ThaiPublica > เกาะกระแส > วุฒิสภาผ่าวิกฤติจำนำข้าว แนะ “รัฐบาลปู” ลาออก ตั้ง ครม.คนกลางกู้เงินใช้หนี้ชาวนา

วุฒิสภาผ่าวิกฤติจำนำข้าว แนะ “รัฐบาลปู” ลาออก ตั้ง ครม.คนกลางกู้เงินใช้หนี้ชาวนา

12 กุมภาพันธ์ 2014


ปัญหาชาวนากว่า 1.4 ล้านครอบครัว “ไม่ได้รับเงินจำนำข้าว” ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 จนถึงวันนี้ ยังเป็นประเด็นร้อนที่สื่อทุกแขนงให้ความสนใจ แนวทางแก้ปัญหาตอนนี้ ไม่ว่ารัฐบาลจะเดินทางไหน ดูเหมือนจะเจอแต่ทางตัน และเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2557 คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน วุฒิสภา จัดเสวนาหัวข้อ “ช่วยชาวนาอย่างไร โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และรักษาวินัยการเงินการคลัง” ณ อาคารรัฐสภา 2 โดยเชิญ ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, ดร.อัจนา ไวความดี อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย, นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านข้าว, นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา โดยมีนายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการวุฒิสภา เป็นผู้ดำเนินรายการ

คณะกรรมาธิการ การเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน วุฒิสภา จัดเสวนาหัวข้อ “ช่วยชาวนาอย่างไร โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และรักษาวินัยการเงินการคลัง” ณ อาคารรัฐสภา 2 วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2557
คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน วุฒิสภา จัดเสวนาหัวข้อ “ช่วยชาวนาอย่างไร โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และรักษาวินัยการเงินการคลัง” ณ อาคารรัฐสภา 2 วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2557

เริ่มจาก ดร.อัมมารกล่าวว่า ความล้มเหลวของโครงการจำนำข้าวในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เป็นปัญหาใหญ่ในขณะนี้มี 2 ประเด็น คือ 1. รัฐบาลไม่มีเงินมาชำระหนี้ชาวนา 1.3 แสนล้านบาท เพราะติดเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (3) ที่กำหนดว่ารัฐบาลรักษาการต้องไม่กระทำการที่มีผลเป็นการอนุมัติงาน หรือโครงการ หรือมีผลสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดต่อไป “ความล้มเหลวครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่น่าอับอายขายขี้หน้า คนไทยทั้งประเทศ” และ 2. รัฐบาลปล่อยให้โครงการจำนำข้าวเกิดการทุจริตคอร์รัปชันทุกขั้นตอน ทุกอย่างที่ทำมีใบเสร็จแต่ไม่ยอมลงบัญชี ข้อมูลสำคัญๆ ถูกปกปิด อย่างเช่น ราคาและปริมาณข้าวที่ขาย เสมือนว่าอยู่ในถ้ำมืด บางครั้งต้องเอาไฟฉายเข้าไปส่อง แต่การจะนำไฟฉายเข้าไปส่อง ก็ต้องได้รับอนุญาตจากนายใหญ่เสียก่อน ถึงจะทำได้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ถือเป็นตัวบ่อนทำลายวินัยการคลังอย่างรุนแรง

“ทางออกของเรื่องนี้ หากใช้เงื่อนไขของวันที่รัฐบาลประกาศยุบสภาเป็นเกณฑ์ตัดสิน กรณีรัฐบาลเป็นหนี้ชาวนาก่อนวันที่ 9 ธันวาคม 2556 อย่างนี้อาจจะอนุโลมได้ แต่ถ้าเป็นหนี้ชาวนาหลังยุบสภา ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการกู้เงินมาใช้หนี้ชาวนามีผลผูกผัน ครม.ชุดต่อไปหรือไม่ ในความเห็นส่วนตัว คิดว่ารัฐบาลรักษาการไม่น่ารีไฟแนนซ์หนี้ได้ หลังจากประกาศยุบสภาไปแล้ว ต้องใช้วิธีอื่น” ดร.อัมมารกล่าว

ดร.อัมมารกล่าวต่อไปอีกว่า กรณีรัฐบาลกู้เงินนอกงบประมาณกันจนทะลุกรอบที่รัฐบาลกำหนด ทำได้ง่าย ถือเป็นช่องโหว่ในเรื่องของวินัยการคลัง ระยะยาวต้องแก้ไข อย่างเช่น กรณีโครงการจำนำข้าว มีการใช้จ่ายเงินเกินกรอบเพดานเงินกู้ เป็นต้น ดังนั้น กรณีรัฐบาลใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ วิธีอุดช่องโหว่ ต้องผ่านการอนุมัติจากรัฐสภา ถึงแม้รัฐบาลจะมีเสียงข้างมากในสภาฯ ทำอะไรก็ได้ ยกมือผ่านหมด แต่อย่างน้อยสาธารณชนก็ได้รับทราบข้อมูล หรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

นายธีระชัยกล่าวว่า โครงการจำนำข้าวเป็นโครงการที่ทำให้พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก ใช้เงินมากที่สุด และทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น แต่มาวันนี้เป็นตัวฉุดเศรษฐกิจ เพราะเงินมันติด สร้างความเดือดร้อนให้ครอบครัวชาวนาอย่างมาก ช่วงที่ตนมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้าใจว่าประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกข้าวรายใหญ่ หากดึงข้าวบางส่วนออก อาจจะทำให้ราคาข้าวตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ขอทดลองสัก 1 ฤดูการผลิต แต่ปรากฏว่าผลลัพธ์ที่ได้ไม่เป็นไปอย่างที่คิด

“ที่ผ่านมาผมยึดหลักของวินัยการคลัง ปี 2554 เสนอ ครม. กำหนดกรอบการใช้จ่ายเงินไว้ที่ 5 แสนล้านบาท เหตุผลคือ ผมต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ระบายข้าว นำรายได้จากการระบายข้าวมาเป็นทุนหมุนเวียนรับจำนำฤดูการผลิต คือ ไม่อยากให้เก็บข้าวไว้นานๆ เพราะข้าวเสื่อมคุณภาพลงทุกวัน ต้องขายออกบ้าง แต่ปรากฏว่า 2 ปีที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวได้เงินแค่ 1.4 แสนล้านบาท เงินที่ใช้เป็นทุนหมุนเวียนส่วนใหญ่จึงไปติดอยู่กับสต็อกข้าว ทำให้วันนี้ชาวนากว่า 1 ล้านราย ไม่ได้รับเงิน” นายธีระชัยกล่าว

นายธีระชัยกล่าวต่อไปอีกว่า ทางออกในการแก้ไขปัญหาขณะนี้มี 3 ทาง คือ 1. แก้ปัญหาทางการเงิน ขณะนี้ทำได้ค่อนข้างยากมาก เพราะไปติดรัฐธรรมนูญ 181 (3) สถาบันการเงินที่ถูกเชิญมาร่วมปล่อยกู้ อาทิ แบงก์ บริษัทประกันชีวิต กองทุนต่างๆ ไม่มั่นใจว่ารัฐบาลรักษาการมีอำนาจกู้เงินหรือไม่ ทำให้การประมูลล้ม ถึงแม้รัฐบาลพยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบการระดมเงินกู้ โดยใช้วิธีการออกพันธบัตรรัฐบาลกู้เงินโดยตรง หรือทางอ้อมโดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรดำเนินการ โดยมีการกระทรวงการคลังค้ำประกัน ขายให้กับสถาบันเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ หากศาลตัดสินว่าเข้าข่ายรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (3) มีความผิด ผู้ที่ลงทุนในพันธบัตร อาจจะมีความผิดด้วยในฐานะผู้ให้การสนับสนุน ดังนั้น การแก้ปัญหาทางการเงิน ตอนนี้ทำได้ยากมาก

2. แก้ปัญหาโดยใช้การตลาด ไม่ใช่ระบายข้าวเดือนละ 4 แสนตัน แต่ต้องระบายขายเดือนละ 2 ล้านตัน กว่าจะได้รับเงินครบ 1.3 แสนล้านบาท คาดว่าใช้เวลา 6-8 เดือน และ 3. แก้ปัญหาทางการเมือง รัฐบาลรักษาการต้องหารือกับ กปปส. ผลักดันให้มีการเลือกตั้งจบโดยเร็ว เพื่อจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ การกู้เงินจะทำได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่มีข้อจำกัด

ระดมสมองผ่านวิกฤติจำนำข้าว

ด้านนายนิพนธ์ ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิด้านข้าวให้ความเห็นว่า เรื่องการระบายข้าวโดยการส่งออกทำได้ยาก เนื่องจากตลาดไม่เอื้ออำนวย สต็อกข้าวของโลกปี 2556 มีมากกว่าปกติ ทำให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นไม่ได้ ทันทีที่ขยับก็จะมีธัญพืชอื่นๆ เช่น ข้าวสาลี เข้ามาทดแทน และจากการที่รัฐบาลประกาศขายข้าวเดือนละ 4 แสนตัน ประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามและอินเดียอาจจะขายข้าวไม่ได้ หากไม่ดัมพ์ราคาลงมา ดังนั้นพ่อค้าที่ซื้อข้าวจากรัฐบาล จึงมีความเสี่ยงราคาข้าวลดลง

“เทคนิคของการระบายข้าวควรเก็บเป็นความลับ แต่ต้องโปร่งใส โดยการจัดตั้งคณะกรรมการระบายข้าวขึ้นมา ซึ่งประกอบด้วยกรมบัญชีกลาง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ธ.ก.ส. กรมการค้าต่างประเทศ เป็นต้น จากนั้นก็เชิญพ่อค้าข้าวที่มาออเดอร์มารับข้าวไปขายต่างประเทศ ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ขายข้าวแบบคอขวด เชิญมาเฉพาะพวกกัน แต่วันนี้เริ่มเปิดกว้างแล้ว ทราบมาว่ากระทรวงพาณิชย์กำลังยกร่าง TOR กำหนดให้ผู้ส่งออกที่รับข้าวไปขายต้องจ่ายเงินภายใน 180 วัน แต่ถ้าเป็นโรงสีมาซื้อไปขายในประเทศต้องจ่ายเงินภายใน 30 วัน หากทำสำเร็จคาดว่าชาวนาได้รับเงินภายใน 3 เดือน” นายนิพนธ์กล่าว

นายนิพนธ์กล่าวต่อไปอีกว่า กรณีรัฐบาลติดต่อโรงสีให้มารับจำนำใบประทวนจากชาวนา 50% ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลจะให้โรงสีรับจำนำที่ราคาตลาดหรือราคาตามใบประทวน และยังไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจัดงบกลาง 1,200-1,300 ล้านบาท มาจ่ายดอกเบี้ยให้โรงสีแทนชาวนาซึ่งเป็นเอกชนทำได้หรือไม่ หากไม่มีมติ ครม. รองรับ อาจจะถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 200 ล้านบาท เหมือนกรณีโรงสีศิริภิญโญก็ได้ วันนี้รัฐบาลติดหนี้ชาวนากว่า 1 แสนล้านบาท หากชาวนานำใบประทวนมาจำนำ 50% โรงสีจะเอาสภาพคล่องที่ไหนมาจ่าย ดังนั้น วิธีแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยไม่ผิดกฎหมายหรือขัดกับวินัยการคลัง คืออาศัยมติ ครม. เดือนกันยายน 2556 กำหนดให้รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยต้นทุนข้าวนาปรังรอบพิเศษตันละ 2,100 บาท มาบังคับใช้ตอนนี้รัฐบาลเป็นหนี้ชาวนา 1 แสนล้านบาท หากใช้วิธีการจ่ายชดเชยต้นทุนข้าวให้ชาวนาไปก่อนจะใช้เงินแค่ 20,000 ล้านบาท

ส่วนนางอัจนาให้ความเห็นว่า การรับจำนำข้าวทุกเมล็ดในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด ถือเป็นการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดตั้งแต่วันแรก หากฝืนทำต่อไปก็ยิ่งเกิดความเสียหายเพิ่มมากขึ้น ปัญหาเฉพาะหน้าในขณะนี้คือรัฐบาลขาดสภาพคล่อง ขณะที่รัฐบาลมีสต็อกข้าวเป็นจำนวนมาก หากเร่งระบายข้าว ก็ยิ่งขาดทุนเป็นภาระผู้เสียภาษี ตอนนี้จึงคิดถึงเรื่องการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนโดยการออกตราสารซีเคียวริไทซ์ (securitization) ใช้สต็อกข้าวที่มีอยู่บางส่วนหนุนหลัง หากไม่มั่นใจว่าปริมาณข้าวในสต็อกมีอยู่ครบถ้วนหรือไม่ คุณภาพเป็นอย่างไร ช่วงที่มีการตรวจสอบสต็อกและคุณภาพข้าว อาจจะต้องหักลบส่วนที่สูญเสียออกไป (discount) ส่วนในระยะยาว การดำเนินโครงการประชานิยมต่างๆ ควรกำหนดกรอบการบริหารให้ชัดเจน และอำนาจในการอนุมัติโครงการเหล่านี้ต้องผ่านความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติด้วย

นายไพบูลย์กล่าวว่า ขณะรัฐบาลรักษาการมีข้อจำกัดในการหาเงินมาใช้หนี้ชาวนาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 แนวทางแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดคือ รัฐบาลลาออก หรือพ้นจากตำแหน่งโดยองค์กรอิสระ ทั้งนี้เพื่อให้มีการตั้งรัฐบาลใหม่ หรือรัฐบาลคนกลาง เข้ามาแก้ไขปัญหาไม่มีข้อติดขัดข้อกฎหมาย เพราะรัฐบาลใหม่หรือรัฐบาลคนกลางไม่ได้อยู่ในคำนิยามตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 181 กำหนดไว้ สามารถกู้เงินและเร่งระบายข้าวได้อย่างรวดเร็ว และที่สำคัญ รัฐบาลใหม่ไม่ยึดติดว่าต้องเดินหน้าทำโครงการจำนำข้าวเท่านั้น การแก้ไขปัญหาระยะยาวต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนยุทธศาสตร์กันใหม่ กำหนดพื้นที่เพาะปลูกข้าว จำกัดปริมาณการผลิต และกำหนดเป้าหมายในการช่วยเหลือเฉพาะเกษตรกรรายเล็ก

นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย ที่มาภาพ : http://www.bangkokbiznews.com
นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย ที่มาภาพ : http://www.bangkokbiznews.com

ขณะที่นายประสิทธิ์ ตัวแทนชาวนา กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวนาถูกรัฐบาลหลอกว่าจะจ่ายเงินให้มาแล้วหลายครั้งหลายหน ตนถาม ธ.ก.ส. เมื่อไหร่ชาวนาจะรับเงิน ธ.ก.ส. บอกว่าวันที่ 15 ธันวาคม 2556 เงินจะออก ครบกำหนดเงินไม่ออก ธ.ก.ส. บอกให้รอวันที่ 25 ธันวาคม 2556 ได้แน่นอน ปรากฏว่าไม่ได้เงินอีก จึงไปสอบถามนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ บอกว่าให้พี่น้องชาวนาเตรียมรับเงินไว้เที่ยวปีใหม่ 31 ธันวาคม 2556 ได้เงินแน่ ถึงกำหนดเงินไม่ออก เพราะเจรจากับแบงก์หาเงินกู้อยู่ จากนั้นก็ไปตามที่กระทรวงการคลัง บอกว่าเงินกู้ได้แล้ว แต่ติดม็อบ กปปส. ปิดกระทรวง โอนเงินไม่ได้ เลื่อนไปวันที่ 31 มกราคม 2557 แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เงินอีก

“ขณะนี้ชาวนาเดือดร้อนมาก ติดค้างค่าจ้างรถเกี่ยวข้าว ส่วนเจ้าของรถเกี่ยวข้าวก็ติดค้างค่างวดกับค่าน้ำมัน ไม่มีเงินไปเคลียร์ค่าปุ๋ย ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่ายาฆ่าแมลง ฤดูการผลิตใหม่กำลังจะมาถึง ไม่มีเงินไปลงทุน ทางออกตอนนี้มีอยู่หนทางเดียว คือ ระบายข้าว ขายขาดทุนก็ต้องขาย ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2557 ทางสมาคมชาวนาไทยจะเปิดโรงสีขายข้าว แต่ไม่ได้อยู่ดีๆ ไปเปิด ต้องได้รับอนุญาตจากทางการด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดต่อประสานงานกับโรงสีที่เก็บข้าว และเชิญพ่อค้าข้าวมาซื้อ ส่วนในระยะยาวควรยกเลิกจำนำข้าวทุกเมล็ด” นายประสิทธิ์กล่าว