ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “หม่อมอุ๋ย” ฟันธงรัฐบาลล้มเหลว ต้องลาออก เปิดทางคนกลางบริหารแทน

“หม่อมอุ๋ย” ฟันธงรัฐบาลล้มเหลว ต้องลาออก เปิดทางคนกลางบริหารแทน

6 กุมภาพันธ์ 2014


ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการะทรวงคลัง
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
“ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล” เขียนจดหมายเปิดผนึก แจงรัฐบาล “น.ส.ยิ่งลักษณ ชินวัตร” ล้มเหลว ต้องลาออก และตั้งคนกลางมาบริหารแทน เพื่อเห็นแก่ประเทศชาติ

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2557 “ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล” อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดแถลง “จดหมายเปิดผนึก” ถึงนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า ตั้งแต่ทำหน้าที่รักษาการบริหารประเทศมาตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2556 ปรากฏว่า ในช่วงของการเป็นรัฐบาลรักษาการ รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจที่สำคัญๆ ให้ลุล่วงไปได้มาโดยตลอด และมีความล้มหลวงในช่วง 2 เดือนที่ยุบสภาดังนี้

ประการแรก รัฐบาลไม่สามารถจ่ายเงินในการรับจำนำข้าวให้แก่ชาวนาได้ตามเงื่อนไขที่ประกาศเป็นนโยบาย ปล่อยให้ชาวนาจำนวนมากที่นำข้าวมาจำนำต้องรอรับเงินเป็นเวลานานจนเกิดความทุกข์ร้อนกันทั่วไป เพราะรัฐบาลไม่สามารถจัดหาเงินมาให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ใช้ในการรับจำนำข้าวตามที่วางแผนไว้

กล่าวคือ รัฐบาลได้กำหนดวงเงินที่จะใช้ในการรับจำนำข้าวในปีการผลิต 2556/57 ไว้จำนวน 270,000 ล้านบาท โดยมีแผนจะให้ ธ.ก.ส. ออกพันธบัตรกู้เงินโดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกันในวงเงิน 140,000 ล้านบาท และกำหนดที่จะขายข้าวที่ได้จากการรับจำนำข้าวในปีก่อนเพื่อนำเงินมาคืนให้ ธ.ก.ส. อีก 130,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการนี้

แต่ปรากฏว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ที่ประกาศแผนออกมาจนถึงวันที่ยุบสภา กระทรวงการคลังไม่ได้ดำเนินการให้ ธ.ก.ส. ออกพันธบัตรเงินกู้จำนวน 140,000 ล้านบาท ตามที่กำหนดไว้เลย ส่วนการขายข้าวเพื่อส่งเงินคืนให้ ธ.ก.ส. นั้น ในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวได้เงินส่ง ธ.ก.ส. เพียง 40,000 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่า 130,000 ล้านบาท ที่ตั้งใจไว้มาก และการที่กระทรวงพาณิชย์ไม่มีความสามารถเพียงพอในการขายข้าวนี้เอง มีผลให้ ธ.ก.ส. ขาดเงินสำหรับใช้รับจำนำข้าว เป็น “ความล้มเหลว” ในการดำเนินนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่เกิดจากความบกพร่องของรัฐบาลเองโดยแท้

ประการที่สอง เมื่อกลางเดือนตุลาคม รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานประกาศให้มีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อขายให้แก่การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าภูมิภาค โดยเชิญชวนให้เอกชนลงทุนติดตั้ง solar cell บนหลังคาบ้านหรือหลังคาอาคารธุรกิจ ปรากฏว่าเอกชนจำนวนมากกว่า 1,000 หลังคาเรือน และบริษัทธุรกิจมากกว่า 200 แห่ง ตกลงเข้าร่วมโครงการจนได้สัญญาขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฯ เรียบร้อยแล้ว และส่วนใหญ่ได้ลงทุนติดตั้งพร้อมที่จะเชื่อมต่อเพื่อขายไฟฟ้าเข้ากับเครือข่ายของการไฟฟ้า

แต่ปรากฏว่ากรมโรงงานอุตสาหกรรมระบุว่า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาของอาคารบ้านเรือนต่างๆ เข้าข่ายว่าเป็นการประกอบโรงงานอุตสาหกรรมประเภทหนึ่ง ซึ่งต้องได้รับใบอนุญาตโรงงานที่เรียกว่า รง.4 เสียก่อนจึงจะผลิตเพื่อขายได้ เห็นได้ชัดว่ากระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้สนใจที่จะให้ความร่วมมือกับกระทรวงพลังงานทั้งๆ ที่อยู่ในรัฐบาลเดียวกัน ความขัดแย้งดังกล่าวนี้สามารถแก้ไขให้หมดไปได้โดยไม่ยาก แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถขจัดปัญหาให้หมดไปได้ จึงเป็น “ความล้มเหลว” อีกเรื่องหนึ่งของรัฐบาล

ประการที่สาม เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2556 น.ส.ยิ่งลักษณ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้แถลงว่า พร้อมที่จะออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ประชาชนเลือกตัวแทนของสาขาอาชีพต่างๆ เข้าร่วมกันเป็นสภาปฏิรูปประเทศไทย แต่ปรากฏว่าองค์กรเอกชนต่างๆ ทุกองค์กรไม่ให้ความร่วมมือ และกลุ่มผู้ประท้วงก็ปฏิเสธความหวังดีของรัฐบาลทันที เป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นว่า ประชาชนหมู่มากและองค์กรต่างๆ ไม่มีความเชื่อถือและศรัทธาในตัวนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาล

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

การขาดความเชื่อถือและศรัทธาในรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีผลให้รัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศให้ก้าวหน้าต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงการบริหารจัดการน้ำ หรือโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2 ล้านล้านบาท การขาดความน่าเชื่อถือและศรัทธาในรัฐบาลนี้เองเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้โครงการต่างๆ ที่รองรับความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้ยาก

รัฐบาลที่ไม่สามารถปฏิบัติตามนโยบายของตนเองให้ลุล่วงไปได้ และประชาชนหมดศรัทธาตั้งข้อสงสัยว่าจะมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงในทุกๆ โครงการที่รัฐบาลริเริ่ม และแสดงให้เห็นชัดด้วยการประท้วงอย่างโจ่งแจ้งว่าไม่ต้องการให้รัฐบาลบริหารประเทศอีกต่อไป ถือได้ว่าเป็นรัฐบาลที่ล้มเหลว ไม่อยู่ในสถานะที่จะบริหารประเทศชาติให้ก้าวหน้าไปได้อีกแล้ว

ถ้าจำเป็นต้องรักษาการเพื่อรอให้เลือกตั้งเสร็จสมบูรณ์จนสามารถตั้งรัฐบาลใหม่ได้ในระยะเวลาสั้นๆ ก็คงจะไม่มีผลเสียต่อประเทศชาติมากนัก แต่ผลการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นแล้วว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่เรียบร้อยเป็นอย่างมาก และผลการเลือกตั้งได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่มากพอที่จะเปิดประชุม และไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีอำนาจเต็มเข้าบริหารประเทศได้ จำเป็นต้องมีการเลือกตั้งเพิ่มเติมสำหรับส่วนที่ขาดอยู่

แต่เชื่อได้ว่า การเลือกตั้งเพิ่มเติมคงจะยืดเยื้อไปอีกนานด้วยเหตุผล 2 ประการ ประการแรก ประชาชนที่ออกมาประท้วงจำนวนมากแสดงเจตนารมณ์ว่าไม่ต้องการให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยกลับเข้ามาบริหารประเทศอีก ย่อมจะขัดขวางการเลือกตั้งในลักษณะเดิมหรือในรูปแบบใหม่ไปเรื่อยๆ ประการที่สอง การเลือกตั้งเพิ่มที่จะมีขึ้นยังมีความเสี่ยงสูงที่อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองสั่งให้เป็นโมฆะ

ในสถานการณ์ที่เหตุการณ์จะยืดเยื้อจนมีกำหนดชัดเจนเช่นนี้ หากรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นรัฐบาลที่ล้มเหลวแล้ว เลือกที่จะเป็นรัฐบาลรักษาการต่อไป การประท้วงก็น่าจะรุนแรงขึ้นเนื่องจากประชาชนจำนวนมากไม่พอใจที่จะให้รัฐบาลบริหารประเทศต่อไปอีก

แต่ถ้ารัฐบาลบริหารประเทศต่อไปอีก รังแต่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศรุนแรงขึ้น ธุรกิจท่องเที่ยวจะซบเซาลงไปอีก การลงทุนโครงการต่างๆ เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอตัวลงเป็นอย่างมากจนอาจไม่ขยายตัวเลย อัตราการว่างงานที่เริ่มสูงขึ้นจะเพิ่มขึ้นมากไปอีก และที่สำคัญ ประชาชนจะรู้สึกสิ้นหวัง จนอาจเกิดความรุนแรงขึ้นมากกว่าที่ผ่านมาแล้วได้

แต่ถ้ารัฐบาลเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ ควรตัดสินใจลาออกจากการเป็นรัฐบาลรักษาการ ซึ่งสามารถทำได้ตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยเมื่อไม่สามารถบริหารประเทศให้ก้าวหน้าต่อไปได้ โดยรัฐธรรมนูญปัจจุบันมีช่องที่จะให้มีการแต่งตั้งคนกลางเข้ามาบริหารบ้านเมืองต่อไปได้ ผู้ประท้วงก็จะหยุดประท้วงทันที กิจกรรมต่างๆ ในบ้านเมืองจะดำเนินได้ตามปกติทั้งงานของราชการและเอกชน

รัฐบาลใหม่ที่มีอำนาจเต็มที่จะสามารถเดินหน้าโครงการที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนทันที รัฐบาลใหม่ที่มีคนกลางซึ่งประชาชนยอมรับย่อมสามารถดึงดูดตัวแทนประชาชนจากทุกภาคส่วนให้เข้ามาร่วมหาทางปฏิรูปประเทศอย่างได้ผล เมื่อเหตุการณ์คืนสู่ความสงบแล้วกิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกประเภทก็จะดำเนินได้ตามปกติ การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจะกลับคืนมาและก้าวหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

“ผู้บริหารประเทศที่ดีเมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะต้องตัดสินใจเพื่อประเทศชาติ ผมหวังว่าจดหมายเปิดผนึกของผมฉบับนี้จะช่วยให้ ฯพณฯ ตัดสินใจเพื่อหยุดยั้งความเสียหายที่เกิดแก่ประเทศชาติได้เสียที”

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวภายหลังการแถลงฯ ว่า ที่ต้องออกมาแถลงจดหมายเปิดผนึกครั้งนี้ เพราะเห็นว่า รัฐบาลถึงทางตันแล้ว แค่เรื่องการผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นเรื่องเล็กๆ ยังทำไม่ได้แล้วจะทำเรื่องใหญ่ๆ ได้อย่างไร โดยเฉพาะเรื่องจำนำข้าว ไม่ว่าจะเลือกแนวทางใดก็เสี่ยงที่จะเข้าข่ายผิดกฎหมาย

ส่วนรัฐบาลจะรับฟังข้อเสนอนี้หรือไม่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า อยู่ที่มีสำนึกที่ดี คือ สำนึกถึงประเทศชาติ อย่าไปคิดว่าใครผิด ใครถูก แต่ต้องคิดว่าวิธีไหนจะทำให้ประเทศชาติรอดมาได้ เศรษฐกิจพัฒนาได้ก็ต้องทำ

“ที่ผมออกมาไม่ใช่ความคิดของผมคนเดียว แต่เชื่อว่าหลายๆ คนคิดเหมือนกัน แต่ไม่มีใครออกมาพูด เพราะคิดว่าคงไม่คุ้ม แต่ผมคิดว่าทำเพื่อประเทศชาติจึงออกมาพูด และหากใครเป็นคนกลางเข้ามาผมก็พร้อมไปช่วยได้ แต่ต้องเป็นคนกลางที่ประชาชนเชื่อถือ และศรัทธา ถึงจะเดินต่อไปได้” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

อ่านฉบับเต็มจดหมายเปิดผนึก