ThaiPublica > คนในข่าว > “ปราโมทย์ ไม้กลัด” ตอบโจทย์น้ำแล้ง น้ำท่วมและโครงการ 3.5 แสนล้าน…”รัฐบาลหลงทาง”

“ปราโมทย์ ไม้กลัด” ตอบโจทย์น้ำแล้ง น้ำท่วมและโครงการ 3.5 แสนล้าน…”รัฐบาลหลงทาง”

21 กุมภาพันธ์ 2014


ภาวะแห้งแล้งเกิดขึ้นทุกปี เพียงแต่จะแล้งน้อยแล้งมากจนถึงขั้นวิกฤติหรือไม่ ปีนี้แค่เดือนกุมภาพันธ์ก็แสดงอาการที่ค่อนข้างรุนแรงกว่าปกติ น้ำทะเลหนุนเข้ามาจนต้องเร่งปล่อยน้ำจากเขื่อนดันน้ำเค็มออกไป รวมทั้งการประกาศเตือนชาวนาห้ามทำนาปรังรอบที่สอง ขณะที่รอบแรกก็ประสบปัญหาน้ำไม่เพียงพอ ต้องหาน้ำสูบเข้านาไม่ให้ข้าวยืนต้นตาย

ประเทศไทยประสบภาวะทั้งน้ำแล้งน้ำท่วมมายาวนาน และหลายครั้งเป็นภาวะวิกฤติ แต่ไม่มียุทธศาสตร์การบริหารจัดการอย่างยั่งยืน มีแต่ขบวนการสุกเอาเผากินอย่างโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทที่ดำเนินการกลับหัวกลับหางและมีการฟ้องร้องศาลปกครองเพื่อให้ทำประชาพิจารณ์

จะว่าไปแล้ว สำหรับประเทศไทย คนไทยในชนบทต่างคุ้นชินกับการอยู่กับน้ำมาแต่ไหนแต่ไร และมีวิธีการบริหารจัดการในแต่ละชุมชนมาช้านาน ดังนั้น การบริหารจัดการจำเป็นที่จะต้องเข้าใจบริบทและภูมิศาสตร์แต่ละพื้นที่ และเรียนรู้บทเรียนการอยู่กับน้ำของชุมชน

นายปราโมทย์ ไม้กลัด
นายปราโมทย์ ไม้กลัด

“ปราโมทย์ ไม้กลัด”ชื่อนี้เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ทำงานคลุกคลีเกี่ยวกับเรื่องน้ำมากว่า 30 ปี เคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ มากมาย อาทิ อธิบดีกรมชลประทาน, รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร, ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฯลฯ จนปัจจุบันได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารจัดการน้ำ

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าสัมภาษณ์ “ปราโทย์ ไม้กลัด” ถึงการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยทั้งในภาวะน้ำท่วมและน้ำแล้ง ควรบริหารจัดการและดำเนินการอย่างไรจึงจะเป็นการแก้ปัญหา “น้ำ” อย่างยั่งยืน รวมถึงเบื้องหลังการบริหารจัดการโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท

ไทยพับลิก้า : คนส่วนใหญ่มองว่าคุณปราโมทย์เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ

ผมคลุกคลีด้านการแก้ปัญหาเรื่องน้ำมายาวนานมากกว่า 30 ปี แต่เชี่ยวชาญหรือเปล่าไม่รู้ ก็จะเห็นว่าบางปีน้ำมากเหลือเกิน บางปีก็น้ำน้อย แต่บางปีก็ปกติ ซึ่งคนไทยต้องต่อสู้กับภาวะธรรมชาติแบบนี้มาโดยตลอด หลายปีที่ทำงานมาก็เห็นเรื่องราวและเห็นภาพปัญหาว่าควรจะแก้ไขอย่างไร เพราะเรื่องน้ำไม่ใช่แค่เรื่องน้ำแต่ผูกพันกับสภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ สภาพแผ่นดิน และทรัพยากรอื่นๆ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาน้ำก็ไม่ใช่แค่แก้ปัญหาน้ำเท่านั้น แต่ต้องแก้ปัญหาให้สอดคล้องกับทรัพยากรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

ปี 2510 สมัยผมรับราชการใหม่ๆ สภาพภูมิอากาศ สภาพภูมิประเทศ ระบบนิเวศ และปัจจัยต่างๆ ทางธรรมชาติยังมีความสมดุล ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ป่า หรือที่ตั้งถิ่นฐานของผู้คนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงอันตราย ทำให้ประชาชนแทบไม่รู้สึกถึงความเดือดร้อนเมื่อเกิดปัญหาอุทกภัย เพราะสังคมเขาอยู่กับน้ำได้ อย่างเช่น หมู่บ้านก็ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อเกิดน้ำท่วมชาวบ้านก็อยู่อย่างปกติสุข เช่นเดียวกับชาวบ้านอำเภอสามโคกจังหวัดปทุมธานี

“น้ำล้นตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยาเกิดขึ้นแทบทุกปี เพราะสภาพธรรมชาติของแม่น้ำเจ้าพระยาคือที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมถึง ผมท่องจำได้ขึ้นใจตั้งแต่สมัยเรียน ไล่ขึ้นมาจากปากอ่าวไทยตั้งแต่สมุทรปราการ กรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี พระนครศรีอยุธยาฯ ล้วนเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมถึงทั้งสิ้น ฉะนั้น ในเดือน 11 น้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน จะล้นเข้าตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยาเสมอ แต่ปริมาณน้ำมาก-น้อยต่างกันไป หากปีใดน้ำไม่ล้นตลิ่งชาวบ้านจะเดือดร้อนเพราะปลูกข้าวไม่ได้”

อย่างทุ่งรังสิตนั้นเป็นพื้นที่น้ำท่วมซึ่งในสมัยก่อนใช้ทำนา ทำการเกษตร ดังนั้น ถ้าหากเปลี่ยนจากทำนามาทำสวนพอน้ำท่วมก็จะไม่เดือดร้อนเท่าไหร่ แต่ระยะ 20 ปีที่ผ่านมากลับเปลี่ยนที่ดินเป็นบ้านจัดสรร เขตอุตสาหกรรม และมีการตั้งถิ่นฐานเกิดขึ้นมากมายโดยอัตโนมัติเต็มพื้นที่ไปหมดแล้ว

เช่นเดียวกับที่อำเภอบางบัวทอง นนทบุรี ที่ถูกน้ำท่วมมากเมื่อปี 2554 นั้น เดิมทีทั้งคลองบางบัวทอง คลองพระพิมล คลองมหาสวัสดิ์ ล้วนเป็นพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด ดังนั้น เมื่อมีน้ำท่วมเข้าไปชาวบ้านก็ไม่เดือดร้อน แต่พอมีความเจริญก็มีบ้านจัดสรรและสิ่งปลูกสร้างมากมายแน่นพื้นที่ เมื่อมีน้ำมาปริมาณมากก็เกิดน้ำท่วม แม้ว่าน้ำจะสูงเท่าหน้าแข้งก็ตาม

การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศเนื่องจากการอยู่อาศัยของมนุษย์ที่ไม่ดูสภาพภูมิประเทศและภูมิศาสตร์ของพื้นที่ว่าเป็นอย่างไรนั้นทำให้เกิดปัญหา เราไปโทษธรรมชาติไม่ได้ เรากำกับธรรมชาติไม่ได้ และธรรมชาติก็เป็นอย่างนี้มาตลอด เราจะไปห้ามพายุไม่ให้พัดเข้าภาคเหนือภาคอีสานได้อย่างไร

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้ปัญหาน้ำแล้งของไทยเป็นอย่างไร

การจัดการน้ำแล้งเป็นอีกกระบวนการหนึ่งของประเทศไทยที่เกิดขึ้นทุกปี

ภัยแล้งคือสภาพทางธรรมชาติที่ฝนไม่ตกเป็นเวลานานจึงไม่มีน้ำเลยทำให้แล้ง แต่เป็นภัยหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้น การแก้ปัญหาก็คือทำให้มีน้ำเกิดขึ้นในพื้นที่แล้ง ทุกวันนี้หน่วยงานราชการก็พยายามสร้างเขื่อน สร้างฝาย โครงการใหญ่ๆ ผมว่าทำอย่างนั้นไม่ได้แล้ว เพราะภัยแล้งอยู่ที่หมู่บ้าน ดังนั้นต้องจัดการให้มีน้ำในหมู่บ้าน ต้องทำในหมู่บ้าน เช่น มีโอ่ง มีตุ่มประจำบ้าน หรือมีบ่อน้ำ อ่างเก็บน้ำประจำหมู่บ้าน ที่รัฐบาลต้องจัดหางบซื้อที่ดินแล้วให้ชาวบ้านช่วยกันลงแรงขุดบ่อ แต่เวลานี้รัฐบาลไม่ได้ทำ หน่วยงานราชการส่วนกลางก็ไม่ได้สนใจเรื่องนี้

บางพื้นที่อาจใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านกับเทคนิคที่ถูกต้องมาผสมผสานกันและปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาแล้งในพื้นที่ แต่สิ่งสำคัญคือเรื่องของการจัดการที่ดินบริเวณที่เป็นบ่อน้ำประจำหมู่บ้านนั้นต้องจัดการให้ดี ไม่ใช่เอาที่ดินของชาวบ้านคนใดคนหนึ่งมาทั้งหมด นอกจากนี้บ่อน้ำต้องอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม เช่น อยู่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อให้สามารถผันน้ำเข้าบ่อได้สะดวก หรืออยู่ในพื้นที่ต่ำที่น้ำท่วมถึงทุกปี

ปัญหาการจัดการเรื่องน้ำแล้งคือปัญหาในพื้นที่ ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นหน้าที่ของใคร ข้าราชการในปัจจุบันทำงานโดยตั้งงบประมาณกันทั้งนั้นมันถึงวุ่นวายกันอยู่อย่างนี้ ผมคิดว่าองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) น่าจะเป็นแม่งานทางความคิดในการแก้ปัญหานี้

นายปราโมทย์ ไม้กลัด

การจัดการภัยแล้งคือ การจัดให้มีน้ำในหมู่บ้านเพื่อให้มีน้ำกินน้ำใช้อย่างเพียงพอ และมีน้ำเหลือส่วนหนึ่งไว้ปลูกพืชผักสวนครัวประจำหมู่บ้าน เช่น พริก กะเพรา มะเขือ หรือทำนารวมของหมู่บ้าน เพราะว่าใช้น้ำไม่มาก สามารถคำนวณปริมาณการใช้น้ำได้ และพื้นที่สวนครัวรวมก็จะสร้างความปรองดองในหมู่บ้านได้ด้วย

เรื่องขุดบ่อน้ำประจำหมู่บ้านนี่ผมเคยพูดบนเวทีตามจังหวัดต่างๆ หลายครั้งว่าให้แต่ละ อบต. ร่วมกันขุดบ่อน้ำไว้ใช้ประจำหมู่บ้านหรือตำบล แต่ก็ไม่เคยสำเร็จ บางครั้งฝ่ายราชการก็ไม่เข้าใจเรื่องการแก้ปัญหา เพราะถ้าปีไหนจังหวัดประกาศเป็นเขตภัยแล้ง ผู้ว่าราชการจังหวัดก็จะได้งบประมาณฉุกเฉินทันที 50 ล้านบาท ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าเอาไปทำอะไรบ้าง อีลุ่ยฉุยแฉกหมด จะเห็นก็แต่ขนน้ำไปแจกชาวบ้าน

“จริงๆ แล้ววิธีการคิดแก้ปัญหาไม่ได้สลับซับซ้อนอะไร แต่การขับเคลื่อนต่างหากที่ต้องหาคนที่เข้าใจและพร้อมใจกันขับเคลื่อนมาลงมือปฏิบัติ”

ไทยพับลิก้า : ประเด็นที่ว่ากรมชลประทานชอบสร้างแต่เขื่อน แต่จากแนวคิดของคุณปราโมทย์น่าจะเข้ากับบริบทของชุมชน

ผมก็บอกพรรคพวกและน้องๆ ในกรมชลประทานว่า สถานที่จะสร้างเขื่อนไม่มีแล้ว แต่ด้วยกรมชลประทานเป็นระบบราชการ การที่จะไปทำอะไรนอกไลน์เดิมหรือคิดอะไรใหม่ๆ มันไปกันไม่ออกหรือยังไงไม่ทราบ แล้วพอถึงปีกรมชลประทานก็ต้องเสนอโครงการ เสนอของบประมาณ ทำให้ต้องพยายามหาโครงการมาบรรจุ ดังนั้นแผนงานจึงวนอยู่อย่างนี้ เพราะติดระบบงบประมาณ ติดการกำกับของสภาพัฒน์ฯ ฯลฯ เพราะฉะนั้น ราชการเปลี่ยนแนวลำบาก แต่ถ้ามีองค์กรไหนที่ฉีกแนวออกจากระบบมาทำให้ดูเป็นตัวอย่างชัดๆ ก็จะดี

ด้านองค์กรส่วนท้องถิ่นผมก็พยายามลงไปดูแล้ว ก็พบว่าเขาขาดศักยภาพในหลายๆ เรื่อง ส่วนใหญ่ก็มุ่งเน้นไปในทางสะสมพละกำลังของตัวเองรวมถึงมีการเมืองท้องถิ่นมาเกี่ยวข้องด้วย

ไทยพับลิก้า : แล้วกรณีการแก้ปัญหาน้ำท่วมต้องทำอย่างไร

แต่ละพื้นที่แตกต่างกัน ส่วนจะต้องทำอย่างไรผมเองก็ไม่รู้ ดังนั้น ก่อนที่จะไปแก้ปัญหาก็ต้องศึกษาพื้นที่นั้นๆ ให้รู้ก่อน ที่ผ่านมาผมก็ทำงานแก้ปัญหาน้ำท่วมสำเร็จเพราะรู้ว่าต้องทำอย่างไร โดยศึกษาบริเวณนั้นๆ ว่ามีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้เกิดน้ำท่วม ธรรมชาติหรือมนุษย์

ผมมองดูแล้วว่าปัญหาอุทกภัยนั้นไม่สามารถใช้มาตรการสู้ภัยไปจัดการป้องกันได้ อย่างที่จังหวัดปราจีนบุรี น้ำท่วมทุกปีต้องแก้ปัญหาโดยใช้ 2 ยุทธศาสตร์ คือ 1. กำหนดเขตหรือบริเวณที่ให้น้ำเข้าไปได้ตามธรรมชาติ ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่น้ำท่วมและทำให้เขาปรับตัวอยู่กับน้ำได้ หรือถ้าจะทำคันกั้นน้ำก็ต้องคิดวางแผนให้ดี และ 2. ยุทธศาสตร์ปกป้องพื้นที่เขตเศรษฐกิจไม่ให้น้ำเข้า ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับประชาชนที่อยู่นอกเขตพื้นที่ปกป้องด้วย และให้เขามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา

อีกส่วนคือ “ยุทธศาสตร์การจัดการให้คนอยู่อย่างมีความสุขกับสภาพธรรมชาติ” ผมพูดแบบนี้ในที่ประชุมอยู่เรื่อยๆ ว่าต้องใช้มาตรการนี้ได้แล้ว การจะควบคุมให้น้ำไม่ท่วมเลยเป็นไปไม่ได้ เพราะแต่ละพื้นที่ก็มีรูปแบบทางธรรมชาติที่ต่างกัน

อย่างกรณีตัวจังหวัดชุมพรซึ่งตั้งอยู่ปากแม่น้ำท่าตะเภา น้ำท่วมหนักเพราะมีพายุเข้าบ่อยๆ จึงป้องกันเขตเศรษฐกิจโดยทำฟลัดเวย์เพื่อผันน้ำออกสู่ทะเลเร็วขึ้น กรณีน้ำท่วมเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ ก็แก้ไขโดยทำฟลัดเวย์เพื่อช่วยคลองอู่ตะเภาระบายน้ำ นี่คือมาตรการภายใต้โครงการพระราชดำริที่เคยทำมาแล้ว

ทั้งนี้ ฟลัดเวย์ทั้ง 2 แห่งนี้ทำในพื้นที่ขนาดย่อมๆ จึงมองมาตรการแก้ไขปัญหาได้ง่าย แต่สำหรับแม่น้ำเจ้าพระยานั้นมีความหลากหลายและพัวพันกันหลายพื้นที่ ฉะนั้นจึงต้องระมัดระวังในการดำเนินงาน อย่างที่สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กบอ.) ทำฟลัดเวย์ให้น้ำไหลลงแม่น้ำแม่กลองนั้นมันไม่ตอบโจทย์เพราะย้ายความเดือดร้อนจากที่หนึ่งไปให้อีกที่หนึ่งโดยการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกเขาทำกัน

ฉะนั้น รัฐบาลต้องหยุดคิดแล้วใจเย็นๆ ต้องรอดูประคองเหตุการณ์ไปก่อน เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ประเทศไทยจะเกิดน้ำท่วมหนักๆ แบบปี 2554 ทุกปี แต่ก็มีโอกาสเกิดอีก เมื่อถึงวันนั้นเราก็ต่อสู้กันบางบริเวณเท่านั้น ผมเชื่อว่ากรุงเทพฯ น้ำไม่ท่วมระเนระนาดเหมือนปี 2554 หรอก เวลานี้เราก็รู้อยู่แล้วว่าอะไรเป็นอะไร (สาเหตุที่น้ำท่วมปี 2554) ที่น่าเป็นห่วงคือบางบัวทองและคลองมหาสวัสดิ์ ที่ต้องคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาเพราะว่าน้ำจะท่วมแน่ๆ

ไทยพับลิก้า : ตัวอย่างโมเดลในยุทธศาสตร์ให้คนสามารถอยู่กับน้ำได้

ผมเคยทำถวายพระเจ้าอยู่หัวที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส โดยพระองค์ต้องการให้ทหารที่ปลดประจำการแล้วมาอาศัยอยู่ แต่พื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่น้ำท่วมขนาด 2,500 ไร่ จึงรับสั่งให้กรมชลประทานไปจัดการหาวิธีแก้ไขปัญหา เพราะไม่มีที่ดินดีๆ ที่อื่นแล้ว

ดังนั้นผมจึงปรับปรุงพื้นที่โดยการขุดดินเป็นร่องน้ำและบ่อน้ำ แล้วเอาดินนั้นมาถมทำโคกยักษ์ แล้วทำดินให้เป็นแปลงๆ ทำให้เกิดพื้นดินที่สูงพ้นระดับน้ำ เวลาน้ำมาบ้านก็ไม่ท่วมเพราะสร้างอยู่บนโคกยักษ์ที่ถมสูง แล้วน้ำก็ขังอยู่ในบ่อและร่องน้ำที่ขุดไว้รอบๆ หมู่บ้าน ทำให้ชุมชนมีน้ำใช้ตลอดปี ชาวบ้านก็สามารถอยู่ได้ แปลงดินก็ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ได้ เช่น แพะ ไก่ ซึ่งลงทุนแค่รถแทร็กเตอร์และค่าน้ำมันเท่านั้น ทำเพียงปีเดียวก็เสร็จ

สมัยผมเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พื้นที่น้ำท่วมมีจำนวนมาก เช่น ที่อำเภอหล่มสัก เพชรบูรณ์, สองฝั่งแม่น้ำป่าสัก, สองฝั่งแม่น้ำยม, อำเภอสามง่าม อำเภอโพธิ์ทะเล จังหวัดพิจิตร เป็นพื้นที่น้ำท่วมในเขตการตรวจของผม ชาวบ้านที่ไปซื้อที่ดินตรงนั้นก็เสี่ยงภัยแต่ไม่ถึงกับเสียหายทุกปี ผมก็แก้ปัญหาโดยปรับปรุงพื้นที่เปลี่ยนจากทำนามาเป็นทำสวน โดยขุดดินเป็นแปลงๆ ให้มีร่องน้ำแล้วเอาดินที่ขุดร่องมาถมให้ดินสูงขึ้น พอน้ำมาที่ดินก็ไม่ท่วม ในร่องก็มีน้ำขัง รอบๆ ที่ดินก็ทำคันสูงไว้ ซึ่งชาวบ้านเขาก็อยู่กันได้

ไทยพับลิก้า : แล้วทำไมแนวคิดให้คนอยู่กับน้ำได้แบบนี้ถึงไม่กระจายออกไป

คนอยู่กับน้ำได้อย่างมีความสุข ถ้าไม่สนใจอะไรอย่างอื่นรอบๆ เช่น ที่นาท่วมน้ำ 1 เดือนก็ไม่เป็นไร รอทำนาปรังใหม่ถ้ามีน้ำ เพราะที่เหลืออีก 11 เดือนน้ำไม่ท่วม ยิ่งถ้าอยู่ในเขตชลประทานก็มีน้ำใช้หน้าแล้ง ที่สำคัญก็คือตัวบ้านต้องปลูกให้อยู่สูงเข้าไว้ ส่วนช่วงที่น้ำท่วมก็หันมาทำประมงธรรมชาติ เท่านี้ชาวบ้านก็อยู่ได้

แต่ที่หลายพื้นที่วุ่นวายก็เพราะฝ่ายราชการไปคิดและโวยวายแทนชาวบ้าน รวมถึงปัจจุบันมีคนต่างถิ่นไปปลูกบ้านอยู่ในเขตเทศบาล เขตตำบล เขตอำเภอ ไม่เข้าใจสภาพพื้นที่ ทำให้มีปัญหาเวลาน้ำท่วม ความจริงการแก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ยากเลย เพราะน้ำท่วมไม่ได้ท่วมตลอดกาล บ้านที่ใต้ถุนสูงก็ไม่มีปัญหา เขาท่วมเดือนเดียวก็ไม่ได้เป็นอะไร แต่สื่อมวลชนก็ไปถ่ายให้ดูว่าเกิดปัญหาหนักหนา

การแก้ปัญหาน้ำท่วมแค่ปรับระบบการเกษตร ระบบพื้นดินอย่างที่ผมว่าก็ได้แล้ว ลงทุนลงแรงนิดหน่อย เปลี่ยนจากทำนาเป็นการเกษตรอย่างอื่น หรือถ้าจะทำนาก็ทำคันดินสูงๆ ทั้งนี้การขุดร่องน้ำก็จะทำให้เรามีน้ำใช้ตลอดปี เลี้ยงปลาก็ได้ ปลูกพืชน้ำก็ได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีคนไปทำให้ดูเป็นตัวอย่าง โดยเฉพาะทางราชการระดับท้องถิ่น โดยอาจลงทุนที่ดินสัก 500-1,000 ไร่ ทำตัวอย่างให้ชาวบ้านดู แล้วเป็นแกนกลางในการเปลี่ยนระบบการเกษตร แล้วสุดท้ายชาวบ้านก็จะทำตามๆ กันไปเอง

ปราโมทย์ ไม้กลัด

ไทยพับลิก้า : รูปแบบการเยียวยาควรเป็นอย่างไร

วันนี้ยังไม่มีองค์กรหรือหน่วยงานไหนที่มาดูแลเรื่องเยียวยาอย่างชัดเจน แล้วรูปแบบการเยียวยาก็ไม่ได้มีข้อกำหนดตายตัว ในแง่มาตรการเยียวยาเฉพาะโครงการที่ผมเคยทำ การเยียวยาคือการให้เงินชาวบ้านตามข้อตกลง โดยมีหลักการคือ ให้ชาวบ้านพอใจ อย่างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ผมก็จ่ายในราคาที่สูงกว่าราคาประเมิน แต่ฝ่ายราชการรับได้และชาวบ้านพอใจก็เลยไม่มีปัญหา ราคาบริสุทธิ์ ยุติธรรม

ในวันนี้น่าจะมีองค์กรที่ก่อตั้งเป็นนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมายมาดูแลเรื่องอุทกภัยอย่างชัดเจน ไม่ใช่อย่าง กบอ. ที่ตั้งโดยระเบียบสำนักนายกฯ ซึ่งความจริงแล้วประเทศไทยมีหน่วยงานอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องแบ่งบุคลากรออกมาให้ดี เช่น กรมชลประทาน แล้วมาตั้งเป็น “กรมจัดการปัญหาอุทกภัย” แล้วแบ่งภาระงานให้ชัดเจนว่าต้องทำอะไรบ้างในแต่ละปี

“อย่างกรมชลประทานมีบุคลากรเยอะแยะ และหน่วยงานอื่นๆ อีก ไม่ต้องหาคนเพิ่ม ใช้วิธีแบ่งกรมเอา ใช้พื้นที่ของกรมชลประทานเป็นสถานที่ทำงาน แล้วแบ่งภาระงานให้ชัดเจนว่าคืออะไรบ้าง เช่น ตลอด 12 เดือนจับแต่เรื่องอุทกภัย 100% อย่างเช่น อยู่เชิงเขาแล้วเกิดน้ำป่าไหลหลากก็เสนอให้ย้ายที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ไปอยู่ที่สูงขึ้น ถ้าครั้งแรกไม่ยอมก็ค่อยตะล่อมๆ ไป”

มาตรการสู้ภัยไม่มีหรอก มีแต่รับรู้ว่าจะมีภัยมา ดังนั้นรัฐบาลต้องมีระบบเฝ้าระวังภัยตลอดเวลา เมื่อมีข้อมูลแล้วก็ต้องจัดการป้องกันแก้ไขปัญหา ที่สำคัญคือการตั้งถิ่นฐานต้องอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย แต่เวลานี้เมืองไทยต้องรอให้เกิดวิกฤติก่อนแล้วค่อยวิ่งเข้าไปแก้ไขปัญหา ฉะนั้นต้องมีหน่วยงานจัดการปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งคอยดูแล

ไทยพับลิก้า: อยากให้เล่าประสบการณ์การจัดการเรื่องน้ำท่วม

เรื่องราวของน้ำท่วมในที่ต่างๆ ของประเทศไทยนั้น คนไทยและสังคมไทยต้องเข้าใจก่อนว่า “น้ำท่วมหรืออุทกภัย” เกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ

1. ธรรมชาติ เช่น ปริมาณน้ำฝนในแต่ละปี ซึ่งจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับสภาพของธรรมชาติ อยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์ อีกทั้งต้องเข้าใจว่าฤดูฝนของไทยเริ่มประมาณเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม ซึ่งปริมาณฝนจะมาก-น้อยก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งร่องมรสุม พายุจร ไต้ฝุ่น และดีเปรสชันที่เกิดในสมุทรทะเลจีนใต้ ล้วนเกี่ยวโยงกับปริมาณน้ำฝนของเมืองไทย

2. แผ่นดินทรุด ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างไล่ตั้งแต่ปากอ่าวไทยที่สมุทรปราการขึ้นไปยังปทุมธานี จากการสำรวจวัดระดับความสูงต่ำของพื้นดินตั้งแต่ปี 2525 มาถึงปัจจุบันของกรมแผนที่ทหารพบว่า แผ่นดินกรุงเทพฯ ทรุดมากมายจนน่าตกใจ โดยดอนเมืองซึ่งเป็นแผ่นดินสูงสุดของกรุงเทพฯ ก็ยังถูกน้ำท่วมเพราะเป็นผลจากแผ่นดินทรุดตัวลงเกือบ 1 เมตร ส่วนถนนสุขุมวิทและบริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหงแผ่นดินทรุดลง 1.20 เมตร

จะเห็นว่าในปัจจุบันน้ำจากกรุงเทพฯ ไม่สามารถระบายออกแม่น้ำเจ้าพระยาได้เองตามธรรมชาติแบบเมื่อก่อนแล้ว ต้องสูบน้ำออก เนื่องจากแผ่นดินต่ำกว่าแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว โดยจะแผ่นดินจะต่ำกว่าระดับน้ำในช่วงเดือน 10-12 เช่น แถวพระราม 6 พระราม 7 นี่คือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศ

แผ่นดินทรุดตัวดังกล่าวเกิดจากผู้คนสูบน้ำไปใช้กันมาก เพราะลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างเป็นแอ่งน้ำจืดหรือน้ำบาดาลที่ดี ทำให้มีน้ำเข้ามาทดแทนที่ใต้ดินไม่ทัน รวมถึงมีแรงดันน้ำต้านแผ่นดินได้น้อยลง จึงทำให้แผ่นดินทรุดลงเรื่อยๆ

หากไปดูถนนสุขุมวิทสายเก่า แถวบางปู บางปิ้ง ที่สมุทรปราการในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน จะเห็นชัดว่า ช่วงที่น้ำทะเลขึ้นน้ำจะสูงกว่าแผ่นดิน ทำให้น้ำระบายออกทะเลเองไม่ได้ ต้องมีสถานีสูบน้ำออกอยู่รายรอบ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง

วาระน้ำท่วมกรุงเทพฯ

เรื่องราวของน้ำท่วมหรืออุทกภัยของกรุงเทพฯ มีมาตลอดตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน โดยผู้คนยังอาศัยอยู่กับน้ำตามธรรมชาติได้ไม่มีปัญหา สัมผัสกับแม่น้ำเจ้าพระยาโดยตรง และมีคลองต่างๆ เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา พอปริมาณน้ำมากก็จะไหลเข้าคลองเล็กๆ เหล่านี้ เช่น คลองบางเขน คลองสามเสน

ต่อมาน้ำท่วมใหญ่ปี 2538 คนสามารถต่อสู้กับน้ำได้ด้วยระบบบรรเทาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ที่สร้างในปี 2527 โดยคนย่านรังสิต ดอนเมือง จะกันน้ำไม่ให้เข้ามาในกรุงเทพฯ เขตเศรษฐกิจชั้นในได้ และในปี 2554 เราก็ต่อสู้กันด้วยคันกั้นน้ำเช่นเดิม ซึ่งการทำคันกั้นน้ำไม่สามารถสู้กับน้ำมากๆ ได้ จะสู้ได้เฉพาะปริมาณน้ำน้อยๆ ดังนั้น เมื่อมีปริมาณน้ำมากจนล้นตลิ่ง ตั้งแต่นครสวรรค์ สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยาฯ มาถึงกรุงเทพฯ แล้วน้ำที่ล้นตลิ่งจะกระจายไปบนแผ่นดิน

ในอนาคตก็ต้องเกิดน้ำท่วมอีก แค่ไม่รู้ว่าจะเกิดปีไหน บางปีน้ำอาจพอดี บางปีน้ำอาจล้นตลิ่งน้อย บางปีน้ำอาจล้นตลิ่งมาก ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะจากธรรมชาติที่มนุษย์ควบคุมไม่ได้

วิธีการป้องกันโดยการดักน้ำด้วยเขื่อนต่างๆ ในปี 2554 ก็ทำเแบบนี้ แต่ว่าเขื่อนรับน้ำเต็มแล้วทำให้น้ำล้นออกไม่ใช่ว่าเขื่อนปล่อยน้ำ ส่วนในทุ่งเองก็มีน้ำเต็มอีก ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่งที่นครสวรรค์และกระจายเข้าทุ่งเพราะมีน้ำลงมาต่อเนื่อง ใช้เวลาเกือบ 2 เดือนกว่าระดับน้ำจะลดลง

ส่วนจังหวัดล่างๆ ลงมาจากนครสวรรค์ก็รับน้ำไปกระจายในทุ่งต่อเรื่อยๆ โดยเฉพาะเจ้าพระยาตอนล่างซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมถึง อย่างพระนครศรีอยุธยาฯ ทั้งตัวเมือง บางบาล บางไทร วังน้อย บางปะอิน น้ำท่วมหมดเป็นประจำ ซึ่งเป็นมานานแล้วตั้งแต่อดีต

ปัญหาน้ำท่วมของอยุธยาฯ ในปี 2505 ผมก็เคยลงพื้นที่ไปดูสมัยเรียนหนังสือด้านวิศวกรรมน้ำ โดยลงเรือหางยาวไปดู น้ำท่วมในทุ่งก็ไปได้ทุกแห่ง มืดก็นอนในวัด ก็เห็นว่าประชาชนเขาก็มีความสุขดี และในสมัยนั้นเขาปลูกข้าวที่เรียกว่า “ข้าวฟางลอย” ซึ่งเป็นข้าวเป็นพันธุ์พิเศษขึ้นหนีน้ำ ต้นยาวเป็นวา ซึ่งปลูกกันทั่วไปที่อำเภอบางปะหัน อำเภอนครหลวง อำเภอผักไห่ อำเภอบางบาล

แต่ปัจจุบันข้าวฟางลอยหายไปแล้ว เพราะว่ามนุษย์สามารถควบคุมกำกับน้ำได้ น้ำก็ท่วมน้อยลง แต่ต่อไปนานๆ ก็ต้องเกิดน้ำท่วมขึ้นอีกครั้ง

ปัจจุบันเราสามารถกำกับน้ำได้ด้วยการสร้างเขื่อน อาทิ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งทั้งสองเขื่อนนี้จะดักน้ำอุทกภัยไว้ส่วนหนึ่ง ถ้าปีไหนน้ำสมดุลกันก็ไม่เกิดน้ำท่วม แต่ถ้าน้ำเกินสมดุลก็เกิดน้ำท่วม

มาตรการจัดการปัญหาอุทกภัย อย่าเรียกว่า การป้องกันไม่ให้เกิดอุทกภัย บางแห่งบางบริเวณก็ต้องใช้มาตรการป้องกัน บางบริเวณก็ใช้มาตรการที่ว่าทำอย่างไรให้คนสามารถอยู่กับน้ำได้ ไม่เดือดร้อน และเป็นไปอย่างที่ชาวโบราณเขาอยู่กัน

เวลานี้เราไม่มีระบบการระบายน้ำอุทกภัยที่ชัดเจน เพราะตั้งแต่สมัยโบราณเรื่อยมาถึงปัจจุบัน ประเทศไทยเกิดอุทกภัยนานๆ ครั้ง จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนยอมรับได้ ดังนั้น สิ่งที่ประเทศไทยทำมาตลอดคือ ระบบเพื่อการชลประทานที่เอาน้ำไปใช้ในการเกษตร แต่ยังไม่มีระบบระบายน้ำออกทะเลเมื่อมีปริมาณน้ำมากและไม่มีแม่น้ำที่เป็นตัวจ่ายน้ำออกทะเลโดยตรง ทำให้เวลาเกิดอุทกภัยก็จะผันน้ำออกโดยอาศัยระบบคลองที่มีอยู่ จึงสามารถคลี่คลายปัญหาน้ำท่วมได้

แต่เมื่อปริมาณน้ำมามากเกินไป ในขณะที่สภาพแวดล้อมต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปมากเช่นปัจจุบัน ทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยเช่นปี 2554 ซึ่งเราต้องมาคิดกันใหม่ว่าจะแก้ไขอย่างไรต่อไป

ปราโมทย์ ไม้กลัด

โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาลนั้นไม่สามารถตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ เพราะว่ารีบเร่งดำเนินการจนเกินไป โดยยังไม่ได้ศึกษา วิเคราะห์ออกมาให้ชัดเจนก่อนว่าจะทำอะไรบ้าง เพราะรัฐบาลไม่เข้าใจการทำงานทำให้เขา “หลงทาง”

ไทยพับลิก้า : หลงทางอย่างไร

รัฐบาลหลงทางเพราะยังไม่ได้ศึกษาการทำงานให้ทะลุปรุโปร่งก่อนว่าอะไรเป็นอะไร รูปแบบงานด้านวิศวกรรมที่ชัดเจนคืออะไร มีแต่เพียงแนวคิดว่าจะทำอะไรเท่านั้น แล้วตีราคาโครงการออกมาแบบเร่งด่วน

ด้านคณะกรรมการหลายๆ ชุด คือกลุ่มคนที่ตั้งขึ้นมาทำงาน “การประชุม” มาพูดคุยตกลงกัน 2 สัปดาห์ต่อครั้ง ครั้งละไม่เกิน 3 ชั่วโมง

คณะกรรมการเหมาะที่จะดูแลบริหารงานอยู่ข้างบน แต่ว่าการปฏิบัติต้องมีกลุ่มนักเทคโนโลยี นักเทคนิคที่ทำงานเต็มเวลาอย่างจริงจังเพื่อศึกษาวิเคราะห์ คิดค้น ซึ่งรัฐบาลไม่มีทีมงานนี้

รูปแบบคณะกรรมการเหมาะกับงานที่เป็น “นามธรรม” แต่โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านเป็น “รูปธรรม” ที่เกี่ยวข้องกับหลายเรื่องและเป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติทั้งสิ้น ต้องศึกษาและวิเคราะห์ทั้งสภาพภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ สภาพปัญหาต่างๆ รวมถึงผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น

ผมทำงานแบบนี้มาหลายสิบปี การทำงานอะไรก็ตามที่ต้องก่อสร้างนั้นต้องศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางด้านวิศวกรรมก่อน และเมื่อลงทุนแล้วแก้ปัญหาได้หรือไม่ แต่เวลานี้รัฐบาลทำงานโดยการประชุมและสรุปแผนงานเลยว่าจะทำอะไร

ไทยพับล้า : คณะกรรมการเหล่านี้สามารถสั่งฝ่ายเทคนิคได้หรือไม่

สั่งไม่ได้หรอก เพราะว่าคณะกรรมการที่ตั้งนี้มีนายกรัฐมนตรีซึ่งตำแหน่งใหญ่ที่สุดในรัฐบาลแล้วเป็นประธาน สมมติว่าในที่ประชุมคุยกันแล้ว มีความเห็นตรงกันก็เป็นเพียงข้อตกลงที่เป็นนามธรรม ยังไม่ได้ออกมาเป็นเป็นรูปธรรมว่าใครต้องไปทำอะไร ดังนั้นจึงไม่รู้ว่าจะสั่งอะไร ด้านนายกรัฐมนตรีก็สรุปเองไม่ได้

การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมต้องมีหน่วยงานที่จะจัดการปัญหาอุทกภัยโดยตรง ซึ่งประเทศไทยยังไม่มี จะมีแค่เพียงกรมชลประทานเท่านั้น ซึ่งงานของกรมชลประทานคือทำงานพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูก เพื่อการเกษตร เพื่อการขาดแคลนน้ำ เป็นหลักใหญ่

ในขณะที่ปัญหาอุทกภัยเป็น “งานฝากหรืองานเฉพาะกิจ” ของกรมชลประทาน เมื่อรัฐบาลใช้ใครไม่ได้ก็มาใช้กรมชลประทาน ซึ่งกรมชลประทานก็ลงไปทำงานชั่วคราวเฉพาะภารกิจ พอเป็นงานฝากบางครั้งกรมชลประทานก็ไม่ได้เอาจริงเอาจังนัก

วิพากษ์โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทฉบับปราโมทย์ ไม้กลัด

จากประสบการณ์การดูแลหน่วยงานบริหารราชการมานานจึงมองออกว่า การบริหารงานเชิงรูปธรรมต้องศึกษา วิเคราะห์ วางโครงการทั้งด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ การแก้ปัญหา รวมถึงผลกระทบต่างๆ ที่ต้องศึกษาวิเคราะห์โดยการลงพื้นที่แต่ละพื้นที่ ซึ่งทำได้ไม่ง่าย

การประชุมของคณะกรรมการเกี่ยวกับโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทนั้นประชุมเพียง 3-4 ครั้งในช่วงเวลาไม่ถึง 2 เดือน แล้วสุดท้ายก็ออกมาเป็นโครงการ เช่น ต้องมีฟลัดเวย์ ต้องสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ ต้องเอาน้ำไปรวมกอง ต้องสร้างคันกั้นน้ำ ฯลฯ โครงการเหล่านี้ไม่ผิดแต่ว่าไม่ถูกทั้งหมด แล้วนายกรัฐมนตรีประธานในที่ประชุมก็ให้ไปคิดว่าจะใช้งบเท่าไหร่และนำมาเสนอให้ที่ประชุมใหญ่รับทราบใน 2 สัปดาห์ แล้วก็เสนอ ครม. อนุมัติวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท มันเป็นกรอบงบประมาณอย่างนี้

แต่ไปทำจริงๆ อย่างไรไม่รู้ ดังนั้นรัฐบาลจึง “หลงทาง”

การตั้ง กบอ. นั้นมีคณะกรรมการประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการ อธิบดีและปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่รู้เนื้องานที่แท้จริง แล้วคุณปลอดประสพ สุรัสวดี ซึ่งเป็นประธาน ก็จัดการแบบ single command โดยหยิบแผนงานต่างๆ ที่กรมชลประทานมีอยู่มารวมกัน โดยที่ยังไม่ได้ศึกษาแต่ละแผนงานให้ชัดเจนว่าทำได้หรือไม่ตามแนวคิดที่คิดไว้ ต้องศึกษาและวางแผนงานว่าอันไหนเหมาะสมที่สุด คุ้มค่าหรือไม่ ตอบโจทย์ได้หรือเปล่า

การจัดการแบบ single command คือสั่งให้กลุ่มบริษัทต่างประเทศมาเสนอโครงการตามแนวคิดที่วางไว้ เช่น เกาหลี จีน แต่ไม่ให้คนไทยทำโดยอ้างว่าทำไม่ได้ ล่าช้าและวุ่นวาย หลังจากนั้นก็มี TOR ออกมา ซึ่งกระบวนการแบบนี้ทำให้การทำงานไม่สำเร็จ เพราะทำงานไม่เป็นไปตามขั้นตอน จึงหลงทางในกระบวนการบริหารจัดการ

“บริษัท โคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค วอเตอร์) มาเมืองไทยแค่เดือนกว่าๆ จะรู้ได้อย่างไรว่าจะจัดการเรื่องน้ำของไทยอย่างไร ดังนั้นจึงไปรวบรวมแผนงานจากกรมชลประทานและกรมอื่นๆ มาแล้วเสนอรัฐบาล”

โครงการต่างๆ ของกรมชลประทาน โดยปกติมีการศึกษาอยู่บ้างแล้วแต่ยังไม่สำเร็จ อาจดำเนินการไปบ้างแล้วแต่ยังไม่สำเร็จ เช่น การสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน กรมชลประทานคิดสร้างอยู่แล้วแต่โครงการยังไม่สำเร็จ ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ แล้วเควอเตอร์ก็ไปกวาดมาแล้วนำมาเสนอ กบอ. แล้วก็ตีราคาออกมาเป็นเงิน 3.5 แสนล้านบาทอย่างที่เห็น ซึ่ง “มันตลก”

ต่อมาก็เซ็นสัญญาให้ “เควอเตอร์” รับโครงการไปทำ นั่นเพราะว่าไม่มีบริษัทไหนเอาด้วยเมื่อมาเห็นสภาพการทำงานของไทย ไม่ว่ากลุ่มประเทศจีน ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์

การเขียน TOR นั้นไม่ยาก เพราะสามารถไปรวบรวมมาจากที่ต่างๆ ได้ว่าแต่ละขั้นตอนต้องทำอะไรบ้างตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการในเชิงเทคนิคที่ครอบคลุมโครงการ แต่ว่าการจะทำให้โครงการสำเร็จตาม TOR นั้นมันยาก

TOR ที่รัฐบาลเขียนนั้นระบุ ขั้นที่ 1 ศึกษาหารูปแบบโครงการและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่างๆ แต่ก็ไม่ได้ทำ และใน TOR ระบุให้บริษัทผู้รับเหมาที่ได้งานไปจัดซื้อที่ดินและจ่ายเงินกับผู้คนที่ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งเรื่องนี้จะทำให้เกิดปัญหาตามมาแน่นอน นั่นแสดงว่าคณะทำงานของรัฐบาลไม่รู้จักการจัดการทางสังคมเลย

นอกจากนี้ TOR ยังกำหนดว่างานต้องเสร็จภายใน 5 ปี ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะแผนงานมีปัญหาใหญ่ๆ หลายด้าน แล้วถ้าต้องดำเนินการเสร็จใน 5 ปี รัฐบาลจะแยกพละกำลังคนกันยังไงก็ยังไม่ชัดเจน ด้านเควอเตอร์ เมื่อได้เป็นเจ้าของงานก็ต้องหา subcontract มาทำงานแทน แล้วก็หักเงินไว้เองส่วนหนึ่ง แล้ว subcontract คงไม่ได้มีแค่ชั้นเดียว แต่ต้องจ้าง subcontract อื่นต่อไปเรื่อยๆ อีก ทำให้หัวคิวถูกกินไปโดยอัตโนมัติ ฉะนั้นเงินที่ถึงเนื้องานจริงๆ ก็น้อยมาก

ไทยพับลิก้า : ตอนที่คุณปราโทย์อยู่ใน กยน. (คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ) มีการคัดค้านกันไหมว่าไม่ควรตั้งบอร์ด กบอ. ที่มาจากหน่วยงานของราชการอย่างนี้ เพราะว่าจะไม่เวิร์ก

กบอ. ตั้งขึ้นมาโดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี โดยกฤษฎีกาเป็นคนคิดว่าทำได้ แล้วก็บรรจุคณะกรรมการ ซึ่งไม่เวิร์กหรอก เพราะ กบอ. เป็นคณะกรรมการแบบปฏิบัติ ขับเคลื่อน ประกอบด้วยปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมดนี้คือคณะกรรมการฝ่ายราชการ หลังจากนั้นก็ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาโดยเล็งว่าจะมาขับเคลื่อนงานได้ แต่อนุกรรมการบางคนก็เป็นตัวจุ้นใหญ่ของฝ่ายวิศวกรรม ไม่เคยรับราชการ ไม่เคยคลุกคลีเรื่องน้ำ รวมถึงคนอื่นๆ ก็ไม่มีใครที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องน้ำเลย และกันไม่ให้คนที่จะท้วงติงที่บอกให้ทำตามขั้นตอนถูกต้องเข้าไปอยู่อนุกรรมการเลย

หลังจากนั้นก็ตั้งสำนักงานขึ้นโดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งสำนักงานเป็นผู้ที่ขับเคลื่อนงานและระดมคนจากหน่วยงานราชการต่างๆ ออกมาร่วมประชุมและทำงานกันที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีหัวหน้าบัญชาการแบบ single command ว่าต้องการอะไรบ้าง แล้วให้รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมานั่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงาน

สำนักงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ก็ไม่รู้ว่าไประดมคนมาจากไหนมาทำงาน แล้วการขับเคลื่อนงานก็ค่อยเริ่มขึ้น ซึ่งแบบนี้ ทำให้การดำเนินงานไปต่อไม่ได้เพราะงานมันใหญ่ เพราะมันเป็นภาระงานของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งที่มีอยู่แล้วตามกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้หน่วยงานที่มีอยู่แล้วเข้มแข็งกว่าเดิม ไม่ใช่ตั้งขึ้นใหม่

เช่น กรมชลประทาน มีความพร้อมด้านบุคลากร รัฐบาลก็สามารถมอบภาระงานไปให้ได้ โดยต้องเสริมพละกำลังให้กรมชลประทานอีกสักนิด ก็จะทำให้งานเดินไปได้มากกว่า เพราะกรมชลประทานมีความถนัดในการขับเคลื่อนงานเรื่องน้ำอยู่แล้ว รวมถึงอย่าให้มีการเมืองมาแทรกแซงกระบวนการบริหารจัดการงานเหล่านี้

กระบวนการบริหารจัดการนั้นต้องเป็นไปตามขั้นตอน ขั้นแรก ต้องศึกษาหารูปแบบงานที่ชัดเจนก่อนว่าคืออะไร รูปแบบไหนที่ชัดเจนแล้ว ในแง่ของการทำในพื้นที่มีผลกระทบแน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำ ต้องยอมเสียเวลาอย่างน้อย 3 ปีเพื่อทุ่มเทให้กับเรื่องการศึกษาผลกระทบอย่างแข็งขัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ราชการทั้งหมดทำไม่ได้หรอกเพราะมันยาก ดังนั้นก็จ้างคนไทยทั้งวิศวกรและนักเทคโนโลยีมาระดมพลกัน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคอยควบคุมกำกับ แล้วก็กระจายกันทำงาน แบ่งกลุ่มงานกันให้ดี ซึ่งเวลานี้ถ้าจะสานต่อโครงการก็ต้องกระจายงานกันทำทั่วทั้งประเทศ ที่สำคัญคือ เมื่อกระจายกันทำงานแล้วต้องควบคุมเนื้อหางาน ค่าใช้จ่าย และระเบียบแบบแผนด้วย ซึ่งเป็นเรื่องยากพอสมควร

ปราโมทย์ ไม้กลัด -2

“แต่ที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่ได้ทำขั้นตอนดังกล่าวเลย เพียงแค่ประมูลได้ผู้รับเหมามา เออ ก็ตลกสิ!! มันมีที่ไหน เอาผู้รับเหมาที่ได้งานมาทำทุกขั้นตอน ทำให้ได้ข้อมูลที่ไม่จริง แล้วพอผู้รับเหมาทำไปเรื่อยๆ ก็จะติดขัดในการทำงานเอง”

นี่เราทักท้วงรัฐบาลแล้วว่าทำอย่างนี้ไม่ได้หรอกนะ มันหลงทาง มันไม่เป็นไปตามขั้นตอน ผมทำงานไม่ว่าโครงการอะไรใหญ่ๆ ของพระเจ้าอยู่หัวก็เริ่มทำงานกันจากที่ไม่มีอะไรเลย ทั้งเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนขุนด่านปราการชล และโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง โดยหลังจากในหลวงมีพระราชดำริ ซึ่งมาจากพระราชดำรัสว่าให้กรมชลประทานไปคิดทำมา โดยน่าจะทำแบบนี้ๆ กรมชลประทานก็ต้องทำไปตามระบบและขั้นตอน

เริ่มจากการศึกษา วิเคราะห์ความเหมาะสมในเบื้องต้นโดยเร็วที่สุดใช้ประมาณ 1 เดือนครึ่ง โดยศึกษาแบบที่ผมเรียกว่า desk study คือศึกษาเบื้องต้นบนโต๊ะโดยใช้ข้อมูลที่มีอยู่ แล้วเขียนรายงานให้ครบถ้วน ทั้งค่าใช้จ่ายโดยประมาณ ผลกระทบ ประโยชน์ รูปแบบโครงการ ฯลฯ แล้วก็เสนอรายงานให้ในหลวงรับทราบว่างานที่จะทำนั้นเป็นแบบนี้ นี่คือรายงานการศึกษาระดับเบื้องต้น

หลังจากนั้นท่านซักถามเป็นครั้งเป็นคราว เพื่อถวายข้อมูลท่าน แล้วเราทำอย่างไร เราก็ให้อธิบดีรับรู้รับทราบแล้ว ก็บอกอธิบดีว่าจะขับเคลื่อนโดยกรมชลประทานลำพังไม่ได้หรอก ไปอ้างรับสั่งพระเจ้าอยู่หัวอย่างเดียวไม่ได้หรอก เราก็ไปเสนอ ครม. เพื่อเปิดฉากการศึกษาสิ่งต่างๆ ให้ครบถ้วนทั้งระบบ ไม่ใช่เสนอ ครม. อนุมัติโครงการให้สร้างนะ เพราะไม่รู้จะสร้างอย่างไรจากการศึกษาเบื้องต้น

อย่างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ผมก็ไปคุยทำความเข้าใจกับ ครม. สมัยพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ขอให้ ครม. อนุมัติโครงการในการศึกษาสิ่งต่างๆ พอ ครม. เข้าใจก็อนุมัติให้ หลังจากนั้นเราก็เปิดฉากงบประมาณแล้วไปศึกษา 2 เรื่องใหญ่ๆ ที่สำคัญที่สุดคือ 1. ความเป็นไปได้ของโครงการ ทั้งด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐศาสตร์ ว่าทำแล้วคุ้มทุนและเกิดประโยชน์หรือไม่ และ 2. ผลกระทบต่อผู้คน ระบบนิเวศ รวมถึงวัฒนธรรมต่างๆ

ในการศึกษาก็หากลุ่มบริษัทที่ปรึกษาที่ดีที่สุด ผ่านการแข่งขันตามข้อกำหนดของกรมชลประทานซึ่งโปร่งใสไม่มีปัญหา ทุกคนยอมรับ เมื่อมีบริษัทที่ปรึกษาแล้วก็เริ่มศึกษาโดยมีคณะกรรมการกำกับการศึกษาซึ่งจะทำหน้าที่ทักท้วง ติติงให้ศึกษาข้อมูลมาให้ครบ ในเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศต่างๆ เพราะเป็นเรื่องที่กรมชลประทานไม่ถนัด

โครงการเขื่อนชลประสิทธิ์ใช้เวลา 3 ปีกว่าจะศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นเสร็จ

ในระหว่างศึกษาโครงการอยู่ก็ทำประชาพิจารณ์ไปด้วยในตัว เพราะมีคนได้รับผลกระทบ ซึ่งถ้าประชาพิจารณ์ไม่ผ่าน ผลการศึกษาจะไปบอกว่าผ่านไม่ได้ เรื่องการเยียวยาผู้ได้รับกระทบเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ซึ่งผู้ศึกษาต้องไปสอบถามข้อมูลและประเมินตามจริงเสนอรัฐบาล เพื่อหาวิธีการเยียวยาที่เหมาะสม

แต่ กบอ. กลับไม่ได้ทำอะไรอย่างข้างต้นเลย ทั้งๆ ที่เป็นโครงการใหญ่ และเมื่อไปทำประชาพิจารณ์ในพื้นที่ก็ตอบคำถามชาวบ้านไม่ได้สักเรื่อง ผมถึงว่า กบอ. และรัฐบาลหลงทางแล้วในเรื่องขั้นตอนการทำงาน เพราะการทำงานมันไม่ง่าย ดังนั้นรัฐบาลต้องวางยุทธศาสตร์ดีๆ

หลังจากศึกษาผลกระทบแล้วก็ต้องส่งรายงาน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ด้วย แล้วให้คณะกรรมการนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมวิจารณ์ พอผ่านจาก สผ. กรมชลประทานก็เสนอเข้าสู่ ครม. เพื่อขออนุมัติสร้างโครงการนี้ ซึ่งสำหรับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ใช้งบประมาณ 2 หมื่นกว่าล้านบาท หลังจากในหลวงมีพระราชดำริปี 2532 ศึกษาผลกระทบปี 2533-2536 และเริ่มก่อสร้างต้นปี 2537 และก่อสร้างเสร็จในปี 2542

ถ้ารัฐบาลทำอย่างนี้ก็จะไม่มีอุปสรรคอะไร เพราะมีข้อมูลครบถ้วนอยู่ในรายงาน

ขณะนั้นผมเองก็ทำงานอยู่ในทุกระดับ พอเริ่มก่อสร้างก็มีเรื่องยุ่งยากไม่ใช่เรื่องง่าย จึงบอกว่ากรมชลประทานอย่าเป็นพระเอก ต้องพยายามให้หน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาร่วมงานด้วย โดยกรมชลประทานเป็นผู้กำกับงบประมาณและงานสร้างบางส่วน แต่สำหรับงานด้านการจัดซื้อที่ดิน การจัดการกับผู้คนที่กรมชลประทานทำไม่เป็น ก็ไปให้มหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดเข้ามาช่วย นี่คือยุทธศาสตร์ในการทำงาน

ในขณะที่ฟลัดเวย์ของ กบอ. กำหนดสร้างเสร็จ 5 ปีทั้งๆ ที่ยังไม่รู้เลยว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ความยุ่งยากเรื่องเอาที่ดินของชาวบ้านมาทำฟลัดเวย์ รวมถึงการขาดประสบการณ์ในการทำ ก็จะยิ่งทำให้โครงการพัง

ด้านการทำประชาพิจารณ์ (โครงการ 3.5 แสนล้าน) ที่ผ่านมาก็วุ่นวายไปหมด ประเด็นสำคัญก็คือ เวลาไปทำประชาพิจารณ์ในพื้นที่กลับไม่รู้ว่าโครงการนั้นๆ คืออะไร จึงคุยกับชาวบ้านไม่ได้ ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ได้รับผลกระทบบ้างจากการย้ายบ้าน ถูกเวนคืนที่ดิน ฯลฯ ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจมากขึ้นอีก

สิ่งสำคัญที่ผมจะบอกก็คือ กบอ. ทำงานไม่เป็น ไม่มีขั้นตอน อยู่ๆ จะไปรวบรัดแบบนี้ไม่ได้

ตอนที่เป็นกรรมการ กยน. ก็บอกนายกฯ ตั้งแต่ระยะแรกๆ ว่า ให้ระดมคนมาศึกษาผลกระทบก่อนโดยใช้เวลาประมาณ 2 ปี เพื่อให้รู้ว่าโครงการจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร แล้วศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการรวมถึงผลกระทบต่างๆ โดยต้องเจรจาให้ชาวบ้านรู้เรื่องก่อน แต่นายกฯ กลับบอกว่าใช้เวลาเยอะแบบนั้นไม่ได้ ต้องทำด่วน เพราะว่าต่างชาติกำลังมองอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็พูดไม่รู้เรื่อง พอบอกว่าเรื่องด่วนก็ตั้งอนุกรรมการไม่กี่คนขึ้นมาคิดว่าจะทำโครงการอะไร

เวลานี้เทคโนโลยีดีกว่าสมัยก่อนมาก มีคอมพิวเตอร์วาดภาพได้ สร้างโมเดลจำลองทางคณิตศาสตร์ในคอมพิวเตอร์ รัฐบาลก็ทำแล้วปรินท์ออกมาบนกระดาษ A4 เพื่อไปเสนอในหลวง ในหลวงยังเฉยเลย เพราะพระองค์ดูโครงการไม่รู้เรื่อง เช่น สร้างเขื่อนก็ไม่รู้ว่าสันเขื่อนมีความสูงเท่าใด กว้าง-ยาวเท่าใด ซึ่งรัฐบาลก็พยายามเข้าเฝ้าในหลวง ทั้งนายกฯ คุณปลอดประสพ สุรัสวดี และคนอื่นๆ เพื่อไปคุยกับในหลวง แต่ในหลวงก็ทรงเฉยและไม่ได้รับสั่งอะไร

ผมเองไม่เคยเอาเรื่องราวของพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นใบเบิกทางโครงการเลย ทำอย่างนั้นไม่ได้นะ มันเป็นหน้าที่ของนักเทคโนโลยี นักเทคนิค และข้าราชการที่ต้องจัดการดำเนินโครงการ

เปรียบเทียบขั้นตอนการดำเนินโครงการของภาครัฐ

ฉะนั้น โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านทำอย่างไรก็ไม่สำเร็จ โชคดีที่ศาลปกครองเบรกรัฐบาลไว้ก่อนว่า ก่อนจะเซ็นสัญญาต้องไปรับฟังความคิดเห็นก่อน แต่ถึงแม้ศาลปกครองไม่เบรกไว้แล้วรัฐบาลเดินหน้าเซ็นสัญญาต่อไป ก็จะยิ่งมีข้อร้ายกับรัฐบาลมากกว่าเดิม เพราะยังไงโครงการก็ไม่ผ่าน อีกทั้งยังจะเกิดความโกลาหลในพื้นที่จนทำให้โครงการต้องหยุดชะงัก คราวนี้แหละรัฐบาลจะถูกฟ้องตายเลย

สรุปคือ ทุกโครงการในวงเงิน 3.5 แสนล้านนั้นยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย แล้วแผนงานต่างๆ ที่กำหนดขึ้นมาไม่ตอบโจทย์ แก้ปัญหาไม่ได้ แล้วก็ไม่มีอะไรมาอ้างอิงได้ว่าแก้ปัญหาได้ เพราะว่ารัฐบาลยังไม่ได้ศึกษา

เช่น โมดูล A1 สร้างเขื่อนเก็บกักน้ำลุ่มน้ำต่างๆ รวม 18 แห่ง เพื่อดักอุทกภัยนั้น ปริมาณส่วนหนึ่งอยู่ในลุ่มน้ำเหนือเขื่อนภูมิพล บางส่วนอยู่ในลุ่มน้ำเหนือเขื่อนสิริกิติ์ ดังนั้น เมื่อไปสร้างเขื่อนเหล่านี้เพิ่มก็ไม่ช่วยบรรเทาอุทกภัย กรณีเขื่อนแม่ขานและเขื่อนแม่แจ่มที่เชียงใหม่ เดิมทีเป็นของกรมชลประทานที่คิดสร้างเพื่อหาน้ำสำหรับการเกษตร แต่ก็ทำไม่ได้เพราะอ่างเก็บน้ำไปท่วมพื้นที่ชาวบ้าน ซึ่งก็ไม่รู้ว่า กบอ. หรือใครไปกวาดโครงการพวกนี้มาจากกรมชลประทาน สำหรับเขื่อนที่ศึกษามาเยอะที่สุดก็คือเขื่อนแม่วงก์ที่นครสวรรค์ แต่ยังไม่ผ่าน

“ในเวลานี้ดีแล้วที่ชาวบ้านช่วยกันสั่งสอนรัฐบาล มิฉะนั้นเดี๋ยวจะเผลอไปเซ็นสัญญาแล้วจะติดขัดอีก ซึ่งจะติดจริงๆ แล้วเยอะด้วย ผมให้เวลา 3 ปี เพื่อศึกษาผลกระทบต่างๆ ของทั้ง 10 โมดูลจะได้หรือเปล่ายังไม่รู้เลย แล้วโครงการต่างๆ จะก่อสร้างได้หรือไม่ก็ยังไม่รู้ อนาคตโครงการ 3.5 แสนล้านไปต่อไม่ได้หรอก ต้องเริ่มต้นทำใหม่”