ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > มลภาวะจีน: ปัญหาที่ท้าทายมนุษยชาติ (1)

มลภาวะจีน: ปัญหาที่ท้าทายมนุษยชาติ (1)

4 กุมภาพันธ์ 2014


รายงานโดย…อิสรนันท์

Polluted river Indonesia ที่มาภาพ : http://static.guim.co.uk
Polluted river Indonesia ที่มาภาพ : http://static.guim.co.uk

เมื่อปลายปีที่แล้ว สถาบันแบล็กสมิธและกลุ่มกรีนครอส สวิตเซอร์แลนด์ ได้จัดอันดับ “10 สถานที่แห่งใหม่ที่มีมลภาวะมากที่สุดในโลก” และทำให้ชีวิตของประชาชนราว 200 ล้านคนในพื้นที่นั้นเสี่ยงที่จะเกิดโรคร้ายอันเนื่องจากมลภาวะนั้น โดยเกณฑ์การจัดอันดับของสองสถาบันนี้ประเมินจากความเสี่ยงในพื้นที่ปนเปื้อนใน 49 ประเทศกว่า 2,000 ครั้ง อาทิ เขตอักบอกโบลชีในกรุงอักกรา เมืองหลวงของประเทศกานา ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นบ่อขยะพิษใหญ่เป็นอันดับสองของแอฟริกาตะวันตก อันเป็นผลพวงจากการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้ามือสองราว 215,000 ตันในแต่ละปี ส่วนใหญ่มาจากยุโรปตะวันตก คาดว่าตัวเลขการนำเข้าจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2563 ซึ่งเท่ากับเพิ่มความเสี่ยงจากปัญหามลภาวะมากขึ้นอีกเท่าตัวเช่นกัน

นอกจากนี้ พื้นที่ใหม่ๆ ที่ติดอันดับเสี่ยงจากปัญหามลภาวะ ยังประกอบด้วย พื้นที่ลุ่มแม่น้ำซิตารัม ในชวาตะวันตก อินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่ราว 9 ล้านคน แต่มีโรงงานประมาณ 2,000 โรง รวมทั้งเขตกาลิมันตัน บนเกาะบอร์เนียว ซึ่งมีเหมืองทองคำขนาดเล็กกระจายอยู่กว้างขวาง

ช่วงไล่เลี่ยกันนั้น มหาวิทยาลัยเยลได้เปิดเผยผลการจัดทำดัชนีคุณภาพสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2557 โดยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลเปรียบเทียบมลภาวะของ 178 ประเทศทั่วโลก ภายใต้ดัชนี้ชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม 9 ประเภท ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตของประชาชน

ปรากฏว่าประเทศอินเดีย ซึ่งเคยรั้งอันดับที่ 32 กลับไต่อันดับพรวดพราดครองแชมป์ประเทศที่มีมลภาวะสูงสุดในโลก แซงหน้าประเทศจีนที่ติดกลุ่มประเทศที่มีมลภาวะมากที่สุดในโลกสูสีกับอินเดีย

เกณฑ์การตัดสินของมหาวิทยาลัยเยล อาศัยการวัดจากสัดส่วนประชากรเทียบกับค่าเฉลี่ยมลภาวะทางอากาศ ที่องค์การอนามัยโลก (ฮู: WHO) จัดเก็บตัวเลขไว้ ผลการศึกษายังพบว่า กรุงนิวเดลี ซึ่งมียานพาหนะที่จดทะเบียนพร้อมวิ่งบนท้องถนนถึง 810 ล้านคัน มีค่ามลภาวะทางอากาศสูงสุดในโลกเช่นเดียวกัน

ที่มาภาพ :http://www.cbc.ca
ที่มาภาพ :http://www.cbc.ca

ส่วนประเทศจีนก็ติดอันดับหนึ่งในประเทศที่ประสบปัญหามลภาวะที่แสนหนักหนาสาหัสมากที่สุดในโลก ทั้งปัญหามลภาวะพื้นดิน น้ำ และอากาศ โดยเฉพาะมลภาวะทางอากาศหรือหมอกควันพิษ (smog) นี้ ได้แผ่คลุมเมืองใหญ่น้อยในหลายมณฑลทั่วทุกภูมิภาค รวมไปถึงกรุงปักกิ่งและมหานครเซี่ยงไฮ้ โดยสื่อบางสื่อรายงานว่าคลุมมิดทั้งประเทศในระดับสูงยิ่ง จนเป็นอันตรายต่อสุขภาพของบรรดาลูกหลานคนจีนเปรียบเสมือนระเบิดลูกใหญ่ที่พร้อมทำลายประเทศให้พินาศย่อยยับในชั่วพริบตา

ทางการปักกิ่งเองก็ตระหนักถึงอันตรายจากระเบิดเวลาลูกนี้มาตั้งแต่ปี 2549 ระหว่างที่ผู้นำสิ่งแวดล้อมชาวจีนได้รวมตัวกันที่หอประชุมคอนเสิร์ตเซี่ยงไฮ้ และพูดกันอย่างเปิดอกถึงวิกฤติสิ่งแวดล้อมในประเทศที่เห็นสัญญาณชัดเจนมาก่อนหน้านี้หลายปี นำไปสู่การตั้งสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของรัฐ (SEPA) ก่อนจะยกฐานะขึ้นเป็นกระทรวงเมื่อปี 2541

จากนั้นก็ประกาศจะอัดฉีดเงินก้อนใหญ่จำนวน 156,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 4 ล้าน 6 แสนบาท เพื่อแก้ปัญหานี้ภายในช่วง 5 ปี ควบคู่ไปกับการจับมือทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์กรภาคเอกชนหรือเอ็นจีโอในประเทศ ซึ่งเคยถือเป็นองค์กรเถื่อนมาก่อน ผลการจับมือครั้งนั้นทำให้จำนวนของเอ็นจีโอสิ่งแวดล้อมก้าวกระโดดจาก 1 เป็นกว่า 2,000 กลุ่มในตลอดช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา

นับวันกลุ่มเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมก็ยิ่งเติบโตและแข็งแกร่งมากขึ้นตามลำดับ ผลงานที่เห็นได้ชัดมีขึ้นเมื่อปี 2547 เมื่อกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้จับมือกับกลุ่มรากหญ้าในประเทศร่วมกันขัดขวางการก่อสร้างเขื่อนสำคัญในแม่น้ำนู (หรือนู่เจียง หรือแม่น้ำสาละวิน) จนประสบความสำเร็จและเป็นแรงบันดาลใจในการยกระดับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมทั่วทั้งประเทศ รวมไปถึงการร่วมมือกันทำความสะอาดปักกิ่งก่อนพิธีเปิดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเมื่อปี 2551

ความสำเร็จของกลุ่มเอ็นจีโอดังกล่าวข้างต้นได้กระตุ้นจิตสำนึกของบรรดาลูกหลานมังกรให้ตระหนักถึงพิษภัยจากมลภาวะ โดยเฉพาะเมื่อมีการเผยผลการสำรวจพบว่าคนทางเหนือราว 500 ล้านคนจะมีอายุสั้นกว่าคนทางใต้ราว 5.5 ปี อันเป็นผลพวงจากนโยบาย “ถ่าน (หิน) ฟรี” สำหรับเครื่องต้มน้ำให้คนทางเหนือที่อยู่เหนือแม่น้ำหวายทางตอนเหนือของเซี่ยงไฮ้ในช่วงฤดูหนาว ที่มีผลบังคับใช้ระหว่างปี 2493-2523 ทำให้ปริมาณการใช้ถ่านหินสูงมากเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นของฟรี พลอยทำให้อัตราการตายจากโรคหัวใจ โรคปอด เช่น ถุงลมโป่งพอง หอบหืด ปอดบวม ฯลฯ เพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว จากการสูดดมควันไฟและฝุ่นขี้เถ้าถ่านหินจากเครื่องต้มน้ำ นอกเหนือจากทำให้ปริมาณหมอกควันในอากาศทางเหนือสูงกว่าทางใต้ถึง 55 เปอร์เซนต์

อย่างไรก็ดี ผลพวงจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมหนักต่างๆ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาจากนโยบาย “สี่ทันสมัย” ของคนโตตัวเล็ก เติ้ง เสี่ยว ผิง ซึ่งเปิดประตูประเทศต้อนรับการลงทุนจากประเทศตะวันตกเพื่อพัฒนาจีนให้ทันสมัย ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมหนักจากยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ได้ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศจีน และได้สมคบกับรัฐบาลท้องถิ่นที่เห็นแก่ผลประโยชน์เฉพาะหน้าหาทางหลบเลี่ยงมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม หวังจะลดต้นทุนการผลิตให้มากที่สุด จึงทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่สร้างมลภาวะมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก

จากผลการศึกษาของธนาคารโลกระบุว่า เมืองต่างๆ ในแดนมังกรมีคุณภาพอากาศที่เข้าขั้นเลวร้ายถึง 16 เมือง เฉพาะเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ดัชนีมลภาวะในเมืองต่างๆ อย่างน้อย 25 เมืองได้ทะลุระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ไม่ต้องพูดถึงมลภาวะทางน้ำ ซึ่งผลการสำรวจพบว่า 3 ใน 4 ของแหล่งน้ำที่ไหลในบริเวณเขตเมืองไม่สามารถนำมาทำน้ำประปาหรือเลี้ยงปลาได้

หนังสือพิมพ์เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ รายงานว่า วิกฤตหมอกควันพิษในจีนมีแต่ทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ จนแสงอาทิตย์แทบไม่สามารถสาดส่องมายังพื้นโลก ประชาชนต้องสวมหน้ากากป้องกันควันพิษราวกับมนุษย์ต่างดาว และปัญหานี้ได้ลุกลามจากเมืองใหญ่อย่างกรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกวางโจว สู่เมืองเล็กเมืองน้อยบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคเหนือของประเทศ อาทิ เมืองซีอาน เมืองท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลก และ เป่าจีในมณฑลส่านซี เมืองเหลียวเฉิง เต๋อโจว และจี๋หนิง ในมณฑลซานตง และที่กรุงลาซาในทิเบต

หน้ากากป้องกันควันพิษ ที่มาภาพ :http://www.ctvnews.ca
หน้ากากป้องกันควันพิษ ที่มาภาพ :http://www.ctvnews.ca

ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาของจีนยอมรับเมื่อปลายปีที่แล้วว่า หลายพื้นที่ทั่วประเทศได้รับผลกระทบจากหมอกควันพิษ ไม่ว่าจะเป็นที่ตอนกลางและตอนใต้ของมณฑลเหอเป่ย ตอนใต้ของกรุงปักกิ่ง ตอนกลางและตอนตะวันตกของมณฑลซานตง ตอนกลางและตอนตะวันออกของมณฑลเหอหนาน เฉพาะที่มณฑลเจียงซู อานฮุย และนครเซี่ยงไฮ้ หมอกควันทำให้ทัศนวิสัยสั้นกว่า 1,000 เมตร

นอกจากนี้ หมอกหนาทึบที่เมืองชิงเต่า ทำให้ทางการต้องเลื่อนและยกเลิกเที่ยวบินร่วมร้อยเที่ยว ขณะที่เมืองนานกิงต้องสั่งปิดทางด่วนและสนามบิน

ส่วนที่นครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากหมอกควันพิษ ดัชนีคุณภาพอากาศทะลุระดับ 400 ซึ่งจัดว่าเป็นอันตรายมาก ทัศนวิสัยการมองเห็นลดลงเหลือเพียงไม่กี่สิบเมตร ทางการต้องสั่งหยุดเรียนและหยุดก่อสร้างทั้งหมด รวมทั้งประกาศให้ประชาชนอยู่ภายในอาคารเพื่อความปลอดภัย