ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > “ดร.สมคิด” วอน “กรุณาอย่าพูดเรื่องนายกรัฐมนตรีแคนดิเดต” เปิดตัวขึ้นรถไฟสายปฏิรูป เชียร์ผู้นำเด็ดขาด รัฐบาล “Cabinet Critical Reform”

“ดร.สมคิด” วอน “กรุณาอย่าพูดเรื่องนายกรัฐมนตรีแคนดิเดต” เปิดตัวขึ้นรถไฟสายปฏิรูป เชียร์ผู้นำเด็ดขาด รัฐบาล “Cabinet Critical Reform”

24 กุมภาพันธ์ 2014


ชื่อ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มักอยู่ในโผข่าวลือ

อาจเป็นเพราะสายสัมพันธ์พิเศษ กับบุคคลหลากวงการ การปรากฏตัวของเขาแต่ละคราว มักสร้างความฮือฮาทางการเมือง

ก่อนแตกหักกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เขาถูกลือว่าปรากฏตัวร่วมกับซีอีโอของธนาคารระดับทอปไฟว์ และองคมนตรีลำดับต้นๆ ข่าวข้นปนแค้นจึงร้อนทะลุปรอทตึกที่ทำการพรรคไทยรักไทย

หลังพรรคไทยรักไทยแตก แยกย้ายด้วยเงื่อนไขคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ “ดร.สมคิด” หันหลังให้การเมือง มุ่งหน้าสู่วงการธุรกิจและสถาบันการศึกษา แต่ยังเปิดหน้าแบบถีบ-ถอยทางการเมือง

บรรดาทหารเก่า อำมาตย์แก่ มักกระหายที่จะสนทนา จิบชายามบ่าย กับ “ดร.สมคิด”

ดังนั้น เมื่อการเมืองเดินมาถึงปลายทางแห่งความแตกแยก รุนแรง จ่อจะประชิดระดับสงครามย่อย ระหว่างคนแนวคิด 2 ขั้ว

ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปประเทศก็กระหึ่มขึ้น

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

ชื่อ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กระหึ่มขึ้นอีกครั้ง ทั้งในข่าวลือ และข่าวที่หลายคนอยากให้เป็นจริง

เขาปรากฏตัว เปิดหน้า ในขบวนรถไฟสายปฏิรูป ด้วยการเป็นองปาฐกถา เรื่อง “ก้าวใหม่ประเทศไทย เดินหน้าสู่โหมดปฏิรูป สู่การปฏิรูปที่ปฏิบัติได้จริง” จัดโดยสถาบันอิศรา เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557

เสียง “วสันต์ ภัยหลักลี้” ในฐานะผู้ดำเนินรายการ แนะนำดังขึ้นว่า “ดร.สมคิด มักมีชื่ออยู่ในโผของนายกรัฐมนตรีคนกลาง” ทำให้ ดร.สมคิดหน้านิ่งไปชั่วครู่ ก่อนเดินขึ้นโพเดียม และกล่าวตอบก่อนจะเข้าสู่ประเด็นการปาฐกถา

ดร.สมคิดออกตัวว่า “ผมขอแชร์ความเห็นในฐานะคนที่เคยอยู่ในกลไกอำนาจรัฐ ในฐานะของประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ที่อายุเริ่มเข้าสู่เกณฑ์ Senior Citizen กรุณาอย่าพูดถึงเรื่องนายกรัฐมนตรีแคนดิเดต คนอายุเท่านี้ควรอยู่ดูแลลูกหลานอยู่ที่บ้าน”

จากนั้นเขาร่ายยาวว่า บ่อยครั้งที่มีกระแสผลักดันให้มีการปฏิรูป ที่ผ่านมาจะออกมาในลักษณะการตั้งคณะกรรมการ อนุกรรมการ ชุดแล้วชุดเล่า และจบลงตรงนั้น พร้อมข้อเสนอแนะ และไม่มีสักครั้งที่การปฏิรูปเริ่มเดินหน้า ครั้งนี้สถานการณ์ทางการเมืองของเรามันเริ่มทำให้กระแสการปฏิรูปกลับมาอีกครั้ง เห็นการตื่นตัวขนานใหญ่ของคนทุกภาค

ในความเห็นของ “ดร.สมคิด” เขามองว่า การปฏิรูปที่จะเป็นจริงได้นั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไข 5 ประการ

1. เงื่อนไขด้านสถานการณ์ เมื่อเช้าหนังสือพิมพ์ลงข่าวเด็กเสียชีวิตในพื้นที่การชุมนุม ผมกราบเรียนตรงๆ ว่าหมดอารมณ์พูดเรื่องปฏิรูป ผมมีความรูสึกว่า ถ้าปฏิรูปจะเดินหน้าได้จริง สถานการณ์ที่พัฒนาไปสู่ความรุนแรงมากๆ สภาพการณ์ที่ชะงักชะงันของอำนาจรัฐ ที่ไม่สามารถกำกับบริหารจัดการบ้านเมืองได้ ต้องพยายามหาทางให้มันยุติ และควรจะให้ยุติด้วยดีโดยเร็ว

เมื่อประมาณ 3-4 เดือนที่ผ่านมา ช่วงปลายปีก่อน ผมได้เคยพูดว่า ขณะที่คนกำลังเถียงกันว่าเศรษฐกิจไทยกำลังถดถอยหรือเปล่า ผมก็บอกว่า ไม่เพียงถดถอยแต่กำลังทรุด เพราะเสาหลักที่ค้ำจุนเศรษฐกิจ 4 เสาสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นส่งออก ใช้จ่ายภาครัฐ บริโภคประชาชน หรือการลงทุน มันเริ่มผุกร่อน ตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ออกมาแล้วว่าไตรมาสสุดท้ายปี 2556 โตเพียง 0.6% และไตรมาส 3 โตเพียง 2.7% ทั้งปีโตเพียง 2.9% เทียบกับปีก่อนหน้านั้น โต 6.5 %

ในขณะนี้เดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ เศรษฐกิจไทยกำลังหดตัวลึกลงไปกว่านั้น ถ้าไม่เชื่อก็คอยดูผลประกอบการของบริษัทและยอดขายทางธุรกิจประมาณ 2-3 เดือนนี้

ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ประการแรก เรื่องของชาวนาเป็นเรื่องใหญ่ ปัญหาข้าว ชาวนาในเมืองไทยอย่างน้อยๆ มีประมาณ 30-40 ล้านคนแน่นอน เวลาที่เขาไม่มีเงินใช้จ่าย multiplier effect มันทวีคูณมหาศาล ในปี 2540 เรารอดมาได้เพราะภาคเกษตรกร ชาวนาไม่ได้รับผลกระทบเลย มีคำกล่าวว่าชาวนาตาย 1 คน พ่อค้าตาย 100 คน มันเป็นเรื่องจริง เพราะชาวนาไม่มีรายได้ อำนาจซื้อก็ทรุดหายไปในทันที

การชุมนุมประท้วงทวงเงินค่าข้าวของชาวนาที่กระทรวงพาณิชย์
การชุมนุมประท้วงทวงเงินค่าข้าวของชาวนาที่กระทรวงพาณิชย์

เวลาเศรษฐกิจไม่ดี สินค้าที่มักจะขายดีก็คือพวกบะหมี่ ยาชูกำลัง แต่เวลานี้ยอดขายสินค้าหมวดนี้ก็ยังทรุด หมายความว่าความเดือดร้อนไม่ใช่แค่ชั้นบน กลาง แต่ลงมาถึงชั้นล่างที่พยายามกระเสือกกระสนให้ชีวิตดำเนินอยู่รอดได้ ภาวะเช่นนี้เมื่อดูถึงอารมณ์การจับจ่ายคนชั้นกลางมันก็หายไป ตรงนี้ทำให้พลังขับเคลื่อนที่อ่อนอยู่แล้วก็อ่อนลงไปอีก

และการที่ไม่มีรัฐบาลจริงๆ ตัดสินใจหลักๆ ไม่ได้ อำนาจในการสั่งการงบประมาณมีจำกัด พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็จะหายไปเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้ภาวะอย่างนี้ ถ้ามองดูรอบตัวของเรา การลงทุนชะงักแน่นอน ที่ฝันว่ามีการลงทุน 4-5 แสนล้านบาท ก็ต้องเลิกฝันกลางวัน คนไทยต้องมาดูความเป็นจริง ถ้าสถานการณ์การเมืองเป็นแบบนี้ไม่มีนักลงทุนคนไหนอยากจะลงทุนเพิ่ม ปฏิกิริยาลูกโซ่ของปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจจมดิ่งและลึกลงไป เหมือนก้อนน้ำแข็งที่ลอยอยู่และกำลังละลาย

สิ่งที่ผมเป็นห่วงมากๆ ไม่ใช่แค่นั้น แต่ภาพความรุนแรงที่ปรากฏขึ้น สภาพประชาชนที่แตกแยก ความชุลมุนวุ่นวาย สภาพต่างๆ เหล่านี้เวลาออกไปสู่สายตาชาวโลกมันมีผลกระทบอย่างแรงต่อสิ่งที่เรียกว่า international trust ความมั่นใจเชื่อใจในระดับสากลที่มีต่อเมืองไทยจะหายไปเรื่อยๆ ยิ่งตอนนี้จะต้องมีการเซ็นสัญญาระหว่างประเทศ จะไม่มีใครเชื่อเครดิตของไทยอีกต่อไปเลย เพราะคุณไม่มีรัฐบาล

สถานการณ์ตอนนี้เหมือนคุณเปิดประตูเดินเข้าไปในส่วนที่เขาเรียกว่า Failed State เรียบร้อยแล้ว เมื่อเดินเข้าไปแล้ว อย่าเดินลึกเข้าไปกว่านี้อีกเลย เพราะเพียงเท่านี้ ท่านเห็นแล้วว่าบรรยากาศแบบนี้จะปฏิรูปอะไรได้ เพราะแทนที่จะมีการปฏิรูปเดินหน้า กลับผลักดันให้ไทยเข้าสู่มุมอับ ทำอะไรไม่ได้ และสิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าถ้ามันเข้าถึงมุมอับเมื่อไรจะสร้างปัญหาใหญ่ในอนาคต ที่รัฐบาลข้างหน้าต้องมาตามแก้ไข และถูกบดบังไม่ให้มีโอกาสปฏิรูปอย่างจริงจัง เพราะปัญหาเฉพาะหน้าเยอะแยะไปหมด

ผมคิดว่าเงื่อนไขสำคัญ ถ้าอยากเห็นการปฏิรูป คือ สภาพการเมืองที่รุนแรง ชะงักชะงัน ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ต้องหาทางยุติโดยเร็ว

2. เป็นเงื่อนไขเกี่ยวกับผู้นำและสภาวะผู้นำ การปฏิรูปเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องการปรับปรุงประเทศ มันกระทบต่ออนาคตต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยทั้งประเทศในอนาคตข้างหน้า มันเกี่ยวข้องกับการเลือกเส้นทางเดิน เกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากร เกี่ยวกับการระดมพลังทั้งมวลทั้งประเทศให้เกิดการปฏิรูปที่แท้จริง ถ้าเป็นการปฏิรูปที่กระทบคนหมู่มาก กระทบธรรมเนียมปฏิบัติ ในการปฏิรูปในทางปฏิบัติยิ่งยากเย็นยิ่งขึ้น ฉะนั้น คุณจำเป็นต้องมีผู้นำที่ไม่ใช่แค่นั่งเป็นประธานคณะกรรมการ แต่ต้องลงมากำกับ ผลักดัน ขับเคลื่อนให้กำลังใจกับทุกฝ่ายให้ฝ่าอุปสรรคให้ได้

แค่เรื่องคอร์รัปชัน ถ้าผู้นำไม่ลงมาขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ไม่มีทางเกิดขึ้นหรอก ฉะนั้นเรื่องผู้นำเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องมีผู้นำแบบ Transformation Leader คือผู้นำที่สามารถนำการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ คือผู้นำที่รู้ปัญหา มีวิสัยทัศน์เพียงพอ สามารถสื่อความหมายเหล่านั้นให้ประชาชนที่เห็นต่างมาเห็นคล้อยตาม เข้าใจ และสามารถสร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นให้ทุกคนมีความต้องการร่วมในการปฏิรูป เวลาเกิดอุปสรรคก็ยังมีความมุ่งมั่นที่จะเดินไปข้างหน้า รู้จักใช้คนอย่างเหมาะสมที่จะก้าวเดิน ไม่ใช่ผู้นำที่มีหน้าที่แค่ประธานกรรมการคณะกรรมการ นั่นล่ะถึงจะเห็นการปฏิรูป อย่าหลอกตัวเอง

ในอดีตเราเคยเห็นผู้นำที่เรียกว่า Bureaucratic Style คือแล้วแต่ว่าราชการเสนอความเห็นว่าจะให้ทำอะไร

เราเคยเห็นประเภทที่ถูกเรียกว่า “ตัวแทน” แล้วแต่เขาจะแนะนำหรือบอกว่าให้ทำอะไร

เราเคยเห็นผู้นำประเภทคิดค้นวิธีการต่างๆ ที่ถูกใจประชาชน และได้คะแนนเสียง

บ่อยครั้งที่เราเห็นผู้นำประเภทที่เรียกว่า “ผู้นำตามสถานการณ์” ซึ่งเหมาะสมกับสถานการณ์ ณ ขณะนั้น แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน ก็หมดเทอม ก็ไม่มีโอกาสแตะเรื่องปฏิรูปได้เลย

แต่เราไม่ค่อยได้เห็นผู้นำที่มีความมุ่งมั่นและนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงได้เลยในประเทศนี้ ในอดีตเราเคยเห็นรัชกาลที่ 5 ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีนเห็นเติ้งเสี่ยวผิง ในสิงคโปร์เห็นลีกวนยู หากท่านจะเดินไปข้างหน้า หาให้พบ ค้นให้เจอก็แล้วกัน

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

3. การบริหารจัดการที่มุ่งหวังผล โดยปกติที่มุ่งปฏิรูปต้องมีจุดมุ่งหมาย จุดมุ่งหมายใหญ่คืออะไร สมมติสร้างความเป็นธรรม ยกระดับความสามารถการแข่งขันของประเทศ หรือขจัดคอร์รัปชัน การปฏิรูปต้องแตกจุดมุ่งหมายใหญ่เหล่านี้ที่เป็นนามธรรมออกมาให้เป็นวาระที่ชัดเจนพอที่จะสามารถระดมพลังเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้

วาระเหล่านั้นสำคัญมาก ยกตัวอย่าง การศึกษา การเกษตร การคลัง และงบประมาณ แต่ละประเด็นจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดการผลักดันได้ เมื่อมีแต่ละวาระก็ต้องอยู่ภายใต้การกำกับแบบ single leadership มีบุคคลที่รับผิดชอบเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ ซึ่งต้องมีความรู้ในสิ่งเหล่านั้น อาจเป็นรัฐมนตรีอาวุโส หรือผู้นำที่อยู่ภายนอกที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลอยู่แล้ว

ท่านเหล่านี้จะต้องรับผิดชอบร่วมบริหารงานกับบุคลากรฝ่ายอื่น ใครเป็นคนเป็นหัวโจกดูแลสิ่งเหล่านั้นอยู่ก็นำมาต่อยอด เชื่อมโยงกับเครือข่ายปฏิรูป โดยไม่ต้องเริ่มต้นใหม่

ต้องทำงานร่วมกับเขา ขับเคลื่อน และมีรายงานความก้าวหน้าสู่สาธารณะอย่างสม่ำเสมอ ขณะนี้ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ เพราะมีเครือข่ายถกเรื่องนี้เต็มไปหมด ก็ต้องทำให้มีการนำสิ่งเหล่านี้มาคุยหรือต่อยอด ส่วนที่คิดว่าถูกต้องผู้นำต้องเอามาใช้ อันไหนใช้ไม่ได้ก็อย่าเพิ่งใช้ ไม่ได้หมายความว่าเสนอ 100 อย่างต้องเอา 100 อย่าง แต่ถ้าคุณเลือกผิด แต่ละวาระก็จะไม่เห็นความคืบหน้าเลย

คนเป็นผู้นำต้องรู้ว่าอะไรเหมาะสมไม่เหมาะสม ต้องมี Cabinet Critical Reform และต้องมี Lawyer Maker หรือสิ่งที่เรียกว่าสนับสนุนเขา เช่น การออกกฎหมาย การออกกติกา ดังนั้น ถ้าคุณมีตัวแทนที่ไม่ประสีประสา มุ่งเรื่องการเมืองมากกว่าเรื่องปฏิรูป คุณจะไม่มีโอกาสเห็นเลย เพราะฉะนั้น การบริหารจัดการเป็นสิ่งจำเป็น

4. เป็นเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนสังคม ประกอบด้วย เหตุผลประการแรก การปฏิรูปไม่ใช่การแก้กฎหมาย แต่เป็นการที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของสังคม จากจุดหนึ่งไปสู่จุดที่ดีกว่า ถ้าเกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนสังคม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และถ้าไม่สามารถนำไปสู่ภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง ท่านก็จะไม่มีทางปฏิรูป มันจะลอยในอากาศและเกิดการต่อต้าน ยกตัวอย่าง คอร์รัปชัน ถ้าไม่ทำให้ไปสู่การสำนึกคิดของประชาชนก็จะไม่เกิดขึ้นเลย

เหตุผลประการที่สอง การเมืองไทยมันเปลี่ยน ไม่ใช่แค่แนวดิ่ง เพราะประชาชนตื่นตัว เขาเริ่มรู้ว่าเสียงเขามีความหมาย ชนชั้นกลางเริ่มดีขึ้น เพราะเขาต้องการมีสิทธิ์มีเสียง ภายใต้กรอบเช่นนี้ การปฏิรูปก็คือการให้คนเข้ามาร่วมปฏิรูปไปพร้อมกับเขา ใช้พลังพลเมืองให้เป็นพลังการปฏิรูปอย่างแท้จริง ฉะนั้นจะแตกต่างจากการที่เขียนในหนังสือว่าปฏิรูปอะไร จะแต่งตั้งคนที่เกี่ยวข้องกับประชาชนอย่างไร

5. ที่สำคัญที่สุด ถ้าคุณไม่มีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง มันจะไม่ประสบความสำเร็จ การปฏิรูปในบางครั้งจะถูกหยุดชะงักด้วยเหตุการณ์บางอย่าง บางกรณีอาจจางหายไปถ้ามีเรื่องอื่นเข้ามา และบางครั้งก็เผชิญอำนาจนอกระบบ แต่ถ้าหากภาคประชาสังคมที่หมายถึง ประชาชน เอกชน สื่อมวลชน มีความเข้มแข็ง ก็จะไม่มีพลังไหนที่จะไม่มีใครต่อต้านได้ การปฏิรูปก็จะต่อเนื่อง จะไม่มีรัฐบาลชุดไหนมาเล่นลิเก ตั้งรัฐบาลแล้วก็เลิก

เมืองไทยในขณะนี้มีวิกฤติการณ์ แต่มันก็สร้างโอกาสของการปฏิรูปขึ้น ดังนั้นเราต้องถามตัวเองว่าต้องการประเทศประเภทไหน เราคงไม่ต้องการปฏิรูปที่มีฝักฝ่ายเต็มไปหมด เกลียดชังกันแม้จะไม่รู้จักกันด้วยซ้ำ และสิ่งที่เราต้องการจริงๆ คือปัญญา ที่จะช่วยเราออกจากวังวนอันนี้ นำไปสู่การปฏิรูป และถ้าจะไปสู่จุดนั้นได้ ก็ขึ้นอยู่กับเรื่องของจิตสำนึก เสียสละ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด

และนี่คือ…สิ่งที่ผมพูด ตามที่ผมรู้สึก