูแลบริษัทเหล่านี้ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความซับซ้อนในการตรวจสอบ

“เศรษฐกิจเปราะบางก็ต้องดูเรื่องคุณภาพสินเชื่ออย่างใกล้ชิด และแม้ฐานการเงินธนาคารพาณิชย์จะแข็งแกร่ง แต่ ธปท. ก็ไม่ประมาท จะติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงบริษัทในเครือด้วย” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบ 1 สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าว

ทั้งนี้ แม้ผลการทดสอบ stress test ของธนาคารพาณิชย์จะสะท้อนถึงฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง แต่ น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบ 2 ธปท. กล่าวว่า ผลการทดสอบดังกล่าว ธปท. ให้ธนาคารพาณิชย์ส่งมาให้ช่วงต้นปี เพื่อให้ ธปท. ตรวจสอบอีกครั้งว่า สมมติฐานต่างๆ ที่ธนาคารพาณิชย์นำมาทดสอบนั้น สมเหตุสมผลและสะท้อนความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน ก่อนจะสรุปผลอีกครั้งหนึ่ง