ThaiPublica > เกาะกระแส > ถอดรหัส “ปฏิรูป” บนความขัดแย้ง บทเรียนจากต่างประเทศ

ถอดรหัส “ปฏิรูป” บนความขัดแย้ง บทเรียนจากต่างประเทศ

28 กุมภาพันธ์ 2014


เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปจัดเวทีถอดบทเรียน กระบวนการปฏิรูปภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในต่างประเทศโดยผู้เชี่ยวชาญระดับโลก จากซ้ายดร.ไมเคิล วาติคิโอติส ,ดร.คาเทีย พาพาจิอานนี ,มร.อดัม คาเฮน และดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป ดำเนินรายการโดยนางสาวณัฏฐา โกมลวาทิน
เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปจัดเวทีถอดบทเรียนกระบวนการปฏิรูปภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในต่างประเทศโดยผู้เชี่ยวชาญระดับโลก จากซ้าย ดร.ไมเคิล วาติคิโอติส, ดร.คาเทีย พาพาจิอานนี, มร.อดัม คาเฮน และ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป ดำเนินรายการโดยนางสาวณัฏฐา โกมลวาทิน

ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ถอดบทเรียนการปฏิรูปในต่างประเทศ ระบุ กระบวนการที่ประสบความสำเร็จมีหลายแนวทาง “สภาแห่งชาติ-องค์กรสานเสวนา-ห้องปฏิบัติการสังคม” ขณะที่บริบทสังคมไทยอยู่ในภาวะ “ความขัดแย้งยืดเยื้อ” และสถานการณ์ “ไม่สุกงอม” การเจรจายังไม่เกิด

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557 ณ โรงแรมสุโกศล เครือข่ายเดินหน้าปฎิรูป หรือ RNN: Reform Now Network จัดเสวนา “เวทีความคิดเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย” ครั้งที่ 3 หัวข้อ เรียนรู้ประสบการณ์ บทเรียนกระบวนการปฏิรูปภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งของต่างประเทศ” โดยเชิญวิทยากรระดับโลกที่เคยมีประสบการณ์งานเจรจาท่ามกลางความขัดแย้งจากประเทศต่างๆ มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ คือ

1. ดร.ไมเคิล วาติคิโอติส ผู้อำนวยการฝ่ายภูมิภาคเอเชีย Centre for Humanitarian Dialogue (HDC) ถอดบทเรียนกระบวนการปฏิรูปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
2. ดร.คาเทีย พาพาจิอานนี ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนการทำหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ยและฝ่ายนโยบาย Centre for Humanitarian Dialogue (HDC) ถอดบทเรียนจากการใช้กระบวนการสานเสวนาแห่งชาติ (National Dialogue Process)
3. มร.อดัม คาเฮน นักออกแบบกระบวนการ ReosPartners ถอดบทเรียนการดำเนินการปฏิรูปเชิงระบบภายใต้สภาวะที่มีความขัดแย้งสูง

บทเรียนอินโดนีเซีย “สภาแห่งชาติ”

ดร.คาเทียน พาพาจิอานนี ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนการทำหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ยและฝ่ายนโยบาย Centre for Humanitarian Dialogue (HDC)
ดร.คาเทียน พาพาจิอานนี ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนการทำหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ยและฝ่ายนโยบาย Centre for Humanitarian Dialogue (HDC)

ดร.ไมเคิลมองกระบวนการปฏิรูปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยยึดโยงกับวิกฤติการณ์ทางการเมือง ที่ชนชั้นนำหรือฝ่ายถืออำนาจทางการเมืองมักถูกกดดันให้ต้องปฏิรูปจากการชุมนุมประท้วงอย่างต่อเนื่อง หรือเมื่อเกิดวิกฤติจะมีการปฏิรูปเกิดขึ้น โดยนำประสบการณ์การปฏิรูปของอินโดนีเซียในช่วงหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการลุกฮือของประชาชนที่เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงจากการคอบงำโดยเผด็จการทหารของประธานาธิบดีซูฮาโต (พ.ศ. 2542-2547) มาเป็นตัวอย่าง

โดยเมื่อประธานาธิบดีฮาบีบีเข้ามาในอำนาจแทนซูฮาโต ได้แก้ไขวิกฤติการณ์ด้วยการปฏิรูป โดยตั้ง “สภาแห่งชาติ” ที่มีคณะกรรมการปฏิรูป 7 คน คัดเลือกจากข้าราชการและผู้เชี่ยวชาญเพื่อมาขับเคลื่อนการปฏิรูปกฎหมาย แก้ไขกฎเกณฑ์การเลือกตั้ง และปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารราชการ โดยใช้รัฐสภาเป็นเวทีในการหาฉันทามติของตัวแทนคนทั้งประเทศ แม้กระบวนการนี้จะไม่สามารถทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนได้ในวงกว้าง แต่ถือเป็นการวางรากฐานเพื่อการปฏิรูปประเทศที่สามารถเกิดขึ้นได้ท่ามกลางความขัดแย้ง และมาจากความพยายามที่จะสร้างบรรยากาศให้เกิดทางออกจากวิกฤติการเมืองและเศรษฐกิจ

ดร.ไมเคิลสรุปบทเรียนที่ได้จากการปฏิรูปของอินโดนีเซียว่า เป็นกระบวนการปฏิรูปทางการเมืองในวงเล็กๆ โดยใช้เวทีสภาแห่งชาติที่มีคณะกรรมการเพียง 7 คน ดำเนินการโดยไม่มีการแนะนำจากบุคคลภายนอก และไม่มีการเปิดเวทีสาธารณะ หรือการเปิดให้มีส่วนร่วมน้อยมาก โดยทีมงานทั้ง 7 คนจะทำงานกันอย่างเงียบๆ ในการปรับแก้กฎหมายต่างๆ เมื่อส่งผ่านกระบวนการรัฐสภาเรียบร้อยแล้วถึงจะประกาศออกมา ทั้งนี้ กระบวนการของอินโดนีเซียทำให้ไม่ใช้เวลามากในการปฎิรูป และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ทำให้สถานการณ์การเมืองอินโดนีเซียมั่นคงมากขึ้นจนถึงปัจจุบันนี้

บทเรียนตะวันออกกลาง “กระบวนการสานเสวนาแห่งชาติ”

ดร.คาเทีย พาพาจิอานนี ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนการทำหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ยและฝ่ายนโยบาย Centre for Humanitarian Dialogue (HDC) ถอดบทเรียนจากการใช้กระบวนการสานเสวนาแห่งชาติ
ดร.คาเทีย พาพาจิอานนี ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนการทำหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ยและฝ่ายนโยบาย Centre for Humanitarian Dialogue (HDC) ถอดบทเรียนจากการใช้กระบวนการสานเสวนาแห่งชาติ

ขณะที่ ดร.คาเทียนำเสนอบทเรียนที่แตกต่างไปจากกระบวนของประเทศอินโดนีเซีย แต่น่าจะเป็นการเพิ่มทางเลือกอีกแนวทางหนึ่งที่อาจเหมาะสมกับประเทศไทย คือ การใช้กระบวนการสานเสวนาแห่งชาติ (National Dialogue) ซึ่งเป็นการปฏิรูปในลักษณะองค์รวมที่ใช้กันในหลายประเทศที่เกิดวิกฤติการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง หรือมีความขัดแย้งในขณะที่ภาคการเมืองอ่อนแอ โดยใช้กันมากในหลายประเทศในตะวันออกกลาง อัฟกานิสถาน เยเมน เป็นต้น

โดยกระบวนการสานเสวนาแห่งชาติ จะเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทุกคนทุกระดับและทุกภาคส่วนเข้ามาแสดงความคิดเห็นและร่วมกันปรึกษาหารือในเรื่องการปฏิรูปและพัฒนาประเทศ มีการคัดเลือกตัวแทนจากกลุ่มการเมือง ทหาร ประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ คนชายขอบ ผู้หญิง เยาวชน เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูป โดยมีคณะทำงานเป็นผู้เปิดเวที เชื่อมโยงเนื้อหา และสรุปผลเพื่อกลั่นกรองออกมาเป็นวิสัยทัศน์ร่วมของคนในประเทศ นำไปสู่การทำประชามติ หรือการแก้ไขกฎหมายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนต่อไป

การเริ่มกระบวนการนี้มีหลักเบื้องต้นที่ต้องคำนึงถึงคือ จะริเริ่มกระบวนการอย่างไร จะพูดคุยในประเด็นใดบ้าง สามารถนำตัวแทนจากผู้มีส่วนได้เสีย กลุ่มการเมือง และกลุ่มทางสังคม เข้ามามีส่วนร่วมได้ทั่วถึงครอบคลุมเพียงพอหรือไม่ มีความตื่นตัวทางการเมืองของสาธารณะหรือไม่ และอะไรจะเป็นตัวชี้วัดว่ากระบวนการสานเสวนานั้นมีประสิทธิภาพ

“ล่าสุด เยเมนนำกระบวนการดังกล่าวไปใช้ได้จริง มีการจัดทำกระบวนการเสวนาที่นำไปสู่การตัดสินใจ ขณะนี้ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นมาได้ 1 เดือนแล้ว ก็ต้องดูต่อไปว่ากระบวนการนี้จะมีพลังแค่ไหน” ดร.คาเทียกล่าว

สำหรับบทเรียนที่ได้จากการทำกระบวนการเสวนาแห่งชาติ ดร.คาเทียสรุปว่า กระบวนการนี้ขึ้นอยู่กับการเจรจาเป็นสำคัญ และการออกแบบการมีส่วนร่วม นอกจากนี้ต้องมีการกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ความสัมพันธ์กับภาครัฐให้ชัดเจนจึงจะทำให้กระบวนการนี้เดินหน้าต่อไปได้ และการตั้งเป้าหมายของกระบวนการนี้จะต้องเป็นเป้าหมายที่ทำได้จริง และสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจ

ประสบการณ์จากทั่วโลก “ห้องปฏิบัติการสังคม”

มร.อดัม คาเฮน นักออกแบบกระบวนการระดับโลกแห่ง ReosPartners เล่าประสบการณ์การดำเนินการการปฏิรูปเชิงระบบภายใต้สภาวะที่มีความขัดแย้งสูง
มร.อดัม คาเฮน นักออกแบบกระบวนการระดับโลกแห่ง ReosPartners เล่าประสบการณ์การดำเนินการการปฏิรูปเชิงระบบภายใต้สภาวะที่มีความขัดแย้งสูง

ด้าน มร.อดัมกล่าวถึงประสบการณ์ทำงาน 20 ปีกับ 25 ประเทศทั่วโลกว่า เมื่อสังคมเผชิญกับปัญหาที่มีความขัดแย้งสูงและซับซ้อนมากกว่าที่เคยประสบมา จะไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการค่อยแก้ไปทีละเปลาะด้วยการบังคับหรือด้วยการประยุกต์เอาวิธีการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ มาใช้ แต่ทางออกจากปัญหามีทางเดียวคือ ต้องคิดอย่างเป็นระบบและเป็นความคิดที่มาจากการมีส่วนร่วม

เขาบอกว่า เช่นเดียวกับการปฏิรูประเทศในระดับโครงสร้างให้ได้ผล ต้องการมากกว่าข้อเสนอเพื่อการปฏิรูป แต่ต้องการการลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง และต้องการความมีส่วนร่วมของทั้งฝ่ายรัฐบาลและองค์กรที่ไม่ใช่ของรัฐ ซึ่งกระบวนการที่สามารถนำมาใช้ได้ในสถานการณ์นี้เรียกว่า “Social Lap” หรือ “ห้องปฏิบัติการสังคม” เป็นกระบวนการที่ส่งผลกระทบทั้งระบบ ออกแบบมาเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ได้มาซึ่งเป้าหมายและแผนปฏิบัติการการปฏิรูปร่วมกัน

มร.อดัมระบุว่า จากการทำงานกับคนไทยมาปีกว่า มีประสบการณ์ที่มีนัยสำคัญสำหรับฝากถึงคนไทยทุกคนว่า จากประสบการณ์ของที่ทำงานมาหลายประเทศได้พิสูจน์ชัดว่า การปฏิรูปโครงสร้างบนสถานการณ์ความขัดแย้งสูงและมีความซับซ้อนสามารถเกิดขึ้นได้จริง แต่การต่อสู้โดยไม่เจรจา และต่อสู้เพื่อพยายามเอาชนะศัตรู ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ขณะที่การต่อสู้ผ่านการเจรจาสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาได้จริง

และเส้นทางของการปฏิรูปต้องใช้ความอดทน เพราะเส้นทางนั้นไม่มีเส้นทางลัด แต่คุณต้องไม่รอและไม่จำเป็นต้องรอคอยให้สถานการณ์นิ่งแล้วจึงเริ่มปฏิรูป แต่คุณสามารถเริ่มปฏิรูปประเทศได้เลยตั้งแต่เดี๋ยวนี้ทันที

“จากประสบการณ์ 15 ปีในลาตินอเมริกา ที่เวเนซุเอลาซึ่งมีปัญหาความขัดแย้งเหมือนไทย พบว่า การชนะศัตรูได้ไม่ได้เป็นแนวทางที่จะชนะอย่างจริงจัง และไม่ว่าชนะหรือไม่ไม่ใช่ทางเลือก การชนะอาจดูเป็นวีรบุรุษ ซึ่งฟังดูดี แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง วิธีที่แก้ปัญหาคือการเจรจาให้บรรลุผลและประสบผลสำเร็จของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน” มร.อดัมกล่าว

นอกจากเวทีระดมความคิดถอดบทเรียนจากต่างประเทศ เวทีความคิดเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ได้เชิญนายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และนายสมชาย หอมลออ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย มาแลกเปลี่ยนและอภิปรายถึงโอกาสและสิ่งท้าทายในบริบทของประเทศไทยในการขับเคลื่อนวาระการปฏิรูป การออกแบบกลไก กระบวนการให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในวงกว้าง การแสวงหาฉันทามติและสร้างข้อผูกพันทางการเมืองที่จะนำไปสู่การปฏิบัติในบริบทของไทย

ไทยอยู่ในภาวะ “ติดหล่ม”

นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า

นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ได้แสดงความเห็นเป็นการส่วนตัวว่า บริบทของไทยในสถานการณ์ขณะนี้เรียกว่าเป็น “ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ” ไม่ใช่ความขัดแย้งที่อยู่ชั่วคราว แต่เป็นความขัดแย้งที่มีห้วงเวลาที่นาน ทำให้สถานการณ์เริ่มรุนแรง มีการล้มตาย และความจริงเรามีประสบการณ์แบบนี้มาหลายครั้งในอดีตที่มีเหตุการณ์สะท้อนถึงความรุนแรง แต่ความรุนแรงในอดีตชัดเจนว่าเป็นความขัดแย้งสองขั้วอุดมการณ์ ที่ไม่ค่อยมีประชาชนอยู่ทั้งสองฝั่ง แต่คราวนี้เป็นความขัดแย้งที่ประชาชนยืนทั้งสองฝั่ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรารับเรื่องของบทเรียนความรุนแรง คิดว่า “เหตุการณ์ 6 ตุลา” มีบทเรียนที่น่าสนใจคือ มีเหตุการณ์บิดเบือนข้อมูลบางส่วนก็ส่งผลแล้วต่อสังคม สถานการณ์วันนี้ข้อมูลข่าวสารกำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม ถ้าเราไม่สามารถมีเครื่องคัดกรองข้อมูลข่าวสารเหล่านั้น และถ้าเราเลือกรับข่าวเฉพาะที่ถูกใจเรา ไม่รับฟังด้านอื่นๆ ประเด็นเหล่านี้จะเป็นปัญหา

“ทุกวันนี้สื่อทั้งหลาย โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย เป็นอะไรที่ดัดแปลงง่ายมาก เพราะฉะนั้น บทเรียนนี้สังคมไทยต้องกลับมาคิดกัน” นายวุฒิสารกล่าว

นอกจากนี้ ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อนี้ มีคนพยายามจะแก้ปัญหา แต่ก็มีคนพยายามขวาง ดังนั้น ทุกครั้งที่พยายามแก้ปัญหาจะรู้สึกว่ามีอุปสรรคตลอด หรือเราอาจอยู่ในภาวะที่ “ติดหล่ม” คือจะถอยออกก็ไม่ได้ จะเดินต่อก็ยาก และไม่รู้จะเดินไปทางไหนจึงจะเป็นประโยชน์ ภาวะนี้ยังเป็นความเห็นที่ไม่ตรงกันร้อยเปอร์เซ็นต์

แต่ปัญหาความขัดแย้ง ฝ่ายเดียวแก้ไม่ได้ ต้องหลายฝ่ายช่วยกันแก้ และถ้าสังคมไม่ตระหนักจะแก้ด้วยจะแก้ไม่ได้ และความขัดแย้งก็จะอยู่ต่อไป
นายวุฒิสารกล่าวว่า การจะออกจากความขัดแย้งนี้ได้ คือต้องยอมรับส่วนดีของตนและส่วนถูกของคนอื่นด้วย และต้องเปลี่ยนวิธีคิดที่ว่าไม่ชนะก็แพ้ ไม่ดำก็ขาว แต่ต้องยอมรับความเห็นแตกต่าง นี่คือพื้นฐานที่สำคัญของประชาธิปไตย แต่เราหลุดจากความจริงวันนี้ไม่ได้ว่า “สังคมมีขั้ว” เพราะฉะนั้น การจะปฎิรูป การจะออกแบบต้องเป็นเรื่องที่มีความละเอียด

ดังนั้น เสนอว่ากลไกการขับเคลื่อนการปฏิรูปต้องมีหลักคิดสำคัญคือ หนึ่ง ต้องครอบคลุมทุกฝ่ายและมีส่วนร่วม สอง ต้องสร้างความรู้สึกว่ามีความเป็นเจ้าของ เราอาจไม่สามารถมีกลไกให้ทุกคนยอมรับร่วมกันทั้งหมด แต่อย่างน้อยที่สุดมีจุดเริ่มต้น และต้องสร้างหลักประกันว่า สิ่งที่เห็นพ้องกันเกิดขึ้นได้จริง เพราะฉะนั้นต้องมีกลไกทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อสังคมว่า ถ้าเราเดินแบบนี้มันต้องเกิด รวมทั้งต้องมีความเคารพและเท่าเทียมกัน

โดยวิธีการขับเคลื่อนต้องเริ่มต้นจากคนที่สนใจคุยกันก่อน แล้วร่วมกันออกแบบวาระและกลไกที่เห็นพ้องต้องกัน เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องมี “road map” โดยต้องเริ่มต้นจากที่งานเล็กๆ เพื่อให้เห็นความสำเร็จชัดเจน หรือ “quit win” เพื่อให้เกิดศรัทธาว่าปฏิรูปเกิดได้ จากนั้นนำผลไปสู่การทำประชามติเพื่อทำให้เกิดสัญญาประชาคม เพราะฉะนั้น ข้อเสนอที่อยากเห็นคือกระบวนการของการเจรจาหาข้อตกลงร่วมกันของทั้งสองฝ่าย

“การปฏิรูปในปัจจุบันนั้น เนื้อหาว่าจะปฏิรูปอะไรไม่สำคัญเท่ากับวิธีการและกระบวนการว่าจะปฏิรูปอย่างไร การจะออกแบบโครงสร้าง การจะออกแบบวิธีการได้มาของคนปฏิรูปเป็นเรื่องสำคัญมาก ในเชิงเนื้อหาการปฎิรูปเรามีเยอะมากทั้งในเชิงปัญหาและทางออก แต่ท่ามกลางความขัดแย้งที่ยืดเยื้อแบบนี้ เราจะออกแบบให้เกิดการยอมรับร่วมกันของทุกฝ่ายได้อย่างไรนั้นสำคัญมาก” นายวุฒิสารกล่าว

ความท้ายในการปฏิรูปที่ต้องก้าวข้าม

นายสมชาย หอมลออ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
นายสมชาย หอมลออ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

นายสมชาย หอมลออ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย มีความเห็นว่า สังคมเห็นตรงกันว่าความรุนแรงไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหา แต่ในท่ามกลางสภาพที่ความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ถ้าเราจะก้าวพ้นสถานการณ์เช่นนี้ไปได้ มีสิ่งท้าทายคือ

1) ทำอย่างไรให้สังคมมีความหวัง โดยเชื่อว่าทุกวิกฤติมีโอกาสเสมอ เหมือนเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปที่เห็นโอกาสการปฏิรูปและเริ่มทันที

2) ต้องยอมรับว่าความขัดแย้งมีมานาน 5-6 ปี และจะมีต่อไปอีกยาวพอสมควร และไม่รู้จะจบเมื่อไร ปัญหาคือเราจะอยู่ได้อย่างปกติในสถานการณ์นี้ได้อย่างไร ในจุดนี้คงต้องช่วยกัน คือ กลไกของรัฐต้องทำหน้าที่ตามปกติ ทั้งกลไกที่บริการสาธารณะและกลไกป้องกันอาชญากรรม เพื่อไม่ให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น

3) ทำอย่างไรให้คนกลุ่มกลางๆ ไม่สุดโต่งขั้วใดขั้วหนึ่งมีความกระตือรือร้น ในส่วนนี้จะเป็นส่วนที่เชื่อมโยงอย่างมากกับความคืบหน้าและความสำเร็จในการปฏิรูป การเปิดพื้นที่และเวทีปฏิรูปน่าจะเป็นแนวทางหนึ่ง

สำหรับวิธีการปฏิรูป นายสมชายเห็นด้วยว่า ต้องเริ่มจากแต่ละจุด แต่ละคน และการเชื่อมโยงเป็นกลุ่ม แต่ในที่สุดต้องการกระบวนการที่เป็นทางการ ถ้าปราศจากกระบวนการที่เป็นทางการการปฏิรูปก็จะไม่สำเร็จ แต่กระบวนการที่เป็นทางการจะต้องไม่เป็นเรื่องของการตกลงกัน หรือรอมชอมกันของกลุ่มชนชั้นนำที่ขัดแย้งกันเท่านั้น แต่ต้องมีพลเมืองที่กระตือรือร้น และการตรวจสอบการปฏิรูปจะเกิดขึ้นแน่นอน ก็จะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง และโดยประสบการณ์ของประเทศไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องการการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางและให้เวลากับมัน จะเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เราสามารถก้าวไปได้

“สถานการณ์ปัจจุบันทั้งสองฝ่ายคงไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดชนะได้อย่างเด็ดขาด สุดท้ายถึงจุดหนึ่งก็คงต้องมานั่งเจรจากัน” นายสมชายกล่าว

สถานการณ์ยัง “ไม่สุกงอม” การเจรจาไม่เกิด

ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม สมาชิกเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป
ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม สมาชิกเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป

จากเวทีเสวนาดังกล่าว ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจ 5 ประเด็น ได้แก่

ประเด็นแรก วิทยากรทุกคนได้พูดชัดเจนว่าบทเรียนต่างๆ นั้นเป็นการให้ข้อมูลในฐานะผู้มีประสบการณ์ เรารู้ดีว่าปัญหาประเทศไทยคนไทยต้องแก้เอง ไม่อยากให้มีความรู้สึกว่าใช้ต่างชาติเข้ามากดดัน

วันนี้อย่างน้อยเราเห็นรูปแบบหลายรูแบบในการปฏิรูปท่ามกลางความขัดแย้ง เริ่มตั้งแต่รูปแบบที่ไม่หวือหวามากแต่มีความสำคัญคือที่อินโดนีเซีย เป็นการใช้ความกังวล ความกลัว หรือเจตจำนงทางการเมือง ใช้คนไม่กี่คนจัดการปฏิรูปเรื่องโครงสร้าง ทำให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างน่าชื่นชม

ส่วนกระบวนการที่ซับซ้อนมากขึ้น ที่ ดร.คาเทียเสนอกระบวนการสานเสวนาทางการเมือง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมที่ตกลงกันได้ระดับหนึ่ง มีกรอบที่ชัดเจน มีการมีส่วนร่วมทุกฝ่าย ซึ่งคิดว่ากรณีของไทยยังไม่ถึงเวลานั้น ต้องรอเวลาอีกช่วงหนึ่ง หรืออย่างที่คุณอดัมเสนอ ซึ่งต้องมีประสบการณ์มาก ต้องเข้าไปคลุกวงในของประเทศที่มีปัญหา ซึ่งไม่มีสูตรสำเร็จ

ต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในปัจจุบัน ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ถ้าพูดกันยังไม่เข้าใจ ก็คงมีการต่อสู้กัน แต่ถ้าเรามีการออกแบบที่ดีก็อาจนำไปสู่หนทางที่จะทำให้ทุกฝ่ายก้าวเดินไปข้างหน้า การปฏิรูปไม่สามารถทำได้โดยคิดด้านเดียว ไม่ฟังอีกด้านหนึ่ง เพราะฉะนั้น การทำความเข้าใจร่วมกันก็สำคัญมากสำหรับประเทศไทยเวลานี้

ประเด็นที่สอง เรื่องความยากของบริบทของประเทศไทย ถ้าดูรายงานของสถาบันพระปกเกล้า และ คอป. ได้ข้อสรุปตรงกันคือ เราไม่มีบรรยากาศของความปรองดอง ดังนั้น การจะเอาทฤษฎีของต่างประเทศมาใช้เป็นเรื่องยากมาก สังคมซึ่งยังไม่ยอมรับว่าเราอยู่ในการเปลี่ยนผ่านมากพอทำไม่ได้ ถ้าเราจะเดินไปสู่การปรองดอง หรือการเจรจา หรือการปฏิรูป ก็อาจถูกใช้ในบริบทที่ทำให้หลายฝ่ายไม่พอใจ เพราะฉะนั้น ต้องมาคุยกันมากขึ้น ฟังกันมากขึ้น และเปิดใจกันมากขึ้น ว่าทำอย่างไรให้ประเทศอยู่ร่วมกันได้โดยไม่รุนแรง

ประเด็นที่สาม ข้อดีที่วิทยากรทุกคนพูดตรงกันคือ การปฏิรูปจะเกิดขึ้นเมื่อมีความขัดแย้ง ที่ฟังๆ มาแนวทางที่จะนำไปสู่การปฏิรูปมี 2-3 อย่าง คือ หนึ่ง คุยกันไปต่อสู้กันไป จนหมดแรงสู้ และในที่สุดก็เห็นร่วมกัน อีกทางหนึ่งอาจเห็นหายนะเกิดขึ้นแล้ว คนตายเป็นหมื่นเป็นแสนคนแล้วก็ยอมคุยกัน หรือเกิดจากการมีคนนอกจากต่างประเทศมาแทรกแซง บอกว่าอย่าต่อสู้กันต่อไปอีกเลย เช่น ที่ยูเครน อีกแนวทางเหมือนอินโดนีเซีย คือจิตสำนึก ความกลัวการแบ่งแยกดินแดน การตื่นตัวทางการเมือง เจตจำนงทางการเมืองนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ และมีเรื่องความหวังด้วย

ประเด็นที่สี่ ต้องมีความหวัง หลายปีที่ผ่านมาไปฟังเยอะมากกับพี่น้องทุกฝ่าย ผมเห็นความหวังของคนไทยว่า สิ่งที่คนอีสาน และคนกรุงเทพเรียกร้อง มีพื้นฐานความต้องการเหมือนกัน คือต้องการประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม และตรวจสอบได้อย่างแท้จริง และเราต้องการกระบวนการยุติธรรมที่เชื่อได้ทุกฝ่ายจริง รวมถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำ ถ้าเราเห็นตรงกันอย่างนี้คิดว่ามีความหวัง สิ่งที่จะเดินต่อไปคือทำความหวังของทุกฝ่ายให้เป็นจริง

ประเด็นที่ห้า แล้วจะทำต่อกันไปอย่างไร อันนี้ยากมาก เท่าที่ฟังมี 4 แนวทาง คือ

1) เราต้องทำให้เกิดความกลัวหรือเปล่า หรือความกลัวเกิดขึ้นแล้ว ไม่แน่ใจ ถึงเวลาหรือยังที่จะนำความกลัวไปสู่การฟังให้มากขึ้น หรือถ้าเราไม่ฟังกันบ้าง ประเทศไทยอาจต้องแบ่งแยกดินแดนก็ได้ แม้พื้นฐานของประเทศไทยในปัญหาความขัดแย้งจริงๆ ไม่มาก แต่อย่าวางใจ เพราะถ้ามีการตอกย้ำ และความพยามไปสู่เป้าหมายที่แต่ละฝ่ายต้องการ อาจแบ่งเขาแบ่งเรา

2) สิ่งที่เครือข่ายทำคือ เราเริ่มปฏิรูปทันที ไม่รอภาครัฐ โดยเวทีเปิดที่ให้ทุกฝ่ายมีพื้นที่โดยทุกคนไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยทุกเรื่อง แต่มีบางเรื่องเห็นตรงกัน

3) การเจรจาต้องเกิดขึ้น ต้องออกแบบการเจรจาให้เป็นการเจรจาที่เป็นไปได้ โดยมีประโยชน์ของประเทศสูงสุด แล้วนำไปสู่การเจรจาเรื่องโครงสร้างอำนาจ

4) เมื่อผ่านจุดของการเจรจาไปแล้ว เริ่มคุยได้แล้ว กระบวนการเครื่องมือต่างๆ จะเอามาใช้อย่างไรที่ทำให้เข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น และเวทีเสวนาเปลี่ยนเป็นสภาประชาชนได้หรือไม่