ThaiPublica > คอลัมน์ > สิ่งประดิษฐ์ทางการเมืองที่ชื่อ Political Machine

สิ่งประดิษฐ์ทางการเมืองที่ชื่อ Political Machine

20 กุมภาพันธ์ 2014


Hesse004

การเลือกตั้งนับเป็นเครื่องมือสำคัญในระบอบประชาธิปไตยที่ “คัดกรอง” ผู้แทนเข้ามาสู่กระบวนการทางการเมืองที่ทำหน้าที่บริหารประเทศและจัดสรรทรัพยากรในสังคม

อย่างไรก็ดี ในอีกด้านหนึ่งของคำว่า “การเมือง” แล้วย่อมเป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจ ฉกฉวยผลประโยชน์ ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดก็ตาม

ในอดีตที่ผ่านมามีภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับนักการเมืองทั้งด้านดีและไม่ดี เช่น Nixon (1995) ผลงานการกำกับของ Oliver Stone ที่ทำให้เห็นภาพอีกมุมหนึ่งของประธานาธิบดี ผู้อื้อฉาว Richard Nixon ในคดี Watergate

แม้ว่าการเมืองสหรัฐอเมริกาดูจะเป็น “ต้นแบบ” ของโลกประชาธิปไตย แต่เอาเข้าจริงแล้ว ในสารัตถะหรือรูปแบบของการแย่งชิงอำนาจ ฉกฉวย และแย่งชิงผลประโยชน์ในแวดวงการเมือง ก็ดูจะไม่แตกต่างจากการเมืองในประเทศอื่น

เขียนมาถึงตรงนี้ ทำให้นึกถึงซีรีส์ฝรั่งเรื่อง Boardwalk Empire (2010) ซึ่งเป็นซีรีส์ที่เล่าประวัติชีวิตของ Enoch L. Nucky Johnson อดีตเหรัญญิก (Treasury) แห่งเมือง Atlantic City สหรัฐอเมริกา

…น่าสนใจว่าทำไมอดีตเหรัญญิกหรือเทียบเท่า “หัวหน้างานคลัง” ของเมืองตากอากาศในมลรัฐ New Jersey คนนี้ ถึงได้รับความสนใจจาก HBO ถึงขนาดยอมลงทุนใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อเนรมิตฉากเมือง Atlantic ยุคทศวรรษที่ 20 ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของ Nucky Johnson

สำหรับพล็อตเรื่องของซีรีส์ชุดนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือเรื่อง Boardwalk Empire: The Birth, High Times, and Corruption of Atlantic City แต่งโดย Nelson Johnson

ก่อนที่จะสร้างเป็น “หนังตอน” ให้เราได้ชมกันนั้น ทีมผู้งานสร้างซึ่งนำโดย Terence Winter และ Martin Scorsese ต้องทำการบ้านกันอย่างหนัก ทั้งในแง่ทำความเข้าใจในบริบททางการเมืองสหรัฐอเมริกายุคหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ที่มีทหารผ่านศึกมากมายต้องกลับบ้านอย่าง “วีรบุรุษสงคราม”แต่ไม่มีอนาคต

นอกจากนี้ ช่วงเวลาดังกล่าวยังเป็นยุคของ Prohibition of Alcohol (1920-1933) หรือยุคที่ห้ามขายเหล้าในสหรัฐอเมริกา… เป็นยุคที่สตรีอเมริกันเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้ง… เป็นยุคที่มีขบวนการ Klu Klux Klan หรือกลุ่มที่ทำร้ายคนผิวสี

…และที่สำคัญคือยุคที่ “อเมริกันมาเฟีย” กำลังเริ่มเติบโตทั้งในนิวยอร์ก ชิคาโก และนิวเจอร์ซีย์

ดังนั้น การเตรียมตัวสร้างซีรีส์เรื่องนี้ ทีมผู้สร้างต้องเข้าใจบริบททุกอย่างของสังคมอเมริกันเมื่อเกือบ 100 ปีที่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นทางการเมือง

ว่ากันว่า ระบอบประชาธิปไตยแบบอเมริกันได้สร้าง “ผลพลอยได้” หลายอย่างให้เกิดขึ้น ตั้งแต่เรื่อง “กลุ่มผลประโยชน์” (Interested group) ที่มีส่วนในการ “ล็อบบี้” นักการเมืองเพื่อให้เข้าไปในสภาและออกนโยบายหรือกฎหมายมารองรับประโยชน์ตัวเอง

เป็นการแสวงหาประโยชน์ส่วนรวมเพื่อประโยชน์ของพวกพ้องอย่าง “ถูกกฎหมาย” และฉ้อฉลอย่างถูกกติกา

นอกจากนี้ยังมีการเมืองประเภท Pork Barreling หรือ การผันโครงการของรัฐเข้าเขตเลือกตั้งตัวเองเพื่อเป็นการ “ซื้อใจ” ผู้ลงคะแนน (voters)

กรณีศึกษาที่ถูกนำมาใช้อธิบายบ่อยๆ คือ การผันโครงการก่อสร้างถนนเข้าเมืองตัวเอง

ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้เป็น “หัวคะแนน” หรือตัวแทนในการรวบรวมเสียงของชาวอเมริกันในแต่ละพื้นที่ แต่ละเขตนั้นได้กลายเป็นที่รู้จักในฐานะ Political Machine หรือ “เครื่องจักรทางการเมือง”

Enoch L. Nucky Johnson อีกหนึ่งตำนานของ Political Machine ในสหรัฐอเมริกา เขาเป็นทั้งพ่อพระและเจ้าพ่อในคนเดียวกัน  ที่มาภาพ :http://mafiatoday.com/wp-content/uploads/2011/02/Johnson-treads-Atlantic-City-boardwalk.jpg
Enoch L. Nucky Johnson อีกหนึ่งตำนานของ Political Machine ในสหรัฐอเมริกา เขาเป็นทั้งพ่อพระและเจ้าพ่อในคนเดียวกัน
ที่มาภาพ :http://mafiatoday.com/wp-content/uploads/2011/02/Johnson-treads-Atlantic-City-boardwalk.jpg

กรณีของ Enoch L. Nucky Johnson ก็เช่นกัน (ในซีรีส์ใช้ชื่อว่า Nucky Thompson) เขาคือตัวแทนของเครื่องจักรทางการเมืองในสังคมอเมริกันยุคต้นทศวรรษที่ 20

มีหนังสือที่กล่าวถึงเรื่อง Political Machine อยู่หลายเล่ม แต่เล่มที่ให้ภาพของ Political Machine ในสหรัฐอเมริกาได้ดีที่สุด ดูเหมือนจะเป็นหนังสือของ Thomas Clifford ซึ่งเขียนหนังสือชื่อ The Political Machine: An American Institution ตั้งแต่เมื่อปี 1971

Political Machine มีพัฒนาการมาจากระบบอุปถัมภ์ (Patronage) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมอเมริกันที่มีผู้อพยพเข้าประเทศเป็นจำนวนมาก

ในต้นศตวรรษที่ 20 ชาวยุโรปทั้งในอังกฤษ ไอร์แลนด์ สก็อตแลนด์ อิตาลี โปแลนด์ ฮังการี กรีก ตุรกี ต่างอพยพลี้ภัยสงครามโลกครั้งที่ 1 และหนีความแร้นแค้นเพื่อมาตั้งรกรากใน “แผ่นดินใหม่” อเมริกา

ด้วยเหตุนี้ คนเหล่านี้จึงจำเป็นต้องมี “ระบบจัดตั้ง” ผ่านการช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ โดยแลกกับเสียงโหวตเพื่อสนับสนุนทางการเมือง ไม่ว่าจะผ่านทาง Republican หรือ Democrat

คนที่จะทำหน้าที่เป็น Political Machine ได้ต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์ มีสายสัมพันธ์หรือ connection ที่มากพอและ “มากด้วยบารมี” ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง

…ในที่ลับ… คนอย่าง Nucky Thompson ต้องมีมิตรสหายเป็น “มาเฟีย” ตามเมืองใหญ่ต่างๆ อย่าง New York หรือ Chicago โดยมีข้อตกลงทางการค้าอย่างลับๆ ตั้งแต่การค้าเหล้าเถื่อน (ในยุค Prohibition Alcohol) การคุมซ่องโสเภณี การเก็บค่าคุ้มครอง ธุรกิจทั้งหมดในเมือง Atlantic City ต้องจ่ายให้ Nucky ถ้าไม่จ่ายพวกเขาจะไม่ได้รับประกันความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน

ด้วยเหตุนี้ ภาพของ Nucky จึงเป็นทั้ง “พ่อพระ” และ “เจ้าพ่อ” ไปพร้อมๆ กัน

…ขณะที่ในที่แจ้ง Political Machine คือ หัวคะแนนที่ต้องมีสายสัมพันธ์ทางการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น Political Machine คือ คนที่เป็น “นายใหญ่” ตัวจริง (Political Boss) ที่สามารถบันดาลให้ใครก็ได้มีตำแหน่งในการเมืองท้องถิ่น โดยที่ตัวเองคอยนั่งสั่งการอยู่หลังฉาก

ส่วนการเมืองระดับชาติ… Political Machine คือ หัวคะแนนที่สามารถแปร “คะแนนเสียง” ของคนในท้องถิ่นนั้นโหวตเลือกให้ทั้ง Republican หรือ Democrat ชนะในเขตพื้นที่ของตนเอง ขึ้นอยู่กับว่าใครกันแน่ที่จะให้ประโยชน์กับเครื่องจักรทางการเมืองเหล่านี้ได้

หากจะว่าไปแล้ว “คุณูปการ” ของ Political Machine คือ สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ตัวเองได้ทันท่วงที อีกทั้งยังเป็นตัวแทนของหมู่พวกในการเข้าไป “แย่งชิง” ทรัพยากรจากส่วนกลางมาให้ท้องถิ่น ไม่ว่าจะพยายามผันโครงการก่อสร้างถนนเข้าเมืองตัวเองโดยอ้างเรื่องความเจริญของท้องถิ่นโดยที่ตัวเองก็ยังได้ประโยชน์เหล่านั้นอยู่ดี

ว่ากันว่า นักประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันได้ประเมินบทบาทของ Political Machine ไว้ว่า คนพวกนี้คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชันในสหรัฐอเมริกา

…คนพวกนี้ใช้ระบบเส้นสายและอุปถัมภ์ทุกรูปแบบเพียงเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของตัวเอง

สำหรับบ้านเราแล้ว Political Machine ดูเป็นเรื่องปกติของการเมืองไทยไปเสียแล้วเพราะเราพบ Political Machine ได้ทั้งการเมืองท้องถิ่นและการเมืองระดับชาติ

Political Machine บางคนได้ดิบได้ดีและถีบตัวเองจากหัวคะแนนทางการเมืองก้าวสู่ผู้ทรงเกียรติในสภา บางคนบุญพาวาสนาส่งกลายเป็น “เสนาบดี” ไปก็มี

ท้ายที่สุด ตอนช่วงใกล้เลือกตั้ง คนที่มักบอกกับชาวบ้านว่า “ผมต้องการรับใช้พี่น้องเพราะผมมีอุดมการณ์ทางการเมืองอันสูงส่ง” นั้น ดูจะเป็นเรื่องเพ้อฝันและชวนขันกันตอนกลางวันแสกๆ

ป้ายคำ :