ThaiPublica > เกาะกระแส > กูรูชาวนาแนะบทเรียนจำนำข้าว ต้อง “ปฏิรูปชาวนา” วิพากษ์”เนรคุณ” ผลิตข้าวไร้คุณภาพ-มหกรรมใช้สารพิษ

กูรูชาวนาแนะบทเรียนจำนำข้าว ต้อง “ปฏิรูปชาวนา” วิพากษ์”เนรคุณ” ผลิตข้าวไร้คุณภาพ-มหกรรมใช้สารพิษ

24 กุมภาพันธ์ 2014


“เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป” (RNN: Reform Now Network) ร่วมกับ สภาเกษตรกรแห่งชาติ จัดเวทีความคิดเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 2 “แนวทางแก้ไขปัญหาจำนำข้าว และการปฏิรูประบบเกษตรกรรมไทย” เมื่อวันเสาร์ที่ 22 ก.พ. ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยในงานประกอบด้วยการสัมมนาในหัวข้อ “ทางการแก้ปัญหาชาวนาอย่างยั่งยืนและการปฏิรูประบบเกษตรกรรม” โดยมีวิทยากรคือ นายวิลาศ วิชญะเดชา ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว กรมการข้าว, นายเสถียร ทองสวัสดิ์ ผู้บริหารโครงการ 1 ไร่ 1 แสน หอการค้าไทย, นายภาคภูมิ อินแป้น เครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์อิสาน, นายเดชา ศิริภัทร มูลนิธิข้าวขวัญ, นายธวัชชัย โตสิตระกูล มูลนิธิสายใยแผ่นดิน และ ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อดีตคณะกรรมการปฏิรูป

เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ จัดเวทีความคิดเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 2 “แนวทางแก้ไขปัญหาจำนำข้าว และการปฏิรูประบบเกษตรกรรมไทย”  “แนวทางการแก้ปัญหาชาวนาอย่างยั่งยืนและการปฏิรูประบบเกษตรกรรม วิทยากรประกอบด้วย นายวิลาศ วิชญะเดชา ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว กรมการข้าว  นายภาคภูมิ อินแป้น เครือข่ายเกษตรอินทรีย์อีสาน  นายเสถียร ทองสวัสดิ์  ผู้บริหารโครงการ 1 ไร่ 1 แสน หอการค้าไทย นายเดชา ศิริภัทร  มูลนิธิข้าวขวัญ นายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อดีตคณะกรรมการปฏิรูป และนายธวัชชัย โตสิตระกูล มูลนิธิสายใยแผ่นดิน ดำเนินรายการโดยนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ มูลนิธิชีววิถี

เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ จัดเวทีความคิดเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 2 “แนวทางแก้ไขปัญหาจำนำข้าว และการปฏิรูประบบเกษตรกรรมไทย” “แนวทางการแก้ปัญหาชาวนาอย่างยั่งยืนและการปฏิรูประบบเกษตรกรรม วิทยากรประกอบด้วย นายวิลาศ วิชญะเดชา ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว กรมการข้าว นายภาคภูมิ อินแป้น เครือข่ายเกษตรอินทรีย์อีสาน นายเสถียร ทองสวัสดิ์ ผู้บริหารโครงการ 1 ไร่ 1 แสน หอการค้าไทย นายเดชา ศิริภัทร มูลนิธิข้าวขวัญ นายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อดีตคณะกรรมการปฏิรูป และนายธวัชชัย โตสิตระกูล มูลนิธิสายใยแผ่นดิน ดำเนินรายการโดยนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ มูลนิธิชีววิถี

การเสวนาเริ่มจากนายวิลาศกล่าวว่า กรมการข้าวเน้นการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวให้เพิ่มผลผลิตสูง ต้านทานโรคแมลง ตอบสนองต่อปุ๋ยดี พัฒนาต่อยอดงานวิจัยเชิงพาณิชย์ และปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้สอดคล้องกับภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ยังผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ส่งเสริมให้ชาวนาผลิตเมล็ดพันธุ์และใช้ในชุมชนตนเอง อย่างที่นครสวรรค์ เกษตรกรที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ให้กรมการข้าว เขาไม่เดือดร้อนจากการจำนำข้าวรอบนี้ เพราะขายได้ราคาดีกว่า เนื่องจากปัจจุบันเมล็ดพันธุ์มีไม่เพียงพอ ต้องใช้ปีละ 1 ล้านตัน และจากปัญหาการค้างจ่ายเงินค่าจำนำข้าว ตอนนี้ชาวนาไม่มีเงินซื้อเมล็ดพันธุ์ กรมการข้าวได้เสนอการเยียวยา อาจจะช่วยเหลือชาวนารายละ 10 ไร่ ไร่ละ 15 กิโลกรัม สำหรับกรณีที่ยังไม่ได้รับเงิน

ขณะเดียวกันได้ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้มีผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์และจำหน่ายในท้องถิ่น สนับสนุนให้มีชมรมผู้ผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวทั้ง 77 จังหวัด 50 ชมรม รวมทั้งจะใช้กฎหมายที่เข้มขึ้นเพื่อควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ที่จำหน่ายในท้องตลาด โดยจะมีสารวัตรเกษตรทำหน้าที่ตรวจจับผู้ค้าเมล็ดพันธุ์คุณภาพต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด

ปัจจุบันพื้นที่ปลูกข้าวมีประมาณ 71 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เหมาะสมและเหมาะสมมากเพียง 44 ล้านไร่ ไม่เหมาะสมและเหมาะสมน้อย 27 ล้านไร่ โดยพื้นที่เหมาะสมน้อยส่งเสริมให้ปลูกพืชอื่นที่เหมาะสมกว่า ผลตอบแทนสูงกว่า โดยรัฐมีแนวคิดที่จะสนับสนุน ชดเชย เพื่อจูงใจ เช่น กำแพงเพชร บางส่วนไปปลูกอ้อย ผลตอบแทนจะคุ้มกว่าข้าว และโครงการพัฒนาชาวนา มีหลักสูตรโรงเรียนข้าวและชาวนา และพัฒนาศูนย์บริการเพื่อให้ชาวนาที่เป็นเลิศ

จำนำทุกเมล็ดสร้างมหกรรมสารเคมี

นายภาคภูมิกล่าวว่า ปัญหาเกษตรกรที่เรื้อรังมานาน ถามว่าเกษตรอินทรีย์มันดีไหม ดี แต่คนไม่เปลี่ยนมา เพราะมีหนี้สินเดิมอยู่เยอะ และที่ดินน้อย ไม่พอกิน ขณะเดียวกัน ชาวนามีปัญหาการจัดการตนเอง เกษตรกรรวมกลุ่มกันยากมาก และมักจะรอพึ่งโครงการจากรัฐเสมอ ว่าเดี๋ยวรัฐช่วย รัฐให้ และขาดวิธีการคิดค้นหาวิธีการที่จะจัดการตนเอง ทั้งรูปแบบการผลิตและการจัดการผลผลิต

นอกจากนี้ การปรัปปรุงปรับเปลี่ยนการผลิตครั้งแรกต้องใช้ทุนค่อนข้างเยอะ จึงทำให้การปรับเปลี่ยนของเขาเป็นไปได้ยาก ตนมีความเชื่อว่าภาคการเมืองและภาคประชาชนไม่มีวันที่จะวินวินด้วยกัน เพราะว่าถ้าภาคประชาชนเข้มแข็ง ภาคการเมืองอ่อนแอ ภาคประชาชนสามารถชี้นำว่าคุณต้องแบบนี้ ไม่อย่างนั้นผมไม่เอา อย่างโครงการจำนำที่ผมไม่เคยร่วมโครงการของรัฐ นี่คือความเข้มแข็งของภาคประชาชน ฉะนั้น ทำอย่างไรให้คนทุกคนมีความเข้มแข็งแบบนี้

“แต่ถ้าภาคประชาชนอ่อนแอเมื่อไหร่ ก็รอพึ่งรัฐ เฮโลไป ไม่รู้เลยว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร อันนี้ผมมีความเชื่อว่า เขา (นักการเมือง) รู้ รู้ปัญหานี้ แต่เขาต้องการควบคุมภาคประชาชนให้อยู่ เพื่อนำไปสู่ผลประโยชน์ของการเมือง นี่คือสิ่งที่ผมเห็น”

ข้อเสนอที่เราคิด เราวิเคราะห์ว่ารัฐต้องส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่ม ให้ส่งเสริมให้ชุมชนคิด จัดการตนเองตามนิเวศ วัฒนธรรม ประเพณี เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาของเขาเอง รัฐต้องเสริมอย่างจริงจัง รัฐต้องเสริมงดการใช้สารเคมี เพราะว่าอันนี้เป็นปัญหาค่อนข้างรุนแรงทั้งในเรื่องต้นทุนการผลิตและความปลอดภัยของผู้บริโภค จากโครงการที่บอกว่าจำนำทุกเมล็ด ชาวนาทุ่มเต็มที่เลย เป็นมหกรรมของการใช้สารเคมี ว่าจะต้องทำได้ผลผลิตเยอะ ทำได้เท่าไหร่รัฐเอาหมด เพราะฉะนั้นรัฐต้องงดการส่งเสริมพวกนี้โดยเด็ดขาด และรัฐต้องห้ามนำเข้าสารพิษที่มีความร้ายแรงและตกค้างอยู่นาน รัฐต้องควบคุม

ข้อเสนอพวกนี้โยงไปถึงเกษตรกรรายย่อย ซึ่งค่อนข้างน่าห่วงคือคนที่มีนาไม่เกิน 50 ไร่ ถือว่ายากจน มีความอ่อนไหว ต้องส่งเสริมให้ผลิตสินค้าที่แปลกแตกต่างจากคนอื่น การส่งเสริมสนับสนุนทั้งเรื่องทุน การรับซื้อผลผลิต ขณะนี้เรามองการเชื่อมโยงผู้บริโภคในเมือง ในสังคม ไม่ใช่ซื้อข้าวกินอย่างเดียว แต่ให้ซื้อทั้งวิถีชีวิต ซื้อทั้งความอยู่รอดของคน คือพยายามลดช่องว่างระหว่างความจนความรวยให้มากที่สุด พยายามสนับสนุนกลุ่มพวกนี้ จะลดปัญหาได้

นอกจากนี้ ในเรื่องทุน รัฐต้องไม่เอาเงินไปให้ แต่สนับสนุนโดยไปตั้งเป็นกองทุนเพื่อที่จะจัดการ เพราะแต่ละกลุ่มแต่ละองค์กรที่มีอยู่ในชุมชน ในท้องที่ เขาสามารถ เขามีวิธีการ มีกฎระเบียบอยู่แล้ว เขาจัดการได้ รัฐไม่ต้องไปชี้ว่าต้องทำอย่างไร เพียงแต่ตั้งกระบวนการตรวจสอบให้เข้มข้น โปร่งใส และให้เขาจัดการ อันนี้น่าจะทำให้เกษตรกรมีความยั่งยืน

“การประกาศจำนำข้าวเมื่อ 2 ปีที่แล้ว สมาชิกข้าวอินทรีย์หดหาย เพราะรัฐจำนำข้าวในราคาสูง เหตุผลที่เกษตรกรเลิกทำอินทรีย์ก็คือ เขาบอกว่าเอาตีนเขี่ยๆ ก็ได้แล้ว 20 บาทต่อกิโลกรัม (20,000 บาทต่อตัน) คือหว่านวันเดียว หญ้ามาก็ฉีดยา ข้าวไม่งามก็ใส่ปุ๋ย มันง่ายมาก ทำให้เกษตรกรเปลี่ยน ไม่ทำเกษตรอินทรีย์ ทำให้สหกรณ์ของเราได้รับผลกระทบเยอะ เพราะมีออร์เดอร์แต่ไม่มีข้าว ข้าวอินทรีย์หายไป 300-400 ตัน ปีนี้ที่เราทำคือประกันราคาที่ 21 บาทต่อกิโลกรัม เท่ากับ 21,000 บาทต่อตัน จริงๆ ผมขายได้ 23,400 บาท เพราะเป็นข้าวคุณภาพ”

“เวลาส่งเสริมแบบนี้แล้ว รัฐอย่าไปออกนโยบายที่มันไปทำลายเขา เช่น ให้เขาทำเกษตรอินทรีย์แล้ว แต่ไปออกนโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ด คนที่ปลูกข้าวอินทรีย์แทบอยู่ไม่ได้ ลูกค้าสั่งของไม่ได้ของ เพราะชาวนาสมาชิกเอาข้าวไปเข้าโครงการรับจำนำหมด”

จากซ้าย นายวิลาศ วิชญะเดชา ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว กรมการข้าว  นายภาคภูมิ อินแป้น เครือข่ายเกษตรอินทรีย์อีสาน  นายเสถียร ทองสวัสดิ์  ผู้บริหารโครงการ 1 ไร่ 1 แสน หอการค้าไทย
จากซ้าย นายวิลาศ วิชญะเดชา ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว กรมการข้าว นายภาคภูมิ อินแป้น เครือข่ายเกษตรอินทรีย์อีสาน นายเสถียร ทองสวัสดิ์ ผู้บริหารโครงการ 1 ไร่ 1 แสน หอการค้าไทย

ชาวนาต้องกล้าเปลี่ยน

ด้านนายเสถียรกล่าวว่า วันนี้คนถามว่าเขาทำได้อย่างไร 1 ไร่ ได้ 1 แสน คนที่จะทำได้ต้องมีหัวใจการบริหารพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีองค์ประกอบอยู่ 4 อย่าง 1. ต้องเป็นคนกล้าเปลี่ยน 2. ศึกษาพื้นที่ที่จะใช้ว่าเหมาะกับพืชอะไร ข้าวพันธุ์ไหน 3. องค์ความรู้ที่จะไปบริหารจัดการ ทำอย่างไรให้เรามีอยู่มีกิน 4. บุคคล หน่วยงาน องค์กรในการหนุนเสริม

สำหรับ 1 ไร่ 1แสน เขาบริหารจัดการพื้นที่ออกเป็น 30-30-30-10 โดย 30 แรกแบ่งให้เป็นพื้นที่กสิกรรม ปลูกทุกอย่างที่เราจะกิน 30 ที่สองเขาแบ่งไว้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวเผื่อไว้ 30 ที่สามเป็นแหล่งน้ำ การเกษตรต้องมีแหล่งน้ำเพื่อทำประมง ส่วน 10 สุดท้ายเอาไว้เป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งปศุสัตว์

แล้วสุดท้าย ทุนเอามาจากไหน มันมีทุนด้วยกัน 7 ตัว 1) ทุนเวลา ใช้มันอย่างไร 2) แรงงาน 3) ทุนองค์ความรู้ 4) ทุนปัญญา 5) ทุนนวัตกรรม สิ่งที่จะตามมาคือ 6) ทุนสังคม และ 7) ก็จะนำมาซึ่งเงิน

“วันนี้พี่น้องเกษตร ถ้าท่านมัวแต่เอาเงินมา ผมบอกได้เลยว่าประเทศนี้หายนะแน่ วันนี้ถนนเส้นใหญ่ที่เป็นถนนปลอดฝุ่นไม่มีนาแล้วนะ ประเทศไทยเรารอดมาได้เพราะเกษตรกรรม หลังสงครามโลกครั้งที่สองรอดเพราะเอาข้าวไปเสียค่าพรีเมียมสงคราม วันนี้เรามัวทำอะไร ไม่อายบรรพบุรุษหรือ”

ปีนี้เผาหลอกปีหน้าเผาจริง ชี้ชาวนาเนรคุณ ผลิตข้าวไร้คุณภาพ

นายเดชากล่าวว่า “วันนี้ชาวนาป่วยเพราะโรคจำนำข้าว ต้องกินยา แต่ยาที่ผมจะบอกมันขม บางคนไม่อยากกิน ที่ผมพูดมันขมทั้งนั้น แต่ถ้ากินอาจจะหาย ไม่กินตายแน่ ปี 2557 ชาวนากำลังถูกเผาหลอก ชาวนาร้องไห้ ตายไป 11 คน แล้ว นี่ยังไม่ใช่ที่สุด แค่เตือนว่าโครงการรับจำนำข้าว หากไม่ปรับตัว คราวนี้ตายหมด”

นายเดชากล่าวต่อว่าปี 2558 เผาจริง เกษตรกรยังไม่รู้เรื่องว่าตัวเองจะตายปีหน้า เพราะปีหน้า AEC มันเปิด แล้วมันเกิดอะไรขึ้น ข้าวจากพม่า ข้าวจากเขมร ข้าวจากเวียดนาม เข้ามาในไทยโดยเสรีไม่มีภาษี เรารู้ตัวไหมว่าชาวนาไทยต้นทุนสูงมาก ข้าวนาปรัง ปี 2556 ต้นทุน 8,711 บาทต่อตัน ของเวียดนามปีเดียวกัน 4,960 บาท

“เพราะฉะนั้น AEC เปิดเมื่อไร ราคาข้าวเหลือ 6,000 บาทต่อตัน ผมว่าบุญแล้ว เราตายตั้งแต่ก่อนจะขายแล้ว แต่ไม่น่ากลัวเท่าพม่ากับเขมร เพราะต้นทุนเขาต่ำกว่านี้ เขาไม่บอก เขามีกำไรแน่นอน และพม่ากับเขมรชายแดนติดกับไทย ปีที่แล้ว ขนาดไม่เปิดเสรี ก็นำเข้ามาแล้วตั้ง 7 แสนกว่าตัน เข้ามาผิดกฎหมาย และที่น่ากลัวคือคุณภาพข้าวเขมรและพม่ามันสูงกว่าข้าวไทยมาก เพราะเขามีแต่ข้าวพื้นบ้าน ข้าวนาปี การประกวดข้าวโลก 5 ปีที่ผ่านมา ข้าวหมอมะลิไทยชนะแค่ 2 ปีแรกเท่านั้น ปีที่ 3 ข้าวไข่มุกพม่า ปีที่ 4-5 เขมรชนะ จะเห็นว่าข้าวที่ดีที่สุดในโลกอยู่ที่พม่ากับเขมร และอยู่ติดกับไทย ราคาถูกกว่าเรา อย่างนี้ตายไหม แล้วใครจะช่วย”

นายเดชากล่าวย้ำว่า เพราะฉะนั้นไม่ต้องคิดมาก ตนฟันธงว่าอีก 10 ปีชาวนาเหลือไม่ถึง 5% คนที่เหลือคือคนที่ปลูกข้าวคุณภาพสูง หรือพวกปลูกข้าวอินทรีย์ส่งต่างประเทศ และคนที่มีต้นทุนต่ำมาก แต่ถ้าหากไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น สิ่งที่ต้องช่วยกันทำคือ เกษตรกรรวมตัวกันกับสภาการเกษตร ไปปิดล้อมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อไปบอกว่าก่อนจะเปิด AEC ให้เอาข้าวไปขึ้นบัญชีเป็นสินค้าอ่อนไหว เอาไปใส่ให้ได้สัก 5 ปีเป็นอย่างน้อย

“ประเทศอื่นไม่เอา แต่ของไทยเปิดไปได้อย่างไร คนตั้ง 18 ล้านคนอยู่ในภาคนี้ สู้ไม่ได้เลยทั้งต้นทุน คุณภาพ ปริมาณ หากยกเป็นสินค้าอ่อนไหวไม่ได้ ก็ต้องเรียกร้องรัฐ คือ 1. ให้จัดโครงสร้างพื้นฐานให้เรียบร้อย ชาวนาต้องมีที่ดิน ตอนนี้ที่ดินอยู่ในมือใคร ชาวนาเช่านากี่เปอร์เซ็นต์ คุณปฏิรูปที่ดินมาตั้งแต่ปี 2517 ไม่สำเร็จเลย เป็นการเอาที่ดินสาธารณะไปผ่านมือคนจนสักหน่อย แล้วไปอยู่มือคนรวย ไม่เคยเอาที่ดินคนรวยมาให้คนจนได้สักไร่เดียว ไปดูวังน้ำเขียว เขตปฏิรูป มีคนจนไหม ดูได้จากรีสอร์ททั้งหลาย”

พร้อมกล่าวว่าหากปฏิรูปที่ดินไม่สำเร็จ ชาวนาตายอยู่แล้ว เพราะการเช่าเขาทำนา ต้นทุนต่อตันเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1,000 บาทขึ้นไป ทำอินทรีย์ก็ไม่ได้ เพราะมันต้องปรับปรุงที่ดินเยอะ หากเจ้าของเขาเอาคืน ก็ลำบาก

2. เรื่องน้ำ ไทยมีพื้นที่ชลประทานไม่ถึง 25 % เวียดนามเกิน 50% เพราะฉะนั้นพื้นที่ชลประทานมีน้อยอยู่แล้ว ต้องหาวิธีเก็บน้ำ ส่วนบริเวณที่มีเขื่อนอยู่แล้วแบ่งเอาน้ำมาให้เกษตรกรมากกว่านี้ ไม่ใช่ห้ามชาวนาทำนา แต่ไม่ห้ามไม่ปิดสนามกอล์ฟ

“การที่มีน้ำน้อย ทำอย่างไรที่จะใช้ได้เต็มที่ คุณต้องจัดรูปที่ดิน เรามีการจัดรูปที่ดินตั้งแต่ปี 2513-2514 แต่รัฐไม่ให้เงิน คือเอาที่ดินไปเรียงแถวบริเวณทางส่งน้ำ ปาดที่ดินให้เรียบ ใช้น้ำได้เลย แต่รัฐไม่ลงทุน ทั้งที่ชาวนายินดีจ่ายเงินครึ่งหนึ่ง แต่รัฐบาลไม่ให้เงินสักบาท”

สุดท้ายเรื่องเมล็ดพันธุ์ กรมการข้าวได้เงินมาพัฒนาเมล็ดพันธุ์น้อยมาก หากไม่ได้เพิ่ม ต้องเอาเงินน้อยๆ ไปใช้ให้เป็นประโยชน์มากสุด ทำให้ชาวนาเป็นคนผสมพันธุ์เอง กรมการข้าวไปสอน และควบคุมคุณภาพ มันจะได้นักผสมพันธุ์เป็นล้านคน ไม่ยาก แต่ต้องเป็นนโยบายที่ชัดเจน

ชาวนาชุมนุมประท้วงทวงเงินค่าจำนำข้าว ที่กระทรวงพาณิชย์
ชาวนาชุมนุมประท้วงทวงเงินค่าจำนำข้าว ที่กระทรวงพาณิชย์

“วันนี้ชาวนายังใช้พันธุ์ข้าวมีเบอร์ทั้งหลาย ยังใช้อยู่ กรมการข้าวไม่รู้กี่อธิบดีแล้ว หากจะช่วยชาวนา ขอให้เคารพชาวนาหน่อย ชาวนาเป็นลูกแม่โพสพ เป็นผู้หญิง คุณเอาแม่โพสพไปใส่เบอร์ได้อย่างไร เบอร์มีแต่หมอนวดทั้งนั้นเมืองไทย เรามีพันธุ์ข้าวโบราณ 6,000 ชื่อไม่ซ้ำกัน อย่าเอาแม่โพสพเป็นหมอนวด ไม่อย่างนั้นชาวนาเป็นลูกแม่โพสพก็เป็นลูกหมอนวดหมด ดังนั้น การไม่เคารพวัฒนธรรมมันเป็นต้นตอของความเสื่อม คุณไม่รู้บุญคุณแม่โพสพ ไม่รู้บุญคุณแม่ธรณี แม่คงคา ชาวนายุคหลังมันเสื่อม เอาสารพิษไปใส่ คุณยังไม่กินข้าวที่คุณปลูกเลย แล้วคุณจะเจริญได้อย่างไร”

และสุดท้าย ตัวชาวนาเองต้องเปลี่ยนแปลง แบมือขออย่างเดียวไม่ได้แล้ว พร้อมกล่าวว่า “คนเสียภาษีอย่างผม ไม่เคยบ่นสักคำ รัฐบาลเอาเงินผมไปปู้ยี่ปู้ยำเพื่อช่วยชาวนา ขาดทุนอย่างน้อย 3 แสนกว่าล้าน แต่ผมไม่เคยได้ยินชาวนาขอบคุณคนเสียภาษีสักคำ ไม่มีเลย และไม่เคยทำอะไรให้เลย เพราะมาตรฐานสากลเวลาคุณได้รับสิทธิพิเศษได้เงินแบบนี้ คุณต้องมีหน้าที่ในการทำตอบแทน ไม่ใช่ได้ฟรีๆ คุณ (ชาวนา) ทำอะไรให้คนอื่นบ้าง คุณเลิกเผาฟางไหม ทั้งที่ผิดกฎหมาย มีแต่ไทยที่ยังเผาอยู่ คุณเลิกใช้สารพิษไหม ไม่เลิก คุณใช้พันธุ์ข้าวดีขึ้นไหม เปล่า ใช้พันธุ์ข้าวอายุไม่ถึง 3 เดือน จะได้ขายเร็วๆ … เนรคุณครับ เนรคุณ คุณถึงได้เจอแบบนี้ไง เจอรัฐบาลตลบหลัง คุณถึงร้องไห้ แต่หลังจากนี้ คุณต้องช่วยตัวเองแล้ว เกษตรกรที่เอาตัวรอดได้มีเยอะ คุณไม่ไปดู ปีนี้เผาหลอกคุณยังไม่รอด แต่เผาจริงคุณจะรอดไปหรือ ฝากไว้ว่าเกษตรกรจะรอดไม่รอด ใครก็ช่วยไม่ได้แล้ว และต้องไปบีบไปให้รัฐบาลช่วยจริงๆ เสียที ตามที่กล่าวข้างต้น ถ้าไม่ทำ เผาจริงแล้วผมจะรอดูครับ”

เมื่อวิกฤติแบบนี้ คนเหมือนคางคก ยางหัวไม่ตกไม่รู้สึก ชาวนาตอนนี้ยางหัวตกแล้วนะครับ แต่บางคนยังไม่รู้สึก คนจีนบอกว่าไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา ตอนนี้เขาเอาโลงมาตั้งแล้วตอนนี้ ปีหน้าจะเผา ยังไม่หลั่งน้ำตาเลย แล้วใครจะช่วยได้ ถ้าไม่รู้สึกก็อโหสิ

ดังนั้น ถ้าอยากจะแก้ปัญหาจริง เราต้องคิดแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง อะไรคือปัญหา อะไรคือทุกข์ เมื่อโครงการรับจำนำข้าวเป็นทุกข์จริง ต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาจริง ไม่ใช่พอได้เงินแล้วก็มาเรียกร้องให้รับจำนำข้าวอีก สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่มีปัญหาเพราะไม่มีเงินจ่าย แต่ต้องเห็นปัญหาจริงๆ ก่อน ซึ่งไม่ง่ายที่ชาวนาจะเห็นปัญหาแบบนี้ และปัญหาเกิดจากอะไร เกิดจากชาวนาอ่อนแอ ต้องพึ่งคนอื่นๆ ตลอด

จากซ้าย นายเดชา ศิริภัทร  มูลนิธิข้าวขวัญ  นายธวัชชัย โตสิตระกูล มูลนิธิสายใยแผ่นดิน และนายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อดีตคณะกรรมการปฏิรูป
จากซ้าย นายเดชา ศิริภัทร มูลนิธิข้าวขวัญ นายธวัชชัย โตสิตระกูล มูลนิธิสายใยแผ่นดิน และนายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อดีตคณะกรรมการปฏิรูป

สร้างเครือข่ายคนกินข้าวช่วยคนปลูกข้าว

นายธวัชชัยกล่าวว่า ตนมาเริ่มโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์และการค้าที่เป็นธรรมและตั้งโรงสีชมรมรักธรรมชาติปี 2534 ปีแรกที่เราส่งเสริมปลูกข้าวอินทรีย์มีคนสมัคร 100 กว่าคน ทำสำเร็จ 13 คน จนค่อยๆ ขยายจนปี 2538 เรามีพันธมิตรที่เป็นลูกค้าในต่างประเทศที่ต้องการข้าวอินทรีย์ โดยตกลงทางการค้าซื้อขายข้าวล่วงหน้า ผู้บริโภคพร้อมจ่ายเงินล่วงหน้ามาให้ครึ่งหนึ่ง ทำให้เราสามารถประกันราคารับซื้อกับเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าตลาด 10-20% เป็นแรงจูงใจมากพอที่จะทำให้ชาวนาจำนวนหนึ่งอยากมาปลูกข้าวอินทรีย์

จากจำนวน 13 คนในปีแรก ในเวลา 12 ปีจนปี 2548 เรามีสมาชิกเพิ่มขึ้นมาถึง 800 ครอบครัว มีโรงสีเป็น 3 โรง แต่จากปี 2548 สมาชิกผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ค่อยๆ ทรงตัวและค่อยๆ ลดลง และลดลงมากสุดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งคือโครงการจำนำข้าวที่ให้ราคาสูงกว่าราคาตลาดเริ่มในปลายปี 2547 ก่อนการเลือกตั้งในต้นปี 2548 ตอนนั้นเราคิดว่าเป็นนโยบายชั่วคราวเพื่อการหาเสียง แต่เราคาดผิด เพราะตั้งแต่ปีนั้นมาราคาจำนำข้าวไม่เคยต่ำกว่า 10,000 บาท ยกเว้นสมัยรัฐบาล คมช. ประกันข้าวหอมมะลิที่ 9,300 บาท หลังจากนั้นข้าวหอมมะลิก็ไม่ต่ำกว่า 10,000-15000 บาท จน 2 ปีก่อนเป็น 20,000 บาท แต่นโยบายนี้ไม่เลิก ปีถัดมา เหลือแค่ชาวนา 400 กว่าครอบครัวที่ทำอินทรีย์ หายไปกว่าครึ่งภายใน 8 ปี

“สิ่งที่สำคัญมากที่เป็นผลกระทบจากจำนำข้าวคือทำให้ชาวนาไม่เห็นความสำคัญที่จะต้องปลูกข้าวคุณภาพดี ชาวนายโสธรก็บอกว่าเอาเท้าเขี่ยๆ เอายังไงก็ขายได้ 20,000 บาท จะต้องทำอะไรพิถีพิถันประณีตแบบเกษตรอินทรีย์ไปทำไม โง่หรือเปล่า”

เมื่อมีวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้น ประมาณ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาเรามีเครือข่ายหนึ่งเกิดขึ้น ชื่อว่า “คนกินข้าวช่วยคนปลูกข้าว” ด้วยความตระหนักว่าเมื่อคนปลูกข้าวมีปัญหา เราเป็นคนกิน เราจะช่วยปลูกข้าวได้อย่างไร และ “เครือข่ายผูกปิ่นโตข้าว”

“เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะสนับสนุนชาวนา เราพร้อมจะจ่ายแพงกว่าข้าวธรรมดาไหม เราคิดว่าคนกลุ่มหนึ่งพร้อม และคิดว่าจะหาสมาชิกให้ได้สัก 5,000 คน ที่พร้อมจะเป็นผู้บริโภคข้าวอินทรีย์ โดยจ่ายเงินล่วงหน้าเป็นรายปีเพื่อให้เกษตรกรมีเงินไปลงทุนสำหรับไปปลูกข้าว และมีหลักประกันเรื่องตลาดในราคาที่พึงพอใจ เราคำนวณว่าคนหนึ่งคนกินข้าวสาร 100 กก. ต่อปี ถ้า 5,000 คน คิดเป็น 500,000 กก. หรือ 500 ตันข้าวสาร มาจากข้าวเปลือกประมาณ 1,400 ตันหรือพื้นที่ปลูกประมาณ 4,000ไร่ สำหรับชาวนารายย่อย อิสาน (คำนวณที่ 350-400 กก. ต่อไร่) ใช้ 300 ครอบครัว มีที่ดิน 10-15 ไร่”

นายธวัชชัยกล่าวว่า “นั่นหมายถึงเราจะเริ่มต้นทำงานกับชาวนา 300 ครอบครัว ร่วมกับคนกินข้าว 5,000 คน คนกินจ่ายเงินเป็นรายปีผ่านโรงสีของชาวนา โรงสีเป็นคนกำกับติดตามชาวนาและกระจายให้สมาชิก ใครต้องใช้เงินอย่างไรและกำกับตามว่าได้ทำตามมาตรฐานการทำนาอินทรีย์”

แต่คนปลูกข้าวปกติมีปัญหา 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ 1. ไม่มีเงินลงทุนในการผลิต 2. มีความเสี่ยงในการผลิตเนื่องจากฝนแล้ง น้ำท่วม โรคแมลงระบาด 3. มีความเสี่ยงเรื่องการตลาด ไม่รู้ราคาขึ้นราคาลง บางทีผลผลิตดีขายได้ราคาตก ขาดทุนก็มี

โครงการคนกินข้าวช่วยคนปลูกข้าวนี่มาช่วยแก้ปัญหาที่ 1 กับ 3 ช่วยให้ชาวนามีทุนและการตลาด แต่ยังแก้ปัญหาข้อที่สองไม่ได้ เรื่องภัยธรรมชาติ

นายธวัชชัยกล่าวว่า เรามีโครงการพัฒนาการจัดการน้ำเพื่อสร้างความมั่นคง โดยการให้สินเชื่อเกษตรกรที่ทำอินทรีย์รายหนึ่งไม่เกิน 30,000 บาท ช่วยแก้ปัญหาแล้ง โดยมีเงื่อนไข 3 ข้อ 1. ต้องปลูกพืชหลังนาตระกูลถั่ว 2. ปลูกพืชเพื่อความมั่นคงทางอาหาร 100 ชนิด ในหนึ่งแปลง โดยเอาชาวบ้านมาคุยกันว่าเขากินอะไรบ้าง ใช้อะไรบ้าง ซึ่งเขามี 30 พืชที่กินใช้แน่ๆ 3. ต้องออมทรัพย์ในกลุ่ม หลังทำมา 7 ปี ปัจจุบันมีคนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ 200 ครอบครัว เกษตรกรเหล่านี้มีรายได้จากการขายพืชผักมากกว่าขายข้าวอินทรีย์ ที่ยโสธรมีตลาดนัดสีเขียว 7 แห่ง ให้ชาวบ้านเวียนเอาผลผลิตไปขาย เงินกู้ 30,000 ที่เราให้ผ่อนจ่าย 6 ปี ปีละ 5,000 บาท บางรายจ่ายคืนในปีเดียว และหนี้ก้อนนี้ไม่เป็นหนี้เสียเลย

“การทำเศรษฐกิจอาหารท้องถิ่นดีกว่าการขายไปไกลๆ ซึ่งมีปัญหาหลายอย่างทั้งการบรรจุภัณฑ์ พลังงานเพื่อขนส่ง แต่พอมาปลูกให้ท้องถิ่นมีกิน หลายอย่างง่ายขึ้น มีความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น เกษตรกรมีรายได้เป็นรายสัปดาห์ มีรายได้มากขึ้น”

นาข้าว

โครงสร้างอำนาจรัฐทำชาวนาอ่อนแอ

ด้าน ดร.เพิ่มศักดิ์กล่าวว่า ปัจจัยที่เอื้อให้มีโครงการจำนำข้าวมาจากโครงสร้างอำนาจที่กระจุกตัวอยู่ที่ศูนย์กลางทำให้เกษตรกรอ่อนแอมา 50-60 ปี ขบวนการตัดสินใจในเชิงนโยบายรวมศูนย์ที่รัฐบาลทั้งหมด พอนานเข้าส่งผลให้ภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อ่อนแอ คอยฟังนักการเมืองว่าจะขับเคลื่อนนโยบายไปในทิศทางไหน และภาคเกษตรกรอ่อนแออย่างมากในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา การพึ่งตนเองที่เข้มแข็งของเกษตรกรเป็นการพึ่งพาภายนอก มีหนี้สินสูงขึ้นจนน่าตกใจ ปี 2543 มีตัวเลขเกษตรกรมาจดทะเบียนหนี้กับกองทุนฟื้นฟูสูงที่สุดเป็นจำนวน 6 ล้านราย เป็นวิกฤติเกษตรก็ว่าได้

“จากความไร้ประสิทธิภาพของกลไกภาครัฐและความอ่อนแอของชาวนา ทำให้โครงการที่เกิดจากอำนาจรัฐที่ไม่อยู่บนฐานของเหตุของผลของความชอบธรรม แต่อยู่บนฐานการเมืองและผลประโยชน์เติบโตเกิดขึ้น ผมจึงไม่แปลกใจที่เห็นโครงการนี้ปีแรกหมดไปแสนกว่าล้าน ต่อมาหมดไปอีกแสนกว่าล้าน ก็ยังเดินต่อไปได้”

ข้อเสนอแนะนำเพื่อให้ชาวนามีอำนาจต่อรองมากขึ้น ให้กลไกการตลาดทำงานอิสระขึ้น เป็นแนวคิดที่น่าจะถูกต้อง โดยมีหลักการ 3-4 เรื่องที่จะนำไปสู่การแก้ไขโครงการรับจำนำข้าว

ประเด็นสำคัญคือการกระจายอำนาจออกไป ปัญหาซื้อข้าวชาวนาแต่ไม่มีเงินจ่าย จริงๆ เงินในสถาบันการเงินเหลือเฟือ แต่อำนาจกระจุกที่ส่วนกลาง อยู่ที่โครงสร้างอำนาจส่วนบน ซึ่งมีเงื่อนไขที่ไม่สามารถตัดสินใจได้ แม้จะมีเงินกี่เท่าตัวก็ไม่สามารถจ่ายให้เกษตรกรได้ และต้องไม่เล่นเกมการเมืองที่มีผลกับการชำระหนี้ให้ชาวนา

ประเด็นที่สอง การระบายข้าว ต้องคลายอำนาจเหนือตลาดลง ฝ่ายการเมืองปล่อยวางอำนาจนี้ลง ประเทศไทยมีพ่อค้าข้าว พ่อค้าส่งออก มีความรู้ มีความเข้มแข็งมายาวนาน มาเจรจากัน ตกลงกัน บุคคลเหล่านี้สามารถช่วยให้ประเทศไทยสามารถระบายข้าวออกไป 15-20 ล้านตันในราคาที่เป็นเหตุเป็นผล ไม่ถูกโจมตีว่าผิดการค้าข้าว กติกาโลก นี่เป็นประเด็นระยะสั้น

ส่วนระยะกลาง ชาวนา เกษตรกร สถาบันการเกษตร ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายสาธารณะด้านการเกษตร ถ้าปล่อยให้ฝ่ายการเมืองผลักดันนโยบายอย่างเดียวจะมีปัญหาอย่างนี้ซ้ำๆ เช่นเดิม

ส่วนระยะยาว เรื่องการปรับโครงสร้างทางการเกษตรและสร้างอำนาจต่อรองให้ชาวนาคือสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ลานตาก ยุ้งฉาง โรงสีขนาดเล็ก ขนาดกลาง โรงอบ รัฐช่วยได้โดยไม่ผิดกติกา

ปัญหาในเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอำนาจต่อรองของเกษตรกร ความรู้ ความเท่าทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก การเจรจาต่อรองกับตลาด การปรับปรุงพันธุกรรม มันเป็นเรื่องโครงสร้าง ซึ่งการตัดสินใจอยู่ที่ข้างบน จึงต้องปฏิรูปการเกษตรทั้งระบบการผลิต เทคโนโลยี องค์ความรู้ การบริหารการจัดการตลาด

“ดังนั้น ชาวนาและข้าวไทย ผมเชื่อว่ามีอนาคต ถึงยืนบนขาตัวเอง เป็นตัวของตนเอง เพราะเขามีความรู้ มีความสามารถ มีแรงบันดาลใจพอ ที่จะสร้างชาติด้วยฐานชาวนา”